หัวข้อที่ 6 การตีความ Article XX ภายใต้ GATT 1947


                   การตีความ Article XX  ภายใต้ GATT 1947              

                   การที่แต่ละประเทศออกมาตรการใดๆที่ขัดต่อหลักการของ GATT นั้น  ในการอ้างข้อยกเว้นทั่วไปตามArticle XX   ขึ้นอ้างในส่วนภาระการพิสูจน์ตกเป็นของประเทศที่อ้างข้อยกเว้นตาม Article XX ดังกล่าว   ซึ่งคณะพิจารณา ( Panel )ตีความ Article XX  นี้อย่างแคบและไม่ก่อให้เกิดพันธกรณีใดๆต่อคณะพิจารณา( Panel ) ให้มีหน้าที่ต้องหยิบยก Article XX  นี้ขึ้นมาใช้ประกอบการพิจารณาเว้นแต่คู่กรณียกขึ้นอ้าง   แต่อย่างไรก็ตามการตีความถ้อยคำต่างๆที่ยังมีความเคลือบคลุม  กำกวมนั้นต้องตีความอย่างใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง  โดยต้องตีความในการใช้ประมาตรการให้เป็นมาตรการที่เป็นการจำกัดน้อยที่สุดหรือมาตรการที่ขัดต่อ GATT น้อยที่สุด  ( least  restrictive  alternative )[1]    ข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการใช้มาตรการที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและมาตรการที่เกี่ยวกับสุขภาพของมนุษย์ที่ได้รับการตัดสินชี้ขาดจำนวน 6 คดี[2]  แต่ในที่นี้ผู้เขียนจะหยิบยกมากล่าวไว้เฉพาะบางคดีเท่านั้น ดังต่อไปนี้          

                   1.    Fish  Export  Ban  Case[3] ( US versus  Canada )            

                         คดีนี้เป็นคดีพิพาทระหว่างสหรัฐอเมริกากับแคนาดา  รายงานเสนอแนะของคณะพิจารณาได้รับการรับรองในวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ.  1988[4]  คดีนี้สหรัฐอเมริกาเป็นฝ่ายนำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการระงั บข้อพิพาท  โดยกล่าวหาว่ามาตรการจำกัดการส่งออกตามพระราชบัญญัติการประมงปีค.ศ. 1976 ของแคนาดา  ที่บัญญัติห้ามประเทศอื่นส่งออกปลา pink  salmon และปลา  sockeye  herring ที่ยังไม่ได้ผ่านการแปรรูปไปยังแคนาดา  ส่งผลให้การส่งออกปลาแซลมอนและ herring  บางชนิดที่จะนำไปจำหน่ายในแคนาดาได้จะต้องผ่านการแปรรูปในแคนาดาก่อนส่งออกเท่านั้น  เป็นมาตรการที่ขัดกับหลักการห้ามจำกัดปริมาณภายใต้ GATT 1947  Article XI  และกล่าวว่ามาตรการนี้มีวัตถุประสงค์แอบแฝง  คือเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมแปรรูปปลาทั้งสองชนิดจากการถูกแข่งขันจากสินค้าภายนอก  แคนาดาได้โต้แย้งว่ามาตรการจำกัดการส่งออกดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของระบบการจัดการทรัพยากรประมงที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการสงวนพันธุ์ปลา[5]  ซึ่งถือเป็นมาตรการที่ได้รับการยกเว้นตาม Article XX (g)              ในคดีนี้คณะพิจารณาให้ความเห็นว่า  ถึงแม้ว่าปลา pink  salmon และปลา  sockeye  herring  จะเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ที่อาจสูญพันธุ์ หรือหมดสิ้นไป (exhaustible  natural  resources )   แต่มาตรการของแคนาดาก็ขัดแย้งกับ GATT 1947  Article XI:1  และไม่เป็นไปตามหลักการของ Article XI:2 (b )  และ Article XX (g)  อันจะได้รับการยกเว้น  โดยคณะพิจารณาได้ตีความ  Article XX (g)  ว่ามาตรการที่ถือว่า  เกี่ยวกับ ( relating to )  การสงวนทรัพยากรธรรมชาติที่สูญสิ้นได้  นั้นต้องเป็นมาตรการที่มีวัตถุประสงค์หลัก ( primarily  aimed  at )  ในการสงวนทรัพยากรธรรมชาติ  แคนาดามาไม่สามารถพิสูจน์ให้คณะพิจารณาเห็นว่ามาตรการห้ามนำเข้าดังกล่าวเป็นมาตรการที่มีวัตถุประสงค์หลักในการ สงวนทรัพยากรธรรมชาติคือปลา pink  salmon และปลา  sockeye  herring     

                       2. Cigarettes  Case[6]  (US versus  Thailand )      

                           คดีนี้เป็นคดีพิพาทระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทยซึ่งรายงานเสนอแนะของคณะพิจารณาได้รับการรับรองในวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1990  คดีนี้สหรัฐอเมริกาได้นำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาท  โดยอ้างว่ามาตรการห้ามการนำเข้าบุหรี่  และยาสูบภายใต้พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509  ของไทยขัดกับ GATT 1947  เนื่องจากยังคงอนุญาตให้มีการขายบุหรี่ที่ผลิตภายในประเทศ  ไทยโต้แย้งว่ามาตรการจำกัดการนำเข้าบุหรี่จากสหรัฐอเมริกาดังกล่าวเข้าข้อยกเว้นตาม Article XX (b)  เนื่องจากเป็นมาตรการที่ดำเนินไปเพื่อปกป้องชีวิต  และสุขภาพอนามัยของประชาชน เพราะสารเคมีและสารปรุงแต่งอื่นที่อยู่ในบุหรี่ของสหรัฐอเมริกาอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าบุหรี่ที่ผลิตภายในประเทศ[7]         คดีนี้คณะพิจารณาตัดสินว่า  มาตรการจำกัดการนำเข้าของไทยไม่สอดคล้องกับ Article XI:1  และไม่เป็นไปตามหลักการตาม Article XI:2 (c )  อีกทั้งยังลงความเห็นว่าการจำกัดการนำเข้าดังกล่าวไม่ถือเป็นมาตรการที่ จำเป็น (necessary )  ภายใต้ความหมายที่กำหนดไว้ใน Article XX (b)[8]    เนื่องจากประเทศไทยยังสามารถดำเนินมาตรการอื่นที่ขัดต่อ GATT  น้อยกว่าได้  ( least  restrictive  alternative )     

                         3.  Tuna-Dolphin I Case  ( Mexico versus US )    

                            คดีนี้เป็นคดีพิพาทระหว่างเม็กซิโกกับสหรัฐอเมริกา  ซึ่งรายงานเสนอแนะของคณะพิจารณาได้มีการเวียนให้ภาคีคู่สัญญาของGATT  ในปี1991  แต่ไม่ได้รับการรับรอง  ดังนั้นรายงานเสนอแนะฉบับนี้จึงไม่มีผลบังคับผูกพันให้คู่กรณีที่พิพาทต้องปฏิบัติตาม  ซึ่งคดีนี้เป็นคดีที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากเนื่องจากมีประเด็นที่เกี่ยวพันกับเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยตรง  เนื่องมาจากกฎหมายของสหรัฐอเมริกา  คือ  MMPA  ได้กำหนดมาตรฐานในการปกป้องปลาโลมาสำหรับการทำประมงของสหรัฐอเมริกาและประเทศที่เรือประมงเข้าไปจับปลาทูน่าครีบเหลืองในน่านน้ำเขตร้อนฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก โดยสหรัฐอเมริกาอ้างว่าฝูงปลาทูน่าครีบเหลืองมักว่าอยู่ใต้ฝูงปลาโลมา  ดังนั้นเมื่อจับปลาทูน่าครีบเหลืองด้วยอวนล้อมจับ   ปลาโลมามักติดมาด้วยและมักตายถ้าไม่ถูกปล่อยออกไป   รัฐบาลสหรัฐอเมริกาห้ามนำเข้าปลาทูน่าจากประเทศที่ส่งออกปลาทูน่ามายังสหรัฐอเมริกา  หากประเทศเหล่านั้นไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า  ประเทศผู้ส่งออกเหล่านั้นได้ดำเนินมาตรการปกป้องปลาโลมาตามที่กำหนดในกฎหมายสหรัฐอเมริกา   ซึ่งข้อพิพาทนี้สหรัฐอเมริกาได้ห้ามนำเข้าปลาทูน่าจากเม็กซิโก  อีกทั้งยังขยายไปถึงประเทศที่เป็นทางผ่านของสินค้าปลาทูน่า  ( Intermediaries  Countries )[9]  ดังกล่าวด้วย                      เม็กซิโกได้นำข้อพิพาทเสนอต่อองค์กรระงับข้อพิพาทของ GATT  โดยเม็กซิโกอ้างว่า  การห้ามนำเข้าปลาทูน่าและผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าของสหรัฐอเมริกานั้น  ขัดกับบทบัญญัติของ GATT 1947 Article XI:1  ซึ่งคณะพิจารณา( Panel )  ก็ตัดสินว่ามาตรการดังกล่าวของสหรัฐอเมริกาเป็นการกระทำที่ขัดต่อ Article XI:1  ของ GATT 1947  ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ห้ามรัฐสมาชิกจำกัดปริมาณการนำเข้า  แต่สหรัฐอเมริกาได้ยกข้อยกเว้นตาม Article XX (b)  และ Article XX (g)  ว่ามาตรการดังกล่าวเป็นไปเพื่อคุ้มครองชีวิตและสุขอนามัยของมนุษย์สัตว์และพืช และเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติคือปลาโลมา                     แต่คณะพิจารณา( Panel )ตัดสินว่า  มาตรการจำกัดทางการค้าของสหรัฐอเมริกานั้นยังไม่ถือเป็นมาตรการที่ จำเป็น  ตาม Article XX (b) ดังกล่าว  เนื่องจากสหรัฐอเมริกาไม่ได้แสดงให้เห็นว่าได้ใช้มาตรการอื่นที่มีผลเป็นการจำกัดทางการค้าน้อยกว่าที่จะใช้มาตรการดังกล่าว  คณะพิจารณา( Panel )  เห็นว่าสหรัฐอเมริกายังสามารถใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศในการปกป้องปลาโลมาได้แต่ก็มิได้ใช้[10]  โดยอาจทำโดยทำเป็นความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมกับประเทศอื่นๆและในส่วน Article XX (g)  นั้นคณะพิจารณา( Panel )กล่าวว่า  จะต้องเป็นมาตรการที่มีวัตถุประสงค์ในการปกป้องสิ่งแวดล้อมเฉพาะในรัฐที่ใช้มาตรการจำกัดทางการค้าเท่านั้น  และจะต้องเกี่ยวโยงสัมพันธ์กับมาตรการจำกัดการผลิตและการบริโภคภายในเขตอำนาจรัฐตนเท่านั้น  GATT  มิได้อนุญาตให้ใช้อำนาจนอกอาณาเขต(extra-territoriality  )อีกทั้งการห้ามนำเข้านั้นจะต้องมีวัตถุประสงค์หลัก (primarily aimed at)  ในการทำให้มาตรการจำกัดผลิตและบริโภคภายในประเทศดังกล่าวได้ผล

                              4.  Tuna-Dolphin  II Case ( EU versus US )       

                                  คดีนี้เป็นคดีที่พิพาทระหว่างสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา  โดยสหภาพยุโรปได้นำข้อพิพาทเสนอต่อGATT  โดยมีเหตุมาจากมาตรการจำกัดการนำเข้าปลาทูน่าของสหรัฐอเมริกาตาม MMPA (สืบเนื่องจากคดี Tuna-Dolphin I )  ซึ่งคดีนี้คณะพิจารณา( Panel )  ก็ตัดสินว่ามาตรการห้ามนำเข้าของสหรัฐอเมริกาขัดต่อ Article XI:1  และไม่สามารถอ้างข้อยกเว้นตาม Article XX (b), (d ), (g)  ได้



                 [1] John H. Jackson, The Jurisprudence of GATT and the WTO Insights on Treaty Law and Economic Relations, Cambridge:Cambridge University Press,2000,p. 427.
                 [2] พรรณทิพย์   วัฒนกิจการ,“WTO กับสิ่งแวดล้อม :เน้นการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศในประเด็นสิ่งแวดล้อม.”, (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2546 ), .37
                 [3]  Canada-Measures Affecting Exports of   Unprocessed Herring and Salmon ( “Herring and Salmon” )
[4] ในสมัย GATT  คณะพิจารณา( Panel )  คือบุคคลที่ได้รับการจัดตั้งโดยคระมนตรีโดยการร้องขอของภาคีคู่สัญญาที่เป็นคู่พิพาท  มีหน้าที่ในการพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้น  ทำรายงาน ( report ) สรุปข้อเท็จจริงและเสนอคำแนะนำ ( recommendation  and  ruling )  เสนอให้กับที่ประชุมคณะมนตรีเพื่อพิจารณารับรอง  (adopted )  ต่อไป
[5]  Canada  maintained  that  the  measures  in  question  had  been  in  effect  since  the  early  decades  of  the  century  and the  measures  at  issue  here  were  “ an  integral  part  of  a  complex  and  longstanding  system  of  fishery  resources  management  [ and,  more  specially,]  an  integral  part  of  the  conservation  and  management  programme  for  herring  and  pink  and  sockeye  salmon.”
[6] Thailand-Restrictions on  Importation of  and  Internal  Taxes on  Cigarettes (“Thailand-Cigarettes )
[7] พรรณทิพย์   วัฒนกิจการ, “WTO กับสิ่งแวดล้อม :เน้นการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศในประเด็นสิ่งแวดล้อม.”, (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2546 )  ,น.42-43.
[8] The panel  explained this  principle  in the  following:  “Import  restriction  imposed  by Thailand  could be  “necessary”  in  terms  of  Article XX (b)  only  if  there  were  no  alternative  measures  consistent  with  the  General  Agreement,  or  less  inconsistent  with  it,  which  Thailand  could  reasonably  be  expected  to  employ  to  achieve  its  health  policy  objectives………”
[9] มาตรการนี้ขยายไปถึงประเทศที่มีการผ่านกระบวนการแปรรูป  หรือบรรจุกระป๋องในประเทศเหล่านั้น  ซึ่งในคดีนี้ประเทศที่ถูกใช้มาตรการห้ามนำเข้าด้วย คือ  คอสตาริกา  อิตาลี  ญี่ปุ่น  สเปน  ฝรั่งเศส  เนเธอร์แลนด์  และอังกฤษ  รวมถึงแคนาดา  โคลัมเบีย  เกาหลี  และประเทศสมาชิกของเอเชียใต้
[10] พรรณทิพย์   วัฒนกิจการ, “WTO กับสิ่งแวดล้อม :เน้นการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศในประเด็นสิ่งแวดล้อม.”, (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2546 ) ,น.46.
หมายเลขบันทึก: 63501เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2006 11:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 23:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท