รศ.ดร.กวี จุติกุล ปราชญ์เกษตร กล่าวเปิดสวนป่าอนุรักษ์ที่ ม.ขอนแก่น


ความสำคัญของการศึกษาไม่ใช่สาขาวิชาเอกที่เรียน เป็นเรื่องที่ว่าสามารถใช้ทักษะการเรียนรู้ในการที่จะหาความชำนาญ ที่จะประกอบอาชีพได้ โดยที่ศึกษาเพิ่มเติมด้วยตนเอง


 “ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ในที่สุดสวนนี้ก็จะเริ่มโครงการที่จะพัฒนาให้เป็นสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น   มหาวิทยาลัยขอนแก่นในระยะที่เริ่มก่อสร้าง ผู้เชี่ยวชาญกรมป่าไม้ อาจารย์เต็ม สมิตินันทน์ ขึ้นมาเยี่ยมบ่อย แล้วก็ยังปรารภชมว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นโชคดีมากที่มีพันธุ์ไม้หลายหลากชนิด ไม่มีมหาวิทยาลัยแห่งไหนในประเทศไทยที่มีเท่านี้ จึงอยากให้มีวิธีการที่จะให้อนุรักษ์และปรับปรุงให้ดีขึ้นไป เรื่องของพันธุ์ไม้ในเขตนี้ก็คิดว่า ไม้แดงก็เป็นไม้สำคัญอันหนึ่ง ผมมาใหม่ๆนี่จะเห็นว่ามีตอไม้แดงเยอะ  เข้าใจว่าร้อยปีก่อนคงเป็นดงไม้แดงค่อนข้างใหญ่ ก็เลยคิดว่าไม้แดงตรงจุดนี้เป็นกลุ่มใหญ่กลุ่มสุดท้ายที่อยู่ในมหาวิทยาลัย มีไม้แดงอยู่ที่บริเวณอื่นแต่กระจายไปในที่พักอาศัย ตามอาคารเรียน จึงไม่สะดวกที่จะปรับปรุง ให้เป็นที่ที่คนที่สนใจพันธุ์ไม่มาแวะเยี่ยมได้

ในช่วงนั้น ได้เริ่มขออนุญาตอธิการบดี เมื่อปี 2530 คือ นายแพทย์นพดล ทองโสภิต ปรับปรุงบ่อลูกรังสะพานขาวให้เป็นสวนกาลพฤกษ์ เพราะว่าถ้าไม่จับจองไว้มันอาจจะกลายเป็นอาคาร เพราะครั้งหนึ่งอาคาร FM จะเข้าไปอยู่ในนั้น ผมก็ได้ขอให้อยู่ด้านนอกได้ไหม เพราะตรงนี้จะเก็บไว้ในลักษณะที่ว่าเป็นไม้ดั้งเดิมของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในช่วงนั้นตรงสะพานขาวก็จะเป็นบ่อลูกรัง มหาวิทยาลัยขอนแก่นจะมีบ่อลูกรังใหญ่อยู่สองที่ ที่สะพานขาวกับที่บริเวณเจ้าพ่อมอดินแดง ตรงสะพานขาว ตรงบ่อลูกรังก็ได้มีการปรับปรุง  เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่จะใช้ทำประปากับชลประทานเกษตรในไร่  ปูด้วยพลาสติก  ตอนที่ก่อสร้างเสร็จเป็นบ่อพลาสติกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย  เรายังเรียกว่าเป็นบ่อพลาสติก  เพราะว่าเป็นบ่อแรกที่ใหญ่ขนาดนี้ หลังจากนั้นมาก็รู้สึกว่ามีการใช้คันดินรอบที่อ่างเก็บน้ำเป็นที่วิ่งออกกำลังกายของบุคลากรในมหาวิทยาลัย  รวมทั้งต่อมาประชาชนในเมืองขอนแก่นก็ออกมาวิ่งบริเวณนี้  ก็เลยมีความคิดว่าจะปรับปรุงให้ดีขึ้น  แล้วก็สงวนส่วนหนึ่งให้เป็นป่าเดิมรอบๆอ่างยังมีปาล์ม  มีต้นไม้บางอย่างที่นำเข้ามาปลูก ที่สำคัญก็มีป่าลำดวน ซึ่งเป็นลำดวนที่ได้มาจากสวนสมเด็จ ฯ ที่ศรีสะเกษ เพราะว่าศรีสะเกษเป็นจังหวัดที่มีลำดวนมาก  มีลำดวนป่าอยู่เยอะเลยเอามาปลูกไว้ เข้าใจว่าร้อยกว่าต้น ฉะนั้นตอนนี้สำรวจกันเป็นเชิงว่าเป็นไม้ดั้งเดิมตรงนี้  ขอแก้ข่าวว่านี่ไม่ใช่ไม้ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นเดิม  เป็นไม้ที่มาจากสวนสมเด็จ ฯ ศรีสะเกษ  หลังจากนั้นก็มีการปรับปรุงรอบคัน  เพื่อจะเป็นที่วิ่งออกกำลังกาย  ด้านทิศตะวันตกสงวนไว้สำหรับเพื่อศึกษาเรื่องพันธุ์ไม้  มีการเสริมไม้หอมบ้าง  ซึ่งเมื่อเช้าไปหาก็หายไปหลายต้น แล้วบังเอิญว่าปลูกต้นไม้หอมตรงนั้นเป็นสนามฟุตบอลไปครั้งหนึ่ง  ก็เลยเข้าใจว่าต้นตันหยงที่ปลูกไว้ 2 ต้นกลางสนาม  กลายเป็นสนามฟุตบอลไปแล้ว  แต่ว่าในขณะเดียวกัน  ไม้อื่นก็เติบโตกันอย่างมากจนจำไม่ได้  เพราะว่าบางต้นที่เคยเห็นต้นเท่าแขนเป็นขนาดโอบไปแล้ว  เป็นป่าที่ค่อนข้างสมบูรณ์มากขึ้นทุกวัน ผมก็หวังว่าหลังจากที่มีโครงการนี้แล้ว  ดงป่าแดงตรงนี้จะใหญ่ขึ้นทุกวัน ๆ ต้นข้างหลังผมนี้ตอนที่เริ่ม ๆ ประมาณเท่าเสาไฟฟ้าเท่านั้นเอง ดูขณะนี้ต้นใหญ่มาก หลายต้นในบริเวณนี้ ค่อนข้างสมบูรณ์ บริเวณนี้สามารถมองเห็นได้จาก Google Earth  ว่าเป็นดงเขียวกลางมหาวิทยาลัย  มีอยู่วันหนึ่งผมดูแล้วมีวงแดงๆอยู่กลางสวนนี้  ก็เลยถามโรเบิร์ตว่าเกิดอะไรขึ้น  ทำไมถึงดูจาก Google Earth บอกว่ามีอะไรผิดปกติกลางสวน  เขาบอกว่าฝนตกหนัก ไม้แดงล้มไป 3 ต้น  เพราะฉะนั้น  สวนนี้สามารถดูได้จาก Google Earth เพราะว่าเป็นดงเขียวค่อนข้างออกมาเด่นชัดกลางมหาวิทยาลัย

          มหาวิทยาลัยขอนแก่นนอกจากจะมีพันธุ์ไม้หลาย ๆ อย่าง ก็มีที่สมัยนี้เขาบอกว่านวัตกรรมหลายอย่างเกิดขึ้น  อันสุดท้ายก็รู้สึกว่าจะมีร้านกาแฟมากที่สุดในประเทศไทย สำหรับมหาวิทยาลัย  และคิดว่าไม่มีมหาวิทยาลัยที่ไหนจะมีตลาดนัดได้ในมหาวิทยาลัย  นอกจากตลาดนัดแล้วยังมี Agro Outlet มีร้านอาหาร ร้านกาแฟ  ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่แปลก และเป็นสิ่งที่คนในเมืองสามารถมามีส่วนใช้ประโยชน์ในมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้  ผมก็รู้สึกว่าศิษยืเก่าคณะเกษตรบางคนนี่เก่งมาก  ทำกิจการที่ไม่ใช่การเกษตรเลย  ถึงขณะนี้เรียกว่าเราสอนไว้ดีมาก  สามารถทำได้หลายอย่าง  นักธุรกิจอะไรต่าง ๆ คนที่เข้ามาช่วยเหลือเรานี่ไม่ได้เรียน  อย่างคุณไพฑูรย์ ตอนที่อยู่กับพวกเราไม่ได้สอน Landscape เลย  แต่กลายเป็นคนผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดสวน  เพราะฉะนั้น ในแง่นี้  ความสำคัญของการศึกษาไม่ใช่สาขาวิชาเอกที่เรียน  เป็นเรื่องที่ว่าสามารถใช้ทักษะการเรียนรู้ในการที่จะหาความชำนาญ  ที่จะประกอบอาชีพได้  โดยที่ศึกษาเพิ่มเติมด้วยตนเอง  หลายคนที่มีความสำเร็จในการเกษตรนี้  ไปถามดูไม่ได้เรียนเกษตรเป็นแถวเลย ที่ชุมพร  ผมไปดูวันก่อนสวนทุเรียนใหญ่  บอกเรียนอะไรมา “บัญชี”  แล้วปรากฏว่าทำได้ดี  เพราะว่ามีความละเอียดมากในการทำบัญชี  มีความละเอียดมากในการจดบันทึกว่าทุเรียนมันออกดอกวันที่เท่าไหร่แล้วเมื่อไหร่มันสุกแล้วเมื่อไหร่ที่เมืองจันท์มันออกของชุมพรไม่ออก  มีการวางแผนทำสถิติเป็นอย่างดี ผมก็คิดว่าของเราจบเกษตรเอง ก็ไม่ละเอียดขนาดนั้น เราก็จะปลูกกันอย่างเดียวไม่ได้มองในแง่ทางเศรษฐกิจ  

      ผลที่เกิดขึ้นนั้นในขณะนี้เข้าใจว่าคณะเกษตรเราที่นี่ก็มีศิษย์เก่าที่รู้เรื่องธุรกิจดีมาก  ไม่ทำการเกษตรกันแล้ว  หลายคนก็ประสบความสำเร็จใช้ความสามารถที่เรียนรู้เพิ่มเติมหลังจากสำเร็จการศึกษา ผมคิดว่าในระยะยาวการที่เราจะได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยค่อนข้างมากเพราะการที่โครงการนี้เกิดขึ้นมาได้ก็ได้รับความกรุณาจากมหาวิทยาลัยในการที่จะอนุญาตให้โครงการนี้เกิดขึ้นแล้ว  ก็คิดว่าน่าจะขยายมีจุดต่างๆอีกหลายจุด ซึ่งสามารถทำเป็นสวนได้สวนกาลพฤกษ์ก็เป็นอันแรกผมว่าเพิ่งถามว่ามีส่วนอื่นๆเกิดขึ้นหรือเปล่า เขาก็บอกไม่มี  ฉะนั้นก็กลายเป็นว่ามีสวนปัจจุบันคือสวนกาลพฤกษ์กับสวนกวี ผมก็หวังว่าจะมีสวนอื่นๆอยู่ที่จะดูแลอนุรักษ์ในบางอย่าง  ผมก็ถามว่ายอป่ามีไหมที่เป็นดง ๆ อยู่นี่  น่าไปสงวนป่าสักดงหนึ่งอะไรแบบนั้น  สมัยก่อนบริเวณด้านเหนือของคณะเกษตรก็จะมียอป่าค่อนข้างเยอะ  สมัยนี้หาไม่ค่อยเจอ  เรามีต้นไม้ พันธุ์ไม้อยู่หลายอย่างโดยเฉพาะระดับล่างที่ติดกับพื้นที่ไม่เห็นเป็นไม้ยืนต้น  อาจจะมีพันธุ์ไม้ที่ยังไม่ทราบว่าเป็นอะไร เพราะว่าที่ในเขตวิทยาเขตมหาวิทยาลัยขอนแก่นในสมัยที่มีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาประจำอยู่  มีผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่งเป็นนักกีฏวิทยา เขารายงานว่าเขามาอยู่ปีสองปีนี่เขาสามารถวิเคราะห์ดูว่ามีพันธ์ุแมลงใหม่ที่ไม่เคยพบในโลกสองสามพันธุ์  แล้วไปจดชื่อเป็นชื่อ Robinson เพราะฉะนั้นอาจมีพันธุ์ไม้หลายอันที่ยังไม่มีชื่อ  เมื่อเช้าเลยบอกน้อง ๆ ที่เรียนมาทางอนุกรมวิธานว่าเป็นโอกาสอันดี   แล้วศึกษาพันธุ์ไม้ในมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้ดี ๆ อาจเจอพันธุ์ไม้ที่ยังไม่มีชื่อ เพราะว่ามีอะไรที่อยู่ในระดับพื้นอีกมาก  ไม้ยืนต้นอาจจะทราบกันหมดแล้ว  ไม้ที่อยู่ข้างล่างอาจไม่มีใครสังเกตแล้ว ถูกเหยียบย่ำไป ถูกสางออก ยังถามว่าหญ้าเพ็กยังอยู่หรือเปล่า เพราะว่าหญ้าเพ็กเป็นพืชที่ประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่นตั้งแต่ต้น แล้วมีการเผาเป็นระยะ ๆ เพื่อจะเอาหน่อโจดมากิน ในช่วงนั้น มหาวิทยาลัยเกลียดกันมาก หญ้าเพ็กนี่ให้เผากันเป็นแถว ในขณะนี้มีผู้เชี่ยวชาญออสเตรเลียบอกว่าพยายามปลูกหญ้าเพ็ก ปลูกไม่ขึ้น พอเราอยากจะจำกัดนี้มีอยู่มาก  เมื่อเช้าถามว่ามีอยู่ที่ไหนอีก  ก็บอกอยู่แถวสวนนี้ก็มีหญ้าเพ็กอยู่อีกดงหนึ่ง  ก็บอกว่าให้สงวนไว้ให้ดี ๆ เดี๋ยวมันหาไม่ได้หญ้าเพ็กนี้

เรามีเรื่องหลายอย่างที่น่าจะภูมิใจว่า เราจะสามารถช่วยในการอนุรักษ์พันธุ์พืชของเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา  โดยเฉพาะตรงจุดนี้ก็เป็นที่ที่ใช้ในการพักผ่อนหย่อนใจหรือเข้ามาดูพันธุ์ไม้ต่างๆที่มีอยู่ คิดว่าปัจจุบันก็เป็นจุดเริ่มต้นในการที่จะเริ่มให้เกิดขึ้นและหวังว่ายุคนี้จะเป็นยุคจิตอาสา  เพราะฉะนั้นก็หวังว่าจะมีจิตอาสาจากใครต่อใครที่สนใจในเรื่องของพืชนี้  เข้ามาช่วยเหลือในการที่จะปรับปรุงหรือสนับสนุนให้มันดีขึ้นไป  คิดว่าความร่วมมือต่าง ๆ พวกนี้ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้  ถ้ามหาวิทยาลัยไม่ช่วยสนับสนุน  ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นของเรา ก็เห็นความสำคัญเรื่องนี้เป็นอย่างมาก  ไม่ว่าจะเป็นคณะเกษตรศาสตร์  คณะมนุษยศาสตร์  คณะพยาบาลศาสตร์  คณะเภสัชศาสตร์  ต่างๆพวกนี้  อยากเห็นความร่วมมือที่เกิดขึ้น  สร้างเป็นหย่อม ๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นที่เดียวกัน  มีหลายที่ที่สามารถทำได้  แล้วก็ทำในลักษณะที่เป็นธรรมชาติ  ผมไปดูมาหลายแห่ง สวนสมุนไพรต่างๆเดี๋ยวนี้ปลูกเป็นร่อง 1 × 4 เมตรบ้าง  มันก็เลยดูแล้วมันขัดตา  เพราะว่ามันไม่ได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ในแง่ภูมิทัศน์  พยายามบอกว่ามีไม้สมุนไพรหลายตัวหลายอย่างที่สามารถนำมาใช้จัดภูมิทัศน์ได้  ไม่ว่าจะเป็น  ชะอม  ชะพลู  สะระแหน่  เอามาใช้เป็นไม้ประดับได้ทั้งนั้น  ก็เลยคิดว่าแนวคิดแบบนี้น่าจะเกิดขึ้น  ใช้ไม้สมุนไพรประดับแทนที่จะต้องใช้ไม้ต่างประเทศ เพราะฉะนั้นก็จะเป็นประโยชน์ในการที่จะเป็นยารักษาหรือเป็นอาหารได้  สำหรับวันนี้ต้องขอขอบคุณทุกท่านโดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น  ประธานโครงการนี้  และศิษย์เก่า สมาคมศิษย์เก่า  ที่ได้ทำโครงการนี้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาอย่างเป็นทางการ  ก็ขอขอบคุณทุกท่านอีกครั้ง  ขอบคุณมากครับ”

 

รศ.ดร.กวี จุติกุล กล่าวในพิธีเปิดสวนกวี

คณะเกษตรศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น

20 ธันวาคม 2560    

ขอบคุณภาพจากคุณปรีดี ศรีตระกูล

หมายเลขบันทึก: 643512เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2017 21:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ธันวาคม 2017 09:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท