ลำเจียก
อาจารย์ ลำเจียก กำธร (อ.น้อง)

รายงานสรุปขุมความรู้จากการจัดการความรู้ใน โครงการพัฒนาความเชี่ยวชาญที่ส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 (ประเด็นการจัดการเรียนการสอนโดยการสะท้อนคิด)


                  ศตวรรษที่ 21 เป็นช่วงที่เทคโนโลยีสารสนเทศมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความรู้บางอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ยุทธศาสตร์ในการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เน้นที่องค์ความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญและสมรรถนะที่เกิดกับตัวผู้เรียน ทักษะการเรียนรู้ที่ผู้เรียนจำเป็นต้องมีในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ 1) ทักษะการเรียนรู้และการสร้างนวัตกรรม 2) ทักษะด้านสารสนเทศสื่อและเทคโนโลยี 3) ทักษะชีวิตและอาชีพ) (คู่มือประกันคุณภาพการศึกษาภายใน ระดับอุดมศึกษา ฉบับปีการศึกษา 2557 หน้า 51) ประกอบกับวิชาชีพพยาบาลเป็นวิชาชีพที่มีการปฏิบัติหน้าที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ การจัดการเรียนการสอนหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตในศตวรรษนี้จำเป็นต้องพัฒนาผู้เรียนทั้งด้านจริยธรรมความรู้ และทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

                 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีและวิทยาลัยการสาธารณสุขเครือข่ายภาคใต้ได้มีการจัดกิจกรรมการพัฒนาอาจารย์ด้านการจัดการเรียนการสอนที่เสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 มาอย่างต่อเนื่อง อันได้แก่ การใช้ศาสตร์และศิลป์ทางการสอน มาเป็นแนวทางในการออกแบบการสอน (Didactic Strategies) การสอนโดยใช้หุ่นสถานการณ์จำลอง (Simulation Based learning)  การสอนโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน(Problem – Based learning) การสอนโดยการสะท้อนคิด (Reflective Learning) และการสอนด้วยหลักบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ (Humanized health care)

                 ในการจัดการเรียนการสอนแต่ละครั้งผู้สอนต้องมีการศึกษาหลักสูตร และลักษณะวิชา นำไปสู่การกำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcome) ออกแบบการจัดการเรียนการสอน และการประเมินผล ซึ่งโครงการพัฒนาความเชี่ยวชาญที่ส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 จัดขึ้นเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความเชี่ยวชาญที่ส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 ของอาจารย์ในเครือข่าย SC-Net นำไปสู่การรวบรวม พัฒนา และเผยแพร่องค์ความรู้นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21

ผลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การออกแบบและจัดการเรียนการสอน

วันที่ 24 สิงหาคม 2560 มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การออกแบบและจัดการเรียนการสอน 3 ลักษณะ ได้แก่ 1) การใช้ศาสตร์และศิลป์ทางการสอน มาเป็นแนวทางในการออกแบบการสอน (DidacticStrategies)  2) การสอนโดยใช้หุ่นสถานการณ์จำลอง (Simulation Based learning) และ 3) การสอนโดยการสะท้อนคิด (Reflective Learning)

ประเด็นการสอนโดยการสะท้อนคิด (Reflective Learning)

           การสะท้อนคิดเป็นกระบวนการการเรียนรู้ที่เกิดจากการนำประสบการณ์มาคิดทบทวน ไตร่ตรอง สร้างความรู้ ความเข้าใจใหม่ที่นำไปสู่การพัฒนาและปรับปรุงตนเอง ปรับปรุงงาน และการแก้ปัญหาต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งมีขั้นตอน (Gibbs, 2000) ดังต่อไปนี้

ขั้นตอนของการสะท้อนคิด

กระบวนการเรียนรู้โดยการสะท้อนคิด ประกอบด้วย 6 ขั้นตอนดังนี้

  1. การบรรยาย (Description) เป็นการบรรยายว่า อะไรเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดการสะท้อนคิด เป็นการบรรยายที่เกิดจากความรู้สึกที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์นั้น ๆ
  2. ความรู้สึก (feelings) เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันโดยการสะท้อนการคิดจากการสังเกตความรู้สึก และการรับรู้ เรามีปฏิกิริยาอย่างไร หรือรู้สึกอย่างไรกับอุบัติการณ์ สถานการณ์หรือประเด็นแนวคิดนั้น เช่น การขาดความมั่นใจ ความกลัว ความสับสนในการปฏิบัติงาน เป็นต้น
  3. การประเมิน (Evaluation) เป็นการประเมินวิเคราะห์ประสบการณ์ร่วมกันว่าเป็นไปในทางดีหรือไม่ดีเกี่ยวกับอุบัติการณ์ สถานการณ์ หรือประเด็นแนวคิดนั้น แล้วนำสิ่งที่คุณให้คุณค่ามาใช้ในการตัดสินใจ
  4. การวิเคราะห์ (Analysis) เป็นการวิเคราะห์สถานการณ์โดยภาพรวม โดยใช้ประสบการณ์เดิมมาช่วยในการมองว่า สถานการณ์นี้เป็นอย่างไร
  5. การสรุป (General conclusions) เป็นการสรุปความคิดรวบยอดจากการวิเคราะห์โดยใช้เหตุและผล หรือสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้สู่การปฎิบัติร่วมกัน รวมถึงการสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยใช้ประสบการณ์เดิมมาช่วยในการสรุป
  6. การวางแผนปฏิบัติในอนาคต (Personal action plans) การวางแผนนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปปฏิบัติในสถานการณ์ใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาตนเอง ถ้าหากสถานการณ์นี้เกิดขึ้นอีก เราจะทำอะไรที่แตกต่างไปจากเดิมบ้าง มีขั้นตอนการปฏิบัติอย่างไร

อ.ลำเจียก กำธร สรุปความหมายของการสะท้อนคิด (reflective thinking)ว่าเป็นการทบทวนประสบการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ โดยใช้ฐานความรู้เดิมเพื่อการต่อเติมนำไปสู่การเรียนรู้สิ่งใหม่  โดยสรุปแนวคิดที่สำคัญของการสะท้อนมี 2 อย่าง คือ 1) ใช้ฐานความรู้เดิม และ 2) ต่อเติมความรู้ใหม่นำไปสู่การค้นพบวิธีการแก้ปัญหาในอนาคตที่มีประสิทธิภาพ  กระบวนการสำคัญของการจัดการเรียนการสอนด้วยการสะท้อนคิด ผู้สอนต้องกระตุ้นให้นักศึกษาคิดอย่างมีเหตุและผล โดยสิ่งที่ผู้สอนจะต้องมีคือทำอย่างไรให้ผู้เรียนรู้จากการสังเกต ทำอย่างไรให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์ถามอย่างมีเหตุมีผล และทำอย่างไรให้ผู้เรียนสามารถที่จะพัฒนามุมมองใหม่ๆได้  ซึ่ง 3 ส่วนนี้ต้องเกิดขึ้นกับผู้เรียนนี่คือหัวใจสำคัญของการสะท้อนคิด (reflective thinking) นอกจากนี้ก่อนที่ผู้สอนจะสอนสิ่งที่สำคัญต้องถามตัวเองว่าทำเพื่ออะไร และฉันทำพลาดตรงไหนและฉันจะต้องแก้ไขอย่างไร สิ่งนี้คือจุดที่สำคัญถ้าเราเรียนรู้แล้วก็ใช้กับตัวเองบ่อยๆมันก็นำไปสู่การสอนผู้เรียนให้มีทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล พัฒนามุมมองใหม่ๆ

การสะท้อนคิดสามารถประเมิน k a p ของนักศึกษาได้อย่างครบถ้วน  สามารถประเมินปัญหาการเรียนรู้ของนักศึกษาและแก้ไขปัญหาในสถานการณ์   การสะท้อนคิดสามารถสะท้อน attitude ของนักศึกษาได้จากการพูดคุยหรือการเขียนกับนักศึกษา  ซึ่งการสะท้อนทำให้นักศึกษาได้ทบทวนตัวเองทั้งในแง่ของความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของตนเอง  อันส่งผลให้เขาสามารถที่จะเผชิญปัญหาที่ซับซ้อนในคลินิกได้อย่างมั่นใจ  มีผลงานวิจัยหลายงานที่สนับสนุนว่า การฝึกการประเมินศักยภาพและจุดบกพร่องของตนเองและหาวิธีการปรับปรุงตัวเองจากการสะท้อนคิดอย่างสม่ำเสมอ เป็นการพัฒนาการคิดแบบมีวิจารณญาณ(critical thinking) ของนักศึกษา

อ.ลำเจียก กำธร อธิบายกระบวนการเรียนรู้โดยการสะท้อนคิดที่ใช้ตามแนวคิดของ Gibbs ประกอบด้วย 6 ขั้นตอน

ขั้นที่ 1 ให้นักศึกษาบรรยายสถานการณ์ในสิ่งที่นักศึกษาเห็นก่อนว่ามันมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบรรยายตรงตามความเป็นจริงสภาพการณ์จริงว่าจุดสำคัญของสถานการณ์นั้นน่ะเป็นเรื่องอะไรจุดเน้นของสถานการณ์นั้นคืออะไร

ขั้นที่ 2 สิ่งที่นักศึกษาต้องบรรยายได้ต้องบอกความรู้สึกของตัวเองได้ว่าเขารู้สึกอย่างไรต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ขั้นที่ 3 นักศึกษาต้องวิเคราะห์ว่าความรู้สึกของตัวเขาเองเกี่ยวกับสถานการณ์นั้นเป็นไปในทางบวกหรือทางลบอย่างไร

ขั้นที่ 4 นักศึกษาสามารถอนาไลซิสได้ว่ามันมีอุปสรรคหรือมีปัญหาอะไรบ้างที่ทำให้สถานการณ์นั้นแหละถ้าหากว่าจะแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น มันจะมีปัญหาหรืออุปสรรคอะไรบ้าง ซึ่งนักศึกษาต้องมองให้รอบ

ขั้นที่ 5 นักศึกษาสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาไปใช้โดยใช้ประสบการณ์เดิม

ขั้นที่ 6 สุดท้ายสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นก็คือ action plan นั่นหมายความว่านักศึกษาต้องเรียนรู้และต่อยอดว่าจากประสบการณ์เดิมตรงนั้น นักศึกษาแก้ปัญหาโดยประสบการณ์เดิมและมันยังแก้ไขไม่ได้ต้องไปค้นคว้าหาความรู้ใหม่และเพื่อนที่มาพัฒนาตัวเองว่าในครั้งหน้าถ้ามันเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก นักศึกษาเรียนรู้ที่จะแก้ไขอย่างไรโดยการต่อยอดความรู้อันนี้คือขั้นของ action plan

อ.ลำเจียก กำธร อธิบายต่อว่า reflective สามารถนำไปใช้ได้ทั้งในการเรียนการสอนภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ และการให้คำปรึกษาการใช้ชีวิตประจำวันของนักศึกษา

ในภาคทฤษฎีลักษณะของ reflective ที่นำไปใช้ที่นิยมกันมากที่สุดในขณะนี้ได้แก่

1) journal writing หรือการเขียนบันทึกการสะท้อนคิดเพื่อการเรียนรู้เป็นการเขียนตามขั้นตอนต่างๆ 6 ขั้นตอนที่กล่าวเบื้องต้น

2) วิธีการสะท้อนคิดจากการแสดงบทบาทสมมุติ

3) วิธีการสะท้อนคิดจากการมองภาพ

4) สุนทรียศาสตร์สะท้อนคิด

5) วิธีการสะท้อนคิดจากการใช้สถานการณ์จำลอง

การนำ Reflective Learning มาใช้ในการจัดการเรียนการสอน....... โดยอาจารย์ลำเจียก กำธร

การเรียนการสอนภาคทฤษฎีได้ใช้การชมภาพยนตร์ สะท้อนทั้งในส่วนเนื้อหา กระบวนการ และทัศนคติ

การเรียนการสอนภาคปฏิบัติ เมื่อนักศึกษาขึ้นปฏิบัติการพยาบาลครั้งแรกนำไปใช้ในขณะที่ร่วมกัน conference นักศึกษาบรรยายสภาพผู้ป่วย ผู้สอนใช้การสะท้อนคิดด้วยคำถาม “เพื่อนๆเห็นว่าอย่างไร แล้วหนูคิดว่าการพยาบาลที่ดีน่าจะเป็นอย่างไรและคนนี้ว่ายังไงสิ่งที่เพื่อนพูดมัน ต่างจากเพื่อนหรือเหมือนกับเพื่อนอย่างไร”  ใช้การ reflection in action คือขณะที่นักศึกษาให้การพยาบาล ผู้สอนมีการสะท้อนคิดขณะนั้นอย่างไร ผู้สอนอาจใช้คำถามให้สะท้อนคิดขณะนั้นว่านักศึกษาทำแบบนั้นเพราะอะไร ผู้สอนฟังเหตุผลของนักศึกษา หรืออีกลักษณะหนึ่งเป็น reflection on action คือเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการการปฏิบัติการพยาบาลแล้ว หยิบยกประเด็นมาคุยกัน

ผศ.ดร.วงจันทร์  เพชรพิเชฐเชียร สรุปแนวคิดของ Reflective Learning ว่าเป็นการสะท้อนคิดในประสบการณ์ที่มีความหมายกับผู้เรียน ซึ่งจอห์นดิวอี้ กล่าวว่า “ต่อให้เราจัดประสบการณ์ใดๆให้ผู้เรียนถ้าเขาไม่อยากจะรู้เขาก็จะไม่สามารถสะท้อนคิดได้”

สรุปขุมความรู้ (Knowledge Assets : KA) การนำ Reflective Learning มาใช้ในการจัดการเรียนการสอน

  1. จัดประสบการณ์ที่มีความหมายกับผู้เรียน
  2. สะท้อนทั้งในส่วนเนื้อหา กระบวนการ และทัศนคติ
  3. ลักษณะการสะท้อน ควรทำทั้ง reflection in action คือขณะที่นักศึกษาให้การพยาบาล ผู้สอนมีการสะท้อนคิดขณะนั้นอย่างไร และ reflection on action คือเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการการปฏิบัติการพยาบาลแล้ว หยิบยกประเด็นมาคุยกัน

 

หมายเลขบันทึก: 644274เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2018 21:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มกราคม 2018 21:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท