บทความจากรายการวิทยุ Human Talk ประจำวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2561


รายการวิทยุ Human Talk ออกอากาศวันอาทิตย์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2561

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ก็มีความเสี่ยงเรื่องอนาคตประเทศไทยพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องการเลือกตั้ง หรือเรื่องต่างๆแต่ในที่สุดประเทศไทยก็ต้องอยู่รอด คนไทยทุกคนก็เป็นห่วงประเทศไทยว่า จะเดินไปในทิศทางใด แล้วก็มองด้วยความเป็นธรรมกับทุกๆฝ่าย แน่นอน ตัวละครตอนนี้ เช่น นักการเมืองก็ไม่ได้เลือกตั้งมานาน 4 ปี ก็ต้องให้เขาออกความเห็นบ้าง ส่วนคสช.ก็ต้องรับฟัง ไม่ประมาทกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มันเป็นสถานการณ์อ่อนไหว รายการนี้ก็จะสะท้อนปัญหาเหล่านี้เพื่อแบ่งปันความรู้กัน เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้เน้นการปฏิรูป ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมืองหรือจริยธรรม ด้านต่างๆมีสภาปฏิรูปถึง 2 ครั้ง ถ้าคิดเป็นเอกสารที่อยู่สภา ก็น่าจะมีมาก เมื่อทำไปคนก็สับสน ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ ก็จะแบ่งปันบทเรียนที่สอนปริญญานักศึกษาเอกเรื่องการปฏิรูปในความเห็นของเรา อีกเรื่องคือการประชุมดาวอส  ถ้าประเทศไทยมีผู้ใหญ่อย่าง ศ.นพ. เกษม วัฒนชัย หรือดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ไปพูดให้นักธุรกิจระดับโลกฟังเรื่อง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จะช่วยให้ทุนนิยมสามานย์ในอนาคตกลายเป็นทุนนิยมที่เน้นศีลธรรมความถูกต้องและความพอเพียงด้วย มิฉะนั้นทุกคนก็จะโลภ ทุกคนก็มีความโลภอยู่แล้ว แต่ก็ต้องมีความพอเพียง 

รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเข้ามาเพื่อปฏิรูปประเทศเพื่อให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปมีคุณภาพ เท่าที่ผ่านมาก็มีการเลือกตั้งอย่างเดียวแล้วก็สร้างปัญหาอย่างที่เรารู้กัน เมื่อมีปัญหาก็เข้าสู่วงจรอุบาทว์ แล้วก็นำไปสู่การปฏิวัติ เมื่อปฏิวัติแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง รัฐบาลก็คงเอาจริงเพราะตั้งสภาปฏิรูปขึ้นมา 2 สภา สภาแรกก็ทำหน้าที่ร่างแผนมากมาย แล้วก็มีสภาขับเคลื่อน คำถามก็คือคนยังมีความรู้สึกว่า เราปฏิรูปยังไม่ค่อยได้ผล ในฐานะที่ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ทำเรื่องคน จึงมีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องการพัฒนาปฏิรูปเรื่องคนบ้าง เรื่องนี้เป็นการบ้านที่ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์มอบหมายให้นักศึกษาปริญญาเอกของผมรุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 16 ซึ่งมีศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาทำหลักสูตรนวัตกรรม นวัตกรรมก็มีข้อดีคือเกิดก่อนดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ และเศรษฐกิจ 4.0 ทำมาเกือบ 10 ปีแล้ว ตอนหลัง คนที่มาเรียนก็เป็นนักธุรกิจ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ การเรียนก็จะเป็นการเรียนที่ตรงกับความจริงเรียกว่า 2R’s R ตัวแรกคือ Reality R ตัวที่สองคือ Relevance คือเลือกประเด็นที่มันสำคัญเพราะฉะนั้นการเรียนปริญญาเอกบางแห่งก็มีครูที่อยู่ในมหาวิทยาลัยเท่านั้น แม้เราสามคนจะอยู่ในมหาวิทยาลัยแต่เราก็ออกมาข้างนอก เพราะฉะนั้นเราสามคนก็จะมีประสบการณ์ข้างนอก ขณะเดียวกันผมก็มีแนวคิดหรือ Conceptualization คือนำสิ่งต่างๆมาเป็นแนวคิด เหมือนกับแบ่งปันประสบการณ์ในห้องเรียนให้ผู้ฟังได้รับทราบ แม้ว่าไม่ได้เรียนปริญญาเอกโดยตรงแต่ได้วัฒนธรรมของปริญญาเอกด้วย ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ได้สอนนักศึกษาว่า การวิเคราะห์ทุนมนุษย์ต้องวิเคราะห์ใน 2 มิติใหญ่ๆ มิติแรกคือมิติใหญ่ระดับโลก แล้วมาระดับประเทศ และระดับองค์กร ส่วนมากเมื่อเราพูดถึงการบริหารคนเราก็มักจะไปพูดถึงองค์กรทันที เช่น องค์กรปูนซีเมนต์ อสมท. ก่อนจะมาถึงในระดับองค์กร คนก็ผ่านขั้นตอนมามากมายว่า HR Architecture คือการออกแบบทุนมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย

เวลาที่คนเรามีอายุ 22 ปีเข้าปูนซีเมนต์ ก็ต้องผ่านอะไรบางอย่างมา เช่น ครอบครัว การศึกษา โภชนาการ อาหารการกิน ศาสนา และสื่อซึ่งวันนี้ก็สำคัญที่สุด เพราะฉะนั้นทั้งตัวละครและปัจจัยการผลิตทั้งหมด ถ้าตอนที่เรามีอายุ 5 ถึง 7 ปี เราเรียนหนังสือระดับประถมและมัธยมศึกษาแล้ว การเรียนเราล้มเหลว ได้แต่ลอก คิดและวิเคราะห์ไม่เป็น จะทำงานเป็นได้อย่างไร การมองปัญหาแบบนี้ก็ต้องมองไปที่ demand side เราก็ต้องดูว่า คนไปทำงาน เกษตรก็ต้องไปอยู่ภาคเกษตร บางคนก็เป็นผู้ประกอบการ บางคนก็เป็นข้าราชการ บางคนก็เป็นนักธุรกิจ เวลาที่เราเรียนหรือได้รับการปลูกฝังจากครอบครัว ในชีวิตเราถ้าอายุ 20 กว่าถึง 60 ปี ปัจจุบันนี้ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์มีอายุ 70 กว่าปีก็ยังคงต้องทำงานอยู่ เราก็ต้องทำงานไปด้วย ทำให้เห็นพลวัตของการมองปัญหาเหล่านี้ ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากต่างประเทศก็ต้องปรับตัวให้ทันต่อเหตุการณ์ เวลาที่ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์สอนปริญญาเอก ก็ไม่ได้ลงไปที่องค์กรทันที แต่ได้ถามนักศึกษาปริญญาเอกว่า เกี่ยวกับความคิดด้านการปฏิรูปการศึกษาและให้พวกเขาไปคิดกันครึ่งชั่วโมงอาทิตย์ที่แล้ว นักศึกษากลุ่มนี้มีระดับผู้ว่าราชการจังหวัด รองอธิบดี นักธุรกิจมาเรียนเกิดการปะทะกันทางปัญญา อันแรกเป็นข้อเสนอของกลุ่มหนึ่งที่ดีมากว่า ก่อนที่จะพูดถึงการปฏิรูป ก็ต้องดูความจริงก่อนว่าเด็กที่เข้าเรียนวันนี้ไม่ว่าจะเป็นระดับประถม มัธยม หรือมหาวิทยาลัยมีประมาณจำนวนหนึ่งที่ตกหล่นออกไปจากการศึกษา จึงมีคำถามว่า จะมีการดูแลคนที่ออกไปจากการศึกษาอย่างไร ประเด็นนี้น่าสนใจมาก เป็นนโยบายที่ต้องแก้ เพราะว่าถ้าคนเรียนอยู่แล้วออกไปด้วยเหตุผลหลายอย่าง อาจจะต้องทำวิจัยเช่นความยากจน เรียนไม่ดี ถ้าไม่ได้รับการดูแลเขา ก็จะกลายเป็นปัญหาสังคม ข้อนี้ก็เกิดจากอดีตผู้ว่าคนหนึ่งซึ่งบอกว่า ตามต่างจังหวัดก็มีคนตกหล่นที่ไม่ได้เรียนจำนวนมาก ท่านจึงเสนอให้นักศึกษาปริญญาเอกทำวิจัยว่า เหตุผลที่เขาออกไปจากระบบการศึกษามีอะไรบ้าง ท่านในฐานะฝ่ายปกครองก็มีความเป็นห่วง ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์เคยบอกว่า ถ้าเด็กอายุ 10 ถึง 16 ปีไม่มีเป้าหมายในชีวิต เป็นวัยรุ่นแต่ไม่ได้รับการศึกษาอย่างดี มีการควบคุมโดยครูหรือนักเรียน จะเป็นอย่างไร

คุณวิชัย วรธานีวงศ์กล่าวว่า  สิ่งที่ท่านผู้ว่าวิเคราะห์มาน่าสนใจเพราะวิเคราะห์จากข้อเท็จจริง จะมีเด็กบางคนที่มีศักยภาพ แต่มีข้อจำกัดไม่ว่าจะเป็นความยากจน การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม หรือมีปัญหาใดๆก็ตาม ถ้าเด็กเหล่านี้ไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ ประเทศก็จะสูญเสียทรัพยากรบุคคลที่มีศักยภาพไปอย่างน่าเสียดาย ภาครัฐจะต้องเอาจริงเอาจังอย่าให้มีการตกหล่นแม้แต่คนเดียวก็คือความเสียหายของประเทศ ในอนาคตเด็กพวกนั้นอาจจะเป็นข้าราชการที่ดี หรืออาจจะเป็นนักการเมือง นักธุรกิจที่ทำประโยชน์ต่อประเทศชาติได้ นี่เป็นประเด็นที่น่าคิด

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ กล่าวว่า เมื่อท่านผู้ว่าได้มีการนำเสนอขึ้นมา ทั้งคณะทึ่ง คุณพิชญ์ภูรี จันทรกมลได้บอกว่า นี่เป็นประเด็นที่น่าสนใจ ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ได้เสนอว่า การปฏิรูปต้องเน้นปัญหาก่อน แล้วแก้ปัญหาให้ตรงจุด บางทีปัญหาใหญ่ แก้ไม่ได้ นี่เป็นปัญหาที่น่าจะรู้ว่า มันอยู่ที่ไหนแล้วต้องติดตาม ต้องตามไปดูว่าเขาจะกลับมาเรียนได้หรือไม่เพราะเขาไม่มีโอกาสในการเรียนในช่วงนั้น แล้วเขายังเป็นวัยรุ่นอยู่ เขาก็จะกลายเป็นวัยรุ่นที่มีปัญหา อันนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และน่าจะเป็นหัวใจคล้ายๆกับเรื่องโรงเรียนชนบทเล็กๆที่จะปิดหรือไม่ปิด คนที่นำเสนอเรื่องนี้ก็อยู่ในพื้นที่แล้ว อาจจะดูเป็นรายจังหวัดไป ถ้าตัวเลขออกมาเป็นหมื่น ก็อาจจะสร้างปัญหาเพราะออกไปนอกระบบแล้ว ไม่มีใครดูแลเขา ตอนเป็นเด็ก ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ เป็นเด็กซน ก็ถูกส่งไปโรงเรียนอายุน้อย จึงขอเสนอว่าพ่อแม่ที่มีลูกวันนี้ ถ้าจะส่งลูกไปเรียนอนุบาล อย่าส่งไปเร็วเกินไป ไปเรียนแล้วก็ไม่ทันเพื่อน ในที่สุด ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ก็เรียนทันแต่ก็ต้องปรับตัว ในที่สุดก็ต้องเอาตัวรอด แต่การที่เราไปเรียนหนังสือโดยที่เรายังไม่พร้อม แล้วถูกส่งไปเรียนเพราะความซน ทำให้เราโดดเดี่ยว และก็ไม่มีเพื่อน ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ จบม.6 ตอนอายุ 16 ปีเท่านั้น แต่ในที่สุดผมก็ทันเพื่อน คือมาเร่งตอนหลัง

คุณวิชัย วรธานีวงศ์กล่าวว่า  ในกรณีเด็กเล็กและเด็กตกหล่น หลายคนอาจจะมองว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาแก้ไข โดยส่วนตัวมองว่าทุกคนที่เป็นคนไทย ต้องมีส่วนร่วมเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง อย่าปล่อยให้ปัญหาเหล่านี้ตกอยู่กับหน่วยงานหรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ต้องดูว่าพวกเรามีแนวทางร่วมกันแก้ปัญหาการศึกษาอย่างไร

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์กล่าวว่า เรื่องการศึกษานั้นสำคัญมากกว่ากระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าของการศึกษาเหมือนเป็นคนที่รู้คนเดียว นักศึกษาปริญญาเอกรุ่นนี้จึงได้อิทธิพลความคิดบางส่วนจากศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ด้วย ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการศึกษายุคต่อไปดังนี้

1. ไม่ควรจะรวมศูนย์ที่ส่วนกลางแบบในปัจจุบัน เงินทุกบาทก็ไปอยู่ที่ส่วนกลาง มีหน่วยงานต่างๆมีปลัดกระทรวง เลขาธิการสพฐ. เลขาธิการอาชีวศึกษา ในความเป็นจริง ควรจะกระจาย แล้วมอบอำนาจเหมือนที่เขาปฏิรูป มีศึกษาธิการ มีผู้อำนวยการเขตการศึกษา แต่ว่าไม่ได้กระจายแบบเต็มที่ การศึกษาต้องมีตัวละคร เรียกว่า networking ให้มันมากขึ้น ครูที่ดีก็ไม่ควรสอนหนังสือในห้องอย่างเดียว ยกตัวอย่างที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระดับมหาวิทยาลัย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิชพูดเป็นนับสิบครั้งแล้วว่า อาจารย์ที่ดีต้องใช้เวลา 40 % ไปรู้จักคนข้างนอก ถ้าบังคับให้เขาทำ บางคนก็ไม่รู้ว่าจะไปข้างนอกได้อย่างไร

2. ต้องสร้างตัวละครให้มาเสริมงานของการศึกษาซึ่งเป็นทางการ ที่เรียกว่า การสร้างพันธมิตร Stakeholders อยู่ข้างนอก

คุณวิชัย วรธานีวงศ์กล่าวว่า  โมเดลเดิมที่ใช้ได้ผลมานานแล้วคือ บ.ว.ร. (บ้าน วัดและโรงเรียน) เป็นกลุ่มสังคมท้องถิ่นที่เขามีส่วนเกื้อหนุนซึ่งกันและกันและเด็กที่ผ่านโครงสร้างนี้จะได้ทั้งความรู้ คุณธรรม จริยธรรม และการฝึกฝนตนเอง จากการที่ได้พบเจอผู้คนมากมายในสังคมท้องถิ่นเหล่านั้น วันนี้เมื่อนำวัฒนธรรมตะวันตกมากำกับเรื่องเหล่านั้นและการเรียนการสอนทำให้แต่ละคนแก่งแย่งกันเอาตัวรอด และท้ายที่สุดก็ไม่รอดกันทั้งชุมชน เมื่อกลายเป็นว่าดิ้นรนกันไปเห็นแก่ตัวมากขึ้น และการศึกษาก็กลายเป็นการศึกษาที่ไม่สามารถไปต่อเติม เรื่องอื่นๆที่มีโอกาสรับใช้สังคมในส่วนที่เกิดมาหรืออยู่ในท้องถิ่นนั้น

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์กล่าวว่า ในเรื่องการดูแลเด็กไม่ให้ออกจากการศึกษากลางคันเป็นเรื่องที่มีโอกาสที่จะได้รับการแก้ไขสูงเพราะว่า ชัดเจน ส่วนข้อเสนอที่ให้มีตัวละครมากขึ้น มีความร่วมมือกับคนอื่นมากขึ้น เป็นข้อเสนอที่ไม่ค่อยจะชัดเจน Mindset ของครูแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนมีรายได้ไม่พอใช้ เป็นหนี้สิน หรือทำอาชีพเสริมอื่น ข้อที่ 2 นี้ประชาชนควรมีบทบาทส่วนร่วมแก้ปัญหา เมื่อเปรียบเทียบกระทรวงสาธารณสุขกับกระทรวงศึกษาธิการ มีกฎหมายบางอย่างที่ทำให้กระทรวงสาธารณสุขมีองค์กรอิสระที่เข้าไปทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขโดยตรงเพราะว่าเงิน 100 บาทไม่อยู่ที่กระทรวง 100 บาทมันกระจายไปตามหน่วยงานต่างๆ จริงๆแล้วก็คือการปฏิรูปการสาธารณสุขของเราให้มีตัวละครข้างนอกเพิ่มขึ้น กระทรวงศึกษายังเป็นบูโรเครติคอยู่ ยังรวมศูนย์อยู่เพราะฉะนั้น ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์จะให้ท่านผู้ว่าท่านนี้ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ตรวจราชการทำวิทยานิพนธ์เรื่องเหล่านี้ ถ้าพบว่าเด็กเหล่านี้ออกจากภาคการศึกษา โดยไม่ได้กลับมา เมื่อคิดถึงวงจรชีวิตของเขาตั้งแต่อายุ 18-30 ปี เขาจะทำอะไร อายุ 30-40 ปี เขาจะทำอะไร ในที่สุดเขาก็เป็นปัญหาสังคม ยกตัวอย่างอันนี้มันเกิดขึ้นในประเทศซีเรีย อันนั้นมันเกิดขึ้นจากสงคราม เด็กไม่มีงานทำไม่มีการเรียนและกลายเป็น ISIS ล้างสมองได้มาก เด็กในภาคใต้ก็เหมือนกันที่หัวรุนแรง เขาก็ถูกอิทธิพลเพราะว่าตอนเรา อายุ 12 ปีถ้าเราไม่มีการศึกษา เราก็ไม่แตกต่างจากสัตว์ เพราะว่าการศึกษาทำให้เราเป็นคนคิดเป็น วิเคราะห์เป็น

นักศึกษารุ่นนี้มีมุมมองที่ดี ยังได้กล่าวถึงการวัดผลของงานของการศึกษา เขายกตัวอย่างในมหาวิทยาลัยมีผศ. รศ. ศ. โรงเรียนก็มีครูพิเศษ ครู 3 ครู 5 และมีเงินประจำตำแหน่ง ปัญหาคือครูเหล่านี้ไปลอกงานของคนอื่นมา ตัวเองก็ไม่ได้ผล ความจริงน่าจะเอาประสบการณ์ของตัวเองว่าทำอะไรมาและทำอะไรให้ดี เสร็จแล้วได้รางวัลก็เอากลับไปสอน ปรากฏว่า คนที่ได้รางวัลได้เงินประจำตำแหน่งในฐานะที่ทำผลงานทางวิชาการซึ่งผลงานอันหนึ่งก็ได้ข่าวว่าลอกกันมา เสร็จแล้วเมื่อกลับมาแทนที่จะมาช่วยสอน อย่างศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์สอนหนังสือเกือบทุกวัน ยิ่งสอนมากก็จะยิ่งมีประสบการณ์มากขึ้น ครูจำนวนหนึ่งในเมืองไทยเหมือนกับไม่มี Passion อาจจะไม่อยากเป็นครู แน่นอนคนอยากเป็นครูก็อาจจะมีส่วนหนึ่ง ก็เลยบ้าคลั่งแต่ตำแหน่งเป็นความภูมิใจที่ได้รับอนุมัติเป็นครูเชี่ยวชาญ อันนี้เด็กถือเป็นปัญหาใหญ่มากที่อยากจะให้มีการวัดผล เมื่อวัดผลเสร็จ ให้ครูเหล่านี้ได้กลับมาเป็นครูที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นแรงจูงใจให้เขาเข้ามาเป็นผู้เชี่ยวชาญแล้วก็มาช่วยกันศึกษาของเรา ข้อเท็จจริงก็คือว่า ตอนเข้าสู่ตำแหน่ง ไม่ได้ทำเอง ไปลอกเขามา หรือมีคนจ้างทำให้ แตกต่างกับที่มหาวิทยาลัยตอนนี้ ถ้าจะเป็นผศ.รศ. ก็ต้องทำงานเอง ปัจจุบันนี้คนเป็นผศ.รศ. ถ้าไม่มีผลงานเขาก็จะมีการทำโทษด้วย เพราะฉะนั้น ระดับมัธยมศึกษากับระดับมหาวิทยาลัย ระบบการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการหรือระบบการประเมินผลมันยังแตกต่างกันอยู่

คุณวิชัย วรธานีวงศ์กล่าวว่า ถ้าครูบาอาจารย์มีความรู้ที่ไม่ได้มาจากตัวเอง ไม่ได้มาจากการค้นคว้า ไปลอกชาวบ้านเขามา มันก็ไม่ใช่แล้ว อันนั้นในกรณีแบบนี้ถ้าคณะของนักศึกษาเสนอแนวทางวัดคนที่ผลของงาน ไม่ใช่จากตำแหน่งหรือส่วนของภาควิชาการโดยตรง นี่คือมาตรฐานใหม่ที่ควรนำมาใช้จริงๆ

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์กล่าวว่า จะให้นักศึกษาไปทำวิจัยที่สภาปฏิรูปซึ่งน่าจะมีคนคิดเรื่องนี้อยู่ แล้วเราก็จะได้มาเสริมกัน สุดท้ายนักศึกษากล่าวถึงวิธีการเรียนการสอนเด็กไทยในยุคต่อไปต้องเน้นให้เด็กไทยคิดเป็น วิเคราะห์เป็น มากกว่าที่ลอกเป็น และสอบเป็น นอกจากนี้นำความจริงจากสถานการณ์ต่างๆ และเวลาคิดไม่ควรคิดคนเดียว ควรจะใช้แนวจีระ หงส์ลดารมภ์และ Peter Senge  เช่น การเรียนหนังสือเป็นทีม      ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ก็มักจะทำ workshop ให้เขาปะทะกันทางปัญญากัน แล้วก็ให้เวลาเขาสักพักหนึ่ง พอเขานำเสนอขึ้นมา ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ก็จะให้ข้อเสนอแนะกับเขา ทำให้เขาได้รับความรู้มากขึ้น การปะทะกันทางปัญญาต้องปะทะจากความหลากหลายของความคิด

คุณวิชัย วรธานีวงศ์กล่าวว่า ถ้ารูปแบบการเรียนการสอนเป็นแบบเดิม จะไม่มีนวัตกรรมเกิดขึ้น เมื่อเราเห็นรูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่ๆที่ใช้ได้ผลจริงอย่างเช่นฟินแลนด์ และอีกหลายๆประเทศ ไม่เสียหายที่จะนำแนวคิดที่วัดผลได้ มีประสิทธิภาพแล้ว ทุกคนได้นำสิ่งที่ดีทั้งหมดมาลองใช้ในเมืองไทยบ้าง ต้องมีคนที่มีความเชี่ยวชาญและมีความตั้งใจจริงจึงจะทำให้ไทยไปแข่งกับเขาได้

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์กล่าวว่า ขอขอบคุณคุณวิชัย วรธานีวงศ์และลูกศิษย์ปริญญาเอก แต่ก่อนการพัฒนาหรือบริหารทุนมนุษย์ ก็มักจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับนโยบายรัฐบาล แต่วันนี้ถึงเวลาแล้ว จะไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ประเทศไทยไม่ได้ขาดแนวคิดทางด้านการปฏิรูป แต่ต้องมีคนที่เป็นเจ้าของความคิดการปฏิรูปและทำอย่างต่อเนื่องให้เกิดความยั่งยืน ถ้าเรื่องแรกเป็นหน้าที่ของคนกลุ่มหนึ่ง เปอร์เซ็นต์ออกมาว่าใครก็ตามหรือจังหวัดใดก็ตามที่มีเด็กเหล่านี้ก็อาจจะเป็นหน้าที่ของมหาดไทยก็ได้ เพราะฉะนั้นมันเกิดขึ้นจากผู้ว่าท่านนี้ท่านเห็นมาแล้วพูดเรื่องนี้ คุณพิชญ์ภูรี จันทรกมลกล่าวว่า มันเป็นอะไรที่ปฏิบัติได้ การปฏิรูปการศึกษาเหมือนการปฏิรูปจริยธรรม หรือการปฏิรูปการเมือง ถ้าเขียนขึ้นมาแล้วไม่มีแผนปฏิบัติการ ไม่มีตัวละคร ไม่ทำให้ต่อเนื่อง ชนะเล็กๆ แล้วก็ชนะไปเรื่อยๆ เมืองไทยก็ไม่สำเร็จ

โปรดคลิกที่ลิ้งค์นี้เพื่อดูรูปประกอบ

https://cdn.gotoknow.org/assets/media/files/001/287/061/original_Human_Talk_04022018.pdf?1519305636

 

 

หมายเลขบันทึก: 645011เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2018 20:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2018 20:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท