A study of state of learning measurement in non-cognitive sciences in schools Junior high school Under the Office of the Secondary Education Service Area 25


การศึกษาสภาพการวัดผลการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ไม่ใช่การรู้คิดในสถานศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 25

A study of state of learning measurement in non-cognitive sciences in schools. Junior high school Under the Office of the Secondary Education Service Area 25

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ(Survey Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ที่ไม่ใช่การรู้คิดของครูผู้สอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 25 โดยผู้วิจัยใช้แนวคิดเชิงระบบ (System Concept)เป็นแนวคิดสำคัญในการศึกษา โดยแบ่งเป็น 2 ขั้นตอนคือ ขั้นตอนที่ 1 สำรวจสภาพการวัดผลและประเมินผลที่ไม่ใช่การรู้คิด กลุ่มตัวอย่างเป็นครูผู้สอน จำนวน 84 คนและขั้นตอนที่ 2 สัมภาษณ์ครูผู้สอนเกี่ยวกับสภาพการวัดผลและประเมินผลที่ไม่ใช่การรู้คิด และกลุ่มตัวอย่างสุ่มจากลุ่มตัวอย่างในขั้นที่ 1 จำนวน 8 คน เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วยแบบสอบถาม 1 ฉบับและแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง 1 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการคำนวณค่าสถิติพื้นฐานได้แก่ความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย  ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis) จากคำถามปลายเปิดและการสัมภาษณ์  ผลการวิจัยพบว่า ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) มีประสบการณ์การเรียน/ อบรมเกี่ยวกับการวัดและประเมินผลระหว่าง  มีประสบการณ์การสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและประสบการณ์การสอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ มากกว่า  16 ปี ด้านความรู้ความเข้าใจด้านการวัดและประเมินผลการเรียนรู้อยู่ในระดับดีมาก โดยเฉพาะด้านวิธีการปฏิบัติในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้เกี่ยวกับการวัดผลปลายภาคเรียนและระหว่างเรียน ด้านกระบวนการ (Process) การวัดด้านจิตพิสัยมีการใช้แบบสังเกตพฤติกรรมมากที่สุด ส่วนการวัดด้านทักษะพิสัยใช้แบบบันทึกปฏิบัติการทดลองมากโดยทำการประเมินผลในระหว่างทำการสอน และนำผลจากการวัดและประเมินด้านจิตพิสัยและด้านทักษะพิสัยไปใช้ประโยชน์ในปรับปรุงการเรียนการสอน การตัดสินผลการเรียนใช้แบบอิงกลุ่มและอิงเกณฑ์ ด้านผลผลิต (Output)  มีการสังเกตพฤติกรรมการรับรู้ของนักเรียน สังเกตพฤติกรรมการตอบสนองของนักเรียนในขณะที่ปฏิบัติการสอนในระดับดีมาก และมีการตรวจสอบการเข้าเรียนของนักเรียนในระดับดีเยี่ยม  มีการใช้ที่เป็นแบบสังเกตเพื่อสังเกตพฤติกรรมนักเรียนในระดับดีมาก  การประเมินผลโดยส่วนมากใช้วิธีการการกำหนดการประเมินผลงานของนักเรียนเป็นกลุ่มและรายบุคคลมีการจัดทำเกณฑ์การประเมิน (Rubric Assessment) ในการประเมินผล มีการปฏิบัติอยู่ในระดับดีมากเช่นกัน

 คำสำคัญ ทักษะการรู้คิด ทักษะที่ไม่ใช่การรู้คิด ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ ผลผลิต

 Abstracts

This research is a survey research aimed at studying the state of measurement and evaluation of non-cognitive learning of teachers in the subject matter of science. Junior high school Under the jurisdiction of the Office of the Secondary Education Service Area 25, the researcher uses the system concept as a key concept in the study. It is divided into two phases: Step 1: Survey on Non-cognitive Measurement and Evaluation. The sample consisted of 84 teachers, and the second was an interview with a teacher about non-cognitive assessment and assessment. The sample group consisted of 8 people in the first stage. The instrument consisted of 1 questionnaire and 1 structured interview. Data were analyzed by using basic statistics such as frequency, percentage, mean, standard deviation. And content analysis from open-ended questions and interviews. The research found that Input. Have experience in training / measurement and evaluation. Has more than 16 years of teaching experience in junior high school and more than 16 years of teaching experience in science learning. The knowledge and understanding of measurement and evaluation of learning is very good. Particularly on how to measure and evaluate learning outcomes at the end of term and during school. Process The measurement of psychosocial aspects is the most common behavioral observation. The skill-based measure was based on a very experimental laboratory record, which was evaluated during instruction. The results of the measurement and evaluation of the range and range of skills to improve the teaching. The results of the study were group based and based on the output. Observing the student's response behavior while performing the instruction at a very good level. And there is an excellent level of student attendance. There are observational uses to observe student behavior at a very good level. Most assessments use a methodology for group and individual assessment of student performance. Rubric assessments are provided for evaluation. There is a very good level of practice as well.

 Keywords :cognitive skill  non-cognitive skill Input Process Output


1. บทนำ

งานศึกษาทางด้านการวัดผลเริ่มให้ความสำคัญเกี่ยวกับทักษะที่ไม่ใช่การรู้คิด(Non-Cognitive Skill) โดยต่างเห็นพ้องต้องกันว่าทักษะที่ไม่ใช่การรู้คิดเองก็มีความสำคัญต่อความสำเร็จในการประกอบสัมมาอาชีพเช่นเดียวกับทักษะการรู้คิด (Cognitive Skill) (พิริยะ ผลวิรุฬ, 2556) ทักษะที่ไม่ใช่การรู้คิด คือทักษะอื่นๆ นอกเหนือจากทักษะการรู้คิด อันบ่งบอกถึงพฤติกรรมและทักษะการดำเนินชีวิต (Life Skill) ของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นทักษะทางอารมณ์ ทักษะในการเข้าสังคม ทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ทักษะในการเข้าใจผู้อื่น ความมุ่งมั่น และการมองโลกในแง่บวก ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ทักษะดังกล่าวค่อนข้างยากในการวัดออกมาเป็นค่าที่แน่นอน โดยทักษะที่ไม่ใช่การรู้คิด เหล่านี้มีความสำคัญต่ออาชีพการงานของแต่ละคนที่แตกต่างกัน และเป็นสิ่งจำเป็นในการประกอบอาชีพ Heckman, et.al. (2006) ได้อธิบายถึงผลกระทบของทักษะการรู้คิดและทักษะที่ไม่ใช่การรู้คิด ต่อความสำเร็จในตลาดแรงงาน โดยผลจากการศึกษาพบว่า นอกจากทักษะทางพฤติกรรมจะส่งผลความสำเร็จในการทำงาน อันส่งผลทำให้บุคลากรดังกล่าวได้รับรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น ทักษะที่ไม่ใช่การรู้คิด เองก็ยังเป็นตัวกำหนดทักษะการรู้คิด ไม่ว่าจะเป็นการเข้าเรียน ความขยันหมั่นเพียร รวมไปถึงการเลือกอาชีพ ซึ่งสอดคล้องกับงานศึกษาของ Brunello and Schlotter (2011) ที่พบว่า ทักษะที่ไม่ใช่การรู้คิดที่ดีจะส่งผลต่อความสำเร็จทางด้านการเรียน อันนำมาสู่ทักษะการรู้คิดที่สูงขึ้น

จงรักษ์ หงส์งาม (2554) ได้ศึกษาต่อยอดแนวความคิดของสมการมินเซอร์(Mincerian Equation) ที่แต่เดิมจะใช้วัดผลตอบแทนทางการศึกษา (Education Return) ในรูปแบบของรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น ผลการศึกษาพบว่าเมื่อเติมตัวแปรด้านบุคลิกลักษณะแล้ว ตัวแปรด้านบุคลิกลักษณะที่ส่งผลต่อรายได้ ได้แก่ การเชื่อในอำนาจแห่งตน และ การภาคภูมิใจในตน โดยเมื่อมีตัวแปรเหล่านี้ในสมการรายได้แล้วยังส่งผลที่ลดลงต่ออำนาจการอธิบายของตัวแปรทักษะการรู้คิด อย่างเช่นระดับการศึกษา หรืออีกในหนึ่งก็คือ ทักษะด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่การรู้คิด มีความสัมพันธ์ทางบวกต่อการหารายได้ที่สูงขึ้น อันส่งผลทำให้เกิดการบิดเบือนไปทางด้านมาก (Over-Biased) ในสมการมินเซอร์ที่ใช้แต่เพียงทักษะการรู้คิดมาคิดแต่เพียงด้านเดียว ดังนั้นระบบการศึกษาในปัจจุบันจึงควรที่จะไม่เน้นเฉพาะแต่เพียงการสร้างทักษะการรู้คิดเท่านั้น แต่ควรเน้นพัฒนาทักษะอื่นๆ ที่ไม่ใช่ทางปัญญาควบคู่กันไป 

จากการศึกษาของศิริชัย กาญจนวาสี (2543) ได้ศึกษาการวัดและการประเมินผลการเรียนรู้ของประเทศไทย ทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา พบว่าการประเมินผลการเรียนรู้ที่จัดโดยสถานศึกษามีการพัฒนาเครื่องมือ วัดพุทธพิสัย ทักษะพิสัยและจิตพิสัย โดยเครื่องมือวัดพุทธิพิสัยประกอบด้วยแบบสอบย่อย แบบสอบกลางภาคและแบบสอบปลายภาค ส่วนเครื่องมือวัดทักษะพิสัยและจิตพิสัยขึ้นอยู่กับครูผู้สอนซึ่งส่วนใหญ่ใช้การสังเกตุพฤติกรรมและนำคะแนนทั้งสองส่วนมารวมกันเพื่อตัดสินผลการเรียนโดยการอิงเกณฑ์ผลการประเมินมี 5 ระดับ โดยใช้เกณฑ์เดียวกันทั่วประเทศ และจากการศึกษายังพบว่าการประเมินผลการเรียนรู้ เน้นการประเมินผลด้านพุทธิพิสัยคิดเป็นร้อยละ 90 ในขณะ          ที่การประเมินผลด้านทักษะพิสัยและจิตพิสัยมีส่วนสำคัญไม่มากคิดเป็นร้อยละ 10 จากผลการวิจัยดังกล่าวขัดแย้งต่อความจำเป็นและความสำคัญของทักษะที่ไม่ใช่การรู้คิด (Non-Cognitive Skill)ในปัจจุบัน อีกทั้งไม่สอดคล้องและไม่ครอบคลุมการประเมินการเรียนรู้ ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2546 และไม่สามารถพัฒนาผู้เรียนเป็นรายบุคคลไว้อย่างเต็มศักยภาพ ทำให้ผู้วิจัยสนใจศึกษาสภาพการวัดผลการเรียนรู้ที่ไม่ใช่การรู้คิด (Non-Cognitive)เพื่อทราบสภาพที่แท้จริงของการวัดผลการเรียนรู้ของผู้เรียนในชั้นเรียนและหาแนวทางพัฒนาต่อไป

 2. วัตถุประสงค์การวิจัย   

เพื่อศึกษาสภาพการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ที่ไม่ใช่การรู้คิดของครูผู้สอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 25

 3. นิยามศัพท์เฉพาะ

สภาพการวัดผลการเรียนรู้ที่ไม่ใช่การรู้คิด (Non-Cognitive) หมายถึง สภาพการดำเนินการวัดและประเมินผลด้านจิตพิสัยและทักษะพิสัยของครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นเกี่ยวกับปัจจัยนำเข้า กระบวนการและผลผลิต

พฤติกรรมด้านจิตพิสัย หมายถึง เป็นพฤติกรรมด้านจิตใจ อารมณ์ และความรู้สึกของนักเรียน เช่น ความสนใจ เจตคติ ค่านิยม ความก้าวร้าว การปรับตัว รวมถึงคุณธรรมต่าง ๆ ตัวอย่งจุดประสงค์ เช่น เพื่อให้นักเรียนสนุกสนาน เพลิดเพลินในวิชาศิลปะ เพื่อให้นักเรียนมีมรรยาทในการพูดต่อหน้าสาธารณะชน เพื่อให้นักเรียนมีความสามารถในการควบคุมอารมณ์

พฤติกรรมด้านทักษะพิสัย หมายถึง เป็นความสามารถในการปฏิบัติสิ่งต่างๆ โดยใช้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆของร่างกายทำงานประสานกับประสาทสัมผัสได้อย่างคล่องแคล่ว เช่น เพื่อให้นักเรียนร้องเพลงได้ถูกตามทำนองและจังหวะ เพื่อให้นักเรียนตัดเย็บเสื้อตามแบบตัดได้ เพื่อให้นักเรียนอ่านทำนองเสนาะได้

 4.  วิธีการดำเนินการวิจัย

                4.1 ประชากรและกลุ่มตัวอย่างในการวิจัย

                       ประชากรครูผู้สอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 25 จาก จำนวน  322  คน

                    กลุ่มตัวอย่างในการวิจัย

                       ระยะที่ 1 กลุ่มตัวอย่างจำนวน 84  คน ได้จากการสุ่มแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified sampling) โดยใช้หน่วยโรงเรียนเป็นหน่วยในการแบ่งชั้นที่ 1 ได้ 84 โรงเรียน แล้วสุ่มอย่างง่าย (Sample Random Sampling) ได้กลุ่มตัวอย่างโรงเรียนละ 1 คน

ระยะที่ 2 กลุ่มตัวอย่างจำนวน 8 คน ได้จากการสุ่มแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified sampling) โดยใช้หน่วยขนาดของโรงเรียนเป็นหน่วยในการแบ่งชั้น      ได้ 4 ขนาดคือ โรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ  โรงเรียนขนาดใหญ่  โรงเรียนขนาดกลางและโรงเรียนขนาดเล็ก จากนั้นเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบโควต้า (Quota sampling) ขนาดโรงเรียนละ 2 คน แล้วสุ่มอย่างง่าย

                4.2 รูปแบบการวิจัย

                การวิจัยครั้งนี้ใช้วิธีการวิจัยเชิงสำรวจ(Survey Research) 

               4.3 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

                  1.แบบสอบถามสภาพการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ที่ไม่ใช่การรู้คิดของครูผู้สอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์

                   2. แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างสภาพการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ที่ไม่ใช่การรู้คิดของครูผู้สอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์

           4.4 การเก็บรวรวมข้อมูล

                 1. การเก็บรวบรวมข้อมูลในระยะที่1 ผู้วิจัยดำเนินการส่งแบบสอบถามทางจดหมายอิเล็คโทรนิคส์ไปยังกลุ่มตัวอย่าง  หลังจากนั้น 3 สัปดาห์ ผู้วิจัยติดตามแบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างและได้รับกลับมาจำนวน 84 ฉบับ

                 2. การเก็บรวบรวมข้อมูลในขั้นตอนนี้ ผู้วิจัยดำเนินการนัดหมายวัน เวลา  ในการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างและดำเนินการสัมภาษณ์ตามที่นัดหมายไว้ด้วยตนเอง ครบทั้ง 8  คน

 

4.5. การวิเคราะห์ข้อมูล

             วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากข้อคำถามปลายปิดที่ให้ข้อมูลเป็นตัวเลข โดย การคำนวณค่าสถิติพื้นฐาน ได้แก่ ความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์ข้อมูลจากข้อคำถามปลายเปิดนำมาทำการวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis)

 5. สรุป ผลการวิจัยและอภิปรายผล

      5.1  สรุปผลการวิจัย             

             ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) มีประสบการณ์การเรียน/ อบรมเกี่ยวกับการวัดและประเมินผลระหว่าง  มีประสบการณ์การสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและประสบการณ์การสอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ มากกว่า  16 ปี ด้านความรู้ความเข้าใจด้านการวัดและประเมินผลการเรียนรู้อยู่ในระดับดีมาก โดยเฉพาะด้านวิธีการปฏิบัติในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้เกี่ยวกับการวัดผลปลายภาคเรียนและระหว่างเรียน ด้านกระบวนการ (Process) การวัดด้านจิตพิสัยมีการใช้แบบสังเกตพฤติกรรมมากที่สุด ส่วนการวัดด้านทักษะพิสัยใช้แบบบันทึกปฏิบัติการทดลองมากโดยทำการประเมินผลในระหว่างทำการสอน และนำผลจากการวัดและประเมินด้านจิตพิสัยและด้านทักษะพิสัยไปใช้ประโยชน์ในปรับปรุงการเรียนการสอน การตัดสินผลการเรียนใช้แบบอิงกลุ่มและอิงเกณฑ์  ด้านผลผลิต (Output)  มีการสังเกตพฤติกรรมการรับรู้ของนักเรียน สังเกตพฤติกรรมการตอบสนองของนักเรียนในขณะที่ปฏิบัติการสอนในระดับดีมาก และมีการตรวจสอบการเข้าเรียนของนักเรียนในระดับดีเยี่ยม  มีการใช้ที่เป็นแบบสังเกตเพื่อสังเกตพฤติกรรมนักเรียนในระดับดีมาก  การประเมินผลโดยส่วนมากใช้วิธีการการกำหนดการประเมินผลงานของนักเรียนเป็นกลุ่มและรายบุคคลมีการจัดทำเกณฑ์การประเมิน (Rubric Assessment) ในการประเมินผล มีการปฏิบัติอยู่ในระดับดีมากเช่นกัน

                 5.2  อภิปรายผลการวิจัย

                การศึกษาสภาพการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ที่ไม่ใช่การรู้คิด กรณีศึกษาสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 25 ครั้งนี้ผู้วิจัยอภิปรายผลได้ดังนี้

               ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) พบว่าครูผู้สอนส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับปริญญาโท  มีประสบการณ์การเรียน/อบรมเกี่ยวกับการวัดและประเมินผลระหว่างที่ศึกษาระดับปริญญาตรี  มีประสบการณ์การสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและประสบการณ์การสอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ มากกว่า  16 ปี นั่นหมายความว่าด้านปัจจัยนำเข้า ครูผู้สอนส่วนใหญ่มีคุณวุฒิและมีประสบการณ์เกี่ยวกับการวัดและประเมินผลรวมทั้งมีประสบการณ์ในการจัดการเรียนการสอนและการวัดประเมินผลในชั้นเรียนเป็นอย่างดีเห็นได้จากวุฒิทางการศึกษาที่ส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับปริญญาโท เคยผ่านการอบรมด้านการวัดและประเมินผลและปฏิบัติการสอนมามากกว่า 16 ปี จึงน่าจะมีความรู้ความเข้าใจและสามารถออกแบบการวัดและประเมินผลนักเรียนในด้านจิตพิสัยและทักษะพิสัยได้เหมาะสมกับธรรมชาติของวิชาและวิธีการวัดประเมินผลที่ถูกต้อง สอดคล้องกับ รัตนาภรณ์               ปานแก้ว (2557) ที่ศึกษาพบว่าครูที่มีประสบการณ์การสอนต่างกันมีกระบวนการดําเนินการวัดและการประเมินผลและวิธีการวัดแตกต่างกันอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติที่ระดับ .05เนื่องจากครูที่มีประสบการณ์สอนน้อยกว่าไม่ค่อยให้ความสําคัญกับการเตรียมเครื่องมือในการวัดและประเมินผลหรือยังขาดความรู้ความเข้าใจในหลักการวิธีการขั้นตอนและเกณฑ์การประเมินผล ด้านความรู้ความเข้าใจด้านการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของครูผู้สอนอยู่ในระดับดีมาก โดยระดับความรู้ความเข้าใจของด้านการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของครูผู้สอนเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ด้านการวัดผลปลายภาคเรียนจุดประสงค์การสร้างข้อสอบเพื่อวัดความรู้ให้ครอบคลุมเนื้อหาวิชาและวิธีการปฏิบัติในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้เกี่ยวกับการตรวจสอบความรู้พื้นฐานของผู้เรียนก่อนสอน นั่นหมายความว่าครูผู้สอนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการและวิธีในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ที่จะต้องวัดและประเมินผลผู้เรียนก่อนเรียน ระหว่างเรียนและหลังเรียน ซึ่งจะทำให้ครูทราบถึงความรู้ความสามารถของผู้เรียนเดิม สามารถออกแบบการจัดการเรียนรู้ได้สอดคล้องกับความสามารถของผู้เรียนและส่งเสริมพัฒนาการของนักเรียนได้ตรงตามความต้องการรวมทั้งสามารถทราบความก้าวหน้าของผู้เรียนจากการประเมินระหว่างเรียนและหลังเรียน ซึ่ง ใจทิพย์  เชื้อรัตนพงษ์ (2539) ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างการสอนกับการวัดและประเมินผลการวัดและประเมินผลว่ามีความสัมพันธ์กับการสอนอย่างมากดังจะเห็นได้จากในการจัดการเรียนการสอนระดับชั้นเรียนเพื่อให้ผู้เรียนบรรลุจุดประสงค์นั้นครูผู้สอนควรมีการตรวจสอบโดยวัดและประเมินความรู้ความเข้าใจและทักษะพื้นฐานของผู้เรียนแต่ละคนก่อนที่จะสอนรายวิชาหรือหน่วยการเรียนนั้น ๆ เพื่อตรวจสอบความรู้พื้นฐานของผู้เรียน ซึ่งจะมีผลทำให้ผู้เรียนสามารถบรรลุจุดประสงค์ได้ดีขึ้นในขณะที่ดำเนินการสอน  ครูผู้สอนยังสามารถทำการวัดและประเมินผลผู้เรียนเป็นระยะๆ เพื่อจะได้ทราบความก้าวหน้าและปัญหาในการเรียนเรื่องนั้นๆ ของผู้เรียนอีกด้วย

                         ด้านกระบวนการ (Process)พบว่าการปฏิบัติด้านหลักสูตรของของครูผู้สอนเกี่ยวกับกำหนดสัดส่วนคะแนนมีจำนวนผู้ปฏิบัติมากที่สุด รองลงมาคือด้านการประเมินผู้เรียนก่อนการเรียนการสอนและการจัดการเรียนรู้ นั่นคือครูผู้สอนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวแนวปฏิบัติการวัดและประเมินผลการเรียนรูตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 ของสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา เกี่ยวกับแนวทางการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ในการประเมินผลการเรียนรู้ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่กำหนดให้สถานศึกษาต้องกำหนดสัดส่วนคะแนนระหว่างเรียนกับคะแนนปลายปี/ปลายภาคโดยให้ความสำคัญของคะแนนระหว่างเรียนมากกว่าคะแนนปลายภาครวมทั้งกำหนดเกณฑ์ในการตัดสินผลการเรียนและยัง สอดคล้องกับวิหาญ พละพร (2557)ที่กล่าวว่าการประเมินผลก่อนเรียน เป็นหน้าที่ของครูผู้สอนในแต่ละรายวิชา ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ต้องประเมินผลก่อนเรียน เป็นการตรวจสอบความรู้ ทักษะ และความพร้อมต่างๆ ของผู้เรียนที่เป็นพื้นฐานของเรื่องใหม่ๆ ที่ผู้เรียนต้องเรียนโดยใช้วิธีการที่เหมาะสม เพื่อจะได้ทราบว่าผู้เรียนมีความพร้อมและพื้นฐานที่จะเรียนทุกคนหรือไม่ แล้วนำผลการประเมินมาปรับปรุง ซ่อมเสริม หรือตระเตรียมผู้เรียนให้มีความพร้อมและพื้นฐานพอเพียงทุกคน ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จในการเรียนได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้จากผลการวิเคราะห์การปฏิบัติด้านวิธีการวัดทางด้านทักษะพิสัยและด้านจิตพิสัย มีการปฏิบัติที่ใกล้เคียงกัน โดยพบว่าด้านเครื่องมือที่ใช้วัดด้านจิตพิสัยที่มีการปฏิบัติมากที่สุดคือการใช้แบบสังเกตพฤติกรรม จากการสัมภาษณ์ครูผู้สอนพบว่าการปฏิบัติในการใช้แบบสังเกตพฤติกรรมไม่ได้ดำเนินการในระหว่างที่มีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแต่ดำเนินการหลังการจัดการเรียนการสอนเสร็จเรียบร้อยแล้วเนื่องจากไม่สามารถสังเกตพฤติกรรมเป็นรายบุคลได้ครบทุกคนเป็นเพียงการสังเกตโดยภาพรวมเท่านั้น ซึ่งบุญชม  ศรีสะอาด ( 2555) ได้เสนอแนะเกี่ยวกับการสังเกตการณ์พฤติกรรมการเรียนรู้ไว้ว่าผู้สอนจะต้องสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียน อยู่ตลอดเวลา โดยสังเกตการณ์ การทำกิจกรรมการเรียน ซึ่งถ้าผู้สอนสามารถดำเนินการสังเกตการณ์พฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนในขณะทำกิจกรรมได้จะช่วยให้ทราบผลของการเรียนการสอนในทันทีช่วยให้ผู้สอนได้แก้ไขสถานการณ์ ปรับปรุงกิจกรรม วิธีสอนได้อย่างทันการช่วยให้การสอนมีคุณภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น ส่วนด้านเครื่องมือที่ใช้วัดเครื่องมือ/หลักฐานที่ใช้ในการวัดด้านทักษะพิสัยที่ครูผู้สอนปฏิบัติมากที่สุด คือการใช้แบบบันทึกปฏิบัติการทดลอง ซึ่งจากข้อมูลการสัมภาษณ์ครูผู้สอนยังพบว่าโดยธรรมชาติของวิชาวิทยาศาสตร์เป็นวิชาที่มีการทดลองเกือบทุกคาบ การวัดประเมินผลโดยส่วนมากเป็นการประเมินทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ทั้ง 13  ทักษะ โดยใช้แบบบันทึกปฏิบัติการทดลองและแบบสังเกตพฤติกรรมเป็นหลัก ซึ่งไม่ครอบคลุมทักษะทางพฤติกรรมของผู้เรียน ดังเช่น ชนินันท์ พฤกษ์ประมูล (2557) ได้กล่าวถึงการประเมินทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ว่าเมื่อมีการประเมินทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ควรใช้การประเมินที่หลากหลายเช่น การประเมินตามสภาพจริง (Authentic assessment) การประเมินภาคปฏิบัติ (Performance assessment) ซึ่งเป็นรูปแบบการประเมินทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในระหว่างที่นักเรียนทำกิจกรรมต่างๆในชั้นเรียน เกี่ยวกับช่วงเวลาในการดำเนินการประเมินทั้งด้าน จิตพิสัยและทักษะพิสัย พบว่ามีการประเมินผลในระหว่างทำการสอนมากที่สุด ซึ่งการประเมินผลในระหว่างทำการสอนจะทำให้ผู้สอนสามารถตรวจสอบพัฒนาการของผู้เรียนว่าบรรลุจุดประสงค์การเรียนรู้ตามแผนการจัดการเรียนรู้ที่ครูได้วางแผนไว้หรือไม่ เพื่อนำสารสนเทศที่ได้จากการประเมินไปสู่การปรับปรุงแก้ไข ข้อบกพร่องของผู้เรียน และส่งเสริมผู้เรียนให้มีความรู้ ความสามารถและเกิดพัฒนาการสูงสุดตามศักยภาพ สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ข้อมูลด้านการนำผลจากการวัดและประเมินด้าน  จิตพิสัยและด้านทักษะพิสัยไปใช้ พบว่า ครูผู้สอนส่วนใหญ่นำผลการประเมินวัดและประเมินด้านจิตพิสัยและด้านทักษะพิสัยไปใช้ประโยชน์ในปรับปรุงการเรียนการสอนถึงร้อยละ 92.50 สอดคล้องกับแนวทางการประเมินเพื่อการพัฒนา (Formative Assessment) ของสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (2557) ที่กล่าวว่าการประเมินเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ (Assessment for Learning) ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอดการเรียนการสอน เป็นการที่ครูเก็บข้อมูลการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างไม่เป็นทางการด้วยขณะที่ให้ผู้เรียนทำภาระงานตามที่กำหนด ครูสังเกตซักถามจดบันทึกแล้ววิเคราะห์ข้อมูลว่าผู้เรียนเกิดการเรียนรู้หรือไม่จะต้องให้ผู้เรียนปรับปรุงอะไรหรือผู้สอนปรับปรุงอะไรเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในการเรียนรู้ตามมาตรฐาน/ตัวชี้วัด เมื่อพิจารณาผลการวิเคราะห์ข้อมูลด้านเกณฑ์การประเมินพบว่าครูผู้สอนใช้เกณฑ์ในการตัดสินผลการเรียนร่วมกันระหว่างการตัดสินผลการเรียนแบบอิงกลุ่มและอิงเกณฑ์ โดยการตัดสินผลการเรียนแบบอิงกลุ่มใช้วิธีการแปลงคะแนนดิบเป็นคะแนนมาตรฐาน และการตัดสินผลการเรียนแบบ อิงเกณฑ์ ใช้วิธีตั้งเกณฑ์ก่อนสอบแต่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งการที่ครูผู้สอนใช้เกณฑ์ในการประเมินร่วมกันทั้ง 2 แบบ อาจส่งผลในด้านดีคือ ทำให้ครูผู้สอนสามารถอธิบายการแปลความหมายของคะแนนสอบสองชนิด คือ คะแนนที่แปลความหมายในเชิงสัมพันธ์กับกลุ่มและการแปลความหมายบนพื้นฐานของเกณฑ์ ทำให้ครูรู้ว่านักเรียนมีความรู้ในเรื่องนั้นหรือไม่หรือนักเรียนสามารถทำอะไรได้บ้าง และอยู่ในระดับใดของห้องเรียน

                     ด้านผลผลิต (Output)  พบว่าครูผู้สอนส่วนใหญ่แนะนำขั้นตอนการปฏิบัติงานแก่นักเรียน ถ้าเป็นสถานการณ์ใหม่หรือนอกเหนือจากที่เคยทำซึ่งสอดคล้องกับหลักการสอนเนื้อหาใหม่ของ โรเบิร์ต กาเย่ (Robert Gange') (ทิศนา  แขมมณี, 2548) ซึ่งได้เสนอแนวคิด โดยยึดหลักการนำเสนอเนื้อหาและจัดกิจกรรมการเรียนรู้จากการมีปฏิสัมพันธ์ 9  ประการเมื่อพิจารณาด้านการปฏิบัติพบว่ามีการสังเกตพฤติกรรมการรับรู้แสดงออกทางสายตา การพยักหน้า มีการสังเกตพฤติกรรมการตอบสนองการตอบคำถาม ของนักเรียนในขณะที่ปฏิบัติการสอนและมีการตรวจสอบการเข้าเรียนของนักเรียน มาตรงเวลา มาเรียนสม่ำเสมอ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ระดับของการปฏิบัติอยู่ในระดับดีมาก ยกเว้นมีการตรวจสอบการเข้าเรียนของนักเรียน มาตรงเวลา มาเรียนสม่ำเสมอ ฯลฯ ที่อยู่ในระดับดีเยี่ยม ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ครูผู้สอนที่พบว่าก่อนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนทุกครั้ง ทุกคาบครูผู้สอนจะเรียกชื่อนักเรียนเพื่อตรวจสอบการเข้าเรียนของนักเรียน รวมทั้งเป็นการประเมินความพร้อมของนักเรียนก่อนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ซึ่งครูผู้สอนถือเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินด้านจิตพิสัยของนักเรียน ในด้านเครื่องมือที่ใช้วัดพบว่าครูผู้สอนใช้เครื่องมือวัดคือแบบสังเกต เพื่อสังเกตพฤติกรรมนักเรียนแบบสอบถาม เพื่อสอบถามนักเรียนและแบบประเมินตนเองให้นักเรียนประเมินตนเองมีระดับการปฏิบัติอยู่ในระดับดีมาก โดยข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์พบว่าครูผู้สอนจะให้แบบสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนเป็นเครื่องมือหลักในการประเมินผลด้านจิตพิสัยและด้านทักษะพิสัย แต่โดยหลักการประเมินด้านด้านจิตพิสัยและด้านทักษะพิสัยควรใช้เครื่องมือการประเมินที่หลากหลาย ซึ่งสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (2557)ได้เสนอแนะเกี่ยวกับเครื่องมือในการวัดและประเมินผลด้าน จิตพิสัยและด้านทักษะพิสัย ว่าเครื่องมือวัดพฤติกรรมด้านจิตพิสัยและด้านทักษะพิสัย มีหลายประเภทได้แก่ แบบสังเกต แบบตรวจสอบรายการ มาตราส่วนประมาณค่า แบบประเมินตนเอง การทดสอบภาคปฏิบัติ แฟ้มสะสมงาน และการประเมินตามสภาพจริง ซึ่งแต่ละประเภทต่างมีความเหมาะสมกับงานแตกต่างกัน การจะเลือกใช้เครื่องมือประเภทใดนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะของงานและวัตถุประสงค์ในครั้งนั้นๆ  ในส่วนของการประเมินผลและเกณฑ์การประเมิน พบว่าครูผู้สอนส่วนใหญ่ใช้วิธีการกำหนดการประเมินผลงานของนักเรียนเป็นกลุ่มและรายบุคคลมีการจัดทำเกณฑ์การประเมิน (Rubric Assessment) ในการประเมินผล โดยมีระดับการปฏิบัติอยู่ในระดับดีมากสอดคล้องกับสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (2557) ที่กล่าวว่าเกณฑ์การประเมินนอกจากจะใช้เพื่อประเมินชิ้นงาน/ภาระงานแล้วยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสอนได้อย่างดีโดยให้ผู้เรียนได้รับทราบว่าผู้สอนคาดหวังอะไรบ้างจากชิ้นงานที่มอบหมายหรือให้ผู้เรียนร่วมในการสร้างเกณฑ์ก็จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมและรับผิดชอบ  ผู้สอนที่ใช้เกณฑ์การประเมินเป็นประจำจะพูดตรงกันว่าเกณฑ์การประเมินให้ภาพที่ชัดเจนดีกว่าคำสั่งและหากมีตัวอย่างชิ้นงานประกอบให้ผู้เรียนได้ช่วยกันพิจารณาอภิปรายโดยใช้เกณฑ์ที่ร่วมกันสร้างขึ้นก็จะยิ่งทำให้ผู้เรียนสามารถแยกแยะได้ว่าชิ้นงานที่ดีมีคุณภาพเป็นอย่างไร

 6. ข้อเสนอแนะ

    การวิจัยครั้งต่อไป ควรมีการศึกษาตัวแปรที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินการวัดและประเมินผลในชั้นเรียนเกี่ยวกับด้านที่ไม่ใช่การรู้คิด

 7. เอกสารอ้างอิง

ใจทิพย์  เชื่อรัตนพงษ์ (2539). การพัฒนาหลักสูตร :  หลักการและแนวปฏิบัติ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อลีน เพรส, กรุงเทพฯ.

ชนินันท์ พฤกษ์ประมูล (2557). การประเมินทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ = Assessingscience process skills. วารสารสุทธิปริทัศน์. ปีที่ 28, ฉบับที่ 86 (เม.ย.-มิ.ย. 2557). 

ทิศนา  แขมมณี. 2548. รูปแบบการเรียนการสอน : ทางเลือกที่หลากหลาย. ด่านสุทธาการพิมพ์. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ.

พิริยะ ผลพิรุฬห์. (2546). เศรษฐกิจสร้างสรรค์กับการพัฒนาประเทศไทย. วารสารเศรษฐศาสตร์ปริทรรศน์ สถาบันพัฒนศาสตร์ปีที่ 7 ฉบับที่ 1 มกราคม 2556.

รัตนาภรณ์ ปานแก้ว. ( 2557). สภาพการวัดและการประเมินผลตามสภาพจริงในสถานศึกษาสังกัดอาชีวศึกษาเอกชนในจังหวัดสงขลา.วารสารหาดใหญ่วิชาการ 12(2) ก.ค. - ธ.ค. 2557.

วิหาญ  พละพร. (2557). รูปแบบการพัฒนาสมรรถนะด้านการวัดและประเมินการคิด สา หรับครูระดับประถมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิจัยและประเมินผลการศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี.

ศิริชัย กาญจนวาสี. (2543). การประเมินการเรียนรู้: ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ.

สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา. (2557). แนวปฏิบัติการวัดและประเมินผลการเรียนรูตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. พิมพ์ครั้งที่ 7.กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณการเกษตรแหงประเทศไทย จํากัด.

Brunello and Schlotter. (2011). Non Cognitive Skills and Personality Traits: Labour

Heckman, et.al. (2006). The Effects of Cognitive and Noncognitive Abilities on Labor

คำสำคัญ (Tags): #cognitive skill#non-cognitive skill
หมายเลขบันทึก: 638724เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2017 19:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 ตุลาคม 2017 19:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท