ปัญหาบรรทัดฐานของสังคมสารสนเทศในปัจจุบัน


ปัญหาบรรทัดฐานของสังคมสารสนเทศในปัจจุบัน

เขียนโดย ดร.เมธา หริมเทพาธิป


          ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของบรรทัดฐานก็คือ “เป็นเพียงกรอบมาตรฐานชุดหนึ่งที่ถูกกำหนดขึ้น ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง” ดังนั้น จุดอ่อนของบรรทัดฐานจึงอยู่ที่ สามารถใช้ได้ดีในช่วงเวลาที่ถูกกำหนดเท่านั้น แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป บรรทัดฐานเดิมจะเริ่มถูกกัดกร่อนและแปรเปลี่ยน ไม่อาจคงอยู่ได้ตลอดไป เพราะบรรทัดฐานที่เคยถูกกำหนดนั้น “มีข้อจำกัด” คือตัวมันเองไม่สามารถวิวัฒนาการตามโลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้ หากคนในสังคมไม่ช่วยกัน “ปรับ” หรือ “เปลี่ยน” ให้บรรทัดฐานดังกล่าวเกิดความทันยุคทันสมัยต่อปรากฏการณ์ (Phenomena) หรือสถานการณ์ (event) ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งเต็มไปด้วยปัญหาที่อยู่ “พ้นกรอบบรรทัดฐานเดิม” หรือเป็น “ปัญหาใหม่” ที่ถูกสร้างขึ้นบนโลกแห่งสังคมสารสนเทศที่ไหลบ่าเข้าไปสู่ประเทศต่างๆ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย

          ปัจจุบัน โลกได้เข้าสู่ยุคดิจิทัล สื่อประเภทมัลติมีเดียหลากชนิดได้เข้าสู่ประชาชนอย่างแพร่หลาย ปรัชญาสื่อแบบนวยุคนิยม (Modernism) ดูเหมือนจะล้าสมัยและร่วงโรยไปตามกาลเวลา หลังจากถูกกระแสวิพากษ์อันเผ็ดร้อนรุนแรงของลัทธิหลังนวยุคสุดขั้ว (extreme postmodernism) ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับ “เรื่องเล่าใหญ่” (Grand narrative) เพื่อรื้อถอน (deconstruct) วาทกรรมต่างๆ ของนวยุคนิยมอย่างถอนรากถอนโคน การที่นวยุคนิยมเคยได้ผูกขาดสื่อเพื่อเสริมพลังอำนาจตามด้วยคติพจน์ของเบเคิน (Francis Bacon) ที่ว่า “ความรู้คือพลัง” (knowledge is power) แต่ภายหลังได้ถูกฟูโกต์ (Michael Foucault) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส โค่นล้มหมดทั้งกระดานว่าเป็นความรู้คืออำนาจ เป็นเพียงพลังกดขี่และทำลาย “วาทกรรมการพัฒนา” ได้ถูกทำลายความน่าเชื่อถือลง โลกได้พ้นจากข้อผูกมัดด้านความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร ที่นวยุคเคยครอบครองและผูกขาดเอาไว้ในฐานะความจริงหนึ่งเดียว ตายตัว และเป็นสากล (universal) ความรู้ได้กลายเป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อ เป็นเพียงสถิติ ความจริงชั่วคราวที่รอวันเปลี่ยนแปลงข้อมูลไปเรื่อยๆ อย่างไร้จุดหมาย ดังที่ดีเธย์กล่าวว่า “ความเข้าใจของมนุษย์มีสิทธิ์ก้าวหน้าเรื่อยไป แต่ไม่มีวันสมบูรณ์” คนในยุคปัจจุบันยอมรับความแตกต่างทางด้านความคิดความเชื่อมากขึ้น ความจริงถูกมองเป็นแบบพหุนิยม ไม่ใช่เอกนิยมอย่างที่แล้วมา ทั้งนี้เพราะได้รับอิทธิพลจากกระแสคิดของหลังนวยุคนิยมสายกลาง (moderate postmodern) ที่เน้นการใช้วิจารณญาณเพื่อการสร้างสรรค์ ปรับตัว ร่วมมือ และแสวงหา เพื่อให้สอดคล้องกับทักษะที่จำเป็นของคนศตวรรษที่ 21 นอกจากนี้ กระแสโลกาภิวัติยังช่วยทำให้โลกโซเชียลที่มีขอบเขตจำกัด ถูกตีขยายวงกว้างออกไปทุกซอกทุกมุมในโลก โลกที่เคยกว้างใหญ่จึงดูแคบลงถนัด “เพียงปลายนิ้วสัมผัส” บนเครื่องสมาร์ทโฟน ไอแพด ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป สื่อใหม่ได้พลิกระบบสารสนเทศของคนในสังคมศตวรรษที่ 21 ไปสู่ภูมิทัศน์ใหม่ที่โลกไม่เคยสัมผัสมาก่อน ทำให้คนปัจจุบันมีรูปแบบการใช้ชีวิตที่ต่างจากคนในอดีต ช่องทางการรับรู้ถูกเปิดกว้าง หลากหลาย และเสรี สื่อสารมวลชนที่เคยผูกขาดอำนาจความรู้ข้อมูลข่าวสารในฐานะเป็น “ผู้รักษาประตู” ต้องเผชิญกับการเปิดประตูหลายบานพร้อมๆ กัน ทั้งสื่อดิจิทัลและสื่ออนาล็อกมากมายนับไม่ถ้วน ผู้ที่เคยอยู่ในฐานะผู้บริโภคสื่อ (consumer) กลับกลายเป็นผู้ผลิตสื่อ (user/producer) ไปเสียเอง ด้วยการร่วมคิด ร่วมเขียน ร่วมเผยแพร่ ร่วมแชร์กันในโลกโซเชียลโดยไม่เลือกเวลาและสถานที่ ข่าวสารต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ถูกผูกขาดไว้ด้วยเพียงอุปกรณ์การทำข่าวของนักข่าวกระแสหลัก  แต่มีการถูกจับด้วยภาพ ถ่ายคลิป และเขียนข่าวโดยประชาชนและถ่ายทอดถึงกันทั้งในระดับประเทศและการแลกเปลี่ยนกันระหว่างซีกโลก ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็น “เรื่องเล่าใหม่” (new narrative) ของโลกปัจจุบันที่ทำให้รู้ว่า ความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร “ไม่จำเป็นต้องรอ” การตัดสินจากผู้รักษาประตูหรือสื่อหลักอีกต่อไป

          โลกเครือข่ายสังคมออนไลน์ถูกแยกย่อยไปตามความสนใจของแต่ละกลุ่มคนโดยแบ่งตามรสนิยมและอัธยาศัย คนในสังคมปัจจุบันชื่นชอบความเป็นวิถีชีวิต (life style) เฉพาะตัว แต่ละคนพยายามค้นหา อัตลักษณ์ (identity) เพื่อสร้างตัวตนในสังคมโดยใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ มากกว่าจะพยายามค้นหาความเป็นสากล (universal) เพื่อถือความจริงหนึ่งเดียวเหมือนกับกระบวนทรรศน์นวยุคที่ผ่านมา คนในยุคปัจจุบันต้องการความเป็นส่วนตัว ต้องการสิทธิเสรีภาพมากขึ้นกว่าในอดีต แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการการมีส่วนร่วม ทั้งในส่วนที่ตนสนใจตามรสนิยมและอัธยาศัย และในระดับประเทศที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิต ประชาชนต้องการการมีส่วนร่วม (participation) ไปถึงในระดับฉันทามติ (consensus) และต้องการข้อมูลข่าวสารในลักษณะความเป็นเครือข่าย (network journalism) แบบ “แนวราบ” คนในปัจจุบันกล้าวิพากษ์รื้อถอนในสิ่งที่ตนเองไม่เห็นด้วยเฉกเช่นกลุ่มหลังนวยุคสุดขั้ว ทั้งในด้านจารีตประเพณี วัฒนธรรม สังคม โดยเฉพาะในเรื่องการเมือง คนไทยปัจจุบันกล้าวิพากษ์วิจารณ์ กล้าเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและต้องการการมีส่วนร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยใช้สื่อออนไลน์เป็นกระบอกเสียง เป็นพื้นที่สร้างเครือข่ายคนที่เห็นพ้องต้องกัน เกิดการรวมกลุ่ม เกิดเครือข่าย (connection) แคมเปญรณรงค์ต่างๆ ที่คอยช่วยเหลือกันและกัน อย่างน้อยที่สุดก็คือการช่วยลงประชามติทางออนไลน์เพื่อช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม

          “เรื่องเล่าใหม่” ในยุคสังคมดิจิทัลไม่ได้มีเพียงเท่านี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นดูจะคล้ายกับ “เรื่องเล่าชาวกาลามะ” ในเกสปุตตสูตร อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ซึ่งเป็นพระสูตรหนึ่งที่สำคัญในทางพุทธปรัชญาที่เกี่ยวกับเกณฑ์ตัดสินความจริง (criterion of truth) ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้เพื่อเป็น “เครื่องกลั่นกรองสื่อต่างๆ” ว่าสื่อใดควรเชื่อ สื่อใดไม่ควรเชื่อ เพียงแต่รูปแบบของสื่อในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตในสมัยพุทธกาล คือไม่ได้ผูกขาดความรู้ไว้ที่เจ้าสำนักหรือเจ้าลัทธิเหมือนในกระบวนทรรศน์โบราณ (ancient paradigm) แต่กลับกลายเป็นรูปแบบสื่อสารสนเทศที่หลากหลาย อาทิ

          1) ข้อมูลที่มีทั้งตัวหนังสือ ภาพ เสียง กราฟิก วีดีทัศน์ ทั้งแบบตัดต่อและไม่ตัดต่อ

          2) วารสารสื่อผสม (Convergence journalism) ที่ผสานกันระหว่างสื่อต่างๆ ที่เคยแยกจากกัน เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ โดยนำมารวมไว้ในสื่อเดียว เช่น สมาร์ทโฟน เป็นต้น

          3) ชุดความจริงที่เปลี่ยนจาก “แนวดิ่ง” เป็น “แนวราบ” มีคนนับล้านต่างคนต่างแชร์แลกเปลี่ยนกันในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง และไร้พรมแดน

          4) ผู้ผลิตสื่อไม่จำเป็นต้องประกอบอาชีพสื่อและไม่ได้จบนิเทศศาสตร์หรือวารสารศาสตร์ เขาเป็นแต่เพียงพลเมืองที่เข้ามาใช้สื่อออนไลน์ตามความถนัดและความสนใจของเขา  กลุ่มคนนี้เรียกว่า นักข่าวพลเมือง (Citizen journalism)

          5) เกิดสื่อสารมวลชนกระแสทางเลือก เช่น ดิจิทัลทีวี เพิ่มมากขึ้น สังคมสารสนเทศจึงไม่ได้ถูกจำกัดไว้เพียงสถานีที่เป็นสื่อสารมวลชนกระแสหลักที่คุ้นเคยกัน เช่น ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง Thai PBS เป็นต้น

          ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ชุดความรู้ข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในมือประชาชน สื่อมวลชนกระแสหลักและกระแสทางเลือกนั้น ของใครจริง ของใครเท็จ เพราะชุดความจริงมีอยู่หลากหลายเรื่องเล่า (multi-narrative) เป็นสื่อที่ไหลผ่านไปบนกระแสการเชื่อมต่อ (connectivity) ที่เรียกว่า ออนไลน์ โซเชียล มีเดีย (Online Social Media) และใช้อินเทอร์เน็ตมาช่วยถักทอเชื่อมต่อไปยังโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน ไอโฟน ไอแพด เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าสื่อดังกล่าวจะไม่ถูกบิดเบือน ตัดต่อ หรือเติมแต่ง

          ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ บรรทัดฐานของการใช้สื่อในยุคดิจิทัล เนื่องจากประเทศไทยมีผู้ใช้สื่อออนไลน์เป็นจำนวนมาก แต่ความสามารถในการใช้สื่อและรับสื่อยังขาดบรรทัดฐานที่ดี โดยเฉพาะในเรื่องจิตสำนึกความรับผิดชอบในการผลิต ตัดต่อ โพสต์และแชร์สื่อมีเดียบนสังคมออนไลน์ที่มีปัญหาเชิงจริยธรรม ไม่ว่าจะเป็น ภาพลามกอนาจาร ภาพอาชญากรรมที่น่าสะพรึงกลัว พฤติกรรมฉ้อฉลที่สร้างความวุ่นวายและอันตรายแก่เครือข่าย การปลอมตัว ปลอมแปลง คัดลอก หลอกลวง ให้ร้าย ยั่วยุเพื่อสร้างความแตกแยกในสังคมด้วย “วาทกรรมเกลียดชัง” (Hate Speech) “การล่าแม่มด” ในยุคดิจิทัล การล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่นโดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

หมายเลขบันทึก: 636620เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2017 22:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2017 22:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท