คนต่างด้าวกับสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน


หากในอนาคตการเปิดเสรีการค้าบริการในกรอบความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ(GATS) สามารถบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ จะทำให้กฎหมายที่มีบทบัญญัติที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้ามาลงทุนของคนต่างชาติถูกแก้ไข ปรับปรุง และยกเลิกไปในที่สุด
ประเทศไทยเริ่มนโยบายส่งเสริมการลงทุน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2497 โดยมีวัตถุประสงค์ส่งเสริมให้ภาคเอกชนลงทุนในกิจการอุตสาหกรรมอันเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยในช่วงแรกเป็นการส่งเสริมการลงทุนการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า ต่อมาในปี พ.ศ.2515 รัฐบาลได้ปรับปรุงยุทธศาสตร์เปลี่ยนจากการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้ามาเน้นอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการส่งเสริมการลงทุนภายใต้ พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งได้ออกประกาศต่างๆ เพื่อเสริมการบังคับใช้ พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนฯ ในเรื่องต่างๆ ได้แก่ นโยบายและหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุน และบัญชีประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุน ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ให้ความสำคัญแก่การลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะ เทคโนโลยี และนวัตกรรม(Skill,Technology & Innovation,STI) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมแฟชั่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรม ICTอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการบริการ โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ออกประกาศที่ 1/2547 เรื่องนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยกำหนดให้กิจการเหล่านั้นได้รับสิทธิและประโยชน์ โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 กฎหมายทั่วไปเกี่ยวกับการลงทุนของต่างชาติ ในการเข้ามาประกอบธุรกิจการลงทุนในประเทศไทย นักลงทุนต่างชาติทั้งทีเป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลจะอยู่ภายใต้กฎหมายกลุ่มหนึ่งที่กำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ต่างๆ ในลักษณะของการควบคุมกำกับการเข้ามาประกอบธุรกิจ ประกอบด้วย กฎหมายเกี่ยวกับการเข้าเมืองของคนต่างด้าวในประเทศไทย กฎหมายเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าวในประเทศไทย กฎหมายเกี่ยวกับการถือครองที่ดินของคนต่างด้าวในประเทศไทย และกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในประเทศไทย 1.พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ภายใต้พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 คนต่างด้าวจะเข้ามาและออกนอกราชอาณาจักรไทยได้นั้น จะต้องเดินทางเข้ามาหรือออกไปตามช่องทางที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งอาจเป็นด่านตรวจคนเข้าเมือง(immigration check points) เขตท่า(designated landings) สถานี(station) หรือท้องที่(areas) หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบเรื่องการเข้าเมืองโดยตรงคือสำนักตำรวจตรวจคนเข้าเมือง(สตม.) การเข้ามาทำธุรกิจของคนต่างชาติต้องมีวีซ่าคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant Visa) วีซ่าประเภทธุรกิจได้แก่ ธุรกิจประเภท A คือนักลงทุนตั้งแต่ 30 ล้านบาทขึ้นไป หากมายื่นคำร้องและมีเอกสารครบจะได้รับการอนุมัติภายใน 1 วัน ธุรกิจประเภท B คือ นักลงทุนตั้งแต่ 10-20 ล้านบาทจะได้รับการอนุมัติภายใน 7 วัน ธุรกิจประเภท C คือ นักลงทุนตั้งแต่ 10 ล้านบาทลงมา จะได้รับการอนุมัติภายใน 45 วัน การเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย การเข้ามามีถิ่นที่อยู่ได้จะต้องมีวีซ่า Non-Immigrant หากอยู่ชั่วคราวถึง 3 ปี จะสามารถขอมีถิ่นที่อยู่ได้โดยการยื่นคำร้อง (ตามกฎหมายจะให้ถิ่นที่อยู่กับประเทศต่างๆ ประเทศละ 100 รายต่อปี) การเข้ามาลงทุน เข้ามาทำงาน เข้ามาเป็นผู้เชี่ยวชาญ และเข้ามาเพื่อเหตุผลมนุษยธรรม มีหลักเกณฑ์ดังนี้ 1. การลงทุน 1.1 การลงทุนทางตรง หรือเป็นโครงการที่ดำเนินการอยู่แล้วแต่ประสงค์จะเพิ่มการลงทุนในโครงการใหม่ ต้องนำเงินเข้ามาไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท และถือครองการลงทุนอย่างน้อย 3 ปี ไม่มีการเปลี่ยนปลงการลงทุน หากมีการเปลี่ยนแปลงจะเพิกถอนใบอนุญาต ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2542 ยังไม่มีผู้ใดใช้สิทธิยื่นภายใต้ข้อนี้ 1.2 การลงทุนในหลักทรัพย์ ต้องนำเงินเข้ามาซื้อพันธบัตรรัฐบาลหรือวิสาหกิจ ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน มีกำหนดอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป และห้ามจำนอง จำหน่าย โอน ภายในระยะเวลา 5 ปี 1.3การลงทุนในอาคารชุด จะต้องนำเงินเข้ามาซื้ออาคารชุดที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และห้ามจำนอง จำหน่าย โอน ภายในระยะเวลา 5 ปี 2. การเข้ามาทำงาน คนต่างด้าวส่วนใหญ่ที่ใช้สิทธิในกลุ่มนี้ แบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ 2.1 เข้ามาถือหุ้นเป็นประธาน กรรมการ ในนิติบุคคล มีอำนาจลงนามเป็นระดับผู้บริหารในบริษัทนั้นๆ อย่างน้อย 1 ปี ก่อนยื่นคำร้อง 2.2 เข้ามาทำงานในฐานะลูกจ้างบริษัท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ต้องมีเงินเดือนขั้นต่ำ 80,000 บาท เสียภาษีไม่ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปี มีใบอนุญาตการทำงานมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปี และทำงานในบริษัทที่ยื่นไม่น้อยกว่า 1 ปี ก่อนยื่นคำร้อง 2.3 เข้ามาเป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือนักวิชาการ ต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ความชำนาญ แสดงวุฒิการศึกษา และใบรับรองการทำงาน โดยมีสถานทูตไทย หรือสถานกงสุลไทยในประเทศนั้นๆ รับรอง ต้องมีหลักฐานแสดงรายได้ว่าไม่ต่ำกว่า 20,000 หมื่นเหรียญสหรัฐ 2.พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง จะทำงานได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมการจัดหางาน หรือเจ้าพนักงานซึ่งอธิบดีมอบหมาย และจะต้องไม่ทำงานในอาชีพและวิชาชีพห้ามคนต่างด้าวทำ 39 อาชีพ ตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ.2522 ระเบียบกรมการจัดหางานว่าด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณาอนุญาตการทำงานของคนต่างด้าว ฉบับที่ 1 และ 2 ออกในปี พ.ศ.2545 กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาออกใบอนุญาตทำงาน ต่ออายุใบอนุญาต และการอนุญาตให้เปลี่ยนการทำงานหรือเปลี่ยนท้องที่หรือสถานที่ในการทำงาน ให้ผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาตเฉพากิจการที่ไม่ขัดต่อกฎหมายและอนุญาตแก่คนต่างด้าวเฉพาะที่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไข เช่น 1.ทำงานในสถานประกอบการที่ได้ชำระภาษีเงินได้ให้แก่รัฐในรอบ 3 ปี ที่ผ่านมารวมกันไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท ให้มีคนต่างด้าวทำงานได้ 1 คน โดยพิจารณาจากเอกสารหลักฐานชำระภาษีเงินได้ 2.ทำงานในสถานประกอบการที่ดำเนินธุรกิจส่งออกสินค้าไปต่างประเทศและนำเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศ 3 ล้านบาทขึ้นไปในปีที่ผ่านมา ให้มีคนต่างด้าวทำงานได้ 1 คนทุกๆจำนวนเงิน 3 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 3 คน โดยพิจารณาจากเอกสารหลักฐานใบขนสินค้าขาออก 3.ทำงานในสถานประกอบการที่มีการจ้างงานคนไทยทุกๆ 50 คน ให้มีคนต่างด้าวทำงานได้ 1 คน แต่ไม่เกิน 5 คน โดยพิจารณาจากเอกสารหลักฐานแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม 4.เป็นคนต่างด้าวที่มีรายได้และมีหน้าที่ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีให้แก่รัฐบาลไทยตั้งแต่ 18,000 บาทขึ้นไป หรือได้ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีที่ผ่านมาเป็นจำนวนตั้งแต่ 18,000 บาทขึ้นไป โดยพิจารณาจากเอกสารหลักฐานการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 5.เป็นคนต่างด้าวที่ทำงานในสถานประกอบการที่มีทุนชำระแล้วและทุนประกอบธุรกิจเริ่มต้นไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท และทุก 2 ล้านบาทให้มีคนต่างด้าวทำงานได้ 1 คน ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 10 คน โดยพิจารณาจากเอกสารหลักฐานทุนชำระแล้วและทุนประกอบธุรกิจ ตลอดจนรายการเคลื่อนไหวเคลื่อนไหวทางบัญชีของธนาคารรวมทั้งงบการเงินของปีที่ผ่านมาประกอบการพิจารณด้วย 3.ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 86 รับรองว่าคนต่างด้าวอาจถือครองที่ดินในประเทศไทยได้ อย่างไรก็ตามเนื่องจากที่ดินเป็นทรัพย์ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจมา เพราะเป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิต และการที่คนต่างด้าวถือครองที่ดินได้อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ มาตรา 86 จึงวางหลักเกณฑ์ในการถือครองที่ดินของคนต่างด้าวไว้อยู่ 4 ประการคือ 1.จะต้องมีสนธิสัญญาระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศที่คนต่างด้าวผู้นั้นมีสัญชาติว่าให้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ 2.การกำหนดสิทธิในที่ดินของคนต่างด้าวต้องตกอยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายที่ดิน 3.การได้มาซึ่งที่ดินดังกล่าวจะต้องตกอยู่ภายใต้กฎกระทรวง ฉบับที่ 8 พ.ศ.2497 4.ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี เนื่องจากการถือครองที่ดินของคนต่างด้าวอาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ประมวลกฎหมายที่ดินจึงจำกัดสิทธิในที่ดินไว้หลายรูปแบบเช่น จำนวนที่ดิน การประกอบกิจการในที่ดินที่ได้มา การบังคับให้จำหน่ายที่ดินภายในระยะเวลาที่กำหนดในกรณีที่คนต่างด้าวไม่ใช้ที่ดินนั้นต่อไป หรือได้ใช้ที่ดินนั้นเพื่อกิจการอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตใหม่ หรือการได้มาซึ่งที่ดินเกินกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ก็ให้จำหน่ายที่ดินส่วนที่เกิน หรือการได้มาซึ่งที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ไดรับอนุญาต นอกจากประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 แล้ว คนต่างด้าวอาจได้มาซึ่งที่ดินตามกฎหมายพิเศษอื่นก็ได้ เช่น พระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 4.พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 พระราชบัญญัติประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวประกาศใช้เพื่อแก้ไขและยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 วัตถุประสงค์หลักของ พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว คือ การจำแนกระหว่างบุคคลหรือนิติบุคคล คนต่างด้าวกับบุคคลหรือนิติบุคคลสัญชาติไทย ที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย หากเป็นนิติบุคคลต่างด้าวก็สามารถประกอบธุรกิจในประเทศไทยได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การบังคับใช้ของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ หลักการจำแนกว่าบุคคลใดเป็นคนต่างด้าวอยู่ในคำนิยามตามมาตรา 4 คือ 1.เป็นบุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย 2.นิติบุคคลที่ไม่จดทะเบียนในประเทศไทย 3.บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย หรือนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย การลงทุนมีมูลค่าตั้งแต่ร้อยละ 50 ของทุนทั้งหมดในนิติบุคคล หรือมีหุ้นเป็นทุนตั้งแต่ร้อยละ 50 ของหุ้นที่เป็นทุนทั้งหมด (ถ้าถือหุ้นรอยละ50 พอดี ก็ถือว่าเป็นคนต่างด้าว) 4.ห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนสามัญ ที่มาจดทะเบียนในประเทศไทย จำนวนหุ้นมากเท่าใดก็ตาม แต่หุ้นส่วนผู้จัดการหรือผู้จัดการเป็นบุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย คนต่างด้าวที่ประกอบธุรกิจได้เป็นกรณีพิเศษมีดังนี้ 1.คนต่างด้าวที่เกิดในราชอาณาจักรไทยแต่ไม่ไดรับสัญชาติไทย ตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติหรือตามกฎหมายอื่น โดยต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดี 2.คนต่างด้าวโดยผลของการถูกถอนสัญชาติตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติหรือตามกฎหมายอื่น โดยต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดี 3.คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลไทยเฉพาะกาล 4.คนต่างด้าวที่ประกอบธุรกิจตามบัญชีท้าย พ.ร.บ.นี้ โดยสนธิสัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคี หรือมีความผูกพันตามพันธกรณี ให้ได้รับยกเว้นจากการบังคับใช้บทบัญญัติของ พ.ร.บ.นี้ โดยให้เป็นไปตามบทบัญญัติและเงื่อนไขของสนธิสัญญานั้น ได้แก่ สนธิสัญญาไมตรีไทย-สหรัฐอมริกา แต่ต้องมีหนังสือแจ้งต่ออธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจให้ออกหนังสือรับรอง และกำหนดทุนขั้นต่ำ 1 ล้านบาท 5.คนต่างด้าวที่ได้รับสิทธิภายใต้โครงการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงแต่มาขอหนังสือรับรองจากกรมพัฒนาธุรกิจ 6.คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบอุตสาหกรรมหรือการค้าเฉพาะธุรกิจตามบัญชี 2 และ 3 ท้าย พ.ร.บ.นี้ เพื่อการส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือตามกฎหมายอื่น โดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงแต่มาขอรับหนังสือรับรองจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทั้งนี้หลักเกณฑ์การอนุญาตประกอบธุรกิจจะพิจารณาให้เป็นรายกรณี การเปรียบเทียบในประเด็นสิทธิประโยชน์ด้านการนำคนต่างด้าวเข้าประเทศ กับประเทศในกลุ่มอาเซียน การเปรียบเทียบพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 กับกฎหมายเกี่ยวกับ การลงทุนของประเทศในกลุ่มอาเซียน ในประเด็นสิทธิประโยชน์สำหรับการลงทุน (Investment Incentive) เกี่ยวกับการนำคนต่างด้าวเข้าประเทศ ประเทศไทยให้สิทธิประโยชน์ 1.คนต่างด้าวสามารถเข้ามาในประเทศเพื่อศึกษาลู่ทางการลงทุนหรือกระทำการอื่นใดที่จะเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนและผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจะได้รับอนุญาตนำคน ต่างด้าวซึ่งเป็นช่างฝีมือ ผู้ชำนาญการ คู่สมรส และบุคคลซึ่งอยู่ในอุปากระของบุคคลเหล่านั้น 2.คนต่างด้าวซึ่งเป็นช่างฝีมือหรือผู้ชำนาญการจะได้รับอนุญาตทำงานเฉพาะตำแหน่งหน้าที่ตลอดเวลาที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร ประเทศเวียดนามให้สิทธิประโยชน์ 1.สามารถนำคนงานเข้ามาใช้ในกิจการที่ลงทุนแต่ต้องให้สิทธิแก่คนเวียดนามก่อน ประเทศมาเลเซียให้สิทธิประโยชน์ 1.จ้างบุคลากรต่างชาติที่มีความรู้ความชำนาญได้ โดยไม่จำกัด ประเทศฟิลิปปินส์ให้สิทธิประโยชน์ 1.จ้างแรงงานต่างชาติในตำแหน่งผู้ควบคุม ช่างเทคนิค หรือที่ปรึกษา เป็นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันจดทะเบียน 2.ในกรณีวิสาหกิจจดทะเบียนที่เป็นของต่างชาติ สามารถจ้างคนต่างชาติในตำแหน่ง ประธาน ผู้จัดการ เหรัญญิกได้โดยไม่จำกัดจำนวน บทสรุป สิทธิประโยชน์ด้านอื่นที่ไม่เกี่ยวกับภาษีที่เป็นการลดอุปสรรคในเชิงกฎหมายต่างๆ ในการเข้ามาดำเนินธุรกิจของคนต่างชาติ เช่น การเข้าประเทศ การทำงาน และการประกอบธุรกิจ หากในอนาคตการเปิดเสรีการค้าบริการในกรอบความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ(GATS) ภายใต้องค์การการค้าโลกที่เป็นการเปิดเสรีการลงทุนในภาคบริการแบบก้าวหน้าเป็นลำดับ สามารถบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ จะทำให้กฎหมายที่มีบทบัญญัติที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้ามาลงทุนของคนต่างชาติถูกแก้ไข ปรับปรุง และยกเลิกไปในที่สุด สิทธิประโยชน์ด้านอื่น ๆ เหล่านี้ จึงไม่จำเป็นต้องบัญญัติไว้ในกฎหมายส่งเสริมการลงทุน เพื่อยกเลิกบทบัญญัติของกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้ามาประกอบธุรกิจการลงทุนของคนต่างด้าวอีกต่อไป


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท