ข้อเสนอของ บวท. เรื่องระบบวิจัย เสนอต่อ รมต. กระทรวงวิทยาศาสตร์


ไม่ควรบริหารงานวิจัยแบบแยกส่วน
ข้อเสนอของ บวท. เรื่องระบบวิจัย เสนอต่อ รมต. กระทรวงวิทยาศาสตร์
เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๔๘  บวท. ได้นำหนังสือฉบับนี้ไปยื่นต่อ รมต. กระทรวงวิทยาศาสตร์ ผ่านปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ (ศ. ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์)     ทาง บวท. อนุญาตให้ผมนำมาเผยแพร่
                                          มูลนิธิบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย                                                               Thai Academy of Science and Technology Foundation                                            73/1 อาคาร สวทช. ถ.พระรามหก ทุ่งพญาไท ราชเทวี กทม. 10400 โทร: 0-2584-7000 ต่อ 1428 แฟกซ์: 0-2584-7000 ต่อ 1427
                                              73/1 NSTDA Building Rama VI Road, Phyathai Bangkok 10400 Thailand. Tel: 0-2584-7000 ext.1428 Fax: 0-2584-7000 ext. 1427

ข้อเสนอจาก
มูลนิธิบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไท (บวท.)
เรื่อง  การปรับระบบวิจัยพัฒนา สร้าง กระจาย จัดการความรู้
        และนำความรู้มาสู่การปฏิบัติของประเทศ
          การวิจัยและพัฒนามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นการสร้างฐานความรู้เพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจการแข่งขัน การอยู่ดีมีสุข ลดปัญหาความยากจน และเป็นฐานที่ทำให้สังคมพึ่งตนเองได้อย่างพอเพียง กระนั้นก็ดี ยังมีปัญหาสำหรับประเทศ เพราะกำลังคนและนักวิจัยมีน้อยเกินไป การสนับสนุนไม่ใคร่ต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีปัญหาในการจัดการ
         
ที่มาและความสำคัญ
          การวิจัย อาจถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ค่อนข้างใหม่ในสังคมไทย แต่ในอีกแง่หนึ่งนั้นก็นับได้ว่าเป็นสิ่งที่มีรากฐานมานานแล้ว เฉกเช่นเดียวกับนานาอารยประเทศ รัฐบาลไทยมีวิสัยทัศน์เห็นความสำคัญว่าการวิจัยทุกสาขาเป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ และเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งในการนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศ โดยได้สนับสนุนการวิจัยให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยาวนาน เริ่มตั้งแต่มีการจัดตั้งสภาวิจัยแห่งชาติขึ้น (พ.ศ. 2502) เพื่อทำหน้าที่ทั้งจัดทำนโยบายการวิจัยและให้การสนับสนุนการวิจัยตามสาขาวิชาเป็นหลัก ต่อมารัฐบาลได้ตระหนักถึงการนำผลงานไปใช้  จึงได้จัดตั้งสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์แห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2506) โดยเป็นรัฐวิสาหกิจ และตั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงานขึ้น (พ.ศ. 2522)  ซึ่งกระทรวงฯได้เห็นว่าต้องมุ่งเน้นการวิจัยเฉพาะด้าน จึงจัดตั้งศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (พ.ศ. 2526) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ในเวลาต่อมา   เพื่อให้การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา อันมุ่งเป้าหมายสู่การประยุกต์ใช้ในด้านเศรษฐกิจและสังคมเป็นสำคัญ
เพื่อประสิทธิภาพประสิทธิผลและเพื่อความคล่องตัว  รัฐบาลต่อมาได้นำทั้ง 3 ศูนย์นี้ รวมกันภายใต้กฎหมายพิเศษเป็นสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) (พ.ศ. 2534) และได้เพิ่มศูนย์นาโนเทคโนโลยีขึ้นมาภายหลัง  สวทช. จัดเป็นองค์กรที่ไม่ใช่ส่วนราชการและไม่ใช่รัฐวิสาหกิจแต่อยู่ในกำกับของรัฐบาล เป็นหน่วยงานที่ทั้งให้การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาแก่หน่วยงานต่างๆภายนอก และดำเนินการวิจัยและพัฒนาเองด้วย เพื่อเชื่อมโยงการวิจัยพื้นฐานไปสู่การประยุกต์เป็นเทคโนโลยีและการนำไปใช้ประโยชน์
ต่อมาเพื่อให้ความสำคัญของการวิจัยและการนำผลการวิจัยไปใช้ได้แผ่ขยายไปอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ รัฐบาลจึงได้จัดตั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) (พ.ศ. 2535) ขึ้น นักวิจัยส่วนใหญ่ซึ่งทำงานในสถาบันการศึกษาโดยเป็นอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถสูง มีความกระตือรือร้น และต้องการการสนับสนุนอย่างจริงจังและเต็มที่    สกว. เน้นระบบที่เชื่อมโยงการวิจัยพื้นฐานทุกด้านตลอดจนจัดการนำการวิจัยพื้นฐานไปสู่การปฏิบัติ อีกทั้งเสริมสร้างการผลิตนักวิจัยในประเทศไทย เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีความเป็นอิสระไม่ยึดติดกับระบบเดิมๆ มีการจัดการที่มีประสิทธิภาพสูง สร้างสรรค์ให้สังคมตระหนักถึงความมีเกียรติของอาชีพนักวิจัย โดย สกว. ให้การสนับสนุนการวิจัยทุกสาขารวมทั้งสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ซึ่งได้มีการทำวิจัยอย่างจริงจังตั้งแต่ระดับรากหญ้า ชุมชน จนถึง

นักวิจัยทุกระดับในสถาบันต่างๆ ก่อให้เกิดสังคมแห่งความรู้ที่เป็นปึกแผ่นเจริญก้าวหน้าเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน เกิด “เครือข่าย” อันประกอบด้วย มหาวิทยาลัย หน่วยราชการ ภาคเอกชน และประชาชน โดยระบบสนับสนุนใหม่เน้นการเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิต ผู้ใช้ผลงานวิจัย และประชาชน  แสดงให้เห็นว่า การวิจัยของไทยได้ผ่านยุคที่การวิจัยมีบทบาทหลักในการสร้างความรู้พื้นฐานทั่วไป ไปสู่ยุคที่การวิจัยและพัฒนามีจุดหมายและบทบาทในเชิงพัฒนาด้วย  
แม้การวิจัยไทยจะได้ก้าวไปไกลพอสมควรเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วก็ยังอยู่ห่างไกลกันอีกมาก ทั้งปริมาณนักวิจัย ผลงานวิจัย การจดสิทธิบัตร และการสนับสนุนด้านการเงินของรัฐบาลซึ่งน้อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วประมาณ 10-50 เท่า ในขณะที่การแข่งขันเชิงการค้าระหว่างประเทศทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้นักวิจัยต้องขวนขวายมากขึ้น เพื่อให้งานวิจัยไทยสามารถนำไปสู่นวัตกรรมในการผลิตและบริการเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ดียิ่งขึ้น 
ในยุคที่เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นมาบ้างแล้ว เป็นช่วงสำคัญที่ประเทศไทยต้องสร้างความสามารถใหม่ขึ้น ซึ่งในด้านนโยบายและการจัดการนั้น รัฐบาลได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับเทคโนโลยีสารสนเทศถึงกับจัดตั้งกระทรวงใหม่ขึ้นเพื่อดูแลด้านนี้โดยเฉพาะ   นอกจากนี้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ยังได้แสดงเจตนารมณ์สนับสนุนวิทยาการใหม่ๆ เช่น นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยี     ดิจิตัล และวิทยาการจีโนมิกส์ และได้เน้นบทบาทของเทคโนโลยีเหล่านี้ในเศรษฐกิจและสังคมยุคใหม่ ยังขาดก็แต่เพียงด้านพลังงานและด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นล่ำเป็นสัน พัฒนาการทั้งหมดนี้แม้จะเกิดขึ้นในทิศทางที่ดีโดยรวม แต่ก็ยังมีอุปสรรคอยู่มาก และบางครั้งก็ถึงกับชะงักงันจากความไม่พร้อมในการสนับสนุนด้านต่างๆ อย่างสอดคล้องกัน
ข้อเสนอจาก บวท.
          มูลนิธิบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (บวท.) ประกอบด้วยนักวิจัย อาจารย์ นักอุตสาหกรรม ผู้ร่วมสร้าง กระจาย จัดการความรู้และนำความรู้มาสู่การปฏิบัติของประเทศที่มีผลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อเนื่องในวิชาชีพของตนมาเป็นเวลานาน โดยรวมตัวกันแบบองค์กรที่ไม่ใช่ของรัฐ เพื่อนำประสบการณ์ความรู้ความสามารถมาส่งเสริมผลักดันความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของชาติ ได้ติดตามการดำเนินงานของรัฐบาลในการปรับโครงสร้างของระบบวิจัย พัฒนา สร้าง กระจาย จัดการความรู้และนำความรู้มาสู่การปฏิบัติของประเทศ ด้วยความสนใจอย่างยิ่ง  จากการที่ได้คลุกคลีใกล้ชิดอยู่ในวงการวิจัยนี้ บวท. จึงมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะช่วยให้การปรับโครงสร้างนี้ประสบความสำเร็จ อันจะส่งผลดีเป็นอย่างยิ่งต่อสังคมโดยรวม
          เนื่องจากความรู้ที่จำเป็นทั้งต่อการอยู่ดีมีสุขของประชาชนและต่อการเพิ่มพูนความสามารถของประเทศในสังคมแห่งการแข่งขันนั้นมีส่วนครอบคลุมในหลายมิติ  จากประสบการณ์ที่ยาวนาน บวท. จึงขอยืนยันในหลักการว่าวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศาสตร์อื่นๆนั้น มีความเชื่อมโยงกันอยู่อย่างมีเอกภาพ แม้ว่าจะมีความแตกต่างในเชิงรายละเอียด โดยทั้งหมดนี้ล้วนมีด้านที่เป็นความรู้พื้นฐานและด้านที่นำไปประยุกต์ใช้ได้ ซึ่งรัฐบาลภายใต้การนำของ ฯพณฯ นายก รัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ก็ตระหนักถึงความสำคัญของความรู้ที่เป็นบูรณาการชัดเจนอยู่แล้ว   สมาชิก/ภาคีสมาชิก บวท. ดังรายนามที่แนบมานี้ จึงใคร่ขอเสนอแนะแนวทางที่จะปรับโครงสร้างระบบวิจัยไทยต่อไป อันมีประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้
1.                 รัฐบาลควรมีนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัย พัฒนา สร้าง จัดการความรู้และนำความรู้มาสู่การปฏิบัติของประเทศที่มีเอกภาพ มุ่งทั้งในการสร้างความสามารถของประเทศในการแข่งขัน ความอยู่ดีมีสุข ลดความยากจน และในการสร้างสังคมที่พึ่งตนเองได้อย่างมีความพอเพียง
2.                 รัฐบาลควรมีการสนับสนุน และมีแนวทางการดำเนินงานที่เอื้อให้นโยบายดังกล่าวบรรลุ ผล โดยต่อยอดจากความสำเร็จที่ได้เกิดขึ้น และได้ประเมินมาแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และปรับปรุงระบบและแนวทางที่ไม่เอื้อให้นำไปสู่ความสำเร็จอย่างเต็มที่ เช่น ระบบที่มีขั้นตอนมากอันทำให้เกิดความล่าช้า ระบบที่ขาดความเชื่อมโยงระหว่างกัน หรือการบริหารจัดการโดยผู้ที่อาจจะไม่มีประสบการณ์จริงในด้านนั้นๆ เป็นต้น
3.                 ระบบการวิจัยของประเทศจะดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพได้ ก็ต้องมีการจัดการที่ดี มีระบบ ทั้งในด้านความคล่องตัวและความโปร่งใส มีอิสระในการพิจารณาให้การสนับสนุนการวิจัย รวมถึงความสามารถในการติดตามตรวจสอบผลงานวิจัยให้อยู่ในมาตรฐานที่คาดหวัง
4.                 การพิจารณารวมหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไว้ด้วยกันนั้น ควรกำกับดูแลให้แต่ละหน่วยงานสามารถทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเลือกระบบบริหารที่เหมาะสมที่สุดกับภารกิจของแต่ละหน่วยนั้น   มีการประเมินคุณภาพ ประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ทั้งนี้ ต้องใช้ข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายประกอบการพิจารณา
5.                 หากรัฐบาลเลือกที่จะรวมหน่วยงานด้านวิจัยและพัฒนาเข้าด้วยกัน ก็ไม่ควรแยกการวิจัยด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ออกจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยสิ้นเชิง รวมทั้งไม่ควรแยกการวิจัยพื้นฐานออกจากการวิจัยประยุกต์และการพัฒนาโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ เพราะโดยธรรมชาติของความรู้และการจัดการนำความรู้สู่การปฏิบัตินั้น ในสาขาต่างๆมีการเกี่ยวโยงและเสริมซึ่งกันและกันอยู่
6.                 หน่วยงานที่สนับสนุนให้ทุนการวิจัยทั้งเพื่อการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ทั้งในด้านความอยู่ดีมีสุข ลดความยากจน สร้างเศรษฐกิจพอเพียง ควรจะมีความเป็นอิสระตามวิสัยทัศน์ของคณะกรรมการในการที่จะจัดสรรทุนและในการที่จะแต่งตั้งผู้บริหาร
7.                 รัฐบาลควรตระหนักว่าขั้นตอนจากการวิจัยและพัฒนาไปสู่การประยุกต์ใช้นั้น แต่ละขั้นล้วนมีความสำคัญ อาจใช้เวลาและล้วนต้องการการสนับสนุนทั้งสิ้น โดยไม่สามารถจะเลือกแต่เพียงการประยุกต์ใช้แต่เพียงอย่างเดียวได้ เปรียบกับการปลูกต้นไม้ที่ต้องปลูกทั้งต้น ไม่สามารถปลูกเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งได้ วิทยาศาสตร์เปรียบได้กับรากต้นไม้ที่จะต้องบำรุงให้แข็งแรงก่อนที่จะเติบโตออกดอกผลเป็นเทคโนโลยีให้ประเทศชาติเก็บเกี่ยวได้ และการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพนั้น ต้องการระบบจัดการที่เหมาะสม
ด้วยความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลซึ่งมีวิสัยทัศน์ของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี จะพิจารณาใคร่ครวญข้อเสนอเหล่านี้อย่างรอบคอบ การนำเสนอความเห็นนี้เป็นการดำเนินการโดยเจตนาบริสุทธิ์ด้วยสำนึกในความรักและหวงแหนประเทศชาติของทุกคน โดย บวท. พร้อมที่จะปวารณาตนในการที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการผลักดันให้เกิดระบบจัดการความรู้ของชาติให้เกิดขึ้น การปรับปรุงระบบ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมพื้นฐานความรู้ที่ดี โดยมีการวิจัย พัฒนา การสร้าง จัดการความรู้และนำความรู้มาสู่การปฏิบัติของประเทศเชิงบูรณาการที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพต่อไป
ทั้งหมดนั้นเป็นเอกสารที่ บวท. นำไปยื่น    ผมดีใจที่องค์กรทางวิชาการที่มีเกียรติสูงส่งออกมาเสนอความเห็นต่อระบบที่สำคัญยิ่งต่อบ้านเมือง คือระบบวิจัย
วิจารณ์ พานิช
๓ พย. ๔๘
“”             (.)           . .1.                 2.                 3.                 4.                 5.                 6.                 7.                 .
หมายเลขบันทึก: 6334เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2005 19:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท