ถอดบทเรียนชีวิตจากประสบการณ์อันล้ำค่า “The Munich Advanced Course in International Law”


ถอดบทเรียนชีวิตจากประสบการณ์อันล้ำค่า “การอบรมกฎหมายระหว่างประเทศชั้นสูงแห่งมิวนิก มหาวิทยาลัย Ludwig-Maximilians University Munich (The Munich Advanced Course in International Law)” ณ เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี ของผู้เขียน ตลอดระยะเวลา ๑ เดือนครึ่ง ระหว่างวันที่ ๓๑ กรกฎาคม – ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐ (coursework ระหว่างวันที่ ๓๑ กรกฎาคม - ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๐)


โดย นายธนภัทร ชาตินักรบ
เขียนเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐ เวลา ๒๒.๔๕ น.


https://www.facebook.com/notes/thanapat-chatinakrob/ถอดบทเรียนชีวิตจากประสบการณ์อันล้ำค่า-the-munich-advanced-course-in-internationa/2082420775116727/

http://www.gotoknow.org/posts/637426


----------------------------------------------------------------------

--------------------------------------

๑. เกริ่นนำ (การเข้าร่วมและการอบรมฯ)


--------------------------------------


เมื่อช่วงประมาณปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับเลือกให้เข้าอบรมกฎหมายระหว่างประเทศชั้นสูงแห่งมิวนิก มหาวิทยาลัย Ludwig-Maximilians University Munich (Munich Advanced Course in International Law) เป็นระยะเวลาประมาณ ๑ เดือนครึ่ง ซึ่งเข้าใจว่าเป็นผู้เข้าร่วมคนแรกจากประเทศไทยของหลักสูตร ต้องเกริ่นให้ฟังว่า โครงการอบรมฯ นี้ ผู้เขียนเกือบจะไม่ได้เข้า เนื่องจากขณะนั้น ติดเข้าร่วมอีกโครงการหนึ่งของมหาวิทยาลัย LSE แต่ด้วยเหตุผลทางการเงิน จึงได้ปฏิเสธไปครับ


โครงการอบรมฯ ดังกล่าว จัดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๖ โดยสถาบันกฎหมายระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัย Ludwig-Maximilians University Munich (LMU) ณ เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี ซึ่งโครงการอบรมฯ นี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอบรมภาคฤดูร้อนของมหาวิทยาลัย LMU ซึ่งมีหลายโครงการมากครับ
(รายละเอียดโครงการ โปรดดู http://www.macil-misu.de/en/)


ลักษณะของการอบรมฯ จะดำเนินการสอนโดยปรมาจารย์ด้านกฎหมายระหว่างประเทศต่าง ๆ ทั้งภาควิชาการ ภาคปฏิบัติ ซึ่งมีประสบการณ์ความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งในปีนี้ มีปรมาจารย์ด้านกฎหมายระหว่างประเทศที่ผู้เขียนสนใจหลายท่าน อาทิ Prof. Bruno Simma อดีตผู้พิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรืออย่าง Prof. Malgosia Fitzmaurice ปรมาจารย์กฎหมายระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัย Queen Mary อีกทั้ง ในการอบรมฯ จะมีผู้เข้าเรียน ประมาณ ๒๐ คน มาจากประเทศต่างๆ ประเทศละ ๑ คน โดยเน้นให้ผู้เรียนสามารถแสดงความคิดเห็นเป็นสำคัญ (ปีที่ผ่านมา จากอาเซียน มีไทยและฟิลิปปินส์เข้าไปเรียนได้อย่างละ ๑ คนครับ)


Credit: https://www.facebook.com/MACIL-Munich-Advanced-Course-in-International-Law-222661867834008/ 

บรรยากาศในห้องอบรมฯ


ประเภทของผู้เข้าเรียน โครงการอบรมฯ ดังกล่าว จะเปิดให้ผู้ที่มีประสบการณ์ทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าหน้าที่ภาครัฐ อาจารย์สอนกฎหมายระหว่างประเทศในมหาวิทยาลัย รวมถึงนักศึกษาในมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเชิงลึกในต่างๆ เกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศ ในปีที่ผ่านมา ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นนักศึกษาปริญญาเอกจากประเทศต่าง ๆ ในยุโรปเป็นหลัก นอกจากนั้นเป็น ผู้พิพากษา ที่ปรึกษารัฐบาล NGOs เจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศ และนักวิจัย


***ทั้งนี้ มีข่าวดีสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็น partner กับมหาวิทยาลัย LMU นักศึกษาจึงสามารถขอทุนการศึกษาค่าเรียนฟรีได้เต็มจำนวน*** (รายละเอียด โปรดดู http://www.macil-misu.de/en/content/MACIL_Scholarships)


เนื้อหาของการเรียนการสอน ประกอบด้วยการสัมมนาในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายระหว่างประเทศที่สำคัญ ๆ ซึ่งเป็นการเรียนแบบบูรณาการ โดยจะมีหัวข้อหลักเป็นธีม ๑ หัวข้อ และจะนำหัวข้อนั้น ๆ ไปบูรณาการกับสาขาวิชาอื่น ตัวอย่างเช่น ปีที่ผ่านมา หัวข้อหลัก คือ สิทธิมนุษยชน ในวิชาแต่ละวิชา จะนำประเด็นสิทธิมนุษยชนเข้าไปบูรณาการ ตั้งแต่ อำนาจรัฐ กฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ กฎหมายผู้ลี้ภัย กฎหมายสนธิสัญญา กฎหมายอาญาระหว่างประเทศ กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ หลักทฤษฎีในทางกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ และกฎหมายการลงทุนระหว่างประเทศ ผู้เรียนจะได้เห็นภาพทั้งเชิงกว้างและเชิงลึกว่าบทบาทของสิทธิมนุษยชนมีความเกี่ยวข้องกับประเด็นกฎหมายระหว่างประเทศด้านต่าง ๆ อย่างไร เช่น ผู้เขียนเพิ่งรู้ว่า ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปสามารถตีความอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (European Convention on Human Rights) เพื่อปกป้องสิทธิสิ่งแวดล้อมของปัจเจกชนได้ เป็นต้น


--------------------------------------


๒. การสมัครเข้าหลักสูตรและการเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มเรียน

--------------------------------------


โครงการฯ นี้จะรับสมัครตั้งแต่ช่วงประมาณต้นปีของแต่ละปี โดยแบ่งออกเป็น ๒ ช่วง คือ รอบแรก ปิดรับสมัครช่วงต้นเมษายน และรอบสองปิดรับสมัครช่วงต้นเดือนพฤษภาคม


ผู้ที่มีสิทธิสมัคร ไม่จำกัด จะเป็นใครก็ได้ แต่โดยเฉลี่ย ผู้เข้าเรียนจะอยู่ในช่วงอายุ ๒๑ ถึง ๓๕ ปี โดยผู้สมัครจะต้องเตรียม cv, personal statement และ transcript สำหรับสมัคร ในส่วนของทุนยกเว้นค่าเรียน ผู้สมัครจะต้องเตรียมชื่อของอาจารย์ที่จะนำมาเป็น reference ด้วยครับ
อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า หลักสูตรนี้ มีผู้เข้าอบรมจำนวนประมาณ ๒๐ คน ซึ่งปีผมเข้าร่วมประกอบด้วยผู้สมัครจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพียงประเทศละ ๑ คน (หรือเต็มที่ไม่เกิน ๒ คนเท่านั้น รู้สึกว่ามีแค่ประเทศจีนที่มีผู้เข้าร่วม ๒ คนครับ) แต่การรับสมัครไม่ได้ยากมากขนาดนั้น ขอแค่สมัครให้เร็วที่สุดเป็นพอครับ


เมื่อจบหลักสูตร ผู้ที่สมัครจะได้รับประกาศนียบัตรเข้าอบรมจากมหาวิทยาลัย LMU เป็นหลักฐานว่าได้เข้าร่วมอบรมหลักสูตรดังกล่าว ซึ่งในบางมหาวิทยาลัยสามารถนำไปเป็นหน่วยกิตได้ ๔ หน่วยกิต ทั้งนี้ เมื่อจบหลักสูตร ผู้สมัครสามารถเลือกได้ว่าจะทำ essay จำนวนประมาณ ๑๐,๐๐๐ คำกับอาจารย์ท่านใดก็ได้ในหลักสูตรคนหนึ่ง เพื่อจบด้วยได้ ซึ่งจะมีค่าเท่ากับ ๖ หน่วยกิตแทน อีกทั้งยังได้รับคำแนะนำสำหรับการเขียนจากอาจารย์ในหลักสูตรท่านนั้นอีกด้วย

(สำหรับรายละเอียดการสมัครโปรดดู http://www.macil-misu.de/en/content/MACIL_Registration)

ในส่วนของค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร ไม่ว่าจะเป็นเอกสารประกอบการเรียน หนังสือ อาหาร ที่พัก และตั๋วโดยสารเครื่องบิน ผู้เข้าเรียนจะต้องรับผิดชอบทั้งหมดตลอดหลักสูตรด้วยตนเอง แต่ค่าเรียน อย่างที่บอกไป หากเป็นนักศึกษาสามารถขอทุนเพื่อยกเว้นค่าเรียนได้
(สำหรับรายละเอียดทุนและมหาวิทยาลัยในเครือที่ขอยกเว้นค่าเรียนได้ โปรดดู (http://www.macil-misu.de/en/content/MACIL_Home)

ในส่วนของการเตรียมเนื้อหาของการเรียนการสอน เนื่องด้วยเนื้อหาในปีนี้ อิงอยู่กับประเด็นสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก ก่อนเรียน ทางหลักสูตรจะส่ง reading materials และเอกสารจำนวนมหาศาลมาให้ทางอีเมล์ ซึ่งแนะนำว่า “ต้อง” อ่านให้หมด เนื่องจากในห้องเรียน อาจารย์จะลุยทันที โดยถามถึงเนื้อหาหน้าโน้นนี้ขึ้นมากลางอากาศ โดยไม่อธิบายอะไรเพิ่มเติม และนักศึกษาในห้องก็จะยกมือแย่งกันตอบทันที (แบบรุนแรงมาก) นอกจากนั้น ในแต่ละคาบเรียน จะมีงานให้ทำซึ่งแตกต่างกันไปแต่ละอาจารย์ผู้สอน พร้อมทั้งมีการบ้านในแต่ละวัน ให้เตรียมตัวและส่งวันรุ่งขึ้นด้วย


--------------------------------------


๓. ระบบการเรียนการสอน


--------------------------------------


การเรียนการสอนแบ่งออกเป็นทั้งหมด ๒ สัปดาห์ โดยเริ่มเรียน เวลาประมาณ ๙.๐๐ - ๑๗.๐๐ น. เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด โดยผลัดเปลี่ยนรายวิชาทุก ๆ ๒ วันโดยประมาณ โดยในปีนี้ (ค.ศ. ๒๐๑๗) มีวิชาเรียนทั้งหมด ๑๐ วิชา (รายละเอียดตารางวิชาของปีที่ผ่านมา โปรดดู http://www.macil-misu.de/res/data/File/17_MACIL_Schedule.pdf) ในส่วนของอาจารย์ผู้สอน ประกอบด้วยปรมาจารย์กฎหมายระหว่างประเทศที่หลากหลาย จำนวนมาก เช่น ศาสตราจารย์ Bruno Simma (อดีตผู้พิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ) ศาสตราจารย์ Malgosia Fitzmaurice (มหาวิทยาลัย Queen Mary) ศาสตราจารย์ Christian Walter (มหาวิทยาลัย LMU) ศาสตราจารย์ Markus Krajewski (มหาวิทยาลัย Erlangen-Nurnberg) ศาสตราจารย์ Daniel Moeckli (มหาวิทยาลัย Zurich) ศาสตราจารย์ Robert Cryer (มหาวิทยาลัย Birmingham) และศาสตราจารย์ Samantha Besson (มหาวิทยาลัย Fribourg). (ทั้งนี้ รายชื่ออาจารย์ท่านอื่น ๆ ในปีที่ผ่านมา โปรดดูแผ่นพับหลักสูตร http://www.macil-misu.de/res/data/File/17_MISU_MACIL.pdf)


ศาสตราจารย์ Bruno Simma



ศาสตราจารย์ Malgosia Fitzmaurice


สำหรับวิธีการเรียนการสอน อย่างที่เกริ่นไว้แล้ว เป็นระบบการสัมมนาเกือบ ๑๐๐ เปอร์เซนต์ ผู้เข้าร่วมจะมีการโต้ตอบกับอาจารย์ผู้บรรยายอยู่ตลอดเวลา บางรายวิชา มีการสมมติสถานการณ์และจำลองคดีในศาลหรืออนุญาโตตุลาการต่าง ๆ เป็นกลุ่ม ๆ อาจารย์บางท่านเดินสุ่มไปแตะหลังนักศึกษาแบบลุ้นๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับวิธีการของผู้สอนแล้วแต่บุคคล



การจำลองสถานการณ์ในอนุญาโตตุลาการฯ


การที่อาจารย์ผู้สอนเดินไปทั่วห้องและสุ่มถามได้ทุกคน ทุกเมื่อครับ 


--------------------------------------


๔. การใช้ชีวิตนอกห้องเรียน


--------------------------------------


ข้อดีมาก ๆ อย่างหนึ่งของหลักสูตรนี้ คือ มีกิจกรรมนอกห้องเรียนเยอะมาก และทุกวัน ไม่เว้นแม้วันเสาร์หรืออาทิตย์ก็ตาม โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ

  • ห้องเรียนริมทะเลสาบ ณ เมือง Schliersee ซึ่งแม้จะเป็น Youth Hostel แต่ทั้งห้องเรียน และบรรยากาศดีมากครับ

ทะเลสาบใกล้ ๆ ที่พัก (แต่ผู้เขียนได้แค่นั่งรถผ่าน ไม่ได้เดินทางไป เนื่องจาก อ. Bruno Simma ณ ตอนนั้น ชวนรับประทานอาหารเย็นครับ)


บรรยากาศนอกห้องพัก (เปิดหน้าต่างมา แล้วเป็นวิวนี้เลยครับ)

บรรยากาศในห้องเรียนช่วง ๒ ถึง ๓ วันแรกครับ


<ul><li>ทริปศึกษาเรียนรู้ ณ เมือง Salzburg ประเทศออสเตรีย (ผู้เขียนเรียกว่า International Law and Music)</li></ul><p>บ้าน Mozart ครับ</p><p>
</p><ul><li>เมือง Nuremburg และอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ (คนที่เรียนกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ น่าจะสนใจเป็นพิเศษครับ)</li></ul><p></p><p>ห้องพิจารณาภายในศาลพิพากษาอาชญากรสงคราม Nuremberg ซึ่งได้รับทราบจากเจ้าหน้าที่ว่า ห้องพิจารณาคดีดังกล่าวยังใช้อยู่ถึงปัจจุบันนี้ครับ
</p><p>
</p><ul><li>การเข้าเยี่ยมชมศาลของเยอรมนี ถ้าจำไม่ผิด น่าจะเป็นหนึ่งใน higher regional court ของเยอรมนีครับ </li></ul><p></p><p>
</p><ul><li>พาเที่ยวปราสาท Neuschwanstein (อันนี้ ไม่มีรูปครับ เนื่องจากผู้เขียนไม่สบายในวันนั้นพอดี จึงไม่ได้ไป ต้องจำใจไม่ไป เนื่องจาก ถ้าป่วยหนักขึ้นมา จะทำให้เวลาที่เหลือในโปรแกรมมีปัญหาครับ) </li></ul><p>
</p><p>นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอีกเยอะมาก ซึ่งไม่ได้กล่าวถึง ไม่ว่าจะเป็น งานเลี้ยงต้อนรับนักศึกษา งานเลี้ยงอำลา พาชมเมือง และอื่น ๆ อีกมากมาย</p><p>
</p><p>————————————– </p><p>
</p><p>๕. บทส่งท้าย </p><p></p><p></p><p>————————————– </p><p>โครงการอบรมกฎหมายระหว่างประเทศชั้นสูงแห่งมิวนิก มหาวิทยาลัย LMU เปิดโลกทัศน์มากสำหรับผู้เขียนในการพัฒนาความรู้ความเข้าใจเชิงลึกด้านกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นความรู้แบบบูรณาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำศาสตร์ความรู้แขนงหนึ่งของกฎหมายระหว่างประเทศไปบูรณาการร่วมกับสาขาอื่น ๆ และเช่นเดียวกัน เนื่องจากหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรที่จำกัดจำนวนนักศึกษาเข้าร่วม ทำให้นักศึกษาแต่ละคนสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับอาจารย์ตัวต่อตัว ซึ่งเป็นประโยชน์ในการต่อยอดวิชาชีพในด้านกฎหมายระหว่างประเทศค่อนข้างสูง และแม้แต่ผู้เขียนเอง ได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ท่านหนึ่งในหลักสูตร คือ ศาสตราจารย์ Malgosia Fitzmaurice ในการต่อยอดความรู้ความเข้าใจกฎหมายระหว่างประเทศเพิ่มเติม โดยปัจจุบัน ผู้เขียนกำลังศึกษาอยู่ในหลักสูตรกฎหมายระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัย Queen Mary University of London ณ สหราชอาณาจักร และเตรียมตัวที่จะศึกษาในระดับปริญญาเอกต่อไปในอนาคตข้างหน้าอันใกล้ </p><p>ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนต้องขอขอบคุณผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนที่ทำให้ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าเรียนในหลักสูตรนี้ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว คณาจารย์ทุกท่านที่เคยเรียนมาทั้งในระดับปริญญาตรี และปริญญาโท ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท้ายที่สุดนี้ การเรียนลักษณะนี้ทำให้ผู้เขียนรู้ว่า ยิ่งเรียนมาก ยิ่งพบว่ามีเรื่องที่ไม่รู้มาก ยิ่งต้องศึกษา ยิ่งต้องค้นคว้า เพื่อให้ตัวเองรู้และเข้าใจ สามารถใช้ประโยชน์ต่อไปในวิชาชีพในอนาคตได้ </p><p>ทั้งนี้ หากใครยังมีข้อสงสัยประการใด สามารถสอบถามได้นะครับ ยินดีที่จะแบ่งปันประสบการณ์เพราะไม่สามารถเขียนทุกอย่าง ทุกแง่มุมลงในบันทึกฉบับนี้ได้ (อีกสองหลักสูตรหนึ่งที่น่าสนใจ คือ หลักสูตรประกาศนียบัตรกฎหมายระหว่างประเทศ ณ The Hague Academy of International Law กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ โปรดดู http://www.gotoknow.org/posts/574740และ หลักสูตรการอบรมสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ ประจำภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก United Nations Regional Course in International Law โปรดดู http://www.gotoknow.org/posts/619625)</p><p>
</p>

หมายเลขบันทึก: 637426เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2017 05:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กันยายน 2017 05:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท