ชีวิตที่พอเพียง : 3010b โรงงานผลิตปัญญา : 12. สภาพของวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกากลางศตวรรษที่ ๑๙


ในปี 1850 เงินเดือนเฉลี่ยของคนอเมริกัน ปีละ $1,269 (๗.๕ เท่าของค่าจ้างคนงานไร้ฝีมือ) แต่เงินเดือนอาจารย์วิทยาลัยเริ่มที่ $3,000 บวกค่าเช่าบ้านและค่าไม้ฟืนอีกปีละ $500 คำนวณแล้วสมัยนั้น อาจารย์ขั้นต้นมีรายได้ประมาณ ๒๒ เท่าของคนงานไร้ฝีมือ แต่อาจารย์สมัยนั้นบอกว่า เงินเดือนไม่พอค่าใช้จ่าย

ชีวิตที่พอเพียง  : 3010b โรงงานผลิตปัญญา :  12. สภาพของวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกากลางศตวรรษที่ ๑๙

บันทึกชุด โรงงานผลิตปัญญา ตีความจากหนังสือ Wisdom’s Workshop :  The Rise of the Modern University    สำหรับตอนที่สิบสองนี้ ตีความจากบทที่ 4 A Land of Colleges    ในส่วนที่กล่าวถึงเป้าหมาย และบรรยากาศในวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ช่วงกลางคริสตศตวรรษที่ ๑๙

ในช่วงนั้นเป็นยุคก่อร่างสร้างตัวของวิทยาลัย หานักศึกษายาก     ดังนั้นวิทยาลัยส่วนใหญ่จึงรับ นักศึกษาทั้งสองเพศ  เพื่อเพิ่มจำนวนนักศึกษาเป็นสองเท่า     และการเข้ามหาวิทยาลัยก็ยืดหยุ่นมาก    นักศึกษาบางคนอาจเข้ามหาวิทยาลัยที่ชั้น (หากเทียบกับปัจจุบัน) ปี ๓    

จำนวนนักศึกษาเฉลี่ยต่อวิทยาลัย ในปี 1840 คือ ๙๓ คน,  ปี 1850 คือ ๑๑๖ คน   และปี 1860 คือ ๑๒๐ คน

เพื่อให้มีเงินดำเนินการวิทยาลัย จึงมีการรณรงค์ขอรับบริจาคเงินให้แก่วิทยาลัย  ขอรับบริจาคหนังสือ ให้แก่ห้องสมุด     แต่ที่มียุทธวิธี ก้าวหน้า คือวิธีขอให้บริจาคเพื่อกิจการระยะยาว  แต่ค่อยๆ จ่ายทีละน้อยหลายๆ ครั้ง  เช่นปีละครั้ง รวม ๑๐ ปี  เป็น endowment fund    ดังมีชื่อ endowed professor ที่มีชื่อเสียงในสาขาที่ ต้องการส่งเสริม    ใครได้เป็นศาสตราจารย์ที่มีชื่อผู้บริจาคขึ้นต้นก็ถือเป็นเกียรติสูง     เช่น Carl H. Pforzheimer. Jr. Professor of Teaching and Learning    ผู้บริจาคระยะยาวเช่นนี้มีสิทธิส่งคนเข้าเรียนได้ ๑ คน ในช่วงที่บริจาคเงิน  

ตัวอย่างเช่น Davidson College ในรัฐ North Carolina รณรงค์ขอให้บริจาคคนละ ๑๐๐ ดอลล่าร์ เป็นทุนเล่าเรียน    ต้องการทั้งหมด ๑,๐๐๐ ทุน    ผู้บริจาค ๑๐๐ ดอลล่าร์สามารถส่งลูกหรือคนอื่นเข้าเรียน ได้ ๑ คน ในช่วง ๒๐ ปี    หากบริจาค ๕๐๐ ดอลล่าร์ สามารถส่งเข้าเรียนได้ครั้งละ ๑ คน เมื่อไรก็ได้ ตลอดไปในอนาคต 

หากผู้บริจาคหวังผลประโยชน์ตามโฆษณา วิทยาลัยก็อยู่ไม่ได้    เพราะค่าของเงินตกลงเรื่อยๆ    ดังนั้นจริงๆ แล้ว ผู้บริจาคมักบริจาคโดยไม่ถอนทุน

มีการก่อตั้งสมาคมศิษย์เก่า เพื่อช่วยกันส่งเสริมวิทยาลัย รวมทั้งบริจาคเงินสนับสนุน    พัฒนาเป็นวัฒนธรรมที่เข้มแข็งมาจนถึงปัจจุบัน    

เพื่อให้วิทยาลัยอยู่ได้ ทางรัฐจึงออกกฎหมายยกเว้นภาษีให้แก่มหาวิทยาลัย    และยกเว้นการเกณฑ์ทหาร ให้แก่อาจารย์ของวิทยาลัย    

แต่แหล่งสนับสนุนทั้งทุนทรัพย์และการสนับสนุนอื่นที่สำคัญ ต่อวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ช่วงก่อนสงครามกลางเมืองคือ วงการศาสนา    เพราะช่วงนั้นสถาบันศาสนารุ่งเรืองและขยายตัวมาก    ในช่วงนั้นวิทยาลัยเกิดและตายบ่อยมาก    วิทยาลัยที่เกิดแล้วตายยากคือวิทยาลัยที่สนับสนุนโดยวงการศาสนา  

การระดมทุนมีเป้าหมายหลายอย่าง ได้แก่ สร้างอาคาร เพื่อการเรียน  เพื่อพิธีทางศาสนา  เพื่อเป็นที่พักของนักศึกษาและอาจารย์  เพื่อเป็นห้องอาหาร  เพื่อเป็นห้องสมุด  เพื่อซื้อหนังสือ และเครื่องมือวิทยาศาสตร์         

มีการสร้างอาคารที่มีรูปทรงสถาปัตยกรรมโอ่อ่าเพื่อดึงดูดนักศึกษา     อ่านถึงตรงนี้ผมนึกถึง มหาวิทยาลัยไทย   

ในเรื่องหอพักนักศึกษา มีความคิดแตกออกเป็นสองฝ่าย    คือฝ่ายเห็นคุณค่า  กับอีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า หอพักนักศึกษาเป็นแหล่งบ่มเพาะความชั่วทั้งปวง     

ในปี 1850  เงินเดือนเฉลี่ยของคนอเมริกัน ปีละ $1,269 (๗.๕ เท่าของค่าจ้างคนงานไร้ฝีมือ)     แต่เงินเดือนอาจารย์วิทยาลัยเริ่มที่ $3,000 บวกค่าเช่าบ้านและค่าไม้ฟืนอีกปีละ $500   คำนวณแล้วสมัยนั้น อาจารย์ขั้นต้นมีรายได้ประมาณ ๒๒ เท่าของคนงานไร้ฝีมือ    แต่อาจารย์สมัยนั้นบอกว่า เงินเดือนไม่พอค่าใช้จ่าย 

วิจารณ์ พานิช

๙ ก.ค. ๖๐ และ ๒๔ ก.ย. ๖๐

 

หมายเลขบันทึก: 637697เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2017 06:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กันยายน 2017 06:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท