ธนาคารสมองกับโรงเรียนชาวนา


ธนาคารสมองกับโรงเรียนชาวนา

          ได้เล่าแล้ว (click) ว่า ศ. ดร. สิปปนนท์  เกตุทัต   ประธานคณะกรรมการอำนวยการธนาคารสมอง   สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและคณะ   ได้ไปเยี่ยมชมโรงเรียนชาวนาสุพรรณบุรีของ มขข.   เมื่อวันที่ 15 ก.ย.48   บัดนี้ ธนาคารสมองได้กรุณาส่งรายงานสรุปการไปเยี่ยมชมดังกล่าว   โดยมีบทสรุปและข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

บทสรุป

         จากกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกันของนักเรียนชาวนาดังกล่าว   สามารถสะท้อนให้เห็นว่าความแตกต่างด้านพื้นฐานความรู้  สภาพแวดล้อม 

และวัฒนธรรมของนักเรียนชาวนามิได้เป็นอุปสรรคต่อการจัดการความรู้ของโรงเรียนชาวนาแต่อย่างใด   การนำความรู้ที่ฝังลึก (Tacit Knowledge) และความรู้ที่แจ้งชัด (Explicit Knowledge) ผนวกกับนวัตกรรมใหม่ ๆ ภายใต้กระบวนการจัดการความรู้   ทำให้นักเรียนชาวนาสามารถนำองค์ความรู้ที่มีอยู่มาจัดการอย่างเป็นขั้นตอนและปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของตนเองได้อย่างเหมาะสม   โดยมีนักเรียนชาวนาเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และมีสถานะเป็นทั้งครูและนักเรียนตามแต่โอกาสและเวลา   จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของชาวนาได้หันมาปรับเปลี่ยนทัศนคติการทำนาตามกระแสหลักมาสู่การพึ่งพาตนเองบนพื้นฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง   นอกจากนี้  นักเรียนชาวนายังผนึกกำลังร่วมถักทอโรงเรียนแห่งนี้ให้เป็นสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้   เพื่อให้ชาวนาได้คิดเป็น  ทำเป็น  เรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง   ควบคู่กับการรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นให้สังคมมีคุณภาพ   สมานฉันท์และเอื้ออาทรต่อกัน   รวมทั้งสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น   ผลพลอยได้คือ  ชาวนาเข้าใจถึงพิษภัยจากเคมี   หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพตนเอง  สังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัวในชุมชน   ได้เกิดกัลยาณมิตรกลุ่มแล้วกลุ่มเล่าในหมู่ชาวนานำมาซึ่งความเข้มแข็งของชุมชน   และความมั่นคงทั้งวิถีชีวิต  สังคม  สุขภาพและสิ่งแวดล้อม  อันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

ข้อเสนอแนะ

     1. การเพิ่มศักยภาพทุนทางสังคม   ซึ่งเป็นวิถีสำคัญในการพัฒนาสังคมต้อง Identify "ผู้นำตามธรรมชาติ"  เช่นในกรณีของโรงเรียนชาวนา นักเรียนทุกคนเป็นผู้นำธรรมชาติได้   หากได้รับการกระตุ้นให้แสดงศักยภาพออกมา
     2. ควรสนับสนุน "ผู้นำธรรมชาติ" ผ่านมูลนิธิ/องค์กรสาธารณะประโยชน์ที่ดี,  สคส.,  สกว. ฯลฯ  และ สศช. ทำหน้าที่ติดตามและประเมินผล
     3. สนับสนุนให้เกษตรกรทำการเกษตรแบบไร้สารเคมี   ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ   ทั้งทำนา ทำไร่  ทำสวน  เพื่อลดการนำเข้าสารเคมี  สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ
     4. ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงาน  ชุมชน  นำกระบวนการจัดการความรู้ไปใช้ในเรื่องต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย   กรณีโรงเรียนชาวนาถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้   ก่อให้เกิดผลดีต่าง ๆ มากมายในสังคม   หากนำแนวทางตัวอย่างดังกล่าวไปประยุกต์ใช้กับภูมิปัญญาท้องถิ่นในด้านอื่น ๆ โดยอาศัยกระบวนการจัดการความรู้   ก็จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ
     5. ควรให้มีการถอดบทเรียนจากเนื้อหาในแต่ละหลักสูตรของโรงเรียนชาวนา  เช่น  การจัดการแมลง   การปรับปรุงบำรุงดิน   การทำปุ๋ยชีวภาพโดยวิธีต่าง ๆ รวมทั้งการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเพื่อเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับผู้ที่สนใจได้นำไปปฏิบัติตามแนวทางเกษตรยั่งยืนต่อไป

          ขอขอบพระคุณ ศ. ดร. สิปปนนท์  เกตุทัต เป็นอย่างสูงในความเมตตาของท่าน   โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อเสนอแนะข้อ 4

วิจารณ์  พานิช
 4 พ.ย.48

หมายเลขบันทึก: 6375เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2005 10:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2012 23:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท