๕๙๕. หว่านข้าวหอมมะลิ..ในนาน้ำตม..ชื่นชมภูมิปัญญาท้องถิ่น..ที่บ้านหนองผือ


การหว่านข้าวในนาน้ำตมแบบนี้ เป็นอีกวิธีหนึ่งของการทำนา ทำกันมาแต่โบร่ำโบราณ ไม่ยุ่งยากไม่ซับซ้อน ข้อดีก็คือ..ข้าวขึ้นเร็ว แตกกอถี่ มีปริมาณของรวงหนาแน่น...

ภูมิปัญญาท้องถิ่น..หรือปราชญ์ชาวบ้านของผม ก็คือ..คุณทองทรัพย์ เกิดบุญมี กรรมการสถานศึกษาของโรงเรียน..ตอนแรก ท่านจะระดมพลโดยให้นำจอบไปเกลี่ยดินที่ในนา ปรับหน้าดินให้เสมอกัน แต่ไม่ทันการเสียแล้ว จะช้าเกินไป เพราะข้าวหอมมะลิที่แช่น้ำ แล้วนำมาผึ่งไว้ จากนั้นก็พรมน้ำ..ผ่านมาได้ ๓ วัน สังเกตเมล็ดข้าวขึ้นเป็นตุ่มตา ถึงเวลาหว่านได้แล้ว..

เช้าวันนี้..จึงใช้รถไถปรับหน้าดิน ไถพรวนจนดูดี ช่วงบ่าย..ผมสูบน้ำลงนา ตามกระบวนการและขั้นตอน..ที่คุณทองทรัพย์วางแผนไว้  น้ำไหลลงนาไม่ทันไร ผมก็ให้นักเรียนชั้น ป.๕ นำจอบมาช่วยกันขุดลอกและลากดึงดินจากที่ดอนลงสู่ที่ลุ่ม เพื่อให้น้ำท่วมถึง ผมเห็นคุณทองทรัพย์นำจอบขุดข้างคันนา บริเวณที่มีกอหญ้าและขอบคันที่โค้งเว้า ให้คันนาดูเรียบตรงสวยงาม มองดูเป็นระเบียบ..แบบนี้นี่เอง ที่เขามักพูดกันว่า ทำให้เข้ามุมเข้าคัน

ผ่านไป ๔๕ นาที..น้ำก็เต็มนา อยู่ในระดับที่พอเหมาะพอดี..หมดหน้าที่ของเครื่องสูบน้ำ ผมก็เลยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของวิทยากร เข้าสู่ช่วงเวลา หว่านข้าว..คุณทองทรัพย์..สาธิตและทำไปพร้อมๆกับนักเรียน เริ่มจากการสงข้าวเปลือก..ที่ผ่านการแช่น้ำมาแล้ว..ถ้าไม่สงเมล็ดข้าวจะจับตัวเป็นก้อน จับปึก..หว่านไม่สะดวกและไม่สนุกมือเท่าที่ควร..

สงเสร็จ..นำใส่ขัน ให้นักเรียนถือไว้คนละใบ..เดินเรียงหน้ากระดานลงไปในนาที่มีน้ำขัง คุณทองทรัพย์หว่านให้ดู ด้วยลีลามือที่พริ้วไหว..นักเรียนหว่านกำใหญ่ คุณทองทรัพย์ต้องคอยบอก ว่าอย่าหว่านมากเกินข้าวจะขึ้นหนาเกินไป..แต่ผมเกรงว่า..ข้าวเปลือกหอมมะลิ ๖ กิโลกรัม ถ้าหว่านเพลินๆอาจจะไม่พอ ถ้าหว่านเหลือ..หว่านถอยหลังกลับมา..เพื่อซ้ำรอยเดิมก็ได้..

รอบแรกผ่านไป..นักเรียนเดินขึ้นคันนา ไปยืนชมคุณทองทรัพท์ หว่านซ้ำอย่างคล่องแคล่วว่องไวและสวยงาม แบบมืออาชีพ..เป็นการหว่านแบบเก็บรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ผมสังเกตพบว่า..ไม่มีเมล็ดข้าวลอยน้ำ แสดงว่าข้าวเปลือกที่แช่น้ำจนเป็นตุ่มตา ใกล้จะงอกเป็นต้นอ่อนนั้น จะมีน้ำหนักจึงจมลงไปสู่พื้นผิวดิน...

คุณทองทรัพย์กับนักเรียน..นั่งพักเหนื่อยข้างคันนา..สนทนากันว่า..การหว่านข้าวในนาน้ำตมแบบนี้ เป็นอีกวิธีหนึ่งของการทำนา ทำกันมาแต่โบร่ำโบราณ ไม่ยุ่งยากไม่ซับซ้อน ข้อดีก็คือ..ข้าวขึ้นเร็ว แตกกอถี่ มีปริมาณของรวงหนาแน่น...

และแล้ว..ขั้นตอนสุดท้ายก็มาถึง..ผมเห็นคุณทองทรัพย์..ขุดเจาะคันนากว้างราวหนึ่งฟุต ให้น้ำไหลออกจากนาให้หมด หรือให้เหลือเพียงหมาดๆ ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง น้ำในนาไหลออกหมด คงเหลือแต่เมล็ดพันธ์ุข้าวที่จมอยู่ในดินตม คงต้องให้เด็กบันทึกคำบอกเล่าของคุณทองทรัพย์เอาไว้ว่า..อีก ๓ วันต้นข้าวจะงอกเต็มนา เมื่อสูงราว ๑ คืบ..จึงค่อยปล่อยน้ำเข้านา..อีกครั้ง...

คุณทองทรัพย์..ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือปราชญ์ชาวบ้าน..ของโรงเรียน ทั้งแนะนำและทำให้ดู..จนจบสิ้นกระบวนการ กลับไปแล้ว..ผมก็เริ่มกิจกรรมใหม่..ให้นักเรียน "ถอดบทเรียน" เป็นเรื่องเล่า..ประสบการณ์จากท้องนา ทำอะไรกันบ้าง ทำอย่างไร ทำแล้วได้อะไร บอกเป็นเนื้อหาและความรู้สึก..พร้อมวาดรูปประกอบ..

เมื่อนักเรียนส่งผลงานแล้ว ก็ตั้งใจว่า..จะฝึกทักษะให้นักเรียน..คิดวิเคราะห์เชื่อมโยง..เป็นแผนภูมิความคิด ถ้อยคำสำคัญคือ..การทำนา..หรือ..การปลูกข้าว..ที่สามารถบอกที่มาที่ไปได้..หลากหลายเหลือเกิน..

ผมคิดว่า..การสอนที่ผ่านการปฏิบัติ นอกจากเป็นการเรียนรู้ร่วมกันนอกสถานที่กับวิทยากรภายนอกแล้ว..ยังเป็นมิติหนึ่ง ที่เพิ่มพูนทักษะชีวิตให้นักเรียน ที่ผ่านการเรียนรู้อย่างสนุกมีชีวิตชีวา..ครูเอง..ก็เพลิดเพลินในการสอน..ประการสำคัญมันอยู่ที่ว่า..จะต่อยอดให้เกิดคุณภาพทางสาระวิชาอย่างไร..ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางบวก..มากกว่า..การเป็นแค่กิจกรรมธรรมดาสามัญ..เท่านั้น..

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑๑  กันยายน  ๒๕๖๐










หมายเลขบันทึก: 636365เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2017 21:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2017 21:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาทักทาย ท่าน ผอ.คนเก่ง

ด้วยความ....เหนื่อย...เฮ้อ !

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท