งาน "ชื่นใจ...ได้เรียนรู้ (ภาคครูเพลิน)" ครั้งที่ ๑๒ : จาก Lonely PLC สู่ PLC + OLE (๒)


ปีการศึกษานี้พวกเรามีเป้าหมายที่จะก้าวเดินต่อไปให้ถึงจุด E ด้วยความพยายามที่จะปรับแต่งและติดตั้ง OLE ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นวงจร โดยมีวัฒนธรรมของการพัฒนาครูไปบนหน้างานจริงผ่านระบบ Lesson Study

จาก Lonely PLC สู่ PLC + OLE



จุดเริ่มต้นของเพลินพัฒนา

โรงเรียนเพลินพัฒนาเริ่มต้นเปิดการเรียนการสอนในปีการศึกษา ๒๕๔๗ เป็นครั้งแรก ด้วยเป้าหมายที่จะสร้างให้โรงเรียนแห่งนี้ เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ผ่านกระบวนการทางวัฒนธรรม จากแนวคิดที่อยากจะเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ จึงทำให้เพลินพัฒนาเสาะแสวงหาวิธีการดีๆ ที่จะทำให้นักเรียน ครู และผู้ปกครองได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอยู่เสมอ และในปีการศึกษา ๒๕๔๙ คุณครูใหม่-วิมลศรี  ศุษิลวรณ์ ก็ได้มีโอกาสเป็น “วิทยากรกระบวนการจัดความรู้ฝึกหัด” (KM Internship) ที่สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม เป็นเวลา ๒ เดือน หลังจากนั้นในปีการศึกษา ๒๕๕๐ คุณครูใหม่ก็ได้นำ KM ลงติดตั้งในโรงเรียนเพลินพัฒนาอย่างเป็นระบบ ผ่านครูตัวแทนของแต่ละช่วงชั้นที่เรียกว่า KO (Knowledge Officer) ซึ่งในตอนนั้น ฉันก็ได้มีโอกาสทำหน้าที่เป็น KO ของช่วงชั้น ฉันพยายามสร้างวง KM ให้เกิดขึ้นในช่วงชั้น ฉันจดบันทึกองค์ความรู้ และจับประเด็นความรู้ต่างๆ ที่เพื่อนครูนำมาแลกเปลี่ยนกัน ทุกๆ ครั้งที่มีการทำวง KM ในช่วงเวลานั้นการจัดการความรู้ KM เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างถ้วนทั่ว



ปีการศึกษา ๒๕๕๓

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๓ เป็นครั้งแรกที่ผศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคณิตศาสตร์ศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เดินทางมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูโรงเรียนเพลินพัฒนา และสร้างความเข้าใจให้กับพวกเราในเรื่อง “การศึกษาชั้นเรียน” (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach)หลังจากนั้น ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงก็ได้นำแนวคิด Lesson Study มาศึกษาเพิ่มเติมก็พบว่า แนวคิดนี้สามารถตอบรับกับแนวทางการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนเพลินพัฒนาได้อย่างดีมาก ต่อมาในช่วงวันที่ ๑ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ เหล่าครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงจำนวน ๘ คน นำทีมโดย คุณครูปาด-ศีลวัต ศุษิลวรณ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ก็เดินทางไปเข้าร่วมงานสัมมนา APEC- Chiang Mai International Symposium 2010 : Innovation of Mathematics Teaching and Learning through Lesson Study - Connection between Assessment and Subject Matter ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลังการสัมมนาในทุกๆวัน พวกเราก็จะมาสรุปความรู้และแลกเปลี่ยนกันจนทำให้ภาพของ Lesson Study แจ่มกระจ่างชัดขึ้นและมั่นใจว่าจะเป็นวิธีการที่ทำให้โครงสร้างการทำงานของครูสามารถพัฒนาไปบนหน้างานการจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ  



ปีการศึกษา ๒๕๕๔

โรงเรียนเพลินพัฒนาทำการขยับขยาย Lesson Study ด้วยการสร้างความเข้าใจให้กับครูทุกคน ทดลองปฏิบัติจริง วางโครงสร้างเวลาให้เอื้อต่อการทำ Lesson Study โดยจัดเวลาให้ครูคู่วิชามีการวางแผนการสอนร่วมกัน (Pre) มีการสังเกตชั้นเรียนของกันและกัน (While)  และมีการสะท้อนหลังการเรียนการสอนร่วมกัน (Post) ในทุกๆ รอบสัปดาห์ เพื่อปรับปรุงแผนการเรียนรู้ในรอบใหม่ๆ ให้ดีขึ้น รวมถึงนำกระบวนการเรียนรู้แบบ Open Approach มาผสานให้เข้ากับกระบวน ๙ พอดีที่มีอยู่เดิมอย่างลงตัว นอกจากนี้ยังนำร่องการเปิดชั้นเรียนถึง ๑๒ แผนการเรียนรู้ ซึ่งนำทีมโดยครูปาด- ศีลวัต ศุษิลวรณ์ ฉันเองก็มีโอกาสเป็นผู้เข้าร่วมเปิดชั้นเรียนอยู่หลายชั้นเรียนและในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ที่เคยเปิดชั้นเรียนด้วย ฉันสังเกตว่าการที่ครูเพลินพัฒนามีพื้นฐานในเรื่องจิตตปัญญาทำให้การทำกิจกรรมเปิดชั้นเรียนเป็นไปได้ด้วยดี เพราะครูทุกคนเปิดใจยอมรับกับสิ่งที่ร่วมกันสะท้อนผล แม้กระทั่ง DR. Cheah Ui Hock ผู้เชี่ยวชาญด้าน Lesson Study จากมาเลเซียที่เคยมีโอกาสมาร่วมสังเกตกิจกรรมเปิดชั้นเรียนยังกล่าวว่าโรงเรียนเพลินพัฒนามีวัฒนธรรมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเปิดใจรับฟังซึ่งกันและกัน ซึ่งน่าจะทำให้ Lesson Study สามารถพัฒนาไปได้ด้วยดี 

เพียง ๑ ปี ในการนำ Lesson Study ลงสู่ช่วงชั้น ผลที่เกิดขึ้นชัดเจนคือ ครูทุกคนไม่โดดเดียวในการจัดการเรียนการสอน มีเพื่อนคู่คิดในการทำงานทุกขั้นตอน ที่สำคัญคือ ช่วงชั้นสามารถควบคุมคุณภาพในการจัดการเรียนการสอนได้ดีกว่าเดิมจากที่เคยประสบปัญหาครูคู่วิชาบางคู่สอนไม่เหมือนกัน ทำให้คุณภาพของห้องเรียนในระดับชั้นนั้นมีความแตกต่างกัน  



ปีการศึกษา ๒๕๕๕

โรงเรียนเพลินพัฒนายังคงดำเนินระบบ Lesson Study อย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการเปิดชั้นเรียนเพิ่มขึ้นอีก ๕ แผนการเรียนรู้ และในปีนี้เองฝ่ายวิชาการสามารถคิดค้นนวัตกรรมในการจัดการเรียนรู้ของหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทยได้จากการกิจกรรมการเปิดชั้นเรียน (Open Class) โดยเรียกนวัตกรรมนี้ว่า Open Approach ๗ ขั้นตอน ส่วนทางช่วงชั้นก็สามารถนำระบบ Lesson Study มาผสานกับงาน KM (Knowledge Management) โดยใช้วง KM ที่มีอยู่เดิมแล้วในทุกสัปดาห์มาทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่กว้างขวางและลึกซึ้งไปบนกระบวนการทำงาน Pre While Post ในระบบ Lesson Study มากขึ้น ทำให้ประเด็นที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนมุ่งตรงไปสู่ชั้นเรียนมากขึ้น โดยใน ๑ สัปดาห์ ครูจะมีโอกาสในการเรียนรู้ทั้งวง KM หน่วยวิชาเดียวกัน และวง KM ในระดับชั้นเดียวกันที่ต่างหน่วยวิชา

นอกจากนี้ผู้นำของช่วงชั้นที่ ๑ ช่วงชั้นที่ ๒ และฝ่ายวิชาการ ก็สร้างวงประชุมที่ใช้ขับเคลื่อนระบบ Lesson Study ด้วย วงประชุมนี้เรียกว่า “วงขับเคลื่อน” ที่ผู้นำช่วงชั้นจะต้องขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยที่จะต้องเห็น คิด รู้สึกแบบผู้นำ และมีหน้าที่ในการประเมินสถานการณ์ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ สร้างและปรับปรุงยุทธศาสตร์เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ตัดสินใจและกำหนดนโยบายเพื่อนำไปใช้ปฏิบัติจริง เพราะการจัดการเรียนการสอนต้องเกิดในพื้นที่ของช่วงชั้นเป็นหลัก



ปีการศึกษา ๒๕๕๖ ถึง ๒๕๕๗

มาถึงตอนนี้หน่วยงานวิชาการและช่วงชั้นได้ทำกิจกรรมการเปิดชั้นเรียนมาแล้วถึง ๒๗ แผนการเรียนรู้ ฉันเองมีโอกาสเปิดชั้นเรียนถึง ๓ ครั้ง ฉันรู้สึกว่าพวกเราทุกคนทุ่มเทและทำงานกันอย่างหนักมากแต่การขับเคลื่อนและพัฒนากลับดูช้าลง ในที่ประชุมวงขับเคลื่อนนั้น ผู้นำของช่วงชั้นและฝ่ายวิชาก็เริ่มสังเกตว่างานต่างๆ เดินช้าลงอย่างเห็นได้ชัดไม่เหมือนช่วง ๒ ปีแรกที่วางระบบ Lesson Study นอกจากนี้ยังมีปัญหาเฉพาะหน้าเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ครูลาออกกะทันหัน เจตคติในการเรียนรู้บางหน่วยวิชาตกลง ฯลฯ ครูปาด-ศีลวัต ศุษิลวรณ์ จึงชวนผู้นำช่วงชั้นประเมินสถานการณ์อีกครั้งด้วยการทบทวนสิ่งต่างๆ ที่ทำมาทั้งหมดว่าเป็นเช่นไร เมื่อประเมินสถานการณ์แล้ว พวกเราพบว่ามีวิกฤตเกิดขึ้นแล้ว การขับเคลื่อนเพียงแค่ระบบ Lesson Study ไม่น่าจะเพียงพอ เพราะระบบ Lesson Study เปรียบเสมือนการใช้ PLC (Professional Learning Community) แบบยังไม่มีโครงสร้างหลักสูตรเข้ามาเชื่อมต่อ


 

 

 

 

 

ในที่สุดพวกเราก็ค้นพบว่าจะผ่านวิกฤตินี้ไปได้อย่างไร พวกเราจะต้องทำการพัฒนาระบบหลักสูตรและการเรียนการสอน (OLE) โดยเริ่มต้นที่จัดทำหลักสูตรพร้อมองค์ประกอบของ (O) กับการทำ Lesson Study ไปบนการนำหลักสูตรไปสู่การเรียนการสอน (L) และประเมินผลให้สอดคล้องกับ O และ L ที่ได้ปฏิบัติไปในชั้นเรียน ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ช่วยให้พวกเราสามารถพ้นวิกฤตนี้ไปได้ ดังรูปภาพที่แสดงไว้ด้านบน จากจุด C คือจุดที่เราพบวิกฤติ และจากจุดนั้นพวกเราใช้เวลาอีกประมาณสองปีครึ่งในการเดินทางไปถึงจุด D ซึ่งเกินกว่าที่เราคาดการณ์ไว้เกือบ ๒ ปี



ปีการศึกษา ๒๕๕๘ –๒๕๕๙

ใน ๒ ปีที่พวกเราพยายามไปให้ถึงจุด D เราเรียนรู้ที่จะใช้ PLC (Professional Learning Community) ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาระบบหลักสูตรและการเรียนการสอน (OLE) ซึ่งทำให้พวกเราเรียนรู้ว่าเหล่าผู้นำการเปลี่ยนแปลงจะต้องทำงานสุดศักยภาพ และมีเป้าหมายในการสร้างองค์ประกอบของ O ที่ประกอบไปด้วย โครงหลักสูตร ประมวลฯรายภาค แผนการเรียนรู้รายครั้ง สื่อ ทรัพยากร ชุดความรู้และเครื่องมือการประเมินผลให้มีครบ ๑๐๐ รวมถึงนำแผนรายครั้งที่มีลักษณะ Active Learning เข้าสู่การเรียนการสอนในชั้นเรียน (L) ด้วย ซึ่งถือเป็นงานช้างทีเดียว



ปีการศึกษา ๒๕๖๐

ปีการศึกษานี้พวกเรามีเป้าหมายที่จะก้าวเดินต่อไปให้ถึงจุด E ด้วยความพยายามที่จะปรับแต่งและติดตั้ง OLE ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นวงจร โดยมีวัฒนธรรมของการพัฒนาครูไปบนหน้างานจริงผ่านระบบ Lesson study ซึ่งพวกเราเชื่อมั่นว่าการประสานระบบหลักสูตรและการเรียนการสอน (OLE) และ Lesson Study เข้าด้วยกัน จะทำให้เกิดการพัฒนาชั้นเรียนที่ดีขึ้น ในขณะเดียวกันการทำ Lesson Study ก็มีความหมายมากขึ้นเพราะเกาะไปบนโครงหลักสูตรที่ชัดเจน ประเด็นการเรียนรู้ไม่สะเปะสะปะเหมือนที่ผ่านมา และในบางหน่วยวิชาอาจนำไปสู่การปรับปรุงและยกระดับหลักสูตรให้ดีขึ้นด้วย ดังนั้นหากครูรู้สึกว่าอยากทำงานในระบบ Lesson Study และอยากทำการพัฒนาระบบหลักสูตรและการเรียนการสอน (OLE) จะยิ่งเป็นแรงสนับสนุนให้พวกเราสามารถพัฒนาไปเป็น PLC (Professional Learning Community) ร่วมกับการพัฒนาระบบหลักสูตรและการเรียนการสอน (OLE) ได้อย่างดี ฝ่ายวิชาการจึงทำการสำรวจกับครูทุกคน จำนวน ๕๓ คน ผลปรากฏว่ากว่าร้อยละ ๘๐  ของครูมีความอยากทำงานในระบบ Lesson Study และอยากทำการพัฒนาระบบหลักสูตรและการเรียนการสอน (OLE) จากผลการสำรวจเจตคติของครูในครั้งนี้ ยิ่งทำให้พวกเรามั่นใจว่าโรงเรียนเพลินพัฒนากำลังก้าวเดินไปสู่ระบบการพัฒนาวิชาชีพครู และวัฒนธรรมการเรียนการสอน รวมถึงวัฒนธรรมการเรียนรู้ร่วมกันของครูเพลินพัฒนาที่เกิดมาจากความพากเพียรในการปฏิบัติจริงอย่างต่อเนื่อง และนำความรู้ที่ได้จากการการปฏิบัติจริงมาสร้างเป็น First Hand Knowledge ของตัวเอง รวมถึงไหลเวียนองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นภายในองค์กรเพื่อก่อเกิดเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ณ เพลินพัฒนา

ท้ายนี้ฉันรู้สึกเหมือนกับว่าฉันได้เรียนรู้และเติบโตไปพร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของ Lesson Study และระบบ OLE ในทุกๆ ฉาก ทุกๆ ตอน และฉันหวังว่าฉันจะมีกำลังใจ กำลังกาย และกำลังสมองในการร่วมเรียนรู้ ร่วมเดินทางเพื่อถางเส้นทางสายนี้เพื่อไปสู่การเป็นโรงเรียนที่เป็นต้นแบบในการนำ PLC และ OLE ไปพัฒนาการศึกษาของชาติต่อไป

 

                                                                                                             

คุณครูเล็ก -   ณัฐทิพย์   วิทยาภรณ์  เรียบเรียง

หัวหน้าช่วงชั้นที่ ๒

                                                                                                                



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท