เมล็ดพันธ์ใหม่ที่เริ่มงอกแล้ว #1


ผมเห็นสายตาที่มุ่งมั่นเอาจริงเอาจังของพี่เชษฐ์ เท่านี้ก็เป็นทุนของของลำสินธ์แล้ว ยังไม่นับทุนที่คนลำสินธ์เองได้ลุกขึ้นมาทุ่มเทกับการจัดการกับสุขภาพตัวเอง หากนับด้วยก็เพียงพอและ "พอเพียง" แล้ว

     วันนี้มีประเด็นที่น่าดีใจสำหรับผมเรื่องหนึ่ง คือพี่เชษฐ์ (หมออนามัย) แห่ง สอ.ลำสินธ์ ได้มาขอไฟล์ที่ผม ซึ่งได้มาจากการศึกษาดูงาน จว.เพชรบูรณ์และโคราช จริง ๆ มีให้ดาวน์โหลดในระบบ WAN แต่ไฟล์ขนาดใหญ่ดาวน์โหลดไม่สำเร็จ ด้วยเพราะเชื่อมต่อกับสายโทรศัพท์และประสิทธิภาพของเครื่องไม่เพียงพอ อันนี้ก็ทำให้ผมรู้ว่าอาจจะมีที่อื่น ๆ อีกที่เป็นปัญหา ซึ่งจะได้จัดการทางเทคนิคเสียใหม่

     ในระหว่างที่กำลังจัดการ copy ไฟล์ให้อยู่นั้น พี่เชษฐ์ก็เล่าเรื่องในชุมชนที่กำลังดำเนินการว่าคล้าย ๆ กับแนวคิดไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน ที่เขา (พี่เชษฐ์) ได้รับรู้มาบ้างแล้ว และนัดหมายให้ผมได้เข้าไปสังเกตกระบวนการในวันที่ 7 พ.ย.2548 ซึ่งจะได้นัดแกนนำมาตั้งโจทย์ เพื่อดำเนินการในวันที่ 21 พ.ย.2548 ซึ่งวันที่ 7 ผมติดไปอำเภอเขาชัยสน ส่วนวันที่ 21 ผมรับปากและจดบันทึกนัดหมายไว้ทันที ในเวลา 13.00 น. การที่ไม่ได้ไปวันที่ 7 ก็เลยทำให้พี่เชษฐ์ถามว่า "ผมคิดจะเชิญวิทยากรคือ ..., ... และ ..." ซึ่งผมก็ให้ข้อคิดว่าลองให้ชาวบ้านวาดรูปวิทยากรดูก่อนดีไหมว่าเขาต้องการอย่างไร จากนั้นเราค่อยเอาโครงร่างนั้นมาทบทวนว่าใครคล้ายกับที่ชาวบ้านต้องการมากที่สุด จึงเสนอเขา พร้อมบรรยายสรรพคุณให้รู้ และถามว่าเขาจะเอาไหม ก็จะเป็นเหมือนเขาได้เลือกเอง เขาจะภูมิใจ และมีความสุขกับสิ่งที่เขาเลือก หรือยอมรับได้กับสิ่งที่เขาเลือกเอง เป็นประเด็นที่หนึ่ง

     ประเด็นต่อไปคือ " ตอนนี้ผมยังไม่รู้เลยว่าจะออกมาเป็นอะไรในตอนสุดท้ายที่เป็นรูปธรรม รู้แต่เพียงว่าชาวบ้านพร้อมใจกันมาช่วยพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขแล้ว ผมเลยคุยและสอบถามไปว่า "จริง ๆ แล้วอยากเห็นอะไรบ้าง" ก็ได้คำตอบในลักษณะที่ว่า "อยากเห็นชาวบ้านมาร่วมกันคิด คิดว่าอนามัยเป็นของเขา สุขภาพของเขา แล้วจะต้องทำอย่างไรบ้าง หมายถึงทั้งเขาและเรา (สถานีอนามัย) จะช่วยกันพัฒนาอย่างไร" ผมเลยบอกว่า "ก็นั่นแหละโจทย์ที่ดีแล้วนี่ เห็นบอกว่ายังไม่มีโจทย์เลย" เขาหัวเราะครับ "อ้าว! เป็นโจทย์แล้วเหรอ" ผมเลยลองถามต่อว่า "ถ้าชาวบ้านคิดเสร็จแล้วทำไม่หมด ทำไม่ได้ในคราวเดียวกัน จะทำอย่างไร ไม่ต้องมานั่งคิดใหม่อีกทุกครั้งเหรอ" ผมสังเกตดูพี่เชษฐ์นิ่งไปสักแป๊บ ก็รุกต่อว่า "เราน่าจะต้องคิดเสร็จในคราวเดียว ว่าอะไรเป็นปัญหา แล้วจะแก้อะไรก่อนหลัง จะพัฒนาอะไรอย่างไร บางเรื่องเอามาทำก่อน ปัญหาหลัง ๆ พลอยหมดไปด้วยซ้ำ จากนั้นก็ค่อย ๆ มาปรับบ้าง ที่ละเล็ก ทีละน้อย เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่าง ๆ ขึ้น" พี่เชษฐ์ก็พูดคำว่า "ทำแผนไว้" ออกมา ผมจึงบอกว่า "ครับ! ลองไปทบทวนสักนิด โดยวางเป้าหมายไว้ที่ แผนพัฒนาสุขภาพชุมชน แล้วรายละเอียดที่ชัดเจน ผมจะไปพูดคุยด้วยอย่างย่อ ๆ พอเห็นรูปร่างให้ในวันที่ 21 ตามที่นัดไว้" ผมเห็นสายตาที่มุ่งมั่นเอาจริงเอาจังของพี่เชษฐ์ เท่านี้ก็เป็นทุนของของลำสินธ์แล้ว ยังไม่นับทุนที่คนลำสินธ์เองได้ลุกขึ้นมาทุ่มเทกับการจัดการกับสุขภาพตัวเอง หากนับด้วยก็เพียงพอและ "พอเพียง" แล้ว นี่เป็นประเด็นที่สอง รวมเป็น 2 ประเด็นที่ผมเรียกว่า "เมล็ดพันธ์ใหม่ที่เริ่มงอกแล้ว" ครับ

หมายเลขบันทึก: 6335เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2005 19:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท