“ซารีกัตมาตี” วัฒนธรรมการดูแลสุขภาวะของชุมชนมลายูมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้


หลักการอิสลามในแง่สุขภาวะมุสลิมในการจัดการซารีกัตมาตีจากมุมมองของชุมชน

การช่วยเหลือครอบครัวยากจนที่เสียชีวิตให้มีซารีกัตมาตีในชุมชนเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่มีการบูรณาการหลักศาสนา โดยเฉพาะการช่วยเหลือในด้านการเงินเพื่อเป็นสวัสดิการค่าใช้จ่ายในการจัดการศพของชุมชน เพราะศาสนาอิสลามมีหลักการว่าต้องมีการจัดการศพทันทีเมื่อมีการเสียชีวิตในชุมชน ต้องเตรียมค่าใช้จ่ายในการจัดการศพ เช่น ละหมาดให้กับศพ (ละหมาดญะนาซะห์) และการฝั่งศพ ซึ่งต้องใช้ค่าใช้จ่ายมากพอสมควร ทางครอบครัวสมาชิกกองทุนฯ รู้สึกสบายใจ ไม่กังวลในเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมอย่างกะทันหัน ทำให้เกิดสุขภาวะด้านจิตใจที่ดี ซึ่งสุขภาวะในมุมมองของศาสนาอิสลาม เป็นปัจจัยที่เป็นรากเหง้าในการพัฒนาคุณภาพชีวิตอันเป็นรากฐานของกระบวนการพัฒนาในทุกมิติ อิสลามให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อเรื่องสุขภาวะของตนเองและผู้อื่น การมีกองทุนในชุมชนถือเป็นความโปรดปรานที่มนุษย์พึงได้รับจากพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.[4]) อีกทางหนึ่ง อิสลามถือว่าการดูแลรักษาสุขภาวะนั้นเป็นหน้าที่ (วายิบ) สำหรับมนุษย์ทุกคน

หลักการอิสลามในแง่สุขภาวะมุสลิมในการจัดการซารีกัตมาตีจากมุมมองของชุมชน การให้สวัสดิการสังคมในระบบสังคมอิสลามนั้นมีความหมายกว้าง สมบูรณ์และครอบคลุมในทุกๆ ด้าน กล่าวคือ สวัสดิการสังคมในอิสลามนั้นมิใช่เพียงการให้ความช่วยเหลือในด้านทรัพย์สินเท่านั้นแต่ครอบคลุมหลายๆ ด้าน (อับดุลรอชีด เจะมะ, 2542: 71) การช่วยเหลือความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์โดยเฉพาะเมื่อมีการเสียชีวิตของสมาชิกในชุมชนถือเป็นฟัรดูกีฟายะห์[1]ที่ต้องมีบุคคลไปดูแลให้ความช่วยเหลือ การเสียชีวิตในอิสลามนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการจัดการศพ ซึ่งการจัดการศพจะเริ่มตั้งแต่ การอาบน้ำให้ศพ การห่อศพ การละหมาดให้ศพ (ละหมาดญะนาซะฮฺ) และการฝั่งศพ นักวิชาการอิสลามมีมติ (อิจญมาอฺ) ว่าทั้งสี่ประการดังกล่าวนี้เป็นฟัรฺดูกิฟายะฮฺ (มูนีร มูหะหมัด, 2553: 149) ซึ่งถ้าหากไม่มีผู้ใดกระทำสิ่งเหล่านั้นให้แก่ศพเลย คนในชุมชนทั้งหมดก็มีบาป ในการช่วยเหลืองานศพเป็นหน้าที่ของครอบครัวญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตรวมทั้งเพื่อนบ้านในชุมชนเดียวกันและหมู่บ้านใกล้เคียง ในการจัดการศพต้องใช้ค่าใช้จ่ายมากพอสมควร แต่สำหรับครอบครัวที่ยากจนเมื่อสมาชิกเสียชีวิต ต้องนำทรัพย์สินไปจำนำ จำนองหรือจำเป็นที่ต้องขายเพื่อให้ได้เงินมาจัดการศพ หรืออาจต้องพึ่งกองทุนที่มีอยู่ในชุมชน สวัสดิการสังคมที่เป็นระบบในศาสนาอิสลามมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่และยกระดับคุณภาพการดำรงชีวิตของมนุษย์ด้านการประกันให้มนุษย์มีชีวิตอยู่อย่างสงบสุข มั่นคงในอุดมการณ์ ชีวิตและทรัพย์สิน มีความปลอดภัยสู่การมีชีวิตที่สุขสมบูรณ์ หลักสวัสดิการทางสังคมในอิสลามเป็นหลักที่อัลลอฮ (ซ.บ) ได้บัญญัติไว้โดยโยงใยเกี่ยวข้องกับการเคารพภักดีต่ออัลลอฮ (ซ.บ) หลักการดังกล่าวได้ถูกกำหนดมาพร้อมกับอิสลามและเป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคมอิสลามอันมีมาตั้งแต่ 1,400 ปีกว่าแล้ว (อับดุลรอซีด  เจะมะ, 2542: 73) ดังที่อัลลอฮ (ซ.บ) ได้กล่าวในอัลกุรอาน : ความว่า “ จงอิบาดะฮต่ออัลลอฮและอย่างตั้งภาคีต่อพระองค์กับสิ่งใดทั้งสิ้น และจงทำความดีต่อพ่อแม่ ต่อญาติสนิท ต่อลูกกำพร้า ต่อคนยากจน ต่อเพื่อนบ้านที่เป็นญาติ ต่อเพื่อนบ้านที่มิได้เป็นญาติ ต่อเพื่อนสนิท ต่อผู้เดินทาง และต่อทาสที่พวกเจ้าครอบครอง แท้จริงอัลลอฮไม่ทรงรักผู้ที่หยิ่งผยองอีกทั้งยกตัวเอง ”

นอกจากนั้น อิสลามได้จัดสวัสดิการทางสังคมให้สังคมเป็นลำดับ โดยเน้นสวัสดิการที่ให้การสนับสนุนครอบครัวที่ยากจนและด้อยโอกาสโดยให้ระดับหน่วยของสังคมเป็นผู้รับผิดชอบร่วมกับเครือญาติ ดังที่หะดีษท่านรอซูล (ศ็อล) กล่าวตอบ เมื่อมีศอฮาบะฮ (สาวก) ถามท่านเกี่ยวกับภาระหน้าที่ของคนๆ หนึ่งในการดูแลให้ความช่วยเหลือ ท่านตอบ ความว่า “แม่ของเจ้า พ่อของเจ้า พี่หรือน้องสาวของเจ้า พี่หรือน้องชายของเจ้า ผู้ใต้บังคับบัญชาที่เจ้าต้องให้สิทธิแก่เขา และญาติที่มีสิทธิเหนือเจ้า” จะเห็นได้ว่า จากโองการและหะดิษดังกล่าว อิสลามได้จัดลำดับการให้ความช่วยเหลือให้แก่บุคคลดังต่อไปนี้ตามลำดับคือ แม่ พ่อ พี่สาวหรือน้องสาว พี่ชายหรือน้องชาย ญาติใกล้ชิด ญาติที่มีสิทธิ

การมอบสวัสดิการและสังคมสงเคราะห์ที่ดีให้กับสังคมไม่ได้เป็นหน้าที่เฉพาะของรัฐบาลฝ่ายเดียวเท่านั้น หากเป็นหน้าที่ของประชาชนมุสลิมทุกคนที่ต้องลุกมาให้การปกครอง คุ้มครองสังคมตามกำลังความสามารถที่มีอยู่ ทั้งกำลังใจ กำลังกาย หรือกำลังทรัพย์และอื่นๆ โดยในอัลกุรอานมีกฎหมายทางสังคมที่เสริมสร้างสังคมให้รักใคร่ จุนเจือ และค้ำจุนซึ่งกันและกัน ราวกับว่าเป็นครอบครัวเดียวกัน  การกำชับให้มุสลิมทุกคนให้การพยุงสังคมและสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ด้อยกว่านั้น ไม่ได้จำกัดให้กระทำต่อเพียงเพื่อนมนุษย์เท่านั้น หากแต่อิสลามยังได้กำชับให้มุสลิมทำดีและช่วยเหลือแม้กระทั่งต่อสัตว์เดรัจฉาน จะเห็นได้ว่าในเรื่องการดูแลรักษาสุขภาวะในอิสลามถือเป็นหน้าที่หนึ่งสำหรับมนุษย์ จึงเป็นหน้าที่ซึ่งมนุษย์จะต้องมีความสำนึกในคุณค่าและต้องแสดงความกตัญญูต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) ด้วยการดำรงรักษาความโปรดปรานนั้นไว้อย่างที่สุด ดังที่ท่านรอซูล (ศ็อล) ได้กล่าวไว้ ความว่า “และสำหรับร่างกายของเจ้านั้นเป็นหน้าที่ซึ่งเจ้าต้องดูแลมัน” นอกจากนั้น ในศาสนาอิสลามแล้ว แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธาหรือมุสลิมนั้นเป็นพี่น้องกัน ดังคำตรัสของอัลลอฮ (ซ.บ.) ความว่า “แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธานั้นเป็นพี่น้องกัน” ท่านศาสดาได้เปรียบเทียบลักษณะของผู้ศรัทธา เกี่ยวกับความรักที่มีต่อกัน การให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันว่า เหมือนกับร่างกายของคนเรา ถ้าหากอวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดได้รับความเจ็บปวด ก็จะทำให้ทั่วเรือนร่างต้องพลอยเจ็บปวดไปด้วย มุสลิมก็เช่นเดียวกัน ถ้าหากผู้หนึ่งผู้ใดได้รับความทุกข์ ทุกคนก็จะคอยให้ความช่วยเหลือ จะทอดทิ้งกันไม่ได้ อิสลามถือว่าทุกคนเป็นพี่น้องกัน ทุกข์สุขร่วมกัน เหมือนเรือนร่างเดียวกัน ดังที่ท่านรอซูล (ศ็อล) ได้กล่าวไว้ ความว่า “เปรียบเทียบบรรดาผู้ศรัทธาในด้านความรัก ความเอ็นดูเมตตา และการให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลของพวกเราที่มีต่อกันนั้นเหมือนกับร่างกาย กล่าวคือ เมื่ออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งเจ็บปวด อวัยวะส่วนอื่นๆของร่างกายก็จะเจ็บปวดไปด้วยทั่วร่างกายพาให้นอนไม่หลับ เกิดอาการไข้” นอกจากนั้น การให้ความช่วยเหลือกันระหว่างผู้ศรัทธานั้น จะต้องดูให้ครบทุกๆด้าน ทุกๆเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในทางโลกอาคิเราะห์ [2]หรือการดำเนินชีวิตในดุนยา[3] เปรียบได้กับอาคาร ทุกชิ้นส่วนของมันจะต้องยึดเหนี่ยวซึ่งกันและกัน จึงจะทำให้อาคารนั้นแข็งแรงมั่นคง ดังที่ท่านรอซูล (ศ็อล) ได้กล่าวไว้ ความว่า “ผู้ศรัทธาต่อผู้ศรัทธานั้น (ต้องช่วยเหลือกัน) เหมือนกับอาคาร ซึ่งบางส่วนของมันยึดเหนี่ยวกับอีกบางส่วน แล้วท่านรอซูลประสานมือเข้าด้วยกัน”  จะเห็นได้ว่า อิสลามได้กำชับให้มุสลิมทุกคนมีการพยุงสังคมและสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ด้อยกว่านั้น ไม่ได้จำกัดให้กระทำต่อเพียงเพื่อนมนุษย์เท่านั้น หากแต่อิสลามยังได้กำชับให้มุสลิมทำดีและช่วยเหลือแม้กระทั่งต่อสัตว์เดรัจฉาน ดังที่ท่านรอซูล (ศ็อล) กล่าว ความว่า “อบูฮุรัยเราะฮฺ เล่าว่าท่านรอซูล (ศ็อล) ได้กล่าวว่า ในขณะที่ชายคนหนึ่งกำลังเดินอยู่ เขารู้สึกกระหายน้ำอย่างมาก เขาจึงลงไปในบ่อและดื่มน้ำในนั้น แล้วก็ขึ้นมา แต่แล้ว เขากลับเห็นสุนัขตัวหนึ่งกำลังแลบลิ้นเลียดินเปียกปนน้ำค้างด้วยความกระหาย เขาจึงนึกว่า สุนัขตัวนี้คงกระหายน้ำเหมือนอย่างที่ฉันกระหาย เขาจึงเอาน้ำใส่ในรองเท้าจนเต็มแล้วใช้ปากคาบ แล้วไต่ขึ้นมาจากบ่อ และให้สุนัขดื่ม อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้ชมเชยเขาและได้ประทานอภัยโทษให้แก่เขา” พวกเขาถามว่า โอ้ท่านรอซูลุ (ศ็อล) เราจะได้ผลบุญจากการทำความดีต่อสัตว์ด้วยหรือ? ท่านตอบว่า “ในการทำดีต่อทุกสิ่งที่มีตับสดนั้น (คือทุกสิ่งที่มีชีวิต) มีผลบุญให้” ดังนั้น ในเรื่องของสวัสดิการมีความเกี่ยวข้องกับสุขภาวะในอิสลาม เพราะต้องมีการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ผู้ศรัทธาทุกคนย่อมเป็นพี่น้องกัน หากอวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดเจ็บปวดส่วนอื่นก็จะเจ็บปวดด้วย การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ถือเป็นหน้าที่ของผู้ที่เหนือกว่า ผู้ที่มีความสามารถ ผู้ที่มีทรัพย์สินเงินทอง หากเราทำการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ อัลลอฮฺ (ซ.บ) ก็จะช่วยเหลือเรา อีกประเด็นหนึ่งจะสอดคล้องกับมารยาทและการจัดการศพที่เพื่อนบ้านต้องมีการขอดุอา (ขอพร) ให้แก่ศพด้วยดุอา การอภัยโทษและเมตตา อีกทั้งชุมชนต้องไปเยี่ยมครอบครัวผู้ตาย (ตะอฺซียะฮฺ) เพื่อให้กำลังใจและอดทนต่อการจากไปของผู้ตาย (อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา, 2555: 80) ดังนั้น การมีซารีกัตมาตีในชุมชนบ้านโคะที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือกลุ่มสมาชิกให้เกิดสุขภาวะ โดยเฉพาะครอบครัวยากจนที่เสียชีวิตนั้น จะไม่มีความแตกต่างกับกองทุนอื่นๆ ที่จัดตั้งขึ้น เพราะอิสลามไม่ได้ยึดติดกับชื่อ ไม่ได้ยึดติดกับผู้ก่อตั้ง และไม่ได้ยึดติดกับประเภทขององค์กร หากกองทุนหรือองค์กรดังกล่าวมีประโยชน์ต่อชุมชนหรือสังคม ถือได้ว่าเป็นหน่วยงานหรือกองทุนที่ต้องให้การช่วยเหลือ

[1] ฟัรฺดูกิฟายะฮฺ" นั้นหมายถึง ข้อบังคับทางศาสนาสำหรับมุสลิมจะต้องปฏิบัติ แต่ทว่า หากมีมุสลิมคนใดทำแทน หรือมุสลิมบางกลุ่มทำแทนแล้ว มุสลิมคนอื่นๆ ถือว่าพ้นผิดไปด้วย ตัวอย่าง การละหมาดญะนาซะฮฺ เป็นต้น

[2] โลกหน้า (อิสลามเชื่อว่า หลังจากที่มนุษย์ทุกคนตายไปจะต้องมีการสอบสวนถึงการกระทำที่ผ่านมาบนโลกนี้ว่าได้กระทำความดีและความชั่วอะไรบ้าง)

[3] โลกนี้

[4] อ่านว่า “ซุบฮานะฮู วะตะอาลา” แปลว่า “พระองค์ทรงบริสุทธิ์และทรงสูงส่งยิ่ง” เป็นคำสุภาพที่ชาวมุสลิมใช้กล่าวหลังจากนาม “อัลลอฮฺ”

หมายเลขบันทึก: 633265เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2017 10:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 สิงหาคม 2017 10:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท