เรื่องเล่าของครูบุญถึง (เรื่องที่ 1 ความรักของครูบุญถึง)


เป็นความสัมพันธ์ที่มีเด็กเป็นสะพานเชื่อมใจให้เรามาร่วมกันสร้างสรรค์ภาระหน้าที่เพื่อดูแลช่วยเหลือเขาตามอุดมการณ์ของเรา... ด้วยใจที่ตรงกัน

      ผมขออนุญาตแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่องเล่า(บันทึก)ของครูบุญถึง(ผมเอง) วันละ 1 ตอน ซึ่งเป็นบันทึกเรื่องราวของเด็กคนหนึ่งที่มีความฝัน ...มีโลกในใจของตนเอง...เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีโอกาสได้เป็นครู  เขาจึงสานฝันนั้นให้เป็นจริง โดยปฏิบัติต่อเด็กๆของเขาเหมือนที่เขาอยากให้เกิดกับตนในวัยเด็ก  ผมหวังว่าเรื่องเล่า(บันทึก)นี้ จะช่วยสะกิดใจครู  ช่วยปลุกจิตวิญญาณความเป็นครูให้เกิดความตระหนักในบทบาทหน้าที่ของตนเอง  ในการอบรมสั่งสอน ดูแลช่วยเหลือเด็กๆที่จะเป็นอนาคตของชาติ  หยั่งถึงโลกในใจของพวกเขา  ช่วยยกระดับจิตวิญญาณของพวกเขาให้เป็นเด็กดีและมีความเจริญก้าวหน้า เป็นเยาวชนที่มีคุณภาพของประเทศชาติสืบไป และหวังว่าบันทึกนี้จะเป็นข้อคิดให้แก่พ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการศึกษาทุกคนด้วยครับ
                                       

เรื่องที่1  ความรักของครูบุญถึง
      
        พอเรียนจบผมก็สอบบรรจุได้เป็นครูโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอที่บ้านเกิด  แรกทีเดียวอาจารย์ใหญ่มอบให้สอนหลายวิชา ทั้งคณิตศาสตร์  ภาษาอังกฤษ  ภาษาไทย  ทั้งมัธยมต้นและมัธยมปลาย  เพราะโรงเรียนขาดครูบางสาขา  ผมเลยต้องเตรียมการสอนกันยกใหญ่  ต่อมาไม่นานก็มีครูขอย้ายและมาบรรจุเพิ่มขึ้น  ผมเลยสบายได้สอนวิชาประวัติศาสตร์วิชาเดียวในทุกระดับชั้น
        เป็นครูได้สามปีก็มีครูรุ่นน้องมาจากกรุงเทพฯวิชาเอกคณิตศาสตร์ จบจากจุฬาฯมาบรรจุเพิ่มอีกคน  เธอชื่อมธุรดา เป็นคนตัวเล็กๆ ยิ้มน่ารักมีเสน่ห์ ดูเป็นคนเชื่อมั่นในตนเอง พูดน้อย กิริยาวาจาสุภาพเรียบร้อย มีสัมมาคารวะกับครูรุ่นพี่และไม่ถือตัว  จึงดูเป็นที่รักและเข้ากันได้กับครูในโรงเรียน  ตรงข้ามกับความรู้สึกแรกของผมที่เข้าใจว่าเด็กจบจากจุฬาฯคงเก่งและถือตัว           
        วันแรกที่ผมได้คุยกับเธอ  เธอยกมือไหว้ผมก่อนในฐานะครูรุ่นพี่  เธอเรียกผมว่าพี่บุญถึง  และเรียกแทนตัวเองว่าแจง คงเป็นชื่อเล่นของเธอ  เธอถามผมเกี่ยวกับสภาพทั่วไปของโรงเรียนและของเด็กที่นี่  ผมก็เล่าไปตามความจริงว่าเด็กที่นี่ส่วนใหญ่เป็นลูกชาวนาและพ่อแม่มีอาชีพรับจ้าง  จึงมีฐานะค่อนข้างยากจน และสติปัญญาก็ไม่ค่อยดีนัก  เด็กเก่งๆและพ่อแม่พอมีฐานะก็จะส่งลูกไปเรียนในตัวจังหวัดหรือเข้ากรุงเทพฯ เด็กที่เรียนดีและฐานะยากจนก็พอมีในโรงเรียนของเราเหมือนกัน  โดยทั่วๆไปเด็กที่นี่ไม่ค่อยมีปัญหา  จะมีบ้างก็ห้องท้ายๆที่ซุกซนและหนีเรียนเสียมากกว่า  โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์
        ครูแจงฟังผมเล่าด้วยความสนใจและครุ่นคิด ไม่มีสีหน้าบอกถึงความเบื่อหน่ายหรือท้อถอยให้เห็น  เธอเล่าให้ผมฟังว่าที่เธอสมัครมาสอนที่นี่ด้วยเหตุผลที่อยากสอนเด็กในชนบทที่ด้อยโอกาส แต่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯมากนัก เพราะเธอเป็นลูกสาวคนโตยังมีภาระต้องดูแลครอบครัวและส่งเสียน้องๆเรียนต่อ  ทำให้ผมรู้สึกชื่นชมเธอตั้งแต่ตอนนั้น
           ผมมีโอกาสได้ร่วมงานกับเธอมากขึ้นตอนที่ผมตั้งชมรมผู้บำเพ็ญประโยชน์ซึ่งรับสมัครนักเรียนที่มีจิตอาสา  ขี่จักรยานออกไปช่วยชาวบ้านปลูกผักทำสวนครัวและช่วยทำนาในวันเสาร์  ครูแจงสนใจสมัครเข้ามาร่วมในชมรมกับผม  เธอขี่จักรยานไม่เป็นจึงซ้อนท้ายผมไปร่วมขบวนกับนักเรียนในชมรม 12 คน ซึ่งมีทั้งนักเรียนชายและนักเรียนหญิง  เด็กๆเขาจะนำจอบ เสียม อุปกรณ์การเกษตรใส่ท้ายจักรยานไปด้วย  พร้อมทั้งห่อข้าวกลางวันไปทานกัน  วันเสาร์แรกๆเราจะไปบ้านของนักเรียนที่เป็นสมาชิกชมรมกันก่อนถือเป็นการไปเยี่ยมบ้านนักเรียน ได้พูดคุยกับพ่อแม่ผู้ปกครอง แล้วหาที่ปลูกผักทำสวนครัวกัน  นักเรียน 3 คนจะร่วมกันทำแปลงปลูกผัก 1 แปลง โดยมีแปลงของผมกับครูแจงด้วย 1 แปลง ไปหนึ่งบ้านในหนึ่งเสาร์ก็จะได้แปลงผัก 5 แปลง แรกๆผมก็จะเตรียมเมล็ดพันธุ์ผักไป จะอธิบายวิธีปลูก การใส่ปุ๋ยคอกซึ่งแต่ละบ้านมีอยู่แล้ว และการดูแลรดน้ำพรวนดินให้ทั้งนักเรียนและผู้ปกครองฟังกันก่อนลงมือปฏิบัติ  ตอนหลังจะมีชาวบ้านข้างเคียงมาฟังและมาช่วยเด็กๆปลูกผักด้วยและเริ่มมีเมล็ดพันธุ์ผักมาแบ่งปันแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น  จากนั้นก็มอบให้นักเรียนและผู้ปกครองบ้านนั้นๆ ดูแล รดน้ำ ใส่ปุ๋ยกันต่อ  ทำเช่นนี้ต่อเนื่องทุกเสาร์แต่ละบ้านก็จะมีผักหลากหลายชนิดนำมาแลกเปลี่ยนแบ่งปันกัน  บ้างก็ทำกับข้าวมาทานกันด้วย  พอถึงฤดูทำนาเด็กๆก็จะเปลี่ยนจากการปลูกผักมาลุยโคลนช่วยชาวบ้านทำนากันอย่างสนุกสนานไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย            
        ครูแจงเองแม้ในชีวิตไม่เคยต้องลงมาตากแดดคลุกดินลุยโคลน แต่เธอก็ไม่แสดงความท้อถอยที่จะลงมือทำร่วมกับผมและเด็กๆ  ดูเธอมีความสุขที่ได้มาช่วยชาวบ้าน แม้ท่าทางจะไม่ทะมัดทะแมงเหมือนชาวไร่ชาวสวนแต่เธอก็พยายามเรียนรู้และสู้งาน  เห็นภาพผู้หญิงตัวเล็กๆทำงานจนเหงื่อโทรมกาย หน้าแดงก่ำเพราะกรำแดด ช่างเป็นภาพที่ดูน่ารักและน่าศรัทธายิ่งนัก  เพียงชั่วเวลาไม่กี่เดือนครูแจงก็กลายเป็นขวัญใจของนักเรียนและชาวบ้านไปแล้ว
        วันธรรมดาเราจะตั้งหน้าตั้งตาสอนและอบรมเด็กด้วยความตั้งใจ  ครูแจงกับผมอยู่ห้องพักครูคนละห้อง  แต่มีชั่วโมงว่างเมื่อไรเราจะผลัดกันเดินไปหากัน  ไม่ได้คุยเรื่องอื่นเลยนอกจากแลกเปลี่ยนกันในเรื่องเด็กๆและเรื่องการสอน  ซึ่งส่วนใหญ่ความคิดเราจะตรงกัน  เธอมีความฝันมีโลกในใจที่อยากดูแลเด็กเช่นเดียวกับผม  โดยเฉพาะเด็กที่ด้อยโอกาส แม้เธอจะอยู่ในเมืองกรุง แต่ฐานะทางบ้านก็ไม่ค่อยดีนัก อาศัยที่เรียนดีจึงได้รับทุนเล่าเรียนมาโดยตลอด
         ครูแจงอยู่บ้านพักครูหลังติดกันกับผม เป็นบ้านพักครูโสดหญิง ส่วนผมอยู่บ้านพักครูโสดชาย อยู่กันหลังละ 4 คน ส่วนใหญ่จะเป็นครูบรรจุใหม่ที่อยู่ต่างจังหวัด ต่างอำเภอ มีผมคนเดียวแม้จะอยู่อำเภอเดียวกัน แต่พอพ่อแม่เสียชีวิตก็ไม่มีบ้านของตนเองอยู่จึงต้องมาอาศัยอยู่บ้านพักครูด้วย  ตอนเย็นครูโสดชายครูโสดหญิงมักจะทำอาหารมาร่วมกันรับประทานที่ใต้ถุนบ้านพัก ได้พูดคุยกันอย่างสนุกสนาน  บ้างก็จับกลุ่มแยกย้ายกันไปทำกิจกรรมตามที่ตนเองถนัด เช่น เล่นกีฬา ออกกำลังกาย เล่นดนตรี ไปเดินเล่นในตลาด เป็นต้น ซึ่งจะไม่มีเรื่องชู้สาวมาปะปนให้เสื่อมเสีย           ส่วนผมกับครูแจงเราจะหาเวลาไปเยี่ยมบ้านเด็กๆด้อยโอกาสที่เราเป็นครูประจำชั้น แล้วรวบรวมเขียนประวัติเสนอขอรับทุนการศึกษาและพยายามติดตามจนได้รับทุนกันเกือบทุกคน 
        พักกลางวันวันหนึ่งผมเห็นเด็กที่ผมสอนคนหนึ่ง ไปนั่งเก็บตัวอยู่ที่ห้องสมุด สอบถามทราบว่าไม่ได้ทานข้าวกลางวันมาตลอด เหมือนกับผมเมื่อตอนเป็นเด็ก จึงเจียดเงินค่าอาหารกลางวันให้ไปทานหนึ่งมื้อ  แล้วมาคุยเรื่องนี้กับครูแจงว่าจะช่วยเขาอย่างไรดี  ครูแจงเองก็มีข้อมูลเด็กที่ไม่ได้รับประทานอาหารกลางวัน แต่หลบไปนั่งตามร่มไม้ ไปเล่นกีฬาเหมือนกัน  เราจึงรวบรวมรายชื่อเด็กเหล่านั้นได้ 8 คน แล้วไปชวนเขาคุยอย่างเข้าใจไม่ให้เขารู้สึกว่ามีปมด้อย แล้วเราแบ่งเด็กไปดูแลกันฝ่ายละ 4 คน เราช่วยกันทำคูปองอาหารเป็นของส่วนตัวของเราเอง แล้วเก็บคูปองนี้ไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานของแต่ละคน จากนั้นก็ไปตกลงกับแม่ค้าขายข้าวแกงในโรงเรียน ว่าให้เด็กที่ถือคูปองนี้มารับประทานอาหารกลางวันได้คนละ 1 จาน แล้วสิ้นเดือนเราก็จะเอาเงินค่าอาหารมาจ่ายให้กับแม่ค้าตามจำนวนคูปอง  ตอนพักกลางวันเด็กๆก็จะมาหยิบคูปองในลิ้นชักโต๊ะ เพื่อไปทานอาหารกันคนละ 1 จาน และดื่มน้ำเปล่าที่โรงเรียนจัดให้  ซึ่งเป็นการช่วยเหลือไปพร้อมกับการอบรมสั่งสอนเขาให้รู้จักสู้ชีวิตและเป็นคนดี  โดยไม่ให้รับไปฟรีๆ แต่ต้องมาบริการช่วยเหลือครูทำงานในห้องพักครูเมื่อมีเวลาว่าง ภายหลังเมื่อครูคนอื่นและศิษย์เก่าทราบว่าเราช่วยเหลือนักเรียนอย่างนี้เขาก็เข้ามาร่วมสมทบด้วย ที่ต้องให้เป็นคูปองไม่ใส่เป็นเงินสด เพราะเรามั่นใจได้ว่าเด็กๆจะได้รับประทานอาหารที่เขาเลือกเองอย่างอิ่มท้องแน่นอน ไม่นำเงินไปใช้ในทางอื่น
       ผลพลอยได้จากการมาช่วยครูทำงาน ทำให้เด็กเหล่านั้นได้เรียนรู้งาน สามารถวางตนได้อย่างเหมาะสม ได้รับการกล่อมเกลาให้เป็นเด็กกตัญญูมีน้ำใจ  กลายเป็นเด็กที่มีเสน่ห์ ได้รับความรักความเมตตาจากครูคนอื่นๆในห้องพักครูด้วย
         การได้มีโอกาสใกล้ชิดทำงานร่วมกันกับครูแจงบ่อยๆ นานวันเข้ากลายเป็นความผูกพันที่อบอุ่นเมื่ออยู่ใกล้เธอ  แต่ในส่วนลึกยังรู้สึกว่าตนเองเป็นคนบ้านนอก รูปร่างหน้าตาไม่มีอะไรนาสนใจ จึงไม่กล้าคิดอะไรที่เกินเลยไปกว่านี้ เพียงแต่เก็บความรู้สึกดีๆซ่อนไว้ภายในก็เพียงพอแล้ว  ผมคิดว่าครูแจงเองก็คงคิดกับผมเหมือนพี่ชายที่ใจดี ไว้วางใจได้ และมีความคิดใกล้เคียงกัน  ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่มีเด็กเป็นสะพานเชื่อมใจให้เรามาร่วมกันสร้างสรรค์ภาระหน้าที่เพื่อดูแลช่วยเหลือเขาตามอุดมการณ์ของเรา ด้วยใจที่ตรงกัน  ปล่อยให้ความสัมพันธ์ของเราดำเนินต่อไปเช่นนี้จะดีกว่า
         ระยะหลังเราคุ้นเคยสนิทสนมรู้ใจกันกันมากขึ้น เมื่อผมติดขัดเรื่องเทคนิควิธีสอนหรือเทคโนโลยีใหม่ๆเธอก็จะเป็นทางออกที่สร้างสรรค์ให้กับผมทุกครั้ง  หากเป็นเรื่องข้อมูลเด็ก ข้อมูลท้องถิ่น ผมก็จะเป็นตัวช่วยที่ดีให้เธอ  เราเจอกันบ่อย ทำงานร่วมกันบ่อย จนเพื่อนครู พี่ๆพากันเชียร์ให้เป็นคู่ที่แท้จริงกัน  อาจารย์ใหญ่อีกคนท่านคงมีนโยบายลึกๆไม่อยากให้ครูแจงย้ายกลับกรุงเทพฯ เลยออกหน้าเป็นสื่อกลางพูดแซวกันในงานเลี้ยง งานประชุมบ่อยๆ  ครูแจงเธอเพียงแต่ยิ้ม ไม่ตอบรับหรือปฏิเสธใดๆต่อแรงเชียร์ให้เห็นสักครั้ง  ผมเองต่างหากที่ใจเต้นตุ๊บๆ อยากให้ความฝันเป็นจริง แต่ก็ต้องยิ้มและนิ่งเก็บอาการเช่นเดียวกับครูแจง
         แม้เราไม่เคยพูดความในใจต่อกัน  แต่ความใกล้ชิดผูกพันทำให้ผมเริ่มมั่นใจว่า  ครูแจงเองก็ไม่ได้รังเกียจผม แต่อุดมการณ์และภาระหน้าที่ย่อมอยู่เหนือความรักแบบหนุ่มสาว  ผมจึงคิดว่า ปล่อยให้ทุกอย่างสุกงอมไปตามครรลองของธรรมชาติดีกว่า        
         สักวันหนึ่งถ้าพรหมลิขิตบันดาลชักพาจริง เราก็คงไม่คลาดจากกัน.. 
                                                                          ***********************************

หมายเลขบันทึก: 643454เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2017 20:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 ธันวาคม 2017 22:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
จุรีรัคน์. ทองพานิชย์

เอาใจช่วยครูบุญถึงและครูแจงค่ะ


-สวัสดีครับ

-น่ารักมากๆ ครับ

-รอติดตามอ่านบันทึกต่อไปครับ

-ขอบคุณครับ

ขอติดตามครูบุญถึงกับครูแจงน่ารักค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท