ชุมชนคน “มอญ” หริภุญชัย ปลุกคนรุ่นใหม่ใส่ใจรากเหง้า


ชุมชนคน “มอญ” หริภุญชัย

ปลุกคนรุ่นใหม่ใส่ใจรากเหง้า

             เอ่ยถึงชุมชนมอญ คนทั่วไปจะคิดถึงมอญภาคกลางที่กระจายตัวอยู่ในหลายจังหวัด เช่น ราชบุรี กาญจนบุรี ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี  น้อยคนนักจะทราบว่ามอญกลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่ใน จ.ลำพูน ด้วย เพราะเป็นถิ่นล้านนาที่แม้จะมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ เช่น คนพื้นเมือง ไทยวน ไทเขิน ไทลื้อ ไทยอง ปกาเกอะญอ อาข่า ลีซู ลาหู่ ม้ง ฯลฯ แต่แทบไม่เคยกล่าวถึง “มอญ” มาก่อนเลย

            ในลำพูน มีคนไทยเชื้อสายมอญอาศัยอยู่ 2 หมู่บ้าน คือบ้านหนองดู่ และบ้านบ่อคาว โดยชาวมอญที่นี่ ถือเป็นชาติพันธุ์มอญที่เก่าแก่ คนที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ยังคงรับประทานอาหารพื้นบ้านมอญ และพูดภาษามอญได้ แต่เด็กและวัยรุ่น 65% มักจะออกไปเรียน หรือประกอบอาชีพนอกชุมชน เหลือ 35% อยู่ในหมู่บ้าน แต่ก็ไม่ค่อยใส่ใจวิถีแบบมอญ อย่าง อาหารพื้นบ้านของมอญ ก็ไม่ค่อยมีใครสนใจแล้ว ทั้งที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก

            เช่นเดียวกับประเพณีของชาวมอญ ไม่ว่าจะเป็นการทำพิธีกรรมทางศาสนาแบบพิธีกรรมมอญ การแต่งกายด้วยชุดมอญในงานสำคัญต่างๆ การสวดมนต์ด้วยภาษามอญ ก็หลงลืมกันไป อีกทั้งวัยรุ่นส่วนหนึ่งปกปิดรากเหง้าของตัวเอง คล้ายจะอับอายที่จะให้คนอื่นๆ รู้ว่าตนเองมีเชื้อสายมอญ

            จากสภาพปัญหานี่เอง ชาวมอญบ้านหนองดู่ จึงของรับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำโครงการชุมชนน่าอยู่หมู่บ้านหนองดู่ เพื่อค้นหารากเหง้า วิถีชีวิตของคนมอญ โดยเฉพาะภาษา การแต่งกาย และอาหารพื้นบ้านของชาวมอญ ที่จำเป็นต้องฟื้นฟู เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักและสืบทอดต่อไป

            ลุงจันทร์ เขียวพันธุ์ ผู้รับผิดชอบโครงการชุมชนน่าอยู่หมู่บ้านหนองดู่ ต.บ้านเรือน อ.ป่าซาง จ.ลำพูน เล่าว่า ช่วงวัยรุ่นลุงจันทร์บวชเรียนตั้งแต่อายุ 16 ปี แล้วไปอยู่กรุงเทพฯ พอลาสิกขาก็ทำงานในกรุงเทพฯ และมีโอกาสไปใช้ชีวิตที่ประเทศออสเตรเลีย 10 ปี รวมเวลาที่ออกจากบ้าน 30 กว่าปี พอกลับมาอยู่บ้านในวัย 50 ปี ทุกอย่างแตกต่างจากสมัยเด็กโดยสิ้นเชิง และเมื่อมองไปถึงชาวมอญที่อาศัยอยู่ใน จ.เชียงใหม่ อีก 2 หมู่บ้าน คือบ้านต้นโชค ต.ยุหว่า และบ้านหนองครอบ ต.แม่ก๊า อ.สันป่าตอง ที่อยู่ห่างจากชาวมอญลำพูน แค่ลำน้ำปิงกั้น ก็พบว่าถูกกลืนทางวัฒนธรรม จนกลายเป็นคนพื้นเมืองของล้านนาไปหมดแล้ว

            ในอดีตนั้น คำว่า “มอญร้องไห้” ยังมีให้เห็นในงานศพของคนมอญ ซึ่งจะมีพิธีกรรมค่อนข้างมาก เช่น การฟ้อน การร้องไห้ ทุบหม้อข้าวหม้อแกง ล้างหัวกระได ทุกวันนี้พิธีกรรมทางศาสนาเกี่ยวกับงานศพหายสูญไปแล้ว เหลือแค่การทำบุญครบ 7 วัน ขณะเดียวกันเครื่องดนตรีขึ้นชื่อคือปี่พาทย์ คนรุ่นหลังพากันขายไปหมด แม้ปัจจุบันจะยังหาซื้อชุดปี่พาทย์ได้ แต่ก็ไม่ใช่ปี่พาทย์โบราณ

            หากจะสืบสาวเรื่องราวชาวมอญลำพูน ลุงจันทร์ เล่าว่า มอญลำพูนเป็นชนดั้งเดิม คู่กับลั้วะ โดยเข้ามาตั้งแต่สมัยเสียม ก่อนเป็นสยาม หรือก่อนสมัยเจ้าแม่จามเทวี แต่คนรุ่นหลัง และนักประวัติศาสตร์บางคนเข้าใจผิด คิดว่าคนมอญลำพูนเข้ามาพร้อมกับเจ้าแม่จามเทวี ที่มาจากเมืองละโว้ หรือลพบุรี จนเกิด 3 ข้อสันนิษฐาน ต่อคนมอญที่นี่ ว่า 1.เป็นชนชาติมอญดั้งเดิม 2.เป็นมอญที่อพยพตามเจ้าแม่จามเทวี มาจากละโว้  และ 3.เป็นชาวมอญจากพม่าที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน

            ลุงจันทร์ จึงย้ำถึงหลักฐานสนับสนุนความเป็นชนชาติดั้งเดิมว่า แม่น้ำปิง ในสมัยก่อนเรียก “ลั้วะมิง” แล้วกลายมาเป็น “ระมิงค์” ส่วนคำว่า ปิง มาภายหลัง และภาษาพูดของคนมอญในลำพูน ก็ออกเสียง สำเนียง ใกล้เคียงกับคนมอญบางขันหมาก จ.ลพบุรี ดังนั้นในการฟื้นฟูให้คนมอญเห็นความสำคัญและภาคภูมิใจในตัวเอง จึงต้องอาศัยเวลา และมีกิจกรรมรองรับ

            ด้าน ป้าพรพรรณ เขียวพันธุ์ ภรรยาคู่ชีวิตของลุงจันทร์ กล่าวถึงอุปสรรคของการทำงานว่า ภายในหมู่บ้านหนองดู่ มี 200 กว่าหลังคาเรือน เดิมชาวบ้านทำนา มีที่นาของตนเอง แต่ภายหลังลูกหลานได้ขายไปจนหมด ทำให้ต้องอพยพไปอยู่ที่อื่นแบบกระจัดกระจาย และในหมู่บ้าน ก็เหลือผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ จึงขอความร่วมมือจากคนกลุ่มนี้เป็นหลัก ในการถ่ายทอดความรู้และภูมิปัญญาในด้านต่างๆ ให้กับเด็กมอญรุ่นใหม่

            นอกเหนือจากการรณรงค์ให้แต่งกายแบบมอญ ในงานประเพณีสำคัญต่างๆ และจัดกิจกรรมตามวิถีของคนมอญ เช่น การแห่หงส์ แหธงตะขาบ ทำข้าวแช่ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ วันที่ 16 เมษายน การลอยเฮือสะเปา (เรือสำเภา) ในวันลอยกระทง สอนเด็กๆ เพาะพันธุ์ไม้ที่สำคัญต่อคนมอญ อย่าง ต้นกล้วย กระเจี๊ยบ ขี้เหล็ก และให้กลุ่มแม่บ้านสอนเด็กทำอาหารมอญ อาทิ แกงดอกส้าน แกงขี้เหล็ก แกงบอน แกงดอกส้าน แกงกระเจี๊ยบมอญ แกงกล้วยดิบ แกงปลาปั้น (ปลากราย) แกงหยวกกล้วย คั่วคน่อม (ผัดขนมจีน) ฯลฯ

            คนมอญกินอยู่อย่างเรียบง่าย อาศัยเรือนไม้อยู่ใกล้ลำน้ำ ยกใต้ถุนสูง แต่เดี๋ยวนี้หาดูได้ยาก กลายเป็นบ้านปูนเกือบหมดแล้ว ส่วนอาหารการกินก็มีเอกลักษณ์ เช่น แกงหยวกกล้วยใส่ปลาแห้ง จะไม่ใส่เนื้อหรือไก่เหมือนคนเชื้อสายไทยอง ที่นำสูตรดั้งเดิมของคนมอญไปดัดแปลงให้หลากหลายยิ่งขึ้น

            “ทุกวันนี้ ชาวมอญในลำพูนรู้จักตัวตนของตัวเองยิ่งขึ้น ไม่อายที่จะบอกกับคนอื่นๆ ว่าเป็นคนมอญ ในวาระโอกาสสำคัญก็แต่งกายด้วยเสื้อผ้าแบบมอญ จนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป เมื่อทางสมาคมมอญแห่งประเทศไทยจัดงาน ก็จะเชิญไปร่วมตลอด หรือในท้องถิ่นเองทางองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเรือน ก็สนับสนุนให้อนุรักษ์วิถีชีวิต ความเป็นอยู่แบบมอญไว้ แต่ค่อนข้างเน้นประชาสัมพันธ์ด้านท่องเที่ยวมากเกินไป ซ้ำข้อมูลบางอย่างที่เผยแพร่ไม่ตรงกับที่ประวัติศาสตร์จารึกไว้ เช่น ระบุว่าเจ้าแม่จามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรหริภุญชัย หรือลำพูนในปัจจุบัน มีกำเนิดอยู่ที่นี่ ไม่ใช่เมืองละโว้ จึงไม่เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง”  ป้าพรพรรณ กล่าว

            หากไม่ว่าจะมีอุปสรรคเพียงใด ความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทยเชื้อสายมอญ ทำให้ลุงจันทร์ และภรรยายังพร้อมที่จะก้าวต่อไป โดยเจียดพื้นที่สวน 5 ไร่ ทำศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ให้ความรู้เกี่ยวกับวิถีของมอญในช่วง 100 กว่าปีที่ผ่านมา เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมของคนมอญให้คงอยู่สืบไป

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท