เจ้าพ่อศรีนครเตา


เจ้าพ่อศรีนครเตา

 จริงๆแล้ว  พระศรีนครเตาท้าวเธอ  มีอนุสาวรีย์ หลายเเห่งมาก

  ทั้งในจังหวัดสุรินทร์

จังหวัดศรีสะเกษ 

จังหวัดร้อยเอ็ด

จ.มหาสารคาม

เเละจังหวัดบุรีรัมย์ บางส่วน

เพราะท้องถิ่นนี้มีความเชื่อฝังจิตใจมานาน ว่า พระศรีนครเตาท้าวเธอ หรือที่เรียกกันว่า  ญาพ่อศรีคอนเตา เป็นหลักใหญ่ของอารักษ์ที่ปกป้องคุ้มครองลูกหลานเเละคนในท้องที่  ทุ่งกุลา ทั้งมวน ครับ เวลาจะทำไรต้องบอกกล่าวท่านก่อนเสมอครับ  #สุริยา ฝ่ายเทศ


‘เจ้าพ่อศรีนครเตา’ พ่อใหญ่แห่งทุ่งกุลา


บทความโดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ


เรียบเรียงเมื่อ 27 พ.ค. 2559, 08:26 น.


เข้าชมแล้ว 16981 ครั้ง


‘เจ้าพ่อศรีนครเตา’ พ่อใหญ่แห่งทุ่งกุลา


 


 


                      คำว่า ‘เขมรป่าดง’ ปรากฏในเอกสารทางราชการของราชสำนักสยามที่ใช้เรียกบริเวณทางตอนใต้ของที่ราบสูงโคราชซึ่งมีขอบเขตติดกับเขมรต่ำ     โดยมีขอบของเทือกเขาพนมดงเร็กเป็นจุดแบ่ง มีเมืองพุทไธรสง เมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ เมืองพิมาย และเรียกผู้คนที่เป็นชาวกูยหรือชาวเขมรที่อยู่อาศัยในบริเวณนี้อย่างรวมๆ ว่า “เขมรป่าดง” คนในกลุ่มนี้มีชื่อเสียงในเรื่องวิชาหมอช้าง ที่สามารถจับช้างป่าส่งเป็นส่วยให้กับเมืองหลวงได้ ซึ่งเจ้าเมืองกูยทั้ง ๖ คนที่มีความสามารถในการจับช้างป่าก็ได้รับพระราชทานนามบ้านและราชทินนามจากราชสำนักที่กรุงเทพฯ จนกลายเป็นบ้านเมืองต่างๆ ในเขตเขมรป่าดงนี้หลายแห่ง


 


                     บริเวณเขตติดต่อกับเขตเขมรป่าดงทางเหนือฝั่งลำน้ำมูลคือทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเป็นบริเวณทุ่งราบแอ่งกระทะขนาดใหญ่ ฤดูแล้งผืนดินแห้งแล้งเป็นดินเค็ม ส่วนฤดูน้ำหลากน้ำท่วมเนื้อที่มีประมาณ 2.1 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่รอยต่อ 5 จังหวัด คือ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม สุรินทร์ ศรีสะเกษและยโสธร มีลำน้ำไหลผ่านทุ่งกุลา 5 สาย คือ ลำน้ำมูล ลำน้ำเสียวน้อย ลำน้ำเสียวใหญ่ ลำน้ำพลับพลา และลำน้ำเตา คนทั่วไปรู้จักทุ่งกุลาในภาพพจน์ “ท้องทุ่งแห้ง ความแห้งแล้งทุรกันดาร ผู้คนทุกข์ยาก ด้อยพัฒนา” 


 


                    แม้ทุ่งกุลาร้องไห้จะมีความแห้งแล้งกันดาร แต่ในด้านโบราณคดีกลับพบว่า มีร่องรอยการตั้งถิ่นฐานชุมชนโบราณอายุเก่าแก่ราว 2500 ปีมาแล้วมากมาย นอกจากนั้นยังพบว่าเป็นแหล่งผลิตเกลือและแหล่งถลุงเหล็ก อีกทั้งมีร่องรอยของการจัดการน้ำโดยขุดคูน้ำล้อมรอบชุมชนขนาดกว้างใหญ่กว่าพื้นที่อื่นๆ แสดงถึงการที่แม้ภูมิประเทศจะถูกมองว่าไม่อุดมสมบูรณ์เช่นท้องถิ่นอื่นๆ แต่ในการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในท้องทุ่งเช่นนี้มีการปรับตัวมานานนับพันปีแล้ว


 


                   ดังนั้น การตัดสินว่าพื้นที่ใดอุดมสมบูรณ์หรือไม่นั้น เกิดจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปทำให้มุมมองของมนุษย์ไม่สามารถเข้าใจสภาพแวดล้อมและการปรับตัวของผู้คนในอดีตได้ต่างหาก


 


‘เจ้าพ่อศรีนครเตา’ ศรัทธาแห่งคนทุ่งกุลาฯ


 


 


                     ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ มีกลุ่มชาติพันธุ์ลาว เขมร กุย(ส่วย) และ เยอ กระจายตัวอยู่ตามลุ่มน้ำทั้ง 5 สาย กลุ่มลาวตั้งถิ่นฐานอยู่ในที่ราบลำเสียวน้อย/ลำเสียวใหญ่และลำน้ำเตา กลุ่มกุยและเยออยู่ที่ราบลุ่มน้ำมูลและกลุ่มเขมรกระจายตัวอยู่ที่ราบลำพลับพลา แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าแยกกันอยู่อย่างเด็ดขาดชัดเจน กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้มีการผสานกลมกลืน พึ่งพาและใช้ประโยชน์ทรัพยากรในทุ่งกุลาร้องไห้ร่วมกัน


 


 


                          ‘เจ้าพ่อศรีนครเตา’ คือบรรพบุรุษท้องถิ่นที่มีตำนาน เรื่องเล่า และอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆสืบกันมาตั้งแต่ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งปรากฏในพระราชพงศาวดารที่เมืองหลวงและเรื่องเล่าต่างๆของท้องถิ่น โดยกล่าวถึงกลุ่มชาติพันธุ์กูยหรือกุยที่รับอาสาจับช้างเผือกในเขตที่เรียกว่าเขมรป่าดงในพื้นที่ฝั่งใต้ของลำน้ำมูล โดยครั้งหนึ่งผู้นำท้องถิ่นได้เข้าร่วมในการคล้องช้างเผือกกลุ่มหนึ่งจึงได้รับพระราชทานตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองของบ้านเมืองแถบนี้ และหนึ่งในนั้นคือ ‘เซียงสี’ ได้เป็น ‘พระศรีนครเตาท้าวเธอ’ เจ้าเมืองปกครองเมืองรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์


 


                          แม้พระศรีนครเตาจะล่วงลับไปนานแล้ว แต่ความเป็นผู้นำท้องถิ่นยังคงปรากฏอยู่ในรูปแบบความเชื่อและสร้างสัญลักษณ์แทนความนับถือเป็น ‘ศาลเจ้าพ่อศรีนครเตา’ ไว้ประจำชุมชนขนาดใหญ่หลายแห่งในท้องถิ่นทุ่งกุลา เช่น บ้านเมืองเตา ต.เมืองเตา อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม, บ้านเมืองเสือ ต.เมืองเสือ อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม, บ้านหนองบัวเจ้าป่า เทศบาลอำเภอสตึก จ.บุรีรัมย์, บ้านไพขลา ต.ไพรขลา อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์


 


                         นอกจากนี้ เรื่องราวของเจ้าพ่อศรีนครเตายังปรากฏในรูปแบบเรื่องเล่าตำนานต่างๆ มีความศักดิ์สิทธิ์ผ่านพิธีกรรมและและความเชื่อในชีวิตประจำวัน ตลอดจนมีกลอนลำต่างๆที่ผู้แต่งเล่าเรื่องสืบทอดมาโดยตลอด


 


พิธีกรรมเลี้ยงศาลเจ้าพ่อศรีนครเตา


                          พิธีเลี้ยงศาลเจ้าพ่อศรีนครเตา มีขึ้นทุกปีชาวบ้านในชุมชนจะต้องร่วมทุกครอบครัว เป็นหน้าที่ซึ่งทุกคนรับรู้เป็นธรรมเนียมเพื่อความสุขของครอบครัวในปีนั้นๆ


 


                          การจัดพิธีเลี้ยงศาลเจ้าพ่อศรีนครเตาของชุมชนเหล่านี้มีความถี่หรือจำนวนครั้งแตกต่างกันออกไปอาจเป็น 2 หรือ 3 ครั้งต่อปี แล้วแต่ความศรัทธาและความพร้อมของแต่ละชุมชน  แต่ตามประเพณีจะกำหนดเป็น วันพุธข้างขึ้น เดือน 3 และวันพุธข้างขึ้น เดือน 6 เช่นที่ชุมชนเมืองเตา ตำบลเมืองเตา อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม มีพิธีฉลองศาลในวันพุธแรกของเดือน 5 ชุมชน ส่วนเมืองเสือ ตำบลเมืองเสือ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ที่จัดพิธีกรรมเฉพาะในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5


 


                           ในกระบวนพิธี ตัวแทนครอบครัวจะนำหญ้าคาหรือใบมะพร้าวขมวดปลายด้านหนึ่งให้เป็นตัวแทนเท่ากับจำนวนสมาชิกในครอบครัวและจำนวนสัตว์เลี้ยงที่ครอบครัวมี เหล้าขาวเต็มขวดเล็กๆ ไก่ต้ม และถังน้ำหอม‘เฒ่าก้นจ้ำ’ เป็นตัวแทนหรือสื่อกลางระหว่างชาวบ้านกับเจ้าพ่อศรีนครเตา และมี ‘นางเทียม’ หรือร่างทรงเป็นตัวแทนของเจ้าพ่อ พิธีกรรมดำเนินไป โดยนางเทียมจะประกอบพิธีอันเชิญเจ้าพ่อประทับร่าง เมื่อประทับแล้วเจ้าพ่อจะร่ายรำประกอบดนตรีพื้นบ้านที่เล่นสามชิ้น คือ ซอ กลอง และฉาบ เมื่อร่ายรำเป็นที่พอใจแล้ว เฒ่าก้นจ้ำจะถวายเครื่องเซ่น คือ เหล้าไห-ไก่ตัว หมาก พลู บุหรี่ เจ้าพ่อจะกิน ดื่มเครื่องเซ่นเหล่านั้น และเมื่อเรียบร้อยแล้วขั้นตอนต่อมา เฒ่าก้นจ้ำจะขอให้เจ้าพ่อพยากรณ์ซึ่งการพยากรณ์ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน ได้แก่ เรื่องลม ฟ้า อากาศ การทำนาจะได้ผลดีหรือไม่ และจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นกับคนในชุมชนในปีนี้หรือไม่ ร่างทรงเจ้าพ่อจะทำการทำนายจนหมดความสงสัยของชาวบ้านแล้วจึงร่วมกันฟ้อนรำแห่รอบศาลสามรอบ วางธูปเทียนดอกไม้ในศาลและแยกย้ายกันกลับ

 


‘อำนาจผี’ บูรณาการทางสังคมของคนท้องถิ่น


                            เจ้าพ่อศรีนครเตา ถือเป็นสถาบันความเชื่อที่มั่นคงแข็งแรงที่สุดของผู้คนในทุ่งกุลา ซึ่งมีอำนาจหรืออิทธิพลต่อความศรัทธาอาจมากเสียยิ่งกว่าสถาบันทางศาสนา เช่น วัดหรือพระสงฆ์ อำนาจทางความเชื่อนี้จะแสดงออกผ่านสัญลักษณ์ในพิธีกรรมเลี้ยงศาลเจ้าพ่อศรีนครเตาและการบอกเล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์ 


 


 


                        โดยยกให้ท่านเป็นผู้ปกครองท้องถิ่นแถบทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งสามารถบันดาลให้ทั้งคุณและโทษต่อมนุษย์ได้  การเรื่องเล่าถึงอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆที่เกิดขึ้นกับบุคคลและสถานที่ต่างๆ ยิ่งทำให้คนในท้องถิ่นทุ่งกุลาในหมู่บ้านต่างๆ รู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่จินตนาการทางความเชื่อ นั่นคือ ความเป็นลูกหลานของเจ้าพ่อ บรรพบุรุษผู้เคยปกครองพื้นที่แถบนี้เมื่อยังมีชีวิตอยู่และอยู่ดูแลลูกหลานเมื่อท่านเสียชีวิตไปแล้ว ท่านจึงเป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์แห่งท้องทุ่งกุลา 


 


                          หลังจากพิธีเลี้ยงศาล คำพยากรณ์ของเจ้าพ่อจะมีความศักดิ์สิทธิ์เพราะผู้คนเชื่อถือมาก คำพยากรณ์หรือการเตือนของเจ้าพ่อที่ส่งผ่านร่างทรงและสื่อสารโดยเฒ่าก้นจ้ำ ทุกคนในชุมชนจะต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดหากต้องการอยู่อย่างผาสุก สิ่งนี้ไม่ใช่กฎหมาย แต่ถือเป็นกฎระเบียบข้อห้ามต่างๆ กลายเป็นระเบียบการจัดการเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสงบ ซึ่งรวมไปถึงการใช้และจัดการทรัพยากรร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างทางชาติพันธุ์ที่มีหลากหลายในพื้นที่ ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการสร้างกติการ่วมกันของสังคมโดยไม่ต้องใช้อำนาจรัฐเข้ามาจัดระเบียบแต่อย่างใด  


 


‘คนทุ่งกุลาฯ’ เราล้วนเป็นลูกหลานเจ้าพ่อศรีนครเตา


                          การ ‘บ๋า-บน’ คือ การบนบานต่อเจ้าพ่อศรีนครเตาเพื่อขอให้เกิดความสำเร็จในการกระทำการต่างๆ เช่น การขอให้สอบได้ การขอให้ของที่หายไปได้กลับคืนมา หรือกระทั่งขอให้ชนะการเลือกตั้งในระบบการปกครองท้องถิ่น เป็นการประกอบพิธีกรรมส่วนตัว พิธีกรรมนี้นิยมทำในวันพุธและแก้บนในวันพุธหลังเรื่องบนบานนั้นลุล่วงแล้ว


 


                         การแสดงออกถึงพลังศรัทธาของท้องถิ่นต่อเจ้าพ่อศรีนครเตาเป็นการกระทำร่วมกันของสมาชิกในท้องถิ่นที่ปราศจากอำนาจทางการเมือง ทุกคนที่มาร่วมพิธีกรรมจะไม่ถูกแบ่งแยกว่าเป็นนักบริหารท้องถิ่น เป็นผู้นำ เป็นชาวบ้าน หรือพระสงฆ์ ทุกคนอยู่ในฐานะเดียวกันคือ ลูกหลานผู้ที่ด้อยกว่าเจ้าพ่อซึ่งต้องการการดูแลจากอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ทุกคนเข้าร่วมด้วยความเต็มใจ ไม่มีใครบังคับ อันหมายถึงมีความเป็นปึกแผ่นที่ผูกรัดกระชับด้วยศรัทธาเจ้าพ่อศรีนครเตาร่วมกัน    


 


                           ที่ผ่านมา ชาวบ้านและองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ทุ่งกุลาแผ่นดินอีสานต่างมีความเห็นว่า การพัฒนาที่อยู่บนฐานสังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่นโดยผ่านการศึกษาข้อมูลมาอย่างละเอียดจะมีจุดเด่นอยู่ที่สามารถสร้างความร่วมมือกันของชุมชนในท้องถิ่นได้ เพราะการปฏิบัติการต่างๆนั้นล้วนตั้งอยู่บนฐานทางสังคมและวัฒนธรรม จึงไม่มีความรู้สึกขัดแย้งอย่างรุนแรงแม้จะมีการนำชุดความรู้ที่เป็นวิชาการจากภายนอกมาใช้ร่วมด้วยก็ตาม ในทางตรงข้ามชาวบ้านและท้องถิ่นเองกลับภูมิใจที่องค์ความรู้ ภูมิปัญญาและความศรัทธาของพวกเขาได้รับการยอมรับและยกระดับคุณค่า ชุมชนจึงดำเนินอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีในตนเอง


 


                             ทั้งนี้ ข้อมูลการศึกษาวิจัยของชาวบ้านในพื้นทำร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนในเรื่องพื้นฐานความศรัทธาต่อ ‘เจ้าพ่อศรีนครเตา’ ซึ่งเป็นความเชื่อของท้องถิ่นพบว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญเชื่อมร้อยรูปแบบของการพัฒนา 3 ประเด็นหลัก คือ


 


การพัฒนาพิธีกรรม  พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับ ‘เจ้าพ่อศรีนครเตา’ จะจัดขึ้นในวันพุธ ข้างขึ้น เดือน 3 และ เดือน 6 โดยมีการเพิ่มเติมในส่วนกระบวนการเรียนรู้แก่ลูกหลานในชุมชนเพื่อให้เห็นคุณค่าของพิธีกรรมและชุมชนท้องถิ่น และร่วมกันพัฒนาพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์


 


การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากร  การพัฒนาพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทำให้ชุมชนมีการจัดการแหล่งน้ำสาธารณะของชุมชน ลอกวัชพืชในแหล่งน้ำให้สามารถใช้อุปโภคได้และปล่อยปลาในแหล่งน้ำ และจัดตั้งกลุ่มเยาวชนตรวจวัดคุณภาพน้ำ


 


การจัดกระบวนการเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น 5 ชุมชน โดยท้องถิ่นสารมารถชุดความรู้จากการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความศรัทธาไปจัดกระบวนการเรียนรู้ในสองระดับคือ ภายในชุมชนและระหว่างเครือข่าย รูปแบบของการจัดกระบวนการเรียนรู้มี 2 รูปแบบ คือ การนำชุดความรู้จากการวิจัยไปพัฒนาเป็นหลักสูตรประวัติศาสตร์ท้องถิ่นทุ่งกุลาร้องไห้ จัดการเรียนการสอนในโรงเรียนและยกระดับสู่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และอีกส่วนหนึ่งคือ การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น สำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนและสาธารณะ ในส่วนพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นนี้ ชุมชนระดมทุนและทรัพยากรในชุมชนดำเนินการ โดยมีความคืบหน้าแตกต่างกันไปตามความพร้อมของแต่ละชุมชน


 


                          ความเข้มแข็งของท้องถิ่นเหล่านี้ผลิดอกออกผลมาจากการดำเนินการบนฐานวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่ควบคู่กันไปกับชุดความรู้จากภายนอก มีนักวิชาการ สถาบันการศึกษาในและนอกพื้นที่ สถาบันศาสนา และความร่วมมือขององค์กรปกครองในท้องถิ่น ที่สำคัญคือการนำพลังศรัทธาของชุมชนที่มีต่อ ‘เจ้าพ่อศรีนครเตา’ มาเป็นฐานในการขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นแถบทุ่งกุลาร้องไห้ให้เป็นไปอย่างไม่ขัดแย้งและสร้างคุณค่าใหม่ๆให้ท้องถิ่นได้ ซึ่งแนวทางของท้องถิ่นทุ่งกุลาร้องไห้นี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าทบทวนเรียนรู้


 


ทิ้งท้ายจาก.. ‘เจ้าพ่อศรีนครเตา’


                          เจ้าพ่อศรีนครเตาหรือพ่อใหญ่ศีรนครเตาเปรียบเสมือน ‘ผีใหญ่’ แห่งทุ่งกุลาร้องไห้ คนเมืองอาจไม่เข้าใจแล้วว่า ‘อำนาจผี’ สามารถมีอิทธิพลเหนือชีวิตและจิตใจของผู้คนได้อย่างไร แต่ความเป็นจริงแล้วสำหรับท้องถิ่นอีสาน อำนาจผีมีมากมายจนถึงกับกล่าวกันว่า “หากเปิบข้าวคำแรก ก็ต้องอุทิศให้เจ้าพ่อเสียก่อน หากทำผิดฮีตผิดคอง ชาวบ้านก็กลัวเจ้าพ่อเอาไปเลี้ยงช้าง” ซึ่งนั่นหมายถึง..ตาย !! เลยทีเดียว


 


                           สังคมในทุ่งกุลาจึงนับถือเจ้าพ่อศรีนครเตาอย่างสุดจิตสุดใจและมีอิทธิพลต่อชาวบ้านในสังคมท้องถิ่นแทบทุกอย่างตั้งแต่เกิดจนถึงเชิงตะกอน แต่น่าแปลกที่การพัฒนาโดยเฉพาะที่มาจากภายนอกมักไม่เคยนับรวมเอามิติทางความเชื่อซึ่งมีบทบาททางสังคมเช่นนี้เข้าไว้เพื่อบูรณาการวางแผนแต่อย่างใด มันจึงมักกลายเป็นความขัดแย้งกับผู้คนที่อยู่กับความคิดที่ต้องการเปลี่ยนแปลงเสียมากกว่า


 


                           ในมุมมองของชาวบ้านที่นี่พลังของเจ้าพ่อศรีนครเตาเป็นอำนาจที่ดูเหมือนจะมีมากกว่าอำนาจจากกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาทุกวันนี้เสียอีก สิ่งที่แตกต่างจากนักพัฒนาแบบทางการคืองานของนักพัฒนาจากองค์กรเอกชนซึ่งมองเห็นพลังของการการใช้มิติทางความเชื่อแบบนี้เข้าไปสื่อสารกับชาวบ้าน งานที่ออกมาจึงมักเห็นผลและเห็นชัดว่าสามารถปรับใช้เพื่อสร้างสมดุลในสังคมและเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเข้มแข็งได้อย่างมีพลัง.

 ข้อมูลสัมภาษณ์/


วิเชียร สอนจันทร์, อำคา แสนงาม, บุญเสริฐ เสียงสนั่น  และคณะสถาบันทุ่งกุลาศึกษา


เรื่อง/ภาพวลัยลักษณ์ ทรงศิริเรียบเรียง/ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง


อัพเดทล่าสุด 27 พ.ค. 2559, 08:26 น.



หมายเลขบันทึก: 643280เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2017 04:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ธันวาคม 2017 05:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท