ความกล้าหาญของยุวชนทหาร ยุค พ.ศ.2484


วีรชนผู้กล้า รุ่น 2484 จังหวัดชุมพร


"อนุสารีย์ร้อยเอกถวิล นิยมเสน"

         วันนี้เป็นวันครบรอบปีที่ 76   ที่ยุวชนทหารและผู้บังคับบัญชาได้เสียสละเลือดเนื้อและชีวิต  เพื่อปกป้องอธิปไตย  ในโอกาสแรกที่เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา  สงครามโลกครั้งที่ 2  ณ  บริเวณเชิงสะพานท่านางสังข์  ตำบลบางหมาก  อำเภอเมือง  จังหวัดชุมพร

         ขอเล่าเหตุการณ์ในอดีตที่ยังตอกย้ำความทรงจำของคนรุ่นหลัง และทายาทผู้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในครอบครัว จากเหตุการณ์ที่เกิดจากการสู้รบระหว่างกองกำลังฝ่ายไทยและกองกำลังฝ่ายญี่ปุ่น  ซึ่งคนที่เกิดในจังหวัดชุมพรคงเคยได้ฟังเรื่องราวจากปู่ย่าตายาย  หรือคนรุ่นเก่า ๆ ถึงเหตุการณ์ดังกล่าวมาบ้างแล้ว แต่หลายคนก็ยังไม่ทราบว่าที่มาของอนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นมาอย่างไร

         เหตุการณ์ในวันนั้นมีอยู่ว่า

         เช้าวันที่ 8  ธันวาคม พ.ศ.2484  เวลาดึกประมาณ 02.00 น.  ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกบริเวณปากอ่าวบางสน  ตำบลท่ายาง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร  แต่พื้นที่อ่าวบริเวณดังกล่าว  เป็นดินเลน  ทำให้ทหารญี่ปุ่นติดเลน และขึ้นฝั่งได้ช้ากว่าที่กำหนดไว้  กว่าจะรวมพลได้ก็เป็นเวลา 06.00 น.  แล้วเคลื่อนกำลังเข้าสู่ตัวเมืองชุมพร

         ฝ่ายไทย  เมื่อทราบข่าว  จึงได้ส่งกำลังตำรวจเป็นหน่วยรบที่ 1 ไปยึดเชิงสะพานท่านางสังข์  ซึ่งเป็นเส้นทางของทหารญี่ปุ่นจากอ่าวบางสนเข้าตัวเมืองชุมพร  และได้เกิดปะทะกันระหว่างไทยกับญี่ปุ่น

         ร้อยเอกถวิล  นิยมเสน   ครูฝึกยุวชนทหาร  ซึ่งได้สั่งการให้สิบเอกสำราญ  ควนพันธ์ุ  (ชื่อและนามสกุลอาจสะกดไม่ถูกต้อง )ไปตามยุวชนทหารที่บ้าน และไปสถานีตำรวจพร้อมกันเพื่อรับอาวุธประจำกายและกระสุนปืน   แบ่งกองกำลังออกเป็น 2 ฝ่าย  คือ แยกไปทางด้านเหนือเพื่อสกัดข้าศึกที่เข้าใจว่ายกพลขึ้นที่อ่าวพนังตัก ส่วนร้อยเอกถวิล  นิยมเสน  คุมยุวชนทหารไม่น้อยกว่า 30 คน เป็นหน่วยรบที่ 2 ไปทางทิศตะวันออกยึดคอสะพานท่านางสังข์ และไปสมทบกับตำรวจที่อยู่ก่อนหน้านี้อีกส่วนหนึ่ง   และสนามรบก็ดำเนินไปจนร้อยเอกถวิลฯ  ได้ตรวจการณ์พบว่าข้าศึกมีกำลังมาก  และหากยิงต่อสู้ในขณะที่ไม่เห็นตัวข้าศึกจะทำให้เสียกระสุนปืนเสียเปล่า  จึงวางแผนไปยึดสะพานฝั่งตรงข้าม   เมื่อเห็นข้าศึกแล้วค่อยยิง  และออกคำสั่งกับยุวชนทหารว่า "ตามข้าพเจ้ามา"  โดยออกวิ่งนำแถวข้ามสะพาน  และลงที่กำบัง  พร้อมสั่งยิงทหารญี่ปุ่น  เป็นการรบกันในระยะประชิดมาก  ห่างกันไม่ถึง 20 เมตร  อาศัยว่าต่างฝ่ายต่างอยู่ในที่กำบังมิดชิด  จึงไม่อาจทราบว่ายิงกันโดยเป้าหรือไม่   ร้อยเอกถวิลฯ ได้สังเกตว่าทหารญี่ปุ่นได้เคลื่อนข้ามถนนมาแล้ว  จึงสั่งให้สู้รบเป็นแนวหน้ากระดานต่อสู้  ตามระเบียบการฝึกทหารราบในสมัยนั้น   ที่ว่าถ้าแนวอยู่ห่างข้าศึกประมาณ 200 เมตร  จะต้องติดดาบปลายปืน  เตรียมเข้าตะลุมบอน

         เช้าวันนี้ก็เช่นเดียวกัน ยุวชนทหารอยู่ห่างข้าศึกเพียง 20-30 เมตร  ร้อยเอกถวิลฯ  จึงไม่รีรอที่จะตะโกนสั่งติดดาบ  ตะลุมบอน  แล้วส่งเสียงไชโยโห่ร้องก้องดัง  เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่กำลังพล  เป็นผลทำให้ทุกคนลุกขึ้นวิ่งอย่างไม่รีรอข้ามถนนไปฝั่งตรงข้าม  แต่ทหารญี่ปุ่นได้ระดมยิงใส่กลุ่มยุวชนทหาร  จึงต้องพุ่งเข้าหาที่กำบังเหมือนเดิม     แต่ต่อมาร้อยเอกถวิลฯ  ได้สั่งระดมยิงหนักอีกครั้ง  และนำเข้าตะลุมบอนอีกครั้ง  ทุกคนวิ่งข้ามไป  ทิ้งตัวลง แล้วปรับแนวเป็นหน้ากระดานหันหน้าไปทางทิศตะวันออกทางข้าศึกเป็นการยิงระยะใกล้เหมือนเดิม  ทุกคนอาศัยโคนต้นมะพร้าวเป็นที่กำบังกระสุน

        ขณะนั้นเวลา 07.00 น.   ฝนตกหนัก  แต่ลมสงัด  สิบเอกสำราญ  ควนพันธ์ุ  ร้องสั่งยุวชนทหารให้บอกต่อว่า  ถ้าเห็นพุ่มไม้เคลื่อนไหวให้ยิงใส่  เพราะนั่นคือการพรางตัวของ ข้าศึก ปรากฎว่ายุวชนทหารยิงทหารญี่ปุ่นตายไปไม่น้อย

         ต่อมาไม่นาน  ยุวชนทหารได้ส่งข่าวให้สิบเอกสำราญฯ  ทราบว่า ร้อยเอกถวิล  นิยมเสน  ได้โดนทหารญี่ปุ่นยิงเสียชีวิตแล้ว  สิบเอกสำราญสั่งปิดข่าว เพื่อไม่ให้ขวัญกำลังใจยุวชนทหารเสียและอำนวยการรบต่อไป จนตัวเองโดนยิงที่แขนจนกระดูกแตก  ยิงต่อสู้ไม่ได้ ต้องคอยส่งกระสุนและปลอบขวัญทหารให้ต่อสู้ต่อไป

         หน่วยรบที่ 3  เป็นทหารจากกองพันทหารราบที่ 38  ซึ่งในปัจจุบันเรียกว่า "ค่ายเขตอุดมศักดิ์"  มีกำลังเพียง 3 หมู่  แต่จัดเป็นกองปืนเบาเต็มอัตราเคลื่อนที่ด้วยรถยนต์   กวาดไล่ทหารญี่ปุ่นลงไปจนถึงวัดท่ายางกลาง   และได้ประเมินสถานการณ์ว่าทหารญี่ปุ่นมีมากมายอยู่ที่วัดท่ายางใต้  ซึ่งอยู่ไม่ไกลกันมากนัก  จึงลงจากรถยนต์จัดหมู่เข้ารบระดมยิงด้วยปืนกลเบา  ไม่ให้ทหารญี่ปุ่นทันระวังตัว  

         กำลังรบทั้ง 3 หน่วย  ต่อสู้กับทหารญี่ปุ่นตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยง   จนได้รับคำสั่งจากรัฐบาลให้ปล่อยทหารญี่ปุ่นผ่านประเทศไทยไปประเทศพม่าได้  จึงหยุดต่อสู้กัน

         เหตุการณ์ในครั้งนี้  ได้สูญเสีย ร้อยเอกถวิล  นิยมเสน  ครูฝึกยุวชนทหาร  และเจ้าหน้าที่ตำรวจ  ทหาร อีกหลายนาย  การสูญเสียนี้นับเป็นวีรกรรมที่ควรแก่สดุดีอย่างยิ่ง  เพราะกองกำลังของไทยทุกคน ยอมสละชีวิต  เลือดเนื้อ  เพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทยด้วยความกล้าหาญเยี่ยงบรรพบุรุษไทยแต่โบราณ

         " ยุวชนทหารในปัจจุบัน ก็คือนักศึกษาวิชาทหาร นั่นเองค่ะ"

          และน่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสพบกับคุณปู่เจริญ  มหาเจริญ  อดีตยุวชนทหาร  ซึ่งปัจจุบันท่านอายุ 95 ปี  และได้เดินทางมาร่วมพิธีสดุดีวีรชนทหารกล้าในปีนี้เหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา

คุณปู่เจริญ  มหาเจริญ    อายุ 95 ปี  แต่งกายเครื่องแบบยุวชนทหาร

         

   

หมายเลขบันทึก: 643133เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2017 16:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2018 12:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอสดุดีวีรชนผู้กล้าแห่งเมืองสามอ่าวจ้ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท