โครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาสถาบันการจัดการความรู้ชุมชนท้องถิ่น


โครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาสถาบันจัดการความรู้ของชุมชนท้องถิ่น

๑.  ความเป็นมา
            ปัจจุบันสถานการณ์ทางเศรษฐกิจสังคมของโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกระแสโลกาภิวัตน์ที่สร้างแบบแผนทางวัฒนธรรมเดียวกันทั่วทั้งโลก กระแสดังกล่าวได้ทำลายรากเหง้าทางวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นเป็นอย่างมาก   ในอดีตที่ผ่านมา วิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นมีลักษณะที่ผสานสัมพันธ์กันอย่างกลมกลืน ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์  และมนุษย์กับธรรมชาติ   ภายใต้ระบบความสัมพันธ์ดังกล่าว  มนุษย์ได้สร้างสรรค์ภูมิปัญญาเพื่อการดำเนินวิถีชีวิตในด้านต่างๆ ขึ้นมาอย่างหลากหลาย และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ของแต่ละพื้นที่   ซึ่งเราสามารถถอดรหัสภูมิปัญญาท้องถิ่นที่อยู่ในวิถีชีวิตของชุมชนได้  ทั้งจากเครื่องใช้ไม้สอย  ที่อยู่อาศัย  เครื่องนุ่งห่ม  ยารักษาโรค  วัฒนธรรม ประเพณี  พิธีกรรม  และการจัดระบบความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชน  
            การพึ่งพาปัจจัยสี่และใช้ภูมิปัญญาเป็นเครื่องมือในการดำเนินวิถีชีวิตชุมชน    สะท้อนให้เห็นว่า ชุมชนท้องถิ่นในอดีต สามารถที่จะสร้างความรู้ได้เอง มีการจัดการความรู้ จัดการชุมชนของตนเอง  และมีการสั่งสม  สืบทอด และสร้างสรรค์ความรู้เกิดขึ้นโดยตลอด ผ่านยุคสมัยเรื่อยมา  หรือกล่าวโดยสรุปว่า ชุมชนท้องถิ่นสามารถพึ่งตนเองได้ตามกำลังและศักยภาพของทุนในชุมชนที่มีอยู่
            หากในปัจจุบัน  ชุมชนท้องถิ่นกำลังถูกสั่นคลอนอย่างหนักภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์  ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนและทำลายทุนทางสังคมของชุมชนท้องถิ่น  ประกอบกับขาดกลไกหรือสถาบันทางสังคม ที่จะสืบทอดและสร้างสรรค์ความรู้เพื่อการจัดการตนเองของชุมชนได้อย่างเข้มแข็ง   ความรู้ ภูมิปัญญา วัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามซึ่งได้สะสมมาอย่างยาวนาน จึงถูกทอดทิ้ง  และเปลี่ยนทิศทางหันไปรับเอาเทคโนโลยีและวิทยาการสมัยใหม่มาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไม่รู้เท่าทัน   และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการกำหนดนโยบายการพัฒนาประเทศจากรัฐบาลส่วนกลางและการรวมศูนย์อำนาจของรัฐบาล โดยเฉพาะในเรื่องกระจายอำนาจการจัดการศึกษาให้แก่ท้องถิ่น     ส่งผลให้ชุมชนท้องถิ่นส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ไม่สามารถจัดการตัวเองได้ในเรื่องของความรู้ ภูมิปัญญา วิถีชีวิตและกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของคนในชุมชน   
            ปัจจุบัน แม้ว่ารัฐบาลและหน่วยงานทั้งหลายจะชูประเด็น “ชุมชนเข้มแข็ง  เศรษฐกิจฐานราก  สังคมแห่งการเรียนรู้   ประชาธิปไตยจากฐานราก   การเมืองภาคประชาชน  การมีส่วนร่วม  การบริหารแบบธรรมาภิบาล  การตรวจสอบจากภาคประชาชน  ฯ ล ฯ”   พร้อมทั้งกำหนดโครงการและเงินจำนวนมหาศาลหลั่งไหลลงสู่ชุมชนท้องถิ่นก็ตาม    แต่โครงการดังกล่าวมักดำเนินการโดยคนภายนอก และเน้นการสร้างกิจกรรมในพื้นที่เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งๆ มากกว่าการสร้างคนและสร้างกลไกที่จะเอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ที่เข้มแข็งของชุมชนอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน    การดำเนินงานของโครงการส่วนใหญ่มีลักษณะเสมือนกับไฟไหม้ฟาง  มาแล้วก็ผ่านไป 
ข้อเท็จจริงของสถานการณ์ชุมชนท้องถิ่นอีกประการหนึ่ง  คือ นับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศเมื่อปี ๒๕๔๐  จนถึงปัจจุบัน มีบัณฑิตที่จบการศึกษา หรือที่ได้มาทำงานในภาคเมืองกลับสู่ท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก   คนหนุ่มสาวเหล่านี้ นับเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติ  หากแต่ต้องมาอยู่ในสภาวะที่  “ไปไม่ถึง   กลับไม่ได้”  เป็นจำนวนมาก   แม้ว่ารัฐบาลจะสร้างโครงการ “บัณฑิตอาสากองทุนหมู่บ้าน” ขึ้นมารองรับการว่างงานของบัณฑิตจำนวนถึง  ๗๐,๐๐๐  กว่าคนก็ตาม  ก็เป็นโครงการระยะสั้นเพียง ๑๐  เดือนเท่านั้น  และมีผลกระทบต่อการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนน้อยมาก  โดยเฉพาะในมิติของการพัฒนาคนและการเรียนรู้ของชุมชนท้องถิ่น
            ด้วยตระหนักถึงสถานการณ์และปัญหาของชุมชนท้องถิ่นดังกล่าวข้างต้น  โครงการเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  จึงมีเป้าหมายที่จะเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพคนหนุ่ม-สาวที่เป็นลูกหลานของชุมชนท้องถิ่น ให้กลับคืนมาทำงานในบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง  ให้มีความรู้ความสามารถ และทักษะที่จะนำพาคนในชุมชนเรียนรู้หรือ “จัดการความรู้”  โดยร่วมกันกำหนดอนาคตและสร้างสรรค์ชุมชนของตนให้ดำเนินไปสู่เป้าหมาย “ชุมชนเป็นสุข” ตามนิยามความหมายที่ชุมชนเป็นผู้กำหนด  และคาดหวังว่าบุคคลเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญร่วมกับผู้นำชุมชน ในการผลักดันให้เกิด “สถาบันจัดการความรู้ของชุมชน” ที่จะทำหน้าที่ในการพัฒนาคนและส่งเสริมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไปในอนาคต
            ในระยะเวลา ๑๘ เดือนที่ผ่านมา ( ๑ มิถุนายน  ๒๕๔๖ – ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๗) โครงการเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) ได้คัดสรรบัณฑิตคืนถิ่น จำนวน ๒๓ คน ในพื้นที่ ๕ จังหวัดภาคกลาง  ได้แก่  อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี  และสุพรรณบุรี  มาพัฒนาเป็น “นักจัดการความรู้ท้องถิ่น”  ( “คุณกิจ”และ”คุณอำนวย”) โดยจัดหลักสูตรการเรียนรู้บนฐานชีวิตจริงให้กับนักจัดการความรู้ท้องถิ่นทั้ง ๒๓  คนอย่างต่อเนื่อง  และเน้นในเรื่องของ “ความรู้และการจัดการความรู้” ที่สอดคล้องกับสถานการณ์จริงของแต่ละพื้นที่  ตลอดจนศักยภาพของนักจัดการความรู้ท้องถิ่นแต่ละคน
            ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา  โครงการฯ บรรลุวัตถุประสงค์  ๗  ประการ คือ   (๑) การพัฒนาคน  ได้แก่ นักจัดการความรู้ท้องถิ่นที่มีฐานคิด  ความรู้  ความสามารถ  เข้าใจหลักการของ “การจัดการความรู้”  และได้รับความไว้วางใจ  ความศรัทธาจากชุมชน   ที่จะทำงานในชุมชนท้องถิ่นอย่างเข้มแข็งต่อไป จำนวน ๒๐  คน   กลุ่มเป้าหมายในชุมชนอีกไม่ต่ำกว่า  ๓๐๐ – ๔๐๐  คน ที่ได้มีโอกาสร่วมในกระบวนการเรียนรู้ เพื่อคลี่คลายทุกข์หรือปัญหาของตนเอง ภายใต้การอำนวยการของนักจัดการความรู้ท้องถิ่น    (๒)  การสร้างสรรค์ความรู้   ได้แก่  ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาและทุนทางสังคมของแต่ละพื้นที่   ความรู้ในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ให้กับนักจัดการความรู้ท้องถิ่น    ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและวิธีการจัดการความรู้ให้กับชาวบ้านแต่ละกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันในชุมชน    ข้อมูลความรู้ตามประเด็นเนื้อหาที่ทำกิจกรรม  เช่น   ความรู้เกี่ยวกับเกษตรลดต้นทุน   เด็ก เยาวชน และครอบครัว    สุขภาพ    ผู้นำ  ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและวัฒนธรรมประเพณี  ฯ ล ฯ  (๓)    หลักสูตรเบื้องต้น    สำหรับการพัฒนานักจัดการความรู้ท้องถิ่น และการจัดการเรียนรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่  (๔)   เครือข่ายวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีเครื่องมือส่งเสริมการเรียนรู้ที่หลากหลาย    (๕)  เกิดการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มเป้าหมายและในพื้นที่ปฏิบัติการของโครงการบางระดับ  เช่น  เกษตรกรลดต้นทุนได้จริง  เด็ก เยาวชนในชุมชน มีความสุขกับการเรียนรู้จากสิ่งรอบตัว   คนในชุมชนหันมาทำงานร่วมกันมากขึ้น  ฯ ล ฯ  (๖)  แนวทางในการปรับระบบความสัมพันธ์ของคนในชุมชน  โดยผ่านกระบวนการพัฒนาคนและการจัดการความรู้    (๗)  ความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนา “วิทยาลัยชาวบ้าน” หรือ “สถาบันจัดการความรู้ของชุมชน”  ในระยะต่อไป
            จากเครือข่ายผู้คนและความรู้ที่โครงการได้สร้างและสะสมขึ้นในช่วง ๑๘   เดือนที่ผ่านมา นับว่าเป็นทุนสำคัญที่น่าจะได้มีการต่อยอด เพื่อนำไปสู่การก่อเกิดสถาบันการจัดการความรู้ที่เข้มแข็งชุมชนท้องถิ่นในอนาคต  ที่จะทำหน้าที่ในการพัฒนาคนของตนเอง  มีขีดความสามารถในการจัดการความรู้เพื่อตอบสนองต่อทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืน  และสามารถเชื่อมโยงกับกลไกปกติของท้องถิ่นที่มีอยู่  ไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบจ.,  เทศบาล, อบต.) หรือกลไกภาคประชาชนที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เช่น  ขบวนการสหกรณ์  เป็นต้น     โดยมีนักจัดการความรู้ท้องถิ่นทั้ง ๒๐  คนและองค์ความรู้ที่โครงการมีอยู่ เป็น “ตัวเชื่อม”  ที่สำคัญ  นำไปสู่การทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับสถาบันทางสังคมอื่นๆ ของชุมชน  เช่น  บ้าน  วัด  โรงเรียน  สหกรณ์  ฯ ล ฯ    

๒. วัตถุประสงค์ของโครงการ
            (๒.๑)    เพื่อใช้ประโยชน์จากนักจัดการความรู้ท้องถิ่นที่โครงการได้พัฒนามาแล้วระดับหนึ่งในการในการเชื่อมประสานพันธมิตรในชุมชนนอกชุมชน รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการพัฒนา “สถาบันจัดการความรู้ของชุมชนท้องถิ่น”  ในพื้นที่เดิมและพื้นที่ขยายผล โดยใช้แนวทางของ “การจัดการความรู้”
            (๒.๒)    เพื่อใช้ประโยชน์จากนักจัดการความรู้ท้องถิ่นที่โครงการได้พัฒนามาแล้วระดับหนึ่ง ในการเป็นพี่เลี้ยงของโครงการในการสร้าง คุณกิจ และ คุณอำนวย  ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ สถาบันการจัดการความรู้ของชุมชนท้องถิ่น  ในมิติต่างๆ   เช่น  การลดหนี้สิน   การพัฒนาอาชีพ    ครอบครัวอบอุ่น   การพัฒนาผู้นำ    การใช้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเป็นแหล่งเรียนรู้    สุขภาพองค์รวม  เป็นต้น
            (๒.๓)  เพื่อใช้องค์ความรู้ในการพัฒนานักจัดการความรู้ท้องถิ่นในภาคกลาง และองค์ความรู้จากสถาบันจัดการความรู้เพื่อพัฒนาสังคม (สคส.)  ไปขยายผลเพื่อการพัฒนาคุณกิจและคุณอำนวยให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสหกรณ์ในภาคอื่นๆของประเทศ
            (๒.๔)  เพื่อสร้างการเรียนรู้ร่วมกับสถาบันการศึกษาเพื่อนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรของสถาบันการศึกษาที่เอื้อต่อการส่งเสริมความเข้มแข็งของการเรียน การสอนในสถาบันการศึกษาและความเข้มแข็งของ “สถาบันจัดการความรู้ของชุมชนท้องถิ่น”
๓. กลุ่มเป้าหมายและพื้นที่เป้าหมาย
            (๓.๑)   พื้นที่เป้าหมาย   
                       พื้นที่ฐานงานเดิม     ๕  จังหวัดภาคกลาง  ได้แก่   จังหวัดสุพรรณบุรี  จังหวัดอ่างทอง  จังหวัดสิงห์บุรี   จังหวัดชัยนาท  และจังหวัดอุทัยธานี    เป็นการทำงานต่อยอด  ยกระดับ  นำร่องในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ขยายผล (ภาคเหนือ ภาคใต้)
            (๓.๒)      กลุ่มเป้าหมาย   เป้าหมายหลักเน้นกลุ่มเป้าหมายเชิงสถาบัน (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสหกรณ์)  และสมาชิกของสถาบันนั้นๆ   ซึ่งได้แก่ (๑)  นักจัดการความรู้ท้องถิ่นที่ที่ผ่านการฝึกอบรมมาแล้ว  (๒)  คนหนุ่มสาวในพื้นที่  (๓)  ผู้นำชุมชน  (ฝ่ายบริหารและสมาชิก เทศบาล, อบต.,  ผู้ใหญ่บ้าน  ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน, ผู้นำที่ไม่เป็นทางการ) (๔)   ฝ่ายบริหารและสมาชิกสหกรณ์ (๕)   ครูศูนย์เด็กเล็ก   พ่อ-แม่เด็ก    พระ (๖)   หน่วยงานสนับสนุนทั้งภาครัฐ  ภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษาในท้องถิ่น (๗)  โครงการอื่นๆในพื้นที่ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส.และ สคส. วจส.  พอช. ฯ ล ฯ (๘)   นักวิจัยของ สกว.

๔. กระบวนการและขั้นตอนในการทำงาน
            (๔.๑)  ถอดบทเรียน  วิเคราะห์สถานการณ์พื้นที่  ทุนทางสังคม  กำหนดวัตถุประสงค์เป้าหมาย และพัฒนาแนวทางโครงการร่วมกับนักจัดการความรู้ท้องถิ่นทั้ง ๒๐  คน  และภาคีที่เกี่ยวข้องในพื้นที่
            (๔.๒)  จัดประชุมฝ่ายบริหาร ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  และสหกรณ์ เพื่อซักซ้อมความเข้าใจและ ลงนามความร่วมมือ ระหว่าง สคส. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น   สถาบันการศึกษา และ สรส.
            (๔.๓)  การลงมือปฏิบัติตามแผน
            (๔.๔)   การถอดบทเรียนและรายงานผลการดำเนินงานต่อ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น   สคส. และสาธารณะชนเป็นระยะๆ
            (๔.๕)   การเผยแพร่องค์ความรู้จากการดำเนินงานในรูปของสื่อต่างๆ เช่น  จดหมายข่าว  เว็บไซด์   หนังสือพิมพ์  VCD   เวทีมหกรรมตลาดนัดความรู้  ฯ ล ฯ

๕.  ภารกิจหลักของโครงการ
            (๕.๑)  การพัฒนาคน   โดยการเสริมศักยภาพให้กับกลุ่มเป้าหมายด้วยเครื่องมือในการจัดการความรู้และเครื่องมือในการส่งเสริมการเรียนรู้ที่หลากหลาย  โดยยึดหลักการเรียนรู้บนฐานงาน  ฐานชีวิตจริง และการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มเป้าหมายนั้นๆโดยตรง  การจัดการเรียนรู้จะมีทั้งระดับพื้นที่  และระดับเครือข่าย (ข้ามพื้นที่)
            (๕.๒) การพัฒนาองค์ความรู้   รวบรวม   ประมวลข้อมูล   ภาพถ่าย  ที่ได้จากการดำเนินงานมาสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ และเพื่อการผลิตสื่อในการเผยแพร่  ทั้งในชุมชนและนอกชุมชน  (โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือสื่อสารในชุมชน  เช่น หอกระจายข่าว  วิทยุชุมชน   สื่อบุคคล   เทศกาลของชุมชน  ฯ ล ฯ)
            (๕.๓)  การพัฒนาระบบ  สนับสนุนให้เกิด “สถาบันจัดการความรู้ของชุมชนท้องถิ่น” ที่เข้มแข็งภายใต้โครงสร้างการบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสหกรณ์โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากฝ่ายต่างๆ ทั้งในชุมชนและนอกชุมชน  สถาบันดังกล่าวนี้จะทำหน้าที่อย่างน้อย ๒  ประการ  กล่าวคือ
                       (๕.๓.๑)  ประสานหรือจัดการให้เกิดกระบวนการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสหกรณ์อย่างต่อเนื่อง
                       (๕.๓.๒)  ทำหน้าที่จัดการความรู้ เพื่อตอบโจทย์ขององค์กรและสมาชิก อย่างต่อเนื่อง
๖.  ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ
             ๒๔   เดือน  ( ๑ พฤษภาคม   ๒๕๔๘   -  ๓๐  เมษายน  ๒๕๕๐)
               
๗.   ผลที่คาดว่าจะได้รับ
            (๗.๑)  สถาบันจัดการความรู้ของชุมชนภายใต้การสนับสนุนของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสหกรณ์ไม่ต่ำกว่า ๑๐  แห่ง
            (๗.๒)  สมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สหกรณ์ และผู้นำชุมชนมีการใช้ “หลักการจัดการความรู้” ในการดำเนินงานของตนเอง  ทั้งในระหว่างการดำเนินโครงการและเมื่อโครงการสิ้นสุด
            (๗.๓)  มี “คุณอำนวย”  “คุณกิจ”   “คุณประสาน”  และ “คุณเอื้อ”  ที่มีคุณภาพเกิดขึ้นจำนวน ไม่ต่ำกว่า  ๑๐๐   คน
            (๗.๔)  ได้องค์ความรู้ในการพัฒนาสถาบันจัดการความรู้ของชุมชนท้องถิ่นที่เข้มแข็ง
            (๗.๕)   สถาบันการศึกษาในท้องถิ่นมีการพัฒนาหลักสูตรที่เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้ของชุมชนท้องถิ่น อย่างน้อย ๑  สถาบัน
๘.  ผู้รับผิดชอบโครงการ
          
คุณทรงพล      เจตนาวณิชย์
                โครงการเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.)
                 ๖๙๓ ถนนบำรุงเมือง เขตป้อมปราบฯ กทม. ๑๐๑๐๐
                 โทร.  ๐-๒๒๒๓-๖๗๑๓ โทรสาร. ๐-๒๒๒๖-๔๗๑๘
                 
           ที่ปรึกษาโครงการ :  ศ. นพ. วิจารณ์  พานิช       ครูสุรินทร์      กิจนิตย์ชีว์
                                        ดร. ชัยวัฒน์  บุนนาค         รศ. ปาริชาติ      วลัยเสถียร
                                        ดร. สีลาภรณ์  บัวสาย         รศ. ประภาภัทร  นิยม
                                        รศ.ดร. เนาวรัตน์  พลายน้อย รศ. ดร. ศุภวัลย์   พลายน้อย


                


 

หมายเลขบันทึก: 6416เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2005 11:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท