ธรรมรัต
พระมหา ธรรมรัต อริยธมฺโม ยศขุน

พุทธศาสนากับการเมือง : กรณีสันติอโศก


พุทธศาสนากับการเมือง : กรณีสันติอโศก

พระอดิศร ธฺมมปญฺโญ เลขที่ ๒

๑. พระพุทธศาสนา

คำว่า พระพุทธศาสนา ประกอบด้วยคำว่า พุทธะ ซึ่งแปลว่า ผู้รู้ กับคำว่า ศาสนา ที่แปลว่า คำสั่งสอน รวมกันเข้าเป็น พุทธศาสนา แปลว่า คำสั่งสอนของผู้รู้ เมื่อพูดว่า พุทธศาสนา ความเข้าใจก็ต้องแล่นเข้าไปถึงลัทธิปฏิบัติ และคณะบุคล ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติในลัทธิปฏิบัตินั้น ไม่ใช่มีความหมายแต่เพียงคำสั่งสอน ซึ่งเป็นเสียงหรือเป็นหนังสือ หรือเป็นเพียงตำรับตำราเท่านั้น พระพุทธศาสนาที่เราทั้งหลายในบัดนี้ได้รับนับถือและปฏิบัติเนื่องมาจากอะไร คือเราได้อะไรจากสิ่งที่เรียกว่า พระพุทธศาสนา นั้นมานับถือปฏิบัติในบัดนี้ เมื่อพิจารณาดูแล้วก็เห็นว่า เราได้หนังสือ อย่างหนึ่ง บุคคล อย่างหนึ่ง หนังสือนั้นก็คือตำราที่แสดงพระพุทธศาสนา บุคคนั้นก็คือพุทธศาสนิกที่แปลว่าผู้นับถือพระพุทธศาสนา พุทธศาสนิกนี้มิใช่หมายเพียงแต่คฤหัสถ์ หมายความถึงทั้งบรรพชิตคือนักบวช และคฤหัสถ์คือผู้ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนา พูดอีกอย่างหนึ่งได้แก่ พุทธบริษัทคือหมู่ของผู้นับถือ พระพุทธเจ้า ดังที่เรียกว่า ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา แต่ในบัดนี้ภิกษุณีไม่มีแล้ว ก็มีภิกษุกับสามเณรและอุบาสกอุบาสิกา หรือบุคคที่เรียกว่า พุทธมามกะ พุทธมามิกา ก็รวมเรียกว่าพุทธบริษัทหรือพุทธศาสนิกทั้งหมด คือในบัดนี้มีหนังสือซึ่งเป็นตำราพระพุทธศาสนา และมีบุคคลซึ่งป็นพุทธศาสนิกหรือเป็นพุทธบริษัท ทั้ง ๒ อย่างนี้ หนังสือก็มาจากบุคคลนั่นเอง คือ บุคคลที่เป็นพุทธศาสนิกหรือเป็นพุทธบริษัทได้เป็นผู้ทำหนังสือขึ้น และบุคคลดังกล่าวนี้ก็ได้มีสืบต่อกันเรื่อยมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล และสืบต่อมาตั้งแต่จากที่เกิดของพระพุทธศาสนา มาจนถึงในต่างประเทศของประเทศนั้น ดังเช่นในประเทศไทยในบัดนี้ คือว่าได้มีพุทธศาสนิกหรือพุทธบริษัทสืบต่อกันมา จึงมาถึงเราทั้งหลายในบัดนี้ และเราทั้งหลายในบัดนี้ก็ได้เป็นพุทธศาสนิกคือพุทธบริษัทในปัจจุบัน และคนรุ่นต่อ ๆ ไปก็จะสืบต่อไปอีก[๑]

๒.  การเมือง

ในทางทฤษฎีรัฐศาสตร์ มุมมองที่ใช้พิจารณาการเมืองหรือพูดเป็นศัพท์ทางวิชาการก็คือแนวการศึกษาวิเคราะห์การเมือง (Approach to Political Analysis) ก็ย่อมแตกต่างกันออกไปบ้างตามแต่ใครจะเห็นว่าแนวการมองการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงต่อการอธิบายความเป็นการเมืองได้มากที่สุด โดยคำว่า “การเมือง” นี้ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ได้ให้ความหมายไว้แตกต่างกันไปบ้างในรายละเอียด ตามแต่จะใช้ตัวแบบใดในการศึกษาวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางการเมือง และด้วยตัวแบบที่เป็นกรอบในการศึกษาวิเคราะห์นี้ จะยังผลให้กรอบการมองคำว่าการเมืองต่างกันไป ในขณะที่สาระสำคัญของคำจำกัดความเป็นไปในทำนองเดียวกันกล่าวคือเป็นเรื่องของการใช้อำนาจแบบสองทางระหว่างฝ่ายที่เป็นผู้ปกครอง (Rulers) และฝ่ายผู้ถูกปกครอง (Ruled) ดังจะได้ยกมากล่าวถึง ซึ่งสำหรับผู้ศึกษารัฐศาสตร์มือใหม่แล้ว การทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของคำว่าการเมืองนั้น จึงดูจะเป็นเรื่องที่สร้างความสับสนอยู่มิใช่น้อย เนื่องมาจากความหมายของการเมืองที่ปรากฏอยู่ในตำราเล่มต่าง ๆ ที่เขียนขึ้นเผยแพร่นั้นมีอยู่หลากหลายต่างกันไปตามความเจตนารมณ์และมุ่งประสงค์ในการนำความหมายของการเมืองเพื่อไปอธิบายปรากฏการณ์ของผู้ให้คำนิยามความหมายของการเมือง ดังได้กล่าวไปแล้ว

๓. สันติอโศกกับบทบาททางการเมือง

สันติอโศก เป็นชุมชนของชาวอโศกอันสมณะโพธิรักษ์ก่อตั้งขึ้น และตั้งอยู่ที่เลขที่ ๖๕/๑ซอยนวมินทร์ ๔๖ ถนนนวมินทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานครสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์วาสโน) สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ในฐานะประธานมหาเถรสมาคม ได้มีคำสั่งให้สมณะโพธิรักษ์สละสมณเพศ เนื่องจากพบว่ากระทำผิดพระธรรมวินัยอย่างต่อเนื่อง สมณะโพธิรักษ์จึงประกาศแยกตัวไม่อยู่ในอาณัติคณะสงฆ์ไทย และได้ไปตั้งชุมชนสันติอโศก ที่แขวงคลองกุ่ม เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร, ชุมชนศรีสะอโศก ที่ตำบลกระแชงใหญ่ อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ, ชุมชนศาลีอโศก ที่ตำบลโคกเดื่อ อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ และชุมชนปฐมอโศก ที่ตำบลพระประโทน อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ชุมชนทั้งสี่ดังกล่าวมีบ้าน วัด โรงเรียน เหมือนชุมชนทั่วไปของไทย

สำนักสันติอโศกรับบวชบุคคลให้เป็นบรรพชิตตามระเบียบที่สมณะโพธิรักษ์ตั้งขึ้น เรียกว่า "กฎระเบียบของชาวอโศก" ขั้นตอนการบวชของชาวอโศก หากเป็นชาย ต้องเข้าปฏิบัติธรรมที่สำนักสันติอโศก โดยเริ่มจากชั้น "ปะ" ต่อมาเป็น "นาค" จากนั้นบวชเป็น "สามเณร" และ "สมณะ" และมีการแต่งกายต่างกับภิกษุสามเณรของคณะสงฆ์ไทย ส่วนผู้หญิงเริ่มจากชั้น "ปะ" ต่อมาเป็น "กรัก" จากนั้น บวชเป็น "สิกขมาต" แต่งกายด้วยเสื้อแขนกระบอก มีผ้าสีกรักคลุมทับ

เนื่องจากการบวชของชาวอโศกมิชอบด้วยกฎหมายไทย ในเดือนมิถุนายน ๒๕๓๒ พิศาล มูลศาสตร์สาทร ปลัดกระทรวงมหาดไทยขณะนั้น จึงสั่งให้จับกุมสมณะโพธิรักษ์และพวกทั้งหมด รวม ๑๐๕ คน ในวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๓๒ พนักงานสอบสวนจับกุม แจ้งข้อหา และสอบสวนแล้ว พนักงานอัยการได้ฟ้องเป็นจำเลยจำนวน ๘๐ คดี ศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑-๗๙ มีความผิดเกี่ยวกับศาสนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๘ (ไม่ใช่ภิกษุสงฆ์ บังอาจแต่งกายอย่างภิกษุสงฆ์ เพื่อล่อลวงให้คนอื่นเชื่อว่าเป็นภิกษุสงฆ์) และให้จำคุกคนละ ๓ เดือน ส่วนจำเลยที่ ๘๐ คือ สมณะโพธิรักษ์ สนับสนุนให้จำเลยที่คนอื่น ๆ กระทำผิดดังกล่าวจำนวน ๓๓ กระทง พิพากษาลงโทษจำคุกเรียงกระทง กระทงละ ๒ เดือน รวมเป็นจำคุก ๖๖ เดือน ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องจำเลยบางคน และศาลฎีกาพิพากษายืน โดยศาลฎีกาวินิจฉัยเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๑ ว่า

"จำเลยที่ ๘๐ได้บวชเป็นพระภิกษุในฝ่ายธรรมยุตนิกายและได้สวดญัตติเข้าเป็นพระภิกษุในฝ่ายมหานิกาย แสดงว่า จำเลยที่ ๘๐ได้ยอมรับที่จะปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕และกฎมหาเถรสมาคมมาก่อน และในช่วงเวลาดังกล่าว จำเลยที่ ๘๐ก็สามารถปฏิบัติธรรมได้ ไม่ปรากฏว่า จำเลยทุกคนถูกกลั่นแกล้งจากใครอย่างไรและถึงขนาดไม่อาจปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้ เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า...ไม่ปรากฏบทบัญญัติมาตราใดให้สิทธิพระภิกษุสงฆ์ไทยประกาศแยกตนให้มีผลประดุจสังฆเภทไม่ยอมอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ได้ การประกาศของจำเลยที่ ๘๐กับพวกดังกล่าวจึงไม่ทำให้จำเลยที่ ๘๐กับพวกพ้นจากการปกครองของมหาเถรสมาคมและไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕การที่ภิกษุสงฆ์นักบวชไม่อนุวัตปฏิบัติตามกฎหมายกลับมีผลเป็นการก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นดังเช่นที่ปรากฏในคดีนี้"[๒]

๓.๑ บทบาทด้านเสนอแนวคิดทางการเมือง สันติอโศกแสดงออกว่า กำลังตีความพุทธศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตย สนับสนุนการก่อตั้งพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ พระสงฆ์แสดงออกซึ่งสิทธิทางการเมืองในด้านต่างๆได้ เช่น การแสดงทัศนะทางการเมือง การเคลื่อนไหว หรือชุมนุมทางการเมือง นี่คือ “ความใหม่” ในการตีความพุทธศาสนาทางการเมืองของสันติอโศกหลังจากนั้นอีกนานจึงได้เกิดการจัดตั้งสำนักสันติอโศกขึ้นโดยพระโพธิรักษ์ มีการถือวัตรปฏิบัติเคร่งครัดไปจากพระทั่วไป กล่าวคือละเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ ละเว้นสิ่งเสพติดทุกชนิด ละเว้นการมีเงินมีทองหรือเครื่องตกแต่งเกินฐานะ ไม่รดน้ำมนต์ ไม่ทำน้ำมนต์ ไม่ทำพระเครื่องและพระบูชา เป็นต้น

ที่น่าสนใจก็คือการสร้างชุมชนแบบเลี้ยงตัวเองมีกระจัดกระจายกันทั่วประเทศ ผู้ซึ่งเข้ามาอยู่ในชุมชนนี้เปลี่ยนชื่อกันใหม่ และเรียกกันว่า “ญาติธรรม”

สันติอโศกไม่ได้รับการยอมรับจากมหาเถรสมาคม และพระโพธิรักษ์ถูกบังคับให้สึก แต่ในปัจจุบันสันติอโศกก็ยังได้รับการนับถือในหมู่ประชาชนจำนวนมาก สันติอโศกได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่มพันธมิตรฯ หลายครั้ง ศิษย์ของสันติอโศกได้ตั้ง “พรรคฟ้าดิน” ขึ้นแต่ไม่ต้องการมีอำนาจทางการเมือง      

แนวคิดของสันติอโศกที่น่าสนใจคือเรื่อง “บุญนิยม” คือบุญเกิดจากการลดละกิเลสอย่างจริงจัง และมีระบบโดยการให้หรือเสียสละทั้งการกระทำ และความคิดที่ไม่ติดยึดเป็นการสละโอกาสในการเสพโลกียสุขต่างๆ เช่น ความร่ำรวย ชื่อเสียง มีความเป็นอิสระเหนือวัตถุ ไม่หวงของ มีการแบ่งปันกัน      

อีกแนวคิดหนึ่งคือ “สาธารณโภคี” หมายถึง การงดเว้น การเสพปัจจัยส่วนเกินของชีวิต งดเว้นการเบียดเบียนผู้อื่น มีความเมตตาต่อผู้อื่น หมายถึงการที่ทรัพย์สินต่างๆ เป็นของสาธารณะ ไม่มีใครครอบครองถือเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ      

๓.๒ บทบาทด้านการสนับสนุนพรรคการเมือง   สันติอโศก มีบทบาททางการเมืองแบบเต็มรูป เช่น การก่อตั้งพรรคพลังธรรม โดยมีพลตรีจำลอง ศรีเมือง เป็นหัวหน้าพรรค กระทั่งชนะเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. และเป็น ส.ส.นักบวชสันติอโศกสามารถไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้โดยใช้บัตรประชาชน ซึ่งในรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า พระภิกษุ สามเณร นักพรต นักบวช ไม่สามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ แต่การที่นักบวชสันติอโศกไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ จึงเป็นการประกาศสถานะของตนเองอย่างชัดเจนว่า ไม่ใช่นักบวช และไม่ใช่พระสงฆ์แต่ประการใด[๓] บทบาทของสันติอโศกกระทำผ่านพล.ต.จำลอง ศรีเมือง ซึ่งได้คัดค้านการออกกฎหมายทำแท้ง และการนำบริษัทสุราเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ และในระดับหนึ่งแนวคิดของสันติอโศกก็มีอิทธิพลต่อแนวคิด “การเมืองใหม่” โดยเฉพาะการปฏิเสธอำนาจและการมีคุณธรรม มีการเมืองที่สะอาดปราศจากการคอร์รัปชัน ต้องการให้มีการปฏิรูปการเมืองคือ      

๑) มีการกระจายอำนาจและงบประมาณสู่ท้องถิ่นอย่างเต็มรูปแบบ ๒) ส่งเสริมให้สังคมมีกลุ่มที่หลากหลายเพื่อป้องกันปัญหากลุ่มเฉพาะที่เป็นเสียงข้างมาก ๓) มีการแยกหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และตุลาการออกจากกัน ๔) เสริมสร้างให้ประชาชนทั่วไปเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง ๕) ปรับเปลี่ยนกระบวนการสรรหาผู้นำของรัฐให้สามารถที่จะได้ผู้นำที่มีคุณธรรม ๖) ส่งเสริมให้มีการเมืองภาคประชาชน ๗) สร้างระบอบประชาธิปไตยที่สะท้อนถึงการเป็นตัวแทนของทุกภาคส่วน ๘) กำหนดบทลงโทษขั้นรุนแรงสำหรับพรรคการเมืองที่ทำผิดให้มีผลไปยังผู้สมัครรับเลือกตั้ง ๙) ปฏิรูปความคิดและจิตสำนึกของนักการเมืองร่วมกับประชาชนให้เห็นความสำคัญของหลักธรรมในพุทธศาสนา[๔]

๓.๒ บทบาทด้านเป็นแกนนำประท้วงทางการเมืองในปี ๒๕๓๕ สันติอโศกได้เข้าร่วมในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เพื่อล้มล้างรัฐบาลของ พล.อ. สุจินดา คราประยูร และตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ เป็นต้นมา สันติอโศก ได้เข้าร่วมในการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อล้มล้างรัฐบาลของ พันตำรวจโท ดร. ทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวชปรัชญาองค์กร สันติอโศกอาจมีความใหม่ในเชิงเป็นศาสนาทางเลือกที่เสนอวิถีชีวิตเรียบ ง่ายแบบ “บุญนิยม” ต้านทุนนิยม บริโภคนิยม แต่ “ความเก่า” ของสันติอโศกคือ แม้จะปฏิเสธมหาเถรสมาคม แต่สันติอโศกก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและได้รับการสนับสนุนจากทหาร (หากไม่ได้รับการช่วยเหลือจาก พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับ “นายทหารผู้มากบารมี” อาจเป็นเรื่องยากที่สันติอโศกจะรอดและเติบโตมาได้) มาโดยตลอด อีกทั้งยังมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมค่อนข้างเข้มข้น เห็นได้จากการต่อสู้ทางการเมืองภายใต้อุดมการณ์กษัตริย์นิยม ชาตินิยมล้าหลัง เป็นต้น[๕]

สันติอโศกคือพุทธศาสนาแบบเครือข่ายภาคประชาชนที่ชัดเจนที่สุด ในความเป็นสันติอโศกมีทั้งลักษณะอนุรักษ์นิยมสุดๆ และก้าวหน้าสุดๆ ทั้งมิติทางศาสนาและมิติทางสังคมการเมืองเช่น ลักษณะอนุรักษ์ในทางศาสนาคือการเคร่งครัดในเรื่องการรักษาศีลและถือมังสวิรัติ แต่ก็มีความก้าวหน้ากว่าพุทธศาสนากระแสหลัก เช่นการปฏิเสธพิธีกรรม การดน้ำมนต์ วัตถุมงคล หันมาเน้นการตีความคำสอนของพุทธศาสนาเพื่อรองรับการปฏิบัติที่ต้องเผชิญกับปัญหาใหม่ๆ ของโลกปัจจุบันและอนาคตลักษณะอนุรักษ์ในทางสังคมคือการสร้างวิถีชีวิตและชุมชนที่เป็นอยู่อย่างเรียบง่ายภายใต้ปรัชญา “กินน้อย ใช้น้อย ที่เหลือจุนเจือสังคม”ขณะเดียวกันก็มีลักษณะก้าวหน้าเช่น มีการเรียนรู้เท่าทันความเปลี่ยนของสังคมและโลก มีการกำหนดยุทธศาสตร์เผชิญกับกระแสวัตถุนิยมบริโภคนิยมด้วยปรัชญา “บุญนิยม” เป็นต้นที่สำคัญสันติอโศกเป็นศาสนาเครือข่ายภาคประชนชนกลุ่มแรกในสังคมไทยที่กล้าสวนทางพุทธศาสนากระแสหลัก และกระแสสังคมการเมืองไทย โดยกล้าประกาศก่อตั้งพรรคการเมือง และดำเนินกิจกรรมทางสังคมการเมืองเป็นที่ประจักษ์อย่างสม่ำเสมอนี่เป็นที่มาของความคิดในการแบ่งแยก “ศาสนจักร” กับ “อาณาจักร” ไม่ให้มายุ่งเกี่ยวกัน เหมือนกับว่าอาณาจักรใช้กฎหมายทางโลกปกครองประชาชน ส่วนศาสนาจักรนั้นยังคงมีอำนาจเหนือจิตวิญญาณของคน      

อำนาจของศาสนาจักรในตะวันตกเกิดขึ้นเมื่ออาณาจักรโรมันล่มสลายเกิดช่องว่างทางอำนาจขึ้น ไม่มีรัฐบาลกลางที่ให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ องค์กรที่มีอยู่คือ องค์กรของศาสนามีพระสันตะปาปาเป็นประมุข จึงเข้ามามีบทบาทแทน หลังจากนั้นอำนาจของสันตะปาปาก็มีมากขึ้นเป็นลำดับ และได้รับการยอมรับสนับสนุนจากพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ แต่ต่อมาในยุคกลางก็เกิดความขัดแย้งกัน      

สำหรับในเอเชีย ศาสนาพุทธกับอาณาจักรมีความสัมพันธ์ในทางพึ่งพาต่อกันมากกว่าขัดแย้งกัน และพระมหากษัตริย์ก็มักทรงอุปถัมภ์พระศาสนา โดยเฉพาะพระเจ้าอโศกมหาราช ดังนั้นศาสนาพุทธจึงไม่มีบทบาททางการเมือง แม้ว่าหลักธรรมคำสอนทางศาสนาจะมีส่วนในการให้กรอบความคิดเกี่ยวกับการปกครองที่ดี และการใช้อำนาจที่ถูกต้องเป็นธรรมก็ตาม ดังนั้นศาสนาพุทธจึงมีบทบาทในการเป็นพลังตรวจสอบเหนี่ยวรั้งการใช้อำนาจเกินขอบเขตของผู้ปกครอง      

หลักการที่มีความชัดเจนในการเหนี่ยวรั้งการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมก็คือ “ทศพิธราชธรรม” ซึ่งประกอบไปด้วยหลักปฏิบัติตัวของผู้ปกครอง โดยเฉพาะข้อที่เกี่ยวกับ “อวิหิงสา” ซึ่งได้แก่การไม่หลงระเริงอำนาจ ไม่บีบคั้นกดขี่ มีความกรุณา ไม่หาเหตุเบียดเบียนลงโทษแก่อาณาประชาราษฎร์ด้วยความอาฆาตเกลียดชัง ผู้ปกครองที่มีทศพิธราชธรรมจึงได้รับการยกย่องให้เป็น “ราชา” คือผู้ปกครองที่ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างยุติธรรมจนกระทั่งปวงชนพอใจ และเมื่อมีคุณธรรมสูงยิ่งไปกว่านั้นก็ได้เป็น “จักรพรรดิ”

ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาจักรกับอาณาจักรในประเทศไทย มีการจัดตามรูปแบบการปกครอง การปกครองคณะสงฆ์เลียนแบบจากการปกครองอาณาจักร พระสงฆ์มีฐานานุรูปชั้นยศเหมือนกับขุนนาง มีเจ้าอาวาส และเจ้าคณะทำการปกครอง ตลอดจนมีการแบ่งการปกครองออกเป็นจังหวัด อำเภอ และตำบล เหมือนกับการปกครองของรัฐบาล      

รัฐบาลมักมีความระแวดระวังไม่ชอบให้พระมีบทบาทในการเป็นผู้นำประชาชน พระรูปใดมีประชาชนเลื่อมใสมาก เช่น ครูบาศรีวิชัย และพระพิมลธรรมก็จะเข้าไปจัดการ กรณีพระพิมลธรรมนั้น เล่ากันว่าคนอีสานนับถือมาก วันหนึ่งจอมพลสฤษดิ์ ไปขอนแก่น ไม่มีประชาชนมาต้อนรับเลย ได้ความว่าไปรับพระพิมลธรรมกันหมด พระพิมลธรรมจึงถูกกลั่นแกล้งกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ท่านไม่ยอมให้ตำรวจปลดจีวรออก นายตำรวจที่ไปจับจึงล็อกคอ ต่อมานายตำรวจผู้นั้นประสบอุบัติเหตุคอหักตาย ผมเองเคยไปเฝ้าท่านตอนที่ท่านเป็นสมเด็จพุฒาจารย์ เวลานั้นผมยังสูบบุหรี่อยู่ ท่านบอกให้เลิก ท่านให้รูปท่านตอนบวชใหม่ๆ ผมมายังอยู่ในห้องพระของผมจนบัดนี้      

ครูบาศรีวิชัยเป็นพระรูปแรกๆ ที่นำประชาชนสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ ในเวลานั้นแทนที่รัฐบาลจะพอใจกลับเพ่งเล็ง เพราะพระสงฆ์ในจังหวัดเชียงใหม่ ๕๐ วัดขอลาออกจากการปกครองของคณะสงฆ์มาอยู่ในปกครองของครูบาศรีวิชัยแทน ลึกๆ แล้วการกระทำเช่นนี้ก็เป็นจิตสำนึกของท้องถิ่นคือ ชาวล้านนาไม่พอใจการปกครองของกรุงเทพฯ นั่นเอง ครูบาศรีวิชัยถูกบังคับให้สึก และถูกควบคุมตัวมากรุงเทพฯ      

การเมือง” การเมืองจึงเป็นเรื่องของการปกครอง ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครองจะผูกมัดสมาชิกทั้งหมดในสังคมหลักการปกครองของพระพุทธศาสนามีประเด็นสำคัญที่น่าศึกษาและควรนำมาประพฤติปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือพระพุทธศาสนาได้อุบัติขึ้นมาในช่วงที่มนุษย์ถูกกดขี่อิสรภาพ มีการถือชั้นวรรณะเป็นการจำกัดสิทธิ และหน้าที่ของมนุษย์ ยังผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงไม่เท่าเทียมกันในสังคม โดยเฉพาะสังคมชนชั้นของอินเดียในสมัยนั้นได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของชนชาติอริยกะ ซึ่งเป็นผู้ผูกขาดอำนาจแต่เพียงเผ่าเดียว จนกระทั่งพระพุทธองค์ได้อุบัติขึ้นในโลก ทรงปฏิเสธการถือชั้นวรรณะทั้ง ๔ คือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร ด้วยการยึดถือหลัก “อาวุโส” เป็นประการสำคัญการเมืองทางโลกจึงเป็นการแสดงพลังอำนาจทุกๆ วิถีทางเพื่อจะได้เหนือคู่ต่อสู้อันจะทำให้สามารถแย่งชิงผลประโยชน์ในสัดส่วนที่มากกว่าคนอื่นเพราะเหตุแห่งการมีกำลังอำนาจมากกว่าคนอื่น ลัทธิจารีตนิยมใหม่แบบสันติอโศก อาจจะเป็นศาสนาทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับคนกลุ่มน้อยที่ปฏิเสธบริโภคนิยม แต่ถ้าเข้ามาสู่การเมืองระดับชาติโดยยึดอุดมการณ์กษัตริย์นิยม ชาตินิยมล้าหลัง และใช้ “สองมาตรฐานทางศีลธรรม” ตัดสินถูก ผิดทางการเมือง พุทธแบบสันติอโศกย่อมกลายเป็นส่วนหนึ่งของการปกป้อง “ระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย” ให้ดำรงอยู่ต่อไป[๖]

การเมืองในโลกเป็นเรื่องของการแบ่งสรรผลประโยชน์และอำนาจ จึงจำเป็นต้องสะสมผู้คน พวกพ้อง เงินทอง ข้าวของ แม้กระทั่งอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆเพราะหากตกลงกันด้วยดีไม่ได้ ก็ต้องข่มขู่ด้วยวิธีการที่รุนแรงไปตามลำดับจนกระทั่งการสู้รบขนาดเล็กไปจนถึงสงครามขนาดใหญ่ลามไปทั่วโลกแน่นอนว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มสันติอโศกย่อมเผชิญกับคำถาม เสียงวิพากษ์วิจารณ์ และแรงเสียดทานหนักหน่วงทั้งจากพุทธศาสนากระแสหลักและจากสังคมโดยรวม กระทั่งเกิดข้อพิพาททางศาสนาและกฎหมายจนส่งผลให้กลุ่มสันติอโศกถูกถือเสมือนว่าเป็น “ลัทธินอกรีต” นักบวชของสันติอโศกไม่ได้มีฐานะเป็น “พระภิกษุ” ในพุทธศาสนาตามนิยามของพุทธศาสนากระแสหลัก

แม้กลุ่มสันติอโศกจะยืนยันว่าตนเองเป็นชาวพุทธด้วยการประพฤติปฏิบัติและวิถีชีวิตที่เคร่งครัดในหลักธรรมของพุทธศาสนาก็ตาม แต่ในสายตาของพุทธศาสนากระแสหลัก และตามกฎหมายคณะสงฆ์ไทยสันติอโศกกลับไม่ใช่ชาวพุทธที่ควรยอมรับดังนั้น ในสายตาของพุทธศาสนากระแสหลัก ความเป็นชาวพุทธของสันติอโศกจึงเป็นเพียง “ชาวพุทธข้าวนอกนา” หรือเป็น “ชาวพุทธชายขอบ”แต่ ณ วันนี้ ขณะที่สังคมกำลังวิกฤตเนื่องจากผู้นำถูกตั้งคำถามจากทุกภาคส่วนของสังคมถึงจริยธรรมและขาดความชอบธรรม กลุ่มสันติอโศกก็ชูธงจริยธรรมออกมาขับไล่ผู้ที่อยู่ตรงกันข้ามกับจริยธรรมอีกครั้ง[๗]

โดนัลด์เค.สแวเรอร์ ได้อ้างแนวคิด “พุทธศาสนาแบบโปรเตสแตนท์” (protestant Buddhism) ของกานะนาถ โอบีเยเสเกรี ที่มีต่อ เอ.ที.อารีย์รัตน์ นักปฏิรูปชาวพุทธผู้ก่อตั้งขบวนการสรรโวทัยสมาทานในศรีลังกา และอนาคาริกธรรมปาละ นักตรรกวิทยาทางพุทธศาสนาชาวสิงหลว่า ทั้งสองท่านนี้เป็น “ชาวพุทธโปรเตสแตนท์” เพราะรับอิทธิพลจากทรรศนะของโปรเตสแตนท์สมัยใหม่ในยุโรปตะวันตก ที่เน้นการใช้เหตุผลในการตีความศาสนา โดยสแวเรอร์มองว่า ชาวพุทธแบบโปรเตสแตนท์อาจเป็น “จารีตนิยมใหม่” (Neo-traditionalism) ซึ่งนำแนวปฏิบัติเดิมมาปรับใช้ใหม่ เช่นธรรมปาละในศรีลังกา หรือ “สันติอโศก” ในไทยก็ได้ หรืออาจเป็น “นักปฏิรูป” อย่างเช่นอารีย์รัตน์ในศรีลังกา และสุลักษณ์ ศิวรักษ์ในไทย (โดนัลด์เค.สแวเรอร์.การสร้างสรรค์สังคมใหม่แบบพุทธตามทัศนะของ ส.ศิวรักษ์, หน้า ๕๘-๕๙)

จากการวิเคราะห์ของสแวเรอร์ ทำให้เราเข้าใจได้ว่า ความเป็น “จารีตนิยมใหม่” ที่เน้นการใช้เหตุผลในการตีความพุทธศาสนา และนำแนวปฏิบัติเดิมมาปรับใช้ใหม่ของสันติอโศก คือ การตีความพุทธศาสนาสนับสนุนการเมืองว่าพระสงฆ์เกี่ยวข้องกับการเมืองได้ และพระสงฆ์กับชาวพุทธควรเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองเพื่อให้การเมืองสะอาด ขึ้น มีศีลธรรมมากขึ้น ซึ่งที่จริงการตีความพุทธศาสนาในทางการเมืองทำนองนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็น ไปไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์บอกเราว่า พุทธศาสนา (และศาสนาอื่นๆ) ก็ถูกตีความสนับสนุนการเมืองในระบอบราชาธิปไตยมาก่อนแล้วทั้งนั้น[๘]

ต่างแต่ว่าสันติอโศกแสดงออกว่า กำลังตีความพุทธศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตย สนับสนุนการก่อตั้งพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ พระสงฆ์แสดงออกซึ่งสิทธิทางการเมืองในด้านต่างๆได้ เช่น การแสดงทัศนะทางการเมือง การเคลื่อนไหว หรือชุมนุมทางการเมือง นี่คือ “ความใหม่” ในการตีความพุทธศาสนาทางการเมืองของสันติอโศก

แต่ “ความเก่า” ของสันติอโศก คือการยึดถือวินัยสงฆ์และศีลพรตอย่างเคร่งครัด และอ้างอิงใช้ในทางสังคมการเมืองอย่าง “ตายตัว” เช่น อ้างการกินมังสวิรัติเป็นวัตรปฏิบัติที่ถูกต้องของชาวพุทธ อ้างศีล ๕ ต่อต้านการที่รัฐจะออกกฎหมายอนุญาตทำแท้ง หรืออ้างศีลธรรมพุทธศาสนาต่อต้านการเปิดบ่อนการพนันถูกกฎหมาย เป็นต้น (ในแง่นี้การอ้างศีลธรรมทางศาสนาแบบสันติอโศกมีลักษณะยืนยัน “กฎศีลธรรมแบบตายตัว” คล้าย “คาทอลิก” มากกว่าโปรเตสแตนท์)

ส่วนในเชิงการจัดองค์กรสังฆะ“ความใหม่” ของสันติอโศกคือ การประกาศตนเป็นขบถไม่ขึ้นต่อการปกครองของมหาเถรสมาคม ซึ่งสันติอโศกมองว่าเป็น “เผด็จการ” มีการตีความ “วินัยสงฆ์” ขัดแย้งกับมหาเถรสมาคม ส่งผลให้มีการดำเนินคดี และศาลตัดสินให้สันติอโศกไม่ใช่พระภิกษุในคณะสงฆ์ไทย แต่ในทางพระธรรมวินัยเราปฏิเสธไม่ได้ว่าสมณะสันติอโศกไม่ใช่พระภิกษุในพุทธศาสนา

การไม่ขึ้นต่อการปกครองของมหาเถรสมาคมทำให้สันติอโศกเป็นองค์กร “สังฆะใหม่” ในสังคมไทย คือเป็นองค์กรสังฆะที่ไม่ขึ้นต่อรัฐ หรือพูดได้ว่าพุทธศาสนาแบบสันติอโศกคือ “พุทธศาสนาที่เป็นอิสระจากรัฐ” ในสังคมไทย

ในแง่ปรัชญาองค์กร สังฆะสันติอโศกอาจมีความใหม่ในเชิงเป็นศาสนาทางเลือกที่เสนอวิถีชีวิตเรียบ ง่ายแบบ “บุญนิยม” ต้านทุนนิยม บริโภคนิยม แต่ “ความเก่า” ของสันติอโศกคือ แม้จะปฏิเสธมหาเถรสมาคม แต่สันติอโศกก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและได้รับการสนับสนุนจากทหาร (หากไม่ได้รับการช่วยเหลือจาก พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับ “นายทหารผู้มากบารมี” อาจเป็นเรื่องยากที่สันติอโศกจะรอดและเติบโตมาได้) มาโดยตลอด อีกทั้งยังมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมค่อนข้างเข้มข้น เห็นได้จากการต่อสู้ทางการเมืองภายใต้อุดมการณ์กษัตริย์นิยม ชาตินิยมล้าหลัง เป็นต้น

ภาวะ “ย้อนแย้ง” (paradox) ในตัวเองของสันติอโศกดังกล่าวมานี่เอง ที่ทำให้ศาสนากับการเมืองแบบสันติอโศกมีความย้อนแย้งในตัวเองไปด้วยอย่างซับ ซ้อน เช่น เรียกร้องประชาธิปไตย แต่สนับสนุนการทำรัฐประหารรัฐบาลที่ประชาชนส่วนใหญ่เลือก และอ้างศีลธรรมแบบ “สองมาตรฐาน” คือ อ้างศีลธรรมยกย่องความดีงามสูงส่งของสถาบันกษัตริย์ที่วิพากษ์วิจารณ์ตรวจ สอบไม่ได้ พร้อมๆ กับอ้างศีลธรรมตัดสินความเลวร้ายของนักการเมืองที่ตรวจสอบได้

การอ้างศีลธรรมแบบ “สองมาตรฐาน” ดังกล่าว ทำให้เกิดปัญหาตามมาคือ เป็นการสร้าง “ความไม่เป็นธรรม” ในการ “ตัดสินทางศีลธรรม” (moral judgment) อันเป็นรากฐานของทัศนะทางการเมืองแบบ “ขาว-ดำ” หรือ “เทพ-มาร” และนำไปสู่การอ้าง “เทพ” มากำจัด “มาร” ด้วยวิธีการใดๆ ก็ได้ ซึ่งขัดต่อ “ความเป็นประชาธิปไตย” ที่พวกตนเรียกร้อง เพราะประชาธิปไตยนั้นต้องถูกต้องทั้ง “วิถี” และ “จุดหมาย” วิถีที่ผิดอย่างรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ จะทำให้บรรลุจุดหมาย คือความมีเสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรมไม่ได้

ความขัดแย้งในตัวเองของสันติอโศกยังมีอีกมาก เช่น ชูธง “อหิงสา-สันติ” แต่กลับสนับสนุนโครงสร้างอำนาจนิยม และอุดมการณ์ชาตินิยมล้าหลัง สนับสนุนรัฐประหารซึ่งเป็น “วิธีการรุนแรงในตัวมันเอง” ที่อยู่ตรงข้ามกับอหิงสา-สันติ อ้างศีลธรรมนำการเมืองตลอดเวลา แต่กลับอ้างศีลธรรม “แบบสองมาตรฐาน” ที่แสดงถึงการขาดศีลธรรมพื้นฐานในทางสังคมการเมืองของ “ผู้อ้าง” เอง คือขาด “ความยุติธรรม” หรือ “ความเที่ยงตรง” หรือ “การประพฤติธรรมอย่างสุจริต” ในการตีความ และอ้างอิงใช้ศีลธรรมและศาสนาในทางการเมือง[๙]

สรุป

การเมืองและศาสนาเป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ให้ความสำคัญที่จะปลดปล่อยมนุษย์ให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ทรงต่อสู้กับแนวทางการปกครองที่ถือชั้นวรรณะ การเอาเปรียบซึ่งกันและกัน มาสู่ความเสมอภาคกันและมีเสรีภาพในการดำรงชีวิตพระพุทธศาสนาจึงมีแนวทางและหลักการที่จะนำพาชาติบ้านเมืองให้บรรลุเป้าหมายที่สงบสุขมีสันติอย่างแท้จริง โดยให้ฝ่ายปกครองและสมาชิกของสังคมนั้น ๆ หรือประเทศชาตินั้น ๆ ได้ประพฤติปฏิบัติธรรมตามแนวทางที่จะช่วยพยุงความอยู่รอดปลอดภัยให้เกิดแก่ชาติบ้านเมืองเป็นอันดับแรก จะเป็นสภาพเอื้อให้สมาชิกทุกคนในประเทศนั้นมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น และมีจิตใจมุ่งไปสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ด้วยลัทธิจารีตนิยมใหม่แบบสันติอโศก อาจจะเป็นศาสนาทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับคนกลุ่มน้อยที่ปฏิเสธบริโภคนิยม แต่ถ้าเข้ามาสู่การเมืองระดับชาติโดยยึดอุดมการณ์กษัตริย์นิยม ชาตินิยมล้าหลัง และใช้ “สองมาตรฐานทางศีลธรรม” ตัดสินถูก ผิดทางการเมือง พุทธแบบสันติอโศกย่อมกลายเป็นส่วนหนึ่งของการปกป้อง “ระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย” ให้ดำรงอยู่ต่อไป

 

อ้างอิง

[๑]https://www.phuttha.com (เข้าถึงวันที่๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๐ )

[๒]https://th.wikipedia.org(เข้าถึงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๐)

[๓]http://talk.mthai.com (เข้าถึงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๐)

[๔]http://www.manager.co.th (เข้าถึงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๐)

[๕]http://talk.mthai.com(เข้าถึงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๐)

[๖]https://www.gotoknow.org(เข้าถึงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๐)

[๗] http://www.manager.co.th (เข้าถึงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๐)

[๘] http://www.prachatai.com  (เข้าถึงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๐)

[๙] http://www.tddf.or.th (เข้าถึงวันที่๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๐ )

หมายเลขบันทึก: 641504เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2017 14:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2017 14:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท