มุจจลินทสูตร


 "มุจจลินทสูตร...พระสูตรอันว่าด้วยพญามุจลินท์นาคราช"


พญานาคกับพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่มีความเกี่ยวพันกันมาอย่างยาวนาน เรื่องราวของพญานาคมีปรากฎอยู่ในพระไตรปิฎกหลายเรื่อง หนึ่งในเรื่องราวสำคัญคือเรื่องพญามุจลินท์นาคราชที่อยู่ในพระสุตตันตปิฎก บทมุจจลินทสูตร เนื้อความว่าไว้ดังนี้

 

เมื่อครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จประทับเสวยวิมุตติสุข ณ ร่มไม้อชปาลนิโครธเสร็จสิ้น ๗ วันแล้ว พระองค์ก็เสด็จไปประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขใต้ร่มไม้จิกหรือต้นมุจลินท์ ในเวลานั้นได้เกิดมีฝนตกอย่างไม่ขาดสายตลอด ๗ วัน พญามุจลินท์ผู้เป็นราชาแห่งนาคได้เห็นดังนั้นจึงได้ออกมาจากนาคพิภพ ทำขนดล้อมพระวรกาย ๗ ชั้น แล้วแผ่พังพานใหญ่ปกคลุมเบื้องบนพระเศียรของพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยความประสงค์มิให้ฝนและลมหนาวสาดต้องพระวรกาย ทั้งป้องกันเหลือบยุงและสัตว์เลื้อยคลานต่าง ๆ ไม่ให้เข้ามาใกล้พระพุทธองค์ (จากตำนานของพญามุจลินท์ในเรื่องนี้ เป็นเหตุให้มีการสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรก ที่เป็นปางประจำวันเกิดของคนเกิดวันเสาร์)


ครั้นฝนหายขาดแล้ว พญามุจลินท์นาคราชก็คลายขนดออก และจำแลงกายเป็นมาณพทำอัญชลีถวายนมัสการแด่พระพุทธองค์ ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเปล่งอุทานว่า


"สุโข วิเวโก ตุฏฺฐสฺส สุตธมฺมสฺส ปสฺสโต

อพฺยาปชฺฌํ สุขํ โลเก ปาณภูเตสุ สญฺญโม

สุขา วิราคตา โลเก กามานํ สมติกฺกโม

อสฺมิมานสฺส วินโย  เอตํ เว ปรมํ สุขํ"

 

ซึ่งแปลได้ความดังนี้

"วิเวกคือความสงบสงัด เป็นความสุขแห่งบุคคลผู้มีธรรมที่ได้สดับแล้ว เห็นธรรมและยินดีในธรรม

ความสำรวม ไม่พยาบาท เบียดเบียนในสัตว์ทั้งหลายเป็นสุขในโลก หรือเป็นเหตุให้เกิดสุขในโลก

การปราศจากราคะ กำหนัด คือ การเป็นผู้ก้าวล่วงเสียได้ซึ่งกามทั้งหลาย เป็นสุขในโลก

การกำจัดอัสมิมานะ คือ กำจัดการยึดมั่นถือมั่นในตัวตนว่าเรามีเราเป็นออกให้เสียหมดได้ สิ่งนี้เป็นบรมสุข"

 

วิเวก หมายถึง การสงัดจากอกุศลธรรม  ได้แก่

กายวิเวก คือ ความสงบสงัดทางกาย การงดเว้นกายและวาจาออกจากอกุศลกรรม เป็นการปลีกตัวออกไปสู่ที่สงบ หรือปลีกกรรมทางกายและวาจาให้สงบสงัดจากภัยเวรทั้งหลาย นั่นก็คือการตั้งมั่นอยู่ในศีล เมื่อปฏิบัติตนอยู่ในศีล ย่อมเป็นผู้ไม่เบียดเบียน มีความสำรวมระวังในสัตว์ทั้งหลาย ก็จะก่อให้เกิดความสุข และกายวิเวกนี่เองจะเป็นที่ตั้งของจิตตวิเวกคือความสงบของจิตใจ

 

จิตตวิเวก คือ ความสงบสงัดทางจิต เป็นการสงบจิตจากนิวรณ์ทั้งหลาย อันได้แก่ สงัดจากกามฉันท์คือความยินดีพอใจในกามทั้งหลาย สงัดจากพยาบาท สงัดจากความง่วงงุน ความขี้เกียจ สงัดจากความคิดฟุ้งซ่าน และสงัดจากความลังเลสงสัยในพระธรรม การฝึกฝนจิตให้สงัดจากนิวรณ์ก็คือการทำสมาธิ เมื่อจิตสงบก็จะก่อให้เกิดความสุข และสามารถนำไปสู่การพบวิเวกที่ละเอียดยิ่งขึ้นคืออุปธิวิเวก

 

อุปธิวิเวก คือ ความสงบสงัดจากอุปธิ ซึ่งอุปธิหมายถึงสภาพที่ทรงไว้ซึ่งทุกข์ ได้แก่ กาม ขันธ์ กิเลส อภิสังขาร (อภิสังขาร คือ สภาพที่ปรุงแต่ง มีเจตนาคือความจงใจเป็นประธาน) อุปธิวิเวกจึงหมายถึงสภาพธรรมที่สงัดจากสิ่งที่เป็นไปในทุกข์ สงัดจากสิ่งที่เป็นไปในกิเลส และกิเลสสิงใจที่ละเอียดก็คืออัสมิมานะ เป็นการยึดมั่นถือมั่นว่าเรามีเราเป็น ในการปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงอุปธิวิเวกนี้ต้องใช้ปัญญา พิจารณาให้เห็นว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ไม่มีตัวเรา ไม่มีของเรา เมื่อพิจารณาเห็นดังนี้แล้วก็จะเข้าถึงซึ่งนิพพาน อันเป็นบรมสุข

 

สำหรับเรื่องพญามุจลินท์นี้ สาระสำคัญไม่ได้อยู่ที่เรื่องราวของพญานาคหรือตำนานอันเป็นปาฏิหาริย์แต่อย่างใด หากแต่อยู่ที่หลักธรรมอันเป็นคำสอนของพระพุทธองค์ที่พุทธศาสนิกชนควรน้อมรับนำมาพิจารณาและปฏิบัติ และรวมถึงเรื่องราวในพุทธประวัติและพุทธชาดกต่าง ๆ ที่แก่นแท้อยู่ที่พระธรรมคำสอนที่ได้ปรากฎอยู่ในเนื้อเรื่องนั้น การศึกษาพุทธประวัติและพุทธชาดกก็เท่ากับได้ศึกษาพระธรรมของพระพุทธเจ้า


ทองถนิมภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสืบสานงานฝีมือช่างไทยโบราณ และพระพุทธศาสนาให้คงอยู่เป็นมรดกคู่ชาติไทยสืบไป


(ขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : 

ข้อความจากธรรมอบรมจิต สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร โดย อณิศร โพธิทองคำ http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/somdej/sd-231.htm , http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/somdej/sd-295.htm

http://www.dhammahome.com/webboard/topic19995.html

http://www.dhammasavana.or.th/article.php?a=302

http://www.mcukk.com/buddhasilpa/detail.php?id=17

ข้อมูลจาก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต)


ผลงาน : ทับทรวงทองคำ ลวดลายพญานาค ประดับยอดทับทิมล้อมเพชร เทคนิคการสลักดุนแบบโบราณ


ภาพประกอบ : พระพุทธรูปปางนาคปรก และภาพพระพุทธเจ้าประทับใต้ต้นมุจลินท์


ออกแบบและรังสรรค์ผลงานโดยร้านทองถนิม


ติดต่อร้านทองถนิม โทร 095-254-2939

Line ID : tongthanim

Facebook : www.facebook.com/tongthanim

 

“เรารังสรรค์งานประณีตศิลป์ด้วยใจ และด้วยความพิถีพิถัน”


#ทองถนิม #เครื่องประดับไทย #เครื่องทองโบราณ #งานประณีตศิลป์ #ช่างสิบหมู่ #เครื่องทองชั้นสูง #งานสลักดุน #ทับทรวง #ทองโบราณ

คำสำคัญ (Tags): #มุจจลินทสูตร
หมายเลขบันทึก: 643205เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2017 14:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2017 14:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท