เล่าถึงหลักสูตรเยาวชนรุ่นใหม่ใส่ใจชุมชน ตอนที่ ๒


เล่าถึงหลักสูตรโดยย่อ

            การทดลองใช้หลักสูตรครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาสภาพปัญหาของชุมชน และความต้องการในการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมประสบการณ์การการแก้ไขปัญหา และเป็นการพัฒนาหลักสูตรเยาวชนรุ่นใหม่ใส่ใจชุมชน เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ ให้มีทักษะการเรียนรู้เข้าใจเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมภายในชุมชน เพื่อให้เกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์  และทักษะการแก้ไขปัญหาภายในชุมชนได้ โดยการดำเนินการแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน โดยการศึกษาทฤษฎี ปรัชญา จิตวิทยาการเรียนรู้ และศึกษาข้อมูลของชุมชน  เพื่อเป็นออกแบบกิจกรรมของหลักสูตร ระยะที่ 2 การพัฒนาหลักสูตร จากการวิพากษ์หลักสูตรของนิสิตคณะผู้จัดทำและผู้เชี่ยวชาญ และระยะที่ 3 การทดลองใช้หลักสูตร จากเยาวชนกลุ่มเป้าหมาย นักเรียนชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 4-6 จำนวน 34 คน โรงเรียนบ้านหินลาด ตำบลท่าสองคอน อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม โดยผ่านกิจกรรมการเรียนรู้4 หน่วย หน่วยที่1 ชุมชนบันดาลใจผจญภัยเกาะร้าง หน่วยที่ 2 เรียนรู้ชุมชน ปลุกเยาวชนให้ตื่น หน่วยที่3 เครื่องมือการคิดแก้ปัญหาชุมชน หน่วยที่ 4 การสื่อสารสร้างสรรค์ด้วยละครเร่ โดยเครื่องมือที่ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ประกอบไปด้วย 1)แผนภาพต้นไม้ปัญหา 2)แผนที่เดินดิน 3) ห้าภาพปัญหา 4) Hand skills  5) KUSA Model ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักในการใช้หลักสูตรเพื่อการพัฒนาเยาวชนกลุ่มเป้าหมาย

            ผลการดำเนินงาน ระยะที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน พบว่าชุมชนบ้านหินลาดเป็นชุมชนกึ่งเมืองที่ได้รับความเจริญจากพื้นที่อำเภอเมืองของจังหวัด มีสภาพปัญหาอยู่หลายด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและด้านสิ่งแวดล้อม โดยเกิดจากคนในชุมชนขาดความรู้ด้านการจัดการเศรษกิจครัวเรือน ขาดการรู้เท่าทันกระแสสังคมโลก และขาดความตระหนักด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีภูมิปัญญาชุมชนในหลายด้าน ได้แก่ ด้านหัตถกรรมจักสาน ด้านวิชาการศึกษา ด้านการเกษตร และด้านอื่น ๆ ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในการพัฒนาด้านการเรียนรู้บนสภาพปัญหาของเยาวชนกลุ่มเป้าหมาย

          ผลการดำเนินงานระยะที่ 2 การพัฒนาหลักสูตร มีปัจจัยนำเข้าในด้านปรัชญา คือ การผสมผสานแนวคิดทางด้านปรัชญาการศึกษาแบบปฏิรูปนิยมและพิพัฒนานิยม ทำกิจกรรมสะท้อนปัญหาชุมชนผ่านการลงมือเรียนรู้ด้วยตนเอง จิตวิทยาใช้ทฤษฎีการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์นิยม (Constructivist learning theory) มีความเหมาะสมกับรูปแบบกิจกรรมของหลักสูตรมากที่สุด เนื้อหาวิชาการนำข้อมูลมาจากท้องถิ่นมาเป็นเนื้อหาของหลักสูตร ข้อมูลเชิงสังคม พบว่า โรงเรียนบ้านหินลาด เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียนที่มีปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ อยู่ในภาวะแอลดีจำนวนหนึ่ง เด็กมีความคุ้นชินกับกระบวนการแบบลงมือทำเป็นอย่างดี เนื้อหาด้านเทคโนโลยี ในหลักสูตรนี้ควรเพิ่มเติมขั้นตอนการสืบค้นข้อมูลอย่างเป็นระบบผ่านสื่ออินเตอร์เน็ตร่วมด้วย

หลักสูตรนี้ใช้วิธีการจัดกิจกรรมของหลักสูตรเน้นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรง(Direct experience) โดยเรียนรู้จากชุมชนของตนเอง ผ่านรูปแบบการเรียนรู้บนฐานสภาพปัญหา(Problem based learning) โดยบูรณาการกับรูปแบบการเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติ(Active learning) และการประเมินผลใช้รูปแบบการประเมินผลยึดจุดมุ่งหมายเป็นหลักผสมผสานการประเมินแบบเสริมพลัง โดยการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญในด้านวัตถุประสงค์ เนื้อหา กิจกรรม และวิธีการวัดและประเมินผล

          ผลการดำเนินงาน ระยะที่ 3 การทดลองใช้หลักสูตร พบว่าเยาวชนกลุ่มเป้าหมายมีความรู้ความเข้าใจในสภาพปัญหาชุมชนจากหน่วยการเรียนรู้ของหลักสูตรทั้ง 4 หน่วย ได้แก่ หน่วยที่ 1ชุมชนบันดาลใจผจญภัยเกาะร้าง ในหน่วยนี้เยาวชนเกิดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้เรื่องชุมชน หน่วยที่ 2 เรียนรู้ชุมชน ในหน่วยนี้เยาวชนได้ศึกษาสภาพปัญหาของชุมชนผ่านการเดินสำรวจพื้นที่ หน่วยที่ 3 เรียนรู้เครื่องมือการคิดแก้ปัญหา ในหน่วยนี้เยาวชนได้เรียนรู้วิธีคิดการแก้ปัญหาชุมชนผ่านเครื่องมือการศึกษาที่เหมาะสำหรับเยาวชน และหน่วยที่ 4 การสื่อสารสร้างสรรค์ด้วยละครเร่ ในหน่วยนี้เยาวชนได้สื่อสารผลของการคิดแก้ไขปัญหาในพื้นที่สร้างสรรค์ 

         โดยในด้านพุทธิพิสัย เยาวชนกลุ่มเป้าหมายเกิดความรู้ด้านสภาพปัญหาในชุมชนมากขึ้นโดยเข้าใจปัญหาในชุมชนของตนเอง การได้ฝึกคิดแก้ปัญหาบนฐานสภาพปัญหาของชุมชน ด้านทักษะพิสัยได้ฝึกการทำงานกลุ่มร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาภายในกลุ่มภายใต้โจทย์การแก้ปัญหาชุมชน โดยผ่านเครื่องมือการคิดแก้ปัญหาชุมชน การระดมความคิดกันวางแผน  การออกแบบละครร่วมกันถึงขั้นแสดงละคร ทำให้ฝึกการคิดแก้ปัญหา การกล้าแสดงออก การคิดสร้างสรรค์ และด้านจิตพิสัย เยาวชนกลุ่มเป้าหมายเกิดความประทับใจ ความสุข พึงพอใจต่อกิจกรรมการเรียนรู้ในกิจกรรมของหน่วยการเรียนรู้และกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ของหลักสูตร

จุดประสงค์

1.เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐาน สภาพปัญหา ภูมิปัญหา แผนการพัฒนาชุมชนบ้านหินลาด ตำบลท่าสองคอน อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม

2.เพื่อพัฒนาหลักสูตรเยาวชนรุ่นใหม่ใส่ใจชุมชนในรูปแบบการเรียนรู้บนฐานสภาพปัญหาและรูปแบบ การเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติ

3.เพื่อทดลองใช้หลักสูตรเยาวชนรุ่นใหม่ใส่ใจชุมชน กับเยาวชนกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 43 คน โรงเรียนบ้านหินลาด ตำบลท่าสองคอน อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม

ขั้นตอนการดำเนินงาน   ขั้นตอนการดำเนินงานแบ่งเป็น 3 ขั้น

1.ศึกษาข้อมูลพื้นฐานเพื่อจัดทำหลักสูตร ประกอบด้วยการศึกษาแนวคิดการพัฒนาหลักสูตร ศึกษาแนวคิดการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ ศึกษาสภาพปัญหาของเยาวชนกลุ่มเป้าหมาย

2.การพัฒนาหลักสูตร ได้ใช้ข้อมูลจากขั้นการศึกษาข้อมูลพื้นฐานมาสร้างหลักสูตร เอกสารหลักสูตร และเอกสารประกอบหลักสูตร ซึ่งหลักสูตรประกอบด้วยองค์ประกอบดังนี้ 1)จุดประสงค์ 2)เนื้อหา 3)กิจกรรมการเรียนรู้ 4)การประเมินหลักสูตร

3.การทดลองหลักสูตร โดยการกำหนดแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ได้แบ่งการเรียนรู้เป็น 4 หน่วย เพื่อนำไปสู่ความเหมาะสมด้านการพัฒนากลุ่มเป้าหมายอย่างมีคุณภาพ โดยการดำเนินงาน มีรายละเอียดดังนี้

   1) หน่วยที่1 ชุมชนบันดาลใจผจญภัยเกาะร้าง โดยใช้เครื่องมือ แผนที่จากสถานการสมมติเพื่อให้เยาวชนเรียนรู้ความเป็นพื้นฐานของชุมชน ได้แก่ ความหมาย องค์ประกอบ กลไกในชุมชน และบทบาทของเยาวชนในชุมชน เน้นแรงบันดาลใจต่อการเป็นเยาวชนพลเมืองเข้าใจความเป็นชุมชน

   2) หน่วยที่2 เรียนรู้ชุมชน ปลุกเยาวชนให้ตื่น สร้างความเข้าใจในข้อมูลพื้นฐานของชุมชน ประวัติศาสตร์ สภาพปัญหา ภูมิปัญญา และแนวทางการพัฒนาชุมชน เพื่อความเข้าใจชุมชนของตนเองอย่างแท้จริง ผ่านการลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลด้วยกระบวนการกลุ่ม

   3) หน่วยที่3 เครื่องมือการคิดแก้ปัญหาชุมชน ให้เยาวชนแปรผลข้อมูลชุมชน โดยใช้เครื่องมือการคิดแก้ไขปัญหาชุมชน ได้แก่ แผนที่เดินดิน แผนภาพต้นไม้ปัญหา แผน 5 ภาพปัญหา โดยเน้นทักษะการฝึกคิดแก้ไขปัญหาอย่างมีส่วนร่วม

   4) หน่วยที่4 การสื่อสารสร้างสรรค์ด้วยละครเร่ ออกแบบรูปแบบการสื่อสารด้วยกระบวนการละครเร่ เน้นทักษะพื้นฐานของละครให้แก่เยาวชน ได้แก่ จินตนาการ ความเชื่อ และสมาธิสู่การออกแบบละครจากประเด็นปัญหาของชุมชนอย่างสร้างสรรค์

ผลการดำเนินงาน

1.ผลการศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการ พบว่าชุมชนบ้านหินลาด ตำบลท่าสองคอน อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม เป็นชุมชนกึ่งเมืองที่ได้รับความเจริญจากพื้นที่อำเภอเมืองของจังหวัด มีสภาพปัญหาอยู่หลายด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและด้านสิ่งแวดล้อม โดยเกิดจากคนในชุมชนขาดความรู้ด้านการจัดการเศรษกิจครัวเรือน ขาดการรู้เท่าทันกระแสสังคมโลก และขาดความตระหนักด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีภูมิปัญญาชุมชนในหลายด้าน ได้แก่ ด้านหัตถกรรมจักสาน ด้านวิชาการศึกษา ด้านการเกษตร และด้านอื่น ๆ ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในการพัฒนาด้านการเรียนรู้บนสภาพปัญหาของเยาวชนกลุ่มเป้าหมาย  

มีปัญหาพื้นฐานในชุมชน ได้แก่ ปัญหาขยะ ปัญหาดินเสื่อมโทรม ปัญหาน้ำเน่าเสีย ปัญหาถนนชำรุด ในการออกแบบหลักสูตรได้เห็นความสำคัญของชุมชนไปพร้อมกับการพัฒนาเยาวชนให้รู้จักรักชุมชนและส่งเสริมให้เยาวชนคิดแก้ปัญหาภายในชุมชน โดยเยาวชนกลุ่มเป้าหมายได้ศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชนผ่านกิจกรรมของหลักสูตร สามารถเขียนเครื่องมือการคิดแก้ปัญหาชุมชน ได้แก่ แผนที่เดินดิน แผนภาพต้นไม้ปัญหา  และ5ภาพปัญหาได้ จากการศึกษาข้อมูลของเยาวชนกลุ่มเป้าหมายสามารถสะท้อนปัญหาของชุมชนบนพื้นฐานของบริบทจริง ทั้งนี้พบว่ายังพบข้อจำกัดในขั้นตอนการศึกษาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับชุมชนซึ่งต้องเพิ่มกิจกรรมการศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ

2.ผลการพัฒนาหลักสูตร เสริมสร้างทักษะด้านกระบวนการคิดแก้ไขปัญหา โดยผ่านปัจจัยนำเข้าในด้านปรัชญา พบว่า การผสมผสานแนวคิดทางด้านปรัชญาการศึกษาแบบปฏิรูปนิยมผสมผสานกับปรัชญาพิพัฒนานิยม เนื่องจาก หลักสูตรนี้มีการลงพื้นที่และทำกิจกรรมสะท้อนปัญหาชุมชนผ่านการลงมือเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยมีพี่เลี้ยงเยาวชนเป็นผู้ฝึกกระตุ้นการเรียนรู้ ด้านจิตวิทยา พบว่า ทฤษฎีการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์นิยม (Constructivist learning theory) มีความเหมาะสมกับรูปแบบกิจกรรมของหลักสูตรมากที่สุด โดยสอดคล้องกับการคิดสร้างสรรค์ตามทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21และปัญหาพื้นฐานของเยาวชน ด้านวิชาการ พบว่า ข้อมูลที่นำมาจากท้องถิ่นมาเป็นเนื้อหาของหลักสูตรให้ได้เรียนรู้ถึงสภาพปัญหา ภูมิปัญหา ประวัติศาสตร์และแผนชุมชน ควรมีการเพิ่มเติมเนื้อหาบางส่วนกิจกรรมละครเร่ กิจกรรมเสริมเนื้อหาร่วมด้วย ด้านสังคม พบว่า สภาพพื้นที่เป้าหมายเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียนที่มีปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ อยู่ในภาวะแอลดีจำนวนหนึ่ง เด็กมีความคุ้นชินกับกระบวนการแบบลงมือทำเป็นอย่างดี และชุมชนมีปัญหาพื้นฐานที่เหมือนกันในทุกชุมชน ด้านเทคโนโลยี พบว่า ควรเพิ่มเติมขั้นตอนการสืบค้นข้อมูลอย่างเป็นระบบผ่านสื่ออินเตอร์เน็ตร่วมด้วย 

ในด้านกระบวนการ หลักสูตรเยาวชนรุ่นใหม่ใส่ใจชุมชน มี5 องค์ประกอบ ได้แก่ จุดมุ่งหมายของหลักสูตร เนื้อหาของหลักสูตร วิธีการจัดกิจกรรมของหลักสูตร วิธีการวัดและประเมินผล ออกแบบผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ 4 หน่วยการเรียนรู้ จากการพัฒนาหลักสูตรพบว่า รูปแบบการเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติ(Active learning) บูรณาการกับรูปแบบการเรียนรู้บนฐานสภาพปัญหา(Problem based learning) เป็นรูปแบบที่มีความเหมาะสมกับการพัฒนาเยาวชนด้านทักษะการคิดแก้ไขปัญหา เยาวชนกลุ่มเป้าหมายเกิดความสนุกจากการเรียนรู้ ผ่านบรรยากาศการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับช่วงวัย

3. ผลการทดลองใช้หลักสูตร จากการประเมินผลแบบเสริมพลังหลังการดำเนินงาน พบว่า หน่วยการเรียนรู้ที่ได้ระดับความสำเร็จด้านการพัฒนาเยาวชนมากที่สุด คือ หน่วยการเรียนรู้ที่ 3 เรื่อง เครื่องมือการคิดแก้ไขปัญหาชุมชน และหน่วยการเรียนรู้ที่ 4 เรื่อง การสื่อสารด้วยละครเร่ ทั้งนี้เนื่องจากเยาวชนกลุ่มเป้าหมายนั้นสามารถใช้เครื่องมือในการกระบวนการการเรียนรู้ที่ได้เรียนมาสามารถจัดการกระบวนในการสะท้อนปัญหา และสามารถคิดแก้ไขปัญหาภายในชุมชนของตนได้อย่างสร้างสรรค์   

           จากผลการประเมินความพึงพอใจของเยาวชนกลุ่มเป้าหมายด้านกิจกรรม พบว่า กิจกรรมที่มีระดับคะแนนความพึงพอใจสูงสุด ได้แก่ กิจกรรมติดเกาะร้างสร้างพลเมือง  กิจกรรมสร้างสรรค์ชุมชนของตนเอง  กิจกรรมละครเร่สื่อสารสร้างสรรค์ เนื่องจากการได้รับความรู้  สนุกสนานกับการทำกิจกรรม ความคิดสร้างสรรค์ในการทำกิจกรรรม  ได้ลงมือปฏิบัติจริง ได้ ฝึกทำงานเป็นกลุ่ม  ความสามัคคีของสมาชิกในกลุ่ม และการกล้าแสดงออก นอกจากนี้ผลความพึงพอใจด้านคณะทำงาน ระดับคะแนนความพึงพอใจสูงสุด คือ คณะทำงานอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ เนื่องจากคณะทำงานมีบทบาทเป็นพี่เลี้ยงฝึกการคิด(Coach) คอยกระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถามและการให้คำแนะนำ ยกตัวอย่างต่างๆ ให้สามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องตลอดกิจกรรม และผลความพึงพอใจด้านคุณภาพการจัดกิจกรรม ระดับคะแนนความพึงพอใจสูงสุด คือ ได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมกิจกรรมอย่างคุ้มค่า สะท้อนว่าเยาวชนกลุ่มเป้าหมายได้รับความรู้และทักษะที่มีแนวความคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อการปรับใช้ในอนาคต

           จากผลการประเมินการปฏิบัติงานกลุ่ม พบว่า มีช่วงคะแนนดังนี้ มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น 3.16 % มีความกระตือรือร้นในการทำงาน 3.16 % รับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมาย 3.41% ทั้งนี้เพราะเยาวชนทุกคนมีการทำงานช่วยกันเป็นอย่างดี บางคนอาจไม่คิดช่วยเพื่อนในกลุ่มแต่จะช่วยทำงานอย่างอื่น เช่น ช่วยตกแต่งระบายสี ทุกคนช่วยกันทำงานในหน้าที่ ที่ตนเองถนัดตามความสามารถของแต่ละคน เช่น นักเรียนที่ถนัดด้านคิดวิเคราะห์ก็คิดหาวิธีแก้ไขปัญหาจะเป็นผู้นำทางความคิดในกลุ่ม คนที่ถนัดด้านศิลปะก็ช่วยเพื่อนในกลุ่มตกแต่งระบายสี คนที่ลายมือสวยจะช่วยเขียน ทุกคนตั้งใจทำงาน ตามหน้าที่ที่ตนเองได้รับมอบหมาย รู้หน้าที่ของตนเองในกลุ่มทำงาน

         จากการประเมินดังกล่าวทั้ง 3 ส่วนมีข้อวิจารณ์จากการประเมินผลหลังการทดลองแบบเสริมพลัง โดยยึดหลักพุทธินิยม คือ ด้านความรู้ สามารถช่วยเสริมสร้างเยาวชนในด้านความรู้เรื่องสภาพปัญหาในชุมชน เยาวชนได้เรียนรู้ปัญหาในชุมชนของตนเอง ทำให้เกิดความเข้าใจในปัญหาและร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาภายในกลุ่ม เรียนรู้การทำงานเป็นกลุ่ม ได้ระดมความคิดกันวางแผน ช่วยเหลือกันในการกิจกรรมกลุ่ม ได้เรียนรู้การแสดงละคร ทำให้มีความกล้าแสดงออก ได้มีความคิดสร้างสรรค์ ได้คิดวิเคราะห์ เกี่ยวกับการถ่ายถอดออกมาเพื่อให้ผู้ชมเข้าใจ ด้านทักษะ คือเยาวชนได้ทักษะทำงานกลุ่มร่วมกับผู้อื่น การคิดและช่วยกันวางแผนในการทำงาน ฝึกการคิดวิเคราะห์ปัญหาและการแก้ไขปัญหาที่ได้มอบหมาย ด้านทัศนคติ คือเยาวชนรู้จักชุมชนของตนเองมากขึ้น รู้จักปัญหาในชุมชนเพิ่มมากขึ้น

อภิปรายผล

1.ผลการศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชนบ้านหินลาด ตำบลท่าสองคอน อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม พบว่ามีส่วนที่สอดคล้องกับแผนชุมชน(ภาสกร  ทินสา, 2559: 16) ได้แก่ ปัญหาขยะ ปัญหาดินเสื่อมโทรม ปัญหาถนนชำรุด น้ำเน่าเสีย โดยตรงกับข้อมูลพื้นฐานของชุมชน จากลงพื้นที่ศึกษาชุมชน สภาพปัญหาและความต้องการ ยังพบอีกว่าการแก้ไขปัญหามีลักษณะเป็นพลวัตภายใต้กลไกการจัดการของท้องถิ่น และผลจากการสะท้อนปัญหาชุมชนของเยาวชน แสดงออกถึงความเข้าใจสภาพปัญหาของชุมชนได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้มีมีข้อจำกัดเชิงกระบวนเรียนรู้ของกิจกรรม ทำให้การเก็บข้อมูลด้านสภาพปัญหา และความต้องการของชุมชนยังไม่ครอบคลุมปัญหาทุกพื้นที่ ซึ่งต้องเพิ่มกระบวนการศึกษาข้อมูลสภาพปัญหาอย่างเป็นระบบ ได้แก่ ชุดคำถาม ข้อมูลเชิงกายภาพ และกิจกรรมสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมอย่างเข้าใจ

2.ผลการพัฒนาหลักสูตรเสริมสร้างทักษะกระบวนการคิดแก้ปัญหา พบว่าการพัฒนาหลักสูตรเพื่อเสริมสร้างทักษะการคิดแก้ปัญหาของเยาวชนมีความเหมาะสมกับรูปแบบการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม(Active leaning) ซึ่งสามารถบูรณาการกับรูปแบบการเรียนรู้บนฐานสภาพปัญหา(Problem based leaning) ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน(ไพศาล สุวรรณน้อย, 2558: 3) โดยมีกิจกรรมเสริมของหลักสูตรหรือกิจกรรมสันททนาการช่วยเสริมสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ของเยาวชน ให้เกิดความสนุก และเกิดการเรียนรู้ร่วมกันอย่างท้าทายต่อศักยภาพของเยาวชน เครื่องมือการฝึกคิดแก้ปัญหาทำให้เยาวชนกลุ่มเป้าหมายเข้าใจสภาพปัญหาชุมชนเพิ่มมากขึ้น กิจกรรมการถอดบทเรียนไม่ยากจนเกินไป เหมาะสมกับช่วงวัย การสื่อสารสภาพปัญหาผ่านละครเร่ ถือเป็นรูปแบบในการนำเสนอที่สอดคล้องกับรูปแบบบนฐานปัญหาอย่างอย่างสร้างสรรค์ ทั้งนี้เยาวชนกลุ่มเป้าหมายถือว่ามีประสบสบการณ์เดิมด้านกระบวนการเรียนรู้รูปแบบนี้อยู่พอสมควร

3.ผลการทดลองใช้หลักสูตรพบว่าช่วยเสริมสร้างเยาวชนในด้านการเรียนรู้บนสภาพปัญหาในชุมชน ทำให้เยาวชนกลุ่มเป้าหมาย เกิดความเข้าใจในปัญหาและร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาภายในกลุ่ม จากกิจกรรมลงพื้นที่สำรวจปัญหาในชุมชน วิเคราะห์สภาพปัญหาชุมชนผ่านเครื่องมือการคิดแก้ปัญหา  เรียนรู้การทำงานเป็นกลุ่ม สอดคล้องกับการเรียนรู้แบบแบ่งกลุ่มย่อย(ปรีชา คัมภีรปกรณ์, 2540: 25-27) ได้ระดมความคิดกันวางแผนช่วยเหลือกันในการทำกิจกรรม กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ กิจกรรมเสริมของหลักสูตร กิจกรรมการเรียนรู้บนฐานสภาพปัญหาด้วยกระบวนการกลุ่ม และเครื่องมือการคิดแก้ปัญหาซึ่งเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติและบนฐานสภาพปัญหา สื่อสารปัญหาผ่านการแสดงละครเร่ ทำให้มีความกล้าแสดงออก เกิดความคิดสร้างสรรค์ จากกิจกรรม 5 ภาพปัญหา และการสร้างละคร ในพื้นที่สร้างสรรค์ สอดคล้องกับแนวคิดละครประชาชนในปัจจุบัน (ขัวญชนก พีรปกรณ์, 2557: 16-23)

 ข้อเสนอแนะ

1.มีการขยายระยะเวลาในการดำเนินกิจกรรมมากขึ้น โดยใช้เวลามากขึ้นในกิจกรรมหลักและกิจกรรมเสริม ทั้งนี้เนื่องเพราะข้อจำกัดเชิงวัฒนธรรมในท้องถิ่น

2.มีการจัดการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ จากการให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับชุมชน เพิ่มกระบวนการสืบค้นข้อมูลเชิงลึกมากยิ่งขึ้น เพราะประสบการณ์เดิมของกลุ่มเยาวชนเป้าหมายไม่เพียงพอ จึงต้องมีการสืบค้นข้อมูลที่ชัดเจนเพิ่มมากขึ้น

3.ชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรม และประเมินหลักสูตร โดยในหลักสูตรนี้ยังขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของเยาวชนเชิงประจักษ์ในการออกแบบหลักสูตรและการประเมินหลักสูตรอย่างมีส่วนร่วมที่ยั่งยืน 

อ้างอิง

ขัวญชนก พีรปกรณ์ และ ภัทรกร เกิดจังหวัด.(2557). เมล็ดพันธุ์แห่งปัญญา. กรุงเทพมหานคร:สำนักงานกองทุน        

ปรีชา คัมภีรปกรณ์. (2540). การวางแผนด้านบุคลากร. นนทบุรี : บัณฑิตวิทยาลัมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

ไพศาล สุวรรณน้อย. (2558). เอกสารประกอบการบรรยายโครงการพัฒนาการเรียนการสอน. หน้า 1-10

ภาสกร ทินสา. (2559). แผนชุมชนฉบับปรับปรุง 2559. มหาสารคาม: บ้านหินลาด หมู่ 8.

ภาพจาก นางสาวขวัญจิรา  ดวงแก้ว


คณะผู้ดำเนินงาน 

นายธีระวุฒิ ศรีมังคละ 

นางสาวกษมา ว่องไว 

นางสาวกิติมา ทรายทอง

นางสาวธนิตา อัดโดดดร 

นางสาวพัสราพร บุตรนอก  

นายวรรณศักดิ์ ศรีคำภา 

นางสาวอมรรัตน์ ขันถม 

นางสาวศุภรัตน์ ยงยืน 

นางสาวบุษราคัม บุญส่ง 

นางสาววชิราพันธ์ อาจทวีกุล 

นางสาวขวัญจิรา ดวงแก้ว 

คณะศึกษาศาสตร์ สาขาสังคมศึกษา

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

หมายเลขบันทึก: 642700เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2017 17:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ธันวาคม 2017 08:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท