๑๕. หุบกะพง..กับป่านศรนารายณ์..ในโครงการพระราชดำริ..


ป่านศรนารายณ์ มีเส้นใยทำการแปรรูปได้หลายวิธี แต่ละวิธีจะได้เส้นใยที่มีคุณภาพแตกต่างกัน เส้นใยที่ได้จากการแปรรูป ในโรงงานอุตสาหกรรม จะนำไปจำหน่ายในโรงงาน ส่วนการ แปรรูปด้วยมือ จะนำไปใช้ประโยชน์ในด้านงานหัตถกรรม ในรูปของผลิตภัณฑ์ป่านศรนารายณ์...

            ผมเดินทางกลับมาจาก..”หุบกะพง” เก็บความทรงจำดีๆมาได้มากมาย ได้ศึกษาเรียนรู้หนึ่งในโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙..เป็นก้าวต่อก้าว..ที่เข้าใกล้ท้องถิ่นที่พระองค์เคยทรงงานมากที่สุด..

          ครั้งนี้..มีเรื่องเล่าเพิ่มเติม เพราะผมประทับใจใน ผลิตภัณฑ์หัตถกรรม งานทำมือของชาวหุบกะพง ที่เลืองลือไปทั่วประเทศ ซึ่งผมเคยได้ยินแต่ชื่อ วันนี้..ได้สัมผัสของจริงและอุดหนุนสินค้าที่ทำจาก..ป่านศรนารายณ์...ชื่อนี้ล่ะที่ผมประทับใจและรู้สึกมหัศจรรย์ยิ่งนัก..

          ผมเดินทางออกจากอาคารนิทรรศการพระราชกรณียกิจในหลวงรัชกาลที่ ๙ ตอนแรกก็คิดว่า..การเดินทางตามรอยพระราชดำริ..จบลงแล้ว พอรถขับเคลื่อนออกสู่ถนนใหญ่เข้าใกล้ตลาด ..ผมก็เห็นศูนย์แสดงและจำหน่ายผลผลิต...

เป็นผลิตภัณฑ์สหกรณ์และเกษตรกรในโครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง ที่ทำจาก..ป่านศรนารายณ์...

          ผมจอดรถหน้าศูนย์ และเดินเข้าไปทักทายเจ้าหน้าที่ ขออนุญาตเข้าชมกระบวนการและขั้นตอน..การใช้ประโยชน์จากป่านศรนารายณ์ ในบริเวณฝาผนังอาคารติดแผ่นภูมิรูปภาพและข้อความอย่างละเอียด เป็นขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้น จนได้เส้นใย แล้วนำเส้นใยไปถักทอ..เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ที่สวยงามและทนทาน..

          ในอาคาร..ผมเห็นจักรเย็บผ้า แสดงว่า..วันธรรมดาน่าจะมีการสาธิตการเย็บปักถักร้อย อีกมุมหนึ่ง..จะมีเครื่องจักรขนาดใหญ่ คล้ายเครื่องทอผ้า แต่ทำด้วยเหล็ก ผมไม่รู้จะถามใคร แต่รูปลักษณ์ก็พอจะเดาได้ว่า...เอาไว้ทอเส้นใยป่านศรนารายณ์..ให้เป็นผืนผ้าก่อนนำไปตัดเย็บ..

          ที่น่าสนใจเป็นที่สุด ก็คือ..ก้านใบของป่านศรนารายณ์ที่วางอยู่กับพื้น ใกล้กับซีกไม้ไผ่เล็กๆ ๒ อัน สูงประมาณฟุตครึ่งตั้งตรงและโคนไม้ประกบไว้ด้วยเหล็ก ปลายมีช่องเป็นล่องเล็กๆเอาไว้สอดใบป่านศรนารายณ์

          เป็นอุปกรณ์ง่ายๆแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน เอาไว้รูดใบป่านบางๆที่ไม่ยาวมากนัก เมื่อสอดใบเข้าไปแล้ว ก็รูดให้เสียดสีกับไม้ไผ่ ทำหลายๆครั้ง จนกว่าจะได้เส้นใยที่เบาบางที่สุดของป่านศรนาราณ์..

          ที่ผมรู้..เพราะผมนั่งรูดด้วยมือผมเอง..เห็นผลชัดเจน คือได้เส้นใย..สีขาว ที่นุ่มเหนียว หลังจากที่รูดเอาผิวหนังสีเขียวของใบออกหมดแล้ว ผมลองดึงเส้นใยที่ได้อย่างแรง แต่ก็ไม่ขาด โชคดีที่ไม่บาดมือผมเสียก่อน..นึกแล้วยังเสียว เส้นใยคมมาก...

          ว่าแล้ว..จะช้าอยู่ใย รีบไปร้านค้าของฝากทันที ภายในร้านมีสินค้าในรูปแบบที่หลากหลาย ทุกอย่าง..ทำจากป่านศรนารายณ์ทั้งสิ้น..เหมือนกับว่าสินค้าทั่วไปที่ทำจากผ้า..ก็สามารถใช้ป่านศรนาราณ์นำไปใช้แทนผ้าได้ทั้งหมด..

          ผมอุดหนุน หมวก..กับ ไม้กวาดป่านศรนารายณ์ ถูกใจทั้งสองอย่าง หมวกเป็นของที่ระลึก ที่ผมต้องใส่ทุกวัน..ไม้กวาด..ถึงแม้จะไม่ได้กวาดทุกวันแต่..ถ้ากวาดแล้วหลายครั้งสามารถซักตากได้ แต่เวลาใช้แล้ว ควรจะแขวนมากกว่าที่จะวางกับพื้น..

          ผมกลับถึงบ้าน..รีบค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมทันที เหมือนหลงใหล ในเส้นสีสดใสของป่านศรนารายณืยังไงยังงั้น ลองมาติดตามเรื่องราวอีกสักนิด..นะครับ...

          หมู่บ้านหุบกะพง เป็นหมู่บ้านสหกรณ์ตัวอย่างในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นโครงการพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๙....

          ปี ๒๕๑๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมเยียนสมาชิกในหมู่บ้านสหกรณ์หุบกะพง ทรงแนะนำให้แม่บ้านนำป่านศรนารายณ์มาใช้ประโยชน์ในด้านการจักสาน เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน โดยใช้เวลาว่างหลังจากเลิกงานด้านการเกษตรแล้ว เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวเกษตรกรอีกทางหนึ่ง                                                                                                                                                    โดยมีสมาคมสตรีธุรกิจร่วมกับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้ความรู้ และฝึกทักษะให้แก่แม่บ้านสหกรณ์ด้วยวิธีการใช้เส้นใยป่านศรนารายณ์ทำเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ เพื่อจำหน่ายที่ศูนย์รวบรวมผลิตภัณฑ์ป่านศรนารายณ์ ในหมู่บ้านสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง

          ปี ๒๕๒๔ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับงานจักสานป่านศรนารายณ์ของแม่บ้าน

          เรื่องสุดท้ายที่ผมรู้..คือ คุณสมบัติของป่านศรนารายณ์ มีเส้นใยทำการแปรรูปได้หลายวิธี แต่ละวิธีจะได้เส้นใยที่มีคุณภาพแตกต่างกัน เส้นใยที่ได้จากการแปรรูป ในโรงงานอุตสาหกรรม จะนำไปจำหน่ายในโรงงาน ส่วนการ แปรรูปด้วยมือ จะนำไปใช้ประโยชน์ในด้านงานหัตถกรรม ในรูปของผลิตภัณฑ์ป่านศรนารายณ์...

          เส้นใยป่านศรนารายณ์ควรเก็บรักษาไว้ไม่ให้ถูกความชื้น หากถูกความชื้นจะขึ้นรา ทำให้เป็นจุดสีดำ (อ้าว..? แล้วแบบนี้..หมวกใบใหม่ของผม..ก็ใส่เดินตากฝนไม่ได้ล่ะสิ..)

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๒๑  พฤศจิกายน  ๒๕๖๐

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 641856เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2017 21:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กรกฎาคม 2022 08:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท