หอมกลิ่นกฐินใจ : มอน้ำชี มมส ปักกฐิน (ฮีต 12 คองสังคม : ฮีต 12 คองกิจกรรม)


นี่คืออีกหนึ่งความสำเร็จของกิจกรรมนอกหลักสูตร หรือกิจกรรมเรียนรู้คู่บริการบนฐานวัฒนธรรม หรือที่ผมเรียกเองว่า “ฮีต 12 คองสังคม : ฮีต 12 คองนิสิต” หรือแม้แต่ความสำเร็จของกระบวนการบ่มเพาะนิสิตสู่อัตลักษณ์ “เป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน” รวมถึงค่านิยมการเป็นนิสิตที่ว่า “MSU FOR ALL : พึ่งได้” ที่หมายถึงการที่นิสิตสามารถพึ่งตนเองได้และสามารถเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้ เสมอเหมือนการรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน สอดรับกับปรัชญามหาวิทยาลัยฯ “ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน”

นิสิต “ปักกฐิน” ด้วยตนเอง –

ใช่ครับ, ฟังดูแปลกแปร่ง  แต่ก็จริง เพราะล่าสุดกลุ่มนิสิตมอน้ำชี (พรรคมอน้ำชี)  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ได้จัดโครงการ “ฮีต 12 ฉลองบุญใหญ่ มอน้ำชีร่วมใจ ทอดกฐินสามัคคี” ณ วัดใหม่สามัคคีธรรมบ้านหนองโน ต.เขวาใหญ่  อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม 

กิจกรรมดังกล่าวขับเคลื่อนภายใต้วัตถุประสงค์สำคัญๆ  คือ 1) เพื่ออนุรักษ์และสืบสานประเพณีบุญกฐินตามครรลองสังคมไทย หรือสังคมอีสาน คือ  “ฮีต 12 คอง 14” และ 2) เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9  ประกอบด้วยแนวคิดสำคัญๆ ของการดำเนินงาน เช่น

  • การจัดกิจกรรมเรียนรู้บนฐานวัฒนธรรม “ฮีต 12 คองสังคม : ฮีต 12 คองกิจกรรม”
  • การจัดกิจกรรมเรียนรู้คู่บริการโดยใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้
  • อัตลักษณ์นิสิต “นิสิตกับการช่วยเหลือสังคมและชุมชน”

จากการสอบถามเหล่าบรรดาแกนนำพรรคมอน้ำชีทำให้รู้ที่มาที่ไปอย่างน่าชื่นชม  เนื่องเพราะกิจกรรมครั้งนี้ต่อยอดมาจากรายวิชา “ภาวะผู้นำ”  ซึ่งเป็นรายวิชาในหมวดศึกษาทั่วไปที่กาลครั้งหนึ่งกองกิจการนิสิต  หรือผมและทีมงานเคยรับหน้าที่ทีมกระบวนกรที่จัดการเรียนรู้ในรายวิชานี้

ครั้งนั้น – แกนนำของพรรคมอน้ำชีที่ลงทะเบียนเรียนในวิชาภาวะผู้นำได้เลือกที่จะจัดกิจกรรมเรียนรู้คู่บริการ ณ วัดใหม่สามัคคีธรรม  ภายใต้รูปแบบง่ายงามและไม่ซับซ้อน เช่น  ถอดผ้าป่า ปรับภูมิทัศน์และการปลูกต้นพยุงพร้อมๆ กับการถมตลิ่งเพื่อป้องกันมิให้พื้นที่ของวัดพังถล่มไปกับการกัดเซาะของแม่น้ำชี 

ภายหลังการจัดกิจกรรมผ่านรายวิชาภาวะผู้นำ  นิสิตก็ยังไปมาหาสู่กับชุมชนอย่างต่อเนื่อง  รวมถึงการติดต่อสื่อสารกับหลวงปู่เรืองศิลป์ กตปุญโญ เป็นระยะๆ  จึงทำให้รับรู้ถึงความเคลื่อนไหวของวัดและชุมชนอย่างไม่ขาดห้วง  เช่นเดียวกับการมองเห็นถึงความเข้มแข็งของวัดและชุมชนที่ผนึกเป็นหนึ่งเดียวกัน  ถึงขั้นต้องการจัดซื้อที่ดินบริเวณด้านหน้าของวัดเพิ่มเติมอีก 4 ไร่จากเดิมที่มีอยู่ 3 ไร่  เพื่อหนุนกระบวนการขึ้นทะเบียนเป็นวัดให้ถูกต้อง

นี่คือเหตุปัจจัยอันสำคัญที่ทำให้เหล่าบรรดาแกนนำของพรรคมอน้ำชีหวนกลับไปยังวัดฯ และชุมชนอีกครั้งในรูปของการจัดประเพณีบุญกฐินร่วมกัน  โดยร่วมกำหนดวันเวลาและรูปแบบ  หรือแม้แต่กระบวนการทั้งปวงร่วมกันโดยไม่แบ่งแยกว่า “ใครคือนิสิต ใครคือชุมชน”  ประหนึ่งทั้งสองส่วนก็คือ “คนบ้านเดียวกัน” ยังไงยังงั้นเลยก็ว่าได้

นี่คืออีกหนึ่งความสำเร็จของการจัดการเรียนรู้ของหมวดศึกษาทั่วไปที่บ่มเพาะความเป็นผู้นำผ่านการเรียนรู้คู่บริการโดยใช้นิสิตและชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้  ก่อเกิดเป็นสายสัมพันธ์ระหว่างนิสิตกับชุมชน หรือมหาวิทยาลัยกับชุมชนไปโดยปริยาย  กระทั่งนำมาสู่กิจกรรมสร้างสรรค์ใน “วิถีบุญ” ร่วมกันอย่างน่ายกย่อง

ในด้านของรูปแบบ-

กิจกรรมครั้งนี้ดำเนินการบนกรอบแนวคิดของฮีต 12 คอง 14 อย่างค่อยเป็นค่อยไป  มีชุมชนเป็นผู้นำทางแนวคิดในเรื่องจารีต หรือวิถีปฏิบัติ  ขณะที่นิสิตก็บูรณาการความรู้ของตนเองเข้ากับชุมชน  มีกระบวนการ “บอกบุญ”  ผ่านวิธีการที่นิสิตสันทัด เช่น  ตีกลองร้องลำ  แหล่อีสานเพื่อเชิญชวนคนร่วมทำบุญเป็นระยะๆ  ภายในมหาวิทยาลัย  กระทั่งจัดวัน “โฮมบุญ : มื้อโฮมบุญ” (ตั้งองค์กฐิน)  ขึ้นในวันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม 2560  ณ บริเวณตลาดน้อย  พิธีเจริญพระพุทธมนต์ และแสดงพระธรรมเทศนา  และสวดมนต์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9

จากนั้นในวันเสาร์ที่ 14  ตุลาคม 2560  จึงเคลื่อนองค์กฐินไปถวาย หรือที่ชาวอีสานเรียกว่า “ทอดกฐิน” โดยรวมกับชุมชนได้ในวงเงิน  จำนวน 238,769 บาท (สองแสนสามหมื่นแปดพันเจ็ดร้อยหกสิบเก้าบาทถ้วน) 

 

โดยส่วนตัวแล้ว  ผมมองว่านี่คือความกล้าหาญบนฐานแห่งศรัทธาอย่างไม่ต้องสงสัย   เพราะผมโตมากับวาทกรรมชวนเชื่อที่ว่า “บุญบ่หลาย  บารมีบ่พอ  สร้างกฐินบ่ได้ดอก”  ซึ่งมันก็มีส่วนจริงอยู่มาก เพราะกฐินไม่ได้ทำได้ทุกฤดูกาลเหมือน “ผ้าป่า”  ปีหนึ่งๆ จัดได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น  จัดแต่ละปีแต่ละครั้งมันต้องใหญ่โตพอสมควร  ส่วนจะใหญ่โตด้วยอะไรบ้าง  ตรงนี้ขอละข้ามไม่กล่าวถึงละกัน (นะครับ)

ผมชื่นชมหัวใจอันกล้าแกร่งของนิสิตในเรื่องนี้เป็นที่สุด  ย้อนอดีตผมก็ใครพานิสิต “ปักกฐิน” ในชุมชนรอบมหาวิทยาลัยมาแล้วเหมือนกัน  หากแต่เป็น “จุลกฐิน” หรือ “กฐินแล่น” อันเป็นที่มาของวาทกรรมสำคัญของผมที่ว่า “ใจนำพาศรัทธานำทาง”

หรือในอีกวาทกรรมที่ผมชอบพูดถึงก็คือ “หอมกลิ่นกฐินใจ”

นอกจากนี้ยังชื่นชอบในประเด็นการ “ต่อยอด”  จัดกิจกรรมในพื้นที่เดิม เสมอเหมือนการกลับไปตรวจทานผลงานเดิมว่ายังคงอยู่ หรือแตกดับไปแล้ว  หรือกระทั่งการยืนยันว่านิสิตกับชุมชนยังคงติดต่อสื่อสารไปมาหาสู่กันอย่างไม่ขาดหาย  ตอบโจทย์วาทกรรมที่ผมเปรยพูดเสมอมาว่า “ไม่ใช่ญาติ ก็เหมือนญาติขาดไม่ได้”

รวมถึงชื่นชอบและชื่นชมประเด็นของที่ปรึกษาที่เข้ามาหนุนเสริมอย่างใกล้ชิด  ทั้งภาพงานในมหาวิทยาลัยและการตะลุยชุมชน  เช่น  อาจารย์อารีรัตน์  รักษาศิลป์  ดร.นวลละออง  อรรถรังสรรค์  ผศ.คะนอง  พิลุน  นายสวัสดิ์  วชิระโภชน์

เช่นเดียวกับประเด็น “ศิษย์เก่า”  ก็เป็นอีกเรื่องที่ผมประทับใจ  เพราะเท่าที่รู้และพบเจอด้วยตนเองก็คือกิจกรรมครั้งนี้มีศิษย์เก่า (พี่พรรค) กลับมาร่วมทำบุญกับน้องๆ หลายคน  ที่ไม่ได้มาก็ส่งเงินมาร่วมทำบุญอย่างมากมาย 

นี่คือหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชี้ให้เห็นว่า “กิจกรรมสร้างคนและสังคม” อย่างไม่บิดเบี้ยว  และบนถนนสายกิจกรรมก็ก่อให้เกิดมิตรภาพระหว่างคนอย่างมหัศจรรย์

จะว่าไปแล้ว  การกลับมาของศิษย์เก่าเช่นนี้  ก็คืออีกหนึ่งของความงามที่สัมผัสได้ว่าศิษย์เก่ายังคงรักและผูกพันกับมหาวิทยาลัยฯ หรือบ้านหลังนี้ด้วยเช่นกัน –

ครับ- นี่คืออีกหนึ่งกิจกรรมที่อดจะเขียนถึงไม่ได้ 

เป็นกิจกรรมที่ทำด้วยหัวใจอันกล้าแกร่ง ...  ไม่แน่จริงคงไม่อหังการ์ปักกฐิน !

นี่คืออีกหนึ่งความสำเร็จของกิจกรรมนอกหลักสูตร  หรือกิจกรรมเรียนรู้คู่บริการบนฐานวัฒนธรรม หรือที่ผมเรียกเองว่า “ฮีต 12 คองสังคม : ฮีต 12 คองกิจกรรม (คองนิสิต)”  

หรือแม้แต่ความสำเร็จของกระบวนการบ่มเพาะนิสิตสู่อัตลักษณ์ “เป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน”  รวมถึงค่านิยมการเป็นนิสิตที่ว่า “MSU FOR ALL : พึ่งได้”  ที่หมายถึงการที่นิสิตสามารถพึ่งตนเองได้และสามารถเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้  เสมอเหมือนการรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน  สอดรับกับปรัชญามหาวิทยาลัยฯ “ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน”

แถมยังอบอวลไปด้วยความเป็นจิตอาสา จิตสาธารณะ  สำนึกรักษ์บ้านเกิด หรือเยาวชนจิตอาสาอย่างชัดแจ้ง

เหนือสิ่งอื่นใด  ผมคงไม่หยั่งคิดเป็นอื่นในยอดเงิน 238,769 บาท  ต่อชุมชนจำนวน 30 กว่าครัวเรือน  รวมถึงวัดที่มีพระสงฆ์จำวัดเพียงรูปเดียว  เพราะสิ่งที่นิสิตและชุมชนได้รังสรรค์ขึ้นมีความดีงามและงดงาม  

และมีความสมบูรณ์บนฐานใจเกินความจำเป็นใดๆ ที่ต้องประเมินผล –

เอาเป็นว่า ชื่นชมและให้กำลังใจ นะครับ.....

 

หมายเหตุ

ภาพ : พรรคมอน้ำชีเขียน : วันที่ 20 ตุลาคม 2560

หมายเลขบันทึก: 639487เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2017 11:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ตุลาคม 2017 06:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • เห็นความสำเร็จ งอกเงย ของบรรดาลูกศิษย์ หัวใจคนเป็นครูจะพองโต อิ่มเอมเสมอ..จริงๆแล้ว ชีวิตครูเรา ไม่ได้หวังอะไรไปมากกว่านี้!
  • มาร่วมยินดีด้วยคนครับอาจารย์

สวัสดีครับ 


อ.ธนิตย์ สุวรรณเจริญ

เห็นด้วยอย่างยิ่งนะครับว่าการเติบโตของลูกศิษย์ลูกหาคือรางวัลชีวิตของความเป็นครูอย่างแท้จริง  บางทีครูก็เหมือนต้นไม้ที่มีรากแก้วอันแข็งแกร่ง  กิ่งก้านสาขาก็ถูกทาบกิ่ง ดอก-ผล ก็ถูกนำไปขยายพันธุ์

บางทีก็อดเทียบเคียงในมุมเช่นนี้ไม่ได้เหมือนกันครับ

เป็นงานที่ส่งเสริมพุทธศาสนา ศิลปะ ประเพณีอันดีเลยครับ

ขอชื่นชม พรรคมอน้ำชี

ขอบคุณมากๆครับ


เป็นแนวคิด ดีงามค่ะ และขอชื่นชม ผลงานนิสิต มมส. ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท