ธรรมรัต
พระมหา ธรรมรัต อริยธมฺโม ยศขุน

ผู้นำตามแนวพุทธศาสนา


ผู้นำตามแนวพุทธศาสนา

                                                        โดย  นายศิริพงษ์  ขำแก้ว ชั้นปีที่ ๔ เลขที่ ๙

คำว่า ผู้นำ เป็นการมองเน้นที่ตัวบุคคล มักจะได้ยินคำพูดที่ใช้เรียกแทนผู้นำไปในทิศทางที่ต่างกันและมีขอบเขตที่กว้างขวางตามทัศนะของผู้พบเห็น เพื่อความเข้าใจความหมายเกี่ยวกับผู้นำให้ชัดเจน นักวิชาการได้ให้นิยามความหมายไว้หลายท่านพอสังเขป ดังต่อไปนี้[1]

คุณลักษณะผู้นำ หมายถึงองค์ประกอบทั้งภายนอกและภายในที่ผู้นำควรมี เช่นองค์ประกอบภายนอก เช่น บุคลิกภาพที่แสดงออก องค์ประกอบภายใน เช่น การมีวิสัยทัศน์กว้างไกล

บทบาทผู้นำ หมายถึง สิ่งที่ผู้นำแสดงออกมาในการบริหาร และการจัดการต่างๆ ภายในองค์กรเพื่อให้องค์กรปฏิบัติภารกิจได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้กล่าวถึงภาวะผู้นำไว้ในหนังสือเรื่อง ภาวะผู้นำ :ความสำคัญต่อการพัฒนาคน พัฒนาประเทศสรุปว่า ภาวะผู้นำ ก็คือ คุณสมบัติ เช่น สติปัญญาความดีงาม ความรู้ ความสามารถของบุคคล ที่ชักนำให้คนทั้งหลายมาประสานกันและพากันไปสู่จุดหมายที่ดีงามและกล่าวถึงลักษณะผู้นำไว้ ๓ ข้อ คือ มองกว้าง คิดไกล และใฝ่สูง[2]

ผู้นำตามหลักพระพุทธศาสนา (มองมุมใหม่)

หลักธรรมคำสั่งสอนตามหลักพระพุทธศาสนานั้นเป็นสิ่งที่ทันสมัย เป็นวิทยาศาสตร์ และสามารถนำมาปรับใช้ได้กับการดำรงชีวิต และการทำงานในปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องของภาวะผู้นำหลักธรรมคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เกี่ยวข้องกับผู้นำที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้

หลักผู้นำจากพระพุทธศาสนาประการแรก คือ บทบาทของผู้นำกับการสื่อสารโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ว่าจะจากปัญหาทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ ผู้นำขององค์กร    ต่าง ๆ ต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยผู้บริหารต้องใช้หลักกัลยาณมิตรธรรมหรือธรรมของกัลยาณมิตร ๗ ประการ คือ วัตตา หรือเป็นผู้รู้จักพูด โดยการที่จะเป็นนักพูดที่ดีนั้นต้องพูดให้ผู้อื่นสามารถเข้าใจได้ พูดให้ผู้อื่นได้ประโยชน์ หรือพูดให้ผู้อื่นช่วยกันสร้างสรรค์ประโยชน์ ไม่ใช่การพูดเพื่อหาประโยชน์ให้แก่ตนเอง โดยพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดง ลักษณะของนักสื่อสาร หรือนักพูดที่ดีไว้๔ ประการด้วยกัน ได้แก่ พูดแจ่มแจ้ง(อธิบายให้เข้าใจได้ชัดเจน) พูดจูงใจ(พูดจนคนยอมรับและอยากจะลงมือทำ) พูดเร้าใจ(พูดให้เกิดความคึกคัก กระตือรือร้น) และพูดให้ร่าเริง(พูดให้เกิดความร่าเริง มีความหวัง ในผลดีและทางที่จะสำเร็จ)     การเป็นผู้รู้จักพูดตามหลักการข้างต้น สามารถนำมาปรับใช้กับการพูดเนื่องในโอกาสต่าง ๆ ไม่จำเป็นแต่ต้องเป็นการพูดของผู้นำเท่านั้น แม้กระทั่งครูบาอาจารย์ที่สอนหนังสือเอง ก็ต้องรู้จักพูดให้แจ่มแจ้ง จูงใจ เร้าใจ และ ร่าเริง เพื่อให้ผู้เรียนได้มีความเข้าใจ กระตือรือร้น และสนใจที่จะเรียนหนังสือ สำหรับตัวผู้นำ นอกเหนือจากการรู้จักที่จะพูดแล้วยังต้องรู้จักที่จะฟังด้วย โดยท่านใช้คำว่า วจนักขโม แปลว่าควรทนหรือฟังต่อถ้อยคำของคนอื่นด้วย ไม่ใช่ว่าเอาแต่พูดแก่เขาอย่างเดียวโดยไม่ยอมรับฟังใคร ซึ่งการเป็นผู้ฟังที่ดีนั้น ถือเป็นสิ่งที่ยากและท้าทายสำหรับผู้นำหลาย ๆ ท่าน เนื่องจากผู้นำจำนวนมากมักจะชอบพูดมากกว่าฟัง โดยเฉพาะการรับฟังจากผู้ที่ตํ่ากว่าหรือเป็นลูกน้อง นอกจากนี้ ยังมีหลักธรรมว่าไว้ว่า คัมภีรัญจะ กะถัง กัตตา แปลว่ารู้จักแถลงเรื่องราวต่าง ๆ ที่ลึกซึ้ง โดยประเด็นหรือเรื่องราวต่าง ๆ ที่สำคัญ ก็ต้องสามารถอธิบาย ทำให้ผู้ที่ร่วมงานมีความเข้าใจ

ผู้นำตามแนวพระพุทธศาสนาผู้นำตามแนวพระพุทธศาสนาประการแรก คือ บทบาทของผู้นำกับการสื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ว่าจะจากปัญหาทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ ทำให้ผู้นำขององค์กรต่างๆ ต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยภายใต้หลักกัลยาณมิตรธรรมหรือธรรมของกัลยาณมิตร ๗ ประการนั้นมีอยู่ข้อหนึ่ง คือ วัตตา หรือเป็นผู้รักจักพูด โดยการที่จะเป็นนักพูดที่ดีนั้นต้องพูดให้ผู้อื่นสามารถเข้าใจได้ พูดให้ผู้อื่นได้ประโยชน์ หรือพูดให้ผู้อื่นช่วยกันสร้างสรรค์ประโยชน์ ไม่ใช่การพูดเพื่อหาประโยชน์ให้แก่ตนเอง โดยพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดง ลักษณะของนักสื่อสาร หรือนักพูดที่ดีไว้ ๔ ประการด้วยกัน ได้แก่ พูดแจ่มแจ้ง (อธิบายให้เข้าใจได้ชัดเจน) พูดจูงใจ (พูดจนคนยอมรับและอยากจะลงมือทำ) พูดเร้าใจ (พูดให้เกิดความคึกคัก กระตือรือร้น) และพูดให้ร่าเริง (พูดให้เกิดความร่าเริง มีความหวัง ในผลดีและทางที่จะสำเร็จ)

หลักผู้นำจากพระพุทธศาสนาประการที่สอง คือหลักพรหมวิหาร ๔ประการ ซึ่งถือเป็นคุณธรรมพื้นฐานที่ผู้บริหารจะต้องมีอยู่ประจำในจิตใจ เพื่อนำไปสู่การแสดงออกที่ดีและเหมาะสม สำหรับตัวผู้นำ ถ้าสามารถแสดงออกได้อย่างดีและเหมาะสมแล้ว ก็จะนำไปสู่ศรัทธาจากบุคคล  ต่าง ๆ ในองค์กร และทำให้สามารถนำพาทุกคนไปในทิศทางเดียวกันได้ พรหมวิหาร ๔นั้นประกอบด้วย เมตตา ความเป็นมิตรไมตรีต่อผู้อื่น มีนํ้าใจ ปรารถนาดีต่อผู้อื่น กรุณา คือ ความต้องการช่วยเหลือให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์ ความเดือดร้อน โดยเมื่อผู้อื่นมีทุกข์นั้นผู้นำจะต้องมีกรุณา ช่วยบำบัดทุกข์ให้ มุทิตา คือ เมื่อพนักงาน เพื่อนร่วมงานมีความสุข ความสำเร็จมากขึ้น ผู้นำก็จะต้องพลอยยินดี ช่วยส่งเสริมสนับสนุน และสุดท้าย คือ อุเบกขา คือ การรักษาความเป็นกลาง ไม่ลำเอียง ไม่เข้าข้างใดข้างหนึ่ง หลักพรหมวิหารสี่นั้นเป็นสิ่งที่ผู้นำควรจะยึดเป็นหลักธรรมในการบริหารงานเป็นระจำวันทั่วไป โดยเฉพาะกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ กับองค์กร โดยเมื่อบุคคลอื่นมีปัญหา มีทุกข์ เดือดร้อน ผู้นำก็ต้องมีความกรุณาที่จะแก้ไขปัญหา ในขณะเดียวกัน เมื่อบุคคลอื่นประสบความสำเร็จ มีความสุข ก็ต้องมีมุทิตา ที่จะช่วยส่งเสริมสนับสนุน และยินดีในความสำเร็จของผู้อื่น ในช่วงสถานการณ์ปกตินั้นก็ต้องคอยดูแล เอาใจใส่ให้บุคคลต่าง ๆ ในองค์กรมีความสุขในการทำงาน และสุดท้าย ในการบริหารงานทุกอย่างผู้นำจะต้องมีและสามารถรักษาความเป็นกลาง ไม่ลำเอียง เข้าข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งหลักของอุเบกขานั้นจะคุมเมตตา กรุณา มุทิตา ไว้อีกด้วย โดยการปฏิบัติหรือช่วยเหลือผู้อื่นนั้น ก็จะต้องมีความเป็นกลาง ไม่ลำเอียง ปัจจุบันเรารับอิทธิพลในแนวคิดทางด้านการบริหารจากโลกตะวันตกมามากขึ้น ทำให้เรามักจะละเลยการนำหลักธรรมตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาปรับใช้กับการนำองค์กรของเรา แต่จริง ๆ แล้ว การนำหลักธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาปรับใช้กับการบริหารองค์กรนั้น น่าจะเหมาะกับบริบทของประเทศไทยมากกว่าการนำหลักของตะวันตกมาใช้แต่เพียงอย่างเดียว[3]

คุณลักษณะของผู้นำตามหลักพระพุทธศาสนา

หากพิจารณาถึงสังคมของประเทศไทยพระพุทธศาสนาถือเป็นศาสนาหลักประจำชาติ   การนำเอาหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ก็น่าจะเอื้อกับวัฒนธรรมไทยไม่มากก็น้อย การนำหลักธรรมมาประยุกต์ใช้ก็เพื่อการเป็นผู้นำที่ดีและคำสั่งสอนที่สำคัญๆของพระพุทธองค์ที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะของผู้นำที่ดีหรือวิถีทางของการที่จะเป็นผู้นำที่ดีเพื่อใช้สำหรับเป็นแนวทางที่จะนำไปปฏิบัติได้แก่ ทศพิธราชธรรม ๑o ประการ, อธิษฐานธรรม ๔, พรหมวิหารธรรม ๔, อคติ ๔, คหิสุข ๔,สังคหะวัตถุ ๔, ขันติโสรัจจะ หิริโอตัปปะ, อิทธิบาท ๔, เวสารัธชกรณะ ๕,ยุติธรรม ๕, อปริหานิยธรรม ๗,นาถกรณธรรม ๑o, กัลยาณมิตรธรรม ๗ และบารมี ๑o ประการ(ทศบารมี) ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการบริหารและจัดการสมัยใหม่ได้[4]

ทศพิธราชธรรม ๑o ประการ

๑.ทาน มีจิตในเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รู้จักแบ่งปัน คือ ผู้นำหรือผู้ปกครองต้องไม่มีความอยากและความติดยึดในความมั่งคั่งและทรัพย์สมบัติ แต่จักต้องจำหน่ายจ่ายแจกความมั่งคั่งและทรัพย์สมบัตินั้นเพื่อความกินดีอยู่ของประชาชน ข้อนี้ก็ยังมีหมายถึงการจัดสรรค่านิยมทางสังคมอย่างยุติธรรม  อันจะส่งผลให้เกิดการกระจายความมั่งคั่งไปทั่วทั้งทุกภาคส่วนของสังคม

๒. ศีล มีลักษณะทางศีลธรรมที่สูง คือ ผู้นำหรือผู้ปกครองอย่างน้อยต้องรักษาศีล ๕ ให้ได้ กล่าวคือ

๑.เว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

๒. เว้นจากการถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้

๓. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม

๔. เว้นจากการพูดปด

๕. เว้นจากการเสพเครื่องดองของเมา

๓.ปริจจาคะ  การเสียสละได้ทุกสิ่ง เพื่อความดีของประชาชน คือ ผู้นำหรือผู้ปกครองจักต้องเตรียมตัวที่จะเสียสละความสะดวกสบาย เสียสละชื่อเสียง เกียรติภูมิส่วนตนทุกสิ่งทุกอย่าง และแม้กระทั่งยอมเสียชีวิตเพื่อผลประโยชน์และความสุขของประชาชน

๔. อาชชวะ มีความเชื่อตรงดำรงสัตย์ คือ ผู้นำหรือผู้ปกครองจักต้องปลอดพ้นจากกลัวหรืออคติใดๆในการปฏิบัติหน้าที่การงาน จักต้องมีความจริงใจในการทำงาน และจักต้องไม่หลอกลวงประชาชน

๕. มัททวะ มีความกรุณาและความสุภาพ คือ ผู้นำหรือผู้ปกครองจักต้องมีความอ่อนโยนละมุนละไม ไม่ทำตัวกระด้าง แสดงตนออกมาในทางกร่างวางกล้ามจนถึงน่าเกลียด

๖. ตปะ มีความแผดเผาจิตใจให้คลายจากความชั่ว คือ ผู้นำหรือผู้ปกครองจักต้องนำเดินชีวิตแบบง่ายๆ จักต้องไม่ดำเนินชีวิตแบบฟุ้งเฟ้อ จักต้องรู้จักควบคุมตนเองในเรื่องนี้ให้ได้

๗.อักโกธะ ไม่โกรธ ไม่ประสงค์ร้าย ไม่เป็นปฏิปักษ์ คือ ผู้นำหรือผู้ปกครองจักต้องไม่โกรธแค้น ไม่อาฆาตมาตรร้ายต่อผู้ใด

๘. อวิหิงสา การไม่ใช้ความรุนแรง คือ ผู้นำหรือผู้ปกครองจะต้องไม่เพียงแต่จะไม่ทำร้ายผู้อื่นเท่านั้น แต่จักต้องพยายามส่งเสริมสันติภาพด้วยการงดเว้นการใช้สงครามเป็นเครื่องมือในนโยบายต่างประเทศและป้องกันมิให้เกิดสงคราม ตลอดจนทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงและการทำลายล้างชีวิต

๙. ขันติ ความอดทน ความอดกลั้น ความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น คือ ผู้นำหรือผู้ปกครองจะต้องมีความอดทนต่อความยากลำบากและรวมไปถึงการคำพูดด่าว่าแดกดันที่ออกมาจากปากของผู้อื่นให้ได้

๑o. อวิโนธนะ ความไม่ขัดขวาง ความไม่เป็นอุปสรรค คือ ผู้นำหรือผู้ปกครองจักต้องไม่ขัดขวางเจตจำนงของประชาชน จักต้องไม่ขัดขวางมาตรการใดๆอันจะนำไปสู่สวัสดิภาพของประชาชน กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือจักต้องปกครองโดยสอดประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประชาชนเท่านั้นหากประเทศชาติใดมีผู้นำหรือผู้ปกครองที่ปฏิบัติตามหลักทศราชธรรม หรือ ทศพิธราชธรรมข้างต้น ก็เป็นที่หวังได้ว่าประเทศชาติบ้านเมืองนั้นก็จะมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข หลักการที่กล่าวมานี้ไม่ใช่เรื่องเพ้อเจ้อเลื่อนลอย เพราะในอดีตก็เคยมีกษัตริย์หรือผู้นำหลายพระองค์/หลายคนที่สามารถปฏิบัติตามธรรมะนี้ได้สำเร็จ อย่างเช่น พระเจ้าอโศกซึ่งได้ทรงสถาปนาอาณาจักรของพระองค์ในประเทศอินเดียบนหลักการของทศพิธราชธรรมนี้[5]

สรุปผู้นำตามแนวพระพุทธศาสนา หมายถึงความเป็นผู้นำ หรือ คุณสมบัติตลอดจนความสามารถของผู้นำในการนำเอาหลักคำสอนของพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้เพื่อการเป็นผู้นำที่ดี มีความสามารถชักนำคนทั้งหลายให้ประสานกันและนำพาไปสู่จุดมุ่งหมายที่ดีงามและยั่งยืนได้ 

บรรณานุกรม

[1] ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๖, (กรุงเทพมหานคร :บริษัทนานมีบุ๊คพับลิเคชั่น, ๒๕๔๒), หน้า ๕๗๘.

[2]พระธรรมปิฎก. (ป.อ. ปยุตโต), ภาวะผู้นำ : ความสำคัญต่อการพัฒนาคน พัฒนาประเทศ,(กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ธรรมสภา, ๒๕๔๖), หน้า ๓๑-๓๒.

[3]รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ ,คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย      http://www.onab.go.th เข้าถึงข้อมูลวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๐

[4]นาย วรุตม์  สุนนทราช,คุณลักษณะของผู้นำตามหลักพระพุทธศาสนาwww.gotoknow.orgเข้าถึงข้อมูลวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๐

[5]www.sites.google.com เข้าถึงข้อมูลวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๐

คำสำคัญ (Tags): #ผู้นำ#พุทธศาสนา
หมายเลขบันทึก: 640318เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2017 16:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2017 14:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท