ประเด็นร่างพรบ.บริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นฉบับใหม่ ตอนที่ 2 : ปัญหาเดิม


ประเด็นร่างพรบ.บริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นฉบับใหม่ ตอนที่ 2 : ปัญหาเดิม

2 พฤศจิกายน 2560

ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

          ตอนที่แล้วเปิดประเด็นว่า ปริมาณจำนวนบุคคลากรส่วนท้องถิ่นที่รวมนักการเมืองท้องถิ่นมีจำนวนกว่าห้าแสนคน แยกเป็นข้าราชการและลูกจ้างกว่าสี่แสนคน ซึ่งมีจำนวนที่พอ ๆ กับจำนวนข้าราชการพลเรือนสามัญทั้งประเทศ นี่คือจุดสำคัญของท้องถิ่น ไม่ว่าไทยจะไปลอกแบบการปกครองท้องถิ่นมาจากที่ใดทั้งอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น หรือฝรั่งเศส ก็ตาม  “ปัจจัยเรื่องประสิทธิภาพการบริหารจัดการ” ที่ผูกติดกับ “บุคลากร” จึงเป็นสิ่งสำคัญ การยึดหลักประสิทธิภาพที่ “เป้าหมายของความสำเร็จ” [2] ในการจัดทำบริการสาธารณะ (Public Service) ทำให้ญี่ปุ่นมีการควบรวม (Amalgamation or Merging) [3] องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ลดจำนวนลงมาก แต่ในทางกลับกันจำนวนบุคคลากรท้องถิ่นมีจำนวนที่ผกผันมากขึ้นในอัตราสูงถึง 6 ล้านคน ขณะที่ข้าราชการส่วนกลางเพียง 2 แสนเศษ ส่วนฝรั่งเศสจำนวน อปท.เท่าเดิม ไม่มียุบเลิก [4] แต่ทั้งญี่ปุ่นและฝรั่งเศสมีเหมือนกันคือ ภารกิจ อปท.ยิ่งก้าวหน้าโตขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจำนวนข้าราชการลูกจ้างท้องถิ่นไม่ลดจำนวน มีแต่เพิ่ม แต่ส่วนกลางคงเดิม มีข้อสังเกตว่าราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาคไทยเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการภารกิจของท้องถิ่นด้วย และไม่มีการถ่ายโอนภารกิจ เหมือนมา “คั่นอยู่ตรงกลาง” แถมมีการบังคับบัญชาสั่งการ อปท. ด้วย แม้จะบอกว่าเป็น “การกำกับดูแล” (tutelle) [5] ในอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายก็ตาม ในที่นี้ ผู้เขียนขอประมวลนำเสนอข้อเท็จจริงจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ในภาพรวม

 

ปัญหาบุคคลท้องถิ่นแบบเดิมๆ

ในสภาพปัญหาบุคคลท้องถิ่นนั้น นับตั้งแต่การบังคับใช้ พรบ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 เมื่อ 30 พฤศจิกายน 2542 [6] เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน ว่ากันว่าการแก้ไขปัญหาการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นได้ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด การตราร่างกฎหมายบริหารงานบุคคลท้องถิ่นฉบับใหม่ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่เป็นผลสำเร็จไม่มีการคืบหน้า จนกระทั่งมาถึงยุค คสช. จึงทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาบริหารงานบุคคลท้องถิ่นได้มาตั้งแต่ปี 2550 - 2559 รวม 9 ปี [7] แม้ว่าสภาพปัญหาทั้งหลายก็เป็นปัญหาเดิมที่ค่อย ๆ วิวัฒนาการซับซ้อนขึ้นตามระยะเวลา และความซับซ้อนของระเบียบ กฎหมายที่มาควบคุมกำกับดูแล กลับปรากฏว่า “กฎหมายบุคคลหลัก” มิได้รับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเลยตลอดเวลาร่วม 18 ปี ประมวลปัญหาการบริหารงานบุคคลฉบับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) [8] ได้แก่

          (1) ด้านโครงสร้างคณะกรรมการ มีหลายคณะแยกเป็นแต่ละประเภทท้องถิ่นและระดับชั้น (2) ด้านความเข้มแข็งของ ก.จังหวัด ไม่เป็นกลาง ไม่รู้ถ่องแท้ ไม่กล้าตัดสินใจ (3) ด้านรูปแบบของมาตรฐานและหลักเกณฑ์ มิได้กำหนดว่ามาตรฐานและหลักเกณฑ์มีและใช้บังคับนับตั้งแต่ ก.มีมติหรือวันที่ประธานลงนาม ทำให้เกิดปัญหาตีความ (4) ด้านสถานภาพ อบต./เทศบาลสถานภาพพนักงาน อบจ./กทม. สถานภาพเป็นข้าราชการ (5) ด้านการโอน ต้องครบองค์ประกอบ คือ เจ้าตัวสมัครใจ ต้นทางและปลายทางยินดีรับโอน กรณีมีเหตุจำเป็นหรือขัดแย้งโอนย้ายไม่ได้ (6) ด้านเงื่อนไขภาระค่าใช้จ่าย การกำหนดให้ภาระค่าใช้จ่ายสูงกว่าร้อยละ 40 ไม่ได้มีผลกระทบต่อการโอน(ย้าย) และ ความก้าวหน้าในสายอาชีพ (7) ด้านการกำกับดูแล บทบาทหน้าที่ของผู้กำกับดูแลไม่ชัดเจน ไม่มีสภาพบังคับ ระบุในกฎหมาย กรณีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ (8) ด้านการถ่วงดุล อำนาจการตัดสินใจอยู่ภายใต้บุคคลคนเดียว อำนาจการพิจารณาลงโทษอุทธรณ์ร้องทุกข์อยู่ภายใต้องค์กรเดียว

 

18 ประเด็นคำถามครอบคลุมหรือยัง

เมื่อ 20 กันยายน 2560 ตามแบบสอบถามการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ....  ฉบับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ส่วนมาตรฐานทั่วไปการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ได้แยกแยะประเด็นคำถามให้แสดงความคิดเห็นไว้รวม 18 ประเด็นคำถาม [9] ได้แก่

(1) กำหนดให้ “ข้าราชการส่วนท้องถิ่น” หมายถึง ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด ข้าราชการเทศบาล ข้าราชการองค์การบริหารส่วนตำบล ข้าราชการกรุงเทพมหานคร และข้าราชการเมืองพัทยา (2) การจัดระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่นเป็นไปเพื่อผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของท้องถิ่นและสอดคล้องกับการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนในท้องถิ่นและของรัฐ โดยต้องมีประสิทธิภาพความคุ้มค่าและระบบคุณธรรม (3) กำหนดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเงินเดือน ค่าจ้าง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของข้าราชการส่วนท้องถิ่นลูกจ้างหรือพนักงานจ้างจะสูงกว่าร้อยละ 40 ของงบประมาณรายจ่ายไม่ได้ (4) องค์กรบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และเมืองพัทยา มีเพียงองค์กรเดียว คือ คณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.) (5) องค์ประกอบของคณะกรรมการ ก.ถ.เป็นแบบไตรภาคี ประกอบด้วย ผู้แทนส่วนราชการ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน (6) กำหนดให้ผู้ทรงคุณวุฒิจะต้องเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ มีความเป็นกลาง และไม่มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นคู่สัญญาทั้งนี้ กรณีปรากฏว่าผู้ทรงคุณวุฒิมีความประพฤติเสื่อมเสีย ก.ถ. อาจมีมติให้พ้นจากตำแหน่งได้ (7) กำหนดให้สำนักงาน ก.ถ. สังกัดกระทรวงมหาดไทย (8) ในระดับจังหวัด ให้มีคณะอนุกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่นจังหวัด (อ.ก.ถ.จังหวัด) มีองค์ประกอบเป็นแบบไตรภาคี ประกอบด้วย ผู้แทนส่วนราชการ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน (9) คุณสมบัติของกรรมการผู้แทนข้าราชการส่วนท้องถิ่น จะต้องดำรงตำแหน่งประเภทบริหารท้องถิ่น หรือประเภทอำนวยการท้องถิ่น ตั้งแต่ระดับกลางขึ้นไป โดยไม่จำเป็นต้องเป็นดำรงตำแหน่ง ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น (10) กำหนดให้ ก.ถ. มีอำนาจสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น (11) กำหนดให้ ก.ถ. มีอำนาจสอบคัดเลือก คัดเลือกตำแหน่งบริหารท้องถิ่น อำนวยการท้องถิ่น และสายงานบริหารสถานศึกษา (12) กำหนดให้ ก.ถ. มีอำนาจในการโอนข้าราชการส่วนท้องถิ่นกรณีมีความขัดแย้งในพื้นที่ โดยมิต้องสมัครใจ (13) นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุแต่งตั้ง การย้าย การโอน การลงโทษทางวินัยและการให้ออกจากราชการ หรือการอื่นใดเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล เว้นแต่การย้าย การเลื่อนระดับ และการเลื่อนขั้นเงินเดือน ให้เป็นอำนาจของผู้บริหารท้องถิ่นและปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังต่อไปนี้ (13.1) ผู้บริหารท้องถิ่นเป็นผู้มีอำนาจสำหรับข้าราชการส่วนท้องถิ่นสามัญตำแหน่งประเภทบริหารท้องถิ่นที่ดำรงตำแหน่งปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (13.2) ผู้บริหารท้องถิ่นเป็นผู้มีอำนาจสำหรับข้าราชการส่วนท้องถิ่นสามัญตำแหน่งประเภทบริหารท้องถิ่นที่ดำรงตำแหน่งรองปลัดองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นตำแหน่งประเภทอำนวยการท้องถิ่น และตำแหน่งประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญขึ้นไป ทั้งนี้ ตามที่ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสนอ (13.3) ผู้บริหารท้องถิ่นเป็นผู้มีอำนาจสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาหรือตำแหน่งที่มีวิทยฐานะ เชี่ยวชาญขึ้นไป ทั้งนี้ ตามที่ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสนอ (13.4) ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้มีอำนาจสำหรับข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่ดำรงตำแหน่งอื่นนอกจากตำแหน่งตาม (13.1) (13.2) และ (13.3) (14) นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุแต่งตั้ง การย้าย การโอน การลงโทษทางวินัยและการให้ออกจากราชการ หรือการอื่นใดเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล (15) วินัยการรักษาวินัย และการดำเนินการทางวินัย บัญญัติรายละเอียด ขั้นตอน วิธีการไว้ในพระราชบัญญัตินี้ (16) กำหนดให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมท้องถิ่น (ก.พ.ค.ท้องถิ่น) มีหน้าที่พิจารณาเรื่องอุทธรณ์ ร้องทุกข์ และพิทักษ์ระบบคุณธรรมให้แก่ข้าราชการส่วนท้องถิ่น (17) กำหนดอัตราส่วนของอัตรากำลังพนักงานจ้างตามภารกิจที่มีชื่อตำแหน่งซ้ำซ้อนกับข้าราชการส่วนท้องถิ่นจะต้องมีจำนวนไม่เกินร้อยละ 25 ของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ในแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (18) กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ดำรงตำแหน่งในแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งไม่เกิน 4 ปี

 

บทวิเคราะห์ ประกอบการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ....

มีบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจศึกษามาก โดย ดร.สุรพงษ์ มาลี สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (2554) ด้วยเป็นการวิเคราะห์ร่าง พรบ. ระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... [10] ที่ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเตรียมเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในสมัยนั้น เป็นร่างกฎหมายที่มีเค้าโครงส่วนใหญ่มาจากพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 โดยเฉพาะการจัดประเภทตำแหน่งใหม่ และกลไกการบริหารงานบุคคลอื่นๆ มีจุดเน้นประเด็นสำคัญของร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการส่วน ท้องถิ่น พ.ศ. .... ประกอบด้วย (1) มีการวางหลักการในการจัดระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่นไว้อย่างชัดเจน (2) มีการปรับปรุงบทบาทและอำนาจหน้าที่ขององค์กรกลางบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นระดับต่างๆ ให้มีความชัดเจนและกระชับมากขึ้น (3) มีบทบัญญัติให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมท้องถิ่น (ก.พ.ถ.) ซึ่งถือเป็นกลไกใหม่ สำหรับรับประกันความเป็นธรรมในการบริหารงานบุคคล (4) มีการปรับปรุงการจัดระบบตำแหน่งจากระบบ “ซี” ไปเป็นระบบ “กลุ่มประเภทตำแหน่ง” แต่ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับระดับตำแหน่ง ทางก้าวหน้าและการให้ได้รับเงินเดือน (5) มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการปรับปรุงระบบการสรรหา บรรจุ แต่งตั้งและ โอนย้าย ให้เป็นไปตามหลักการของระบบคุณธรรมมากขึ้น (6) ยังไม่มีมาตรการในการพัฒนาประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการจัดการกับข้าราชการที่มีผลการปฏิบัติงานไม่อยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ (7) มีการกำหนดให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นต้องรักษาคุณธรรมและจริยธรรมอย่างเคร่งครัด แต่มาตรการบังคับใช้ยังไม่มีความชัดเจน (8) มีการกำหนดมาตรการคุ้มกันและจูงใจแก่ผู้ให้เบาะแสเกี่ยวกับการกระทำอันมิชอบ ซึ่งจะเป็นกลไกในการสร้างระบบการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ใสสะอาด (9) ยังไม่มีบทบัญญัติที่ให้การรับรองสิทธิและเสรีภาพในการรวมกลุ่มของข้าราชการส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปตามมาตรา 64 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550

 

เวทีสัมมนาร่างพรบ.การบริหารงานบุคคลองค์กรบริหารท้องถิ่น พ.ศ. .... (ฉบับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย)

เมื่อ 29 มิถุนายน 2559 โดย สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ถือเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ความเห็นต่อสาธารณะที่น่าสนใจมาก [11] นับตั้งแต่การปฏิรูปประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา สรุปความเห็นของ ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ได้วิพากษ์สาระของกฎหมายบริหารงานบุคคลจากประสบการณ์ที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายการปฏิรูปประเทศ ในประเด็น ดังนี้ (1) ให้มีคณะกรรมการส่งเสริมการบริหารท้องถิ่นแห่งชาติ (2) ให้มีกฎหมายว่าด้วยแผนกระจายอำนาจท้องถิ่น เพื่อกำหนดจำแนกภารกิจ วงเงินที่ถ่ายโอน สิ่งใดที่ทำได้จริงและถ่ายโอนได้ (3) พัฒนาสมรรถนะท้องถิ่น จำนวนเขตพื้นที่โดยคำนึงประสิทธิภาพ ประเด็นสำคัญคือ เกณฑ์ที่เหมาะสมในการบริหารเพื่อให้ท้องถิ่นมีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจมีร่างกฎหมายยุบรวมท้องถิ่น (4) เรื่องหลักการกำกับดูแล (5) เรื่องรายได้จากภาษีแหล่งรายได้ (6) การพัฒนาให้เป็นข้าราชการท้องถิ่นหรือลูกจ้าง ที่โอนย้ายได้มีองค์กรกลางองค์กรเดียว มีการกำหนดมาตรฐานและให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตามที่กฎหมายบัญญัติ จากเดิมที่มีคณะกรรมการบริหารงานบุคคล (หรือ ก.) หลายระดับ ก็ควรปรับเปลี่ยนให้คงเหลือเพียงองค์กรกลางบริหารงานบุคคล สองระดับ คือระดับชาติ และระดับจังหวัด โดยคำนึงดุลยภาพระหว่างฝ่ายประจำและฝ่ายนโยบายท้องถิ่น เพราะจะนำไปสู่ปัญหาการนำนโยบายไปสู่ปฏิบัติ หากจัดการไม่ลงตัวปัญหาเหล่านี้จะกระจายไปถึงกว่า 8,000 [12] หน่วยการปกครองท้องถิ่นโดยประมาณ

นอกจากนี้ เมื่อ 14 กันยายน 2560 ในการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายด้านการปกครองท้องถิ่น โดย กมธ.การปกครองท้องถิ่น สนช. หัวข้อ “ย้อนรอย 20 ปี กระจายอำนาจ : วันวานยังหวานอยู่ (ไหม?)” [13] ถือเป็นเวทีการถกประเด็น “ปัญหาการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น” ที่สำคัญน่าสนใจมากเวทีหนึ่ง ขอยกไปต่อตอนต่อไป

[1]Phachern Thammasarangkoon & Vajarin Unarine, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 65 ฉบับที่ 9 วันศุกร์ที่ 10 - วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤศจิกายน 2560, หน้า 66  

& หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 16 พฤศจิกายน 2560 ปีที่ 68 ฉบับที่ 23577 หน้า 6, บทความพิเศษ, http://www.opm.go.th/opmportal/multimedia/duangdnu/CLIPPING-NEWS/16-11-60/013.pdf

& หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 16 พฤศจิกายน 2560 ปีที่ 68 ฉบับที่ 23577 หน้า 6, บทความพิเศษ, http://www.opm.go.th/opmportal/multimedia/duangdnu/CLIPPING-NEWS/16-11-60/013.pdf

[2]ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น,TRF Policy Brief ปีที่ 1 ฉบับที่ 6/2553, 

http://prp.trf.or.th/trf-polic...

ปัจจัยหลายประการที่มีส่วนส่งเสริมให้การบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประสบความสำเร็จทั้งในระดับองค์กรและระดับโครงการ โดยสรุปได้หลักๆ ดังนี้

[1] ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการบริหารจัดการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ในระดับองค์กร) 7 ประการ ได้แก่

(1) มีการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาท้องถิ่น (2) การสร้างความรู้ ความเข้าใจและถ่ายทอดประสบการณ์ให้แก่บุคลากรในองค์กร (3) การส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกัน (4) ลักษณะผู้บริหารมีภาวะความเป็นผู้นำ (5) บุคลากรในองค์กรมีความรู้ความสามารถและมีความรับผิดชอบ (6) การบริหารงานที่มีความคล่องตัว (7) การรับฟังความคิดเห็นจากภายนอก

[2] ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการบริหารจัดการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ในระดับโครงการ) 5 ประการ ได้แก่

(1) การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการ (2) การร่วมมือกันทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชน (3) การแปลงวิสัยทัศน์ นโยบาย และยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติงานอย่างแท้จริง (4) การติดตามและประเมินผลโครงการ (5) ความเพียงพอของงบประมาณ

[3]การกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่นญี่ปุ่น, ผู้เรียบเรียง สุมามาลย์ ชาวนา, สรุปคำบรรยายพิเศษของ Prof.Kiyotaka Yokomichi บรรยายพิเศษให้แก่นักศึกษาหลักสูตรกฎหมายท้องถิ่น รุ่นที่ 3 วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2554, จดหมายข่าวสถาบันพระปกเกล้า, ปีที่ 12 ฉบับที่ 6 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2554 ,หน้า 7, 

http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=การกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่นญี่ปุ่น  

ประเทศญี่ปุ่นแบ่งการการปกครองท้องถิ่นเป็นสองระดับ (two tiers system) คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับบน เรียกว่า Prefecture เทียบเท่ากับจังหวัดของประเทศไทย ซึ่งมีอยู่ 47 แห่ง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับล่าง คือ เทศบาล จำนวน 1,724 แห่ง

[4]ดูใน ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรีรัตน์ ประจนปัจจนึก, กฎหมายปกครองชั้นสูง หน่วยที่ 5 การปกครองท้องถิ่น, http://law.stou.ac.th/dynfiles/Ex.41712-5.pdf

ประเทศฝรั่งเศสเป็นรัฐเดี่ยว (unitary state) และมีการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ การบริหารราชการส่วนกลาง การบริหารราชการส่วนภูมิภาค และการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น

สำหรับการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ปัจจุบันโครงสร้างระบบการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นของฝรั่งเศสมีการจัดโครงสร้างแบบสามชั้นประกอบด้วยภาค (Règion) จังหวัด (Dèpartement) และเทศบาล (Commune)

เทศบาล จำนวน 36,580 แห่ง และอีก 163 แห่งในจังหวัดโพ้นทะเล

[5] ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรีรัตน์ ประจนปัจจนึก, กฎหมายปกครองชั้นสูง หน่วยที่ 5 การปกครองท้องถิ่น, อ้างแล้ว

การกำกับดูแล (tutelle) นั้นอาจเป็นการกำกับดูแลเหนือองค์การ ซึ่งได้แก่การถอดถอน การยุบสภาท้องถิ่น หรือเป็นการกำกับดูแลการกระทำเป็นการสั่งยกเลิกการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (annulations) การให้ความเห็นชอบ (approbation) และการกระทำการแทน (substitution)

ประเทศฝรั่งเศสเป็นรัฐเดี่ยว (unitary state) และมีการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ การบริหารราชการส่วนกลาง การบริหารราชการส่วนภูมิภาค และการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น

สำหรับการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ปัจจุบันโครงสร้างระบบการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นของฝรั่งเศสมีการจัดโครงสร้างแบบสามชั้นประกอบด้วยภาค (Règion) จังหวัด (Dèpartement) และเทศบาล (Commune)

เทศบาล จำนวน 36,580 แห่ง และอีก 163 แห่งในจังหวัดโพ้นทะเล

[6]พระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่120 ก หน้า 1 วันที่ 29 พฤศจิกายน 2542, http://www.local.moi.go.th/200...  

[7]กม.ท้องถิ่น9ปีที่รอคอยคนมองเป็นคุณหรือโทษ(รายงานพิเศษ), อปท.นิวส์, 6 สิงหาคม2559, http://www.opt-news.com/news/1...

[8]PowerPoint การรับฟังความเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... โดย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, http://local.moi.go.th/7.1.pdf  ในช่วงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540

[9]แบบสอบถามความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ...., สรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... (ฉบับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น), 

http://www.dla.go.th/pub/surve...

& เข้าไปตอบแบบสอบกันค่ะ เผื่อจะมีอะไรดีขึ้นสำหรับพวกเรา, แบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับ“ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ... , https://docs.google.com/forms/...  

& ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ฉบับ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.), 10 พฤษภาคม 2559,  http://www.thailocalmeet.com/b...

[10]สุรพงษ์ มาลี, บทวิเคราะห์ ประกอบการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ...., สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน, จัดพิมพ์โดย สำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา สถาบันพระปกเกล้า, พิมพ์ครั้งที่ 1 สิงหาคม 2554, http://kpi.ac.th/media/pdf/M10... 

& ร่าง พระราชบัญญัติ ระเบียบ ข้าราชการ ส่วนท้องถิ่น พ.ศ. - สำนักงานคณะกรรมการ การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ... (2552), http://www.local.moi.go.th/200...

[11]สรุปเวทีสัมมนาร่างพระราชบัญญัติการบริหารงานบุคคลองค์กรบริหารท้องถิ่น พ.ศ. .... (ฉบับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย), จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย วันที่ 29 มิถุนายน 2559, ณ โรงแรมเบสท์เวสเทิร์นพลัสแวนด้า แกรนด์ถนนแจ้งวัฒนะ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี, http://www.lrct.go.th/th/wp-co...

[12]องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวมทั้งสิ้นจำนวน 7,853 แห่ง ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560 กองกฎหมายและระเบียบท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

[13]ย้อนรอย 20 ปี กระจายอำนาจ : วันวานยังหวานอยู่ (ไหม?), สัมมนาวิชาการ เมื่อ 14 กันยายน 2560, อปท.นิวส์ ฉบับที่ 269 ปักษ์แรก วันที่ 1-15 ตุลาคม พ.ศ.2560 หน้า 3, http://www.opt-news.com/news/1...

หมายเลขบันทึก: 640352เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2017 21:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 ธันวาคม 2017 14:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท