ร่างข้อข้อบังคับ กพท. ว่าด้วยข้อกำหนดเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศด้วยสายตา(2018)


สนามบินที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก สิ่งติดตั้งและอุปกรณ์ที่ให้บริการในสนามบินที่มีอยู่ก่อนข้อบังคับนี้ มีผลใช้บังคับ แต่ยังไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานสิ่งอำนวยความสะดวก สิ่งติดตั้งและอุปกรณ์ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้ เจ้าของหรือผู้ดำเนินงานสนามบินต้องทำการปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้ โดยให้จัดทำแผนการปรับปรุงแก้ไขที่เหมาะสมให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยให้ความเห็นชอบภายใน หนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ

ร่างข้อกำหนดคุณสมบัติ การติดตั้ง และการใช้งาน เครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศด้วยสายตา(2018)

      สนามบินที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก สิ่งติดตั้งและอุปกรณ์ที่ให้บริการในสนามบินที่มีอยู่ก่อนข้อบังคับนี้ มีผลใช้บังคับ แต่ยังไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานสิ่งอำนวยความสะดวก สิ่งติดตั้งและอุปกรณ์ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้ เจ้าของหรือผู้ดำเนินงานสนามบินต้องทำการปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้ โดยให้จัดทำแผนการปรับปรุงแก้ไขที่เหมาะสมให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยให้ความเห็นชอบภายใน หนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ

บทที่ 5 เครื่องช่วยในการเดินอากาศด้วยทัศนวิสัย (Visual Aids)

--------------------

5.1 อุปกรณ์บอกทิศทางและอุปกรณ์ให้สัญญาณ (Indicators and Signalling Devices)

5.1.1 อุปกรณ์บอกทิศทางลม (Wind Direction Indicator)

การใช้งาน (Application)

5.1.1.1 สนามบินต้องติดตั้งอุปกรณ์บอกทิศทางลมอย่างน้อยหนึ่งอัน

ตำแหน่ง (Location)

5.1.1.2 อุปกรณ์บอกทิศทางลมต้องตั้งอยู่ในบริเวณที่มองเห็นได้จากอากาศยานในระหว่างการปฏิบัติการบินหรือมองเห็นได้จากพื้นที่เคลื่อนไหว และต้องติดตั้งในลักษณะที่จะไม่ได้รับผลกระทบจากมวลอากาศรบกวน (Air Disturbance) ซึ่งเกิดขึ้นจากวัตถุที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง

ลักษณะ (Characteristics)

5.1.1.3 อุปกรณ์บอกทิศทางลมจะต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้

  • ทำจากผ้าเป็นรูปกรวยตัดยอด (Truncated Cone) มีความยาวไม่น้อยกว่า 3.6 เมตร และมีเส้นผ่าศูนย์กลางที่ปลายด้านที่ใหญ่กว่าไม่น้อยกว่า 0.9 เมตร
  • สามารถบอกทิศทางของลมผิวพื้น (Surface Wind) ที่ชัดเจนและบอกความเร็วลมโดยทั่วไป
  • ใช้สีที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนและสามารถเข้าใจได้จากความสูงอย่างน้อย 300 เมตร เมื่อเทียบกับพื้นหลัง และหากสามารถทำได้ ให้เลือกใช้เพียงสีเดียว โดยต้องเป็นสีขาวหรือสีส้ม ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็น ต้องใช้สองสีผสมกันเพื่อให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจนและตัดกับพื้นหลัง ให้เลือกใช้สีส้มและสีขาว สีแดงและสีขาว หรือสีดำและสีขาว และต้องจัดเรียงเป็นแถบสีสลับกันห้าแถบ โดยสีของแถบแรกและ แถบสุดท้ายต้องเป็นสีเข้มกว่า

5.1.1.4 ที่ตั้งของอุปกรณ์บอกทิศทางลม ต้องมีการทำเครื่องหมายแถบวงกลมที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 15 เมตรและ มีความกว้าง 1.2 เมตร โดยแถบดังกล่าวต้องอยู่ตรงกึ่งกลางของฐานอุปกรณ์บอกทิศทางลม และให้เลือกใช้สี ที่มองเห็นได้ชัดเจน เช่น สีขาว

5.1.1.5 ในกรณีที่สนามบินเปิดให้บริการในเวลากลางคืน สนามบินต้องจัดให้มีไฟส่องสว่างติดตั้งที่อุปกรณ์บอกทิศทางลม

5.1.2 อุปกรณ์บอกทิศทางในการบินลง (Landing Direction Indicator)

ตำแหน่ง (Location)

5.1.2.1 หากสนามบินมีการติดตั้งอุปกรณ์บอกทิศทางในการบินลง อุปกรณ์ดังกล่าวต้องตั้งอยู่ในบริเวณที่เห็นเด่นชัดในสนามบิน

ลักษณะ (Characteristics)

5.1.2.2 อุปกรณ์บอกทิศทางในการบินลงต้องเป็นรูปตัวที (T)

5.1.2.3 อุปกรณ์บอกทิศทางในการบินลงต้องมีรูปทรงและขนาดอย่างน้อยที่สุดตามรูปที่ 1 โดยรูปตัวทีดังกล่าว ต้องเป็นสีขาวหรือสีส้ม ขึ้นอยู่กับว่าสีใดสามารถมองเห็นได้ชัดเจนตัดกับพื้นหลังที่จะมองเห็นอุปกรณ์บอกทิศทาง ในการบินลง ทั้งนี้ หากสนามบินมีการให้บริการในเวลากลางคืน รูปตัวทีต้องถูกติดตั้งไฟส่องสว่างหรือมีการแสดงด้วยไฟสีขาว

รูปที่ 1 อุปกรณ์บอกทิศทางในการบินลง

5.1.3 ไฟฉายสัญญาณ (Signalling Lamp)

การใช้งาน (Application)

5.1.3.1 สนามบินควบคุม (Controlled Aerodrome) ต้องจัดให้มีไฟฉายสัญญาณ ณ หอควบคุมการจราจรทางอากาศ

ลักษณะ (Characteristics)

5.1.3.2 ไฟฉายสัญญาณต้องมีความสามารถในการให้สัญญาณสีแดง สีเขียว และสีขาวได้ และสามารถ

  • เล็งโดยใช้มือบังคับไปยังเป้าหมายใด ๆ ตามที่ต้องการได้
  • ให้สัญญาณโดยสีใดสีหนึ่ง ตามด้วยสัญญาณสีอื่นอีกสองสี และ
  • ส่งผ่านข้อความโดยสีใดสีหนึ่งในสามสีด้วยรหัสมอร์ส (Morse Code) ซึ่งมีความเร็วอย่างน้อย 4 คำต่อนาที

เมื่อมีการเลือกใช้สีเขียว การใช้งานต้องถูกกำหนดด้วยขอบเขตจำกัดของสีเขียว (Restricted Boundary of Green) ตามที่ระบุไว้ในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Appendix 1, 2.1.2

5.1.3.3 การกระจายลำแสงของต้องทำมุมไม่น้อยกว่า 1 องศา และไม่เกิน 3 องศา ในกรณีที่ต้องการใช้ไฟฉายสัญญาณ ในเวลากลางวัน ความเข้มของแสงสีใด ๆ ต้องไม่น้อยกว่า 6,000 แคนเดลา (Candela)

5.1.4 อุปกรณ์ให้สัญญาณ (Signal Panels) และพื้นที่ให้สัญญาณ (Signal Area)

ตำแหน่งของพื้นที่ให้สัญญาณ (Location of Signal Area)

5.1.4.1 สนามบินต้องจัดให้มีพื้นที่ให้สัญญาณ โดยให้อยู่ในตำแหน่งที่สามารถมองเห็นได้จากทุกทิศทางของมุมแอซิมัท เหนือมุมเงยซึ่งทำมุม 10 องศากับแนวระดับ เมื่อมองจากที่ความสูง 300 เมตร

ลักษณะของพื้นที่ให้สัญญาณ (Characteristics of  Signal Area)

5.1.4.2 พื้นที่ให้สัญญาณต้องเป็นพื้นผิวแนวราบ (Horizontal Surface) ที่เรียบสม่ำเสมอ โดยมีขนาดอย่างน้อย 9 ตารางเมตร

5.1.4.3 สีของพื้นที่ให้สัญญาณจะต้องเป็นสีที่แตกต่างจากสีของอุปกรณ์ให้สัญญาณ และต้องมีเส้นขอบสีขาว ขนาดความกว้างไม่น้อยกว่า 0.3 เมตรล้อมรอบ

5.2 เครื่องหมาย (Markings)

5.2.1 บททั่วไป (General)

การเว้นช่วงของเครื่องหมายทางวิ่ง (Interruption of Runway Markings)

5.2.1.1 บริเวณจุดตัดของทางวิ่งตั้งแต่สองทางวิ่งขึ้นไป สนามบินจะต้องแสดงเครื่องหมายของทางวิ่งที่มีความสำคัญกว่า ยกเว้นเครื่องหมายขอบทางวิ่ง และเครื่องหมายของทางวิ่งอื่น ๆ จะต้องมีการเว้นช่วง ทั้งนี้ เครื่องหมายขอบทางวิ่งของทางวิ่งที่มีความสำคัญกว่าอาจมีการลากเส้นต่อเนื่องผ่านจุดตัดกันของทางวิ่งหรืออาจมีการเว้นช่วงก็ได้

5.2.1.2 ลำดับความสำคัญของทางวิ่งสำหรับการแสดงเครื่องหมาย ต้องเป็นไปตามรายละเอียดดังต่อไปนี้

ลำดับที่ 1 ทางวิ่งแบบพรีซิชั่น (Precision Approach Runway)

ลำดับที่ 2 ทางวิ่งแบบนอนพรีซิชั่น (Non - Precision Approach Runway)

ลำดับที่ 3 ทางวิ่งแบบบินลงโดยไม่ใช้เครื่องวัดประกอบการบิน (Non - Instrument Runway)

5.2.1.3 บริเวณจุดตัดของทางวิ่งกับทางขับ สนามบินจะต้องแสดงเครื่องหมายของทางวิ่ง ณ บริเวณจุดตัดดังกล่าว และเครื่องหมายของทางขับจะต้องมีการเว้นช่วง ยกเว้นเครื่องหมายขอบทางวิ่งอาจมีการเว้นช่วงได้ ทั้งนี้ รูปแบบของ การเชื่อมต่อกันระหว่างเครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางวิ่งและเครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางขับ จะอยู่ในข้อ 5.2.8.7

สีและความชัดเจน (Colour and Conspicuity)

5.2.1.4 เครื่องหมายของทางวิ่งต้องเป็นสีขาว และในกรณีพื้นผิวของทางวิ่งมีสีอ่อน สามารถเพิ่มความชัดเจนของเครื่องหมายของทางวิ่งโดยใช้สีดำทาขอบเครื่องหมายดังกล่าว การเลือกใช้ชนิดของสีสำหรับการทำเครื่องหมาย ที่เหมาะสม สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการก่อให้เกิดความเสียดทานที่ไม่สม่ำเสมอบนเครื่องหมายได้ ทั้งนี้เครื่องหมายอาจประกอบด้วยแถบสีทึบ หรือแถบสีตามแนวยาวต่อเนื่องกัน ซึ่งจะทำให้ได้ผลเช่นเดียวกับแถบสีทึบ

5.2.1.5 เครื่องหมายของทางขับ ลานกลับลำอากาศยาน และหลุมจอดอากาศยานต้องเป็นสีเหลือง

5.2.1.6 เส้นเขตปลอดภัยในลานจอดอากาศยาน (Apron Safety Line) ต้องเป็นสีที่เด่นชัดและตัดกับสีของเครื่องหมายหลุมจอดอากาศยาน

5.2.1.7 สำหรับสนามบินที่มีการปฏิบัติการบินในเวลากลางคืน การทำเครื่องหมายบนพื้นผิวจะต้องใช้วัสดุสะท้อนแสง ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อเพิ่มการมองเห็นเครื่องหมายดังกล่าว คำแนะนำเกี่ยวกับวัสดุสะท้อนแสงจะอยู่ใน Aerodrome Design Manual (Doc 9157), Part 4.

ทางขับที่ไม่มีผิวพื้นจราจร (Unpaved Taxiways)

5.2.1.8 สำหรับทางขับที่ไม่มีผิวพื้นจราจร ต้องจัดให้มีเครื่องหมายเช่นเดียวกับที่ได้กำหนดไว้สำหรับทางขับที่มี ผิวพื้นจราจรเท่าที่สามารถทำได้

5.2.2 การทำเครื่องหมายเลขทางวิ่ง (Runway Designation Marking)

การใช้งาน (Application)

5.2.2.1 สนามบินต้องทำเครื่องหมายเลขทางวิ่งบริเวณหัวทางวิ่งที่มีผิวพื้นจราจร

5.2.2.2 สำหรับทางวิ่งที่ไม่มีผิวพื้นจราจร ต้องมีการทำเครื่องหมายเลขทางวิ่งบริเวณหัวทางวิ่งเท่าที่สามารถทำได้

ตำแหน่ง (Location)

5.2.2.3 เครื่องหมายเลขทางวิ่งต้องอยู่ ณ บริเวณหัวทางวิ่ง โดยรายละเอียดให้เป็นไปตามที่แสดงในรูปที่ 2 ในกรณีที่ หัวทางวิ่งถูกเลื่อนไปจากปลายสุดของทางวิ่ง สนามบินอาจจัดให้มีสัญลักษณ์แสดงหมายเลขทางวิ่งสำหรับอากาศยานที่กำลังบินขึ้น

ลักษณะ (Characteristics)

5.2.2.4 เครื่องหมายเลขทางวิ่งจะต้องประกอบด้วยตัวเลขสองตัว และสำหรับบนทางวิ่งขนานกันจะต้องมีตัวอักษรเพิ่มเติมด้วยอีกหนึ่งตัว โดยรายละเอียดให้เป็นไปตามลักษณะดังต่อไปนี้

  • บนทางวิ่งเดี่ยว ทางวิ่งคู่ขนาน หรือทางวิ่งสามเส้นขนานกัน ให้ใช้ตัวเลขสองตัวแทนค่าตัวเลขทั้งหมด โดยตัวเลขสองตัวนั้นเป็นค่าหนึ่งในสิบของมุมองศาเทียบกับทิศเหนือแม่เหล็ก (Magnetic North) เมื่อมองจากทิศทางการบินเข้าสู่ทางวิ่งนั้น
  • บนทางวิ่งขนานกันตั้งแต่สี่เส้นขึ้นไป ชุดของทางวิ่งที่อยู่ติดกันจะต้องใช้ตัวเลขสองตัวแทนค่าหนึ่งในสิบของมุมแอซิมัท (Magnetic Azimuth) และชุดของทางวิ่งที่เหลือจะต้องเป็นค่าหนึ่งในสิบจำนวนถัดไปของมุมแอซิมัท ยกตัวอย่างเช่น “32L” “32R” “33L” “33R” ในกรณีที่กฎข้างต้นทำให้ได้ค่าออกมาเป็นตัวเลขตัวเดียว จะต้องเติมเลขศูนย์ข้างหน้าตัวเลขดังกล่าวด้วย

5.2.2.5 ในกรณีของทางวิ่งขนาน หมายเลขทางวิ่งแต่ละหมายเลขจะต้องตามด้วยตัวอักษรดังต่อไปนี้ ตามลำดับจากซ้ายไปขวา เมื่อมองจากทิศทางการบินเข้าสู่สนามบิน

  • สำหรับทางวิ่งขนานสองทางวิ่ง ใช้ตัวอักษร “L” “R”
  • สำหรับทางวิ่งขนานสามทางวิ่ง ใช้ตัวอักษร “L” “C” “R”
  • สำหรับทางวิ่งขนานสี่ทางวิ่ง ใช้ตัวอักษร “L” “R” “L” “R”
  • สำหรับทางวิ่งขนานห้าทางวิ่ง ใช้ตัวอักษร “L” “C” “R” “L” “R” หรือ “L” “R” “L” “C” “R”
  • สำหรับทางวิ่งขนานหกทางวิ่ง ใช้ตัวอักษร “L” “C” “R” “L” “C” “R”

 

รูปที่ 2 เครื่องหมายเลขหัวทางวิ่ง เส้นกึ่งกลางทางวิ่ง และหัวทางวิ่ง

5.2.2.6 ตัวเลขและตัวอักษรของเครื่องหมายเลขทางวิ่งจะต้องอยู่ในรูปแบบและสัดส่วนตามรูปที่ 3 โดยขนาดจะต้องไม่น้อยกว่าที่แสดงไว้ในรูปที่ 3 แต่หากตัวเลขถูกรวมเข้ากับเครื่องหมายหัวทางวิ่ง (Theshold Marking) ขนาดของ ตัวเลขต้องใหญ่ขึ้น เพื่อที่จะเติมเต็มช่องว่างระหว่างแถบของเครื่องหมายหัวทางวิ่งได้อย่างเพียงพอ

5.2.3 เครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางวิ่ง (Runway Centre Line Marking)

การใช้งาน (Application)

5.2.3.1 สนามบินต้องทำเครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางวิ่งบนทางวิ่งที่มีผิวพื้นจราจร

ตำแหน่ง (Location)

5.2.3.2 สนามบินต้องทำเครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางวิ่งตลอดความยาวของแนวเส้นกึ่งกลางทางวิ่ง โดยจะอยู่ระหว่างเครื่องหมายเลขทางวิ่งตามรูปที่ 2 ยกเว้นเมื่อมีการเว้นช่วงของเครื่องหมายซึ่งเป็นไปตามข้อ 5.2.1.1

ลักษณะ (Characteristics)

5.2.3.3 เครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางวิ่งต้องประกอบด้วยแถบเส้นตรงซึ่งมีขนาดและช่องว่างระหว่างเส้น อย่างสม่ำเสมอ โดยความยาวของแถบเส้นตรงรวมกับความยาวของช่องว่างระหว่างเส้นต้องยาวรวมกันไม่น้อยกว่า 50 เมตร และยาวไม่เกิน 75 เมตร ทั้งนี้ ความยาวของแถบเส้นตรงแต่ละแถบต้องเท่ากับความยาวของช่องว่างระหว่างเส้นเป็นอย่างน้อย หรือมีความยาวเท่ากับสามสิบเมตร แล้วแต่ว่าอย่างใดมากกว่า

 

 

5.2.3.4 ความกว้างของแถบเส้นตรงจะต้องไม่น้อยกว่า

  • 0.90 เมตร บนทางวิ่งแบบพรีซิชั่นประเภทที่สองและประเภทที่สาม
  • 0.45 เมตร บนทางวิ่งแบบนอนพรีซิชั่นที่มีรหัสตัวเลขเป็น 3 หรือ 4 และบนทางวิ่งแบบพรีซิชั่น ประเภทที่หนึ่ง
  • 0.30 เมตร บนทางวิ่งแบบนอนพรีซิชั่นที่มีรหัสตัวเลขเป็น 1 หรือ 2 และบนทางวิ่งแบบบินลงโดยไม่ใช้เครื่องวัดประกอบการบิน

รูปที่ 3 รูปแบบและสัดส่วนของตัวเลขและตัวอักษรสำหรับเครื่องหมายเลขทางวิ่ง

5.2.4 เครื่องหมายหัวทางวิ่ง (Threshold Marking)

การใช้งาน (Application)

5.2.4.1 สนามบินต้องจัดให้มีเครื่องหมายหัวทางวิ่ง ณ บริเวณหัวทางวิ่งแบบบินลงด้วยเครื่องวัดประกอบการบินที่มี ผิวพื้นจราจร และทางวิ่งแบบบินลงโดยไม่ใช้เครื่องวัดประกอบการบินที่มีผิวพื้นจราจร ซึ่งมีรหัสตัวเลขเป็น 3 หรือ 4 โดยเป็นทางวิ่งสำหรับใช้ในการขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์ระหว่างประเทศ

5.2.4.2 สนามบินต้องจัดให้มีเครื่องหมายหัวทางวิ่ง ณ บริเวณหัวทางวิ่งแบบบินลงโดยไม่ใช้เครื่องวัดประกอบการบิน ที่มีผิวพื้นจราจร ซึ่งมีรหัสตัวเลขเป็น 3 หรือ 4 โดยเป็นทางวิ่งสำหรับใช้ในงานอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การขนส่งทางอากาศ เพื่อการพาณิชย์ระหว่างประเทศ

5.2.4.3 สำหรับทางวิ่งที่ไม่มีผิวพื้นจราจร ต้องมีการทำเครื่องหมายหัวทางวิ่ง ณ บริเวณหัวทางวิ่งดังกล่าว เท่าที่สามารถทำได้

ตำแหน่ง (Location)

5.2.4.4 แถบของเครื่องหมายหัวทางวิ่งต้องเริ่มต้นที่ระยะ 6 เมตรจากหัวทางวิ่ง

ลักษณะ (Characteristics)

5.2.4.5 เครื่องหมายหัวทางวิ่งต้องประกอบด้วยแถบเส้นตรงตามยาว (Longitudinal Stripes) ที่มีขนาดเท่ากัน ซึ่งจัดวางอยู่สองข้างของเส้นกึ่งกลางทางวิ่งในลักษณะสมมาตรกันตามรูปที่ 2 (A) และรูปที่ 2 (B) สำหรับทางวิ่งที่มีความกว้าง 45 เมตร โดยจำนวนแถบเส้นตรงขึ้นอยู่กับความกว้างของทางวิ่ง ดังนี้

  • ทางวิ่งกว้าง 18 เมตร ใช้แถบเส้นตรงจำนวน 4 แถบ
  • ทางวิ่งกว้าง 23 เมตร ใช้แถบเส้นตรงจำนวน 6 แถบ
  • ทางวิ่งกว้าง 30 เมตร ใช้แถบเส้นตรงจำนวน 8 แถบ
  • ทางวิ่งกว้าง 45 เมตร ใช้แถบเส้นตรงจำนวน 12 แถบ
  • ทางวิ่งกว้าง 60 เมตร ใช้แถบเส้นตรงจำนวน 16 แถบ

ในกรณีที่เป็นทางวิ่งแบบนอนพรีซิชั่นและทางวิ่งแบบบินลงโดยไม่ใช้เครื่องวัดประกอบการบินที่มีความกว้าง 45 เมตรขึ้นไป การจัดวางแถบเส้นตรงสามารถเป็นไปตามที่แสดงไว้ในรูปที่ 2 (C) ได้

5.2.4.6 แถบเส้นตรงต้องขยายไปทางด้านข้างของเส้นกึ่งกลางทางวิ่งไปจนถึงระยะ 3 เมตรจากขอบทางวิ่ง หรือขยาย ไปจนถึงระยะ 27 เมตรจากเส้นกึ่งกลางทางวิ่ง แล้วแต่กรณีใดจะมีระยะทางน้อยกว่า

          สำหรับกรณีที่เครื่องหมายเลขทางวิ่งแทรกอยู่ระหว่างเครื่องหมายหัวทางวิ่ง จะต้องมีแถบเส้นตรงของเครื่องหมายหัวทางวิ่งอย่างน้อยสามแถบในแต่ละด้านของเส้นกึ่งกลางทางวิ่ง

          สำหรับกรณีที่เครื่องหมายเลขทางวิ่งอยู่เหนือเครื่องหมายหัวทางวิ่ง แถบเส้นตรงของเครื่องหมายหัวทางวิ่งจะต้องต่อเนื่องกันไปตามแนวขวางทางวิ่ง โดยแถบเส้นตรงต้องมีความยาวอย่างน้อย 30 เมตร และมีความกว้างประมาณ 1.80 เมตร โดยมีระยะห่างระหว่างแต่ละแถบเส้นตรงประมาณ 1.80 เมตร

          ทั้งนี้ ระยะห่างระหว่างแถบเส้นตรงของเครื่องหมายหัวทางวิ่งจะต้องเพิ่มเป็นสองเท่า ณ ตำแหน่งที่อยู่ติดกับแนวเส้นกึ่งกลางทางวิ่ง และในกรณีที่มีเครื่องหมายเลขทางวิ่งรวมอยู่ในเครื่องหมายหัวทางวิ่ง ระยะห่างระหว่าง แถบเส้นตรงของเครื่องหมายหัวทางวิ่งจะต้องเป็น 22.5 เมตร

เส้นตัดขวาง (Transverse Stripe)

5.2.4.7 ในกรณีที่หัวทางวิ่งที่ถูกเลื่อนไปจากปลายสุดของทางวิ่ง หรือแนวปลายสุดของทางวิ่งไม่ตั้งฉากกับเส้นกึ่งกลางทางวิ่ง ให้ทำเครื่องหมายเส้นตัดขวางตามรูปที่ 4 (B) เพิ่มเติมในการทำเครื่องหมายหัวทางวิ่ง

5.2.4.8 เครื่องหมายเส้นตัดขวางต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 1.80 เมตร

รูปที่ 4 เครื่องหมายหัวทางวิ่งที่ถูกเลื่อนไป

ลูกศร (Arrow)

5.2.4.9 เมื่อเครื่องหมายหัวทางวิ่งถูกเลื่อนไปอย่างถาวร สนามบินต้องจัดให้มีเครื่องหมายลูกศรบนส่วนของทางวิ่งก่อนที่จะถึงหัวทางวิ่งที่ถูกเลื่อนไป ตามรูปที่ 4 (B)

5.2.4.10 เมื่อเครื่องหมายหัวทางวิ่งถูกเลื่อนไปชั่วคราวจากตำแหน่งปกติ สนามบินต้องจัดให้มีเครื่องหมายลูกศร ตามรูปที่ 4 (A) หรือรูปที่ 4 (B) และเครื่องหมายอื่น ๆ ทั้งหมดที่อยู่บนพื้นที่ก่อนที่จะถึงหัวทางวิ่งนั้นจะต้องถูกปิดคลุมไว้ ยกเว้นเครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางวิ่งซึ่งต้องถูกเปลี่ยนแปลงไปเป็นเครื่องหมายลูกศร

        ในกรณีหัวทางวิ่งถูกเลื่อนไปแบบชั่วคราวในระยะเวลาสั้น ๆ สนามบินอาจจัดให้มีวัตถุที่ใช้เป็นเครื่องหมาย (Markers) ที่มีรูปแบบและสีเหมือนกับเครื่องหมายการเลื่อนหัวทางวิ่ง แทนการทาสีเครื่องหมายการเลื่อนหัวทางวิ่งลงบนพื้นผิวทางวิ่ง และหากพื้นที่ก่อนถึงหัวทางวิ่งที่ถูกเลื่อนไปมีสภาพไม่เหมาะสมสำหรับการขับเคลื่อนของอากาศยาน สนามบินต้องจัดให้มีเครื่องหมายปิดบนพื้นที่ทางวิ่งดังกล่าว โดยมีลักษณะเป็นกากบาทตามรูปที่ 5

รูปที่ 5 เครื่องหมายปิดพื้นที่ทางวิ่งและการทำเครื่องหมายปิดพื้นที่ทางขับ

5.2.5 เครื่องหมายแสดงจุดเล็ง (Aiming Point Marking)

การใช้งาน (Application)

5.2.5.1 สนามบินต้องจัดให้มีเครื่องหมายแสดงจุดเล็งที่บริเวณ Approach End แต่ละด้านของทางวิ่งแบบบินลงด้วยเครื่องวัดประกอบการบินที่มีผิวพื้นจราจรซึ่งมีรหัสตัวเลขเป็น 2  3 หรือ 4

5.2.5.2 สนามบินต้องจัดให้มีเครื่องหมายแสดงจุดเล็งที่บริเวณ Approach End แต่ละด้านของทางวิ่งดังต่อไปนี้

  • ทางวิ่งแบบบินลงโดยไม่ใช้เครื่องวัดประกอบการบินที่มีผิวพื้นจราจร ซึ่งมีรหัสตัวเลขเป็น 3 หรือ 4
  • ทางวิ่งแบบบินลงด้วยเครื่องวัดประกอบการบินที่มีผิวพื้นจราจร ซึ่งมีรหัสตัวเลขเป็น 1

เมื่อต้องการให้จุดเล็งมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ตำแหน่ง (Location)

5.2.5.3 จุดเริ่มต้นของเครื่องหมายแสดงจุดเล็งต้องไม่อยู่ในระยะใกล้กับหัวทางวิ่งเกินกว่าระยะทางที่กำหนดไว้ ในตารางที่ 1 ยกเว้นกรณีที่ทางวิ่งนั้นมีการติดตั้งระบบไฟนำร่อนลงด้วยสายตา (VASIS) ซึ่งจะต้องกำหนดจุดเริ่มต้นของเครื่องหมายแสดงจุดเล็งให้สอดคล้องกับจุดเริ่มต้นของแนวร่อนลงด้วยสายตา (Visual Approach Slope Origin)

5.2.5.4 เครื่องหมายแสดงจุดเล็งต้องประกอบด้วยแถบเส้นตรงที่เด่นชัดจำนวนสองแถบ โดยขนาดของแถบเส้นตรงและระยะห่างระหว่างแถบสองแถบดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามที่กำหนดในตารางที่ 1 ในกรณีที่สนามบินจัดให้มีเครื่องหมายเขตจุดแตะพื้นทางวิ่ง (Touchdown Zone Marking) ระยะห่างระหว่างแถบของเครื่องหมายแสดงจุดเล็งจะต้องเท่ากับระยะห่างระหว่างแถบของเครื่องหมายเขตจุดแตะพื้นทางวิ่ง

ตารางที่ 1 ตำแหน่งและขนาดของเครื่องหมายแสดงจุดเล็ง

5.2.6 เครื่องหมายเขตจุดแตะพื้นทางวิ่ง (Touchdown Zone Marking)

การใช้งาน (Application)

5.2.6.1 สนามบินต้องจัดให้มีเครื่องหมายเขตจุดแตะพื้นทางวิ่ง ณ บริเวณเขตจุดแตะพื้น (Touchdown Zone) ของทางวิ่งแบบพรีซิชั่นที่มีผิวพื้นจราจรซึ่งมีรหัสตัวเลขเป็น 2  3 หรือ 4

ตำแหน่งและลักษณะ (Location and Characteristics)

5.2.6.3 เครื่องหมายเขตจุดแตะพื้นทางวิ่งต้องประกอบด้วยคู่ของเครื่องหมายสี่เหลี่ยมมุมฉากจัดวางอยู่สองข้าง ของเส้นกึ่งกลางทางวิ่งในลักษณะที่สมมาตรกัน โดยจำนวนคู่ของเครื่องหมายดังกล่าวจะสัมพันธ์กับระยะทางที่อากาศยานสามารถใช้ในการบินลง (Landing Distance Available) และระยะห่างระหว่างหัวทางวิ่ง ในกรณีที่มีการแสดงเครื่องหมายเขตจุดแตะพื้นทางวิ่งในทิศทางการร่อนลงทั้งสองด้านของทางวิ่ง รายละเอียดเป็นไปตามตารางดังต่อไปนี้

ระยะทางที่อากาศยานใช้ในการบินลง หรือ

ระยะห่างระหว่างหัวทางวิ่ง

จำนวนคู่ของเครื่องหมาย เขตจุดแตะพื้นทางวิ่ง

น้อยกว่า 900 เมตร

1

900 เมตรขึ้นไป แต่ไม่ถึง 1,200 เมตร

2

1,200 เมตรขึ้นไป แต่ไม่ถึง 1,500 เมตร

3

1,500 เมตรขึ้นไป แต่ไม่ถึง 2,400 เมตร

4

ตั้งแต่ 2,400 เมตรขึ้นไป

6

ตารางที่ 2 จำนวนคู่ของเครื่องหมายเขตจุดแตะพื้นทางวิ่ง

5.2.6.4 เครื่องหมายเขตจุดแตะพื้นทางวิ่งต้องเป็นไปตามรูปแบบทั้งสองที่แสดงไว้ในรูปที่ 6 ดังนี้

  • สำหรับรูปแบบของเครื่องหมายเขตจุดแตะพื้นทางวิ่งในรูปที่ 6 (A) แถบเส้นตรงแต่ละแถบต้องมี ความยาวไม่น้อยกว่า 22.5 เมตร และมีความกว้างไม่น้อยกว่า 3 เมตร
  • สำหรับรูปแบบของเครื่องหมายเขตจุดแตะพื้นทางวิ่ง ในรูปที่ 6 (B) แถบเส้นตรงแต่ละแถบต้องมี ความยาวไม่น้อยกว่า 22.5 เมตร และมีความกว้างไม่น้อยกว่า 1.8 เมตร โดยมีระยะห่างระหว่างแถบเส้นตรงที่ติดกัน 1.5 เมตร

ในกรณีที่มีเครื่องหมายแสดงจุดเล็ง ระยะห่างระหว่างขอบด้านในของแถบเส้นตรงทั้งสองแถบของเครื่องหมาย เขตจุดแตะพื้นทางวิ่งจะต้องเท่ากับระยะห่างระหว่างแถบเส้นตรงของเครื่องหมายแสดงจุดเล็ง หากไม่มีการทำเครื่องหมายแสดงจุดเล็ง ระยะห่างระหว่างแถบเส้นตรงของเครื่องหมายเขตจุดแตะพื้นทางวิ่งต้องสอดคล้องกับระยะห่างที่กำหนดไว้สำหรับเครื่องหมายแสดงจุดเล็ง ตามตารางที่ 1 นอกจากนี้ การเว้นระยะห่างระหว่าง แถบเส้นตรงตามแนวยาวจะต้องเท่ากับ 150 เมตรโดยเริ่มจากหัวทางวิ่ง ยกเว้นกรณีที่แถบเส้นตรงของเครื่องหมาย เขตจุดแตะพื้นทางวิ่งอยู่ตรงกันกับหรืออยู่ภายในระยะ 50 เมตรของเครื่องหมายแสดงจุดเล็ง การทำแถบเส้นตรง ในส่วนนั้นจะต้องถูกยกเว้น

5.2.6.5 บนทางวิ่งแบบนอนพรีซิชั่นที่มีรหัสตัวเลขเป็น 2 ต้องจัดให้มีการเพิ่มจำนวนคู่ของแถบเครื่องหมายเขตจุดแตะพื้นทางวิ่งที่ระยะ 150 เมตรหลังจากจุดเริ่มต้นเครื่องหมายแสดงจุดเล็ง

5.2.7 เครื่องหมายเส้นขอบทางวิ่ง (Runway Side Stripe Marking)

การใช้งาน (Application)

5.2.7.1 ในกรณีที่ไม่มีความชัดเจนระหว่างขอบของทางวิ่งกับไหล่ทางวิ่งหรือพื้นที่บริเวณรอบ ๆ ทางวิ่ง สนามบินต้องจัดให้มีการทำเครื่องหมายเส้นขอบทางวิ่งระหว่างหัวทางวิ่งทั้งสองด้านของทางวิ่งที่มีผิวพื้นจราจร

5.2.7.2 สนามบินต้องทำเครื่องหมายเส้นขอบทางวิ่งบนทางวิ่งแบบพรีซิชั่น โดยไม่ต้องคำนึงถึงความชัดเจนระหว่างขอบทางวิ่งกับไหล่ทางวิ่ง หรือพื้นที่บริเวณรอบ ๆ ทางวิ่ง

ตำแหน่ง (Location)

5.2.7.3 เครื่องหมายเส้นขอบทางวิ่งต้องประกอบด้วยแถบเส้นตรงสองแถบซึ่งอยู่บนขอบแต่ละด้านของทางวิ่ง โดยที่ขอบนอกของแถบเส้นตรงนั้นจะต้องอยู่บริเวณขอบของทางวิ่ง เว้นแต่ในกรณีที่ทางวิ่งมีความกว้างมากกว่า 60 เมตร แถบเส้นตรงจะต้องอยู่ที่ระยะ 30 เมตรห่างจากเส้นกึ่งกลางทางวิ่ง

5.2.7.4 ในกรณีที่สนามบินมีลานกลับลำอากาศยาน เครื่องหมายเส้นขอบทางวิ่งต้องต่อเนื่องกันระหว่างทางวิ่งและลานกลับลำอากาศยาน

ลักษณะ (Characteristics)

5.2.7.5 เครื่องหมายเส้นขอบทางวิ่งต้องมีความกว้างอย่างน้อย 0.9 เมตรบนทางวิ่งที่มีความกว้างเท่ากับหรือมากกว่า 30 เมตร หรือมีความกว้างอย่างน้อย 0.45 เมตรบนทางวิ่งที่กว้างน้อยกว่า 30 เมตร

 

รูปที่ 6 เครื่องหมายแสดงจุดเล็งและเครื่องหมายเขตจุดแตะพื้นทางวิ่ง

(สำหรับทางวิ่งที่มีความยาวตั้งแต่ 2,400 เมตรขึ้นไป)

5.2.8 เครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางขับ (Taxiway Centre Line Marking)

การใช้งาน (Application)

5.2.8.1 สนามบินต้องทำเครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางขับบนทางขับที่มีผิวพื้นจราจร หรือลานจอดอากาศยาน ในกรณีที่ทางวิ่งที่มีรหัสตัวเลขเป็น 3 หรือ 4 เพื่อเป็นการนำทางอย่างต่อเนื่องจากเส้นกึ่งกลางทางวิ่งถึงหลุมจอดอากาศยาน

5.2.8.2 สนามบินต้องทำเครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางขับบนทางขับที่มีผิวพื้นจราจร หรือลานจอดอากาศยาน ในกรณีที่ทางวิ่งที่มีรหัสตัวเลขเป็น 1 หรือ 2 เพื่อเป็นการนำทางอย่างต่อเนื่องจากเส้นกึ่งกลางทางวิ่งถึงหลุมจอดอากาศยาน

5.2.8.3 สนามบินต้องทำเครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางขับบนทางวิ่งที่มีผิวพื้นจราจร เมื่อทางวิ่งนั้นเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางมาตรฐานในการขับเคลื่อน (Standard Taxi-Route) และ

  • เมื่อไม่มีเครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางวิ่ง หรือ
  • แนวเส้นกึ่งกลางทางขับไม่สอดคล้องกับแนวเส้นกึ่งกลางทางวิ่ง

5.2.8.4 ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องแสดงตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่ง สนามบินอาจจัดให้มีเครื่องหมาย เส้นกึ่งกลางทางขับแบบเน้นย้ำ (Enhanced Taxiway Centre Line Marking) ซึ่งการทำเครื่องหมายดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการป้องกันการรุกล้ำเข้าไปในทางวิ่ง

5.2.8.5 หากสนามบินจัดให้มีเครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางขับแบบเน้นย้ำ เครื่องหมายดังกล่าวจะต้องอยู่ที่จุดตัดของทางวิ่งและทางขับ

ตำแหน่ง (Location)

5.2.8.6 ตำแหน่งของเครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางขับ ต้องเป็นไปตามรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • เครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางขับบนส่วนที่เป็นทางตรงของทางขับต้องจะอยู่บนแนวเส้นกึ่งกลางทางขับ
  • เครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางขับบนส่วนที่เป็นแนวโค้งของทางขับต้องจะต่อเนื่องจากส่วนที่เป็นแนวตรงของทางขับและรักษาระยะคงที่จากขอบนอกของส่วนโค้ง

    ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ข้อ 3.9.5 และรูปที่ 3-2

    5.2.8.7 บริเวณจุดตัดของทางขับกับทางวิ่งซึ่งทางขับถูกใช้เป็นทางขับออกจากทางวิ่ง เครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางขับต้องมีลักษณะโค้งเข้าไปหาเส้นกึ่งกลางทางวิ่งตามที่แสดงไว้ในรูปที่ 7 และ 26 โดยเครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางขับจะต้องต่อขนานไปกับเครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางวิ่งเป็นระยะทางอย่างน้อย 60 เมตร นับจากจุดสัมผัส (Point of Tangency) กับเส้นกึ่งกลางทางวิ่งสำหรับทางวิ่งที่มีรหัสตัวเลขเป็น 3 หรือ 4 และเป็นระยะทางอย่างน้อย 30 เมตรสำหรับทางวิ่งที่มีรหัสตัวเลขเป็น 1 หรือ 2

    5.2.8.8 ในกรณีที่สนามบินจัดให้มีเครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางขับบนทางวิ่งซึ่งเป็นไปตามข้อ 5.2.8.3 เครื่องหมายดังกล่าวจะต้องอยู่บนแนวเส้นกึ่งกลางของทางขับที่ถูกกำหนดให้เส้นทางมาตรฐานในการขับเคลื่อน

    • เครื่องหมายดังกล่าวจะต้องยาวออกจากตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่ง Pattern A (ตามที่กำหนดใน รูปที่ 7) เป็นระยะทาง 47 เมตรในทิศทางของการเคลื่อนที่ออกจากทางวิ่ง ตามที่แสดงในรูปที่ 8 (a)
    • ถ้าเครื่องหมายดังกล่าวตัดผ่านเครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งอื่น ๆ ซึ่งเป็นทางวิ่งแบบ พรีซิชั่นประเภทที่สองหรือประเภทที่สาม และอยู่ภายในระยะทาง 47 เมตรจากเครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งเครื่องหมายแรก เครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางขับแบบเน้นย้ำจะต้องมีการเว้นช่วงเป็นระยะทาง 0.9 เมตรก่อนถึงและหลังจากจุดที่เครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งที่ตัดกัน และเครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางขับแบบเน้นย้ำจะต้องยาวต่อเนื่องเลยจากเครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งที่ตัดกันออกไปอีกอย่างน้อยเป็นจำนวนสามแถบเส้นประหรือเป็นระยะทาง 47 เมตรจากจุดเริ่มต้นจนถึงจุดสิ้นสุด แล้วแต่ว่าระยะทางใดจะมากกว่า ตามรูปที่ 8 (b)
    • ถ้าเครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางขับแบบเน้นย้ำยาวต่อเนื่องผ่านจุดตัดกันของทางขับซึ่งอยู่ภายในระยะ 47 เมตรจากเครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่ง เครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางขับแบบเน้นย้ำจะต้องมีการเว้นช่วงเป็นระยะทาง 1.5 เมตรก่อนถึงและหลังจากจุดที่เครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางขับ ที่ตัดข้ามเครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางขับแบบเน้นย้ำ และเครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางขับแบบเน้นย้ำจะต้องยาวต่อเนื่องเลยจากจุดตัดกันของทางขับออกไปอีกอย่างน้อยเป็นจำนวนสามแถบเส้นประหรือเป็นระยะทาง 47 เมตรจากจุดเริ่มต้นจนถึงจุดสิ้นสุด แล้วแต่ว่าระยะทางใดจะมากกว่า ตามรูปที่ 8 (c)
    • ในกรณีที่เส้นกึ่งกลางทางขับสองเส้นมาบรรจบกันที่หรือก่อนถึงเครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่ง เส้นประด้านในจะต้องมีความยาวไม่น้อยกว่า 3 เมตร ตามรูปที่ 8 (d)
    • ในกรณีที่มีเครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งสองเครื่องหมายอยู่ตรงข้ามกัน และมีระยะห่างระหว่างกันน้อยกว่า 94 เมตร เครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางขับแบบเน้นย้ำจะต้องยาวเท่ากับระยะห่างดังกล่าว และต้องไม่ยาวเลยเครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งทั้งสอง ตามรูปที่ 8 (e)

    ลักษณะ (Characteristics)

    5.2.8.10 เครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางขับต้องเป็นเส้นแถบที่มีความกว้างอย่างน้อย 15 เซนติเมตรต่อเนื่องตลอด ความยาวทางขับ ยกเว้นจุดที่ตัดกับเครื่องหมายหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่ง หรือเครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยเข้าทางขับตามที่แสดงไว้ในรูปที่ 7

    5.2.8.11 เครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางขับแบบเน้นย้ำจะต้องเป็นตามที่แสดงไว้ในรูปที่ 8

    รูปที่ 7 เครื่องหมายทางขับ (และเครื่องหมายทางวิ่งแบบพื้นฐาน)

    รูปที่ 8 เครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางขับแบบเน้นย้ำ 

    5.2.9 เครื่องหมายลานกลับลำอากาศยาน (Runway Turn Pad Marking)

    การใช้งาน (Application)

    5.2.9.1 กรณีที่สนามบินได้จัดให้มีลานกลับลำอากาศยาน สนามบินต้องมีการทำเครื่องหมายลานกลับลำอากาศยาน สำหรับนำทางอากาศยานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถเลี้ยวกลับลำบนทางวิ่งครบ 180 องศาและตั้งลำตรงกับ แนวเส้นกึ่งกลางทางวิ่ง

    ตำแหน่ง (Location)

    5.2.9.2 เครื่องหมายลานกลับลำอากาศยานต้องมีลักษณะโค้งออกจากแนวเส้นกึ่งกลางทางวิ่งเข้าสู่ลานกลับลำอากาศยาน โดยรัศมีของส่วนโค้งจะต้องสอดคล้องกับความสามารถในการขับเคลื่อน (Manoeuvring Capability) และความเร็วปกติที่ใช้ในการขับเคลื่อนของอากาศยานบนลานกลับลำดังกล่าว ทั้งนี้ จุดตัดกันของเครื่องหมายลานกลับลำอากาศยานกับแนวเส้นกึ่งกลางทางวิ่งต้องทำมุมไม่เกิน 30 องศา

    5.2.9.3 เครื่องหมายลานกลับลำอากาศยานจะต้องต่อขยายขนานไปกับเครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางวิ่งเป็นระยะทาง อย่างน้อย 60 เมตรนับจากจุดที่เครื่องหมายทั้งสองสัมผัสกัน สำหรับทางวิ่งที่มีรหัสตัวเลขเป็น 3 หรือ 4 และ เป็นระยะทางอย่างน้อย 30 เมตร สำหรับทางวิ่งที่มีรหัสตัวเลขเป็น 1 หรือ 2

    5.2.9.4 เครื่องหมายลานกลับลำอากาศยานจะต้องนำทางอากาศยานในลักษณะที่ทำให้มีการขับเคลื่อนเป็นเส้นตรงก่อนถึงจุดเริ่มทำการเลี้ยว 180 องศา ทั้งนี้ ส่วนที่เป็นเส้นตรงของเครื่องหมายลานกลับลำอากาศยานจะต้องขนานกับขอบนอกของพื้นที่ลานกลับลำอากาศยาน

    5.2.9.5 การออกแบบส่วนโค้งของเครื่องหมายลานกลับลำอากาศยานเพื่อให้อากาศยานสามารถทำการเลี้ยว 180 องศาได้นั้น จะต้องมีการคำนึงถึงมุมเลี้ยวของล้อหน้าซึ่งต้องไม่เกิน 45 องศา

    5.2.9.6 การออกแบบเครื่องหมายลานกลับลำอากาศยาน ต้องเป็นไปในลักษณะที่ว่า เมื่อห้องนักบินของอากาศยาน อยู่เหนือเครื่องหมายลานกลับลำอากาศยานแล้ว ระยะห่างระหว่างล้อของอากาศยานกับขอบของพื้นที่ลานกลับลำอากาศยาน ต้องไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในข้อ 3.3.6 ทั้งนี้ สนามบินอาจมีการพิจารณาจัดให้มีระยะห่างระหว่างล้อของอากาศยานกับขอบของพื้นที่ลานกลับลำอากาศยานที่มากขึ้น เพื่อให้ง่ายต่อการขับเคลื่อนของอากาศยานที่มีรหัสเป็น E และ F ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในข้อ 3.3.7

    ลักษณะ (Characteristics)

    5.2.9.7 เครื่องหมายลานกลับลำอากาศยานต้องมีความกว้างอย่างน้อย 15 เซนติเมตรและมีความยาวต่อเนื่อง

    5.2.10 เครื่องหมายตําแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่ง (Runway-Holding Position Marking)

    การใช้งานและตำแหน่ง (Application and Location)

    5.2.10.1 สนามบินต้องแสดงเครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่ง ณ ตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่ง

     

     

    ลักษณะ (Characteristics)

    5.2.10.2 ที่จุดตัดของทางขับกับทางวิ่งแบบบินลงโดยไม่ใช้เครื่องวัดประกอบการบิน  ทางวิ่งแบบนอนพรีซิชั่น  หรือ ทางวิ่งสำหรับการบินขึ้น (Take-off Runway) รูปแบบของเครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งต้องเป็นไปตามรูปที่ 7 Pattern A

    5.2.10.3 สำหรับกรณีที่มีตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งเพียงแห่งเดียว ณ จุดตัดกันของทางขับกับทางวิ่ง แบบพรีซิชั่นประเภทที่หนึ่ง  ประเภทที่สอง และประเภทที่สาม รูปแบบของเครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งต้องเป็นไปตามรูปที่ 7 Pattern A และสำหรับกรณีที่มีตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งจำนวนสองหรือสามแห่ง ณ ตำแหน่งตัดกันดังกล่าว รูปแบบเครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งที่อยู่ใกล้ทางวิ่งมากที่สุด ต้องเป็นไปตามรูปที่ 7 Pattern A และเครื่องหมายที่อยู่ไกลจากทางวิ่งมากกว่าต้องเป็นไปตามรูปที่ 7 Pattern B

    5.2.10.4 ในกรณีที่สนามบินจัดให้มีเครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งแสดง ณ ตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่ง เพื่อให้เป็นไปตามรายละเอียดในข้อ 3.12.3 เครื่องหมายดังกล่าวต้องเป็นไปตามรูปที่ 7 Pattern A

    5.2.10.5 ขนาดของเครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งต้องเป็นไปตามที่แสดงไว้ในรูปที่ 9 Pattern A1 (หรือ A2) หรือ Pattern B1 (หรือ B2) แล้วแต่ความเหมาะสม จนถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2569

    5.2.10.6 ตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2569 ขนาดของเครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งต้องเป็นไปตามรูปที่ 9 Pattern A2 หรือ Pattern B2 ตามความเหมาะสม

    5.2.10.7 เมื่อต้องการเพิ่มความชัดเจนในการมองเห็นตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่ง ขนาดของเครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งต้องเป็นไปตามตามรูปที่ 9 Pattern A2 หรือ Pattern B2 ตามความเหมาะสม

    5.2.10.8 ในกรณีที่เครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่ง Pattern B อยู่บนพื้นที่ซึ่งมีความยาวเกิน 60 เมตร สนามบินต้องมีการทาสีเครื่องหมาย “CAT II” หรือ “CAT III” ตามความเหมาะสมบนพื้นผิวที่ปลายทั้งสองด้านของเครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งดังกล่าว และมีระยะห่างระหว่างขอบนอกของเครื่องหมายทั้งสองมากสุดไม่เกิน 45 เมตร โดยตัวอักษรจะต้องมีความสูงไม่น้อยกว่า 1.8 เมตร และมีระยะห่างไม่เกิน 0.9 เมตรเหนือเครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอย

    5.2.10.9 เครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งซึ่งแสดง ณ จุดตัดกันของสองทางวิ่งจะต้องตั้งฉากกับแนวเส้นกึ่งกลางทางวิ่งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางมาตรฐานในการขับเคลื่อนของอากาศยาน โดยรูปแบบของเครื่องหมายต้องเป็นไปตามรูปที่ 9 Pattern A2

     

    รูปที่ 9 เครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่ง

    (รูปแบบ A1 และ B1 ไม่สามารถใช้ได้อีกหลังจากปี 2026)

    5.2.11 เครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยเข้าทางขับ (Intermediate Holding Position Marking)

    การใช้งานและตำแหน่ง (Application and Location)

    5.2.11.1         สนามบินต้องจัดให้มีเครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยเข้าทางขับแสดง ณ ตำแหน่งหยุดคอยเข้าทางขับ

    5.2.11.3 เมื่อมีเครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยเข้าทางขับแสดงอยู่ที่จุดตัดกันของทางขับที่มีผิวพื้นจราจรสองทางขับ เครื่องหมายดังกล่าวจะต้องตัดขวางทางขับในระยะห่างที่เพียงพอจากขอบที่อยู่ใกล้ของอีกทางขับหนึ่งที่ตัดกัน เพื่อให้มั่นใจว่ามีระยะห่างที่ปลอดภัยระหว่างเครื่องบินที่กำลังขับเคลื่อนบนทางขับทั้งสอง ทั้งนี้ เครื่องหมายดังกล่าวจะต้องสมนัยกับแถบไฟหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่ง (Stop Bar Light) หรือไฟแสดงตำแหน่งหยุดคอยเข้าทางขับ (Intermediate Holding Position Light)

    ลักษณะ (Characteristics)

    5.2.11.5 เครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยเข้าทางขับต้องมีลักษณะเป็นแถบเส้นประเส้นเดี่ยวตามที่แสดงในรูปที่ 7

    5.2.12 เครื่องหมายจุดตรวจสอบคลื่นวิทยุวีโออาร์ในสนามบิน (VOR Aerodrome Checkpoint Marking)

    การใช้งาน (Application)

    5.2.12.1 ในกรณีที่สนามบินจัดให้มีตำแหน่งตรวจสอบคลื่นวิทยุวีโออาร์ในสนามบิน ณ ตำแหน่งดังกล่าวจะต้องมี การทำเครื่องหมายจุดตรวจสอบคลื่นวิทยุวีโออาร์ในสนามบิน และติดตั้งป้ายแสดงจุดตรวจสอบคลื่นวิทยุวีโออาร์ในสนามบิน

    5.2.12.2 การเลือกสถานที่ตั้งของจุดตรวจสอบคลื่นวิทยุวีโออาร์ในสนามบิน จะอยู่ใน Annex 10 Volume 1 Attachment E

    ตำแหน่ง (Location)

    5.2.12.3 เครื่องหมายจุดตรวจสอบคลื่นวิทยุวีโออาร์ในสนามบิน จะต้องอยู่ตรงกลางของตำแหน่งที่อากาศยาน ทำการจอดเพื่อรับสัญญาณ VOR ที่ถูกต้อง

    ลักษณะ (Characteristics)

    5.2.12.4 เครื่องหมายจุดตรวจสอบคลื่นวิทยุวีโออาร์ในสนามบินต้องประกอบด้วยวงกลมที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง ยาว 6 เมตร และมีความกว้างของเส้น 15 เซนติเมตรตามรูปที่ 10 (A)

    5.2.12.5 ในกรณีที่ต้องการกำหนดให้อากาศยานหันหัวไปในทิศทางเฉพาะ จะต้องจัดให้มีแถบเส้นลากผ่านศูนย์กลางของวงกลมในองศาที่กำหนด โดยแถบเส้นดังกล่าวต้องมีความยาวต่อออกนอกวงกลมไปอีกหกเมตรในทิศทางเฉพาะ ที่กำหนดไว้ และมีสัญลักษณ์หัวลูกศรที่ปลายแถบเส้นดังกล่าว ทั้งนี้ แถบเส้นต้องมีความกว้าง 15 เซนติเมตร ตามรูปที่ 10 (B)

    5.2.12.6 เครื่องหมายจุดตรวจสอบคลื่นวิทยุวีโออาร์ในสนามบิน จะต้องเป็นสีขาวและเป็นสีที่แตกต่างจากสีที่ใช้สำหรับการทำเครื่องหมายของทางขับ ทั้งนี้ หากต้องการให้เครื่องหมายเด่นชัดยิ่งขึ้น ให้ทาขอบเครื่องหมายด้วยสีดำ

    รูปที่ 10 เครื่องหมายจุดตรวจสอบคลื่นวิทยุวีโออาร์ในสนามบิน

     

    5.2.13 เครื่องหมายหลุมจอดอากาศยาน (Aircraft Stand Marking)

    คำแนะนำเกี่ยวกับแผนผังการจัดวางเครื่องหมายหลุมจอดอากาศยานจะอยู่ใน Aerodrome Design Manual (Doc 9157), Part 4.

    การใช้งาน (Application)

    5.2.13.1 สนามบินต้องจัดทำเครื่องหมายหลุมจอดอากาศยาน ณ ตำแหน่งหลุมจอดอากาศยานที่กำหนดไว้บนลานจอดอากาศยานที่มีผิวพื้นจราจร

    ตำแหน่ง (Location)

    5.2.13.2 เครื่องหมายหลุมจอดอากาศยานบนลานจอดอากาศยานที่มีผิวพื้นจราจรจะต้องอยู่ในตำแหน่งที่จะทำให้มีระยะห่างระหว่างอากาศยานกับอากาศยาน สิ่งปลูกสร้าง หรือวัตถุอื่น ๆ เมื่อล้อหน้าของอากาศยานเคลื่อนไปตามเครื่องหมายหลุมจอดอากาศยาน ดังนี้

    รหัสตัวอักษร

    ระยะห่าง

    A

    B

    C

    D

    E

    F

    สามเมตร

    สามเมตร

    สี่จุดห้าเมตร

    เจ็ดจุดห้าเมตร

    เจ็ดจุดห้าเมตร

    เจ็ดจุดห้าเมตร

    ตารางที่ 3 ระยะห่างระหว่างอากาศยานที่ใช้หลุมจอดกับอาคารที่อยู่ติดกันหรือ อากาศยานในหลุมจอดอื่นและวัตถุอื่นใดที่อยู่ติดกัน

    ลักษณะ (Characteristics)

    5.2.13.3 เครื่องหมายหลุมจอดอากาศยานจะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ ซึ่งได้แก่ ชื่อหลุมจอด (Stand Identification)  เส้นนำอากาศยานเข้าสู่หลุมจอด (Lead-in Line)  เครื่องหมายบอกตำแหน่งเริ่มเลี้ยว (Turn Bar)  เส้นบอกแนวการเลี้ยว (Turning Line)  เส้นแถบปรับแนว (Alignment Line)  เส้นบอกตำแหน่งหยุด (Stop Line) และเส้นนำอากาศยานออกจากหลุมจอด (Lead-out Line) ตามที่กำหนดโดยรูปแบบการจัดตำแหน่งการจอดของอากาศยาน (Parking Configuration) และเพื่อใช้เสริมการทำงานร่วมกับอุปกรณ์ช่วยจอดอื่น ๆ

    5.2.13.4 ชื่อหลุมจอดอากาศยาน (ตัวอักษร และ/หรือ ตัวเลข) ต้องรวมอยู่ในแนวเส้นนำอากาศยานเข้าสู่หลุมจอด โดยอยู่ที่ระยะห่างไม่ไกลจากจุดเริ่มต้นของเส้นนำอากาศยานเข้า ทั้งนี้ ความสูงของชื่อหลุมจอดต้องเพียงพอที่จะสามารถอ่านได้จากห้องนักบินของอากาศยานที่กำลังใช้งานหลุมจอด

    5.2.13.5 เมื่อเครื่องหมายหลุมจอดอากาศยานสองชุดมีการทับซ้อนกันเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการใช้งานลานจอดอากาศยาน และเป็นการยากที่จะแยกแยะว่าต้องจะใช้เครื่องหมายใด หรืออาจเป็นการทำให้ความปลอดภัยลดลง หากเลือกใช้เครื่องหมายผิดพลาด สนามบินต้องเพิ่มชื่อแบบของอากาศยานที่จะมีการใช้เครื่องหมายหลุมจอดอากาศยานแต่ละชุด ที่บริเวณชื่อหลุมจอด เช่น 2A-B747, 2B-F28

    5.2.13.6 เส้นนำอากาศยานเข้าสู่หลุมจอด เส้นบอกแนวการเลี้ยว และเส้นนำอากาศยานออกจากหลุมจอด ต้องมีลักษณะยาวต่อเนื่องกันและมีความกว้างไม่น้อยกว่า 15 เซนติเมตร แต่หากกรณีที่มีการทับซ้อนกันของเครื่องหมายหลุมจอดอากาศยานตั้งแต่หนึ่งชุดขึ้นไป สนามบินต้องจัดให้มีแถบเส้นที่ต่อเนื่องกันสำหรับเครื่องหมายหลุมจอดที่มีการใช้งานโดยแบบอากาศยานที่มีความต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกมากที่สุด (Most Demanding Aircraft) และแถบเส้นประสำหรับแบบอากาศยานอื่น ๆ

    5.2.13.7 ส่วนโค้งของเส้นนำอากาศยานเข้าสู่หลุมจอด เส้นบอกแนวการเลี้ยว และเส้นนำอากาศยานออกจากหลุมจอด จะต้องมีรัศมีที่เหมาะสมกับแบบอากาศยานที่มีความต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกมากที่สุดที่จะใช้เครื่องหมายดังกล่าว

    5.2.13.8 เมื่อเครื่องหมายหลุมจอดถูกออกแบบให้ใช้งานได้ในทิศทางเดียว จะต้องมีการเพิ่มลูกศรซึ่งชี้ไปยังทิศทาง ที่ต้องการ โดยลูกศรดังกล่าวต้องเป็นส่วนหนึ่งของเส้นนำอากาศยานเข้าและเส้นนำอากาศยานออกจากหลุมจอด

    5.2.13.9 เครื่องหมายบอกตำแหน่งเริ่มเลี้ยว (Turn Bar) จะต้องอยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับเส้นนำอากาศยานเข้า และเป็นเส้นที่ยื่นออกไปทางด้านซ้ายมือตรงตำแหน่งนักบิน ณ จุดเริ่มต้นของการเลี้ยว โดยแถบเส้นนั้นต้องมีความยาว ไม่น้อยกว่า 6 เมตร และมีความกว้างไม่น้อยกว่า 15 เซนติเมตร โดยมีหัวลูกศรบ่งชี้ทิศทางในการเลี้ยว ทั้งนี้ ระยะ ที่จะต้องรักษาระหว่างเครื่องหมายบอกตำแหน่งเริ่มเลี้ยวและเส้นนำอากาศยานเข้าอาจมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับแบบอากาศยาน โดยต้องพิจารณาถึงการมองเห็นของนักบินด้วย

    5.2.13.10 หากมีเครื่องหมายบอกตำแหน่งเริ่มเลี้ยวและเส้นบอกตำแหน่งหยุด (Stop Bar) มากกว่าหนึ่งแถบเส้น สนามบินต้องมีการระบุรหัสสำหรับแถบเส้นแต่ละแถบ

    5.2.13.11 เส้นแถบปรับแนว (Alignment Line) จะต้องวางในตำแหน่งที่สมนัยกับส่วนต่อขยายจากแนวเส้นกึ่งกลางของตำแหน่งที่กำหนดไว้สำหรับจอดอากาศยาน และสามารถมองเห็นโดยนักบินในขณะขับเคลื่อนอยู่ในส่วนสุดท้ายของการจอดอากาศยาน ทั้งนี้ เส้นแถบดังกล่าวต้องมีขนาดกว้างไม่น้อยกว่า 15 เซนติเมตร

    5.2.13.12 เส้นบอกตำแหน่งหยุดจะต้องอยู่ในแนวตั้งฉากกับเส้นแถบปรับแนว และยื่นไปทางด้านซ้ายตรงกับตำแหน่งของนักบิน ณ จุดที่ต้องการให้หยุด โดยเส้นดังกล่าวต้องมีความยาวไม่น้อยกว่า 6 เมตรและความกว้างไม่น้อยกว่า 15 เซนติเมตร ทั้งนี้ ระยะที่จะต้องรักษาระหว่างเส้นบอกตำแหน่งหยุดและเส้นนำอากาศยานเข้าอาจเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับแบบอากาศยาน โดยต้องพิจารณาถึงการมองเห็นของนักบินด้วย

    5.2.14 เส้นเขตปลอดภัยในลานจอดอากาศยาน (Apron Safety Lines)

    ข้อแนะนำเกี่ยวกับเส้นปลอดภัยในลานจอดอากาศยานจะอยู่ใน Aerodrome Design Manual (Doc 9157), Part 4.

    การใช้งาน (Application)

    5.2.14.1 สนามบินต้องจัดให้มีเส้นเขตปลอดภัยในลานจอดอากาศยานบนลานจอดอากาศยานที่มีผิวพื้นจราจร ตามที่กำหนดโดยรูปแบบการจัดตำแหน่งการจอดของอากาศยาน (Parking Configuration) และอุปกรณ์ภาคพื้นต่าง ๆ

    ตำแหน่ง (Location)

    5.2.14.2 เส้นเขตปลอดภัยในลานจอดอากาศยานต้องอยู่ในตำแหน่งที่เป็นการกำหนดและบ่งบอกพื้นที่ที่มีการใช้งานโดยยานพาหนะภาคพื้น  อุปกรณ์ให้บริการอากาศยาน และอื่น ๆ เพื่อให้มีระยะปลอดภัยห่างจากอากาศยาน

    ลักษณะ (Characteristics)

    5.2.14.3 เส้นเขตปลอดภัยในลานจอดอากาศยานจะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ ได้แก่ เส้นแสดงระยะห่าง ที่ปลอดภัยระหว่างปลายปีกของอากาศยาน (Wing Tip Clearance Line) และแถบเส้นขอบถนน (Service Road Boundary Line) ตามที่กำหนดโดยรูปแบบการจัดตำแหน่งการจอดของอากาศยาน (Parking Configuration) และอุปกรณ์ภาคพื้นต่าง ๆ

    5.2.14.4 เส้นเขตปลอดภัยในลานจอดอากาศยานต้องมีลักษณะเป็นแถบเส้นต่อเนื่องตามความยาวและมีความกว้าง 10 เซนติเมตร

    5.2.15 เครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยบนถนน (Road-Holding Position Marking)

    การใช้งาน (Application)

    5.2.15.1 สนามบินต้องจัดให้มีเครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยบนถนนบนพื้นผิวถนนที่มีการเชื่อมต่อเข้าสู่ทางวิ่ง

    ตำแหน่ง (Location)

    5.2.15.2 เครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยบนถนนจะต้องตัดขวางถนน ณ ตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าสู่ทางวิ่ง

    ลักษณะ (Characteristics)

    5.2.15.3 เครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยบนถนนจะต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก

    5.2.16 เครื่องหมายประเภทบังคับ (Mandatory Instruction Marking)

    ข้อแนะนำเกี่ยวกับเครื่องหมายประเภทบังคับจะอยู่ใน Aerodrome Design Manual (Doc 9157), Part 4.

    การใช้งาน (Application)

    5.2.16.1 ในกรณีที่สนามบินไม่สามารถติดตั้งป้ายบังคับ (Mandatory Instruction Sign) ให้เป็นไปตามข้อ 5.4.2.1 ได้ สนามบินต้องจัดทำเครื่องหมายประเภทบังคับบนพื้นผิวที่มีผิวพื้นจราจรแทน

    5.2.16.2 ในกรณีที่มีความจำเป็นในเชิงปฏิบัติการ เช่น ทางขับมีความกว้างมากกว่า 60 เมตร หรือเพื่อเป็นการช่วยเพิ่มการป้องกันการรุกล้ำเข้าไปในทางวิ่ง สนามบินต้องจัดให้มีเครื่องหมายประเภทบังคับเพิ่มเติมจากการจัดทำป้ายบังคับ

    ตำแหน่ง (Location)

    5.2.16.3 เครื่องหมายประเภทบังคับซึ่งอยู่บนพื้นผิวทางขับที่มีรหัสเป็น A  B  C หรือ D จะต้องวางอย่างสมมาตรกันในแนวตัดขวางทางขับที่บริเวณแนวเส้นกึ่งกลางทางขับ และอยู่บนด้านเดียวกันกับด้านที่อากาศยานจะต้องหยุดคอยของเครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่ง ตามรูปที่ 11 (A) ทั้งนี้ ระยะห่างระหว่างขอบที่ใกล้ที่สุดของเครื่องหมายประเภทบังคับกับเครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งหรือกับเครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางขับ จะต้องไม่น้อยกว่า 1 เมตร

    5.2.16.4 เครื่องหมายประเภทบังคับซึ่งอยู่บนพื้นผิวทางขับที่มีรหัสเป็น E หรือ F จะต้องอยู่ที่ด้านข้างทั้งสองด้าน ของเครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางขับ และอยู่บนด้านเดียวกันกับด้านที่อากาศยานจะต้องหยุดคอยของเครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่ง ตามรูปที่ 11 (B) ทั้งนี้ ระยะห่างระหว่างขอบที่ใกล้ที่สุดของเครื่องหมายประเภทบังคับกับเครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งหรือกับเครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางขับ จะต้องไม่น้อยกว่า 1 เมตร

    5.2.16.5 เครื่องหมายประเภทบังคับจะต้องไม่อยู่บนพื้นผิวทางวิ่ง ยกเว้นมีความจำเป็นในเชิงปฏิบัติการ

    ลักษณะ (Characteristics)

    5.2.16.6 เครื่องหมายประเภทบังคับจะต้องประกอบด้วยข้อความสีขาวบนพื้นสีแดง ยกเว้นเครื่องหมาย “NO ENTRY” ซึ่งจะต้องมีข้อความที่เหมือนกันกับป้ายบังคับที่เกี่ยวข้อง

    5.2.16.7 เครื่องหมาย “NO ENTRY” จะต้องประกอบด้วยข้อความสีขาวอ่านว่า No Entry บนพื้นสีแดง

    5.2.16.8 หากความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายกับผิวพื้นจราจรไม่ชัดเจนเพียงพอ เครื่องหมายประเภทบังคับจะต้องถูกเน้นด้วยขอบสีขาวหรือดำตามความเหมาะสม

    5.2.16.9 ข้อความของเครื่องหมายประเภทบังคับต้องเป็นตัวอักษรที่มีความสูง 4 เมตร บนพื้นผิวทางขับที่มีรหัสตัวอักษรเป็น C D E หรือ F และมีความสูง 2 เมตรบนพื้นผิวทางขับที่มีรหัสตัวอักษรเป็น A หรือ B โดยข้อความจะต้องมีรูปแบบและสัดส่วนตามที่กำหนดไว้ในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Appendix 3

    5.2.16.10 พื้นหลังของข้อความต้องมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมมุมฉาก และขยายเพิ่มไปทางด้านข้างจากข้อความ ด้านละ 0.5 เมตร

    รูปที่ 11 เครื่องหมายประเภทบังคับ

     

    5.2.17 เครื่องหมายเพื่อบอกข้อมูล (Information Marking)

    ข้อแนะนำเกี่ยวกับเครื่องหมายเพื่อบอกข้อมูลจะอยู่ใน Aerodrome Design Manual (Doc 9157), Part 4.

    การใช้งาน (Application)

    5.2.17.1 กรณีที่ไม่สามารถติดตั้งป้ายบอกข้อมูล (Information Sign) ได้ สนามบินจะต้องจัดทำเครื่องหมายเพื่อบอกข้อมูลบนผิวพื้นจราจรแทน

    5.2.17.2 ในกรณีที่มีความจำเป็นในเชิงปฏิบัติการ สนามบินต้องจัดทำเครื่องหมายเพื่อบอกข้อมูลเพิ่มเติมจาก การจัดทำป้ายบอกข้อมูล

    5.2.17.3 สนามบินต้องทำเครื่องหมายเพื่อบอกข้อมูล ประเภทเครื่องหมายแสดงทิศทางและเครื่องหมายแสดงตำแหน่ง ไว้ก่อนและหลังจุดตัดกันของทางขับที่มีความซับซ้อน และ ณ ตำแหน่งที่พบว่า หากมีการจัดให้มีเครื่องหมายเหล่านั้นแล้วจะเป็นการช่วยนักบินผู้ควบคุมอากาศยานในการปฏิบัติการบินภาคพื้น

    ตำแหน่ง (Location)

    5.2.17.5 สนามบินต้องทำเครื่องหมายเพื่อบอกข้อมูลไว้บนพื้นผิวของทางขับหรือลานจอดอากาศยานตามความจำเป็น และอยู่ในตำแหน่งที่สามารถอ่านได้จากห้องนักบินของอากาศยานที่กำลังขับเคลื่อนเข้าหา

    ลักษณะ (Characteristics)

    5.2.17.6 เครื่องหมายเพื่อบอกข้อมูล จะต้องประกอบด้วย

    • ข้อความสีเหลืองบนพื้นหลังสีดำ เพื่อใช้แทนที่หรือเสริมการใช้ป้ายแสดงตำแหน่ง
    • ข้อความสีดำบนพื้นหลังสีเหลือง เพื่อใช้แทนที่หรือเสริมการใช้ป้ายแสดงทิศทางหรือป้ายแสดงจุดหมายปลายทาง

    5.2.17.7 ในกรณีที่ความแตกต่างระหว่างพื้นหลังของเครื่องหมายและผิวพื้นจราจรไม่ชัดเจนเพียงพอ เครื่องหมายนั้นจะต้องเพิ่มเติม

    • ขอบสีดำบนพื้นหลัง เมื่อข้อความเป็นสีดำ และ
    • ขอบสีเหลืองบนพื้นหลัง เมื่อข้อความเป็นสีเหลือง

    5.2.17.8 ตัวอักษรของเครื่องหมายเพื่อบอกข้อมูลต้องมีความสูง 4 เมตร โดยข้อความจะต้องมีรูปแบบและสัดส่วนเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Appendix 3

    5.3 ไฟสนามบิน (Lights)

    5.3.1 บททั่วไป (General)

    5.3.1.1 ไฟภาคพื้นที่ไม่ได้ใช้สำหรับการบิน (Non-Aeronautical Ground Light) ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้กับสนามบินและเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของอากาศยาน ต้องมีการดับไฟ พรางไฟ หรือดัดแปลงไฟดังกล่าว เพื่อเป็นการกำจัดต้นเหตุของอันตราย

    การปล่อยแสงเลเซอร์ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของอากาศยาน (Laser emissions which may endanger the safety of aircraft)

    5.3.1.2 สนามบินต้องมีการกำหนดเขตห้วงอากาศในบริเวณรอบสนามบินที่มีการควบคุมหรือป้องกันอันตรายจาก แสงเลเซอร์ (Protected Zone) เพื่อความปลอดภัยของอากาศยาน ดังนี้

    • เขตปลอดแสงเลเซอร์ (Laser-Beam Free Flight Zone - LFFZ)
    • เขตวิกฤตในการควบคุมแสงเลเซอร์ (Laser-Beam Critical Flight Zone - LCFZ)
    • เขตอ่อนไหวในการควบคุมแสงเลเซอร์ (Laser-Beam Sensitive Flight Zone - LSFZ)

    รูปที่ 12  รูปที่ 13 และรูปที่ 14 อาจนำมาใช้ในการกำหนดระดับของการปล่อยแสงเลเซอร์ และระยะห่างที่เพียงพอสำหรับป้องกันการปฏิบัติการบินจากแสงเลเซอร์ได้

              ข้อจำกัดในการใช้แสงเลเซอร์ในบริเวณเขตห้วงอากาศที่มีการควบคุมหรือป้องกันอันตรายจากแสงเลเซอร์ (Protected Zone) ทั้ง 3 เขต ซึ่งได้แก่ เขตปลอดแสงเลเซอร์ (LFFZ)  เขตวิกฤตในการควบคุมแสงเลเซอร์ (LCFZ) และเขตอ่อนไหวในการควบคุมแสงเลเซอร์ (LSFZ) นั้น เป็นเพียงการจำกัดการใช้แสงเลเซอร์ที่สามารถมองเห็นได้ ด้วยตาเปล่าเท่านั้น ในพื้นที่ห้วงอากาศที่ใช้นำร่องอากาศยาน ระดับของการกระจายลำแสงเลเซอร์ ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า จะต้องมีค่าน้อยกว่าหรือเท่ากับค่าสูงสุดที่ยอมรับได้ (Maximum Permissible Exposure - MPE) หากมีค่าสูงกว่าจะต้องได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจอนุญาต ทั้งนี้ การกำหนดเขตห้วงอากาศในบริเวณรอบสนามบินที่มีการควบคุมหรือป้องกันอันตรายจากแสงเลเซอร์ (Protected Zone) มีขึ้นเพื่อกำจัดความเสี่ยงที่เกิดจากการปล่อยแสงเลเซอร์บริเวณรอบสนามบิน คำแนะนำเกี่ยวกับการป้องกันอันตรายจากผลกระทบของการปล่อย แสงเลเซอร์ที่มีต่อการปฏิบัติการบิน จะอยู่ใน Manual on Laser Emitters and Flight Safety (Doc 9815) และรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหัวข้อนี้จะอยู่ใน Annex 11 - Air Traffic Services, Chapter 2

    รูปที่ 12 เขตควบคุมหรือป้องกันอันตรายจากแสงเลเซอร์ (Protected Flight Zones)

     

     

    รูปที่ 13 เขตปลอดแสงเลเซอร์บริเวณที่มีทางวิ่งหลายเส้น

     

    รูปที่ 14 ค่าสูงสุดของระดับการปล่อยแสงเลเซอร์ที่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า

    ในบริเวณเขตควบคุมหรือป้องกันอันตรายจากแสงเลเซอร์

    ไฟซึ่งอาจก่อให้เกิดความสับสน (Lights which may cause confusion)

    5.3.1.3 ไฟภาคพื้นที่ไม่ได้ใช้สำหรับการบิน (Non-Aeronautical Ground Light) ซึ่งมีความเข้มแสง  การจัดวาง หรือสีที่อาจบดบัง หรือทำให้เกิดความสับสนในการตีความไฟภาคพื้นสำหรับการบิน (Aeronautical Ground Light) ต้องมีการดับไฟ พรางไฟ หรือดัดแปลงไฟดังกล่าว เพื่อเป็นการกำจัดโอกาสที่จะก่อให้เกิดความสับสน โดยเฉพาะ ไฟภาคพื้นที่ไม่ได้ใช้สำหรับการบินซึ่งสามารถมองเห็นได้จากทางอากาศภายในบริเวณพื้นที่ ดังต่อไปนี้

    • ทางวิ่งแบบบินลงด้วยเครื่องวัดประกอบการบินที่มีรหัสตัวเลขเป็น 4
    • ทางวิ่งแบบบินลงด้วยเครื่องวัดประกอบการบินที่มีรหัสตัวเลขเป็น 2 หรือ 3
    • ทางวิ่งแบบบินลงด้วยเครื่องวัดประกอบการบินที่มีรหัสตัวเลขเป็น 1 และทางวิ่งแบบบินลงโดยไม่ใช้เครื่องวัดประกอบการบิน

    ภายในพื้นที่ก่อนถึงหัวทางวิ่งและหลังจากจุดสิ้นสุดทางวิ่ง โดยมีความยาวอย่างน้อย 4,500 เมตรจาก หัวทางวิ่งและจุดสิ้นสุดทางวิ่ง และมีความกว้าง 750 เมตรออกไปด้านข้างทั้งสองด้านของเส้นกึ่งกลางทางวิ่งที่ต่อขยาย (Extended Runway Centre Line)

    เป็นไปตามข้อ (ก) แต่ให้มีความยาวจากหัวทางวิ่งและจุดสิ้นสุดทางวิ่งเป็นระยะทางอย่างน้อย 3,000 เมตร

    ภายในพื้นที่แนวร่อน (Approach Area)

    ไฟภาคพื้นสำหรับการบินซึ่งอาจก่อให้เกิดความสับสนต่อเรือเดินทะเล (Aeronautical ground lights which may cause confusion to mariners)

    ในกรณีที่ไฟภาคพื้นสำหรับการบินอยู่ใกล้แหล่งน้ำที่ใช้เพื่อการเดินเรือ (Navigable Water) สนามบินจะต้องพิจารณาเพื่อให้แน่ใจว่า แสงของไฟดังกล่าวจะไม่ทำให้เกิดความสับสนต่อเรือเดินทะเล

    ไฟนำร่องการบินเข้าสู่สนามบินซึ่งยกระดับขึ้นเหนือพื้น (Elevated Approach Lights)

    5.3.1.4 ไฟนำร่องการบินเข้าสู่สนามบินซึ่งยกระดับขึ้นเหนือพื้นและเสาสำหรับรองรับไฟดังกล่าวต้องสามารถ แตกหักได้ง่าย ยกเว้นส่วนของระบบไฟนำร่องการบินเข้าสู่สนามบินที่ห่างจากหัวทางวิ่งเกิน 300 เมตร ซึ่ง

    • ในกรณีที่เสาสำหรับรองรับไฟมีความสูงเกินกว่า 12 เมตร ส่วนของเสาที่สูงเกินจาก 12 เมตรขึ้นไปนั้น จะต้องมีลักษณะที่แตกหักได้ง่ายและ
    • ในกรณีที่เสาสำหรับรองรับไฟล้อมรอบโดยวัตถุที่ไม่สามารถแตกหักได้ง่าย ส่วนของเสาที่สูงขึ้นมาเหนือวัตถุที่ล้อมรอบนั้นต้องมีลักษณะที่แตกหักได้ง่าย

    5.3.1.5 เมื่อไฟนำร่องหรือเสาสำหรับรองรับไฟนำร่องดังกล่าวไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนเพียงพอ สนามบินต้องมีการทำเครื่องหมายด้วยการทาสีอย่างเหมาะสม

    ไฟซึ่งยกระดับขึ้นเหนือพื้น (Elevated Lights)

    5.3.1.6 ไฟทางวิ่ง ทางหยุด และทางขับ ที่ยกระดับขึ้นเหนือพื้นจะต้องมีลักษณะที่แตกหักได้ง่าย โดยความสูงของไฟจะต้องเหมาะสมและอยู่ในระดับที่ต่ำเพียงพอเพื่อรักษาระยะปลอดภัยของใบพัดและเครื่องยนต์ของอากาศยาน

    ไฟฝังพื้น (Surface Lights)

    5.3.1.7 ไฟที่ฝังอยู่พื้นของทางวิ่ง ทางหยุด ทางขับ และลานจอดอากาศยานจะต้องถูกออกแบบและติดตั้งให้สามารถ ทนต่อการถูกทับโดยล้อของอากาศยานได้ โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่ออากาศยานและไฟฝังพื้นดังกล่าว

    5.3.1.8 ความร้อนที่เกิดขึ้นจากการนำความร้อนหรือการแผ่รังสีบริเวณที่มีการสัมผัสกันระหว่างไฟฝังพื้นและ ล้ออากาศยาน ต้องไม่เกิน 160 องศาเซลเซียส เมื่อล้ออากาศยานทับโคมไฟเป็นเวลานาน 10 นาที โดยคำแนะนำเกี่ยวกับการวัดอุณหภูมิของไฟฝังพื้นจะอยู่ใน Aerodrome Design Manual (Doc 9157), Part 4.

    ความเข้มแสงและการควบคุม (Light Intensity and Control)

    5.3.1.9 ความเข้มแสงของไฟทางวิ่งจะต้องเพียงพอสำหรับการใช้งานในสภาพที่มีทัศนวิสัยต่ำสุดและมีแสงไฟบริเวณโดยรอบรบกวน นอกจากนี้ ความเข้มแสงต้องอยู่ในระดับที่สามารถเปิดใช้งานร่วมกับไฟของระบบไฟนำร่องการบินเข้าสู่สนามบิน (Approach Lighting System) ส่วนที่อยู่ใกล้ที่สุดได้

              ทั้งนี้ ไฟของระบบไฟนำร่องการบินเข้าสู่สนามบินอาจมีความเข้มแสงมากกว่าไฟทางวิ่ง หากเป็นไปได้ สนามบินต้องหลีกเลี่ยงการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความเข้มแสงอย่างกะทันหัน ซึ่งอาจส่งผลให้นักบินเกิด ภาพลวงตา (False Impression) เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทัศนวิสัยขณะทำการร่อนลง

    5.3.1.10 ในกรณีที่สนามบินจัดให้มีระบบไฟที่มีความเข้มแสงสูง การควบคุมความเข้มแสงที่เหมาะสมจะต้องถูกรวมเข้ากับระบบดังกล่าวด้วย เพื่อให้สามารถปรับระดับความเข้มแสงให้เป็นไปตามเงื่อนไขหรือสภาพต่าง ๆ ได้ โดยสนามบินต้องจัดให้มีการควบคุมความเข้มแสงที่แยกออกจากกันหรือวิธีการอื่นที่เหมาะสม เพื่อให้แน่ใจว่าระบบดังต่อไปนี้ เมื่อติดตั้งแล้วสามารถทำงานร่วมกันได้

    • ระบบไฟนำร่องการบินเข้าสู่สนามบิน
    • ไฟขอบทางวิ่ง
    • ไฟหัวทางวิ่ง
    • ไฟสิ้นสุดทางวิ่ง
    • ไฟเส้นกึ่งกลางทางวิ่ง
    • ไฟแสดงเขตจุดแตะพื้นทางวิ่ง
    • ไฟกึ่งกลางทางขับ

    5.3.1.11 บริเวณขอบ (Perimeter) และภายในวงรีของลำแสงตามที่แสดงในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Appendix 2 รูปที่ A2-1 ถึง A2-10 ค่าความเข้มแสงสูงสุดจะต้องไม่มากกว่า 3 เท่าของ ค่าความเข้มแสงต่ำสุดตาม Appendix 2 รูปที่ A2-1 ถึง A2-11 และ A2 – 26, Note 2

    5.3.1.12 บริเวณขอบและภายในกรอบสี่เหลี่ยมมุมฉากของลำแสงตามที่แสดงในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Appendix 2 รูปที่ A2-12 ถึง A2-20 ค่าความเข้มแสงสูงสุดจะต้องไม่มากกว่า 3 เท่าของค่าความเข้มแสงต่ำสุดตาม Appendix 2 รูปที่ A2-12 ถึง A2-21, Note 2

    5.3.2 ไฟฉุกเฉิน (Emergency Lighting)

    การใช้งาน (Application)

    5.3.2.1 สนามบินที่มีไฟทางวิ่งและไม่มีแหล่งจ่ายไฟฟ้าสำรอง จะต้องจัดให้มีไฟฉุกเฉินอย่างเพียงพอสำหรับติดตั้งบน ทางวิ่งหลักเป็นอย่างน้อยเพื่อใช้งานในกรณีที่ระบบไฟทางวิ่งปกติขัดข้อง ทั้งนี้ ไฟฉุกเฉินอาจใช้สำหรับแสดง สิ่งกีดขวาง หรือแสดงทางขับ และพื้นที่ลานจอดได้

    ตำแหน่ง (Location)

    5.3.2.2 เมื่อมีการติดตั้งไฟฉุกเฉินบนทางวิ่ง ไฟดังกล่าวต้องมีตำแหน่งการจัดวางที่เหมือนกับตำแหน่งการจัดวาง ไฟของทางวิ่งแบบบินลงโดยไม่ใช้เครื่องวัดประกอบการบินเป็นอย่างน้อย

    ลักษณะ (Characteristics)

    5.3.2.3 สีของไฟฉุกเฉินต้องเป็นสีแบบเดียวกันกับสีของไฟทางวิ่ง เว้นแต่ว่าไม่สามารถติดตั้งไฟสีเขียวและไฟสีแดง ที่หัวทางวิ่งและจุดสิ้นสุดทางวิ่งได้ ไฟทั้งหมดอาจเป็นสีขาวซึ่งสามารถเปลี่ยนโทนสีได้ (Variable White) หรือสีอื่น ที่ใกล้เคียงที่สุดเท่าที่จะทำได้

    5.3.3 ไฟบอกตำแหน่งสำหรับการบิน (Aeronautical Beacons)

    การใช้งาน (Application)

    5.3.3.1 ในกรณีที่มีความจำเป็นเชิงปฏิบัติการ สนามบินจะต้องจัดให้มีไฟบอกตำแหน่งสนามบิน (Aerodrome Beacon) หรือไฟบอกตำแหน่งด้วยการส่งรหัสสัญญาณ (Identification Beacon) สำหรับสนามบินที่มีการใช้งาน ในเวลากลางคืน

    5.3.3.2 ความต้องการเชิงปฏิบัติการ (Operational Requirement) จะต้องถูกกำหนดโดยคำนึงถึงความต้องการของการจราจรทางอากาศที่สนามบิน ความเด่นชัดของลักษณะสนามบิน (Aerodrome Feature) เมื่อเทียบกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ และการติดตั้งเครื่องช่วยในการเดินอากาศด้วยทัศนวิสัยและแบบไม่ใช้ทัศนวิสัยอื่น ๆ เพื่อใช้สำหรับแสดงที่ตั้งของสนามบิน

     

    ไฟบอกตำแหน่งสนามบิน (Aerodrome Beacons)

    5.3.3.3 สนามบินต้องจัดให้มีไฟบอกตำแหน่งสนามบินเพื่อใช้ในเวลากลางคืน หากสนามบินมีลักษณะที่เป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ ตั้งแต่หนึ่งเงื่อนไขขึ้นไป

    • การนำทางอากาศยานส่วนใหญ่ เป็นการนำทางด้วยทัศนวิสัย
    • ทัศนวิสัยลดลงต่ำเป็นประจำ หรือ
    • การมองเห็นที่ตั้งของสนามบินจากอากาศนั้นทำได้ยาก เนื่องจากแสงสว่างหรือภูมิประเทศโดยรอบ

    ตำแหน่ง (Location)

    5.3.3.4 ไฟบอกตำแหน่งสนามบินต้องติดตั้งอยู่ในเขตสนามบินหรือบริเวณใกล้เคียงสนามบินบนพื้นที่ที่มีแสงสว่างโดยรอบต่ำ

    5.3.3.5 ไฟบอกตำแหน่งสนามบินต้องติดตั้งในตำแหน่งที่ไม่มีวัตถุอื่น ๆ บดบังแสงของไฟดังกล่าวในทิศทางที่สำคัญ และแสงของไฟนั้นจะต้องไม่ทำให้นักบินที่กำลังนำอากาศยานร่อนลงจอดเกิดอาการตาพร่ามัว

    ลักษณะ (Characteristics)

    5.3.3.6 ไฟบอกตำแหน่งสนามบินจะต้องมีลักษณะเป็นไฟกะพริบสีใดสีหนึ่งสลับกับไฟกะพริบสีขาว หรือเป็น ไฟกะพริบสีขาวเพียงสีเดียว โดยความถี่ของการกะพริบจะต้องอยู่ที่ 20 ถึง 30 ครั้งต่อนาที สำหรับสนามบินบนบก ให้ใช้ไฟสีเขียวสลับกับไฟสีขาว และสนามบินบนน้ำให้ใช้ไฟสีเหลืองสลับกับไฟสีขาว ในกรณีที่สนามบินเป็น ทั้งสนามบินบนบกและบนน้ำผสมกัน สีของไฟกะพริบจะต้องเป็นสีตามส่วนใดส่วนหนึ่งของสนามบินที่ถูกกำหนด ให้เป็นพื้นที่ใช้งานหลัก

    5.3.3.7 ไฟบอกตำแหน่งสนามบินจะต้องส่องสว่างไปยังทุกทิศทางของมุมแอซิมัท การกระจายแสงในแนวตั้งจะต้องขยายขึ้นไปจากระดับความสูงซึ่งกำหนดโดยผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ โดยทำมุมไม่เกิน 1 องศาเมื่อเทียบกับระดับความสูงดังกล่าว เพื่อให้เพียงพอต่อการนำร่องอากาศยานที่ระดับความสูงมากที่สุดซึ่งไฟบอกตำแหน่งสนามบินจะต้องถูกใช้งาน และค่าความเข้มแสงที่มีประสิทธิภาพ (Effective Intensity) ของไฟกะพริบต้องไม่ต่ำกว่า 2,000 แคนเดลา

              สำหรับตำแหน่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการรบกวนจากแสงสว่างโดยรอบซึ่งมีความเข้มแสงสูงได้ ความเข้มแสงที่มีประสิทธิภาพของไฟกะพริบอาจจำเป็นต้องเพิ่มขึ้นไปจนถึง 10 เท่า

    ไฟบอกตำแหน่งด้วยการส่งรหัสสัญญาณ (Identification Beacon)

    การใช้งาน (Application)

    5.3.3.8 สนามบินต้องติดตั้งไฟบอกตำแหน่งด้วยการส่งรหัสสัญญาณ สำหรับสนามบินที่มีการใช้งานในเวลากลางคืน และยากที่จะระบุตำแหน่งต่าง ๆ จากทางอากาศโดยวิธีอื่นได้

    ตำแหน่ง (Location)

    5.3.3.9 ไฟบอกตำแหน่งด้วยการส่งรหัสสัญญาณจะต้องติดตั้งอยู่ในเขตสนามบินบนพื้นที่ที่มีแสงสว่างโดยรอบต่ำ

    5.3.3.10 ไฟบอกตำแหน่งด้วยการส่งรหัสสัญญาณต้องติดตั้งในตำแหน่งที่ไม่มีวัตถุอื่น ๆ บดบังแสงของไฟดังกล่าว ในทิศทางที่สำคัญ และแสงของไฟนั้นจะต้องไม่ทำให้นักบินที่กำลังนำอากาศยานร่อนลงจอดเกิดอาการตาพร่ามัว

    ลักษณะ (Characteristics)

    5.3.3.11 ไฟบอกตำแหน่งด้วยการส่งรหัสสัญญาณซึ่งติดตั้งอยู่บนสนามบินบก จะต้องส่องสว่างไปยังทุกทิศทาง ของมุมแอซิมัท การกระจายแสงในแนวตั้งจะต้องขยายขึ้นไปจากระดับความสูงซึ่งกำหนดโดยผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ โดยทำมุมไม่เกิน 1 องศาเมื่อเทียบกับระดับความสูงดังกล่าว เพื่อให้เพียงพอต่อการนำร่องอากาศยานที่ระดับความสูงมากที่สุดซึ่งไฟบอกตำแหน่งสนามบินจะต้องถูกใช้งาน และค่าความเข้มแสงที่มีประสิทธิภาพ (Effective Intensity) ของไฟกะพริบต้องไม่ต่ำกว่า 2,000 แคนเดลา

              สำหรับตำแหน่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการรบกวนจากแสงสว่างโดยรอบซึ่งมีความเข้มแสงสูงได้ ความเข้มแสงที่มีประสิทธิภาพของไฟกะพริบอาจจำเป็นต้องเพิ่มขึ้นไปจนถึง 10 เท่า

    5.3.3.12 ไฟบอกตำแหน่งด้วยการส่งรหัสสัญญาณจะต้องเป็นไฟกะพริบสีเขียวสำหรับสนามบินบนบก และ เป็นไฟกะพริบสีเหลืองสำหรับสนามบินน้ำ

    5.3.3.13 ตัวอักษรสำหรับบอกตำแหน่งต้องถูกส่งผ่านในรูปแบบของรหัสมอร์สมาตรฐานสากล (International Morse Code)

    5.3.3.14 ความเร็วของการส่งสัญญาณต้องอยู่ระหว่าง 6 ถึง 8 คำต่อนาที และช่วงระยะเวลาของจุด (Dot) ในรหัสมอร์ส ต้องอยู่ระหว่าง 0.15 ถึง 0.2 วินาทีต่อจุด

    5.3.4 ระบบไฟนำร่องการบินเข้าสู่สนามบิน (Approach Lighting Systems)

    การใช้งาน (Application)

    5.3.4.1 สนามบินต้องติดตั้งระบบไฟนำร่องการบินเข้าสู่สนามบินตามประเภทของทางวิ่ง โดยมีลักษณะดังต่อไปนี้

    • ทางวิ่งแบบบินลงโดยไม่ใช้เครื่องวัดประกอบการบิน (Non-Instrument Runway)
    • ทางวิ่งแบบนอนพรีซิชั่น (Non-Precision Approach Runway)
    • ทางวิ่งแบบพรีซิชั่นประเภทที่หนึ่ง (Precision Approach Runway Category I)
    • ทางวิ่งแบบพรีซิชั่นประเภทที่สองและสาม (Precision Approach Runway Category II and III)

    สนามบินต้องติดตั้งระบบไฟนำร่องการบินเข้าสู่สนามบินแบบพื้นฐาน (Simple Approach Lighting System) ตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ในข้อ 5.3.4.2 ถึง 5.3.4.9 เพื่อใช้งานกับทางวิ่งแบบบินลง โดยไม่ใช้เครื่องวัดประกอบการบินที่มีรหัสตัวเลขเป็น 3 หรือ 4 และมีการใช้งานในเวลากลางคืน ยกเว้นเมื่อทางวิ่งถูกใช้งานเฉพาะในกรณีที่มีสภาพทัศนวิสัยดี และมีเครื่องช่วยในการเดินอากาศด้วยทัศนวิสัย (Visual Aids) อื่น ๆ ซึ่งช่วยนำทางอากาศยานได้อย่างเพียงพอ ทั้งนี้ ระบบไฟนำร่องการบินเข้าสู่สนามบินแบบพื้นฐานสามารถใช้นำร่องอากาศยานในเวลากลางวันได้ด้วย

    สนามบินต้องติดตั้งระบบไฟนำร่องการบินเข้าสู่สนามบินแบบพื้นฐาน (Simple Approach Lighting System) ตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ในข้อ 5.3.4.2 ถึง 5.3.4.9 เพื่อใช้งานกับทางวิ่งแบบนอนพรีซิชั่น ยกเว้นเมื่อทางวิ่งถูกใช้งานเฉพาะในกรณีที่มีสภาพทัศนวิสัยดี หรือมีเครื่องช่วยในการเดินอากาศ ด้วยทัศนวิสัย (Visual Aids) อื่น ๆ ซึ่งช่วยนำทางอากาศยานได้อย่างเพียงพอ ทั้งนี้ สนามบินอาจพิจารณาให้มีการติดตั้งระบบไฟนำร่องการบินเข้าสู่ทางวิ่งแบบพรีซิชั่นประเภทที่หนึ่ง (Precision Approach Category I Lighting System) หรือติดตั้งระบบไฟนำเข้าสู่หัวทางวิ่ง (Runway Lead-in Lighting System) สำหรับทางวิ่งแบบนอนพรีซิชั่นด้วย

     

     

    สนามบินต้องติดตั้งระบบไฟนำร่องการบินเข้าสู่ทางวิ่งแบบพรีซิชั่นประเภทที่หนึ่ง (Precision Approach Category I Lighting System) ตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ในข้อ 5.3.4.10 ถึง 5.3.4.21 เพื่อใช้งานกับทางวิ่งแบบพรีซิชั่นประเภทที่หนึ่ง

    สนามบินต้องติดตั้งระบบไฟนำร่องการบินเข้าสู่ทางวิ่งแบบพรีซิชั่นประเภทที่สองและสาม ตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ในข้อ 5.3.4.22 ถึง 5.3.4.39 เพื่อใช้งานกับทางวิ่งแบบพรีซิชั่นประเภทที่สองและสาม

    ระบบไฟนำร่องการบินเข้าสู่สนามบินแบบพื้นฐาน (Simple Approach Lighting System)

    ตำแหน่ง (Location)

    5.3.4.2 ระบบไฟนำร่องการบินเข้าสู่สนามบินแบบพื้นฐานต้องประกอบด้วยโคมไฟติดตั้งเรียงกันเป็นแถวอยู่บน เส้นต่อขยายจากเส้นกึ่งกลางทางวิ่ง (Extened Centre Line of Runway) ซึ่งยาวเลยออกไปจากหัวทางวิ่งเป็นระยะทางไม่น้อยกว่า 420 เมตร และมีชุดของโคมไฟที่ติดตั้งเรียงกัน โดยมีลักษณะเป็นไฟแถบตามขวาง (Crossbar) ยาว 18 เมตร หรือ 30 เมตร ติดตั้งไว้ในตำแหน่งที่ห่างจากหัวทางวิ่งเป็นระยะทาง 300 เมตร

    5.3.4.3 ชุดของโคมไฟที่ติดตั้งเรียงกันเป็นไฟแถบตามขวางนั้น จะต้องมีลักษณะเป็นเส้นตรงตามแนวนอนตั้งฉากกับ แนวเส้นของไฟกึ่งกลาง โดยแบ่งออกเป็นสองส่วนเท่า ๆ กัน ทั้งนี้ สนามบินจะต้องมีการเว้นระยะห่างระหว่างโคมไฟให้มีความสม่ำเสมอและสามารถมองเห็นเป็นเส้นตรงได้ ยกเว้นในกรณีที่สนามบินติดตั้งไฟแถบดังกล่าวที่มีความยาว 30 เมตร อาจมีการเว้นช่องว่างบริเวณด้านข้างของแนวเส้นกึ่งกลางทั้งสองด้านให้มากขึ้น โดยช่องว่างนี้ต้องมีระยะห่างไม่เกิน 6 เมตร

              ระยะห่างระหว่างโคมไฟที่ใช้กันโดยทั่วไปจะเท่ากับ 1 เมตร ถึง 4 เมตร โดยช่องว่างทั้งสองข้างของแนวเส้นกึ่งกลาง อาจจะเพิ่มประสิทธิภาพในการบอกทิศทาง เมื่อมีการร่อนลงด้วยค่าเบี่ยงเบนตามแนวขวาง (Lateral Error) และยังเป็นช่องทางที่สามารถให้รถดับเพลิงและหน่วยกู้ภัยวิ่งผ่านได้

              คำแนะนำเกี่ยวกับค่าความคลาดเคลื่อนในการติดตั้ง (Installation Tolerances) จะอยู่ในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Attachment A, Section 12

    5.3.4.4 โคมไฟที่ติดตั้งเรียงกันเป็นแนวเส้นกึ่งกลางจะต้องมีระยะห่างระหว่างโคมไฟตามแนวยาวเท่ากับ 60 เมตร ยกเว้นเมื่อสนามบินต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการนำร่องให้มากขึ้น ให้ใช้ระยะห่างเท่ากับ 30 เมตร โดยโคมไฟดวงแรกที่อยู่ใกล้กับหัวทางวิ่ง ต้องติดตั้งที่ตำแหน่ง 60 เมตร หรือ 30 เมตรนับจากหัวทางวิ่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะห่างตามแนวยาวของไฟกึ่งกลางที่เลือกใช้ในการติดตั้ง

    5.3.4.5 หากสนามบินไม่สามารถจัดให้มีแนวเส้นกึ่งกลางต่อขยายออกมาเป็นระยะทาง 420 เมตรจากหัวทางวิ่งได้ เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านกายภาพ แนวเส้นดังกล่าวต้องมีระยะทางขยายออกมาให้ได้ถึง 300 เมตร เพื่อให้ครอบคลุมถึงตำแหน่งของการติดตั้งไฟแถบตามขวางด้วย อย่างไรก็ตาม ถ้าหากไม่สามารถดำเนินการได้ สนามบินต้องติดตั้งโคมไฟตามแนวกึ่งกลางให้ยาวที่สุดเท่าที่จะทำได้ และโคมไฟแต่ละโคมต้องมีลักษณะเป็นไฟแบบแถบ (Barrette) ที่มีความยาวอย่างน้อย 3 เมตร ทั้งนี้ ระบบไฟนำร่องตามปกติจะมีไฟแถบตามขวางที่ตำแหน่ง 300 เมตรจากหัวทางวิ่ง สนามบินอาจเพิ่มไฟแถบตามขวางได้ที่ระยะ 150 เมตรจากหัวทางวิ่ง

    5.3.4.6 ระบบไฟนำร่องการบินเข้าสู่สนามบินแบบพื้นฐานจะต้องอยู่ภายในระนาบแนวนอนซึ่งตัดผ่านหัวทางวิ่ง มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อที่จะทำให้

    • ไม่มีวัตถุอื่นใดนอกจากเสาอากาศของระบบการบินลงด้วยเครื่องวัดประกอบการบิน (ILS) และระบบ การบินลงด้วยคลื่นไมโครเวฟ (MLS) ยื่นออกมาเหนือระนาบของไฟนำร่อง (Plane of Approach Light) ภายในระยะทาง 60 เมตร จากแนวกึ่งกลางของระบบไฟ และ
    • ไม่มีโคมไฟอื่นใดนอกจากโคมไฟที่ติดตั้งบริเวณกึ่งกลางของไฟแถบตามขวางหรือไฟแบบแถบบริเวณส่วนกลางของแนวเส้นกึ่งกลาง (ซึ่งมิใช่โคมไฟบริเวณปลายของแนวเส้นดังกล่าว) ที่จะต้องทำการบังแสง เพื่อไม่ให้อากาศยานที่กำลังร่อนลงมองเห็น

              สำหรับเสาอากาศของระบบการบินลงด้วยเครื่องวัดประกอบการบิน (ILS) และระบบการบินลงด้วย คลื่นไมโครเวฟ (MLS) ที่ยื่นออกมาเหนือระนาบของไฟนำร่อง จะต้องมีการดำเนินการเหมือนเป็นสิ่งกีดขวางอันหนึ่ง โดยให้มีการทาสีและติดตั้งไฟแสดงสิ่งกีดขวาง

    ลักษณะ (Characteristics)

    5.3.4.7 โคมไฟของระบบไฟนำร่องการบินเข้าสู่สนามบินแบบพื้นฐานจะต้องเป็นไฟส่องสว่างคงที่ และสีของไฟจะต้องเป็นสีที่ทำให้มั่นใจว่า ไฟของระบบดังกล่าวจะสามารถถูกแยกแยะความแตกต่างออกจากไฟภาคพื้นสำหรับการบินอื่น ๆ และไฟที่ไม่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี) ได้อย่างรวดเร็ว โดยโคมไฟตามแนวกึ่งกลางจะต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้

    • เป็นโคมไฟเดี่ยว (Single Source) หรือ
    • เป็นโคมไฟแบบแถบ (Barrette) ซึ่งมีความยาวอย่างน้อย 3 เมตร

    สำหรับโคมไฟแบบแถบตาม ข) ซึ่งประกอบด้วยดวงไฟดวงเดี่ยวหลายดวงนั้น ระยะห่างที่เหมาะสมระหว่างดวงไฟ ที่อยู่ติดกันภายในโคมไฟแบบแถบจะเท่ากับ 1.5 เมตร

              สนามบินอาจใช้โคมไฟแบบแถบที่มีความยาว 4 เมตรได้ หากคาดว่าระบบไฟนำร่องการบินเข้าสู่สนามบินแบบพื้นฐานนี้จะพัฒนาไปเป็นระบบไฟนำร่องการบินเข้าสู่ทางวิ่งแบบพรีซิชั่น ทั้งนี้ ในพื้นที่ที่ยากต่อการจำแนก ความแตกต่างระหว่างระบบไฟนำร่องการบินเข้าสู่สนามบินแบบพื้นฐานและไฟบริเวณโดยรอบในเวลากลางคืน การติดตั้งไฟกะพริบเรียงตามลำดับ (Sequence Flashing Light) ที่บริเวณส่วนนอก (Outer Portion) ของระบบ ไฟนำร่องการบินเข้าสู่สนามบินแบบพื้นฐาน อาจจะช่วยแก้ปัญหาได้

    5.3.4.8 ในกรณีที่ติดตั้งระบบไฟนำร่องการบินเข้าสู่สนามบินแบบพื้นฐานเพื่อใช้งานกับทางวิ่งแบบบินลงโดยไม่ใช้ เครื่องวัดประกอบการบิน โคมไฟต้องมีการส่องสว่างไปยังทุกทิศทางของมุมแอซิมัทที่มีความจำเป็นต่อนักบินซึ่งกำลังทำการบินเข้าสู่สนามบินอยู่ในระยะ Base Leg และระยะสุดท้ายก่อนการนำอากาศยานลง (Final Approach) โดยระดับความเข้มแสงของไฟจะต้องเพียงพอสำหรับการมองเห็นในทุก ๆ สภาพทัศนวิสัย และในสภาพที่มีแสงไฟบริเวณโดยรอบรบกวน

    5.3.4.9 ในกรณีที่ติดตั้งระบบไฟนำร่องการบินเข้าสู่สนามบินแบบพื้นฐานเพื่อใช้งานกับทางวิ่งแบบนอนพรีซิชั่น โคมไฟต้องมีการส่องสว่างไปยังทุกทิศทางของมุมแอซิมัทที่มีความจำเป็นต่อนักบินซึ่งกำลังทำการบินเข้าสู่สนามบินอยู่ในระยะสุดท้ายก่อนการนำอากาศยานลง (Final Approach) เพื่อไม่ให้เกิดการเบี่ยงเบนออกจากแนวการร่อนลง ที่กำหนดโดยเครื่องช่วยการเดินอากาศแบบไม่ใช้ทัศนวิสัย (Non-Visual Aids) มากเกินไป ทั้งนี้ ระบบไฟนำร่องดังกล่าวต้องมีการออกแบบให้สามารถใช้นำทางได้ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน ในสภาพที่มีทัศนวิสัยไม่ดีและมีแสงไฟบริเวณโดยรอบรบกวน

    ระบบไฟนำร่องการบินเข้าสู่ทางวิ่งแบบพรีซิชั่นประเภทที่หนึ่ง (Precision Approach Category I Lighting System)

    ตำแหน่ง (Location)

    5.3.4.10 ระบบไฟนำร่องการบินเข้าสู่ทางวิ่งแบบพรีซิชั่นประเภทที่หนึ่งต้องประกอบด้วยโคมไฟติดตั้งเรียงกันเป็นแถว อยู่บนเส้นต่อขยายจากเส้นกึ่งกลางทางวิ่ง (Extened Centre Line of Runway) ซึ่งยาวเลยออกไปจากหัวทางวิ่ง เป็นระยะทาง 900 เมตร และมีชุดของโคมไฟที่ติดตั้งเรียงกัน โดยมีลักษณะเป็นไฟแถบตามขวาง (Crossbar) ยาว 30 เมตร ติดตั้งไว้ในตำแหน่งที่ห่างจากหัวทางวิ่งเป็นระยะทาง 300 เมตร ทั้งนี้ การติดตั้งระบบไฟนำร่องการบินเข้าสู่สนามบินที่มีความยาวน้อยกว่า 900 เมตร อาจส่งผลให้เกิดข้อจำกัดด้านการใช้งานทางวิ่ง รายละเอียดเพิ่มเติมอยู่ในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Attachment A, Section 12

    5.3.4.11 ชุดของโคมไฟที่ติดตั้งเรียงกันเป็นไฟแถบตามขวางนั้น จะต้องมีลักษณะเป็นเส้นตรงตามแนวนอนตั้งฉากกับ แนวเส้นของไฟกึ่งกลาง โดยแบ่งออกเป็นสองส่วนเท่า ๆ กัน ทั้งนี้ สนามบินจะต้องมีการเว้นระยะห่างระหว่างโคมไฟให้มีความสม่ำเสมอและสามารถมองเห็นเป็นเส้นตรงได้ ยกเว้นในกรณีที่สนามบินอาจมีการเว้นช่องว่างบริเวณด้านข้างของแนวเส้นกึ่งกลางทั้งสองด้านให้มากขึ้น โดยช่องว่างนี้ต้องมีระยะห่างไม่เกิน 6 เมตร

              ระยะห่างระหว่างโคมไฟที่ใช้กันโดยทั่วไปจะเท่ากับ 1 เมตร ถึง 4 เมตร โดยช่องว่างทั้งสองข้างของแนวเส้นกึ่งกลาง อาจจะเพิ่มประสิทธิภาพในการบอกทิศทาง เมื่อมีการร่อนลงด้วยค่าเบี่ยงเบนตามแนวขวาง (Lateral Error) และยังเป็นช่องทางที่สามารถให้รถดับเพลิงและหน่วยกู้ภัยวิ่งผ่านได้

              คำแนะนำเกี่ยวกับค่าความคลาดเคลื่อนในการติดตั้ง (Installation Tolerances) จะอยู่ในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Attachment A, Section 12

    5.3.4.12 โคมไฟที่ติดตั้งเรียงกันเป็นแนวเส้นกึ่งกลางจะต้องมีระยะห่างระหว่างโคมไฟตามแนวยาวเท่ากับ 30 เมตร โดยโคมไฟดวงแรกที่อยู่ใกล้กับหัวทางวิ่ง ต้องติดตั้งที่ตำแหน่ง 30 เมตรนับจากหัวทางวิ่ง

    5.3.4.13 ระบบไฟนำร่องการบินเข้าสู่ทางวิ่งแบบพรีซิชั่นประเภทที่หนึ่งจะต้องอยู่ภายในระนาบแนวนอนซึ่งตัดผ่าน หัวทางวิ่งมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อที่จะทำให้

    • ไม่มีวัตถุอื่นใดนอกจากเสาอากาศของระบบการบินลงด้วยเครื่องวัดประกอบการบิน (ILS) และระบบ การบินลงด้วยคลื่นไมโครเวฟ (MLS) ยื่นออกมาเหนือระนาบของไฟนำร่อง (Plane of Approach Light) ภายในระยะทาง 60 เมตร จากแนวกึ่งกลางของระบบไฟ และ
    • ไม่มีโคมไฟอื่นใดนอกจากโคมไฟที่ติดตั้งบริเวณกึ่งกลางของไฟแถบตามขวางหรือไฟแบบแถบบริเวณส่วนกลางของแนวเส้นกึ่งกลาง (ซึ่งมิใช่โคมไฟบริเวณปลายของแนวเส้นดังกล่าว) ที่จะต้องทำการบังแสง เพื่อไม่ให้อากาศยานที่กำลังร่อนลงมองเห็น

              สำหรับเสาอากาศของระบบการบินลงด้วยเครื่องวัดประกอบการบิน (ILS) และระบบการบินลงด้วย คลื่นไมโครเวฟ (MLS) ที่ยื่นออกมาเหนือระนาบของไฟนำร่อง จะต้องมีการดำเนินการเหมือนเป็นสิ่งกีดขวางอันหนึ่ง โดยให้มีการทาสีและติดตั้งไฟแสดงสิ่งกีดขวาง

    ลักษณะ (Characteristics)

    5.3.4.14 ไฟแนวกึ่งกลางและไฟแถบตามขวางของระบบไฟนำร่องการบินเข้าสู่ทางวิ่งแบบพรีซิชั่นประเภทที่หนึ่งจะต้องเป็นไฟส่องสว่างคงที่ และมีสีขาวซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนโทนสีได้ (Variable White) โดยโคมไฟตามแนวกึ่งกลางจะต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้

    • เป็นโคมไฟเดี่ยว (Single Source) ที่ส่วนในของแนวเส้นกึ่งกลางเป็นระยะทาง 300 เมตรจากหัวทางวิ่ง, เป็นโคมไฟจำนวนสองโคม ที่ส่วนกลางของแนวเส้นกึ่งกลางเป็นระยะทาง 300 เมตร และเป็นโคมไฟจำนวนสามโคม ที่ส่วนนอกของแนวเส้นกึ่งกลางเป็นระยะทาง 300 เมตร เพื่อเป็นการบอกข้อมูลเกี่ยวกับระยะทาง หรือ
    • เป็นโคมไฟแบบแถบ (Barrette)

    5.3.4.15 ในกรณีที่สนามบินสามารถแสดงให้เห็นว่า ระดับความสามารถในการใช้งานได้ของไฟนำร่องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการบำรุงรักษาซึ่งกำหนดไว้ในหัวข้อ 10.5.10 โคมไฟตามแนวกึ่งกลางอาจมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้

    • เป็นโคมไฟเดี่ยว (Single Source) หรือ
    • เป็นโคมไฟแบบแถบ (Barrette)

    5.3.4.16 โคมไฟแบบแถบต้องมีความยาวอย่างน้อย 4 เมตร และประกอบด้วยดวงไฟดวงเดี่ยวหลายดวง ซึ่งมีระยะห่างระหว่างดวงไฟที่เท่า ๆ กัน โดยต้องไม่เกิน 1.5 เมตร

    5.3.4.17 ในกรณีที่แนวเส้นกึ่งกลางประกอบด้วยไฟแบบแถบ ตามรายละเอียดในหัวข้อ 5.3.4.14 ข) หรือ 5.3.4.15 ข) สนามบินต้องติดตั้งไฟกะพริบเพิ่มเติมจากการติดตั้งโคมไฟแบบแถบ เว้นแต่ว่า ไฟดังกล่าวไม่มีความจำเป็น เมื่อพิจารณาถึงคุณสมบัติของระบบและลักษณะของสภาพอากาศแล้ว

    5.3.4.18 ไฟกะพริบตามรายละเอียดในหัวข้อ 5.3.4.17 จะต้องกะพริบ 2 ครั้งใน 1 วินาที โดยเริ่มจากไฟส่วนนอกสุดกะพริบตามลำดับเข้าสู่ไฟส่วนในสุดที่อยู่ใกล้กับหัวทางวิ่ง ทั้งนี้ การออกแบบของวงจรไฟฟ้าจะต้องเป็นไปในลักษณะ ที่ทำให้ไฟดังกล่าวสามารถทำงานอย่างอิสระจากไฟอื่น ๆ ของระบบไฟนำร่อง

    5.3.4.19 ในกรณีที่แนวเส้นกึ่งกลางประกอบด้วยไฟตามรายละเอียดในหัวข้อ 5.3.4.14 ก) หรือ 5.3.4.15 ก) สนามบินต้องติดตั้งไฟแถบตามขวางเพิ่มเติมจากการติดตั้งไฟแถบตามขวางที่ระยะ 300 เมตรจากหัวทางวิ่ง โดยไฟเพิ่มเติมนั้นจะต้องถูกติดตั้งที่ระยะ 150 เมตร  450 เมตร  600 เมตร และ 750 เมตรจากหัวทางวิ่ง และไฟดังกล่าวจะต้องมีลักษณะเป็นเส้นตรงตามแนวนอนตั้งฉากกับแนวเส้นของไฟกึ่งกลาง โดยแบ่งออกเป็นสองส่วนเท่า ๆ กัน ทั้งนี้ สนามบินจะต้องมีการเว้นระยะห่างระหว่างโคมไฟให้มีความสม่ำเสมอและสามารถมองเห็นเป็นเส้นตรงได้ ยกเว้นในกรณีที่สนามบินอาจมีการเว้นช่องว่างบริเวณด้านข้างของแนวเส้นกึ่งกลางทั้งสองด้านให้มากขึ้น โดยช่องว่างนี้ ต้องมีระยะห่างไม่เกิน 6 เมตร สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับรูปแบบการจัดวาง (Detailed Configuration) จะอยู่ในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Attachment A, Section 12

    5.3.4.20 ในกรณีที่ไฟแถบตามขวางตามรายละเอียดในหัวข้อ 5.3.4.19 ถูกรวมเข้ากับระบบไฟนำร่อง โคมไฟ ที่อยู่ตรงปลายด้านนอกทั้ง 2 ด้านของไฟแถบตามขวางนั้น จะต้องอยู่บนแนวเส้นตรง 2 เส้นที่ขนานกับของแนวเส้นของไฟกึ่งกลาง หรือแนวเส้นตรง 2 เส้นซึ่งบรรจบกันที่เส้นกึ่งกลางทางวิ่งที่ระยะ 300 เมตรจากหัวทางวิ่ง

    5.3.4.21 ลักษณะของไฟจะต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Appendix 2 รูปที่ A2-1

    แนวของการร่อนลงที่ใช้ในการออกแบบไฟเหล่านี้ จะอยู่ในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Attachment A รูปที่ A–6

    รูปที่ 15 ระบบไฟนำร่องการบินเข้าสู่ทางวิ่งแบบพรีซิชั่นประเภทที่หนึ่ง

    ระบบไฟนำร่องการบินเข้าสู่ทางวิ่งแบบพรีซิชั่นประเภทที่สองและประเภทที่สาม (Precision Approach Category II and III Lighting System)

    ตำแหน่ง (Location)

    5.3.4.22 ระบบไฟนำร่องการบินเข้าสู่ทางวิ่งแบบพรีซิชั่นประเภทที่สองและประเภทที่สามต้องประกอบด้วยโคมไฟติดตั้งเรียงกันเป็นแถวอยู่บนเส้นต่อขยายจากเส้นกึ่งกลางทางวิ่ง (Extened Centre Line of Runway) ซึ่งยาวเลยออกไปจากหัวทางวิ่งเป็นระยะทาง 900 เมตร นอกจากนี้ ระบบไฟดังกล่าวจะต้องมีไฟแบบแถบติดตั้งอยู่ทางด้านข้างทั้ง 2 ด้านของแนวไฟกึ่งกลาง ขยายออกตามแนวยาวตั้งแต่หัวทางวิ่งไปจนถึงระยะ 270 เมตรห่างจากหัวทางวิ่ง และมีไฟแถบตามขวางจำนวน 2 แถบติดตั้งอยู่ที่ระยะ 150 เมตร และอีกระยะที่ 300 เมตรจากหัวทางวิ่ง รายละเอียดเป็นไปตามที่แสดงในรูปที่ 16 ทั้งนี้ ในกรณีที่สนามบินสามารถแสดงให้เห็นว่า ระดับความสามารถในการใช้งานได้ ของไฟนำร่องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการบำรุงรักษาซึ่งกำหนดไว้ในหัวข้อ 10.5.7 ระบบนี้อาจมีการติดตั้งไฟแบบแถบติดตั้งอยู่ทางด้านข้างทั้ง 2 ด้านของแนวไฟกึ่งกลาง ขยายออกตามแนวยาวตั้งแต่หัวทางวิ่งไปจนถึงระยะ 240 เมตรห่างจากหัวทางวิ่ง และมีไฟแถบตามขวางจำนวน 2 แถบติดตั้งอยู่ที่ระยะ 150 เมตร และอีกระยะที่ 300 เมตรจาก หัวทางวิ่ง รายละเอียดเป็นไปตามที่แสดงในรูปที่ 17

            การติดตั้งระบบไฟนำร่องการบินเข้าสู่สนามบินให้มีความยาวเท่ากับ 900 เมตรนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ การนำร่องการปฏิบัติการภายใต้เงื่อนไขประเภทที่ 1  ประเภทที่ 2 และ ประเภทที่ 3 การลดความยาวลงอาจจะรองรับการปฏิบัติการประเภทที่ 2 และ 3 แต่อาจจะเป็นข้อจำกัดของการปฏิบัติการประเภทที่ 1 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Attachment A, Section 12

    5.3.4.23 โคมไฟที่ติดตั้งเรียงกันเป็นแนวเส้นกึ่งกลางจะต้องมีระยะห่างระหว่างโคมไฟตามแนวยาวเท่ากับ 30 เมตร โดยโคมไฟดวงแรกที่อยู่ใกล้กับหัวทางวิ่ง ต้องติดตั้งที่ตำแหน่ง 30 เมตรนับจากหัวทางวิ่ง

    5.3.4.24 โคมไฟที่ติดตั้งเรียงกันเป็นแถวจะต้องอยู่ทางด้านข้างทั้งสองด้านของแนวเส้นกึ่งกลาง โดยมีระยะห่างระหว่างโคมไฟตามแนวยาวที่เท่ากับไฟกึ่งกลาง และเริ่มติดตั้งโคมไฟดวงแรกที่ระยะ 30 เมตรจากหัวทางวิ่ง ในกรณี ที่สนามบินสามารถแสดงให้เห็นว่า ระดับความสามารถในการใช้งานได้ของไฟนำร่องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ในการบำรุงรักษาซึ่งกำหนดไว้ในหัวข้อ 10.5.7 รูปแบบของไฟด้านข้างนั้น อาจมีระยะห่างระหว่างโคมไฟตามแนวยาว ที่เท่ากับ 60 เมตร โดยเริ่มติดตั้งโคมไฟดวงแรกที่ระยะ 60 เมตรจากหัวทางวิ่ง และระยะห่างตามแนวขวาง (หรือ ช่องว่าง) ระหว่างโคมไฟดวงในสุดของไฟด้านข้างทั้งสองด้าน จะต้องไม่น้อยกว่า 18 เมตร และไม่เกิน 22.5 เมตร ทั้งนี้ ระยะห่างที่เหมาะสมที่สุดจะเท่ากับ 18 เมตร แต่ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ระยะห่างจะต้องเท่ากับระยะห่างของไฟแสดง เขตจุดแตะพื้น (Touchdown Zone Lights)

    5.3.4.25 ไฟแถบตามขวางที่ระยะ 150 เมตรจากหัวทางวิ่ง ต้องติดตั้งอยู่ตรงช่องว่างระหว่างไฟกึ่งกลางและ ไฟแบบแถบซึ่งอยู่ทางด้านข้าง

    5.3.4.26 ไฟแถบตามขวางที่ระยะ 300 เมตรจากหัวทางวิ่ง จะต้องขยายออกทางด้านข้างทั้ง 2 ด้านของไฟกึ่งกลาง เป็นระยะทาง 15 เมตรจากแนวเส้นกึ่งกลาง

    5.3.4.27 ในกรณีที่แนวเส้นกึ่งกลางซึ่งอยู่เลยจากระยะที่ 300 เมตรจากหัวทางวิ่งไป ประกอบด้วยไฟตามรายละเอียด ในข้อ 5.3.4.31 ข) หรือ 5.3.4.32 ข) สนามบินต้องติดตั้งไฟแถบตามขวางเพิ่มเติมที่ระยะ 450 เมตร  600 เมตร และ 750 เมตรจากหัวทางวิ่ง

    5.3.4.28 ในกรณีที่ไฟแถบตามขวางตามรายละเอียดในหัวข้อ 5.3.4.27 ถูกรวมเข้ากับระบบไฟนำร่อง ปลายด้านนอกของไฟแถบตามขวางจะต้องอยู่บนแนวเส้นตรง 2 เส้นที่ขนานกับของแนวเส้นของไฟกึ่งกลาง หรือแนวเส้นตรง 2 เส้นซึ่งบรรจบกันที่เส้นกึ่งกลางทางวิ่งที่ระยะ 300 เมตรจากหัวทางวิ่ง

    5.3.4.29 ระบบไฟนำร่องการบินเข้าสู่ทางวิ่งแบบพรีซิชั่นประเภทที่สองและประเภทที่สาม จะต้องอยู่ภายในระนาบแนวนอนซึ่งตัดผ่านหัวทางวิ่งมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อที่จะทำให้

    • ไม่มีวัตถุอื่นใดนอกจากเสาอากาศของระบบการบินลงด้วยเครื่องวัดประกอบการบิน (ILS) และระบบ การบินลงด้วยคลื่นไมโครเวฟ (MLS) ยื่นออกมาเหนือระนาบของไฟนำร่อง (Plane of Approach Light) ภายในระยะทาง 60 เมตร จากแนวกึ่งกลางของระบบไฟ และ
    • ไม่มีโคมไฟอื่นใดนอกจากโคมไฟที่ติดตั้งบริเวณกึ่งกลางของไฟแถบตามขวางหรือไฟแบบแถบบริเวณส่วนกลางของแนวเส้นกึ่งกลาง (ซึ่งมิใช่โคมไฟบริเวณปลายของแนวเส้นดังกล่าว) ที่จะต้องทำการบังแสง เพื่อไม่ให้อากาศยานที่กำลังร่อนลงมองเห็น

              สำหรับเสาอากาศของระบบการบินลงด้วยเครื่องวัดประกอบการบิน (ILS) และระบบการบินลงด้วย คลื่นไมโครเวฟ (MLS) ที่ยื่นออกมาเหนือระนาบของไฟนำร่อง จะต้องมีการดำเนินการเหมือนเป็นสิ่งกีดขวางอันหนึ่ง โดยให้มีการทาสีและติดตั้งไฟแสดงสิ่งกีดขวาง

    ลักษณะ (Characteristics)

    5.3.4.30 แนวเส้นกึ่งกลางของระบบไฟนำร่องการบินเข้าสู่ทางวิ่งแบบพรีซิชั่นประเภทที่สองและประเภทที่สาม ในส่วน 300 เมตรแรกจากหัวทางวิ่ง ต้องประกอบด้วยไฟแบบแถบ โดยเป็นไฟสีขาวซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนโทนสีได้ (Variable White) ยกเว้นในกรณีที่หัวทางวิ่งถูกเลื่อนออกไป 300 เมตรหรือมากกว่า แนวเส้นกึ่งกลางอาจจะประกอบด้วยโคมไฟเดี่ยวที่เป็นไฟสีขาวซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนโทนสีได้ ทั้งนี้ ในกรณีที่สนามบินสามารถแสดงให้เห็นว่า ระดับความสามารถในการใช้งานได้ของไฟนำร่องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการบำรุงรักษาซึ่งกำหนดไว้ในหัวข้อ 10.5.7 แนวเส้นกึ่งกลางของระบบไฟนำร่องการบินเข้าสู่ทางวิ่งแบบพรีซิชั่นประเภทที่สองและประเภทที่สาม ในส่วน 300 เมตรแรกจากหัวทางวิ่ง อาจจะประกอบด้วยไฟอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

    • ไฟแบบแถบ ในกรณีที่แนวเส้นกึ่งกลางซึ่งเลยจากระยะ 300 เมตรจากหัวทางวิ่งประกอบด้วยไฟแบบแถบ ตามรายละเอียดที่อธิบายไว้ในหัวข้อ 5.3.4.32 ก) หรือ
    • โคมไฟเดี่ยวและไฟแบบแถบติดตั้งสลับกัน ในกรณีที่แนวเส้นกึ่งกลางซึ่งเลยจากระยะ 300 เมตรจาก หัวทางวิ่งประกอบด้วยโคมไฟเดี่ยว ตามรายละเอียดที่อธิบายไว้ในหัวข้อ 5.3.4.32 ข) โดยโคมไฟเดี่ยวดวงแรกซึ่งอยู่ใกล้กับหัวทางวิ่งจะต้องติดตั้งระยะ 30 เมตรจากหัวทางวิ่ง และไฟแบบแถบดวงแรกซึ่งอยู่ใกล้กับหัวทางวิ่งจะต้องติดตั้งระยะ 60 เมตรจากหัวทางวิ่ง หรือ
    • โคมไฟเดี่ยว ในกรณีที่หัวทางวิ่งถูกเลื่อนออกไป 300 เมตรหรือมากกว่า

    โดยไฟทั้งหมดต้องเป็นสีขาวซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนโทนสีได้ (Variable White)

    5.3.4.31 ไฟกึ่งกลางที่อยู่เลยจากระยะ 300 เมตรจากหัวทางวิ่ง จะต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้

    • เป็นไฟแบบแถบเหมือนกับไฟที่ติดตั้งในระยะ 300 เมตรแรก หรือ
    • เป็นโคมไฟจำนวนสองโคม ที่ส่วนกลางของแนวเส้นกึ่งกลางเป็นระยะทาง 300 เมตร และเป็นโคมไฟจำนวนสามโคม ที่ส่วนนอกของแนวเส้นกึ่งกลางเป็นระยะทาง 300 เมตร

    โดยไฟทั้งหมดต้องเป็นสีขาวซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนโทนสีได้ (Variable White)

    5.3.4.32 ในกรณีที่สนามบินสามารถแสดงให้เห็นว่า ระดับความสามารถในการใช้งานได้ของไฟนำร่องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการบำรุงรักษาซึ่งกำหนดไว้ในหัวข้อ 10.5.7 ไฟกึ่งกลางที่อยู่เลยจากระยะ 300 เมตรจากหัวทางวิ่ง อาจมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้

    • เป็นไฟแบบแถบ (Barrette) หรือ
    • เป็นโคมไฟเดี่ยว (Single Light Source)

    โดยไฟทั้งหมดต้องเป็นสีขาวซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนโทนสีได้ (Variable White)

    5.3.4.33 โคมไฟแบบแถบต้องมีความยาวอย่างน้อย 4 เมตร และประกอบด้วยดวงไฟดวงเดี่ยวหลายดวง ซึ่งมีระยะห่างระหว่างดวงไฟที่เท่า ๆ กัน โดยต้องไม่เกิน 1.5 เมตร

    5.3.4.34 ในกรณีที่แนวเส้นกึ่งกลางส่วนที่เลยจากระยะ 300 เมตรจากหัวทางวิ่งไป ประกอบด้วยไฟแบบแถบ ตามรายละเอียดในหัวข้อ 5.3.4.31 ก) หรือ 5.3.4.32 ก) สนามบินต้องติดตั้งไฟกะพริบเพิ่มเติมจากการติดตั้ง โคมไฟแบบแถบในส่วนที่เลยจากระยะ 300 เมตรนั้น เว้นแต่ว่า ไฟดังกล่าวไม่มีความจำเป็นเมื่อพิจารณาถึงคุณสมบัติของระบบและลักษณะของสภาพอากาศแล้ว

    5.3.4.35 ไฟกะพริบตามรายละเอียดในหัวข้อ 5.3.4.34 จะต้องกะพริบ 2 ครั้งใน 1 วินาที โดยเริ่มจากไฟส่วนนอกสุดกะพริบตามลำดับเข้าสู่ไฟส่วนในสุดที่อยู่ใกล้กับหัวทางวิ่ง ทั้งนี้ การออกแบบของวงจรไฟฟ้าจะต้องเป็นไปในลักษณะ ที่ทำให้ไฟดังกล่าวสามารถทำงานอย่างอิสระจากไฟอื่น ๆ ของระบบไฟนำร่อง

    5.3.4.36 ไฟซึ่งอยู่ทางด้านข้างจะต้องประกอบด้วยไฟแบบแถบสีแดง โดยความยาวของไฟแถบดังกล่าวและ ระยะห่างระหว่างดวงไฟภายในไฟแถบนั้น จะต้องเท่ากันกับไฟแถบของระบบไฟแสดงเขตจุดแตะพื้น (Touchdown Zone Light)

    รูปที่ 16 ระบบนำร่องภายในระยะ 300 เมตรและระบบไฟฟ้า สำหรับระบบไฟทางวิ่งแบบพรีซิชั่นประเภทที่ สองและสาม

    รูปที่ 17 ระบบนำร่องภายในระยะ 300 เมตรและระบบไฟฟ้าสำหรับระบบไฟทางวิ่งแบบพรีซิชั่น ประเภทที่สองและสาม เมื่อสนามบินสามารถแสดงได้ว่า ระดับความสามารถในการใช้งานได้ของไฟนำร่องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการบำรุงรักษาซึ่งกำหนดไว้ในบทที่ 10

    5.3.4.37 ไฟแถบตามขวางจะต้องเป็นไฟสีขาวซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนโทนสีได้ (Variable White) และมีระยะห่างระหว่างดวงไฟที่เท่า ๆ กันโดยต้องไม่เกิน 2.7 เมตร

    5.3.4.38 ความเข้มของแสงสีแดงจะต้องเข้ากันได้กับความเข้มของแสงสีขาว

    5.3.4.39 ลักษณะของไฟจะต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Appendix 2 รูปที่ A2-1 และ A2-2

    แนวของการร่อนลงที่ใช้ในการออกแบบไฟเหล่านี้ จะอยู่ในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Attachment A รูปที่ A–6

    5.3.5 ระบบไฟนำร่อนลงด้วยสายตา (Visual Approach Slope Indicator System)

    การใช้งาน (Application)

    5.3.5.1 สนามบินต้องจัดให้มีระบบไฟนำร่อนลงด้วยสายตาเพื่อใช้สำหรับรองรับการร่อนลงสู่ทางวิ่ง ไม่ว่าทางวิ่งจะมีการติดตั้งเครื่องช่วยในการนำร่อนลงด้วยสายตาหรือแบบไม่ใช้สายตาอื่น ๆ หรือไม่ก็ตาม ในกรณีที่มีเงื่อนไขดังต่อไปนี้ ตั้งแต่หนึ่งเงื่อนไขขึ้นไป

    • ทางวิ่งที่ใช้สำหรับรองรับอากาศยานไอพ่นหรืออากาศยานอื่น ๆ ที่มีความต้องการในการนำร่อนลงสู่สนามบินที่คล้ายคลึงกัน
    • นักบินที่อยู่บนอากาศยานใด ๆ ก็ตามอาจมีการตัดสินใจในการร่อนลงได้ยาก เนื่องจาก
      • ไม่มีการนำร่องด้วยสายตาที่เพียงพอ ซึ่งอาจพบได้ในระหว่างการทำการร่อนลงเหนือพื้นน้ำ หรือเหนือภูมิประเทศที่ไร้จุดเด่นในเวลากลางวัน หรือไม่มีแสงไฟบริเวณโดยรอบพื้นที่การร่อนลง ที่เพียงพอในเวลากลางคืน
      • การเข้าใจข้อมูลผิดพลาด (Misleading Information) ซึ่งเกิดจากสภาพภูมิประเทศที่ลวงตา หรือความลาดชันของทางวิ่ง
    • มีวัตถุอยู่ในบริเวณพื้นที่การร่อนลง ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายรุนแรง หากการลดระดับลงของอากาศยาน ต่ำกว่าแนวการร่อนลง (Approach Path) โดยเฉพาะในกรณีที่สนามบินไม่มีเครื่องช่วยในการเดินอากาศแบบไม่ใช้ทัศนวิสัย หรือเครื่องช่วยในการเดินอากาศด้วยทัศนวิสัยอื่น ๆ เพื่อเตือนว่ามีวัตถุดังกล่าวอยู่
    • ลักษณะทางกายภาพที่ปลายทางวิ่งด้านในด้านหนึ่งอาจก่อให้เกิดอันตราย ในกรณีที่อากาศยานลงก่อนถึงทางวิ่ง (Undershoot) หรือวิ่งเลยออกนอกทางวิ่ง (Overrun)
    • สภาพภูมิประเทศหรือสภาพอากาศมีลักษณะที่ทำให้อากาศยานอาจได้รับผลกระทบจากกระแสอากาศแปรปรวน (Turbulence) ในขณะทำการร่อนลง

    5.3.5.2 ระบบไฟนำร่อนลงด้วยสายตาแบบมาตรฐานประกอบด้วยระบบดังต่อไปนี้

    • ระบบ T-VASIS และระบบ AT-VASIS ให้เป็นไปตามข้อกำหนดทั้งหมดที่ระบุไว้ในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual)
    • ระบบ PAPI และระบบ APAPI ให้เป็นไปตามข้อกำหนดทั้งหมดที่ระบุไว้ในข้อ 5.3.5.24 ถึง 5.3.5.41

    ตามที่แสดงในรูปที่ 18

    5.3.5.3 สนามบินต้องจัดให้มีระบบ PAPI  ระบบ T-VASIS หรือ ระบบ AT-VASIS สำหรับทางวิ่งที่มีรหัสเป็น 3 หรือ 4 ในกรณีที่สนามบินเป็นไปตามเงื่อนไขในข้อ 5.3.5.1 ตั้งแต่หนึ่งเงื่อนไขขึ้นไป

    5.3.5.4 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป การใช้ระบบ T-VASIS และ AT-VASIS เป็นระบบไฟนำร่อนลงด้วยสายตาแบบมาตรฐาน จะต้องถูกยกเลิก

    5.3.5.5 สนามบินต้องจัดให้มีระบบ PAPI หรือ ระบบ APAPI สำหรับทางวิ่งที่มีรหัสเป็น 1 หรือ 2 ในกรณีที่สนามบินเป็นไปตามเงื่อนไขในข้อ 5.3.5.1 ตั้งแต่หนึ่งเงื่อนไขขึ้นไป

    5.3.5.6 ในกรณีที่หัวทางวิ่งถูกเลื่อนออกไปจากตำแหน่งปกติเป็นการชั่วคราว และมีเงื่อนไขในข้อ 5.3.5.1 ตั้งแต่ หนึ่งเงื่อนไขขึ้นไป สนามบินต้องจัดให้มีระบบ PAPI ยกเว้นในกรณีที่ทางวิ่งมีรหัสเป็น 1 หรือ 2 อาจจัดให้มีระบบ APAPI แทนได้

    รูปที่ 18 ระบบไฟนำร่อนลงด้วยสายตา

    ระบบไฟ PAPI และ APAPI

    ลักษณะ (Characteristics)

    5.3.5.24 ระบบ PAPI จะต้องประกอบด้วยไฟแถบตามขวางที่มีโคมไฟซึ่งสามารถเปลี่ยนสีของแสงได้อย่างชัดเจน (Sharp Transition Lamp) เป็นจำนวน 4 โคม โดยแต่ละโคมจะประกอบด้วยไฟหลายดวง (หรือไฟดวงดี่ยวติดตั้งคู่กัน) ไฟแถบดังกล่าวจะมีการเว้นระยะห่างระหว่างโคมไฟที่เท่า ๆ กัน ทั้งนี้ ระบบไฟจะต้องติดตั้งอยู่ทางด้านซ้ายของทางวิ่ง เว้นแต่ว่าในทางกายภาพไม่สามารถปฏิบัติได้

            ในกรณีที่ทางวิ่งใช้สำหรับรองรับอากาศยานที่จำเป็นต้องมีการนำทางในการขับเคลื่อนบนทางวิ่งด้วยทัศนวิสัย (Visual Roll Guidance) และไม่มีวิธีการอื่น ๆ ซึ่งช่วยในการนำทางดังกล่าว สนามบินอาจจัดให้มีไฟแถบตามขวาง อีกหนึ่งแถบติดตั้งที่ด้านตรงกันข้ามของทางวิ่ง

    5.3.5.25 ระบบ APAPI จะต้องประกอบด้วยไฟแถบตามขวางที่มีโคมไฟซึ่งสามารถเปลี่ยนสีของแสงได้อย่างชัดเจน (Sharp Transition Lamp) เป็นจำนวน 2 โคม โดยแต่ละโคมจะประกอบด้วยไฟหลายดวง (หรือไฟดวงดี่ยวติดตั้ง คู่กัน) ทั้งนี้ ระบบไฟจะต้องติดตั้งอยู่ทางด้านซ้ายของทางวิ่ง เว้นแต่ว่าในทางกายภาพไม่สามารถปฏิบัติได้

            ในกรณีที่ทางวิ่งใช้สำหรับรองรับอากาศยานที่จำเป็นต้องมีการนำทางในการขับเคลื่อนบนทางวิ่งด้วยทัศนวิสัย (Visual Roll Guidance) และไม่มีวิธีการอื่น ๆ ซึ่งช่วยในการนำทางดังกล่าว สนามบินอาจจัดให้มีไฟแถบตามขวาง อีกหนึ่งแถบติดตั้งที่ด้านตรงกันข้ามของทางวิ่ง

    5.3.5.26 ไฟแถบตามขวางของ PAPI จะต้องถูกจัดวางให้มีลักษณะที่ทำให้นักบินซึ่งกำลังนำอากาศยานร่อนลง บนทางวิ่ง สามารถมองเห็นไฟในลักษณะดังต่อไปนี้

    • เมื่ออยู่บนหรือเข้าใกล้แนวร่อน (Approach Slope) จะสามารถมองเห็นโคมไฟสองโคมที่อยู่ใกล้ทางวิ่งมากที่สุดเป็นสีแดง และโคมไฟอีกสองโคมที่อยู่ไกลจากทางวิ่งเป็นสีขาว
    • เมื่ออยู่เหนือแนวร่อน จะสามารถมองเห็นโคมไฟหนึ่งโคมที่อยู่ใกล้ทางวิ่งที่สุดเป็นสีแดง และโคมไฟ อีกสามโคมที่อยู่ไกลจากทางวิ่งเป็นสีขาว และเมื่ออากาศยานอยู่สูงจากแนวร่อนขึ้นไปอีก จะมองเห็น โคมไฟทั้งสี่โคมเป็นสีขาว
    • เมื่ออยู่ต่ำกว่าแนวร่อน จะสามารถมองเห็นโคมไฟสามโคมที่อยู่ใกล้ทางวิ่งที่สุดเป็นสีแดง และโคมไฟ อีกหนึ่งโคมที่อยู่ไกลจากทางวิ่งเป็นสีขาว และเมื่ออากาศยานอยู่ต่ำจากแนวร่อนลงมาอีก จะมองเห็น โคมไฟทั้งสี่โคมเป็นสีแดง

    5.3.5.27 ไฟแถบตามขวางของ APAPI จะต้องถูกจัดวางให้มีลักษณะที่ทำให้นักบินซึ่งกำลังนำอากาศยานร่อนลง บนทางวิ่ง สามารถมองเห็นไฟในลักษณะดังต่อไปนี้

    • เมื่ออยู่บนหรือเข้าใกล้แนวร่อน (Approach Slope) จะสามารถมองเห็นโคมไฟที่อยู่ใกล้ทางวิ่งมากที่สุดเป็นสีแดง และโคมไฟที่อยู่ไกลจากทางวิ่งเป็นสีขาว
    • เมื่ออยู่เหนือแนวร่อน จะสามารถมองเห็นโคมไฟทั้งสองโคมเป็นสีขาว
    • เมื่ออยู่ต่ำกว่าแนวร่อน จะสามารถมองเห็นโคมไฟทั้งสองโคมเป็นสีแดง

    การติดตั้ง (Siting)

    5.3.5.28 โคมไฟแต่ละโคมจะต้องถูกติดตั้งตามรูปแบบการจัดวางพื้นฐานที่แสดงในรูปที่ 19 ภายใต้ค่าความคลาดเคลื่อนในการติดตั้ง (Installation Tolerances) ที่กำหนดไว้ในรูปดังกล่าว ทั้งนี้ โคมไฟที่จัดเรียงกันเป็นไฟแถบตามขวางนั้นต้องอยู่ในตำแหน่งที่ทำให้นักบินซึ่งกำลังนำอากาศยานร่อนลงสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนในลักษณะที่เป็นเส้นตรง ตามแนวนอน โดยโคมไฟต้องถูกติดตั้งให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ และจะต้องสามารถแตกหักได้ง่าย

    ลักษณะของโคมไฟ (Characteristics of the light units)

    5.3.5.29 ระบบไฟจะต้องเหมาะสมสำหรับการใช้งานทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน

    5.3.5.30 การเปลี่ยนสีของแสงจากสีแดงเป็นสีขาวในระนาบแนวดิ่งนั้น จะต้องมีลักษณะที่ทำให้สามารถมองเห็นได้ ที่ระยะห่างไม่น้อยกว่า 300 เมตร ภายในมุมดิ่ง (Vertical Angle) ไม่เกิน 3 ลิปดา

    5.3.5.31 แสงสีแดงที่มีความเข้มแสงสูงสุด จะต้องมีค่าในแกน Y ไม่เกิน 0.320

    5.3.5.32 การกระจายความเข้มแสงของโคมไฟ จะต้องเป็นไปตามที่แสดงในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Appendix 2, Figure A2-23 และคำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะของโคมไฟ จะอยู่ใน Aerodrome Design Manual (Doc 9157) Part 4

    5.3.5.33 สนามบินต้องจัดให้มีการควบคุมความเข้มแสงที่เหมาะสม เพื่อที่จะสามารถปรับแต่งค่าความเข้มแสง ให้สอดคล้องกับสภาพต่าง ๆ และเพื่อหลีกเลี่ยงการทำให้นักบินเกิดอาการตาพร่ามัวในขณะทำการร่อนลงได้

    5.3.5.34 โคมไฟแต่ละโคมจะต้องสามารถปรับแต่งมุมเงยได้ เพื่อที่จะทำให้ขอบล่างของลำแสงส่วนที่เป็นสีขาว มีความคงที่ที่มุมเงยใด ๆ ก็ตามระหว่าง 1 องศา 30 ลิปดา และอย่างน้อย 4 องศา 30 ลิปดา เหนือแนวระดับ

    5.3.5.35 โคมไฟจะต้องถูกออกแบบให้มีลักษณะที่ทำให้การสะสมของหยดน้ำและสิ่งสกปรกซึ่งเกาะอยู่บนพื้นผิว การส่งสัญญาณ (Transmitting) หรือการสะท้อนแสง (Reflecting) นั้น รบกวนการให้สัญญาณไฟน้อยที่สุด และจะต้องไม่มีผลกระทบต่อความแตกต่างระหว่างสัญญาณสีแดงและสัญญาณสีขาว รวมถึงมุมของการเปลี่ยนสีของแสง

    แนวร่อนและการตั้งค่ามุมเงยของโคมไฟ (Approach slope and elevation setting of light units)

    5.3.5.36 แนวร่อนตามที่กำหนดไว้ในรูปที่ 20 จะต้องเหมาะสมสำหรับการใช้งานโดยอากาศยานเพื่อการร่อนลง

    5.3.5.37 ในกรณีที่ทางวิ่งมีการติดตั้งระบบการบินลงด้วยเครื่องวัดประกอบการบิน (ILS) และ/หรือระบบการบินลงด้วยคลื่นไมโครเวฟ (MLS) การติดตั้งและมุมเงยของโคมไฟจะต้องมีลักษณะที่ทำให้แนวการร่อนลงด้วยสายตา (Visual Approach Slope) ของ PAPI ตรงกันหรือใกล้เคียงกับแนวร่อน (Glide Path) ของ ILS และ/หรือแนวร่อนต่ำสุดของ MLS ตามความเหมาะสม

    5.3.5.38 การตั้งค่ามุมเงยของโคมไฟซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของไฟแถบตามขวางของ PAPI จะต้องมีลักษณะที่ทำให้ ในระหว่างการร่อนลงนั้น เมื่อนักบินสังเกตเห็นสัญญาณไฟเป็นสีขาวจำนวนหนึ่งดวงและเป็นสีแดงจำนวนสามดวง อากาศยานจะต้องมีระยะห่างที่ปลอดภัยจากวัตถุทั้งหมดในพื้นที่การร่อนลง โดยระยะปลอดภัย (Safe Margin) ให้เป็นไปตามที่กำหนดในตารางที่ 4

    5.3.5.39 การตั้งค่ามุมเงยของโคมไฟซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของไฟแถบตามขวางของ APAPI จะต้องมีลักษณะที่ทำให้ ในระหว่างการร่อนลงนั้น เมื่อนักบินสังเกตเห็นสัญญาณไฟเป็นสีขาวจำนวนหนึ่งดวงและเป็นสีแดงจำนวนหนึ่งดวงอากาศยานจะต้องมีระยะห่างที่ปลอดภัยจากวัตถุทั้งหมดในพื้นที่การร่อนลง โดยระยะปลอดภัย (Safe Margin) ให้เป็นไปตามที่กำหนดในตารางที่ 4

    5.3.5.40 สนามบินจะต้องมีการจำกัดพื้นที่ของการกระจายลำแสงตามมุมแอซิมัทอย่างเหมาะสม ในกรณีที่วัตถุซึ่งอยู่นอกพื้นผิวป้องกันสิ่งกีดขวางของระบบ PAPI และ APAPI แต่อยู่ภายในขอบเขตของการกระจายลำแสงตามแนวขวาง ถูกพบว่ายื่นขึ้นไปเหนือระนาบของพื้นผิวป้องกันสิ่งกีดขวาง และผลการศึกษาทางด้านการบินแสดงให้เห็นว่า วัตถุนั้นอาจมีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความปลอดภัยในการปฏิบัติการบิน ขอบเขตของการจำกัดจะต้องเป็นไปในลักษณะที่ทำให้วัตถุนั้นอยู่นอกขอบเขตของลำแสง ทั้งนี้ รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับพื้นผิวป้องกันสิ่งกีดขวาง จะอยู่ในข้อ 5.3.5.42 ถึง 5.3.5.46

    5.3.5.41 ในกรณีที่มีการติดตั้งไฟแถบตามขวางทั้งสองข้างของทางวิ่งเพื่อใช้ในการนำร่องการขับเคลื่อนบนทางวิ่ง (Roll Guidance) นั้น โคมไฟของไฟแถบทั้งสองแถบจะต้องมีการตั้งค่ามุมให้เป็นมุมที่เหมือนกัน เพื่อที่สัญญาณของไฟแถบทั้งสองจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสมมาตรในเวลาเดียวกัน

     

    รูปที่ 19 การติดตั้งไฟ PAPI และ APAPI

    รูปที่ 20 ลำแสงของไฟและการตั้งค่ามุมเงยของ PAPI และ APAPI

    ตารางที่ 4 ระยะปลอดภัยของล้อ (Wheel Clearance) เหนือหัวทางวิ่งสำหรับ PAPI และ APAPI

    พื้นผิวป้องกันสิ่งกีดขวาง (Obstacle Protection Surface)

    ข้อกำหนดต่อไปนี้ ใช้กับ T-VASIS, AT-VASIS, PAPI และ APAPI

    5.3.5.42 สนามบินต้องมีการกำหนดพื้นผิวป้องกันสิ่งกีดขวาง เมื่อสนามบินจัดให้มีระบบนำร่อนลงด้วยสายตา

    5.3.5.43 ลักษณะต่าง ๆ ของพื้นผิวป้องกันสิ่งกีดขวาง ซึ่งหมายถึง จุดเริ่มต้น (Origin) การเบนออก (Divergence) ความยาว (Length) และความลาดชัน (Slope) จะต้องสอดคล้องกับค่าที่ระบุไว้ในตารางที่ 5 และในรูปที่ 21

    5.3.5.44 วัตถุใหม่หรือส่วนต่อเติมของวัตถุเดิม จะต้องไม่สูงเกินกว่าพื้นผิวป้องกันสิ่งกีดขวาง เว้นแต่ว่าวัตถุใหม่หรือส่วนต่อเติมจะถูกบดบังโดยวัตถุเดิมที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ (Immovable Object) ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความเห็นของ ผู้มีอำนาจหน้าที่

    5.3.5.45 วัตถุเดิมที่อยู่สูงกว่าพื้นผิวป้องกันสิ่งกีดขวางจะต้องถูกกำจัดออก เว้นแต่ว่าวัตถุนั้นจะถูกบดบังโดยวัตถุเดิมอื่น ๆ ที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ (Immovable Object) หรือหลังจากการศึกษาทางด้านการบินแล้วพบว่า วัตถุนั้น ไม่มีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความปลอดภัยของการปฏิบัติการบิน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความเห็นของผู้มีอำนาจหน้าที่

    5.3.5.46 เมื่อการศึกษาทางด้านการบินแสดงให้ว่า วัตถุเดิมซึ่งยื่นขึ้นไปเหนือพื้นผิวป้องกันสิ่งกีดขวางนั้น อาจมีผลกระทบร้ายแรงต่อการปฏิบัติการบิน สนามบินจะต้องดำเนินการตามมาตรการดังต่อไปนี้ อย่างน้อยหนึ่งมาตรการ

    • เคลื่อนย้ายวัตถุดังกล่าว
    • เพิ่มมุมร่อนของระบบให้เหมาะสมกับสิ่งกีดขวางนั้น
    • ลดการกระจายแสงตามมุมแอซิมัทของระบบลง เพื่อให้วัตถุนั้นอยู่นอกเขตการกระจายลำแสง
    • เลื่อนแกนกลางของระบบและพื้นที่ป้องกันสิ่งกีดขวางที่เกี่ยวข้อง แต่ต้องไม่เกิน 5 องศา และ
    • เลื่อนระบบไปในทิศทาง Upwind จากหัวทางวิ่ง เพื่อทำให้วัตถุดังกล่าวไม่มีส่วนใดสูงเกินพื้นผิวป้องกันสิ่งกีดขวาง

    ทั้งนี้ คำแนะนำเกี่ยวกับหัวข้อนี้จะอยู่ใน Aerodrome Design Manual (Doc 9157), Part 4

    ตารางที่ 5 ขนาดและความลาดชันของพื้นผิวป้องกันสิ่งกีดขวาง

    รูปที่ 21 ระนาบจำกัดสิ่งกีดขวางสำหรับระบบไฟนำร่อน

    5.3.6 ไฟนำร่องการบินวนเข้าสู่สนามบิน (Circling Guidance Lights)

    การใช้งาน (Application)

    5.3.6.1 ในกรณีที่ทางวิ่งจำเป็นต้องใช้รองรับการทำการบินวนเข้าสู่สนามบิน (Circling Approach) สนามบินต้องจัดให้มีไฟนำร่องการบินวนเข้าสู่สนามบิน เมื่อไฟนำร่องและไฟทางวิ่งที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะระบุตำแหน่งของทางวิ่งและ/หรือพื้นที่ในร่อนลงสำหรับอากาศยานที่กำลังทำการบินวนเข้าสู่สนามบิน

    ตำแหน่ง (Location)

    5.3.6.2 สนามบินต้องจัดให้มีตำแหน่งและจำนวนของไฟนำร่องการบินวนเข้าสู่สนามบินเพียงพอที่จะทำให้นักบินสามารถ

    • เชื่อมเข้าสู่ Downwind Leg หรือทำการจัดแนวและปรับแต่งเส้นทางของอากาศยาน (Aircraft’s Track)เพื่อเข้าหาทางวิ่งที่ระยะห่างตามที่ต้องการ และเพื่อให้สามารถแยกแยะหัวทางวิ่งได้อย่างรวดเร็ว และ
    • ทำให้มองเห็นหัวทางวิ่งและ/หรือสิ่งอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้นักบินสามารถตัดสินใจเลี้ยวเข้าสู่ Base Leg และระยะสุดท้ายก่อนทำการร่อนลง (Final Approach) ได้ โดยจะต้องคำนึงถึงการนำร่องของเครื่องช่วย ในการเดินอากาศด้วยทัศนวิสัยอื่น ๆ ด้วย

    5.3.6.3 ไฟนำร่องการบินวนเข้าสู่สนามบินต้องประกอบด้วย

    • โคมไฟที่แสดงแนวเส้นต่อขยายจากเส้นกึ่งกลางทางวิ่งและ/หรือส่วนต่าง ๆ ของระบบไฟนำร่องการบินเข้าสู่สนามบิน หรือ
    • โคมไฟที่แสดงถึงตำแหน่งของหัวทางวิ่ง หรือ
    • โคมไฟที่แสดงถึงทิศทางหรือตำแหน่งของทางวิ่ง

    หรือมีการติดตั้งโคมไฟข้างต้นร่วมกัน หากพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความเหมาะสมกับทางวิ่ง ทั้งนี้ คำแนะนำในการติดตั้งไฟนำร่องการบินวนเข้าสู่สนามบิน อยู่ใน Aerodrome Design Manual (Doc 9157), Part 4.

    ลักษณะ (Characteristics)

    5.3.6.4 ไฟนำร่องการบินวนเข้าสู่สนามบินต้องเป็นไฟส่องสว่างคงที่หรือไฟกะพริบที่มีความเข้มแสงและการกระจายลำแสงที่เพียงพอต่อการใช้งานในสภาพทัศนวิสัยต่าง ๆ และในสภาพที่มีแสงไฟบริเวณโดยรอบรบกวน เพื่อให้สามารถนำร่องการบินวนเข้าสู่สนามบินด้วยสายตาได้ ทั้งนี้ ไฟกะพริบต้องเป็นสีขาว ส่วนไฟส่องสว่างคงที่ต้องเป็นสีขาวหรือเป็นหลอดก๊าซดิสชาร์จ (Gaseous Discharge Light)

    5.3.6.5 โคมไฟต้องถูกออกแบบและติดตั้งในลักษณะที่ไม่ทำให้นักบินเกิดอาการตาพร่ามัว (Dazzle) หรือเกิด ความสับสนในขณะที่ทำการร่อนลง บินขึ้น หรือขับเคลื่อนบนภาคพื้น

    5.3.7 ระบบไฟนำเข้าสู่หัวทางวิ่ง (Runway Lead-in Lighting System)

    การใช้งาน (Application)

    5.3.7.1 สนามบินต้องจัดให้มีระบบไฟนำเข้าสู่หัวทางวิ่ง ในกรณีที่มีความต้องการการนำร่องด้วยสายตาตลอดเส้นทางการบินที่ใช้ในการร่อนลง (Approach Path) เพื่อหลีกเลี่ยงลักษณะภูมิประเทศ (Terrain) ที่เป็นอันตราย หรือ เพื่อจุดประสงค์ในการลดเสียงรบกวน ทั้งนี้ คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดให้มีระบบไฟนำเข้าสู่หัวทางวิ่ง อยู่ใน Aerodrome Design Manual (Doc 9157), Part 4

    ตำแหน่ง (Location)

    5.3.7.2 ระบบไฟนำเข้าสู่หัวทางวิ่ง ต้องประกอบด้วย กลุ่มของไฟซึ่งติดตั้งอยู่ในตำแหน่งที่กำหนดให้เป็นเส้นทางการบินสำหรับใช้ในการร่อนลง (Approach Path) และต้องเป็นตำแหน่งที่ทำให้สามารถมองเห็นไฟกลุ่มหนึ่งจากตำแหน่งของไฟอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่ก่อนหน้า โดยระยะห่างระหว่างกลุ่มของไฟที่ติดกันต้องไม่เกิน 1,600 เมตรโดยประมาณ ทั้งนี้ ระบบไฟนำเข้าสู่หัวทางวิ่งอาจมีลักษณะเป็นแนวโค้ง แนวตรง หรือทั้งสองลักษณะรวมกัน

    5.3.7.3 ระบบไฟนำเข้าสู่หัวทางวิ่งจะต้องขยายออกจากจุดที่กำหนดโดยผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ ไปจนถึงจุดที่มีการติดตั้งระบบไฟนำร่องการบินเข้าสู่สนามบิน (ถ้ามี) หรือ ทางวิ่ง หรือ ระบบไฟทางวิ่ง ที่สามารถมองเห็นได้

    ลักษณะ (Characteristics)

    5.3.7.4 กลุ่มของไฟนำเข้าสู่หัวทางวิ่ง จะต้องประกอบด้วย ไฟกะพริบอย่างน้อย 3 ดวง จัดเรียงเป็นแนวเส้นตรงหรือเป็นกลุ่ม โดยระบบไฟนี้อาจจะเสริมด้วยไฟส่องสว่างคงที่ได้ หากไฟนี้จะช่วยในการระบุระบบไฟดังกล่าว

    5.3.7.5 ไฟกะพริบและไฟส่องสว่างคงที่จะต้องเป็นสีขาว

    5.3.7.6 หากสามารถทำได้ ไฟกะพริบในแต่ละกลุ่มจะต้องกะพริบตามลำดับเข้าหาทางวิ่ง

    5.3.8 ไฟแสดงตำแหน่งหัวทางวิ่ง (Runway Threshold Identification Light)

    การใช้งาน (Application)

    5.3.8.1 สนามบินต้องติดตั้งไฟแสดงตำแหน่งหัวทางวิ่ง ในบริเวณดังต่อไปนี้

    • ที่หัวทางวิ่งของทางวิ่งแบบนอนพรีซิชั่น ในกรณีที่จำเป็นต้องทำให้สามารถมองเห็นหัวทางวิ่งได้เด่นชัดมากขึ้น หรือในกรณีที่ไม่สามารถจัดให้มีไฟนำร่องอื่น ๆ ได้ และ
    • ที่หัวทางวิ่งซึ่งถูกเลื่อนอย่างถาวรจากปลายสุดของทางวิ่ง หรือหัวทางวิ่งที่ถูกเลื่อนชั่วคราวจากตำแหน่งปกติ และมีความจำเป็นที่ต้องทำให้สามารถมองเห็นหัวทางวิ่งได้เด่นชัดมากขึ้น

    ตำแหน่ง (Location)

    5.3.8.2 ไฟแสดงตำแหน่งหัวทางวิ่งจะต้องติดตั้งอยู่ทางด้านข้างของทางวิ่ง ห่างจากเส้นกึ่งกลางทางวิ่งในลักษณะสมมาตรกัน โดยจะต้องจัดวางอยู่ในแนวเดียวกับหัวทางวิ่ง และมีระยะห่างจากไฟขอบทางวิ่งข้างละประมาณ 10 เมตร

    ลักษณะ (Characteristics)

    5.3.8.3 ไฟแสดงตำแหน่งหัวทางวิ่งต้องเป็นไฟกะพริบสีขาว โดยกะพริบด้วยความถี่ระหว่าง 60 ถึง 120 ครั้งต่อนาที

    5.3.8.4 ไฟดังกล่าวจะต้องสามารถมองเห็นได้เฉพาะในทิศทางที่อากาศยานร่อนลงสู่ทางวิ่งเท่านั้น

    5.3.9 ไฟขอบทางวิ่ง (Runway Edge Light)

    การใช้งาน

    5.3.9.1 สนามบินต้องจัดให้มีไฟขอบทางวิ่งสำหรับทางวิ่งที่มีการใช้งานในเวลากลางคืน หรือสำหรับทางวิ่งแบบพรีชิชั่น ไม่ว่าจะมีการใช้งานในเวลากลางวันหรือกลางคืนก็ตาม

    5.3.9.2 สนามบินต้องจัดให้มีไฟขอบทางวิ่งบนทางวิ่งที่ใช้สำหรับการบินขึ้นในขณะที่มีค่าระยะที่นักบินมองเห็นทางวิ่ง (Runway Visual Range) ต่ำกว่า 800 เมตรในเวลากลางวัน

    ตำแหน่ง (Location)

    5.3.9.3 ไฟขอบทางวิ่งต้องถูกติดตั้งตลอดความยาวทางวิ่ง และต้องเป็นเส้นขนานกันสองเส้น โดยมีระยะห่างจาก เส้นกึ่งกลางทางวิ่งเป็นระยะทางที่เท่ากัน

    5.3.9.4 ไฟขอบทางวิ่งต้องถูกติดตั้งอยู่บนขอบของพื้นที่ที่ประกาศให้ใช้งานเป็นทางวิ่ง หรือติดตั้งบริเวณด้านนอกของขอบพื้นที่ดังกล่าวในระยะไม่เกิน 3 เมตร

    5.3.9.5 ความกว้างของพื้นที่ที่ประกาศให้ใช้งานเป็นทางวิ่งมีความกว้างเกิน 60 เมตร ระยะห่างระหว่างไฟขอบทางวิ่ง ทั้งสองแถว จะต้องถูกกำหนดโดยการพิจารณาลักษณะของการปฏิบัติการ การกระจายแสงของไฟขอบทางวิ่ง และเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศ ประเภททัศนวิสัยอื่นๆ ที่ติดตั้งบนทางวิ่ง

    5.3.9.6 ไฟขอบทางวิ่งต้องมีการเว้นระยะห่างที่เท่า ๆ กัน โดยระยะห่างระหว่างโคมไฟจะต้องไม่เกิน 60 เมตร สำหรับทางวิ่งแบบบินลงด้วยเครื่องวัดประกอบการบิน และไม่เกิน 100 เมตร สำหรับทางวิ่งแบบบินลงโดยไม่ใช้เครื่องวัดประกอบการบิน ไฟขอบทางวิ่งที่อยู่ด้านตรงกันข้ามกับแกนกลาง (Axis) ของทางวิ่ง ต้องอยู่บนเส้นซึ่งตั้งฉากกับแกนกลางดังกล่าว ทั้งนี้ บริเวณจุดตัดของทางวิ่ง ไฟขอบทางวิ่งอาจมีการเว้นระยะห่างที่ไม่สม่ำเสมอหรือไม่มีการเว้นระยะห่างก็ได้ เพื่อให้ยังคงมีการนำทางที่เพียงพอแก่นักบิน

    ลักษณะ (Characteristics)

    5.3.9.7 ไฟขอบทางว่งต้องเป็นไฟส่องสว่างคงที่สีขาว ยกเว้น

    • ในกรณีที่มีการเลื่อนหัวทางวิ่ง ไฟขอบทางวิ่งระหว่างจุดเริ่มต้นทางวิ่งและหัวทางวิ่งที่เลื่อนไปต้องเป็น ไฟสีแดงส่องไปยังทิศทางที่อากาศยานบินเข้าสู่สนามบิน
    • ส่วนของไฟขอบทางวิ่งในระยะ 600 เมตร หรือ 1 ใน 3 ของความยาวทางวิ่ง แล้วแต่ว่าค่าใดน้อยกว่า ที่บริเวณจุดปลายสุดของทางวิ่งอีกด้านหนึ่งซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับปลายสุดของทางวิ่งที่อากาศยานใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการวิ่งเพื่อบินขึ้น (Take-off Run) ไฟบริเวณดังกล่าวอาจเป็นไฟสีเหลืองได้

    5.3.9.8 ไฟขอบทางวิ่งต้องส่องสว่างไปยังทิศทางต่าง ๆ ของมุมแอซิมัทที่มีความจำเป็นสำหรับการนำทางให้แก่นักบิน ที่กำลังทำการบินลงหรือทำการบินขึ้นจากแต่ละทิศทาง ในกรณีที่ไฟขอบทางวิ่งมีไว้เพื่อนำร่องการบินวนเข้าสู่สนามบิน ไฟดังกล่าวต้องส่องสว่างไปยังทุก ๆ ทิศทางของมุมแอซิมัท (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ข้อ 5.3.6.1)

    5.3.9.9 ไฟขอบทางวิ่งต้องส่องสว่างทำมุมเงย 15 องศาเหนือแนวระดับ ในทิศทางต่าง ๆ ของมุมแอซิมัทตามที่กำหนดในข้อ 5.3.9.8 โดยต้องมีความเข้มแสงเพียงพอสำหรับการใช้งานเพื่อบินขึ้นหรือบินลงในสภาพทัศนวิสัยต่าง ๆ และ ในสภาพที่มีแสงไฟบริเวณโดยรอบรบกวน ในกรณีใด ๆ ก็ตาม ไฟขอบทางวิ่งต้องมีความเข้มแสงอย่างน้อย 50 แคนเดลา เว้นแต่ในกรณีที่สนามบินมีแสงไฟบริเวณโดยรอบรบกวนน้อย ความเข้มของแสงอาจลดลงได้ แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 25 แคนเดลา เพื่อหลีกเลี่ยงการทำให้นักบินเกิดอาการตาพร่ามัว

    5.3.9.10 ไฟขอบทางวิ่งบนทางวิ่งแบบพรีซิชั่น จะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Attachment 2 รูปที่ A2-9 หรือ A2-10

     

    5.3.10 ไฟหัวทางวิ่งและไฟแถบตามขวางข้างทางวิ่ง (Runway Threshold and Wing Bar Lights)

    การใช้งานไฟหัวทางวิ่ง (Application of Runway Threshold Lights)

    5.3.10.1 สนามบินต้องจัดให้มีไฟหัวทางวิ่งสำหรับทางวิ่งที่ติดตั้งไฟขอบทางวิ่ง เว้นแต่เป็นทางวิ่งแบบบินขึ้นลง โดยไม่ใช้เครื่องวัดประกอบการบิน หรือทางวิ่งแบบนอนพรีซิชั่น เมื่อหัวทางวิ่งถูกเลื่อนออกไปและมีการติดตั้งไฟแถบตามขวางข้างทางวิ่ง

    ตำแหน่งของไฟหัวทางวิ่ง (Location of of Runway Threshold Lights)

    5.3.10.2 เมื่อหัวทางวิ่งอยู่ที่ปลายสุดของทางวิ่ง ไฟหัวทางวิ่งจะต้องถูกจัดเรียงเป็นแถวตั้งฉากกับแกนกลางของทางวิ่ง โดยอยู่ใกล้กับปลายของทางวิ่งมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตามต้องมีระยะห่างไม่เกิน 3 เมตรจาก ปลายสุดทางวิ่ง

    5.3.10.3 ในกรณีที่หัวทางวิ่งถูกเลื่อนจากปลายสุดของทางวิ่ง ไฟหัวทางวิ่งจะต้องถูกจัดเรียงเป็นแถวตั้งฉากกับแกนกลางของทางวิ่ง ณ ตำแหน่งของหัวทางวิ่งที่ถูกเลื่อนออกไป

    5.3.10.4 ไฟหัวทางวิ่งต้องประกอบด้วย

    • บนทางวิ่งแบบบินลงโดยไม่ใช้เครื่องวัดประกอบการบิน หรือทางวิ่งแบบนอนพรีซิชั่น ต้องมีไฟอย่างน้อย 6 ดวง
    • บนทางวิ่งแบบพรีซิชั่นประเภทที่หนึ่ง โคมไฟจะต้องถูกติดตั้งอยู่ระหว่างไฟขอบทางวิ่งทั้งสองข้าง โดยมีการเว้นระยะห่างระหว่างโคมไฟเท่า ๆ กัน ซึ่งระยะห่างดังกล่าวต้องเท่ากับ 3 เมตร และ
    • บนทางวิ่งแบบพรีซิชั่นประเภทที่สองหรือสาม โคมไฟจะต้องถูกติดตั้งอยู่ระหว่างไฟขอบทางวิ่งทั้งสองข้าง โดยมีการเว้นระยะห่างระหว่างโคมไฟเท่า ๆ กัน ซึ่งระยะห่างดังกล่าวต้องไม่เกิน 3 เมตร

    5.3.10.5 โคมไฟที่อธิบายไว้ในข้อ 5.3.10.4 ก) และ 5.3.10.4 ข) จะต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้

    • มีระยะห่างเท่า ๆ กัน ติดตั้งอยู่ระหว่างไฟขอบทางวิ่งทั้งสองข้าง หรือ
    • เป็นโคมไฟ 2 กลุ่มที่จัดวางอย่างสมมาตรกันห่างจากเส้นกึ่งกลางทางวิ่ง โดยระยะห่างระหว่างโคมไฟ ในแต่ละกลุ่มจะต้องเท่า ๆ กัน และช่องว่างระหว่างกลุ่มโคมไฟจะต้องมีขนาดเท่ากับเครื่องหมายเขตจุดแตะพื้นหรือไฟแสดงเขตจุดแตะพื้น หรือไม่เกินครึ่งหนึ่งของระยะห่างระหว่างแถวของไฟขอบทางวิ่ง

    การใช้งานไฟแถบตามขวางข้างทางวิ่ง (Application of Wing Bar Lights)

    5.3.10.6 สนามบินจะต้องจัดให้มีไฟแถบตามขวางข้างทางวิ่งแบบพรีซิชั่น ในกรณีที่ต้องการเพิ่มความชัดเจน

    5.3.10.7 สนามบินจะต้องจัดให้มีไฟแถบตามขวางข้างทางวิ่งแบบบินลงโดยไม่ใช้เครื่องวัดประกอบการบิน หรือทางวิ่งแบบนอนพรีซิชั่น เมื่อทางวิ่งนั้นมีการเลื่อนหัวทางวิ่งและจำเป็นต้องมีไฟหัวทางวิ่ง แต่สนามบินไม่ได้มีการติดตั้ง ไฟดังกล่าว

    ตำแหน่งของไฟแถบตามขวางข้างทางวิ่ง (Location of Wing Bar Lights)

    5.3.10.8 ไฟแถบตามขวางข้างทางวิ่งต้องจัดวางห่างจากเส้นกึ่งกลางทางวิ่งอย่างสมมาตรกันที่บริเวณหัวทางวิ่ง โดยไฟแต่ละแถบจะต้องมีโคมไฟอย่างน้อย 5 ดวง ซึ่งตั้งฉากและขยายออกไปอย่างน้อย 10 เมตรจากไฟขอบทางวิ่ง และโคมไฟดวงในสุดของแต่ละแถบจะต้องอยู่ในแนวของไฟขอบทางวิ่ง

    ลักษณะของไฟหัวทางวิ่งและไฟแถบตามขวางข้างทางวิ่ง (Characteristics)

    5.3.10.9 ไฟหัวทางวิ่งและไฟแถบตามขวางข้างทางวิ่งต้องเป็นไฟส่องสว่างคงที่ โดยเป็นไฟสีเขียวส่องไปยังทิศทางของการร่อนลงสู่ทางวิ่ง ความเข้มแสงและการกระจายลำแสงของโคมไฟต้องเพียงพอสำหรับการใช้งานในสภาพทัศนวิสัยต่าง ๆ และในสภาพที่มีแสงไฟบริเวณโดยรอบรบกวน

    5.3.10.10 ลักษณะของไฟหัวทางวิ่งบนทางวิ่งแบบพรีซิชั่นจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Appendix 2 รูปที่ A2-3

    5.3.10.11 ลักษณะของไฟแถบตามขวางข้างทางวิ่งแบบพรีซิชั่นจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Appendix 2 รูปที่ A2-4

    5.3.11 ไฟสิ้นสุดทางวิ่ง (Runway End Light) (ดูรูปที่ 22)

    การใช้งาน (Application)

    5.3.11.1 สนามบินต้องจัดให้มีไฟสิ้นสุดทางวิ่งสำหรับทางวิ่งที่มีการติดตั้งไฟขอบทางวิ่ง ทั้งนี้ เมื่อหัวทางวิ่งอยู่ที่บริเวณปลายสุดของทางวิ่ง อุปกรณ์ที่ติดตั้งเพื่อใช้เป็นไฟหัวทางวิ่งอาจจะใช้เป็นไฟสิ้นสุดทางวิ่งได้ด้วย

    ตำแหน่ง (Location)

    5.3.11.2 ไฟสิ้นสุดทางวิ่งต้องติดตั้งอยู่บนแนวเส้นซึ่งตั้งฉากกับแกนกลางของทางวิ่ง โดยอยู่ใกล้กับจุดสิ้นสุดของทางวิ่งเท่าที่จะเป็นได้ และในกรณีใดก็ตาม ระยะห่างต้องไม่เกิน 3 เมตรจากจุดสิ้นสุดทางวิ่ง

    5.3.11.3 ไฟสิ้นสุดทางวิ่งต้องประกอบด้วยโคมไฟอย่างน้อย 6 โคม โดยโคมไฟจะต้องมีลักษณะอย่างใด อย่างหนึ่งดังนี้

    • มีระยะห่างเท่า ๆ กัน ติดตั้งอยู่ระหว่างไฟขอบทางวิ่งทั้งสองข้าง หรือ
    • เป็นโคมไฟ 2 กลุ่มที่จัดวางห่างจากเส้นกึ่งกลางทางวิ่งอย่างสมมาตรกัน โดยระยะห่างระหว่าง โคมไฟในแต่ละกลุ่มจะต้องเท่า ๆ กัน และช่องว่างระหว่างกลุ่มโคมไฟจะต้องไม่เกินครึ่งหนึ่งของระยะห่างระหว่างแถวของไฟขอบทางวิ่ง

              สำหรับทางวิ่งแบบพรีซิชั่นประเภทที่สาม การเว้นระยะห่างระหว่างโคมไฟของไฟสิ้นสุดทางวิ่งนั้น ต้องไม่เกิน 6 เมตร ยกเว้นระยะห่างระหว่างโคมไฟที่อยู่ในสุดของแต่ละกลุ่ม ในกรณีที่มีการเว้นช่องว่างระหว่างกลุ่มโคมไฟ

    ลักษณะ (Characteristics)

    5.3.11.4 ไฟสิ้นสุดทางวิ่งจะต้องเป็นไฟส่องสว่างทิศทางเดียว โดยเป็นไฟสีแดงส่องไปยังทิศทางของทางวิ่ง ความเข้มแสงและการกระจายลำแสงของโคมไฟต้องเพียงพอสำหรับการใช้งานในสภาพทัศนวิสัยต่าง ๆ และ ในสภาพที่มีแสงไฟบริเวณโดยรอบรบกวน

    5.3.11.5 ลักษณะของไฟสิ้นสุดทางวิ่งบนทางวิ่งแบบพรีซิชั่นจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Appendix 2 รูปที่ A2-8

     

    รูปที่ 22 การจัดวางไฟหัวทางวิ่งและไฟสิ้นสุดทางวิ่ง

    5.3.12 ไฟกึ่งกลางทางวิ่ง (Runway Centre Line Lights)

    การใช้งาน (Application)

    5.3.12.1 สนามบินต้องจัดให้มีไฟกึ่งกลางทางวิ่งสำหรับทางวิ่งแบบพรีซิชั่นประเภทที่สองหรือประเภทที่สาม

    5.3.12.2 สนามบินต้องจัดให้มีไฟกึ่งกลางทางวิ่งสำหรับทางวิ่งแบบพรีซิชั่นประเภทที่หนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อทางวิ่งใช้รองรับอากาศยานที่ใช้ความเร็วสูงในการบินลงบนทางวิ่ง หรือหากความกว้างระหว่างไฟขอบทางวิ่งมีค่ามากกว่า 50 เมตร

    5.3.12.3 สนามบินต้องจัดให้มีไฟกึ่งกลางทางวิ่งสำหรับทางวิ่งที่มีการใช้งานเพื่อทำการบินขึ้น ในสภาพซึ่งมี ค่าระยะที่นักบินมองเห็นทางวิ่ง (Runway Visual Range) ต่ำกว่า 400 เมตร

    5.3.12.4 สนามบินต้องจัดให้มีไฟกึ่งกลางทางวิ่งสำหรับทางวิ่งที่มีการใช้งานเพื่อทำการบินขึ้น ในสภาพซึ่งมี ค่าระยะที่นักบินมองเห็นทางวิ่ง (Runway Visual Range) เท่ากับ 400 เมตร หรือสูงกว่า เมื่อทางวิ่งดังกล่าว ใช้รองรับอากาศยานที่วิ่งขึ้นด้วยความเร็วสูง โดยเฉพาะเมื่อความกว้างระหว่างไฟขอบทางวิ่งมีค่ามากกว่า 50 เมตร

    ตำแหน่ง (Location)

    5.3.12.5 ไฟกึ่งกลางทางวิ่งต้องติดตั้งอยู่ในตำแหน่งตามเส้นกึ่งกลางทางวิ่ง ยกเว้นในกรณีไม่สามารถติดตั้ง ไฟดังกล่าวบนเส้นกึ่งกลางทางวิ่งได้ โคมไฟอาจขยับออกไปติดตั้งทางด้านข้างของเส้นกึ่งกลางทางวิ่ง โดยระยะห่างต้องไม่เกิน 60 เซนติเมตร ทั้งนี้ โคมไฟจะต้องถูกติดตั้งในตำแหน่งเริ่มจากหัวทางวิ่งไปจนสุดปลายทางวิ่งตามความยาว โดยมีระยะห่างระหว่างโคมไฟประมาณ 15 เมตร สำหรับกรณีที่สนามบินสามารถแสดงให้เห็นว่า ระดับความสามารถในการใช้งานได้ของไฟกึ่งกลางทางวิ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ในการบำรุงรักษาซึ่งกำหนดไว้ในหัวข้อ 10.5.7 หรือ 10.5.11 ตามความเหมาะสม และทางวิ่งมีการใช้งาน ในสภาพซึ่งมีค่าระยะที่นักบินมองเห็นทางวิ่ง (Runway Visual Range) เท่ากับ 350 เมตร หรือมากกว่า ระยะห่างระหว่างโคมไฟตามแนวความยาวทางวิ่งอาจจะมีค่าประมาณ 30 เมตร หากไฟกึ่งกลางทางวิ่งที่มีอยู่เดิม มีระยะห่างระหว่างโคมไฟเท่ากับ 7.5 เมตร สนามบินไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่

    ลักษณะ (Characteristics)

    5.3.12.7 ไฟกึ่งกลางทางวิ่งจะต้องเป็นไฟส่องสว่างคงที่ โดยเป็นไฟสีขาวซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนโทนสีได้ (Variable White) ติดตั้งที่บริเวณหัวทางวิ่งไปจนถึงระยะ 900 เมตรก่อนถึงปลายทางวิ่ง, เป็นไฟแสงสีแดงสลับสีขาวซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนโทนสีได้ ตั้งแต่ระยะ 900 เมตรจนถึง 300 เมตรก่อนถึงปลายทางวิ่ง และเป็นไฟสีแดงทั้งหมด ที่ระยะ 300 เมตรสุดท้ายก่อนถึงปลายทางวิ่ง ยกเว้นในกรณีที่ความยาวทางวิ่งน้อยกว่า 1,800 เมตร ส่วนของ ไฟสลับสีแดงกับสีขาวซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนโทนสีได้จะต้องขยายจากจุดกี่งกลางของทางวิ่งที่ใช้สำหรับร่อนลง ไปจนถึงระยะ 300 เมตรสุดท้ายก่อนถึงปลายทางวิ่ง ทั้งนี้ สนามบินต้องมีการพิจารณาในเรื่องการออกแบบระบบไฟฟ้า เพื่อให้แน่ใจว่าเมื่อส่วนหนึ่งส่วนใดของระบบไฟฟ้ามีการชำรุดเสียหายแล้วนั้น จะไม่ก่อให้เกิดการแสดงข้อมูลระยะทางของทางวิ่งที่เหลืออยู่ที่ผิดพลาด

    5.3.12.8 ไฟกึ่งกลางทางวิ่งต้องมีลักษณะเป็นไปตามข้อกำหนดในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Appendix 2 รูปที่ A2-6 หรือ A2-7

    รูปที่ 23 ตัวอย่างไฟนำร่องและไฟทางวิ่ง สำหรับทางวิ่งที่หัวทางวิ่งถูกเลื่อนออกไป

    5.3.13 ไฟแสดงเขตจุดแตะพื้นทางวิ่ง (Runway Touchdown Zone Light)

    การใช้งาน (Application)

    5.3.13.1 สนามบินต้องจัดให้มีไฟแสดงเขตจุดแตะพื้นบนทางวิ่งแบบพรีซิชั่นประเภทที่สองหรือประเภทที่สาม

    ตำแหน่ง (Location)

    5.3.13.2 ไฟแสดงเขตจุดแตะพื้นทางวิ่งต้องเริ่มจากหัวทางวิ่งไปตามแนวยาวไปจนถึงระยะทาง 900 เมตร ยกเว้นกรณีที่ทางวิ่งมีความยาวน้อยกว่า 1,800 เมตร ระบบไฟจะต้องสั้นลงเพื่อไม่ให้มีความยาวเกินจุดกึ่งกลางของความยาวทางวิ่ง โดยรูปแบบการจัดวางจะต้องมีลักษณะเป็นไฟแบบแถบ (Barrette) ติดตั้งคู่กัน ห่างจากเส้นกึ่งกลางทางวิ่งอย่างสมมาตรกัน และระยะห่างตามแนวขวางระหว่างโคมไฟที่อยู่ด้านในสุดของไฟแบบแถบทั้งสองจะต้องเท่ากับ ระยะห่างตามแนวขวางที่ใช้สำหรับการทำเครื่องหมายเขตจุดแตะพื้น ส่วนระยะห่าง ตามแนวยาวระหว่างไฟแบบแถบจะต้องเท่ากับ 30 เมตร หรือ 60 เมตร อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ เพื่อให้ อากาศยานสามารถปฏิบัติการบินในสภาพทัศนวิสัยต่ำได้ สนามบินต้องเลือกใช้ค่าระยะห่างตามแนวยาวระหว่างไฟแบบแถบเท่ากับ 30 เมตร

    ลักษณะ (Characteristics)

    5.3.13.3 ไฟแถบต้องประกอบด้วยไฟอย่างน้อย 3 ดวง โดยมีระยะห่างระหว่างดวงไฟไม่เกิน 1.5 เมตร

    5.3.13.4 ไฟแถบจะต้องมีความยาวไม่น้อยกว่า 3 เมตร และไม่เกิน 4.5 เมตร

    5.3.13.5 ไฟแสดงเขตจุดแตะพื้นจะต้องเป็นไฟส่องสว่างคงที่ไปในทิศทางเดียว (Fixed Unidirectional Light) โดยเป็นไฟสีขาวซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนโทนสีได้ (Variable White)

    5.3.13.6 ลักษณะของไฟแสดงเขตจุดแตะพื้นจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Appendix 2 รูปที่ A2-5

    5.3.14 ไฟแสดงเขตจุดแตะพื้นแบบพื้นฐาน (Simple Touchdown Zone Light)

    การใช้งาน (Application)

    5.3.14.1 สนามบินต้องจัดให้มีไฟแสดงเขตจุดแตะพื้นแบบพื้นฐาน ยกเว้นในกรณีที่มีการติดตั้งไฟแสดง เขตจุดแตะพื้นตามข้อ 5.3.13 เนื่องจากมุมร่อน (Approach Angle) มีค่ามากกว่า 3.5 องศา และ/หรือ ความยาวแอลดา (Landing Distance Available) รวมถึงตัวแปรอื่น ๆ ทำให้ความเสี่ยงของการวิ่งเลยออกนอกทางวิ่งเพิ่มมากขึ้น

    ตำแหน่ง (Location)

    5.3.14.2 ไฟแสดงเขตจุดแตะพื้นแบบพื้นฐานจะต้องเป็นไฟคู่ซึ่งติดตั้งอยู่ในแต่ละด้านของเส้นกึ่งกลางทางวิ่ง ห่างจากขอบของเครื่องหมายเขตจุดแตะพื้น 0.3 เมตร โดยช่องว่างระหว่างโคมไฟดวงในสุดของไฟคู่ทั้งสองด้านต้องเท่ากับช่องว่างของเครื่องหมายเขตจุดแตะพื้น และช่องว่างระหว่างโคมไฟที่อยู่คู่กันจะต้องไม่เกิน 1.5 เมตร หรือครึ่งหนี่งของความกว้างของเครื่องหมายเขตจุดแตะพื้น แล้วแต่ค่าใดจะมากกว่า (ดูรูปที่ 24)

    5.3.14.3 หากบนทางวิ่งไม่มีเครื่องหมายเขตจุดแตะพื้นทางวิ่ง (Touchdown Zone Marking) สนามบินต้องติดตั้งไฟแสดงเขตจุดแตะพื้นแบบพื้นฐานให้เป็นไปในลักษณะที่สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับเขตจุดแตะพื้นทางวิ่ง ที่เทียบเท่ากันได้

    ลักษณะ (Characteristics)

    5.3.14.4 ไฟแสดงเขตจุดแตะพื้นแบบพื้นฐานต้องเป็นไฟส่องสว่างคงที่ไปในทิศทางเดียว (Fixed Unidirectional Light) โดยเป็นไฟสีขาวซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนโทนสีได้ (Variable White) จัดวางในลักษณะที่ทำให้นักบิน ที่กำลังทำการบินลงสามารถมองเห็นไฟดังกล่าวได้ในทิศทางของการร่อนลงสู่ทางวิ่ง

    5.3.14.5 ลักษณะของไฟแสดงเขตจุดแตะพื้นแบบพื้นฐานจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Appendix 2 รูปที่ A2-5 ทั้งนี้ ไฟแสดงเขตจุดแตะพื้นแบบพื้นฐานอาจมีแหล่งจ่ายไฟฟ้าที่แยกวงจรออกจากไฟทางวิ่งอื่น ๆ เพื่อที่จะสามารถใช้งานไฟแสดงเขตจุดแตะพื้นดังกล่าวได้ เมื่อระบบไฟอื่น ๆ ปิดอยู่

    รูปที่ 24 ไฟแสดงเขตจุดแตะพื้นแบบพื้นฐาน

    5.3.15 ไฟแสดงทางขับออกด่วน (Rapid Exit Taxiway Indicator Lights - RETILs)

    การใช้งาน (Application)

    5.3.15.1 สนามบินต้องจัดให้มีไฟแสดงทางขับออกด่วนบนทางวิ่งที่มีการใช้งานในสภาพที่มีค่าระยะที่นักบินมองเห็นทางวิ่ง (Runway Visual Range) น้อยกว่า 350 เมตร และ/หรือในสนามบินที่มีปริมาณการจราจรสูง โดยรายละเอียดเพิ่มเติมในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Attachment A, Section 15

    5.3.15.2 สนามบินจะต้องไม่เปิดไฟแสดงทางขับออกด่วนเพื่อใช้งานในกรณีที่มีโคมไฟใดโคมไฟหนึ่งเสีย หรือระบบไฟดังกล่าวเกิดการชำรุดเสียหายอื่น ๆ ซึ่งทำให้ไม่สามารถแสดงรูปแบบของไฟได้อย่างครบถ้วนตาม รูปที่ 25

    ตำแหน่ง (Location)

    5.3.15.3 กลุ่มของไฟแสดงทางขับออกด่วนจะต้องติดตั้งบนทางวิ่งทางด้านข้างของไฟกึ่งกลางทางวิ่งซึ่งเป็น ด้านที่มีทางขับออกด่วนอยู่ ตามรูปแบบการจัดวางที่แสดงไว้ในรูปที่ 25 โดยในแต่ละกลุ่มของไฟ โคมไฟต้องติดตั้งห่างกัน 2 เมตร และโคมไฟที่อยู่ใกล้กับเส้นกึ่งกลางทางวิ่งที่สุด จะต้องอยู่ห่างจากเส้นกึ่งกลางทางวิ่งเป็นระยะทาง 2 เมตร

    5.3.15.4 ในกรณีที่บนทางวิ่งมีทางขับออกด่วนมากกว่า 1 เส้น กลุ่มของไฟแสดงทางขับออกด่วนสำหรับแต่ละทางออกจะต้องไม่ทับซ้อนกันเมื่อเปิดใช้งาน

    รูปที่ 25 ไฟแสดงทางขับออกด่วน

    ลักษณะ (Characteristics)

    5.3.15.5 ไฟแสดงทางขับออกด่วนจะต้องเป็นไฟส่องสว่างคงที่ไปในทิศทางเดียว (Fixed Unidirectional Light) โดยเป็นไฟสีเหลือง จัดวางในลักษณะที่ทำให้นักบินที่กำลังทำการบินลงสามารถมองเห็นไฟดังกล่าวได้ในทิศทางของการร่อนลงสู่ทางวิ่ง

    5.3.15.6 ลักษณะของไฟแสดงทางขับออกด่วนจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Appendix 2 รูปที่ A2-6 หรือรูปที่ A2-7 ตามความเหมาะสม

    5.3.16 ไฟขอบทางหยุด (Stopway lights)

    การใช้งาน (Application)

    5.3.16.1 สนามบินต้องจัดให้มีไฟขอบทางหยุดบนทางหยุดที่มีการใช้งานในเวลากลางคืน

    ตำแหน่ง (Location)

    5.3.16.2 ไฟขอบทางหยุดต้องถูกติดตั้งตลอดความยาวของทางหยุด มีลักษณะเป็นไฟแถวสองแถวซึ่งขนานกัน โดยมีระยะห่างจากเส้นกึ่งกลางเท่ากันและอยู่ในแนวเดียวกันกับไฟขอบทางวิ่ง นอกจากนี้ ไฟขอบทางหยุดจะต้องถูกติดตั้งที่บริเวณจุดสิ้นสุดของทางหยุดในลักษณะตัดขวางและตั้งฉากกับแกนของทางหยุด โดยจะต้องติดตั้งใกล้กับจุดสิ้นสุดของทางหยุดมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และในกรณีใด ๆ ก็ตาม ต้องไม่อยู่ห่างเกิน 3 เมตร จากปลายสุดของทางหยุด

    ลักษณะ (Characteristics)

    5.3.16.3 ไฟขอบทางหยุดจะต้องเป็นไฟส่องสว่างคงที่ไปในทิศทางเดียว (Fixed Unidirectional Light) โดยเป็น ไฟสีแดงส่องเข้าหาทางวิ่ง

    5.3.17 ไฟกึ่งกลางทางขับ (Taxiway Center Line Light)

    การใช้งาน (Application)

    5.3.17.1 สนามบินจะต้องจัดให้มีไฟกึ่งกลางทางขับบนทางขับออก (Exit Taxiway)  ทางขับ และลานจอดอากาศยานที่มีการใช้งานในสภาพที่มีค่าระยะที่นักบินมองเห็นทางวิ่ง (Runway Visual Range) น้อยกว่า 350 เมตร เพื่อให้เกิดการนำทางที่ต่อเนื่องจากเส้นกึ่งกลางทางวิ่งไปยังหลุมจอดอากาศยาน ยกเว้นในกรณีที่ไม่มี ความจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีไฟดังกล่าว เมื่อสนามบินมีปริมาณการจราจรที่เบาบาง และไฟขอบทางขับและเครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางขับที่มีอยู่นั้น เพียงพอต่อการนำทางอากาศยาน

    5.3.17.2 สนามบินจะต้องจัดให้มีไฟกึ่งกลางทางขับบนทางขับที่มีการใช้งานในเวลากลางคืน ขณะที่มีค่าระยะที่นักบินมองเห็นทางวิ่ง (Runway Visual Range) เท่ากับ 350 เมตร หรือมากกว่า และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่บริเวณจุดตัดของทางขับที่มีความซับซ้อน และทางขับที่ใช้เป็นทางออก ยกเว้นในกรณีที่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีไฟดังกล่าว เมื่อสนามบินมีปริมาณการจราจรที่เบาบาง และไฟขอบทางขับและเครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางขับที่มีอยู่นั้น เพียงพอต่อการนำทางอากาศยาน ทั้งนี้ หากต้องการแสดงตำแหน่งของขอบทางขับ เช่น บนทางขับ ออกด่วน หรือ ทางขับแคบ สนามบินสามารถจัดให้มีไฟขอบทางขับหรือวัตถุที่ใช้แสดงขอบทางขับได้

    5.3.17.3 สนามบินจะต้องจัดให้มีไฟกึ่งกลางทางขับบนทางขับออก (Exit Taxiway)  ทางขับ และลานจอด เพื่อใช้งานในทุกสภาพทัศนวิสัย เมื่อไฟดังกล่าวถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบนำทางและควบคุมการเคลื่อนที่ของอากาศยานและยานพาหนะบนภาคพื้นขั้นสูง (Advanced Surface Movement Guidance and Control System) เพื่อให้เกิดการนำทางที่ต่อเนื่องจากเส้นกึ่งกลางทางวิ่งไปยังหลุมจอดอากาศยาน

    5.3.17.4 สนามบินจะต้องจัดให้มีไฟกึ่งกลางทางขับบนทางวิ่งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางมาตรฐานในการขับเคลื่อน (Standard Taxi-Route) และมีการใช้งานในขณะที่มีค่าระยะที่นักบินมองเห็นทางวิ่ง (Runway Visual Range) ต่ำกว่า 350 เมตร ยกเว้นในกรณีที่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีไฟดังกล่าว เมื่อสนามบินมีปริมาณการจราจรที่เบาบาง และไฟขอบทางขับและเครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางขับที่มีอยู่นั้น เพียงพอต่อการนำทางอากาศยาน ทั้งนี้ สำหรับข้อกำหนดเกี่ยวกับการอินเตอร์ล็อค (Interlock) ระหว่างระบบไฟทางขับและไฟทางวิ่งอยู่ในข้อ 8.2.3

    5.3.17.5 สนามบินจะต้องจัดให้มีไฟกึ่งกลางทางขับบนทางวิ่งที่เป็นเส้นทางมาตรฐานในการขับเคลื่อน (Standard Taxi-Route) เพื่อใช้งานในทุกสภาพทัศนวิสัย และไฟดังกล่าวถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบนำทางและควบคุมการเคลื่อนที่ของอากาศยานและยานพาหนะบนภาคพื้นขั้นสูง (Advanced Surface Movement Guidance and Control System)

    ลักษณะ (Characteristics)

    5.3.17.6 ไฟกึ่งกลางทางขับที่ติดตั้งอยู่บนทางขับซึ่งนอกเหนือไปจากทางขับออกและทางวิ่งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางมาตรฐานในการขับเคลื่อน (Standard Taxi-Route) จะต้องเป็นไฟส่องสว่างคงที่สีเขียว และมีขนาดของลำแสงในลักษณะที่ทำให้แสงของไฟนั้นสามารถมองเห็นได้เฉพาะจากอากาศยานที่อยู่บนหรือบริเวณใกล้เคียงทางขับเท่านั้น ยกเว้นในกรณีจำเป็นตามที่กำหนดไว้ในข้อ 5.3.17.8

    5.3.17.7 ไฟกึ่งกลางทางขับบนทางขับออก จะต้องเป็นไฟส่องสว่างคงที่ โดยเป็นไฟสีสลับกันระหว่างสีเขียวกับ สีเหลืองจากจุดเริ่มต้นที่อยู่ใกล้กับเส้นกึ่งกลางทางวิ่งไปจนถึงขอบของพื้นที่วิกฤต/อ่อนไหวของ ILS/MLS หรือขอบล่างของพื้นผิวลาดเอียงชั้นใน แล้วแต่ว่าอย่างใดอยู่ไกลจากทางวิ่งที่สุด และหลังจากนั้น โคมไฟทุกดวงจะต้องเป็นไฟสีเขียวตามรูปที่ 26 ทั้งนี้ โคมไฟดวงแรกของไฟกึ่งกลางทางขับบนทางขับออกจะต้องเป็นสีเขียว และไฟที่อยู่ใกล้ขอบของพื้นที่วิกฤต/อ่อนไหวของ ILS/MLS ที่สุด จะต้องเป็นสีเหลือง โดยสนามบินจำเป็นต้องมีการจำกัดการกระจายแสงสีเขียวบนทางวิ่งหรือบริเวณใกล้กับทางวิ่ง เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนที่อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากเข้าใจว่าเป็นไฟหัวทางวิ่งซึ่งมีสีเขียวเหมือนกัน

              รายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะของแผ่นกรองแสงสีเหลืองจะอยู่ในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Appendix 1, 2.2

              ขนาดของพื้นที่วิกฤต/อ่อนไหวของระบบการบินลงด้วยเครื่องวัดประกอบการบิน (ILS)/ระบบการบินลงด้วยคลื่นไมโครเวฟ (MLS) จะขึ้นอยู่กับลักษณะของระบบการบินลงด้วยเครื่องวัดประกอบการบิน (ILS)/ ระบบการบินลงด้วยคลื่นไมโครเวฟ (MLS) ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ โดยคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องนี้จะอยู่ใน Annex 10, Volume I, Attachment C และ G

    5.3.17.9 ไฟกึ่งกลางทางขับ จะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดใน

    • คู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Appendix 2 รูปที่ A2-12, A2-13 หรือ A2-14 สำหรับทางขับซึ่งมีการใช้งานในสภาพที่ค่าระยะที่นักบินมองเห็นทางวิ่ง (Runway Visual Range) น้อยกว่า 350 เมตร และ
    • คู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Appendix 2 รูปที่ A2-15 หรือ A2-16 สำหรับทางขับอื่น ๆ

    5.3.17.10 ในกรณีที่มุมมองของผู้ปฏิบัติการเห็นว่าสนามบินจำเป็นต้องใช้ไฟที่มีความเข้มแสงสูง ไฟกึ่งกลาง ทางขับบนทางขับออกด่วนที่มีการใช้งานในขณะที่มีค่าระยะที่นักบินมองเห็นทางวิ่ง (Runway Visual Range) ต่ำกว่า 350 เมตร จะต้องมีคุณสมบัติเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Appendix 2 รูปที่ A2-12 โดยการตั้งค่าระดับความเข้มแสงสำหรับไฟดังกล่าวจะต้องเป็นค่าระดับเดียวกันกับค่าของไฟกึ่งกลางทางวิ่ง

    5.3.17.11 ในกรณีที่ไฟกึ่งกลางทางขับถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบนำทางและควบคุมการเคลื่อนที่ของอากาศยานและยานพาหนะบนภาคพื้นขั้นสูง (Advanced Surface Movement Guidance and Control System) และจากมุมมองของผู้ปฏิบัติการเห็นว่า สนามบินจำเป็นต้องใช้ไฟที่มีความเข้มแสงสูง เพื่อรักษาความเร็วในการเคลื่อนที่บนภาคพื้นดินในขณะที่มีสภาพทัศนวิสัยต่ำหรือในช่วงเวลากลางวันที่มีแสงสว่างจ้า ไฟกึ่งกลางทางขับจะต้องมีคุณสมบัติเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Appendix 2 รูปที่ A2-17, A2-18 หรือ A2-19 ทั้งนี้ ไฟกึ่งกลางทางขับที่มีความเข้มแสงสูง ต้องใช้เฉพาะในกรณีที่มีความจำเป็นเท่านั้น และการใช้งานให้เป็นไปตามการศึกษาเฉพาะกรณี

    ตำแหน่ง (Location)

    5.3.17.12 โดยปกติ ไฟกึ่งกลางทางขับจะต้องติดตั้งอยู่บนเครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางขับ เว้นแต่ว่า ไฟดังกล่าวอาจจะขยับไปติดตั้งทางด้านข้างได้ในระยะไม่เกิน 30 เซนติเมตร ในกรณีที่ไม่สามารถติดตั้งไฟบนเครื่องหมายได้

    รูปที่ 26 ไฟทางขับ

     

     

    ไฟกึ่งกลางทางขับบนทางขับ (Taxiway Centre Line Light on Taxiway)

    ตำแหน่ง (Location)

    5.3.17.13 ไฟกึ่งกลางทางขับซึ่งติดตั้งอยู่บนส่วนที่เป็นเส้นตรงของทางขับจะต้องมีการเว้นระยะห่างตามแนวยาวระหว่างโคมไฟไม่เกิน 30 เมตร ยกเว้น

    • อาจมีการเว้นระยะห่างที่มากขึ้น แต่ไม่เกิน 60 เมตร ในกรณีที่ระยะห่างนั้นเพียงพอต่อการนำทางในสภาพอากาศโดยทั่วไปของสนามบิน
    • อาจมีการเว้นระยะห่างน้อยกว่า 30 เมตร เมื่อส่วนที่เป็นเส้นตรงนั้นมีระยะทางสั้น ๆ และ
    • บนทางขับที่มีการใช้งานในขณะที่มีค่าระยะที่นักบินมองเห็นทางวิ่ง (Runway Visual Range) ต่ำกว่า 350 เมตร ระยะห่างตามแนวยาวต้องไม่เกิน 15 เมตร

    5.3.17.14 ไฟกึ่งกลางทางขับซึ่งติดตั้งอยู่บนส่วนโค้งของทางขับจะต้องมีความต่อเนื่องจากส่วนที่เป็นเส้นตรง และมีระยะห่างคงที่จากขอบด้านนอกของส่วนโค้ง นอกจากนี้ โคมไฟแต่ละโคมจะต้องมีการเว้นระยะห่างกัน ในลักษณะที่จะสามารถแสดงให้เห็นทางโค้งได้อย่างชัดเจน

    5.3.17.15 บนทางขับที่มีการใช้งานในขณะที่มีค่าระยะที่นักบินมองเห็นทางวิ่ง (Runway Visual Range) ต่ำกว่า 350 เมตร โคมไฟที่ติดตั้งอยู่บนส่วนโค้งจะต้องมีการเว้นระยะห่างกันไม่เกิน 15 เมตร และบนทางโค้งที่มีรัศมีส่วนโค้งน้อยกว่า 400 เมตร โคมไฟจะต้องมีการเว้นระยะห่างไม่เกิน 7.5 เมตร โดยระยะห่างนี้จะต้องยาวออกไปเป็นระยะทาง 60 เมตรก่อนหรือหลังส่วนโค้ง

              การเว้นระยะห่างของโคมไฟบนส่วนโค้งที่เหมาะสมสำหรับทางขับซึ่งมีการใช้งานในสภาพที่ค่าระยะ ที่นักบินมองเห็นทางวิ่ง (Runway Visual Range) เท่ากับ 350 เมตร หรือมากกว่า ให้เป็นไปตามรายละเอียดดังต่อไปนี้

    รัศมีส่วนโค้ง                                   ระยะห่างของโคมไฟ

    จนถึง 400 เมตร                              7.5 เมตร

    401 เมตร ถึง 899 เมตร                     15 เมตร

    900 เมตร หรือ มากกว่า                     30 เมตร

    ทั้งนี้ ให้ดูข้อ 3.9.5 และรูปที่ 3-2

    ไฟกึ่งกลางทางขับบนทางขับออกด่วน (Taxiway Centre Line Light on Rapid Exit Taxiway)

    ตำแหน่ง (Location)

    5.3.17.16 ไฟกึ่งกลางทางขับบนทางขับออกด่วนจะต้องเริ่มต้นที่ระยะอย่างน้อย 60 เมตรก่อนจุดเริ่มต้นส่วนโค้งของเส้นกึ่งกลางทางขับ และต่อเนื่องเลยจุดสิ้นสุดส่วนโค้งไปจนถึงจุดบนเส้นกึ่งกลางทางขับซึ่งคาดว่าอากาศยานจะมีความเร็วปกติในการขับเคลื่อน นอกจากนี้ โคมไฟของไฟกึ่งกลางทางขับส่วนที่ขนานกับเส้นกึ่งกลางทางวิ่งจะต้องมีระยะห่างอย่างน้อย 60 เซนติเมตรจากแถวของไฟกึ่งกลางทางวิ่ง ตามรูปที่ 27

    5.3.17.17 โคมไฟแต่ละโคมจะต้องมีการเว้นระยะห่างกันตามแนวยาวไม่เกิน 15 เมตร ยกเว้นในกรณีที่สนามบินไม่ได้จัดให้มีไฟกึ่งกลางทางวิ่ง อาจมีการเว้นระยะห่างที่เพิ่มมากขึ้นได้แต่ไม่เกิน 30 เมตร

     

    ไฟกึ่งกลางทางขับบนทางขับออกอื่น ๆ (Taxiway Centre Line Light on other Exit Taxiways)

    ตำแหน่ง (Location)

    5.3.17.18 ไฟกึ่งกลางทางขับบนทางขับออกอื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากทางขับออกด่วน จะต้องเริ่มต้นติดตั้งที่ จุดซึ่งเครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางขับเริ่มต้นโค้งออกจากเส้นกึ่งกลางทางวิ่ง และต่อเนื่องไปตามส่วนโค้งของเครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางขับไปจนถึงจุดที่เครื่องหมายพ้นออกจากทางวิ่งเป็นอย่างน้อย ทั้งนี้ โคมไฟดวงแรกจะต้องมีระยะห่างอย่างน้อย 60 เซนติเมตรจากแถวของไฟกึ่งกลางทางวิ่ง ตามรูปที่ 27

    5.3.17.19 การเว้นระยะห่างระหว่างโคมไฟตามแนวยาวต้องไม่เกิน 7.5 เมตร

    ไฟกึ่งกลางทางขับบนทางวิ่ง (Taxiway Centre Line Light on Runway)

    ตำแหน่ง (Location)

    5.3.17.20 ไฟกึ่งกลางทางขับบนทางวิ่งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางมาตรฐานในการขับเคลื่อน (Standard Taxi-Route) และมีการใช้งานในขณะที่มีค่าระยะที่นักบินมองเห็นทางวิ่ง (Runway Visual Range) ต่ำกว่า 350 เมตร จะต้องมีการเว้นระยะห่างระหว่างโคมไฟตามแนวยาวไม่เกิน 15 เมตร

    รูปที่ 27 การขยับไฟกึ่งกลางทางวิ่งและไฟกึ่งกลางทางขับไปติดตั้งทางด้านข้าง

    5.3.18 ไฟขอบทางขับ (Taxiway Edge Light)

    การใช้งาน (Application)

    5.3.18.1 สนามบินต้องจัดให้มีไฟขอบทางขับที่บริเวณขอบของลานกลับลำอากาศยาน (Runway Turn Pad) ลานหยุดคอย (Holding Bay) ลานจอดอากาศยาน (Apron) และบริเวณอื่น ๆ ที่มีการใช้งานในเวลากลางคืน และบนทางขับที่ไม่มีไฟกึ่งกลางทางขับและมีการใช้งานในเวลากลางคืน ยกเว้นเมื่อมีการพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมของการปฏิบัติการแล้วพบว่า สนามบินไม่จำเป็นต้องจัดให้มีไฟขอบทางขับ เนื่องจากมีการนำทางที่เพียงพอโดยแสงไฟที่พื้นหรือวิธีอื่น ๆ ทั้งนี้ รายละเอียดเกี่ยวกับวัตถุแสดงขอบทางขับ (Taxiway Edge Marker) จะอยู่ในหัวข้อ 5.5.5

    5.3.18.2 สนามบินต้องจัดให้มีไฟขอบทางขับบนทางวิ่งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางมาตรฐานในการขับเคลื่อน (Standard Taxi-Route) และมีการใช้งานในเวลากลางคืน กรณีที่ทางวิ่งไม่มีไฟกึ่งกลางทางขับ ทั้งนี้ สำหรับข้อกำหนดเกี่ยวกับการอินเตอร์ล็อค (Interlock) ระหว่างระบบไฟทางวิ่งและระบบไฟทางขับ จะอยู่ในหัวข้อ 8.2.3

    ตำแหน่ง (Location)

    5.3.18.3 ไฟขอบทางขับซึ่งติดตั้งอยู่บนส่วนที่เป็นเส้นตรงของทางขับ และบนทางวิ่งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางมาตรฐานในการขับเคลื่อน (Standard Taxi-Route) จะต้องมีการเว้นระยะห่างระหว่างโคมไฟตามแนวยาว ที่เท่ากันโดยไม่เกิน 60 เมตร และสำหรับโคมไฟซึ่งติดตั้งอยู่บนส่วนโค้งต้องมีการเว้นระยะห่างน้อยกว่า 60 เมตร เพื่อที่จะแสดงให้เห็นทางโค้งได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ คำแนะนำเกี่ยวกับการเว้นระยะห่างระหว่างไฟขอบทางขับ บนส่วนโค้งจะอยู่ใน Aerodrome Design Manual (Doc 9157), Part 4

    5.3.18.4 ไฟขอบทางขับที่อยู่บนลานหยุดคอย ลานจอดอากาศยาน และบริเวณอื่น ๆ ต้องมีการเว้นระยะห่างระหว่างไฟแต่ละดวงเป็นระยะเท่า ๆ กัน โดยไม่เกิน 60 เมตร

    5.3.18.5 ไฟขอบทางขับที่อยู่บนลานกลับลำอากาศยานต้องมีการเว้นระยะห่างระหว่างไฟแต่ละดวงเป็นระยะเท่า ๆ กัน โดยไม่เกิน 30 เมตร

    5.3.18.6 สนามบินต้องติดตั้งไฟขอบทางขับบริเวณใกล้กับขอบทางขับ ลานกลับลำอากาศยาน ลานหยุดคอย ลานจอดอากาศยาน หรือทางวิ่ง มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ หรือติดตั้งห่างออกไปทางด้านนอกของขอบทางไม่เกิน 3 เมตร

    ลักษณะ (Characteristics)

    5.3.18.7 ไฟขอบทางขับต้องเป็นไฟส่องสว่างคงที่ (Fixed Light) สีน้ำเงิน โดยทิศทางของแสงจะต้องทำมุม อย่างน้อย 75 องศาเหนือแนวระดับ และส่องสว่างในทุกทิศทางของมุมแอซิมัทที่มีความจำเป็นต่อการนำทางนักบินซึ่งกำลังทำการขับเคลื่อนอากาศยาน (Taxiing) ไปในทิศทางต่าง ๆ ทั้งนี้ ที่บริเวณจุดตัด ทางออก หรือ ทางโค้ง โคมไฟจะต้องถูกพลางแสงเท่าที่จะสามารถทำได้ เพื่อทำให้ไฟดังกล่าวจะไม่ถูกมองเห็นจากทิศทางของมุมแอซิมัทที่อาจก่อให้เกิดความสับสนกับระบบไฟอื่น ๆ

    5.3.18.8 ความเข้มแสงของไฟขอบทางขับจะต้องมีค่าอย่างน้อย 2 แคนเดลา (cd) ทำมุมตั้งแต่ 0 ถึง 6 องศา ในแนวดิ่ง และมีค่า 0.2 แคนเดลา (cd) ทำมุมระหว่าง 6 องศา และ 75 องศา ในแนวดิ่ง

     

     

     

    5.3.19 ไฟลานกลับลำอากาศยาน (Runway Turn Pad Light)

    การใช้งาน (Application)

    5.3.19.1 สนามบินต้องจัดให้มีไฟลานกลับลำอากาศยานเพื่อเป็นการนำทางอากาศยานอย่างต่อเนื่องบน ลานกลับลำอากาศยานซึ่งมีการใช้งานในขณะที่มีค่าระยะที่นักบินมองเห็นทางวิ่ง (Runway Visual Range) ต่ำกว่า 350 เมตร เพื่อให้อากาศยานสามารถกลับลำบนทางวิ่งได้ 180 องศาและตั้งลำบนเส้นกึ่งกลางทางวิ่งได้

    5.3.19.2 สนามบินต้องจัดให้มีไฟลานกลับลำอากาศยานบนลานกลับลำอากาศยานที่มีการใช้งานในเวลากลางคืน

    ตำแหน่ง (Location)

    5.3.19.3 โดยปกติ ไฟลานกลับลำอากาศยานจะต้องติดตั้งบนเครื่องหมายลานกลับลำอากาศยาน ยกเว้นในกรณีที่ไม่สามารถติดตั้งไฟบนเครื่องหมายได้ ไฟดังกล่าวสามารถขยับไปติดตั้งทางด้านข้างได้ในระยะไม่เกิน 30 เซนติเมตร

    5.3.19.4 การติดตั้งไฟลานกลับลำอากาศยานบนส่วนเส้นตรงของเครื่องหมายลานกลับลำอากาศยานจะต้องมีการเว้นระยะห่างระหว่างดวงไฟไม่เกิน 15 เมตร

    5.3.19.5 การติดตั้งไฟลานกลับลำอากาศยานบนส่วนโค้งของเครื่องหมายลานกลับลำอากาศยานต้องมีการเว้นระยะห่างระหว่างดวงไฟไม่เกิน 7.5 เมตร

    ลักษณะ (Characteristics)

    5.3.19.6 ไฟลานกลับลำอากาศยานจะต้องเป็นไฟส่องสว่างคงที่ไปในทิศทางเดียว (Fixed Unidirectional Light) โดยเป็นไฟสีเขียวซึ่งมีขนาดของลำแสงเป็นไปในลักษณะที่ทำให้สามารถมองเห็นแสงดังกล่าวได้เฉพาะจากอากาศยานที่อยู่บนลานกลับลำ หรืออากาศยานที่กำลังเข้าสู่ลานกลับลำ

    5.3.19.7 ไฟลานกลับลำอากาศยานจะต้องมีลักษณะเป็นไปตามข้อกำหนดในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Appendix 2 รูปที่ A2-13, A2-14 หรือ A2-15

    5.3.20 แถบไฟหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่ง (Stop Bar)

    การใช้งาน (Application)

    (Note 1) แถบไฟหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งจะต้องสามารถควบคุมด้วยมือ (Manually) หรือควบคุมแบบอัตโนมัติ (Automatically) อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยผู้ให้บริการการจราจรทางอากาศ

    (Note 2) การรุกล้ำเข้าไปในทางวิ่งอาจเกิดขึ้นได้ในทุกสภาพทัศนวิสัยหรือทุกสภาพอากาศ การจัดให้มีแถบไฟหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งที่ตําแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งที่มีการใช้งานในเวลากลางคืน และในสภาพที่มี ค่าระยะที่นักบินมองเห็นทางวิ่ง (Runway Visual Range) มากกว่า 550 เมตรนั้น ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการป้องกันการรุกล้ำเข้าไปในทางวิ่งที่มีประสิทธิภาพ

    5.3.20.1 สนามบินจะต้องจัดให้มีแถบไฟหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งที่บริเวณตําแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่ง ทุกตำแหน่ง เมื่อทางวิ่งมีการใช้งานในสภาพที่มีค่าระยะที่นักบินมองเห็นทางวิ่ง (Runway Visual Range) ต่ำกว่า 350 เมตร ยกเว้น เมื่อ

    • มีเครื่องช่วยในการเดินอากาศและกระบวนการที่เหมาะสม เพื่อช่วยป้องกันการรุกล้ำเข้าไปใน ทางวิ่งโดยไม่ตั้งใจ หรือ
    • ในกรณีที่มีค่าระยะที่นักบินมองเห็นทางวิ่ง (Runway Visual Range) ต่ำกว่า 550 เมตร สนามบินมีกระบวนการในการจำกัดจำนวนของ
      • อากาศยานบนพื้นที่ขับเคลื่อน ครั้งละ 1 ลำ และ
      • ยานพาหนะบนพื้นที่ขับเคลื่อนให้มีน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น

    5.3.20.2 สนามบินจะต้องจัดให้มีแถบไฟหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งที่บริเวณตําแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่ง ทุกตำแหน่ง เมื่อทางวิ่งมีการใช้งานในสภาพที่มีค่าระยะที่นักบินมองเห็นทางวิ่ง (Runway Visual Range) อยู่ ระหว่าง 350 เมตร และ 550 เมตร ยกเว้น เมื่อ

    • มีเครื่องช่วยในการเดินอากาศและกระบวนการที่เหมาะสม เพื่อช่วยป้องกันการรุกล้ำเข้าไปใน ทางวิ่งโดยไม่ตั้งใจ หรือ
    • ในกรณีที่มีค่าระยะที่นักบินมองเห็นทางวิ่ง (Runway Visual Range) ต่ำกว่า 550 เมตร สนามบินมีกระบวนการในการจำกัดจำนวนของ
      • อากาศยานบนพื้นที่ขับเคลื่อน ครั้งละ 1 ลำ และ
      • ยานพาหนะบนพื้นที่ขับเคลื่อนให้มีน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น

      5.3.20.3 ในกรณีที่มีแถบไฟหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งมากกว่าหนึ่งแถบ ติดตั้งอยู่ที่บริเวณจุดตัดกันของทางขับและทางวิ่งแห่งเดียวกัน จะต้องมีแถบไฟเพียงแถบเดียวที่ติดสว่าง ไม่ว่าในเวลาใดก็ตาม

      5.3.20.4 สนามบินจะต้องจัดให้มีแถบไฟหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งที่ตําแหน่งหยุดคอยเข้าทางขับ (Intermediate Holding Position) ในกรณีที่ต้องการเสริมการทำเครื่องหมายด้วยการติดตั้งไฟ และใช้ในการให้สัญญาณไฟ เพื่อควบคุมการจราจร

      ตำแหน่ง (Location)

      5.3.20.5 แถบไฟหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งจะต้องติดตั้งในแนวตัดขวางทางขับบนจุดที่ต้องการให้อากาศยาน หยุดการจราจร ในกรณีที่มีการติดตั้งไฟเพิ่มเติมตามที่ระบุในข้อ 5.3.20.7 ไฟที่ติดตั้งเพิ่มเติมนั้นจะต้องอยู่ ในตำแหน่งห่างจากขอบทางขับไม่น้อยกว่า 3 เมตร

      ลักษณะ (Characteristics)

      5.3.20.6 แถบไฟหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งจะต้องประกอบด้วยดวงไฟซึ่งจัดวางในแนวตัดขวางทางขับและ มีการเว้นระยะห่างระหว่างดวงไฟไม่เกิน 3 เมตร โดยเป็นไฟสีแดงและส่องไปในทิศทางของการเคลื่อนที่เข้าหาจุดตัด หรือตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่ง (Runway-Holding Position) ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องเพิ่ม ความชัดเจนของแถบไฟหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งที่ติดตั้งอยู่ก่อนแล้ว การติดตั้งไฟเพิ่มเติมจะต้องเป็นไป ในลักษณะเดียวกัน

      5.3.20.7 สนามบินจะต้องเพิ่มการติดตั้งไฟซึ่งยกระดับขึ้นเหนือพื้น (Elevated Light) จำนวนหนึ่งคู่ที่บริเวณปลายแต่ละด้านของแถบไฟหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งซึ่งมีลักษณะเป็นไฟแบบฝังพื้น ในกรณีที่แถบไฟดังกล่าว อาจไม่สามารถมองเห็นได้จากมุมมองของนักบินในขณะฝนตก หรือเมื่อนักบินจำเป็นต้องหยุดอากาศยาน ในตำแหน่งที่ใกล้กับแถบไฟดังกล่าวซึ่งทำให้แสงของแถบไฟนั้นถูกบดบังโดยโครงสร้างของอากาศยาน

      5.3.20.8 แถบไฟหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งที่ติดตั้ง ณ ตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่ง จะต้องเป็นไฟส่องสว่างทิศทางเดียว (Unidirectional) โดยเป็นไฟสีแดงและส่องไปในทิศทางของการเคลื่อนที่เข้าหาทางวิ่ง

      5.3.20.9 ในกรณีที่มีการติดตั้งไฟเพิ่มเติมตามที่กำหนดไว้ในข้อ 5.3.20.7 ไฟเหล่านี้จะต้องมีคุณสมบัติเหมือนกับแถบไฟหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่ง แต่จะต้องทำให้อากาศยานที่กำลังเข้าสู่ตำแหน่งแถบไฟหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งสามารถมองเห็นได้

      5.3.20.10 ความเข้มของแสงสีแดงและการกระจายลำแสงของแถบไฟหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่ง จะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Appendix 2 รูปที่ A2-12 ถึง A2-16

      5.3.20.11 ในกรณีที่แถบไฟหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบนำทางและควบคุม การเคลื่อนที่ของอากาศยานและยานพาหนะบนภาคพื้นขั้นสูง (Advanced Surface Movement Guidance and Control System) และจากมุมมองของการปฏิบัติการบิน แถบไฟดังกล่าวจำเป็นต้องมีความเข้มแสงที่สูงกว่าปกติ เพื่อรักษาความเร็วของการเคลื่อนที่บนภาคพื้นในสภาพทัศนวิสัยต่ำ หรือในช่วงเวลากลางวันที่มีแสงสว่างจ้า ดังนั้น ความเข้มของแสงสีแดงและการกระจายลำแสงของแถบไฟหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่ง จะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Appendix 2 รูปที่ A2-17, A2-18 หรือ A2-19 ทั้งนี้ แถบไฟหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งที่มีความเข้มแสงสูง ต้องใช้เฉพาะในกรณีที่มีความจำเป็นเท่านั้น และการใช้งานให้เป็นไปตามการศึกษาเฉพาะกรณี

      5.3.20.12 ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้โคมไฟที่มีการกระจายลำแสงแบบกว้าง (Wide Beam Fixture) ความเข้มของแสงสีแดงและการกระจายลำแสงของแถบไฟหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่ง จะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดใน คู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Appendix 2 รูปที่ A2-17 หรือ A2-19

      • แถบไฟหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งที่ตัดข้ามทางขับที่เข้าสู่ทางวิ่ง (Entrance Taxiway) จะต้องสามารถเลือกเปิด-ปิดได้
      • แถบไฟหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งที่ตัดข้ามทางขับซึ่งใช้เป็นทางออกจากทางวิ่ง (Exit Taxiway) เพียงอย่างเดียว ต้องสามารถเลือกเปิด-ปิดหรือจัดเป็นกลุ่มได้
      • เมื่อแถบไฟหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งสว่างขึ้น ไฟกึ่งกลางทางขับที่อยู่หลังจากแถบไฟหยุดคอย ก่อนเข้าทางวิ่งดังกล่าว จะต้องดับเป็นระยะทางอย่างน้อย 90 เมตร และ
      • แถบไฟหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งจะต้องมีการอินเตอร์ล็อค (Interlock) กับไฟกึ่งกลางทางขับ เมื่อไฟกึ่งกลางทางขับที่อยู่เลยจากแถบไฟหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งติดสว่างแล้ว แถบไฟหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งจะต้องดับ และในทางกลับกัน หากแถบไฟหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งสว่าง ไฟกึ่งกลางทางขับจะต้องดับ

      สนามบินจะต้องให้ความสำคัญในการออกแบบระบบไฟฟ้าเพื่อให้แน่ใจว่าดวงไฟทั้งหมดของแถบไฟหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งจะไม่เสียหายในเวลาเดียวกัน คำแนะนำในกรณีนี้จะอยู่ใน Aerodrome Design Manual (Doc 9157), Part 5

       

      5.3.21 ไฟแสดงตำแหน่งหยุดคอยเข้าทางขับ (Intermediate Holding Position Light)

      การใช้งาน (Application)

      5.3.21.1 สนามบินต้องจัดให้มีไฟแสดงตำแหน่งหยุดคอยเข้าทางขับ ณ ตำแหน่งหยุดคอยเข้าทางขับ (Intermediate Holding Position) ซึ่งมีการใช้งานในสภาพที่ค่าระยะที่นักบินมองเห็นทางวิ่ง (Runway Visual Range) น้อยกว่า 350 เมตร ยกเว้นสนามบินมีการติดตั้งแถบไฟหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งแล้ว

      5.3.21.2 สนามบินต้องจัดให้มีไฟแสดงตำแหน่งหยุดคอยเข้าทางขับ ณ ตำแหน่งหยุดคอยเข้าทางขับซึ่งไม่จำเป็นต้องมีการให้สัญญาณให้หยุดหรือให้ไป (Stop-and-Go Signal) เหมือนกับการให้สัญญาณของแถบไฟหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่ง

      ตำแหน่ง (Location)

      5.3.21.3 ไฟแสดงตำแหน่งหยุดคอยเข้าทางขับจะต้องติดตั้งตามแนวของการทำเครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอย เข้าทางขับที่บริเวณระยะ 30 เซนติเมตรก่อนถึงเครื่องหมาย

      ลักษณะ (Characteristics)

      5.3.21.4 ไฟแสดงตำแหน่งหยุดคอยเข้าทางขับต้องประกอบด้วยไฟส่องสว่างคงที่ไปในทิศทางเดียว (Fixed Unidirectional Light) ซึ่งเป็นไฟสีเหลืองจำนวน 3 ดวง ส่องสว่างไปในทิศทางของการเคลื่อนเข้าหาตำแหน่ง หยุดคอยเข้าทางขับ โดยมีการกระจายแสงที่เหมือนกับไฟกึ่งกลางทางขับ (ในกรณีที่มีการติดตั้งอยู่ก่อนแล้ว) ทั้งนี้ ไฟแสดงตำแหน่งหยุดคอยเข้าทางขับต้องถูกจัดวางอย่างสมมาตรในแนวตั้งฉากกับไฟกึ่งกลางทางขับ และมีการเว้นระยะห่างของดวงไฟแต่ละดวงเท่ากับ 1.5 เมตร

      5.3.23 ไฟเตือนก่อนเข้าสู่ทางวิ่ง (Runway Guard Light)

      การติดตั้งไฟเตือนก่อนเข้าสู่ทางวิ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเตือนนักบินและผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ปฎิบัติงานบนทางขับว่ากำลังจะเคลื่อนที่เข้าไปในทางวิ่ง โดยมาตรฐานของการติดตั้งไฟเตือนก่อนเข้าสู่ทางวิ่งมี 2 แบบ ดังที่แสดงในรูปที่ 28

      การใช้งาน (Application)

      5.3.23.1 สนามบินต้องจัดให้มีไฟเตือนก่อนเข้าสู่ทางวิ่ง แบบ A ที่บริเวณจุดตัดของทางขับกับทางวิ่ง ในกรณีที่ทางวิ่งดังกล่าวมีการใช้งานในสภาพซึ่งมีค่าระยะที่นักบินมองเห็นทางวิ่ง (Runway Visual Range)

      • ต่ำกว่า 550 เมตร เมื่อไม่มีการติดตั้งแถบไฟหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่ง (Stop Bar)
      • อยู่ระหว่าง 550 ถึง 1,200 เมตร เมื่อมีความหนาแน่นของจราจรมาก

        5.3.23.2 สนามบินต้องติดตั้งไฟเตือนก่อนเข้าสู่ทางวิ่งแบบ A หรือ B ที่บริเวณจุดตัดของทางขับกับทางวิ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการรุกล้ำเข้าไปในทางวิ่ง และอาจเปิดไฟดังกล่าวเพื่อใช้งานใช้ในทุกสภาพอากาศทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อเป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันการรุกล้ำเข้าไปในทางวิ่ง

        5.3.23.3 ไฟเตือนก่อนเข้าสู่ทางวิ่ง แบบ B ต้องไม่ถูกติดตั้งร่วมกับแถบไฟหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่ง

         

        ตำแหน่ง (Location)

        5.3.23.4 ไฟเตือนก่อนเข้าสู่ทางวิ่ง แบบ A จะต้องติดตั้งอยู่ที่บริเวณด้านข้างทั้งสองด้านของทางขับ โดยมีระยะห่างจากเส้นกึ่งกลางทางวิ่งไม่น้อยกว่าค่าที่กำหนดไว้สำหรับทางวิ่งที่ใช้ในการบินขึ้น (Take-off Runway) ในตารางที่ 3-2

        5.3.23.5 ไฟเตือนก่อนเข้าสู่ทางวิ่ง แบบ B จะต้องอยู่ในตำแหน่งตัดขวางทางขับที่ระยะห่างจากเส้นกึ่งกลาง ทางวิ่งไม่น้อยกว่าค่าที่กำหนดไว้สำหรับทางวิ่งที่ใช้ในการบินขึ้น (Take-off Runway) ในตารางที่ 3-2

        ลักษณะ (Characteristics)

        5.3.23.6 ไฟเตือนก่อนเข้าสู่ทางวิ่ง แบบ A จะต้องประกอบด้วยไฟสีเหลืองจำนวน 2 คู่

        5.3.23.7 หากมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มความแตกต่างระหว่างสถานะเปิดและปิดของไฟเตือนก่อนเข้าสู่ทางวิ่ง แบบ A ขณะมีการใช้งานในเวลากลางวันให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น สนามบินต้องจัดให้มีอุปกรณ์บังแสงอาทิตย์ติดตั้งอยู่เหนือโคมไฟแต่ละดวงโดยไม่ขัดขวางการทำงานของโคมไฟดังกล่าว เพื่อป้องกันแสงอาทิตย์ส่องเข้าหาเลนส์ ทั้งนี้ สนามบินอาจใช้อุปกรณ์ประเภทอื่น หรือการออกแบบ อย่างเช่น เลนส์ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ แทนการใช้อุปกรณ์บังแสงอาทิตย์ได้

        รูปที่ 28 ไฟเตือนก่อนเข้าสู่ทางวิ่ง

        5.3.23.8 ไฟเตือนก่อนเข้าสู่ทางวิ่ง แบบ B จะต้องประกอบด้วยไฟแสงสีเหลืองจัดวางในแนวตัดขวางทางขับ โดยมีการเว้นระยะห่างระหว่างโคมไฟเท่ากับ 3 เมตร

        5.3.23.9 ลำแสงของไฟจะต้องส่องสว่างไปในทิศทางเดียวและเป็นทิศทางที่นักบินสามารถมองเห็นได้ ในขณะที่อากาศยานขับเคลื่อนเข้าหาตำแหน่งหยุดคอย

        5.3.23.10 ความเข้มของแสงสีเหลืองและการกระจายแสงของไฟ แบบ A ต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ใน คู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Appendix 2 รูปที่ A2-24

        5.3.23.11 ในกรณีที่มีการใช้งานไฟเตือนก่อนเข้าสู่ทางวิ่งในช่วงเวลากลางวัน ความเข้มของแสงสีเหลืองและ การกระจายแสงของไฟ แบบ A ต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Appendix 2 รูปที่ A2-25

        5.3.23.12 หากไฟเตือนก่อนเข้าสู่ทางวิ่งถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบนำทางและควบคุมการเคลื่อนที่ของอากาศยานและยานพาหนะบนภาคพื้นขั้นสูง (Advanced Surface Movement Guidance and Control System) และไฟดังกล่าวจำเป็นต้องมีความเข้มแสงที่สูงกว่าปกติ ดังนั้น ความเข้มของแสงสีเหลืองและ การกระจายลำแสงของไฟ แบบ A ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Appendix 2 รูปที่ A2-25 ทั้งนี้ การใช้ไฟที่มีความเข้มแสงสูงนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาความเร็วของการเคลื่อนที่บนภาคพื้นในขณะที่มีสภาพทัศนวิสัยต่ำ

        5.3.23.13 ความเข้มของแสงสีเหลืองและการกระจายแสงของไฟ แบบ B ต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ใน คู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Appendix 2 รูปที่ A2-12

        5.3.23.14 ในกรณีที่มีการใช้งานไฟเตือนก่อนเข้าสู่ทางวิ่งในช่วงเวลากลางวัน ความเข้มของแสงสีเหลืองและ การกระจายแสงของไฟ แบบ B ต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Appendix 2 รูปที่ A2-20

        5.3.23.15 หากไฟเตือนก่อนเข้าสู่ทางวิ่งถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบนำทางและควบคุมการเคลื่อนที่ของอากาศยานและยานพาหนะบนภาคพื้นขั้นสูง (Advanced Surface Movement Guidance and Control System) และไฟดังกล่าวจำเป็นต้องมีความเข้มแสงที่สูงกว่าปกติ ดังนั้น ความเข้มของแสงสีเหลืองและ การกระจายลำแสงของไฟ แบบ B ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Appendix 2 รูปที่ A2-20

        5.3.23.16 โคมไฟในแต่ละหน่วยของไฟเตือนก่อนเข้าสู่ทางวิ่ง แบบ A จะต้องติดดับสลับกัน

        5.3.23.17 สำหรับไฟเตือนก่อนเข้าสู่ทางวิ่ง แบบ B โคมไฟที่อยู่ชิดกันจะต้องติดดับสลับกันอย่างพร้อมเพรียง

        5.3.23.18 อัตราการติดของไฟต้องอยู่ระหว่าง 30 - 60 รอบต่อนาที โดยช่วงเวลาที่ไฟดับและติดต้องมีระยะเวลาเท่า ๆ กันและสลับกันในแต่ละดวง ทั้งนี้ อัตราการกะพริบที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับเวลาในการติดและดับของหลอดไฟที่ใช้ โดยพบว่า ไฟเตือนก่อนเข้าสู่ทางวิ่ง แบบ A ซึ่งถูกติดตั้งในวงจรอนุกรมขนาด 6.6 แอมแปร์ มีความเหมาะสมที่สุดเมื่อมีอัตราการกะพริบที่ 45 - 50 ครั้งต่อนาทีต่อโคม และสำหรับไฟเตือนก่อนเข้าสู่ทางวิ่ง แบบ B ซึ่งถูกติดตั้งในวงจรอนุกรมขนาด 6.6 แอมป์ มีความเหมาะสมที่สุดเมื่อมีอัตราการกะพริบที่ 30 - 32 ครั้งต่อนาทีต่อโคม

        5.3.24 ไฟส่องลานจอดอากาศยาน (Apron Floodlighting)

        การใช้งาน (Application)

        5.3.24.1 สนามบินต้องจัดให้มีไฟส่องลานจอดอากาศยานอยู่บนลานจอดอากาศยานและลานจอดอากาศยาน ที่แยกออกมา (Isolated Aircraft Parking Position) ที่มีการใช้งานในเวลากลางคืน โดยคำแนะนำเกี่ยวกับ ไฟส่องลานจอดอากาศยานจะอยู่ใน Aerodrome Design Manual (Doc 9157), Part 4

        ตำแหน่ง (Location)

        5.3.24.2 ไฟส่องลานจอดอากาศยานจะต้องอยู่ในตำแหน่งที่ให้ความสว่างเพียงพอต่อพื้นที่การบริการในลานจอด โดยแสงไฟต้องไม่รบกวนนักบินที่กำลังปฏิบัติการบินอยู่บนอากาศและบนภาคพื้น รวมถึง ผู้ควบคุมสนามบินและลานจอด (Aerodrome and Apron Controller) และบุคลากรที่ปฏิบัติงานในเขตลานจอด โดยการจัดวางและทิศทางการส่องสว่างของไฟส่องลานจอดจะต้องเป็นไปในลักษณะที่ทำให้หลุมจอดอากาศยาน (Aircraft Stand) ได้แสงไฟจากทิศทางต่าง ๆ ตั้งแต่ 2 ทิศทางขึ้นไป เพื่อลดการเกิดเงา

        ลักษณะ (Characteristics)

        5.3.24.3 การกระจายแสง (Spectral Distribution) ของไฟส่องลานจอดอากาศยานต้องเป็นไปในลักษณะที่ ทำให้สามารถระบุสีของเครื่องหมายบนลำตัวอากาศยาน (Aircraft Marking) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการให้บริการภาคพื้น (Routine Servicing) และสีของเครื่องหมายบนพื้นผิวรวมถึงบนสิ่งกีดขวางได้อย่างถูกต้อง

        • บริเวณหลุมจอดอากาศยาน (Aircraft Stand)
        • บริเวณอื่น ๆ ของลานจอดอากาศยาน (Other Apron Area)

        ความสว่างตามระนาบแนวนอน ต้องมีค่าอย่างน้อย ร้อยละ 50 ของค่าความสว่างเฉลี่ยที่บริเวณหลุมจอดอากาศยาน และมีอัตราส่วนความสม่ำเสมอ ไม่เกิน 4 ต่อ 1

        หมายเหตุ: อัตราส่วนความสม่ำเสมอ คือ อัตราส่วนของค่าความสว่างเฉลี่ยเทียบกับค่าความสว่างต่ำสุด

        5.3.25 ระบบไฟสัญญาณนำอากาศยานเข้าหลุมจอดด้วยทัศนวิสัย (Visual Docking Guidance System)

        การใช้งาน (Application)

        5.3.25.1 สนามบินต้องจัดให้มีระบบไฟสัญญาณนำอากาศยานเข้าหลุมจอดด้วยทัศนวิสัย ในกรณีที่จำเป็นต้องมีการระบุตำแหน่งในการจอดของอากาศยานที่แม่นยำบนหลุมจอดโดยเครื่องช่วยในการเดินอากาศด้วยทัศนวิสัย (Visual Aids) และไม่มีวิธีการอื่น ๆ เช่น การจัดให้มีผู้ให้ทัศนสัญญาณ (Marshaller) ที่สามารถช่วยนำอากาศยานเข้าหลุมจอดได้

                  ตัวแปรที่ต้องนำมาพิจารณาเพื่อประเมินความต้องการสำหรับระบบไฟสัญญาณนำอากาศยานเข้าหลุมจอดด้วยทัศนวิสัย คือ จำนวนและประเภทของอากาศยานที่จะใช้หลุมจอดอากาศยาน, สภาพอากาศ, ความกว้างของพื้นที่ลานจอด และความเที่ยงตรงสำหรับการขับเคลื่อนเข้าสู่ตำแหน่งในการจอดซึ่งขึ้นอยู่กับการติดตั้งอุปกรณ์บริการภาคพื้นอากาศยาน สะพานเทียบเครื่องบิน และอื่น ๆ รายละเอียดเพิ่มเติมให้เป็นไปตามคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual)

        ลักษณะ (Characteristics)

        5.3.25.2 ระบบไฟสัญญาณนำอากาศยานเข้าหลุมจอดด้วยทัศนวิสัยจะต้องมีการนำทางอากาศยานด้วยมุมแอซิมัทและการให้สัญญาณหยุด (Azimuth and Stopping Guidance)

        5.3.25.3 การนำทางอากาศยานด้วยมุมแอซิมัทและการให้สัญญาณบอกตำแหน่งหยุดจะต้องเพียงพอสำหรับ การใช้งานทั้งเวลากลางวันและเวลากลางคืน ในทุก ๆ สภาพอากาศ, สภาพทัศนวิสัย, สภาพที่มีแสงพื้นหลัง และในทุกสภาพผิวพื้นจราจร โดยจะต้องไม่ทำให้นักบินเกิดอาการตาพร่ามัว (Dazzle)

                  ในการออกแบบและการติดตั้งระบบไฟสัญญาณนำอากาศยานเข้าหลุมจอดด้วยทัศนวิสัย สนามบินจะต้องแน่ใจว่า การสะท้อนแสงอาทิตย์หรือแสงอื่น ๆ ในบริเวณนั้น จะไม่ลดระดับความชัดเจนในการมองเห็นการให้สัญญาณนำทางของระบบดังกล่าว

        5.3.25.4 การนำทางอากาศยานด้วยมุมแอซิมัทและการให้สัญญาณบอกตำแหน่งหยุดจะต้องถูกออกแบบให้มีลักษณะดังนี้

        • สามารถแสดงให้นักบินทราบถึงความผิดพลาดของระบบอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างได้ อย่างชัดเจน และ
        • ระบบทั้งสองสามารถปิดการทำงานได้

        5.3.25.5 การนำทางอากาศยานด้วยมุมแอซิมัทและการให้สัญญาณบอกตำแหน่งหยุดจะต้องอยู่ในตำแหน่ง ที่ทำให้การนำทางระหว่างเครื่องหมายหลุมจอดอากาศยาน (Aircraft Stand Marking), ไฟนำร่องการขับเคลื่อนบนหลุมจอดอากาศยาน (Aircraft Stand Manoeuvring Guidance Light) (ถ้ามี) และระบบไฟสัญญาณ นำอากาศยานเข้าหลุมจอดด้วยทัศนวิสัย มีความต่อเนื่องกัน

        5.3.25.6 ความแม่นยำ (Accuracy) ของระบบ จะต้องเพียงพอสำหรับชนิดของสะพานเทียบเครื่องบินและ การติดตั้งอุปกรณ์บริการภาคพื้นที่อากาศยานนั้น ๆ จำเป็นต้องใช้

        อุปกรณ์การนำอากาศยานเข้าจอดด้วยมุมแอซิมัท (Azimuth)

        ตำแหน่ง (Location)

        5.3.25.9 อุปกรณ์การนำอากาศยานเข้าจอดด้วยมุมแอซิมัทจะต้องถูกติดตั้งอยู่บนหรือใกล้กับส่วนต่อขยายของแนวเส้นกึ่งกลางหลุมจอดอากาศยาน ตรงบริเวณด้านหน้าของอากาศยาน เพื่อให้สามารถมองเห็นสัญญาณไฟได้จากภายในห้องนักบิน (Cockpit) ตลอดการขับเคลื่อนเข้าจอด นอกจากนี้ อุปกรณ์ดังกล่าวต้องถูกจัดวาง ในตำแหน่งที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานโดยนักบินที่นั่งอยู่ทางด้านซ้ายของอากาศยานเป็นอย่างน้อย

        ลักษณะ (Charactersitics)

        5.3.25.11 อุปกรณ์การนำอากาศยานเข้าจอดด้วยมุมแอซิมัทจะต้องสามารถให้การนำทางซ้าย/ขวา (Left/Right Guidance) ที่ไม่มีสองนัยได้ เพื่อทำให้นักบินได้รับข้อมูลและสามารถรักษาตำแหน่งบนเส้นนำอากาศยานเข้า (Lead-In Line)

        5.3.25.12 ในกรณีที่อุปกรณ์การนำอากาศยานเข้าจอดด้วยมุมแอซิมัทมีการแสดงสัญญาณโดยการเปลี่ยนสี สีเขียวจะต้องถูกใช้เพื่อแสดงว่าอากาศยานอยู่บนแนวเส้นกึ่งกลาง และสีแดงใช้เพื่อแสดงว่าอากาศยานเบี่ยงเบนออกจากเส้นกึ่งกลาง

        อุปกรณ์แสดงตำแหน่งหยุด (Stopping Position Indicator)

        ตำแหน่ง (Location)

        5.3.25.13 อุปกรณ์แสดงตำแหน่งหยุดจะต้องถูกติดตั้งให้อยู่รวมกับหรืออยู่ใกล้กับอุปกรณ์การนำอากาศยาน เข้าจอดด้วยมุมแอซิมัทอย่างเพียงพอ เพื่อให้นักบินสามารถสังเกตเห็นได้ทั้งสัญญาณบอกมุมแอซิมัทและสัญญาณหยุด โดยไม่ต้องหันศีรษะ

        5.3.25.14 อุปกรณ์แสดงตำแหน่งหยุดจะต้องสามารถใช้งานได้โดยนักบินที่นั่งอยู่ทางด้านซ้ายของอากาศยาน เป็นอย่างน้อย

        ลักษณะ (Characteristics)

        5.3.25.16 ข้อมูลตำแหน่งหยุดที่ได้รับจากอุปกรณ์แสดงตำแหน่งหยุดสำหรับอากาศยานประเภทใดประเภทหนึ่งโดยเฉพาะนั้น จะต้องมีการพิจารณาถึงช่วงที่เป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลงค่าระดับของสายตาและ/หรือมุม ในการมองของนักบิน

        5.3.25.17 อุปกรณ์แสดงตำแหน่งหยุดจะต้องแสดงข้อมูลตำแหน่งหยุดสำหรับอากาศยานที่ระบบกำลัง นำทางเข้าสู่ตำแหน่งจอดของอากาศยานนั้น ๆ และต้องมีการแสดงข้อมูลการเข้าใกล้ตำแหน่งหยุด (Closing Rate Information) เพื่อให้นักบินสามารถลดความเร็วลงทีละน้อยจนกระทั่งอากาศยานหยุดสนิทในตำแหน่งหยุดที่ต้องการ

        5.3.25.18 อุปกรณ์แสดงตำแหน่งหยุดจะต้องแสดงข้อมูลการเข้าใกล้ตำแหน่งหยุด (Closing Rate Information) เป็นระยะทางอย่างน้อย 10 เมตรก่อนถึงตำแหน่งหยุด

        5.3.25.19 ในกรณีที่อุปกรณ์แสดงตำแหน่งหยุดมีการแสดงสัญญาณโดยการเปลี่ยนสี สีเขียวจะต้องถูกใช้ เพื่อแสดงว่าอากาศยานยังสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ และสีแดงใช้เพื่อแสดงว่าอากาศยานได้มาถึงตำแหน่งหยุด ที่ต้องการแล้ว ยกเว้นในกรณีที่ระยะทางก่อนถึงตำแหน่งหยุดเป็นระยะทางสั้น ๆ สนามบินอาจมีการใช้สีที่สามเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งสี เพื่อเตือนว่าอากาศยานใกล้จะถึงตำแหน่งหยุด

        รูปที่ 29 ระบบไฟสัญญาณนำอากาศยานเข้าหลุมจอดด้วยทัศนวิสัย

        5.3.26 ระบบไฟสัญญาณขั้นสูงในการนำอากาศยานเข้าหลุมจอดด้วยทัศนวิสัย (Advanced Visual Docking Guidance System (A-VDGS))

        ในกรณีที่สนามบินจัดให้มีระบบไฟสัญญาณขั้นสูงในการนำอากาศยานเข้าหลุมจอดด้วยทัศนวิสัย รายละเอียดเกี่ยวกับการใช้งานระบบ ตำแหน่งการติดตั้ง และลักษณะของระบบ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual)

        5.3.27 ไฟนำร่องการขับเคลื่อนบนหลุมจอดอากาศยาน (Aircraft Stand Manoeuvring Guidance Light)

        การใช้งาน (Application)

        5.3.27.1 สนามบินต้องจัดให้มีไฟนำร่องการขับเคลื่อนบนหลุมจอดอากาศยาน เพื่อช่วยในการจัดตำแหน่งของอากาศยานบนหลุมจอดดังกล่าวซึ่งมีการใช้งานในกรณีที่มีสภาพทัศนะวิสัยต่ำ เว้นแต่ว่าจะมีวิธีการอื่นที่เพียงพอสำหรับใช้ในการนำทาง

        ตำแหน่ง (Location)

        5.3.27.2 ไฟนำร่องการขับเคลื่อนบนหลุมจอดอากาศยานจะต้องมีการใช้งานร่วมกับเครื่องหมายหลุมจอด อากาศยาน

        ลักษณะ (Characteristics)

        5.3.27.3 ไฟนำร่องการขับเคลื่อนบนหลุมจอดอากาศยานโคมอื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากโคมไฟที่แสดงตำแหน่งหยุด จะต้องเป็นไฟส่องสว่างคงที่สีเหลือง และสามารถมองเห็นได้ตลอดการขับเคลื่อนบนพื้นที่ส่วนที่ต้องการให้มี การนำทาง

        5.3.27.4 โคมไฟที่ใช้แสดงเส้นนำอากาศยานเข้า (Lead-in Line) เส้นบอกแนวการเลี้ยว (Turning Line) และเส้นนำอากาศยานออก (Lead-out Line) จะต้องมีการเว้นระยะห่างระหว่างโคมไฟไม่เกิน 7.5 เมตร บนส่วนโค้ง และ 15 เมตร บนส่วนที่เป็นเส้นตรง

        5.3.27.5 โคมไฟที่แสดงตำแหน่งหยุดจะต้องเป็นไฟสีแดงส่องสว่างคงที่ไปยังทิศทางเดียว

        5.3.27.6 ความเข้มแสงของไฟจะต้องเพียงพอสำหรับการมองเห็นในทุก ๆ สภาพทัศนวิสัย และในสภาพที่มี แสงไฟบริเวณโดยรอบรบกวน

        5.3.27.7 วงจรไฟจะต้องถูกออกแบบให้มีลักษณะที่ทำให้สามารถเปิดไฟเพื่อแสดงว่าหลุดจอดอากาศยานสามารถใช้งานได้ และปิดไฟเพื่อแสดงว่าหลุดจอดอากาศยานไม่สามารถใช้งานได้

        5.3.28 ไฟแสดงตำแหน่งหยุดคอยบนถนน (Road-Holding Position Light)

        การใช้งาน (Application)

        5.3.28.1 สนามบินต้องจัดให้มีไฟแสดงตำแหน่งหยุดคอยบนถนนแต่ละเส้นที่เชื่อมเข้าสู่ทางวิ่งซึ่งมีการใช้งาน ในกรณีที่ค่าระยะที่นักบินมองเห็นทางวิ่ง (Runway Visual Range) ต่ำกว่า 350 เมตร

        ตำแหน่ง (Location)

        5.3.28.3 ไฟแสดงตำแหน่งหยุดคอยบนถนนจะต้องอยู่ติดกับเครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอย (Holding Marking) โดยมีระยะห่าง 1.5 เมตร (+/- 0.5 เมตร) จากขอบด้านซ้ายหรือขวาของถนนตามกฎหมายว่าด้วยการจราจร ทางบกของประเทศ ทั้งนี้ รายละเอียดเกี่ยวกับข้อจำกัดด้านน้ำหนักและความสูง รวมถึงข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติการแตกหักง่าย (Frangibility) สำหรับเครื่องช่วยการเดินอากาศที่ติดตั้งอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยรอบทางวิ่ง จะอยู่ในข้อ 9.9

        ลักษณะ (Characteristics)

        5.3.28.4 ไฟแสดงตำแหน่งหยุดคอยบนถนน จะต้องประกอบด้วย

        • ไฟจราจรที่สามารถควบคุมได้ ซึ่งสามารถแสดงสีแดง (ให้หยุด) และ สีเขียว (ให้ไปได้) หรือ
        • ไฟกะพริบสีแดง

        ทั้งนี้ ไฟที่กำหนดในข้อ ก) ต้องสามารถควบคุมได้โดยผู้ให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศ

        5.3.28.5 ลำแสงของไฟแสดงตำแหน่งหยุดคอยบนถนนต้องส่องสว่างไปยังทิศทางเดียว (Unidirectional) และต้องทำให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะซึ่งกำลังเคลื่อนที่เข้าหาตำแหน่งหยุดคอยสามารถมองเห็นได้ชัดเจน

        5.3.28.6 ความเข้มของลำแสงจะต้องเพียงพอสำหรับการมองเห็นในสภาพทัศนวิสัยต่าง ๆ และแสงไฟบริเวณโดยรอบตำแหน่งหยุดคอยต้องไม่ทำให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะเกิดอาการตาพร่ามัว (Dazzle)

        5.3.28.7 ความถี่ในการกะพริบของไฟสีแดงจะต้องอยู่ระหว่าง 30 - 60 ครั้งต่อนาที

        5.3.29 แถบไฟห้ามเข้า (No-Entry Bar)

        แถบไฟห้ามเข้าต้องสามารถควบคุมการเปิด-ปิดได้โดยผู้ให้บริการจราจรทางอากาศ

        การรุกล้ำเข้าไปในทางวิ่งอาจเกิดขึ้นได้ในทุก ๆ สภาพทัศนวิสัยหรือสภาพอากาศ ดังนั้น การจัดให้มีแถบไฟ ห้ามเข้าที่จุดตัดของทางขับกับทางวิ่งเพื่อใช้งานในเวลากลางคืนและใน ทุก ๆ สภาพทัศวิสัย ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการป้องกันการรุกล้ำเข้าไปในทางวิ่งที่มีประสิทธิภาพ

        การใช้งาน (Application)

        5.3.29.1 สนามบินจะต้องจัดให้มีแถบไฟห้ามเข้าติดตั้งในลักษณะตัดขวางทางขับซึ่งใช้เป็นทางขับออกเท่านั้น เพื่อช่วยป้องกันการขับเคลื่อนเข้าไปในทางขับดังกล่าวโดยไม่ตั้งใจ

        ตำแหน่ง (Location)

        5.3.29.2 แถบไฟห้ามเข้าจะต้องถูกติดตั้งตัดขวางทางขับบริเวณจุดสิ้นสุดของทางขับซึ่งใช้เป็นทางขับออกเท่านั้น เพื่อช่วยป้องกันการขับเคลื่อนเข้าไปในทางขับดังกล่าวในทิศทางที่ไม่ถูกต้อง

        ลักษณะ (Characteristics)

        5.3.29.3 แถบไฟห้ามเข้าต้องประกอบด้วยไฟส่องสว่างทิศทางเดียว (Unidirectional) ซึ่งมีการติดตั้ง เว้นระยะห่างกันไม่เกิน 3 เมตร โดยเป็นไฟสีแดงส่องสว่างไปยังทิศทางของการเคลื่อนที่เข้าสู่ทางวิ่ง ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องเพิ่มความชัดเจนในการมองเห็นแถบไฟดังกล่าว สนามบินสามารถจัดให้มีไฟเพิ่มเติม โดยติดตั้งในลักษณะเดียวกันได้

        5.3.29.4 สนามบินจะต้องเพิ่มการติดตั้งไฟซึ่งยกระดับขึ้นเหนือพื้น (Elevated Light) จำนวนหนึ่งคู่ที่บริเวณปลายแต่ละด้านของแถบไฟห้ามเข้าซึ่งมีลักษณะเป็นไฟแบบฝังพื้น ในกรณีที่แถบไฟดังกล่าวอาจไม่สามารถมองเห็นได้จากมุมมองของนักบินในขณะฝนตก หรือเมื่อนักบินจำเป็นต้องหยุดอากาศยานในตำแหน่งที่ใกล้กับแถบไฟดังกล่าวซึ่งทำให้แสงของแถบไฟนั้นถูกบดบังโดยโครงสร้างของอากาศยาน

        5.3.29.5 ความเข้มของแสงสีแดงและการกระจายลำแสงของแถบไฟห้ามเข้า จะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Appendix 2 รูปที่ A2-12 ถึง A2-16 ตามความเหมาะสม

        5.3.29.6 ในกรณีที่แถบไฟห้ามเข้าถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบนำทางและควบคุมการเคลื่อนที่ของอากาศยานและยานพาหนะบนภาคพื้นขั้นสูง (Advanced Surface Movement Guidance and Control System) และจากมุมมองของการปฏิบัติการบิน แถบไฟดังกล่าวจำเป็นต้องมีความเข้มแสงที่สูงกว่าปกติ เพื่อรักษาความเร็วของการเคลื่อนที่บนภาคพื้นในสภาพทัศนวิสัยต่ำ หรือในช่วงเวลากลางวันที่มีแสงสว่างจ้า ดังนั้น ความเข้มของแสงสีแดงและการกระจายลำแสงของแถบไฟห้ามเข้าจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Appendix 2 รูปที่ A2-17, A2-18 หรือ A2-19 ทั้งนี้ แถบไฟ ห้ามเข้าที่มีความเข้มแสงสูง ต้องใช้เฉพาะในกรณีที่มีความจำเป็นเท่านั้น และการใช้งานให้เป็นไปตามการศึกษาเฉพาะกรณี

        5.3.29.7 ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้โคมไฟที่มีการกระจายลำแสงแบบกว้าง (Wide Beam Fixture) ความเข้มของแสงสีแดงและการกระจายลำแสงของแถบไฟห้ามเข้า จะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Appendix 2 รูปที่ A2-17 หรือ A2-19

        5.3.29.8 วงจรไฟจะต้องถูกออกแบบเพื่อให้

        • แถบไฟห้ามเข้าจะต้องสามารถเลือกเปิด-ปิดหรือจัดเป็นกลุ่มได้
        • เมื่อแถบไฟห้ามเข้าสว่างขึ้น ไฟกึ่งกลางทางขับที่อยู่หลังจากแถบไฟห้ามเข้าดังกล่าว จะต้องดับเป็นระยะทางอย่างน้อย 90 เมตร และ
        • เมื่อแถบไฟห้ามเข้าสว่างขึ้น แถบไฟหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งใด ๆ ก็ตามที่ติดตั้งอยู่ระหว่างไฟห้ามเข้าและทางวิ่งจะต้องดับ

        5.3.30 ไฟแสดงสถานะทางวิ่ง (Runway Status Lights – RWSL)

                  ระบบไฟแสดงสถานะทางวิ่งประกอบด้วยไฟ 2 ประเภท คือ ไฟเตือนเมื่อทางวิ่งที่กำลังจะเข้ามีการใช้งานอยู่หรือไม่ปลอดภัย (Runway Entrance Lights - RELs) และไฟเตือนเมื่อทางวิ่งไม่ปลอดภัยที่จะทำการบินขึ้นจากทางวิ่ง (Take-off Hold Lights - THLs) โดยไฟทั้งสองประเภทอาจติดตั้งแยกกันได้ แต่อย่างไรก็ตาม ไฟดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อให้ทำงานเสริมซึ่งกันและกัน

        ตำแหน่ง (Location)

        5.3.30.1 ในกรณีที่สนามบินจัดให้มีไฟเตือนเมื่อทางวิ่งที่กำลังจะเข้ามีการใช้งานอยู่หรือไม่ปลอดภัย (RELs) ไฟดังกล่าวจะต้องติดตั้งเลื่อนออกมาทางด้านข้าง (Offset) ห่างจากเส้นกึ่งกลางทางขับ 0.6 เมตร และอยู่ใน ด้านตรงข้ามกับไฟกึ่งกลางทางขับ โดยเริ่มต้นที่ 0.6 เมตรก่อนตําแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งและยาวต่อไปจนถึงขอบของทางวิ่ง โดยจะต้องมีไฟจำนวนหนึ่งโคมติดตั้งเพิ่มเติมบนทางวิ่งห่างจากเส้นกึ่งกลางทางวิ่ง 0.6 เมตร และจัดวางในแนวเดียวกับไฟที่ติดตั้งอยู่บนทางขับ

                  ในกรณีที่สนามบินมีตําแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งตั้งแต่ 2 แห่งขึ้นไป ตําแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่ง ที่กล่าวถึงในข้อข้างต้นจะหมายถึงตําแหน่งที่อยู่ใกล้กับทางวิ่งมากที่สุด

        5.3.30.2 ไฟเตือนเมื่อทางวิ่งที่กำลังจะเข้ามีการใช้งานอยู่หรือไม่ปลอดภัย (RELs) จะต้องประกอบด้วยโคมไฟ อย่างน้อย 5 โคม และต้องติดตั้งโดยเว้นระยะห่างกันอย่างน้อย 3.8 เมตร และสูงสุดไม่เกิน 15.2 เมตร ขึ้นอยู่กับความยาวของทางขับที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่รวมถึงไฟหนึ่งโคมที่ติดตั้งใกล้กับเส้นกึ่งกลางทางวิ่ง

        5.3.30.3 ในกรณีที่สนามบินจัดให้มีไฟเตือนเมื่อทางวิ่งไม่ปลอดภัยที่จะทำการบินขึ้นจากทางวิ่ง (THLs) ไฟดังกล่าวจะต้องติดตั้งเลื่อนออกมาทางด้านข้าง (Offset) ห่างจากไฟกึ่งกลางทางวิ่งด้านละ 1.8 เมตร และ ยาวขนานกันไป โดยเริ่มต้นที่ระยะ 115 เมตรจากจุดเริ่มต้นของทางวิ่ง และทุก ๆ 30 เมตร เป็นระยะทางอย่างน้อย 450 เมตร

        ลักษณะ (Characteristics)

        5.3.30.4 ในกรณีที่สนามบินจัดให้มีไฟเตือนเมื่อทางวิ่งที่กำลังจะเข้ามีการใช้งานอยู่หรือไม่ปลอดภัย (RELs) ไฟดังกล่าวจะต้องประกอบด้วย โคมไฟเดี่ยวฝังพื้นติดตั้งเรียงกันเป็นแนวเส้นเดี่ยว (Single Line) โดยเป็นไฟสีแดงส่องไปยังทิศทางที่อากาศยานเคลื่อนที่เข้าสู่ทางวิ่ง

        5.3.30.5 ไฟเตือนเมื่อทางวิ่งที่กำลังจะเข้ามีการใช้งานอยู่หรือไม่ปลอดภัย (RELs) ซึ่งถูกติดตั้งที่บริเวณจุดตัดของ ทางขับกับทางวิ่ง จะต้องติดสว่างภายในเวลาน้อยกว่า 2 วินาที หลังจากระบบสั่งการให้มีการแจ้งเตือน

        5.3.30.6 ความเข้มแสงและการกระจายลำแสงของไฟเตือนเมื่อทางวิ่งที่กำลังจะเข้ามีการใช้งานอยู่หรือไม่ปลอดภัย (RELs) จะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Appendix 2 รูปที่ A2-12 และ A2-14 ทั้งนี้ สนามบินอาจมีการพิจารณาลดความกว้างลำแสงของไฟเตือนเมื่อทางวิ่งที่กำลังจะเข้ามีการใช้งานอยู่หรือไม่ปลอดภัย (RELs) บางดวง ที่ติดตั้งอยู่ในบริเวณจุดตัดของทางขับกับทางวิ่งซึ่ง ทำมุมแหลมกัน เพื่อให้แน่ใจว่า ไฟดังกล่าวจะไม่สามารถมองเห็นได้จากอากาศยานที่อยู่บนทางวิ่ง

        5.3.30.7 ในกรณีที่สนามบินจัดให้มีไฟเตือนเมื่อทางวิ่งไม่ปลอดภัยที่จะทำการบินขึ้นจากทางวิ่ง (THLs) ไฟดังกล่าวต้องประกอบด้วยโคมไฟฝังพื้นจำนวน 2 แถว โดยเป็นไฟสีแดงส่องไปยังอากาศยานที่กำลังจะบินขึ้น

        5.3.30.8 ไฟเตือนเมื่อทางวิ่งไม่ปลอดภัยที่จะทำการบินขึ้นจากทางวิ่ง (THLs) ต้องติดสว่างภายในเวลาน้อยกว่า 2 วินาที หลังจากระบบสั่งการให้มีการแจ้งเตือน

        5.3.30.9 ความเข้มแสงและการกระจายลำแสงของไฟเตือนเมื่อทางวิ่งไม่ปลอดภัยที่จะทำการบินขึ้นจากทางวิ่ง (THLs) จะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Appendix 2 รูปที่ A2-26

        5.4 ป้าย (Signs)

        5.4.1 บททั่วไป (General)

        ป้ายที่ติดตั้งในสนามบินจะต้องเป็นป้ายที่มีข้อความแบบถาวรคงที่ (Fixed Message Sign) หรือข้อความที่เปลี่ยนแปลงได้ (Variable Message Sign) โดยข้อแนะนำจะอยู่ใน Aerodrome Design Manual (Doc 9157), Part 4

         

         

        การใช้งาน (Application)

        5.4.1.1 สนามบินต้องจัดให้มีป้ายเพื่อใช้สื่อสารคำแนะนำเชิงบังคับ (Mandatory Instruction) และข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งหรือจุดหมายปลายทางบนพื้นที่เคลื่อนไหว หรือเพื่อให้ข้อมูลอื่น ๆ ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดเกี่ยวกับระบบนำทางและควบคุมการเคลื่อนที่ของอากาศยานและยานพาหนะบนภาคพื้น (Surface Movement Guidance and Control System)

        5.4.1.2 สนามบินต้องจัดให้มีป้ายซึ่งมีข้อความที่เปลี่ยนแปลงได้ในกรณีที่

        • คำแนะนำที่แสดงอยู่บนป้ายสัมพันธ์กับช่วงเวลาในขณะนั้น ๆ และ/หรือ
        • มีความจำเป็นที่จะต้องมีการแสดงข้อความที่เปลี่ยนแปลงได้บนป้าย เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดเกี่ยวกับระบบนำทางและควบคุมการเคลื่อนที่ของอากาศยานและยานพาหนะ บนภาคพื้น (Surface Movement Guidance and Control System)

        ลักษณะ (Characteristics)

        5.4.1.3 ป้ายต้องมีลักษณะที่แตกหักได้ง่าย และหากติดตั้งในตำแหน่งใกล้ทางวิ่งหรือทางขับ ความสูงของป้ายจะต้องอยู่ในระดับที่ต่ำมากพอ เพื่อรักษาระยะห่างระหว่างใบพัดและเครื่องยนต์ของอากาศยานกับป้ายนั้น โดยความสูงของป้ายจะต้องมีขนาดไม่เกินที่แสดงไว้ในตารางที่ 6

        5.4.1.4 ป้ายต้องมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมมุมฉาก โดยมีด้านในแนวนอนยาวกว่าแนวตั้ง ตามที่แสดงไว้ในรูปที่ 30 และ 31

        5.4.1.5 ป้ายบังคับ (Madatory Instruction Sign) ต้องเป็นป้ายที่ติดตั้งอยู่บนพื้นที่เคลื่อนไหวและใช้สีแดงเท่านั้น

        ตารางที่ 6 ระยะห่างของป้ายนำร่องการขับเคลื่อนบนทางขับ (Taxi Guidance Sign) รวมถึงป้ายแสดงทางออกจากทางวิ่ง (Runway Exit Sign) กับตำแหน่งต่าง ๆ

        5.4.1.6 ข้อความบนป้ายต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Appendix 4

        5.4.1.7 ป้ายจะต้องมีแสงไฟส่องสว่างเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Appendix 4 เมื่อต้องการใช้ป้ายดังกล่าวสำหรับ

        • ทางวิ่งที่มีค่าระยะที่นักบินมองเห็นทางวิ่ง (Runway Visual Range) ต่ำกว่า 800 เมตร หรือ
        • ทางวิ่งที่บินลงด้วยเครื่องวัดประกอบการบิน ในเวลากลางคืน
        •  ทางวิ่งแบบบินลงโดยไม่ใช้เครื่องวัดประกอบการบินที่มีรหัสตัวเลขเป็น 3 หรือ 4 .ในเวลากลางคืน

        5.4.1.8 ป้ายต้องเป็นแบบสะท้อนแสงหรือมีแสงไฟส่องสว่างเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในคู่มือมาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standards Manual) Appendix 4 เมื่อมีการใช้งานในเวลากลางคืน สำหรับทางวิ่งแบบบินลงโดยไม่ใช้เครื่องวัดประกอบการบินที่มีรหัสตัวเลขเป็น 1 หรือ 2

        5.4.1.9 ป้ายซึ่งมีข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงได้จะต้องแสดงเป็นป้ายเปล่า (Blank Face) เมื่อไม่ใช้ได้งาน

        5.4.1.10 ในกรณีที่ป้ายซึ่งมีข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงได้มีความเสียหายเกิดขึ้น จะต้องไม่แสดงข้อมูลที่จะนำไปสู่การกระทำที่ไม่ปลอดภัยจากนักบินและผู้ขับขี่ยานพาหนะ

        5.4.1.11 ช่วงระยะเวลาที่เปลี่ยนจากข้อมูลหนึ่งไปยังอีกข้อมูลหนึ่งของป้ายซึ่งมีข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงได้จะต้องสั้นที่สุดและไม่เกินห้าวินาที

        5.4.2 ป้ายบังคับ (Mandatory Instruction Sign)

        ดูรูปที่ 30 สำหรับรูปภาพแสดงป้ายบังคับ และรูปที่ 32 สำหรับตัวอย่างของตำแหน่งการติดตั้งป้ายที่จุดตัดกันของทางขับและทางวิ่ง

        การใช้งาน (Application)

        5.4.2.1 สนามบินต้องจัดให้มีป้ายบังคับเพื่อระบุตำแหน่งซึ่งอากาศยานหรือยานพาหนะที่กำลังจะขับเคลื่อนเข้าไปในพื้นที่หลังจากตำแหน่งนั้น จะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานควบคุมจราจรทางอากาศก่อนเข้าสู่พื้นที่ดังกล่าว

        5.4.2.2 ป้ายบังคับต้องรวมถึง ป้ายแสดงหมายเลขทางวิ่ง (Runway Designation Sign) ป้ายตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งประเภทที่หนึ่ง ประเภทที่สอง หรือประเภทที่สาม ป้ายตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่ง (Runway-Holding Position Sign) ป้ายตำแหน่งหยุดคอยบนถนน (Road-Holding Position Sign) และป้ายห้ามเข้า (NO ENTRY Sign)

        5.4.2.3 สนามบินต้องมีการติดตั้งป้ายแสดงหมายเลขทางวิ่งเพิ่มเติมจากการทำเครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่ง Pattern A ณ จุดตัดกันระหว่างทางวิ่งและทางขับ หรือจุดตัดกันของทางวิ่งสองเส้น

        5.4.2.4 สนามบินต้องมีการติดตั้งป้ายตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งประเภทที่หนึ่ง ประเภทที่สอง หรือประเภทที่สามเพิ่มเติมจากการทำเครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่ง Pattern B

        5.4.2.5 สนามบินต้องมีการติดตั้งป้ายตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งเพิ่มเติมจากการทำเครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่ง Pattern A ณ ตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่ง ซึ่งเป็นไปตามข้อ 3.12.3

        5.4.2.6 สนามบินต้องมีการติดตั้งป้ายแสดงตำแหน่ง (Location Sign) ในตำแหน่งที่ไกลที่สุดจากทางขับ ตามความเหมาะสม เพิ่มเติมจากการติดตั้งป้ายแสดงหมายเลขทางวิ่ง ณ จุดตัดกันของทางวิ่งกับทางขับ

        5.4.2.7 สนามบินต้องจัดให้มีป้าย “NO ENTRY” ที่ตำแหน่งก่อนเข้าไปในเขตพื้นที่หวงห้าม (Phohibited Area)

        ตำแหน่ง (Location)

        5.4.2.8 ป้ายแสดงหมายเลขทางวิ่งที่จุดตัดกันของทางวิ่งกับทางขับหรือทางวิ่งกับทางวิ่งจะต้องติดตั้งอยู่ที่บริเวณด้านข้างทั้งสองด้านของเครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่ง โดยหันหน้าไปในทิศทาง ที่มองเห็นได้เมื่อจะเข้าสู่ทางวิ่ง

        5.4.2.9 ป้ายตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งประเภทที่หนึ่ง ประเภทที่สอง หรือประเภทที่สามจะต้องติดตั้งตั้งอยู่ที่บริเวณด้านข้างทั้งสองด้านของเครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่ง โดยหันหน้าไปในทิศทางที่มองเห็นได้เมื่อจะเข้าสู่พื้นที่วิกฤต (Critical Area)

        5.4.2.10 สนามบินจะต้องติดตั้งป้าย “NO ENTRY” ที่จุดเริ่มต้นของพื้นที่ที่จะเข้าไปสู่เขตหวงห้าม บริเวณด้านข้างแต่ละด้านของทางขับซึ่งมองเห็นได้โดยนักบิน

        5.4.2.11 ป้ายตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งจะต้องติดตั้งอยู่ที่บริเวณด้านข้างทั้งสองด้านของเครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งซึ่งเป็นไปตามข้อ 3.12.3 โดยหันหน้าไปในทิศทางที่มองเห็นได้เมื่อจะเข้าสู่พื้นผิวจำกัดสิ่งกีดขวาง (Obstacle Limitation Surface) หรือพื้นที่วิกฤต/อ่อนไหวต่อสัญญาณของระบบการบินลงด้วยเครื่องวัดประกอบการบิน (ILS) และระบบการบินลงด้วยคลื่นไมโครเวฟ (MLS)

        ลักษณะ (Characteristics)

        5.4.2.12 ป้ายบังคับจะต้องประกอบด้วยข้อความสีขาวบนพื้นหลังสีแดง

        5.4.2.13 ในกรณีที่สภาพแวดล้อมหรือปัจจัยด้านอื่น ๆ ส่งผลให้มีความจำเป็นในการเพิ่มความชัดเจนของการมองเห็นข้อความที่อยู่บนป้ายบังคับ สนามบินต้องเพิ่มเส้นขอบสีดำรอบขอบนอกของตัวหนังสือนั้น ๆ โดยเส้นขอบสีดำดังกล่าวต้องมีความกว้างเท่ากับ 10 มิลลิเมตร สำหรับทางวิ่งที่มีรหัสตัวเลขเป็น 1 หรือ 2 และเท่ากับ 20 มิลลิเมตร สำหรับทางวิ่งที่มีรหัสตัวเลขเป็น 3 หรือ 4

        5.4.2.14 ตัวหนังสือบนป้ายแสดงหมายเลขทางวิ่ง จะต้องประกอบด้วยตัวเลขหัวทางวิ่งทั้งสองข้างของทางวิ่งที่ถูกเชื่อม เมื่อเทียบกับตำแหน่งที่มองป้าย ยกเว้นกรณีป้ายหมายเลขทางวิ่ง ติดตั้งอยู่บนทางเชื่อมปลายสุดของทางวิ่ง อาจจะแสดงตัวเลขของทางวิ่งนั้นเพียงอันเดียว

        5.4.2.15 ข้อความบนป้ายตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่งประเภทที่หนึ่ง, ทางวิ่งประเภทที่สอง, ทางวิ่งประเภทที่สาม, ทางวิ่งประเภทที่สองและสามร่วมกัน หรือทางวิ่งประเภทที่หนึ่ง สองและสามร่วมกัน จะต้องประกอบด้วย หมายเลขหัวทางวิ่งและตามด้วยตัวหนังสือ CAT I, CAT II, CAT III หรือ CAT II/III หรือ CAT I/II/III ตามความเหมาะสม

        5.4.2.16 ข้อความบนป้าย “NO ENTRY” จะต้องเป็นไปตามรูปที่ 30

        5.4.2.17 ตัวหนังสือบนป้ายตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่ง ณ ตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่ง ซึ่งเป็นไปตามข้อ 3.12.3 จะต้องประกอบด้วย ชื่อของทางขับและตัวเลข

        5.4.2.18 หากมีการติดตั้งป้ายบังคับ ข้อความหรือสัญลักษณ์จะต้องเป็นไปตามรูปที่ 30

         

        รูปที่ 30 ป้ายบังคับ

        รูปที่ 31 ป้ายบอกข้อมูล

        Note — Distance X is established in accordance with Table 3-2. Distance Y is established at the edge of the ILS/MLS critical/sensitive area.

        รูปที่ 32 ตัวอย่างตำแหน่งของป้ายที่จุดตัดของทางขับและทางวิ่ง

         

        5.4.3 ป้ายบอกข้อมูล (Information Sign)

        รูปที่ 31 แสดงรูปภาพของป้ายบอกข้อมูล

        การใช้งาน (Application)

        5.4.3.1 สนามบินต้องจัดให้มีป้ายบอกข้อมูลในกรณีที่มีความจำเป็นเชิงปฏิบัติการซึ่งต้องการป้ายเพื่อระบุ ตำแหน่งเฉพาะ หรือ ข้อมูลเส้นทาง (ทิศทางหรือจุดหมายปลายทาง)

        5.4.3.2 ป้ายบอกข้อมูลต้องประกอบด้วย ป้ายแสดงทิศทาง (Direction Sign) ป้ายแสดงตำแหน่ง (Location Sign) ป้ายแสดงจุดหมายปลายทาง (Destination Sign) ป้ายแสดงทางออกจากทางวิ่ง (Runway Exit Sign) ป้ายแสดงทางออกจากทางวิ่งเข้าสู่ทางขับที่ไม่มีไฟเส้นกึ่งกลางทางขับ (Runway Vacated Sign) และป้ายบอกความยาวโทราที่เหลือสำหรับการวิ่งขึ้นบนทางวิ่งที่มีจุดตัด (Intersection Take-off Signs)

        5.4.3.3 สนามบินต้องจัดให้มีป้ายแสดงทางออกจากทางวิ่ง หากมีความจำเป็นเชิงปฏิบัติการที่ต้องการ การแสดงตำแหน่งออกจากทางวิ่ง

        5.4.3.4 สนามบินต้องจัดให้มีป้ายแสดงทางออกจากทางวิ่งเข้าสู่ทางขับที่ไม่มีไฟเส้นกึ่งกลางทางขับ (Runway Vacated Sign) ในบริเวณที่ทางขับออกไม่มีไฟเส้นกึ่งกลางทางขับ และมีความจำเป็นที่ต้องแสดงให้นักบินที่กำลังขับเคลื่อนอากาศยานออกจากทางวิ่งรู้ตำแหน่งแนวขอบเขตของพื้นที่วิกฤต/อ่อนไหวต่อสัญญาณของ ILS/MLS หรือขอบล่างของพื้นผิวลาดเอียงชั้นใน โดยขึ้นกับว่าตำแหน่งใดไกลจากเส้นกึ่งกลางทางวิ่งมากกว่า

        5.4.3.5 สนามบินต้องจัดให้มีป้ายบอกความยาวโทราที่เหลือสำหรับการวิ่งขึ้นบนทางวิ่งที่มีจุดตัด (Intersection Take-off Signs) หากมีความจำเป็นเชิงปฏิบัติการซึ่งต้องการการแสดงระยะทางที่เหลือสำหรับการวิ่งขึ้นบนทางวิ่งที่มีจุดตัด

        5.4.3.6 หากมีความจำเป็น สนามบินต้องจัดให้มีป้ายบอกจุดหมายปลายทาง (Destination Sign) เพื่อแสดงทิศทางไปยังปลายทางที่ต้องการบนสนามบิน เช่น พื้นที่ขนถ่ายสินค้า (Cargo Area) พื้นที่ การบินทั่วไป (General Aviation)

        5.4.3.7 สนามบินต้องจัดให้มีป้ายแบบผสม (Combined Sign) ที่แสดงทั้งตำแหน่งและทิศทาง เพื่อใช้แสดงข้อมูลเส้นทาง (Routing Information) ก่อนที่จะถึงจุดตัดกันของทางขับ

        5.4.3.8 สนามบินต้องจัดให้มีป้ายแสดงทิศทางในกรณีที่มีความจำเป็นเชิงปฏิบัติการซึ่งต้องการระบุชื่อและทิศทางของทางขับที่บริเวณจุดตัดกันของทาง

        5.4.3.9 สนามบินต้องจัดให้มีป้ายแสดงตำแหน่งที่บริเวณตำแหน่งหยุดคอยเข้าทางขับ (Intermediate Holding Position)

        5.4.3.10 สนามบินต้องจัดให้มีป้ายแสดงตำแหน่งร่วมกับป้ายแสดงหมายเลขทางวิ่งเสมอ ยกเว้นที่บริเวณจุดตัดกันของทางวิ่งกับทางวิ่ง

        5.4.3.11 สนามบินต้องจัดให้มีป้ายแสดงตำแหน่งร่วมกับป้ายแสดงทิศทาง ยกเว้นเมื่อการศึกษาทางด้านการบิน (Aeronautical Study) แสดงให้เห็นว่าสามารถละเว้นได้

        5.4.3.12 หากมีความจำเป็น สนามบินต้องจัดให้มีป้ายแสดงตำแหน่ง เพื่อบอกตำแหน่งของทางขับที่นำอากาศยานออกจากลานจอด หรือทางขับหลังจากจุดตัดกันของทาง

        5.4.3.13 ในกรณีที่ทางขับไปสิ้นสุดที่จุดตัด ซึ่งทำให้มีลักษณะเป็นรูปตัว “T” และมีความจำเป็นต้องแสดง ให้เห็น สนามบินจะต้องจัดให้มีแผงกั้น (Barricade) ป้ายแสดงทิศทาง และ/หรือ เครื่องช่วยในการเดินอากาศ ด้วยทัศนวิสัยอื่น ๆ ที่เหมาะสม

        ตำแหน่ง (Location)

        5.4.3.14 หากสามารถทำได้ สนามบินจะต้องติดตั้งป้ายบอกข้อมูลที่บริเวณด้านซ้ายของทางขับ ในตำแหน่งซึ่งเป็นไปตามที่ระบุไว้ในตารางที่ 6 ยกเว้น ในกรณีข้อ 5.4.3.16 และข้อ 5.4.3.24

        5.4.3.15 ณ จุดตัดกันของทางขับ ป้ายบอกข้อมูลต้องอยู่ในตำแหน่งก่อนที่จะถึงจุดตัดและอยู่ในแนวเดียวกับเครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยเข้าทางขับ ในกรณีที่ไม่มีเครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยเข้าทางขับ ป้ายจะต้องติดตั้งที่ระยะอย่างน้อย 60 เมตรจากแนวเส้นกึ่งกลางของทางขับที่ตัดกันสำหรับทางวิ่งซึ่งมีรหัสตัวเลขเป็น 3 หรือ 4 และอย่างน้อย 40 เมตร สำหรับทางวิ่งที่มีรหัสตัวเลขเป็น 1 หรือ 2 ทั้งนี้ ป้ายแสดงตำแหน่งที่ติดตั้งหลังจากจุดตัดกันของทางขับ อาจจะติดตั้งด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้านของทางขับ

        5.4.3.16 ป้ายแสดงทางออกจากทางวิ่ง (Runway Exit Sign) จะต้องติดตั้งอยู่ที่ด้านเดียวกันกับด้านที่มีทางออกจากทางวิ่งนั้นอยู่ และตำแหน่งในการติดตั้งให้เป็นไปตามตารางที่ 6

        5.4.3.17 ป้ายแสดงทางออกจากทางวิ่งต้องถูกติดตั้งอยู่ที่บริเวณก่อนถึงจุดออกจากทางวิ่ง โดยอยู่ใน แนวเดียวกับตำแหน่งที่ระยะอย่างน้อย 60 เมตร ก่อนจะถึงจุดสัมผัสที่จะเริ่มโค้งออกจากแนวทางวิ่ง สำหรับ ทางวิ่งที่มีรหัสตัวเลขเป็น 3 หรือ 4 และที่ระยะอย่างน้อย 30 เมตร สำหรับทางวิ่งที่มีรหัสตัวเลขเป็น 1 หรือ 2

        5.4.3.18 ป้ายแสดงทางออกจากทางวิ่งเข้าสู่ทางขับที่ไม่มีไฟเส้นกึ่งกลางทางขับ (Runway Vacated Sign) จะต้องติดตั้งอยู่บริเวณด้านใดด้านหนึ่งของทางขับเป็นอย่างน้อย โดยระยะห่างระหว่างป้ายและ เส้นกึ่งกลางทางวิ่งจะต้องไม่น้อยกว่าระยะห่างดังต่อไปนี้ แล้วแต่ว่าระยะใดมากกว่า

        • ระยะห่างระหว่างเส้นกึ่งกลางทางวิ่งและแนวขอบเขตของพื้นที่วิกฤต/อ่อนไหวต่อสัญญาณ ILS/MLS หรือ
        • ระยะห่างระหว่างเส้นกึ่งกลางทางวิ่งและขอบล่างของพื้นผิวลาดเอียงชั้นใน (Inner Transitional Surface)

        5.4.3.19 ในกรณีที่สนามบินติดตั้งป้ายแสดงตำแหน่งทางขับร่วมกับป้ายแสดงทางออกจากทางวิ่งเข้าสู่ทางขับที่ไม่มีไฟเส้นกึ่งกลางทางขับ ป้ายแสดงตำแหน่งทางขับจะต้องถูกติดตั้งอยู่ด้านนอกของป้ายแสดงทางออกจากทางวิ่งเข้าสู่ทางขับที่ไม่มีไฟเส้นกึ่งกลางทางขับ

        5.4.3.20 ป้ายบอกความยาวโทราที่เหลือสำหรับการวิ่งขึ้นบนทางวิ่งที่มีจุดตัด (Intersection Take-off Sign) จะต้องติดตั้งอยู่บริเวณด้านซ้ายของทางขับที่เข้าสู่ตำแหน่งจุดตัดกับทางวิ่ง โดยระยะห่างระหว่างป้ายและเส้นกึ่งกลางทางวิ่งจะต้องไม่น้อยกว่า 60 เมตร สำหรับทางวิ่งที่มีรหัสตัวเลขเป็น 3 หรือ 4 และ ไม่น้อยกว่า 45 เมตร สำหรับทางวิ่งที่มีรหัสตัวเลขเป็น 1 หรือ 2

        5.4.3.21 ในกรณีที่สนามบินติดตั้งป้ายแสดงตำแหน่งทางขับร่วมกับป้ายแสดงหมายเลขทางวิ่ง ป้ายแสดงตำแหน่งทางขับจะต้องติดตั้งอยู่ด้านนอกของป้ายแสดงหมายเลขทางวิ่ง

        5.4.3.22 โดยปกติ สนามบินจะต้องไม่ติดตั้งป้ายแสดงจุดหมายปลายทางร่วมกับป้ายแสดงตำแหน่ง หรือ ป้ายแสดงทิศทาง

        5.4.3.23 ป้ายบอกข้อมูลอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากป้ายแสดงตำแหน่ง จะต้องไม่ถูกติดตั้งร่วมกับ ป้ายบังคับ

        ลักษณะ (Characteristics)

        5.4.3.25 ป้ายบอกข้อมูลอื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากป้ายแสดงตำแหน่ง จะต้องประกอบด้วยข้อความสีดำบนพื้นหลังสีเหลือง

        5.4.3.26 ป้ายแสดงตำแหน่งจะต้องประกอบด้วยข้อความสีเหลืองบนพื้นหลังสีดำ และเมื่อถูกติดตั้งเป็นป้ายเดี่ยว ป้ายดังกล่าวจะต้องมีเส้นขอบสีเหลืองล้อมรอบ

        5.4.3.27 ข้อความบนป้ายแสดงทางออกจากทางวิ่ง จะต้องประกอบด้วยข้อความบอกชื่อของทางขับ ออกจากทางวิ่ง และเครื่องหมายลูกศรแสดงทิศทางเข้าสู่ทางขับนั้น

        5.4.3.28 บนป้ายแสดงทางออกจากทางวิ่งเข้าสู่ทางขับที่ไม่มีไฟเส้นกึ่งกลางทางขับ จะต้องแสดงรูปของเครื่องหมายตำแหน่งหยุดคอยก่อนเข้าทางวิ่ง Pattern A ดังที่แสดงไว้ในรูปที่ 31

        5.4.3.29 ข้อความบนป้ายบอกความยาวโทราที่เหลือสำหรับการวิ่งขึ้นจากทางวิ่งที่มีจุดตัด จะต้องประกอบด้วยตัวเลขที่แสดงถึงระยะทางที่เหลือสำหรับการวิ่งขึ้นในหน่วยเมตร รวมทั้งมีเครื่องหมายลูกศรชี้ไปตามทิศทางของการวิ่งขึ้น ดังที่แสดงไว้ในรูปที่ 31

        5.4.3.30 ข้อความบนป้ายแสดงจุดหมายปลายทาง จะต้องประกอบด้วยตัวอักษร ตัวเลข หรือทั้งตัวอักษรและตัวเลข เพื่อแสดงจุดหมายปลายทาง รวมทั้งมีเครื่องหมายลูกศรชี้ไปในทิศทางซึ่งไปยังปลายทางดังกล่าว ดังที่แสดงไว้ในรูปที่ 31

        5.4.3.31 ข้อความบนป้ายแสดงทิศทาง จะต้องประกอบด้วยตัวอักษร หรือทั้งตัวอักษรและตัวเลข เพื่อแสดงชื่อของทางขับ รวมทั้งมีเครื่องหมายลูกศรชี้ไปในทิศทางที่ไปยังทางขับนั้น ๆ ตามความเหมาะสม ดังที่แสดงไว้ในรูปที่ 31

        5.4.3.32 ข้อความบนป้ายแสดงตำแหน่ง จะต้องประกอบด้วยชื่อของทางขับ ทางวิ่ง หรือ พื้นที่ที่มี ผิวพื้นจราจรอื่น ๆ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่อากาศยานกำลังปฏิบัติการอยู่หรือกำลังจะเข้าไป และจะต้องไม่มีเครื่องหมายลูกศรอยู่บนป้ายดังกล่าว

        5.4.3.34 ในกรณีที่มีการติดตั้งป้ายแสดงตำแหน่งร่วมกับป้ายแสดงทิศทาง ให้ปฏิบัติดังนี้

        • ป้ายแสดงทิศทางทั้งหมดที่เกี่ยวกับการเลี้ยวซ้ายจะต้องติดตั้งอยู่ทางด้านซ้ายของป้ายแสดงตำแหน่งและป้ายแสดงทิศทางทั้งหมดที่เกี่ยวกับการเลี้ยวขวาจะต้องติดตั้งอยู่ทางด้านขวาของป้ายแสดงตำแหน่ง ยกเว้นกรณีที่จุดเชื่อมต่อประกอบด้วยทางขับที่ตัดกันเพียงเส้นเดียว สนามบินอาจเลือกที่จะติดตั้งป้ายแสดงตำแหน่งไว้ทางด้านซ้ายมือได้
        • ป้ายแสดงทิศทางจะต้องติดตั้งในลักษณะที่ทำให้ทิศทางของลูกศรมีการเบนออกที่เพิ่มขึ้นตาม การเบนออกจากแนวของทางขับที่ป้ายนั้นติดตั้งอยู่
        • ป้ายแสดงทิศทางจะต้องติดตั้งไว้ทางด้านข้างของป้ายแสดงตำแหน่งอย่างเหมาะสม ในกรณีที่ทิศทางของทางขับเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหลังจากจุดตัดกันของทางขับ และ
        • ป้ายแสดงทิศทางที่อยู่ติดกันจะต้องแยกออกจากกันโดยมีเส้นแนวตั้งสีดำเป็นเส้นแบ่ง ดังที่แสดงไว้ในรูปที่ 31

        5.4.3.35 สนามบินจะต้องระบุชื่อของทางขับซึ่งประกอบด้วยตัวอักษรตัวเดียวหรือหลายตัว หรือประกอบด้วยตัวอักษรตัวเดียวหรือหลายตัวแล้วตามด้วยตัวเลข

        5.4.3.36 ในการกำหนดชื่อของทางขับนั้น สนามบินต้องหลีกเลี่ยงการใช้ตัวอักษร “I , O , X” และการใช้คำว่า “inner” และ “outer” เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนกับตัวเลข “1” และ “0” และเครื่องหมายปิด

        5.4.3.37 การใช้ตัวเลขเพียงอย่างเดียวบนพื้นที่เคลื่อนไหวจะต้องสงวนไว้สำหรับการกำหนดชื่อหมายเลขทางวิ่ง

        5.4.4 ป้ายแสดงจุดตรวจสอบคลื่นวิทยุวีโออาร์ในสนามบิน (VOR Aerodrome Checkpoint Sign)

        การใช้งาน (Application)

        5.4.4.1 เมื่อมีการกำหนดจุดตรวจสอบคลื่นวิทยุวีโออาร์ สนามบินจะต้องมีการทำเครื่องหมายและติดตั้งป้ายแสดงจุดตรวจสอบคลื่นวิทยุวีโออาร์ ณ ตำแหน่งดังกล่าว

        ตำแหน่ง (Location)

        5.4.4.2 ป้ายแสดงจุดตรวจสอบคลื่นวิทยุวีโออาร์ในสนามบินจะต้องติดตั้งอยู่ใกล้กับตำแหน่งตรวจสอบเท่าที่จะเป็นไปได้ และสามารถมองเห็นข้อความบนป้ายได้จากห้องนักบินเมื่ออากาศยานอยู่บนเครื่องหมายจุดตรวจสอบคลื่นวิทยุวีโออาร์

        ลักษณะ (Characteristics)

        5.4.4.3 ป้ายแสดงจุดตรวจสอบคลื่นวิทยุวีโออาร์ในสนามบินจะต้องประกอบด้วยข้อความสีดำบนพื้นหลังสีเหลือง

        5.4.4.4 ข้อความบนป้ายแสดงจุดตรวจสอบคลื่นวิทยุวีโออาร์ต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่แสดงไว้ใน รูปที่ 33 โดยที่

        VOR        คือ ตัวย่อที่แสดงว่าตำแหน่งดังกล่าวเป็นจุดตรวจสอบคลื่นวิทยุวีโออาร์

        116.3       คือ ตัวอย่างของความถี่วิทยุของวีโออาร์ที่เกี่ยวข้อง

        147˚        คือ ตัวอย่างของมุมวีโออาร์ในหน่วยองศาซึ่งจะถูกแสดงที่จุดตรวจสอบคลื่นวิทยุวีโออาร์

        4.3 NM    คือ ตัวอย่างของระยะห่างในหน่วยไมล์ทะเล (Nautical Miles) จาก DME ที่ทำงานร่วมกับ VOR ที่เกี่ยวข้อง

        รายละเอียดเกี่ยวกับความคลาดเคลื่อนของค่ามุมที่แสดงบนป้ายจะอยู่ใน Annex 10 Volume I, Attachment E ทั้งนี้ จุดตรวจสอบจะสามารถใช้งานได้ เมื่อการตรวจสอบตามรอบระยะเวลาแสดงให้เห็นว่า ค่ามุมของ VOR  มีความสม่ำเสมออยู่ระหว่าง ±2 องศา

        รูปที่ 33 ป้ายแสดงจุดตรวจสอบคลื่นวิทยุวีโออาร์ในสนามบิน

        5.4.5 ป้ายแสดงชื่อของสนามบิน (Aerodrome Identification Sign)

        การใช้งาน (Application)

        5.4.5.1 สนามบินต้องจัดให้มีป้ายแสดงชื่อของสนามบิน ในกรณีที่ไม่มีวิธีการอื่นใดซึ่งเพียงพอที่จะช่วยบ่งชี้สนามบินได้ด้วยการมองเห็นจากทางอากาศได้

        ตำแหน่ง (Location)

        5.4.5.2 ป้ายแสดงชื่อของสนามบินจะต้องติดตั้งอยู่ในบริเวณสนามบินเพื่อให้สามารถอ่านได้ชัดเจนจาก ทุกมุมเหนือแนวระดับในระยะไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้

        ลักษณะ (Characteristics)

        5.4.5.3 ป้ายแสดงชื่อของสนามบินจะต้องประกอบด้วยชื่อของสนามบิน

        5.4.5.4 สีของป้ายต้องมีความชัดเจนเพียงพอและแตกต่างจากพื้นหลัง

        5.4.5.5 ตัวอักษรบนป้ายต้องมีความสูงไม่น้อยกว่า 3 เมตร

        5.4.6 ป้ายแสดงหมายเลขหลุมจอดอากาศยาน (Aircraft Stand Indentification Signs)

        การใช้งาน (Application)

        5.4.6.1 สนามบินต้องมีการติดตั้งป้ายแสดงหมายเลขหลุมจอดอากาศยานเพิ่มเติมจากการทำเครื่องหมายแสดงหมายเลขหลุมจอดอากาศยาน หากเป็นไปได้

        ตำแหน่ง (Location)

        5.4.6.2 ป้ายแสดงหมายเลขหลุมจอดอากาศยานจะต้องติดตั้งอยู่ในตำแหน่งที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนจากห้องนักบิน ก่อนที่อากาศยานจะขับเคลื่อนเข้าสู่หลุมจอดอากาศยานนั้น ๆ

        ลักษณะ (Characteristics)

        5.4.6.3 ป้ายแสดงหมายเลขหลุมจอดอากาศยานจะต้องประกอบด้วยข้อความสีดำบนพื้นหลังสีเหลือง

        5.4.7 ป้ายแสดงตำแหน่งหยุดคอยบนถนน (Road-holding Position Sign)

        5.4.7.1 สนามบินต้องจัดให้มีป้ายแสดงตำแหน่งหยุดคอยบนถนนที่ถนนทุกสายซึ่งเชื่อมเข้าสู่ทางวิ่ง

        ตำแหน่ง (Location)

        5.4.7.2 ป้ายแสดงตำแหน่งหยุดคอยบนถนนจะต้องติดตั้งห่างจากขอบถนนเป็นระยะทาง 1.5 เมตร (อยู่ทางด้านซ้ายหรือขวาก็ได้ ตามความเหมาะสมของกฎจราจรทางบกในท้องถิ่น) ณ ตำแหน่งหยุดคอยเข้าทางวิ่ง

        คุณสมบัติ (Characteristics)

        5.4.7.3 ป้ายแสดงตำแหน่งหยุดคอยบนถนนจะต้องประกอบด้วยข้อความสีขาวบนพื้นหลังสีแดง

        5.4.7.4 ข้อความบนป้ายแสดงตำแหน่งหยุดคอยบนถนนจะต้องเป็นภาษาไทยและเป็นไปตามกฎจราจรทางบกของประเทศ รวมถึงสิ่งต่อไปนี้

        • ข้อความให้หยุด และ
        • อาจเพิ่มเติมข้อความดังต่อไปนี้ ตามความเหมาะสม
        • ข้อความที่กำหนดว่า ผู้ขับขี่ยานพาหนะจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศก่อนขับเคลื่อนต่อไป และ
        • ข้อความระบุตำแหน่ง (Location Designator)

        ทั้งนี้ ตัวอย่างของป้ายแสดงตำแหน่งหยุดคอยบนถนนจะอยู่ใน Aerodrome Design Manual (Doc 9157), Part 4

        5.4.7.5 ป้ายแสดงตำแหน่งหยุดคอยบนถนนสำหรับใช้ในเวลากลางคืนจะต้องเป็นป้ายสะท้อนแสงหรือ มีการติดตั้งไฟส่องสว่าง

        5.5. วัตถุที่ใช้เป็นเครื่องหมาย (Marker)

        5.5.1 บททั่วไป

        วัตถุที่ใช้เป็นเครื่องหมายจะต้องมีลักษณะที่แตกหักได้ง่าย ถ้าวัตถุเหล่านั้นอยู่ในบริเวณใกล้ทางวิ่งหรือทางขับ จะต้องมีความสูงที่เหมาะสมและอยู่ในระดับที่ต่ำเพียงพอเพื่อรักษาระยะปลอดภัยของใบพัดและเครื่องยนต์ของอากาศยาน โดยสนามบินอาจจะใช้หลักหรือโซ่เพื่อยึดวัตถุที่ใช้เป็นเครื่องหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้แรงลมพัด จนทำให้วัตถุแตกหักและหลุดออกจากเสายึด

        5.5.2 วัตถุแสดงขอบทางวิ่งที่ไม่มีผิวพื้นจราจร (Unpaved Runway Edge Marker)

        การใช้งาน (Application)

        5.5.2.1 สนามบินต้องจัดให้มีวัตถุที่ใช้เป็นเครื่องหมายเพื่อแสดงขอบเขตของทางวิ่งที่ไม่มีผิวพื้นจราจร เมื่อขอบของทางวิ่งดังกล่าวไม่มีความชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นดินโดยรอบ

        ตำแหน่ง (Location)

        5.5.2.2 ในกรณีที่มีการติดตั้งไฟทางวิ่ง สนามบินต้องจัดให้มีวัตถุแสดงขอบทางวิ่งติดตั้งรวมเข้ากับไฟทางวิ่งนั้น ๆ และในกรณีที่ไม่มีการติดตั้งไฟทางวิ่ง สนามบินต้องจัดให้มีวัตถุที่ใช้เป็นเครื่องหมายรูปทรงสี่เหลี่ยมมุมฉากหรือ รูปกรวยเพื่อใช้ในการกำหนดขอบเขตของทางวิ่งให้ชัดเจน

        ลักษณะ (Characteristics)

        5.5.2.3 วัตถุแสดงขอบทางวิ่งรูปทรงสี่เหลี่ยมมุมฉาก ต้องมีขนาดกว้าง 1 เมตรและยาว 3 เมตรเป็นอย่างน้อย และจะต้องถูกจัดวางโดยให้แนวยาวขนานกับเส้นกึ่งกลางทางวิ่ง ส่วนวัตถุแสดงขอบทางวิ่งรูปทรงกรวยจะต้อง มีความสูงไม่เกิน 50 เซนติเมตร

        5.5.3 วัตถุแสดงขอบทางหยุด (Stopway Edge Marker)

        การใช้งาน (Application)

        5.5.3.1 สนามบินต้องจัดให้มีวัตถุแสดงขอบทางหยุดเพื่อแสดงขอบเขตของทางหยุด เมื่อขอบของทางหยุดดังกล่าวไม่มีความชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นดินโดยรอบ

        ลักษณะ (Characteristics)

        5.5.3.2 วัตถุแสดงขอบทางหยุดจะต้องมีลักษณะแตกต่างจากวัตถุแสดงขอบทางวิ่งใด ๆ อย่างเพียงพอ เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนในการแยะแยะวัตถุทั้งสอง

        5.5.5 วัตถุแสดงขอบทางขับ (Taxiway Edge Marker)

        การใช้งาน (Application)

        5.5.5.1 สนามบินต้องจัดให้มีวัตถุแสดงขอบทางขับ ในกรณีที่ทางวิ่งมีรหัสตัวเลขเป็น 1 หรือ 2 และบนทางขับ ไม่มีไฟเส้นกึ่งกลางทางขับ (Taxiway Centre Line Light) หรือไฟขอบทางขับ (Edge Light) หรือวัตถุแสดงเส้นกึ่งกลางทางขับ (Taxiway Centre Line Marker)

        ตำแหน่ง (Location)

        5.5.5.2 สนามบินต้องติดตั้งวัตถุแสดงขอบทางขับในตำแหน่งที่เหมือนกับตำแหน่งที่ใช้ติดตั้งไฟขอบทางขับ เป็นอย่างน้อย

        ลักษณะ (Characteristics)

        5.5.5.3 วัตถุแสดงขอบทางขับจะต้องเป็นสีน้ำเงินสะท้อนแสง

        5.5.5.4 จากมุมมองของนักบิน เมื่อมองไปที่วัตถุแสดงขอบทางขับ จะต้องเห็นวัตถุดังกล่าวมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมมุมฉากและมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 150 ตารางเซนติเมตร

        5.5.5.5 วัตถุแสดงขอบทางขับจะต้องมีลักษณะแตกหักได้ง่าย โดยจะต้องมีความสูงที่เหมาะสมและอยู่ในระดับที่ต่ำเพียงพอเพื่อรักษาระยะปลอดภัยของใบพัดและเครื่องยนต์ของอากาศยาน

        5.5.6 วัตถุแสดงเส้นกึ่งกลางทางขับ (Taxiway Centre Line Marker)

        การใช้งาน (Application)

        5.5.6.1 สนามบินต้องจัดให้มีวัตถุแสดงเส้นกึ่งกลางทางขับ ในกรณีที่ทางวิ่งมีรหัสตัวเลขเป็น 1 หรือ 2 และไม่มีไฟกึ่งกลางทางขับหรือไฟขอบทางขับ หรือวัตถุแสดงขอบทางขับ

        5.5.6.2 ในกรณีที่ต้องการทำให้การนำทางโดยเครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางขับ (Taxiway Centre Line Marking) ดีขึ้น สนามบินต้องจัดให้มีวัตถุแสดงเส้นกึ่งกลางทางขับ ในกรณีที่ทางวิ่งมีรหัสตัวเลขเป็น 3 หรือ 4 และไม่มีไฟกึ่งกลางทางขับ

        ตำแหน่ง (Location)

        5.5.6.3 สนามบินต้องติดตั้งวัตถุแสดงเส้นกึ่งกลางทางขับในตำแหน่งที่เหมือนกับตำแหน่งที่ใช้ติดตั้งไฟกึ่งกลางทางขับเป็นอย่างน้อย โดยรายละเอียดเกี่ยวกับการเว้นระยะห่างของไฟกึ่งกลางทางขับอยู่ในข้อ 5.3.17.12

        5.5.6.4 โดยปกติวัตถุแสดงเส้นกึ่งกลางทางขับต้องติดตั้งอยู่บนเครื่องหมายเส้นกึ่งกลางทางขับ ยกเว้นกรณีที่ ไม่สามารถทำได้ ตำแหน่งในการติดตั้งวัตถุดังกล่าวสามารถขยับไปติดตั้งทางด้านข้างได้ในระยะไม่เกิน 30 เซนติเมตร

        ลักษณะ (Characteristics)

        5.5.6.5 วัตถุแสดงเส้นกึ่งกลางทางขับจะต้องเป็นสีเขียวสะท้อนแสง

        5.5.6.6 จากมุมมองของนักบิน เมื่อมองไปที่วัตถุแสดงเส้นกึ่งกลางทางขับ จะต้องเห็นวัตถุดังกล่าวมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมมุมฉากและมีพื้นที่ที่มองเห็นไม่น้อยกว่า 20 ตารางเซนติเมตร

        5.5.6.7 วัตถุแสดงเส้นกึ่งกลางทางขับจะต้องได้รับการออกแบบให้สามารถทนต่อการบดทับด้วยล้อเครื่องบิน โดยไม่ทำให้เครื่องบินและวัตถุแสดงเส้นกึ่งกลางทางขับนั้นเสียหาย

        5.5.7 วัตถุแสดงขอบทางขับที่ไม่มีผิวพื้นจราจร (Unpaved taxiway edge markers)

        การใช้งาน (Application)

        5.5.7.1 สนามบินต้องจัดให้มีวัตถุที่ใช้เป็นเครื่องหมายเพื่อแสดงขอบเขตของทางขับที่ไม่มีผิวพื้นจราจร เมื่อขอบของทางขับดังกล่าวไม่มีความชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นดินโดยรอบ

        ตำแหน่ง (Location)

        5.5.7.2 ในกรณีที่มีการติดตั้งไฟทางขับ สนามบินต้องจัดให้มีวัตถุแสดงขอบทางขับติดตั้งรวมเข้ากับไฟทางขับนั้น ๆ และในกรณีที่ไม่มีการติดตั้งไฟทางขับ สนามบินต้องจัดให้มีวัตถุที่ใช้เป็นเครื่องหมายรูปทรงกรวยเพื่อใช้ในการกำหนดขอบเขตของทางขับให้ชัดเจน

         

         

        5.5.8 วัตถุบอกเขตแนว (Boundary Marker)

        การใช้งาน (Application)

        5.5.8.1 สนามบินต้องจัดให้มีวัตถุบอกเขตแนว หากบริเวณพื้นที่สำหรับการบินลง (Landing Area) ไม่มีทางวิ่ง

        ตำแหน่ง (Location)

        5.5.8.2 วัตถุบอกเขตแนวต้องติดตั้งตามแนวขอบเขตของพื้นที่สำหรับการบินลง โดยมีระยะห่างกันไม่เกินกว่า 200 เมตรสำหรับกรณีที่วัตถุบอกเขตแนวมีลักษณะตามรูปที่ 34 หรือในกรณีที่วัตถุบอกเขตแนวมีลักษณะเป็นรูปทรงกรวย วัตถุดังกล่าวจะต้องถูกติดตั้งไว้ที่มุมของพื้นที่สำหรับการบินลง และต้องมีระยะห่างกันประมาณ 90 เมตร

        ลักษณะ (Characteristics)

        5.5.8.3 วัตถุบอกเขตแนวจะต้องมีรูปแบบตามที่แสดงไว้ในรูปที่ 34 หรือมีลักษณะเป็นรูปทรงกรวยที่มีความสูงไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร และมีเส้นผ่านศูนย์กลางที่ฐานไม่น้อยกว่า 75 เซนติเมตร โดยจะต้องเป็นสีที่มองเห็นได้เด่นชัดตัดกับพื้นหลัง และต้องใช้สีเพียงสีเดียว คือ สีส้มหรือสีแดง หรือใช้สีสองสีที่ตัดกัน คือ สีส้มสลับสีขาว หรือ สีแดงสลับสีขาว ยกเว้นกรณีที่สีดังกล่าวกลมกลืนกับสีของพื้นหลัง

        รูปที่ 34 วัตถุบอกเขตแนว

                  ในกรณีสนามบินใดไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้ได้ ให้เจ้าของหรือ ผู้ดำเนินงานสนามบินยื่นขอยกเว้นโดยแสดงเหตุผลและความจำเป็นต่อผู้อำนวยการ โดยให้ผู้อำนวยการมีอำนาจอนุญาตยกเว้นได้ เมื่อได้พิจารณาถึงความปลอดภัยและประโยชน์สาธารณะแล้ว และอาจจัดหรือสั่งให้จัดให้มีการศึกษาด้านการบิน (Aeronautical Study) เพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตให้ยกเว้นการปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้ได้

                  สนามบินที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก สิ่งติดตั้งและอุปกรณ์ที่ให้บริการในสนามบินที่มีอยู่ก่อนข้อบังคับนี้ มีผลใช้บังคับ แต่ยังไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานสิ่งอำนวยความสะดวก สิ่งติดตั้งและอุปกรณ์ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้ เจ้าของหรือผู้ดำเนินงานสนามบินต้องทำการปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้ โดยให้จัดทำแผนการปรับปรุงแก้ไขที่เหมาะสมให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยให้ความเห็นชอบภายใน หนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ



        ความเห็น (0)

        ไม่มีความเห็น

        พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
        ClassStart
        ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
        ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
        ClassStart Books
        โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท