เปิด “บ้านยิ้มสู้” และ “มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ”


“มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ” โดย “ศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์” จัดกิจกรรม “เปิดบ้านยิ้มสู้” นำเสนอบทบาท ภารกิจ และผลการดำเนินงานของมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ในการสนับสนุนและช่วยเหลือผู้พิการ พร้อมมุ่งสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ ชวนคนไทยร่วมสานต่องานงานที่ “พ่อ” ทำด้วยการเปลี่ยน “ภาระ” ให้กลายเป็น “พลัง” ผ่านการสร้างงาน-สร้างอาชีพให้กับผู้พิการทั่วประเทศ ผ่าน “ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน” ตั้งเป้ายกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการอย่างยั่งยืน

ศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ เปิดเผยว่าปัจจุบันมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการมีกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือคนพิการทุกกลุ่ม โดยแบ่งออกเป็นการทำงานใน 5 ด้านคือ 1.โครงกaารบ้านเด็กยิ้มสู้ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมและทักษะพื้นฐานให้กับเด็กเล็กผู้พิการทุกประเภทโดยเฉพาะกลุ่มออทิสติก และบกพร่องทางสติปัญญา เพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กกลุ่มนี้สามารถไปเรียนรวมกับเด็กทั่วไปได้ 2.โครงการหอศิลป์ยิ้มสู้ ที่ต้องการให้สังคมไทยรับรู้ว่าผู้พิการมีความสามารถและทำอะไรได้มากกว่าที่คิด และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในด้านต่างๆ ของผู้พิการ 3.โครงการศูนย์ถ่ายทอดและการสื่อสารสำหรับคนหูหนวก (TTRS) ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ 3 ในภูมิภาคเอเชียที่สามารถพัฒนานวัตกรรมล่ามภาษามือผ่านระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อช่วยให้ผู้บกพร่องทางการได้ยินและสื่อความหมาย สามารถสื่อสารกับคนปกติได้ โดยได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการ กสทช. โดยปัจจุบันมีตู้ TTRS กระจายอยู่ทั้งหมด 180 จุดทั่วประเทศ มีผู้ใช้บริการสูงถึง 18,000 ครั้งต่อเดือน และยังถือว่าเป็นศูนย์ที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค โดยมีล่ามภาษามือมากที่สุดถึง 36 คนคอยให้บริการ 4. ศูนย์บริการคนพิการ ไว้เพื่อจัดหางานให้กับคนพิการ ทำสื่อคนพิการทางการได้ยิน  ลงชุมชนเยี่ยมคนพิการตามบ้าน  และ  5 .ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน รวม ร้านกาแฟกาแฟ ด้านอาหารและบริการ ศูนย์อาเซียนแม่ริม ด้านการเกษตร

“ในโลกของความเป็นจริงสิ่งที่ผู้พิการต้องต่อสู้มากที่สุดก็คือสิ่งที่เรียกว่า กรรมมหาชน หรือความเชื่อที่ว่าคนพิการทำอะไรไม่ได้ และความเชื่อที่ว่าความพิการคือกรรมที่คนพิการต้องชดใช้ ด้วยเหตุนี้คนพิการจึงต้องมีชะตากรรมแบบนี้ ทั้งที่จริงๆ แล้วมันเป็นกรรมของคนในสังคมที่หยิบยื่นให้คนพิการต่างหาก ด้วยเหตุนี้ทาง มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการจึงได้พยายามขับเคลื่อนให้สังคมไทยได้ให้โอกาสกับผู้พิการหรือที่เรียกว่า impairment ให้ได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพและได้รับโอกาสในการทำงานแบบตัวผมหรือ empowerment และการขับเคลื่อนให้เกิด barrier free ไม่มีอุปสรรคต่างๆ ในการเดินทางและใช้ชีวิตในสังคมของผู้พิการ ถ้าเราสามารถขับเคลื่อนทั้ง 2 เรื่องนี้ได้ คนพิการก็อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขเหมือนคนปกติทั่วไป ความพิการจะเป็นแค่เรื่องน่ารำคาญและความไม่สะดวกเท่านั้นเอง คำว่า impairment จะไม่มีความหมายเลย หากเราสามารถทำ empowerment และ barrier free ให้เกิดขึ้นได้ แต่ทุกวันนี้สังคมไทยยังไม่สามารถทำ 2 เรื่องนี้ได้ จึงทำให้ impairment มันโดดเด่นขึ้นมา ทำให้คนพิการลำบากยากเข็นในการอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคม ซึ่งทั้งการ empowerment และ barrier free ถ้าเราสามารถทำ 2 เรื่องนี้ให้สำเร็จได้ ก็จะทำให้คนพิการก็สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคมนี้ได้อย่างปกติสุข หรือที่เรียกว่า inclusive society หรือที่มักพูดกันว่า no one left behind นั่นเอง” ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการระบุ

จากข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เดือนมิถุนายน 2560 พบว่ามีผู้พิการทั่วประเทศที่จดทะเบียน 1,802,375 คน คิดเป็นร้อยละ 2.72 ของประชากรทั้งหมด โดยมีคนพิการที่อยู่ในวัยแรงงานอายุระหว่าง 15-60 ปีจำนวน 802,058 คน หรือร้อยละ 44.5 มีผู้พิการที่มีงานทำแล้วจำนวน 227,924 คน หรือร้อยละ 28.42 มีผู้พิการที่สามารถทำงานได้แต่ยังไม่มีงานทำ 455,990 คน หรือร้อยละ 56.58 และมีผู้พิการ 118,144 คน หรือร้อยละ 14.73 ที่อยู่ในวัยทำงานแต่ทำงานไม่ได้เนื่องจากพิการรุนแรงซึ่งต้องพึ่งพาผู้ดูแล จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าจำนวนผู้พิการที่ทำงานได้แต่ยังไม่มีงานทำ และผู้ดูแลคนพิการรุนแรงเมื่อรวมกันแล้วจะมีจำนวนมากถึง 574,134 คน ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายว่าเราจะช่วยคนกลุ่มนี้ให้มีอาชีพและรายได้ๆ อย่างไร

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานพระราชดำรัสแก่คณะกรรมการมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2527 ใจความตอนหนึ่งว่า...“งานช่วยคนพิการนี้ ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะว่าผู้พิการมิได้เป็นผู้ที่อยากพิการ แต่อยากช่วยตนเอง ถ้าเราไม่สามารถช่วยเขาให้สามารถที่จะปฏิบัติงานอะไรเพื่อชีวิตและมีเศรษฐกิจของครอบครัว จะทำให้เกิดสิ่งที่หนักในครอบครัว หนักแก่ส่วนรวม ฉะนั้นนโยบายที่จะทำก็คือ ช่วยให้เขาช่วยตนเองได้ เพื่อที่จะให้เขาสามารถเป็นประโยชน์ต่อสังคม”

“ปัจจุบันคนพิการร้อยละ 39.04 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 39.28 รับจ้างทั่วไป เมื่อรวมอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้างทั่วไปจะมีมากถึงร้อยละ 78.32 นอกนั้นประกอบอาชีพอิสระส่วนตัว ร้อยละ 7.33 ลูกจ้างภาคเอกชนร้อยละ 7.21 รับราชการทำงานในรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 1.2 และประกอบอาชีพอื่นๆ เช่น เก็บของเก่าขายร้อยละ 5.94 จะเห็นได้ว่าคนพิการส่วนใหญ่ของประเทศจะอยู่ตามหมู่บ้าน ตำบล และชนบทต่างๆ และจะประกอบอาชีพการเกษตรและรับจ้างทั่วไปเป็นหลัก ซึ่งแน่นอนว่าเขาเหล่านั้นก็จะมีรายได้ที่ตำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และมีโอกาสน้อยมากที่จะเข้าถึงความช่วยเหลือใดๆ ที่รัฐจัดให้ และเข้าถึงสิทธิต่างๆ ของคนพิการตามที่กฎหมายกำหนด ด้วยเหตุนี้ในการก้าวสู่ปีที่ 19 ของมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ จึงได้มุ่งเน้นไปที่การ empowerment ผู้พิการ ด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างให้เขามีรายได้ สร้างให้เกิดการรวมกลุ่ม เพื่อช่วยเหลือให้คนพิการก้าวพ้นความยากจน ให้เขาสามารถประกอบอาชีพอิสระ มีรายได้ที่เพียงพอและยั่งยืน จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการที่อำเภอแม่ริมจังหวัดเชียงใหม่” ศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ กล่าว

โดย “ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน” เกิดขึ้นจากแนวคิดของศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ที่มองเห็นว่าทางออกหรือแนวทางที่จะสามารถช่วยเหลือคนพิการทั่วประเทศที่ส่วนใหญ่อยู่ในชนบท มีฐานะยากจนและไม่มีอาชีพที่แน่นอนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้สามรถก้าวพ้นความยากจนได้นั้น จะต้องให้ผู้พิการและครอบครัวได้ประกอบอาชีพอิสระที่มั่นคง ยั่งยืน และเป็นอาชีพที่สามารถมีรายได้รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และผู้พิการสามารถทำได้จริงด้วยตนเอง ใช้พื้นที่น้อย ลงทุนต่ำ รายได้ดี ที่สำคัญเมื่อทำแล้วต้องขายได้ มีรายได้เพียงพอกับการดูแลตนเองและคนในครอบครัว จึงได้มีการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ของผู้พิการขึ้นมาภายใต้แบรนด์ “ยิ้มสู้” เพื่อสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้กับผู้พิการ โดยปัจจุบันได้นำสินค้าเข้าวางจำหน่ายในห้างแม็คโครในเขตจังหวัดภาคเหนือและมีแผนที่จะขยายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งการสนับสนุนสินค้าต่างๆ ภายใต้แบรนด์ยิ้มสู้ ก็เท่ากับกว่าประชาชนคนไทยทุกคนจะได้มีส่วนในการช่วยเหลือผู้พิการนั่นเอง

“ปัจจุบันศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน ซึ่งเปิดให้บริการที่อำเภอแม่ริม มีพื้นที่คับแคบ และไม่เพียงพอต่อการฝึกอบรมอาชีพต่างๆ ให้กับผู้พิการ ดังนั้นในปี 2561 มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการจึงมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ในการร่วมกันสานต่องานที่พ่อ ทำด้วยการเปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง ในการพัฒนาและสร้างสรรค์สังคม ผ่านการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับผู้พิการทั่วประเทศ ภายใต้การดำเนินงานของ ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะมีพื้นที่มากถึง 33 ไร่ สามารถรองรับผู้พิการหรือผู้ดูแลคนพิการได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งในช่วงต้นปี 2561 ทางมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการก็จะได้จัดให้มีกิจกรรม ปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ซึ่งจะเป็นครั้งแรกของประเทศที่คนตาบอดจะปั่นจักรยานจากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ เป็นระยะทางรวมกว่า 867 กิโลเมตร หาทุนเพื่อสนับสนุนการก่อสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนที่อำเภอเชียงดาว จึงอยากที่จะขอเชิญชวนคนไทยทุกคนร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ร่วมกับผู้พิการในการที่จะร่วมกันขยายและสร้างโอกาสให้คนพิการ สานต่องานที่พ่อทำ ด้วยการช่วยเหลือให้ผู้พิการสามารถก้าวข้ามความยากจน มีอาชีพที่ยั่งยืน เพื่อที่จะเปลี่ยนผู้พิการที่ถูกสังคมมองว่าเป็นภาระ ให้กลายเป็นอีกหนึ่งพลังในการสร้างสรรค์และพัฒนาสังคมต่อไป” ศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ สรุป.

หมายเลขบันทึก: 643615เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2017 15:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ธันวาคม 2017 15:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท