นิทานดวง ‘ดาว’



นิทานดวง ‘ดาว’

‘ดาว’ เป็นคำเรียกคุ้นเคยที่เคียงคู่คลอเคล้ามากับ ‘เดือน’ อย่างแสนยาวนาน เป็นผู้ทอประกายแสงระยิบระยับปรากฏโฉมอย่างพร่างพราวบนฟากฟ้ายามตะวันลาลับในคืนเดือนดับ เป็นคำเรียกเก่าแก่ที่ถูกใช้อย่างกว้างขวางไปทั้งบางของพวกไทย และไท-ไต หากเป็นที่สงสัยมาเนิ่นนานพอดูว่า ‘ดาว’ คำนี้มีเบื้องหลังความเป็นมาอย่างไรกัน

พจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ในคำจำกัดความส่วนหนึ่งไว้ดังนี้

(๑) น. สิ่งที่เห็นเป็นดวงเล็ก ๆ มีแสงในท้องฟ้าเวลามืด เช่น ดาวประจำเมือง ดาวเหนือ (๒) น. เรียกกลุ่มดาว เช่น ดาวลูกไก่ ดาวจระเข้ ดาวไถ (๓) น. เรียกบุคคลที่เด่นในทางใดทางหนึ่ง เช่น ดาวตลก ดาวมหาวิทยาลัย (๔) น. เรียกสิ่งที่มีรูปเป็นแฉกคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น ดาวเครื่องหมายยศทหารตำรวจ (๕) น. ชื่อลายประดับเพดานเป็นดวง ๆ มีหลายชนิด เช่น ดาวจงกล ดาวรังแตน ดาวกระจาย.

เมื่อเข้าไปเปิดค้นคำศัพท์พื้นฐานของพวกไท-ไตโดยอาจารย์พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ ค.ศ. 2009 พบว่าคำเรียก ‘ดาว’ แบบหนึ่งเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘star (general)’ ถูกใช้เหมือนๆ กันทั้งในพวกไทยสยาม, Sapa, Bao Yen, Cao Bang, Lungchow, Shangsi และ Yay เป็นคำพยางค์เดียวว่า da:wA1 ยกเว้นพวก Saek เรียกต่างออกไปเป็นคำควบกล้ำว่า tra:wA1 และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Tai ว่า *t.na:wA

การเรียก ‘ดาว’ ด้วยภาษาควบกล้ำ ร.เรือ ที่แตกต่างของพวก Saek และตามด้วยคำโบราณสืบสร้างแบบคำควบกล้ำ Proto-Tai ว่า *t.na:wA ได้สะกิดความใคร่อยากรู้อยากเห็นของผู้เขียน โดยเฉพาะเมื่อไปเปิดค้นจากคำศัพท์พื้นฐานของพวกไหล (Hlai) โดย Peter Norquest ค.ศ. 2007 ยิ่งพบความน่าสนใจ เพราะพวกไหลส่วนใหญ่ต่างเรียกใช้คำนี้ด้วยความคล้ายคลึงกับพวก Saek เป็นอย่างมาก ด้วยคำโดดพยางค์เดียวของเสียงนำ ร.เรือ และ ล.ลิง เช่น

พวก Bouhin, Ha Em, Lauhut, Moyfaw และ Baisha เรียกว่า ra:w1

พวก Tongzha และ Yuanmen เรียกว่า ra:w4

พวก Zandui, Baoting, Cunhua และ Changjiang เรียกว่า la:w4

และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Hlai ว่า *ɾa:w และขึ้นไปเป็น Pre-Hlai ว่า *C-ɾa:w

จึงเกิดคำถามระหว่างบรรทัดลอยไปลอยมาในหัวกบาลว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่าพวก Saek และ Hlai อาจคือกลุ่มที่สามารถรักษารากเหง้าเอาไว้ได้ และคำดั้งเดิมของ ‘ดาว’ ควรพัวพันมาทางเสียงควบกล้ำ ร.เรือ หรือ ล.ลิง มากกว่าเสียง *t.n-

พอไปเปิดค้นคำเรียกด้วยภาษาอังกฤษว่า ‘star’ จากพจนานุกรม Austronesian Basic Vocabulary Database 2008 ก็ได้ร่องรอยสนับสนุนเพิ่มเติมคือ

กระ (Kra) บางพวกก็เรียกใช้คล้ายกับพวกไท-ไต ได้แก่ En (Nung Ven) เรียกว่า ʔdaau332 ʔdi243 และเรียกใช้คล้ายกับพวกไหล ได้แก่ Gelao (Hongfeng) เรียกว่า lei35 lau31 และไม่มีการสืบสร้างคำโบราณสำหรับสองคำข้างต้น ซึ่งผู้เขียนเดาว่าอาจเป็นคำควบกล้ำด้วย ล.ลิง หรือ ร.เรือ  

ก้ำ-สุย (Kam-Sui) บางพวก เช่น Mak (Laliu) เรียก ʔda:u1 ʔdəi5 และ Ai-Cham (Taiyang) เรียก da:u1 dəi5 (อย่างไรก็ดีคำเรียกของพวก Mak และ Ai-Cham เป็นไปได้สูงว่าคือ คำหยิบยืมจากพวก Bouyei ซึ่งมีถิ่นอาศัยอยู่ใกล้กัน, อ้างอิงจากอาจารย์ Peter Norquest)

แล้วยังพบว่ามีพวกไท-ไตอื่นๆ ที่เรียกด้วยเสียงขึ้นต้น ล.ลิง คล้ายพวกไหลและแสก เช่น Lianshan เรียก lə:u1 li5, Shan เรียก laaw1และ Dehong เรียก laau6 เป็นต้น

ถึงตรงนี้จึงได้ประเมินตีความว่า คำดั้งเดิมของ ‘ดาว’ ในพวกไท-ไต (Tai), ไหล (Hlai) และบางพวกของกระ (Kra) มีความเป็นไปได้ที่จะประกอบด้วยคำควบกล้ำเสียง ล.ลิง หรือไม่ก็เสียง ร.เรือ บวกรูปคำ *-aw และกลายเป็นประเด็นให้ตามต่อเนื่องว่าคำโบราณเก่าก่อนชนิด Proto-Tai-Kadai ของผู้ซึ่งถูกใช้ในความหมายว่า ‘บางสิ่งทอแสงระยิบระยับพร่างพราวยามค่ำคืน’ ควรมีต้นตระกูลต้นสาแหรกเป็นมาเช่นใด

ในขณะที่พวกออสโตรนีเซียนส่วนใหญ่ ใช้คำเรียกแสงระยิบระยับบนฟากฟ้ายามค่ำคืนแตกต่างออกไป ซึ่งสืบสร้างเป็นคำดั้งเดิมชนิด Proto-Austronesian ว่า *bituqen แต่ก็ยังสามารถตามรอยการเรียกด้วยรูปคำใกล้เคียงกับพวกไท-กะไดหลงเหลืออยู่ในบางพวก เช่นในพวกมาลาโย-โพลีนีเซียน สาแหรกหมู่เกาะตะวันออก และในพวกฟิลิปปินส์ ดังตัวอย่างข้างล่าง

Eastern Malayo-Polynesian หมู่เกาะแถบด้านเหนือของเกาะนิวกินี: Likum เรียก d̃aw, Njada และ Lebei เรียก nⁿrau, Sori เรียก dau, Bipi เรียกเพี้ยนไปนิดว่า nⁿran, Nyindrou เรียก ndrau

Philippine แถบเกาะลูซอน: Balangaw, Buntok (Guina-ang), Kankanay (Northern), Kankanaey, Inibaloi และ Kallahan (Kayapa Proper) เรียก ta'law หรือ  ta'law หรือ talaw, Buntok (Eastern) เรียกด้วยเสียง ร.เรือ ว่า taraw และ Ibaloi เรียก talao

และที่น่าประหลาดปนระคนใจคือ ยังพบคำนี้ติดค้างอยู่ในพวก Rukai บนเกาะไต้หวัน เรียกกันในทำนองว่า tariáu, tariaw, taiaw หรือ tario และสืบสร้างเป็นคำ Proto Rukai ว่า *tariaw

ดังนั้นในความเห็นเป็นส่วนตัวของผู้เขียน คาดว่าโคตรเหง้าของภาษา ‘ดาว’ น่าจะสืบสันดานขึ้นไปถึงรากคำร่วมระหว่าง ‘คนพูดไท’ และ ‘คนพูดออสโตรนีเซียน’ ในระดับ ‘คำรากแก้วพยางค์เดียว’ ซึ่งแนวโน้มจากมุมมองของความหมายในระดับนามธรรม ชี้ว่าความระยิบระยับพร่างพราวที่กระจายตัวบนท้องฟ้ายามคืนค่ำนั้น ล้วนดำเนินไปท่ามกลางความพร่ามัวขาดซึ่งความแจ่มชัดเสียเป็นส่วนใหญ่ ยิ่งเมื่อเทียบกับแสงเดือนยิ่งเห็นถึงความแตกต่าง เป็นความแตกต่างที่มาพร้อมกับความเลือนเลาแทบจะในทันที อันเป็นความหมายที่สามารถเกาะเกี่ยวไปถึง ‘cross correlated monosyllabic root’ ว่า *law (หรือ *raw) ผู้มีนามธรรมพื้นฐานว่า ‘แหล่งรวมต้นกำเนิด’ ได้อย่างค่อนข้างชัดเจน ดังตัวอย่างคำร่วมสาแหรกใกล้เคียงในพวกไท-กะไดและออสโตรนีเซียนสายอินโดนีเซีย เช่น

พวกไท-กะได ได้แก่:

คำว่า ‘เงา’ ซึ่งคาดว่าเป็นคำโดดสั้นรวบยอดจากคำสองพยางค์เก่าเดิม ส่วนใหญ่ใช้เหมือนๆ กันในพวกไท-ไตว่า ŋawA2 (shadow, reflection) มีเรียกผิดแผกไปนิดหน่อย เช่นพวก Bao Yen กับ Cao Bang เรียก ŋɤwA2 และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Tai ว่า *ŋawA มีคำจำกัดความตามพจนานุกรมไทยฉบับเดียวกันว่า

“(๑) น. ส่วนที่มืดเพราะมีวัตถุบังแสงทำให้แลเห็นเป็นรูปของวัตถุนั้น (๒) น. รูปที่ปรากฏในของใสหรือเป็นมันเช่นนํ้าหรือกระจก (๓)  (แสง) น. อาณาเขตหลังวัตถุที่แสงเคลื่อนที่ไปกระทบวัตถุนั้นแล้วแสงเคลื่อนที่ไปไม่ถึงทั้งหมดหรือไปถึงได้บ้าง. (๔) ว. เป็นมัน เช่น ขึ้นเงา.”

คำว่า ‘เลา’ คล้ายกับเลือนราง พจนานุกรมไทยเล่มเดิมอธิบายไว้บางส่วนว่า

“(๑) น. ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Saccharum spontaneum L. ในวงศ์ Gramineae ดอกสีขาวเงิน เป็นมัน, พง หรือ อ้อยเลา ก็เรียก (๒) น. เรียกผมที่หงอกขาวและมีสีดำแซมอยู่บ้าง ว่า ผมสีดอกเลา.”

คำว่า ‘สลัว’ ออกมัวๆ เห็นบ้างไม่เห็นบ้าง มีคำจำกัดความว่า

“[สะหฺลัว] ว. ไม่แจ่ม, ไม่กระจ่าง, เช่น ในห้องมีแสงสลัวมองเห็นได้ราง ๆ ใกล้ค่ำมีแสงสลัว ๆ.”

คำว่า ‘หลัว’ มีความใกล้ชิดกับคำว่า ‘สลัว’ เป็นที่สุดมีความหมายว่า

“[หฺลัว] ว. มัว, ไม่แจ่ม, ไม่กระจ่าง, เช่น ตอนเช้าใกล้สว่าง อากาศยังหลัว ๆ อยู่ มองอะไรไม่ค่อยชัด, ใช้ว่า สลัว ก็มี”

และยังอาจรวมเลยถึงคำว่า ‘พราว’ ซึ่งแสดงอาการวิบวับแวบวาบละลานตา กับความหมายว่า

“(๑)  [พฺราว] ว. พราย, แวววาว, เช่น แต่งเครื่องเพชรพราว (๒) ว. โดยปริยายหมายความว่า มากมาย เช่น มีเล่ห์เหลี่ยมพราวไปหมด.”

และคำว่า ‘แพรว’ ซึ่งมักใช้เคียงคู่กับ ‘พราว’ กับคำจำกัดความว่า

“ว. แวววาว, มีแสงวับ ๆ วาบ ๆ, ใช้ แพร้ว ก็ได้.”

 

พวกอินโดนีเซีย ได้แก่:

‘belau อ่านว่า เบอเลา’ แปลว่าฝุ่นสีฟ้าครามเพื่อใช้ย้อมเสื้อผ้า ชื่อของปลาทะเล และภาพเบลอๆ สีออกไปทางเทาฟ้า

‘kilau อ่านว่า กีเลา’      แปลว่าแหล่งให้แสงสว่าง หรือสะท้อนความมันเงา

‘ngalau อ่านว่า งาเลา’   แปลว่าถ้ำ,อุโมงค์, โพรงที่อับแสง

‘silau อ่านว่า ซีเลา’      แปลว่าลานตา, พร่ามัวเพราะมีแสงจ้า หรือเพ่งสายตาออกไปไกลๆ เห็นไม่ชัด

‘telau อ่านว่า เตอเลา’   แปลว่าจุดสว่างจ้ากว่าโดยรอบ หรือแหล่งส่องแสงก็ได้

‘arau อ่านว่า อาเรา’     แปลว่าเป็นจุดๆ กระจายตัว  

(อ้างอิงจากพจนานุกรมภาษาอินโดนีเซีย Kamus Besar Bahasa Indonesia ค.ศ. 2012)

ซึ่งจะเห็นว่า ถึงแม้พวกอินโดนีเซียจะไม่ได้ใช้คำเรียก ‘ดาว’ ด้วยภาษา *law ในปัจจุบันนี้ หากก็ยังคงคำและความหมายในชั้นนามธรรมไว้ได้อย่างเหนียวแน่น เป็นกลุ่มคำที่แสดงทั้งรูปและความหมายพื้นฐานอย่างสนิทสนมกับความเป็น ‘ดาว’ ของพวกไท-กะได และสังเกตด้วยว่าส่วนใหญ่จะใช้เสียงรากคำ ล.ลิง มากกว่ารากคำ ร.เรือ จนค่อนข้างมั่นใจว่ามีความเป็นมาร่วมกันแต่ในอดีต และอาจเผลอไผลตีความว่า นี่อาจเป็นหนึ่งในคำเรียก ‘ดาว’ พร่างพราวฟ้าของคนทั้งสองพวกมาแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ ไม่ว่าจะเป็นคำในราก *law ว่า ‘kilau’ หรือ ‘silau’ หรือ ‘telau’ หรือแม้แต่ ‘arau’ คำสองพยางค์ที่ใช้ราก*raw ก่อนจะหดสั้นเป็นคำควบกล้ำจนถึงคำโดดพยางค์เดี่ยวของไท-กะไดในชั้นหลังต่อมา

และสุดท้าย จึงขอเสนอนิทานดวง ‘ดาว’ ว่าก่อกำเนิดสืบเชื้อไขลงมาจาก ‘คำรากแก้วพยางค์เดียว’ (cross correlated monosyllabic root) ไม่ว่าจะเป็น *law หรือ *raw (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่อง ขุดรากเหง้าคำว่า “เหล่า” ทะลุผ่าน “เกล้า” ไปถึงคำว่า “ลาว” และเรื่อง The monosyllabic roots of Austronesian and Tai-Kadai: a proof for Austro-Tai) และเป็นทางเผื่อเลือกจากมุมมองความหมายของรากคำศัพท์ (subsurface etymological point of view) เป็นการเฉพาะ ซึ่งอาจแตกต่างจากแนวทางการศึกษาแบบวิชากระแสหลักไปบ้าง ควรมิควรแล้วแต่จะพิจารณาขอรับ

 

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช

จันทบุรี 14 สิงหาคม 2560 (แก้ไขเพิ่มเติม 24 สิงหาคม 2560) 



หมายเลขบันทึก: 634568เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2017 17:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 สิงหาคม 2017 10:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท