เรียนรู้กับนักเรียน Access Program MSU ณ หมู่บ้านจัดการขยะอันดับหนึ่งของประเทศ "บ้านหัวถนน"


วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๐ ผมมีโอกาสได้ร่วมคณะศึกษาดูงานของโครงการ Access Program ของภาคภาษาตะวันตก มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โครงการนี้สนับสนุนโดยสถานฑูตอเมริกา ให้ทุนสนับสนุนกับนักเรียนขาดแคลนโอกาสในพื้นที่ปีละ ๖๐ - ๘๐ คน มาเรียนฟรีภาษาอักกฤษทุกวันเสาร์ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา ๒ ปี โดยมีอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นผู้สอน รุ่นนี้เป็นรุ่นที่ ๒ ... ผมเข้าใจว่านี่คือสุดยอดของโอกาสสำหรับเด็กขาดแคลนทุนทรัพย์โครงการหนึ่งที่ดีมาก ๆ  ควรมีต่อไปเรื่อย ๆ 

ผมได้เวลาจากทีมวิทยากรให้ช่วย สร้างกระบวนการเรียนรู้จากการศึกษาดูงานครั้งนี้่ แต่มีเวลาเพียงสั้น ๆ ไม่เกิน ๒๐ นาที ก่อนและหลังการดูงาน  จึงออกแบบไว้ว่า นักเรียนน่าจะรู้จัก BAR และ AAR น่าจะเหมาะสมที่สุด โดยใช้ BAR ด้วยรหัส ๓-๒-๑ ดังนี้ 
  • ๓ คำถาม  ได้แก่ 
    • อะไร? ความสำเร็จของเขาคืออะไร 
    • อย่างไร? เขาทำอย่างไรจึงสำเร็จ 
    • จะนำไปปรับใช้ได้อย่างไร? 
  • ๒ ความประทับใจ 
  • ๑ สิ่งที่จะไปปฏิบัติกับตนเองทันที 
วิธีการใช้รหัสแบบนี้ใช้ได้ผลดีมาก เพราะเด็กนักเรียนจำแม่นมาก แทนที่จะให้จำว่ามี ๕ คำถามถอดบทเรียนดังรูป 



"หมู่บ้านหัวถนน" ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น คือหมู่บ้านที่ได้รับรางวัลชนะเลิศถด้วยพระราชทานการประกวดชุมชนหมู่บ้านปลอดขยะเฉลิมพระเกียรติ ๘๘ พรรษา ในปี ๒๕๕๘  จากการสืบค้น มีข้อมูลจำนวนมากทั้ง ข่าว สกู๊ป บันทึก  ลองดูคลิปด้านล่างนี้ครับ 



ความสำเร็จของชุมชนหมู่บ้านหัวถนน คือ สามารถจัดการขยะของชุมชนได้อย่างพร้อมเพรียงกัน ถึงร้อยละ ๘๕ ของครัวเรือนทั้งหมดในปี ๒๕๕๗ และทุกครัวเรือนในปี ๒๕๕๘ จาก ๓๒๓ หลังคาเรือน และทำได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ จนถึงปัจจุบัน (๒๕๖๐) สามารถลดขยะครัวเรือนจากเฉลี่ย ๘๐๐ กิโลกรัม เหลือเพียงเฉลี่ย ๓๓ กิโลกรัมต่อวัน ลดขยะของชุมชนจาก ๒๔ ตันเหลือเพียง ๑๐ ตันต่อเดือน 

ช่วง AAR (After Action Review) ผมมีเวลาเพียง ๓๐ นาที (ขอเพิ่มอีก ๑๐ นาที)  ไม่น่าเชื่อว่า นักเรียนชั้น ม.ต้น จะสามารถระดมสมองเขียนสะท้อนการเรียนรู้ของตนตอบ ๓ คำถามของผมได้ภายใน ๑๕ นาที ขอย้ำว่า นี่คือผลงานเพียง ๑๕ นาที ...


่ผมไม่ได้เข้าร่วมทุกกิจกรรม และไม่ได้ฟังทุกการบรรยาย  แต่ก็อยากจะบันทึกความเห็นในมุมมองของคนมาดูงานไว้ว่า อะไรคือปัจจัยแห่งความสำเร็จ  

๑) ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง 

ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงคือปัจจัยอันดับ ๑ ในที่นี้ กรณีของบ้านหัวถนน น่าจะมีหลายคน แต่ที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นผู้ใหญ่บ้าน  ผู้ใหญ่บ้านไม่ใช่คนบ้านหัวถนน ภรรยาและครอบครัวท่านก็ไม่ใช่คนบ้านหัวถนน ชาวบ้านบอกผมว่าท่านเป็นคนกรุงเทพฯ ภรรยาเป็นคนโคราช ผิดพลาดอย่างไรขออภัยนะครับ (เป็นข้อมูลปฐมภูมิ)  ประเด็นคือ ท่านไม่ใช่คนในพื้นที่ก็มาทำดีที่นี่และได้รับการยอมรับจากชาวบ้าน จนผ่านการเลือกตั้งจนเป็นผู้ใหญ่บ้านได้ 

ก่อนหน้าที่จะมาเป็นผู้ใหญ่ฯ ท่านทำงานเป็นผู้รับเหมาก็สร้าง เป็นคนพูดเก่งมาก เหมือนจะมีความสุขจากการให้วิทยาทานยิ่ง  ยายคนหนึ่งบอกว่า ผู้ใหญ่บ้านเป็นคนสะอาดเรียบร้อย จึงทำได้ ... ผมตีความว่า ยายกำลังบอกว่า ผู้ใหญ่บ้านเป็นแบบอย่างให้ชาวบ้านเห็น จึงทำได้ 

๒) กลยุทธ์จากง่ายไปยากและหลากหลายรูปแบบ

วิธีการของผู้ใหญ่บ้าน เริ่มต้นด้วย การสร้างแทนนำต้นแบบชาวบ้านก่อนในปี ๒๕๕๖ และใช้กลยุทธหลากหลาย ทั้งการสร้างแรงบันดาลใจ สร้างความภูมิใจร่วมกัน ทำให้เห็นประโยชน์กับตนเอง สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน อย่างบูรณาการและต่อเนื่อง 

กลยุทธ์สำคัญคือ 3R และ 4B (ผมตั้งชื่อเอง)  3R คือ Reduce Reuse Recycle ซึ่งคงรู้กันทั่วไป ส่วน 4B คือ 4Bins ได้แก่การแยกขยะเป็น ๔ ถัง ๔ ประเภท ได้แก่ ขยะอินทรีย์ ขยะรีไซเคิล ขยะทั่วไป และขยะอันตราย

ในปี ๒๕๕๖ ผู้ใหญ่ฯ ทำวิจัย (ภาคปฏิบัติ) โดยการนำเอาขยะที่เก็บมาจากครัวเรือนมาคัดแยก พบว่า ประมาณ ๗๐% เป็นขยะอินทรีย์ ประมาณ ๒๕% เป็นขยะรีไซเคิล และอีกประมาณ ๕% เป็นขยะทั่วไปและขยะอันตราย  ดังนั้นหากท่านจัดการขยะอินทรีย์ได้ ปัญหาจะลดไป ๗๐% ทันที  จึงเริ่มกระบวนการด้วยกลยุทธ์ 3R4B  ดังนี้

ต่อไปนี้เป็นเทคนิควิธีการของผู้ใหญ่ฯ ทีน่าสนใจนำไปใช้มาก ๆ
  • ขั้นแรกส่งคนไปอบรมก่อน กลุ่มแรกที่ส่งไปอบรมคือ คณะกรรมการหมู่บ้าน ๑๒ คน และ อสม.๑๕ คน ไปอบรมกับกรมการส่งเสริมสุขภาพและสิ่งแวดล้อม 
  • เริ่มต้นที่ตนเอง ... เริ่มนำเอาองค์ความรู้เรื่อง 3R4B ที่ได้ไปอบรมมาปฏิบัติกับตนเองที่บ้านก่อน 
  • ผู้ใหญ่ขยายกลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการไปที่กลุ่มคนต่าง ๆ เช่น กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเยาวชน ร้านค้า ฯลฯ 
  • Reduce ลดปริมาณขยะ นี่เป็นเป้าหมายเป็น zero waste คือไม่ทิ้งอะไรเลย  มีกลยุทธ์ดังนี้ 
    • ให้ทุกร้านค้ามีถุงผ้าให้ยืม ... มีปัญหาเหมือนกันที่ไม่คืน  แต่วิธีการถามทวงของแม่ค้าได้ผลดี 
    • ร้านค้าอาหารหากมีจาน ถ้วย ชาม หม้อ ปินโต หรือถุงผ้ามาเอง โดยไม่ต้องใช้ภาชนะก่อขยะ จะได้ลดราคา ร้านกาแฟหากมีแก้วกาแฟจะได้ลดถึง ๕ บาท จาก ๒๕ เหลือแก้วละ ๒๐ บาท 
    • ขยะอินทรีย์ นำไปทำปุ๋ย เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู ฯลฯ  
    • จัดทำแผนที่ชุมชน (แผนที่เดินดิน) แล้วเอาหมุดสีปักไว้ว่า ครัวเรือนใดเข้าร่วมโครงการบ้าง แล้วนำเอากระดาษ A4 (ต่อมาเป็นเป็นธงสีเขียว) ไปติดไว้หน้าบ้านเหมือนเป็นการประกาศว่าครัวใดเข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะบ้าง ... แล้วค่อยขยายจนครบทุกครัวเรือนในปี ๒๕๕๘
    • ในการคัดแยกขยะ ๔ ประเภทเบื้อง ให้ครัวเรือนที่เข้าร่วม ใช้กระสอบปุ๋ยเป็นถังขยะก่อน ต่อมา ได้งบประมาณจากเทศบาลนครขอนแก่น ๒๘,๐๐๐ บาท จึงได้นำไปจัดซื้อตาข่ายในลอนเขียว (ความจริงสีน้ำเงิน ผู้ใหญ่บ้านเรียก "มุ้งสีฟ้า" ชาวบ้านเรียก "ผ่าดางแหล่") มาเย็บเป็นที่ใส่ขยะรีไซเคิล นำไปแจกให้กับชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการ  เงินส่วนหนึ่งนำไปซื้อถังดำพลาสติก ๒๐ ถัง มาแจกสำหรับชาวบ้านที่ต้องการทำน้ำหมักชีวภาพจากขยะอินทรีย์ และเงินส่วนหนึ่งนำไปซื้อก๊อกซีเมนต์ (ชาวบ้านเรียก "โบกปุน") เพื่อให้ไปทพปุ่ยหมัก โดยให้เซ็นชื่อรับ 
    • ใครที่เซ็นชื่อรับไป แต่ไม่ได้ทำ กรรมการจะไปขอคืน หากไม่ต้องการคืนก็ต้องให้นำถังพลาสติกนั้นมาทำถังหมักขยะอินทรีย์ให้เป็นปุ๋ยชีวิภาพ ... ผู้ใหญ่บ้านบอกว่าได้ผลดีมาก 
    • รณรงค์ให้ชาวบ้านไม่ใช่แก้วพลาสติกหรือโฟมในงานบุญประเพณีต่าง ๆ  วิธีการคือ เมื่อทราบว่ามีใครจะจัดงาน คณะกรรมการฯ จะนำเอาคุนเลอร์น้ำ แก้ว และจานชามไปให้ฟรี โดยไม่ต้องยืม 
    • รณรงค์ให้เปลี่ยนจาการวางพวงหรีดอาลัยในงานศพ เป็นการใช้ต้นกล้าไม้ หลังงานเลิก แทนที่จะต้องเผาทิ้ง แต่เปลี่ยนเป็นกิจกรรมทำประโยชน์ร่วมกันด้วยการปลูกต้นไม้ 
    • รณรงค์ให้ปฏิเสธการใช้ถุงพลาสติกจากร้านค้า  ผู้ใหญ่ฯ เขียนจดหมายไปขอรางวัลจากร้านค้าจากขอนแก่น  ได้น้ำตาลสิ่งของต่าง ๆ  โดยใครที่ปฏิเสธการใช้ถุงจะได้คูปอง แล้วเอาคูปองมาแลกน้ำตาล หรือเอาขยะมาแลกน้ำตาล ฯลฯ 
    • เมื่อมีคนมาศึกษาดูงาน จะไม่ใช้วัสดุภาชนะก่อขยะ ยกเว้นขยะอินทรีย์ 
    • นำพืชผักสวนครัวมาปลูกแทนการจัดสวนดอกไม้สด 
    • รณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติก
    • ให้ชาวบ้านใช้หลุมดินฝังขยะอินทรีย์ 
  • Reuse
    • นำตู้เย็นเก่ามาทำเป็นตู้เก็บของ เช่น ตู้เก็บหนังสือ เครื่องเขียน ฯลฯ 
    • น้ำขวดพลาสติกมาทำเป็นที่ต่อยมวยคู่ (ต้องดูคลิปครับถึงจะเข้าใจ) เป็นเหมือนอุปกรณ์กายภาพบำบัด รักษาผู้ป่วยอัมพฤกษ์ 
    • เอากล่องโฟมมาทำกระถางต้นไม้ 
    • เอาซองน้ำยาปรับผ้านุ่ม หลอดกาแฟ มาทำเป็นดอกไม้ประดิษฐ์ 
  • Recycle
    • จัดทำธนาคารปลาหางนกยูง โดยให้นักเรียนชั้นประถมเป็นคนดูแล ใครสนใจให้เอาขยะมาแลก 
    • ขอการสนับสนุนจากห้างร้านต่าง ๆ  นำเงินมาซื้อน้ำตาล และเมล็ดพันธุ์พืช นำมาแลกขยะรีไซเคิลจากชาวบ้าน 
  • คัดเลือกคนที่จัดการได้ดีมาเป็นครัวเรือนต้นแบบ 
  • มีกติกาในหมู่บ้าน ห้ามเอาขยะหรือสิ่งใด ๆ ทุกชนิด 
  • มีการตั้งกติกาของหมู่บ้าน  เก็บขยะในหมู่บ้านอาทิตย์ละ ๒ ครั้ง ต่อมาลดเหลือหนึ่งครั้ง 
  • กระจายข่าวทางหอกระจายข่าวทุก ๆ ๔-๕ วัน  หลังกระจายข่าวก็จะเอาความรู้เรื่องขยะมาอ่านให้ฟัง 
  • มีปัญหาอะไร ให้เอามาเล่าให้ชาวบ้านฟังทางหอกระจายข่าว  
  • พูดเรื่องขยะบ่อย ๆ  ผ่านหอกระจายข่าว ขยะ ๔ ประเภท หลักการ ๓อาร์ ทำไง และสุดท้ายก็ใช้คำว่า ขอบคุณชาวบ้าน 
  • ทำป้ายคำขวัญติดรอบหมู่บ้าน 





๓) แรงกระตุ้นจากภายนอก

แรงกระตุ้นจากภายนอกเป็นปัจจัยสำคัญคือ การสร้างบรรยากาศสการ "แข่งขัน" ไปสู่ความฝันร่วมกัน ผู้ใหญ่ฯ จะพยายามสร้างโอกาสและส่งผลงานการคัดแยกและจัดการขยะเข้าประกวดในเวทีต่าง ๆ  ปี ๒๕๕๖ ได้รางวัลรองชนะเลิศ เมื่อประกอบกับความต่อเนื่องยาวนานพอ  จึงเกิดเป็นความสำเร็จและภาคภูมิใจร่วมกัน 

แรงกระตุ้นจากภายนอกอีกประการหนึ่งคือ คณะที่มาศึกษาดูงานบ้านหัวถนน ผมถายรูปรายนามคณะที่มาดูงานในรอบ ๒ ปี ดังภาพครับ 


คณะที่มาศึกษาดูงาน เปรียบเหมือนนักท่องเที่ยว มีคนที่ไหนมีการซื้อขายที่นั่น จึงทำให้ชาวบ้านหัวถนน มีรายได้จากคนท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้แบบนี้อย่างต่อเนื่อง 

๔) การบูรณาการทั้งบ้าน วัด โรงเรียน (บวร)

ผมสังเกตเห็นป้ายเขียนบอกว่า สมเด็จพระเทพฯ ทรงเสด็จเยี่ยมศาลาอเนกประสงค์ที่ทางชุมชนใช้ต้อนรับแขก ตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ ที่วัด "ไตรประสิทธิ์" แสดงว่า ความสามัคคีเข้มแข็งของชาวบ้าน น่าจะมีมาก่อนที่ผู้ใหญ่บ้านจะมาขับเคลื่อนฯ และตรงทางเลี้ยวจากถนนสายหลัก มีปัายขนาดใหญ่และเก่าแก่ เป็นเหมือนประตูโขงเข้าหมู่บ้าน เขียนว่า "วัดไตรประสิทธิ์" แสดงว่า ที่นี่ต้องมีผู้นำทางจิตวิญญาณที่เข้มแข็งอยู่ก่อน และผู้ใหญ่บ้านเองก็นำเสนอว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จคือ ความสามัคคีของคนในหมู่บ้าน ... อย่างไรก็ดี ผมว่า ถ้าไม่มีผู้ใหญ่บ้านคนนี้ คงจะสำเร็จแบบนี้ได้ยาก  เพราะท่านมองไกลไปถึงโรงเรียนด้วย  ตอนหนึ่งท่านเล่าว่า หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญคือ 
  • พัฒนาเยาชนให้เกิดความฝันร่วมกันเกี่ยวกับการจัดการขยะของหมู่บ้าน โดยถามว่า อยากเห็นหมู่บ้านของหมู่บ้านของเราเป็นอย่างไร แล้วให้แบ่งกลุ่มกันช่วยวาดภาพ  และถามอีกว่า ไม่อยากเห็นหมู่บ้านของเราเป็นอย่างไร แล้วให้วาดภาพ 
  • ให้นักเรียนเป็นวิทยากรนำคณะศึกษาดูงาน 
ผมกับครอบครัวตั้งใจร่วมกันว่า เราจะเริ่มแยกขยะอย่างจริงจัง ซึ่งความจริงเราแยกอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้ Reduce อย่างจริงจัง  ผมคุยกับป้าจอนเมื่อเช้านี้ว่า เราจะแยกขยะอย่างจริงจัง โดยเฉพาะ การแยกขยะอินทรีย์ออกจากขยะรีไซเคิล ... ลองดูว่าจะสำเร็จแค่ไหน 

ขอขอบคุณ American Corner และ ดร.พิมยุภา หัวหน้าทีมที่สร้างสรรค์โอกาสดี ๆ แบบนี้ เด็กบ้านนอกอย่างผมสิ่งที่เคยขาดแคลนมากที่สุดก็คือ "โอกาส" นี่แหละ  ... น้อง ๆ ในโครงการ Access Program  ก็คงไม่แตกต่างกัน
หมายเลขบันทึก: 639283เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2017 15:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ตุลาคม 2017 07:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีจ้ะท่าน อ.ต๋อย

คุณมะเดื่อกำลังสนใจเรื่องของการจัดการขยะอยู่พอดี

อ่านบันทึกของอาจารย์แล้ว ได้ความรู้  ความคิด

และการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมดีมาก ๆ จ้ะ

เปิดเทอมนี้ั คุณมะเดื่อจะมีแนวทางในการเริ่มต้น

ดำเนินงานกำจัดขยะแล้วจ้ะ

ขอบคุณบันทึกนี้  ขอบคุณเจ้าของบันทึกเป็นอย่างสูงนะจ๊ะ

ขอบคุณมากมายจ้ะ

ขอบพระคุณมากครับ คุณครูมะเดื่อ ....    เทคนิคหลายอย่างผมคาดไม่ถึงจริง ๆ ครับ  และที่สำคัญ ผู้ใหญ่ฯ ท่านใช้อย่างต่อเนื่องนานพอ จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ...  ผมเองกับครอบครัวก็จะเริ่มกันภายในเดือนนี้อย่างจริงจังครับ  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท