Peer Assist กับความภูมิใจยกกำลังสอง


Peer Assist กับความภูมิใจยกกำลังสอง

         สคส. ได้รับจดหมายจาก นพ. เสฐียรพงศ์  จารุสินธนากร   รักษาการในตำแหน่ง ผอ. รพ.บ้านตาก   แจ้งว่าได้รับหนังสือตอบขอบคุณจาก รพ. บ้านลาด จ.เพชรบุรี   เขียนเล่าบรรยากาศในการทำงานและการพัฒนาคุณภาพ  โดย รพ.บ้านตากได้รับเชิญไปให้คำแนะนำ   ทำให้เกิดความภาคภูมิใจในการทำงานของชาว รพ.บ้านตาก   จึงส่งสำเนาจดหมายและข้อเขียนมาให้

         ในจดหมายของ นพ. สมพนธ์  นวรัตน์  นายแพทย์ 9 วช. ด้านเวชกรรมป้องกัน   รักษาการในตำแหน่ง ผอ.รพ.บ้านลาด   ที่มีไปถึง ผอ.พรพ.  ระบุความเห็นว่า "แนวทาง 'เพื่อนช่วยเพื่อน' อาจเป็นแนวทางให้การพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลประสบความสำเร็จได้ง่ายและเร็วขึ้นก็เป็นได้"

         คุณหมอสมพนธ์ระบุในจดหมายดังกล่าวตอนหนึ่งว่า "คำแนะนำและข้อเสนอแนะของ รพ.บ้านตากได้ช่วยให้บรรยากาศการทำงานคุณภาพของรพ.บ้านลาดและพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ รพ.บ้านลาด   จากการทำงานด้วยความทุกข์และมีความเครียดระดับสูง   กลายเป็นบรรยากาศการทำงานอย่างมีความสุขและไม่เครียด"

         ต่อไปนี้เป็นข้อเขียนของคุณหมอสมพนธ์  นวรัตน์

เพื่อนช่วยเพื่อนสู่ความสำเร็จได้เร็วขึ้น

     โรงพยาบาลบ้านลาด   ดำเนินงานพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลโดยใช้ HA มาตั้งแต่ปี 2546   ทีมนำคุณภาพ  ทีมประสาน  ทีมตรวจสอบภายใน   ทีมควบคุมป้องกันการติดเชื้อผ่านการอบรมตามหลักสูตรของ พรพ.ครบถ้วน   มีอาจารย์ที่ปรึกษาที่ พรพ. แต่งตั้งเข้าเยี่ยมให้คำปรึกษาโรงพยาบาลครบ 3 ครั้งตามเกณฑ์   โรงพยาบาลบ้านลาดได้ดำเนินการกิจกรรมคุณภาพตามทีมที่ปรึกษาแนะนำอย่างครบถ้วน   รู้สึกว่าการทำคุณภาพมันยุ่งยาก  เหน็ดเหนื่อย  และเครียดมากตั้งแต่เริ่มทำ  แต่เราก็มีความมุ่งมั่นและอดทน   พยายามหาวิธีการต่าง ๆ ที่จะหล่อหลอมเจ้าหน้าที่ให้หันกลับมาช่วยกันทำคุณภาพ   แต่เจ้าหน้าที่เองก็มึนงงและเครียดกับการทำคุณภาพมาก   ทุกคนท้อแท้  สิ้นหวัง   แม้จะผ่านการทำ OD ทำ ESB และเชิญวิทยากรเก่ง ๆ ที่ประสบความสำเร็จมาบรรยาย   แต่การปฏิบัติจริง ๆ กลับไม่มีความก้าวหน้า   เมื่อเรียนรู้ด้วยตนเอง  ปฏิบัติด้วยตนเองผลงานก็ยังไม่ปรากฎให้เห็น   ทุกคนยังไม่ยอมรับทีมนำหรือทีมคร่อมสายงาน   ยังมีเจ้าหน้าที่บางส่วนบอกว่าไม่ใช่   ที่เรียนรู้มาไม่ใช่อย่างนี้จนบางส่วนเครียดหนักจนไม่อยากทำหรือต่อต้านเลยก็มี

     ผู้บริหารเองก็เครียดหนัก  กลัวว่าจะไม่ผ่านการประเมิน  มีการคาดโทษ  มีการตำหนิอย่างรุนแรงจนเจ้าหน้าที่อยู่ในอาการขวัญผวา   กลัวว่า พรพ.มาประเมินแล้วตอบไม่ได้ผู้อำนวยการเอาตายแน่

     ในบรรยากาศแห่งความหวาดระแวงและเอาตัวรอดของหน่วยงาน   ผู้บริหารมองเห็นว่าคงจะนำความหายนะมาสู่องค์กรแน่ทำอย่างไรจึงจะเปลี่ยนแนวคิดและพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ให้หันกลับมาร่วมมือกัน   ทำงานเป็นทีมช่วยเหลือเกื้อกูลกัน   เพื่อให้การทำคุณภาพเป็นไปอย่างทั่วถึง   ทั้งองค์กรและบุคลากรทุกคนมีความสุข   ไม่เครียด   เมื่อถึงทางตัน   ทางออกสุดท้ายคือการไปดูงานโรงพยาบาลที่มีบริบทใกล้เคียงกัน   ปัญหาคล้ายกันแต่เขาสามารถทำคุณภาพจนประสบความสำเร็จได้

     โรงพยาบาลบ้านตาก   โรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียง   ดาวเด่นในเรื่องการทำงานคุณภาพในภาคเหนือ   เป็นตัวเลือกที่โรงพยาบาลบ้านลาดจะใช้เป็นแบบอย่างในการพัฒนาคุณภาพ  ผลงานผ่านการประเมินทั้ง HA และ HPH   ทำให้เรายอมรับและเชื่อมั่นว่าคงจะพาให้โรงพยาบาลของเราหลุดออกจากกับดักแห่งความไม่รู้   ความสับสน   ไปสู่หนทางแห่งความสำเร็จได้

     เราเลือกศึกษาดูงานทั้ง HA และ HPH ที่โรงพยาบาลบ้านตากและนำแนวางของโรงพยาบาลบ้านตากมาเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาล

     ครึ่งปีหลังจากดูงานกลับมา   เราผ่านบันไดขั้นที่ 1   เราภาคภูมิใจมากว่าเราคงเลือกพี่เลี้ยงไม่ผิด   และเราคงต้องพัฒนาอย่างหนักเพื่อขอรับการประเมินต่อไป

     แต่แล้วเราก็ติดกับแห่งความไม่รู้อีก   ทำไปสักพักก็งงกับแบบประเมินตนเอง   การเชื่อมโยงระบบและการหาผลลัพธ์   การหาตัวชี้วัดเพื่อแสดงความก้าวหน้าของการพัฒนาคุณภาพ   ทีมคร่อมสายงานไม่สามารถสื่อสารขบวนการและกิจกรรมคุณภาพลงสู่เจ้าหน้าที่ได้อย่างครอบคลุม   ผู้บริหารอยากเห็นความก้าวหน้าจากบันไดขั้นที่ 1   ก็เริ่มกดดันเจ้าหน้าที่ระดับทีมคร่อมสายงานและหัวหน้าหน่วยงานให้เร่งดำเนินการให้เกิดผลฤทธิ์โดยเร็ว

     เอาอีกแล้วเริ่มเครียดกันอีกแล้ว   การทำคุณภาพเริ่มไม่สนุกและนำความทุกข์มาอีกแล้ว   ผู้บริหารเริ่มสังเกตเห็นและมองแนวทางแก้ไขเราอาจต้องเชิญใครที่มีความรู้ความสามารถและมากประสบการณ์มาช่วยเราอีกแล้ว

     โรงพยาบาลบ้านตากเช่นเคย   เราเล่าปัญหาและอุปสรรค   การเตรียมพร้อมก่อนการเยี่ยมสำรวจอย่างเข้มข้นให้ฟังและขอร้องแกมบังคับให้บ้านตากมาช่วยเรา   เป็นการช่วยชี้จุดบกพร่องให้เราแก้ไข   เป็นการเตรียมตัวเตรียมใจให้เราจะได้ไม่ตื่นเต้นเวลาอาจารย์ของ พรพ.เข้ามาประเมินจริง ๆ เป็นเหมือนการสอบซ้อมหากทำได้ดี   เราก็จะมีความมั่นใจมากขึ้น

     ผู้เยี่ยมยุทธของโรงพยาบาลบ้านตาก 5 คนเดินทางมาช่วยเรา   มาอย่างกัลยาณมิตร   มาพร้อมกับความตั้งใจและความมุ่งมั่นเต็มเปี่ยม   นอกจากจะมาประเมินแล้วยังทำหน้าที่เป็น FA ให้กับโรงพยาบาลด้วย   อะไรที่เป็นความไม่รู้   อะไรที่เป็นความสงสัย  ความสับสน   พี่เลี้ยงจากโรงพยาบาลบ้านตากช่วยคลี่คลาย   ช่วยชี้ทางออก   ช่วยบอกถึงโอกาสพัฒนาต่อยอดต่อไป

     ผู้เยี่ยมยุทธจากโรงพยาบาลบ้านตากกลับไปแล้ว   บรรยากาศแห่งความสมานฉันท์   บรรยากาศแห่งความมุ่งมั่น  คึกคัก  กลับมาหาพวกเราอีกครั้งหนึ่ง   ผู้บริหารเก็บกระบี่เข้าฝักเพราะกระบี่อยู่ที่ใจ   เจ้าหน้าที่ทุกคนผ่อนคลาย   เริ่มหันกลับมาร่วมมือกันทำงานอีกครั้งหนึ่ง   บรรยากาศแห่งความทุกข์   บรรยากาศแห่งความเครียดหายไปจากโรงพยาบาลบ้านลาด   ทุกคนทำงานพัฒนาคุณภาพอย่างมีความสุข

     บรรยากาศเหล่านี้รุมเร้าเรา   ตั้งแต่ผ่านบันไดขั้นที่ 1 มีแนวโน้มว่าจะมีมากขึ้น ๆ จนเราคิดว่าเราอาจประสบกับความล้มเหลวในการพัฒนาคุณภาพ

     แต่ด้วยพลังแห่งกัลยณมิตร   พลังแห่งความมุ่งมั่น   พลังของผู้ที่ลงมือปฏิบัติเองย่อมเข้าใจผู้ปฏิบัติด้วยกันได้ดี   พลังเหล่านั้นได้ถ่ายทอดจากโรงพยาบาลบ้านตากถึงโรงพยาบาลบ้านลาดและพวกเรารับรู้ได้จากพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ของเราเปลี่ยนไป   เปลี่ยนจากความเครียดมาเป็นความกระตือรือร้น   จากความทุกข์ในการทำคุณภาพมาเป็นความสุข   เป็นความปิติที่มองเห็นความสำเร็จอยู่แค่เอื้อม   เป็นความสำเร็จที่จะทำให้พี่น้องประชาชนชาวอำเภอบ้านลาดได้รับบริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐานอย่างยั่งยืน   คงเป็นเพราะเพื่อนปรารถนาดีต่อเพื่อนและเพื่อนช่วยเพื่อน   พวกเราจึงประสบความสำเร็จได้เร็วเช่นนี้

     ขอขอบคุณชาวบ้านตากด้วยใจจริง

     นายสมพนธ์   นวรัตน์
นายแพทย์ 9 วช.ด้านเวชกรรมป้องกัน  รักษาการในตำแหน่ง
     ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านลาด

วิจารณ์  พานิช
 1 พ.ย.48

หมายเลขบันทึก: 6358เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2005 08:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

แต่ละปี มีการเยี่ยมประเมิน ที่ไม่ได้ประโยชน์  จากหน่วยงานที่เหนือกว่า เช่น สาธารณสุขอำเภอ / สาธารณสุขจังหวัด  แห่กันเยี่ยมประเมิน การทำงาน ผ่านเกณฑ์ หรือไม่   แนวทางนี้ไม่ได้ผลในการยกระดับคุณภาพ 

  น่าเสียดาย  พรพ.เลือกแนวทาง เยี่ยมประเมินรับรองคุณภาพ ซึ่งได้ผลน้อยมาก ในการยกระดับคุณภาพได้จริง     คงมีทีมนำเก่งจริง ไม่กี่แห่ง ที่ฝ่าฝันไปได้ เกิดผลดี มีความสุข   แต่รพ.ส่วนใหญ่ หาก ผอ.ไม่เก่งจริงๆ  จนท.คงเอาตัวไม่รอด

   แต่ละ รพ.จะฟิตมากในช่วง 6-12 ก่อนเยี่ยมประเมิน  ผ่านประเมิน ก็จะรอ รอบ2ปีหน้า ค่อยฟิตใหม่   เอาเข้าจริง เหนื่อยไปหมด คล้ายว่าเพื่อให้ได้ปริญญา เหมือนที่คนอื่นได้

  การพัฒนา และคุณภาพ ควรต้องมาจากภายใน ทั้งระดับบุคคล องค์กร มากกว่า จากภายนอก

    ดังนั้น พรพ.อาจจะเลือกแนวใหม่ ว่า  อะไรที่สะท้อนว่า องค์กรนั้นทุกระดับ ถูกปลุกเร้า การมุ่งคุณภาพ  ผ่านเกณฑ์ของ พรพ    จึงมีสิทธิ์เข้ารับการประเมินรับรอง   ส่วนใหญ่แล้ว ผอ.ต้องการผ่านการรับรอง แต่ปลุกเร้า สร้างแรงบันดาลใจ แก่ทีม ไม่เพียงพอ   เอาเข้าจริง ทีมงานจึงทุกข์ทรมานกับการประเมิน

ความจริง การทำดี ควรเหนื่อยกายบ้าง แต่ต้องไม่เหนื่อยใจ ไม่ทุกข์ใจ    จึงต้อง ตั้งวาง ใจ  (คุณค่าของการกระทำดี ) ให้มั่นเสียก่อน   ทั้งนี้ทั้งนั้นหัวหน้าทีมก็ต้องดูแลปากท้อง ลูกน้องให้อิ่มพอด้วย ลูกน้องจึงกล้า มีแรงที่จะคิดถึง ความดี ความฝันดี

   เพื่อนช่วยเพื่อน ลปรร อย่างคู่ 2 รพ.นี้ จึงเกิดประโยชน์มากกว่า เยี่ยมประเมินโดย พรพ.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท