ปัญหาและแนวโน้มในการพัฒนาหลักสูตร


           ในอนาคตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเป็นตัวชี้การเปลี่ยนแปลงหลักสูตร อันเป็นผลจากการขยายความรู้ที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว และความรู้มีความเป็นศาสตร์เฉพาะการเพิ่มขึ้น (บทความวิจัย ของ Benjamin I. Troutman and Robert D.Palombo เรื่อง Identifying Futures Trends in Curriculum Planning) จากบทความข้างต้น แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของการพัฒนาหลักสูตรซึ่งต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้ทันกับศตวรรษที่ 21 โดยปฏิรูปหลักสูตรให้มีลักษณะกระชับ ช่างคิด และบูรณาการ อันได้แก่ เน้นแนวคิดหลักและคำถามสำคัญในสาระการเรียนรู้ เรียนรู้ผ่านโครงงานและการทำงานเป็นทีม สนับสนุนการใช้ ICT ในการหาความรู้ด้วยตนเอง พัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะการคิดขั้นสูง และสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ต่างๆ เข้าด้วยกันได้

          ก่อนที่เราจะพัฒนาหลักสูตรให้ดียิ่งขึ้น เราจะต้องแก้ปัญหาตรงจุดที่ทำให้หลักสูตรนั้นไม่พัฒนาเสียก่อน ซึ่งปัญหาเกิดจากการร่วมคิดร่วมทำ ร่วมกันสร้างหลักสูตร และร่วมกันนำหลักสูตรไปใช้ ปัญหาหลักที่จะสามารถปรับปรุงได้อย่างรวดเร็วและเป็นการแก้ไขตรงจุดที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นครูผู้สอนที่อยู่กับหลักสูตรและได้ใช้หลักสูตรอย่างเต็มที่ สถานศึกษาควรจัดการอบรมให้ครูผู้สอนได้รับทราบถึงความสำคัญของหลักสูตรเพื่อให้ครูมีคุณสมบัติที่เหมาะกับวิชาชีพของตนและเมื่อทราบถึงวัตถุประสงค์ของหลักสูตรแล้วก็ควรที่จะยอมรับและเปลี่ยนแปลงบทบาทการสอนของครูผู้สอนตามแนวหลักสูตร ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าวควรจะได้รับการส่งเสริม สนับสนุนจากผู้บริหารในระดับต่างๆ ในการเปิดโอกาสให้ครูผู้สอนได้แสดงความคิดเห็นและเสนอแนะเพื่อนำมาปรับปรุงให้สอดคล้องกับการเรียนการสอนมากที่สุด และเมื่อผู้บริหาร ครูผู้สอน ได้ปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรที่สถานศึกษาของตนให้เหมาะกับผู้เรียนมากที่สุดแล้ว ก็เผยแพร่หลักสูตรนั้นและทำความเข้าใจในหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นกับทุกฝ่ายต่อไป ทุกๆอย่างต้องมีการพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆตามยุคสมัย หลักสูตรก็เช่นกัน ต้องปรับให้เหมาะกับผู้เรียนมากที่สุด ซึ่งการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาให้ประสบความสำเร็จนั้นก็ต้องสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะครูผู้สอน และผู้บริหารสถานศึกษาให้มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาโดยความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาที่มีบริบทใกล้เคียงกันตามความต้องการจำเป็นของแต่ละสถานศึกษา มีกิจกรรมร่วมมือกันในการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันด้านการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน การพัฒนาหลักสูตร และกิจกรรมอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา แนวโน้มการพัฒนาหลักสูตรในปัจจุบันมุ่งเน้นให้มีการพัฒนาหลักสูตรระดับท้องถิ่นมากขึ้น และเปิดโอกาสให้แต่ละท้องถิ่นสามารถพัฒนาหลักสูตรให้เหมาะสมกับความต้องการและเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นของตน เพื่อให้ผู้เรียนที่อยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง รวมทั้งยังเป็นการปลูกฝังให้ผู้เรียนมีความรักและความผูกพันกับท้องถิ่นของตนมากขึ้นด้วย

          ดังนั้นปัญหาและแนวโน้มการพัฒนาหลักสูตรพิจารณาได้จากข้อมูลพื้นฐานที่ถูกรวบรวมวิเคราะห์เชื่อมโยงเป็นชุดของจุดประสงค์การเรียนรู้ ที่ใช้ในการวางแผนพัฒนาหลักสูตร และนำไปออกแบบหลักสูตร โดยการอธิบายเหตุผลการได้มาของสาระความรู้ในหลักสูตร ที่มีเหตุผลประกอบหลักวิชาโดยอาศัยทฤษฎีการเรียนรู้ต่างๆ และนักพัฒนาหลักสูตรนำมากำหนดเป้าหมายการพัฒนาผู้เรียน กำหนดสาระเนื้อหาและผลการเรียนรู้  ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้สามารถเป็นแนวทางช่วยให้อธิบายแนวโน้มของหลักสูตรได้

หมายเลขบันทึก: 642938เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2017 21:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ธันวาคม 2017 21:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท