เส้นทาง 17 ปี คพชน. ใช้หลักธรรมแก้ไขปัญหาชุมชน กับการปรับตัวเรื่องท้าทายใหม่ๆ ในสังคม


วัดและพระสงฆ์ไม่ได้เป็นศูนย์กลางทุกอย่างเช่นในอดีต ตรงกันข้ามสังคมไทยปัจจุบันห่างวัด เปลี่ยนไปศูนย์สรรพสินค้าแทน แม้กระทั่งวิธีการทำบุญ และการปฏิบัติธรรมก็ถูกสับเปลี่ยนพื้นที่ การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวไม่เพียงแต่แสดงถึงความเปลี่ยนแปลขนาดใหญ่ทางพุทธศาสนา แต่หมายรวมถึงการย้ายโลกทัศน์ของชุมชนชาวบ้าน จากที่เคยมีโลกทัศน์ภายใต้หลักความเชื่อทางพุทธศาสนา เป็นสังคมโลกที่จับต้องได้


         วัดและพระสงฆ์ไม่ได้เป็นศูนย์กลางทุกอย่างเช่นในอดีต ตรงกันข้ามสังคมไทยปัจจุบันห่างวัด เปลี่ยนไปศูนย์สรรพสินค้าแทน แม้กระทั่งวิธีการทำบุญ และการปฏิบัติธรรมก็ถูกสับเปลี่ยนพื้นที่ การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวไม่เพียงแต่แสดงถึงความเปลี่ยนแปลขนาดใหญ่ทางพุทธศาสนา แต่หมายรวมถึงการย้ายโลกทัศน์ของชุมชนชาวบ้าน จากที่เคยมีโลกทัศน์ภายใต้หลักความเชื่อทางพุทธศาสนา เป็นสังคมโลกที่จับต้องได้

            “พระสงฆ์เพื่อคนจน”เป็นชื่อครั้งแรกที่ถูกจัดตั้งในนามเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาเพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างวัดและชุมชน ที่ต้องเกื้อกูลอาศัยซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะสงฆ์ส่วนใหญ่เป็นลูกชาวบ้านที่เข้ามาบวชในทางพุทธศาสนา   ต่อมาก็พบว่า ไม่เพียงแต่คนจนเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบหรือปัญหาต่างๆ แต่หมายรวมไปถึงคนชั้นกลาง 1 ปีต่อจากนั้นพระสงฆ์ตามพื้นที่ต่างเกาะเกี่ยว ขยายใน 7 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาชุมชนภาคเหนือตอนบน (คพชน.) จึงถูกเรียกอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 เพื่อใช้หลักธรรม และส่งเสริมบทบาทพระสงฆ์ในการช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้ผลกระทบจากกระแสโลกาภิวัตน์ หรือผลกระทบต่อนโยบายของรัฐ   โดยมีพระมหา ดร.บุญช่วย สิรินธโร (พระครูพิพิธสุตาทร) อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่เป็นประธานเครือข่ายในขณะนั้น และร่วมก่อตั้งสถาบันโพธิยาลัยเพื่อเป็นศูนย์ประสานงานและขับเคลื่อนงานเครือข่ายในขณะนั้น  ระยะเวลากว่า 17 ปี แห่งการทำงานเพื่อชุมชนภายใต้หลักคิด “พุทธธรรมนำปัญญา พัฒนาท้องถิ่น”  

       

        เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2560 เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาชุมชนภาคเหนือได้ทบทวน งานเครือข่ายพบว่า การเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุค แต่ละสมัย ชุมชนเผชิญปัญหาแตกต่างกันออกไปตามนโยบายของรัฐ และแนวทางการพัฒนาต่างๆ          

            พระครูสุจิณนันทกิจ  เจ้าคณะอำเภอสันติสุข จ.น่าน และประธานมูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชนวัดโป่งคำ กล่าวว่า ทุกวันนี้สังคมกำลังอยู่ท่ามกลางภาวะวิกฤติ ไม่มีองค์กรไหนที่จะมาแก้ไขปัญหาได้ดีเท่ากับวัดและพระสงฆ์  ท่านมักถูกถามจากชาวบ้านว่า เป็นกิจของสงฆ์หรือไม่ ท่านก็บอกว่า กิจของชาวบ้านและกิจของสงฆ์คือเรื่องเดียวกัน ถ้าชาวบ้านมีปัญหาพระสงฆ์ก็อยู่ไม่ได้ เช่นเรื่องของเศรษฐกิจ ชาวบ้านยากจน ข้าวปลาอาหาร สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ถ้ามองว่าไม่ใช่กิจของสงฆ์ วันหนึ่งเราก็อยู่ไม่ได้ ทุกข์ชาวบ้านคือทุกของพระสงฆ์  เราต้องเปลี่ยนวิถีคิด องค์ความรู้ภูมิปัญญาที่มีอยู่เราต้องศึกษาข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลข สถานการณ์ต่างๆ  และต้องวางแผนให้เหมาะสม และอีกอย่าง เราต้องทำเป็นต้นแบบให้ชาวบ้านเห็น อย่างกรณีที่วัดโป่งคำมีปัญหาเรื่องการทำลายป่า เราก็ต้องสร้างวัดให้เป็นป่าชุมชน  ปัจจุบันพบว่ามีสมุนไพร 163 ชนิดที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้

            พระสาธิต ธีรปัญญโญ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมภิวัฒน์  อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง กล่าวว่า เมื่อก่อนตนเองมักจะมองพระสงฆ์ที่ทำงานกับชุมชนว่า เป็นพระนอกรีต กิจของสงฆ์คือการนั่งหลับตา เดินจงกรม เมื่อเรียนจบกลับมาบ้านตนเอง พบว่า ชวนบ้านปฏิบัติธรรมอย่างเดียวไปไม่รอด เพราะชาวบ้านเผชิญปัญหาปากท้อง สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ สิ่งแรกที่นึกถึงคือ พระมหาบุญช่วย สิรินธโร ซึ่งท่านทำงานเรื่องนี้มานาน

      นอกจากนี้พระอาจารย์สาธิต ธีรปัญโญ ให้ทัศนะว่า การก่อกำเนิดเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาจริงๆ เกิดจากการเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับกระทบต่อนโยบายของรัฐ เมื่อทำงานแล้วพระสงฆ์นักพัฒนายังถูกมองจากเจ้าคณะชั้นปกครองว่าไม่ใช่กิจของสงฆ์  ปัจจุบันพระสงฆ์นักปกครองหลายรูปเริ่มตื่นตัวและทำงานในแนวนี้มากขึ้น  อีกด้านหนึ่งเครือข่ายพระสงฆ์หลายรูปขยับขึ้นเป็นพระนักปกครองซึ่งเกื้อกูลต่อเครือข่าย  สิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ เราต้องถามตัวเองก่อนว่า ทำไมเราต้องลุกขึ้นมาทำงานพัฒนาชุมชน ถ้าเราตอบตัวเองไม่ได้ เราก็ไปตอบคนอื่นไม่ได้เช่นกัน  เรื่องนี้จริงๆ เป็นบทบาทของพระโดยตรงที่ต้องเข้าไปแก้ทุกข์ของชาวบ้าน แต่ทุกข์ก็มีหลายระดับ  พระสงฆ์ไม่อาจจะแยกออกจากสังคม เราจะเกื้อต่อสังคมเกื้อกูลต่อรัฐอย่างไร

  

           พระครูสุมณฑ์ธรรมธาดา อาจารย์ประจำวิทยาลัยสงฆ์พุทธชินราช มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวว่า สิ่งสำคัญก็คือเราต้องรู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ การเรียนรู้และปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนามีความสำคัญมาก เราต้องรู้ให้จริง ตนเองทำงานหลายเรื่อง แต่เรื่อที่ทำมากที่สุดคือ การแก้ไขปัญหาการดื่มสุราในชุมชน   ลำพังเราทำงานแก้ไขปัญหาทำด้วยตนเองไม่ได้ต้องเชื่อมโยงกับเครือข่ายต่างๆ หากเราไม่ทำอะไรเลยสถานการณ์ก็คงแย่กว่านี้ เพาะมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง เราเป็นคนกลุ่มเล็กๆ ที่ทำงานทวนกระแส ทำงานต่อสู่กับนายทุนที่ยึดเอาประโยชน์ของตนเอง หากพระสงฆ์ไม่ทำงานปานนี้วัดคงเป็นลานเบียร์ แม้ปัจจุบันจะมีกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังเอาไม่อยู่ ลูกหลานจะเป็นอย่างไร ถ้าเราสู้แบบไม่จริงจัง สุดท้ายก็ไม่เกิดประโยชน์ชุมชนและสังคม พระสงฆ์ถือว่าเป็นทุนสำคัญเราต้องใช้โอกาสตรงนี้ในการทำงานให้ชาวบ้านได้มีชีวิตปกติสุข และเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอีกทางหนึ่งด้วย

            นอกจากนี้นี้ยังมีพระนักพัฒนาหลายรูปที่ร่วมแลกเปลี่ยนบทเรียนการทำงาน พร้อมเสนอแนวทางการขับเคลื่อนงานของเครือข่ายฯ ในอนาคต  สิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ พระนักพัฒนาหลายรูปต่างก็เห็นความสำคัญของการทำงานในลักษณะเครือข่ายที่ต้องเกาะเกี่ยว เชื่อมโยงเพื่อให้เกิดพลัง หากต่างคนต่างทำ งานบางอย่างก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ ประการต่อมา อยากให้มีการพัฒนาพระสงฆ์นักพัฒนารุ่นใหม่ที่สนใจงานชุมชนมากขึ้น ไม่เพียงแต่เรียนหนังสือในห้องเรียนเท่านั้น  นอกจากนี้พระครูสมุห์วิเชียร คุณธัมโม  ในฐานะกองเลขานุการเครือข่ายฯ ยังได้เสนอให้มีการพัฒนากลไกการทำงานของเครือขายระดับจังหวัดเพื่อร่วมประสานงานอย่างใกล้ในอนาคตอีกด้วย

หมายเลขบันทึก: 643407เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2017 09:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ธันวาคม 2017 09:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท