นครวัด (Angkor Wat) ที่สุดของปราสาททั้งหมดในโลก


เล่าเรื่องการเดินทางไป นครวัด (Angkor Wat) ของเช้าวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ออกจากโรงแรมที่เมืองเสียมเรียบตอน 7.00 น. เป็นเช้าวันที่อากาศสดใสมากเลย

ภาพแรกที่มาถึงที่นี่ในช่วงเช้า 7.00 โมงเช้า ผู้คนกำลังเดินมุ่งหน้าไปสู่ นครวัด (Angkor Wat ) ที่สุดของปราสาทขอม ซึ่งหันหน้ามาทางทิศตะวันตกคะ จะเห็นว่าพระอาทิตย์ขึ้นจากทางด้านหลังปราสาทนะคะ


ที่เห็นในภาพนีคือบัตรเข้าชม นครวัด ราคา 37เหรียญดอลลาร์สหรัฐนะคะ เป็นเงินไทยประมาณ 1,300 บาท มีอายุเข้าชมแค่เพียง 1 วันคะ แต่ก็ใช้เข้าชมปราสาททุกปราสาทในเมืองเสียบเรียบได้หมดทุกแห่งหนซึ่งมีอยู่มากมายหลายร้อยปราสาทเลยคะ เอาเป็นว่าแค่นครวัดแห่งเดียวก็นับว่าคุ้มค่าสุดแล้วคะ

ระหว่างทางที่เดินไปเบื้องหน้า เต็มไปด้วยความตื่นเต้น เพราะภาพปราสาทเบื้องหน้ายิ่งใหญ่ตระการตามาก จนวันนี้กลับมาแล้วภาพนั้นยังติดตากลับมา

มาถึงตรงนี้จะเล่าถึงความสำคัญของ ปราสาทนครวัดคร่าวๆ ดังนี้  "นครวัด"  ปราสาทขอม เทวาลัยอันยิ่งใหญ่แห่ง ไวษณพนิกาย ฮินดูผู้บูชาพระวิษณุ พระนารายณ์ผู้รักษา  หนึ่งในตรีมูรติ 3 เทพผู้หล่อหลอมโลก

“นครวัด” หรือฝรั่ง(เศส) เรียก อังกอร์วัด-Angkor Wat เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานที่เรียกรวมกันว่า “เมืองพระนคร” มี “นครธม” โดดเด่นเคียงคู่ ตั้งอยู่ที่เมืองเสียมราฐ (เจ้าของบ้านออกเสียง เสียมเรียบ) กัมพูชา

นครวัดสร้างในรัชสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้ครองอาณาจักรขอมช่วง พ.ศ.1656-1693 ซึ่งขณะนั้นพราหมณ์ฮินดูไวษณพนิกาย นับถือพระวิษณุ (พระนารายณ์) เป็นมหาเทพ รุ่งเรือง สุริยวรมันที่ 2 ทรงสร้างปราสาทนครวัดเป็นเทวาลัยบูชา และให้เป็นที่เก็บพระศพของพระองค์ (ทรงได้พระนามภายหลังสิ้นพระชนม์ว่า บรมวิษณุ ส่งผลนครวัดมีอีกชื่อว่า บรมวิษณุมหาปราสาท) นครวัดจึงแตกต่างกับปราสาทอื่นๆ ตรงที่หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นทิศของผู้ตาย แทนทิศตะวันออกตามขนบ

ล่วงเข้าสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงเปลี่ยนนครวัดเป็นศาสนสถานพุทธนิกายมหายาน จากช่วงเริ่มสร้างกลางพุทธศตวรรษที่ 17 (พ.ศ.1650-1693) ที่เป็นเทวสถานฮินดู ครั้นถึง พ.ศ.1720 จามบุกขอม ชัยวรมันที่ 7 ต้องทรงย้ายไปเมืองนครหลวง ให้สร้างเมืองนครธมและปราสาทบายน ห่างจากนครวัดไปทางเหนือ เป็นเมืองหลวงใหม่เวลาผ่านเนิ่นนานถึงสมัยนักองค์จันทร์ (พ.ศ.2059-2099) อาณาจักรขอมยุคเมืองพระนครซึ่งล่มสลายโดยสิ้นเชิงไปแล้วด้วยฝีมือ “เจ้าสามพระยาแห่งกรุงศรีอยุธยา” ที่ยกทัพไปตีทำลายขวัญเมืองนครธม หรือกรุงศรียโสธรปุระ ชนิดมิอาจฟื้นคืน (รัชสมัยพระเจ้าชัยปรเมศวร หรือชัยวรมันที่ 9) ขอมซึ่งเปลี่ยนกลับมานับถือฮินดู แต่เป็นลัทธิไศวนิกาย บูชาพระศิวะ คือพระอิศวร ตั้งแต่ยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 มาเข้าสู่พุทธศาสนาอีกครั้ง เป็นพุทธหินยานแบบอยุธยา พร้อมเมืองหลวงถอยร่นลงทางใต้เรื่อยๆ

ชนนีนักองค์จันทร์ขึ้นเหนือไปทำบุญ พบปราสาทโบราณถูกทิ้งร้าง บางส่วนสร้างไม่เสร็จ นักองค์จันทร์จึงบัญชาให้คนไปสร้างต่อ ทั้งให้สร้างพระพุทธรูปไว้บนระเบียงคด และบนปรางค์ปราสาทมากมาย สุสานเทวาลัยจึงกลายเป็นวัดในพุทธศาสนาที่ชื่อ “นครวัด” ซึ่งมาจาก นอกอร์ หมายถึง นคร บวกคำ วัด ก่อนฝรั่งเศสเรียกชื่อ นอกอร์วัด เพี้ยนเป็น อังกอร์วัด ใช้มาจนทุกวันนี้

กว่าจะเป็นปราสาทนครวัด ต้องใช้หินปริมาตรหลายล้านลูกบาศก์เมตร มีหินทรายเป็นวัสดุก่อสร้างหลัก ใช้แรงงานช้างนับหมื่นเชือก แรงงานคนนับแสน ขนและชักลากหินมาจากเขาพนมกุเลนชึ่งอยู่ห่างออกไปกว่า 50 กิโลเมตร มาสร้างปราสาทนครวัดมีเสา 1,800 ต้น หนักต้นละกว่า 10 ตัน และเพราะไม่ได้เป็นเพียงศาสนสถาน ยังเป็นราชธานีด้วย อาณาบริเวณจึงกว้างใหญ่ไพศาล มีความยาว 1.5 กิโลเมตร กว้าง 1.3 กิโลเมตร รวมพื้นที่ 1,219 ไร่ หรือราว 200,000 ตารางเมตร มีแผนผังที่ถือเป็นวิวัฒนาการขั้นสุดยอดของปราสาทขอม มีปราสาท 5 หลัง ตั้งอยู่บนฐานสูงตามคติฮินดู คือเป็นศูนย์กลางของโลกและจักรวาล คูน้ำล้อมรอบตามแบบมหาสมุทรล้อมเขาพระสุเมรุ

กำแพงชั้นนอกรอบปราสาทแสนสุดอลังการด้วยงานสลักหิน เหนืออื่นใดคือภาพเล่าวรรณคดี รามายณะ รูปแกะสลักที่มีชื่อที่สุดคือรูปเทวดากับอสูรกวนเกษียรสมุทรด้วยเขาพระสุเมรุ รวมถึงนางอัปสร หรืออัปสรา 1,635 นาง ที่ทั้งหมดทรงเครื่องและทรงผมไม่ซ้ำกันเลย และมีภาพจำหลักหินด้านหนึ่งเป็นภาพกองทัพสยามที่ส่งไปช่วยรบกับพวกจาม เคยมีอักษรจารึกกำกับเหนือภาพไว้ว่า “สยำ กุก” (ปัจจุบันถูกเอาออกไปแล้ว) สันนิษฐานว่าน่าจะหมายถึงทัพสยามจากลุ่มแม่น้ำกก คือเชียงราย เชียงแสน หรือจากสุพรรณบุรี

ผ่านหลายศตวรรษจากยุคขอมรุ่งโรจน์ นครวัดถูกทิ้งร้างให้ป่ารกปกคลุม กระทั่งการเดินทางมาของคนต่างถิ่นและแจ้งเกิดสู่โลกภายนอก

ชาวต่างด้าวคนแรกที่บันทึกเรื่องมหานครแห่งนี้คือ “โจวต้ากวาน” นักบันทึกประวัติศาสตร์ผู้เข้าเมืองพระนครพร้อมกับคณะทูตจีนที่ราชวงศ์หยวนส่งมาในพ.ศ. 1839 รัชสมัยพระเจ้าอินทรวรมันที่ 3 ช่วงปลายของยุคเมืองพระนคร ก่อนย่อยยับด้วยฝีพระหัตถ์เจ้าสามพระยา

ร่วม 1 ปีที่โจวต้ากวานอยู่ในอาณาจักรแห่งนี้ เขาบันทึกความเป็นอยู่ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีไว้อย่างละเอียด เป็นกุญแจนำสู่คำตอบสำคัญที่บอกว่าชีวิตของเมืองพระนครเป็นอย่างไร ปราสาทหินมากมายนั้นสร้างไว้เพื่อใช้ในการอันใดบ้าง เป็นบันทึกที่นักวิชาการตะวันตกโดยมากยอมรับข้อมูล ด้วยเหตุผล โจวต้ากวานถ่ายทอดภาพเมืองพระนครที่ยังมีชีวิตตามที่มันเป็นอยู่

จากนั้นเมื่อกษัตริย์รุ่นต่อมาย้ายเมืองหลวงลงไปทางใต้ และพ้นจากสมัยที่นักองค์จันทร์ให้บูรณะปราสาทนครวัด ก็ไม่ปรากฏเรื่องราวของกษัตริย์ขอมโบราณอีกเลย แผ่นดินอันรุ่งเรืองเปลี่ยนแปลงเป็นอนิจจังถึงบทสิ้นสูญ ปราสาทต่างๆ ถูกปล่อยร้างและที่สุดก็ซุกหายจากสายตาไปเป็นส่วนหนึ่งของพงไพร

มีบันทึกว่าก่อนถึง อองรี มูโอต์ มีนักบวช นักแสวงบุญ นักเผชิญโชค เดินทางถึงนครวัดมาแล้ว อาทิ บี.พี. กรอสลิเออร์ ชาวโปรตุเกส พ.ศ.2091 เขียนบันทึกชื่อ Angkor et le Cambodge au XVIe siecle ตามด้วย ดิโอโจ โด กูโต เจ้าหน้าที่อาลักษณ์บันทึกพงศาวดารโปรตุเกสประจำอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ที่เขียนบันทึกถึงเมืองพระนครไว้มากที่สุด และอันโตนิโอ ดา มักดาเลนา นักบวชโปรตุเกส ผู้มาในปีพ.ศ. 2129 รวมถึงมาร์เซลโล เดอ ไรบา-เดอเนียรา ทหารรับจ้างชาวสเปน พ.ศ.2136 กับ ชิมาโน เคนเรียว ล่ามชาวญี่ปุ่นที่อยู่ในเขมรระหว่าง พ.ศ.2166-2179

ผ่านมาถึงแผ่นดินรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศส อองรี มูโอต์ เดินทางมาศึกษาพรรณพืชเมืองร้อน จากเมืองไทย มูโอต์เข้ากัมพูชาทางทะเลตะวันออก ขึ้นบกที่เมืองกำปอตเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2403 ถึงเมืองพระตะบอง มิชชันนารีชาวฝรั่งเศสด้วยกันบอกเขาว่า อีกฟากหนึ่งของทะเลสาบเมืองเสียมเรียบ มีซากโบราณสถานซ่อนอยู่ในป่าใหญ่ มูโอต์ข้ามทะเลสาบสู่เสียมเรียบ บุกเข้าป่าทึบ ได้พบปราสาทนครวัดเป็นแห่งแรก เป็นการค้นพบโบราณสถานที่สำคัญของโลก หลังจากดินแดนขอมโบราณสาบสูญไปกว่า 4 ศตวรรษ

ครั้นกลับฝรั่งเศส เขาเขียนหนังสือบรรยายถึงสิ่งที่ยังไม่รู้ว่าคืออะไรแน่ในเวลานั้น ว่า “นี่คือความยิ่งใหญ่ที่ท้าทายวิหารโซโลมอน มันถูกสร้างขึ้นโดยน้ำมือของไมเคิล แองเจโล แห่งยุคบรรพกาล และสามารถยืนเคียงกับสิ่งก่อสร้างที่มหัศจรรย์ที่สุดของโลกตะวันตกได้อย่างเต็มภาคภูมิ มันยิ่งใหญ่กว่าสิ่งใดๆ ที่กรีกและโรมันทิ้งไว้เป็นมรดกแก่เรา เป็นภาพขัดแย้งอันน่าสลดใจท่ามกลางความเสื่อมโทรมป่าเถื่อนของดินแดนที่ให้กำเนิดมันขึ้นมา” (สำนวนแปล จิระนันท์ พิตรปรีชา หนังสือตำนานนักเดินทาง สนพ.สารคดี)

3 ปีหลังจากมูโอต์ค้นพบนครวัดและนครธม ฝรั่งเศสก็บุกกัมพูชา ยึดเป็นเมืองขึ้นเมื่อ พ.ศ.2406 โบราณสถานเมืองพระนครถูกปล้นอย่างถูกกฎหมายโดยเจ้าอาณานิคมและนักค้าของเก่าจากทุกสารทิศ ที่เห็นทุกวันนี้คือสิ่งที่เหลือรอดมา

โดย : น้าชาติ ประชาชื่น / หนังสือพิมพ์ข่าวสด


เมื่อก้าวเดินขึ้นไปยังซุ้มประตูทางเข้าก็จะพบเทวรูปเคารพเก่าแก่และงดงามคอยต้อนรับสายตานักท่องเที่ยว เมืื่อพบท่านสัมผัสได้ถึงพลังความขลังจริงๆเลยคะ

นางอัปสราถูกจับหน้าอกจนเป็นมันเลยคะ คงเป็นเพราะความละเอียดอ่อนของงานแกะสลักทำให้ผู้มาเยี่ยมชมอดไม่ได้ที่สัมผัสกับตัวของนางอัปสรา

เดินผ่านไปตรงนี้คงเป็นสระน้ำภายในปราสาท ซึ่งแลดูเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ซึ่งในปัจจุบันไม่มีน้ำแล้ว เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนั่งพักผ่อน ตรงนี้เป็นชั้นที่ 2 ของปราสาท

ที่ลานชั้นบนสุดที่ตั้งปราสาทองค์ที่เป็นจุดศูนย์กลางของปราสาทที่บรรจุพระอัฐิและพระบรมศพของพระเจ้าชัยวรมันที่นี้ ว่ากันว่าใบหน้าของนางอัปสราที่อยู่ในชั้นนี้จะคล้ายๆชาวจีน และ ชาวญี่ปุ่นมากกว่าชาวขอมนะคะ จริงไม่จริงก็ลองสังเกตดูเอาเองนะคะ


ทางขึ้นปรางค์ปราสาทสูงสุดที่บรรจุอัฐิและพระบรมศพพระเจ้าชัยวรมันที่ 

ภาพสุดท้ายก่อนจะลากลับจาก "นครวัด"  ที่สุดของปราสาทขอม และไม่ว่าปราสาทใดในโลกนี้แล้วคะ

หมายเลขบันทึก: 639523เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2017 22:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2017 22:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท