ใจนำพาศรัทธานำทาง : (น้ำท่วม) ว่าด้วยการสอนกระบวนการอาสาสมัครแบบไม่สอน แต่เฝ้ามองอย่างใกล้ชิด


การงานในครั้งนี้ผมถอยออกมาอยู่อยู่ใกล้ๆ ย้ำว่าเป็นการ “เฝ้ามองอยู่ใกล้ๆ” มิใช่ห่างจนมองไม่เห็น หรือใกล้จนพวกเขาไม่มีอิสระที่จะออกแบบการเรียนรู้คู่บริการด้วยตนเอง


ในช่วงที่หลายจังหวัดในภาคอีสานเจอวิกฤตอุทกภัย  ผมและทีมงานก็มิได้นั่งดูดาย  เป็นการไม่ดูดายบนฐานคิด “เพราะโลกไม่ได้สอนให้เราทิ้งใครให้อยู่คนเดียว”  หรือกระทั่ง “โลกไม่เงียบเหงาเพราะมีคนและเรื่องราวให้คิดถึง”

ผมไม่ได้ถอยกลับไปจับงานเหล่านี้โดยตรงเหมือนดังในอดีต  จะด้วยในสถานะด้านการงาน หรือสังขารที่ถดถอยเข้าวัยที่ต้องเก็บแรงกายและแรงคิดไว้ “สอนงานสร้างทีม”  มากกว่าการต้อง “คิดและทำ” หรือ “คิดและลุยทำ” อะไรๆ  อย่างบ้าระห่ำด้วยตนเองตามแบบฉบับ “ใจนำพาศรัทธานำทาง” เหมือนดังเก่าก่อน


การงานครั้งนี้ผมมอบหมายให้ จิรัฎฐ์ อภิวิชญ์ทีปกร  เจ้าหน้าที่ในต้นสังกัดเป็นผู้ดูแลและรับผิดชอบเรื่องช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม  ทว่าเป็นการมอบหมายในเชิงของการเป็น “พี่เลี้ยง”  อันหมายถึงหนุนเสริมกระบวนการขับเคลื่อนของ “นิสิต”  เป็นหัวใจหลัก  กล่าวคือเน้นระบบและกลไกกระตุกกระตุ้นให้นิสิตตื่นตัวต่อเรื่องจิตอาสา-จิตสาธารณะในครั้งนี้ให้ได้มากที่สุด  โดยการตระหนักถึงความเป็นพี่เลี้ยงบนฐานคิดเดิมๆ ที่ผมปักเป็นหมุดไว้เมื่อหลายปีก่อน ดังว่า “พูดให้ฟัง ทำให้ดู อยู่เป็นเพื่อน” 

ในระยะต้นๆ  ผมเฝ้าดูอยู่ห่างๆ  ตัดสินใจไม่เข้าไปคลุกในเวทีการประชุมระหว่างผู้บริหารกับเจ้าหน้าที่และนิสิต  กระนั้นก็มิได้พาตัวเองตัดขาดออกไปจากระบบเหล่านั้น  ตรงกันข้ามกลับเน้นการให้คำปรึกษาและติดตามงานผ่านเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง  

เช่นเดียวกับเมื่อนิสิตที่มักคุ้นติดต่อเข้ามา  ผมก็จะเชื่อมโยงไปยังกลุ่มคนที่ทำเรื่องนี้  บอกย้ำและเชิญชวนให้นิสิตเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับพลังดังกล่าว  พร้อมๆ กับการสื่อสารไปยังกลุ่มแกนหลักให้รู้ว่าจะมีใครอยากเข้าไปผนึกเป็นกำลังร่วมกับพวกเขาเพิ่มเติมอีกบ้าง



จนแล้วจนรอด จิรัฎฐ์ฯ  ก็นำพานิสิตเข้ามาพบเป็นการส่วนตัว  เพื่อปรึกษาหารือและขอคำแนะนำในการขับเคลื่อนกระบวนการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในภาคอีสาน  ---

ผมพูดคุยในหลายเรื่อง  ปูพรมเรื่องประวัติศาสตร์พลังของนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่มีต่อชุมชนรอบมหาวิทยาลัยจนเป็นที่มาของวาทกรรมที่ผมเขียนขึ้นว่า “เพราะมหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน”  หรือ “น้ำท่วมชาวบ้านจะให้ฉันสุขสำราญได้อย่างไร”  หรือแม้แต่บอกย้ำให้ลองเข้าอ่านเพิ่มเติมที่ผมเขียนไว้ใน Gotoknow.org  เพื่อนำมาประยุกต์ใช้เป็นชุดความรู้กับครั้งนี้  หรือแม้แต่เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนงาน

แต่ที่แน่ๆ  สิ่งที่ผมย้ำกับนิสิตและเจ้าหน้าที่อย่างหนักแน่นในหลายประเด็น  เป็นต้นว่า

  • ผมไม่อยากให้คิดว่าตัวเองเป็นผู้ให้  ไม่อยากให้คิดว่าตนเองเป็นนักเสกสร้าง  ไม่อยากให้คิดว่าตนเองเป็นนักสงเคราะห์  หรือแม้แต่การทำงานในแบบปักป้ายถ่ายรูป
  • ผมไม่อยากให้เอาชะตากรรมของชาวบ้านมาล้อเล่นให้เกิดมูลค่ากับตัวเอง  หรือแม้แต่สถาบันต้นสังกัดของเราเอง  ทุกอย่างต้องทำบนฐานใจ คือ ใจนำพาศรัทธานำทาง  อันหมายถึงชาวบ้านเหล่านั้น “ไม่ใช่ญาติ ก็เหมือนญาติที่ขาดไม่ได้”


  • ผมไม่อยากให้คิดแต่เพียงการเข้าไปเกื้อหนุนในสภาวะตอนนี้เท่านั้น  แต่ต้องกล้าพอที่จะออกแบบเป็นระยะๆ อันหมายถึงยึดโยงไปถึงกิจกรรมฟื้นฟูเยียวยาเมื่อน้ำเหือดแห้งลง  และต้องดึงศักยภาพตนเองออกมาในแบบนักการศึกษาตามครรลอง “เรียนรู้คู่บริการ” 
  • ผมไม่อยากให้ทำงานในแบบ “ศิลปินเดี่ยว” หรือ “วันแมนโชว์”  แต่ต้องศรัทธาต่อการทำงานในแบบบูรณาการกับหลายๆ ภาคส่วน โดยเฉพาะภาครัฐและเอกชนในท้องถิ่นนั้นๆ  ซึ่งจะช่วยให้เราได้เรียนรู้ระบบและกลไกของการบริหารจัดการภัยพิบัติไปในตัว  รวมถึงการหนุนเสริมความเข้มแข็งที่จะมีขึ้นในระยะยาว ณ ท้องถิ่นนั้นๆ 
  • ผมไม่อยากให้ด่วนซื้อข้าวของมากองๆ ไว้  แต่อยากให้พยายามเจาะจงพื้นที่เชิงลึก  เพื่อให้รู้ว่าพื้นที่นั้นๆ ต้องการความช่วยเหลือในลักษณะใด หรือพื้นที่นั้นๆ ได้รับความช่วยเหลือมากน้อยแค่ไหนบ้างแล้ว  รวมถึงการส่งมอบงบประมาณผ่านศูนย์ต่างๆ ควบคู่กันไป

  • ผมไม่อยากให้ทำกิจกรรมเชิงเดี่ยว อันหมายถึงมอบสิ่งของแล้วก็จบ  แต่ควรมีกิจกรรมอื่นๆ บูรณาการเข้าไป  เช่น  เรื่องสุขภาพ  จิตวิทยา  พัฒนาฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม  เรียนรู้ชุมชน  
  • ผมอยากให้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชน  บริบทชุมชน  ต้นสายปลายเหตุของน้ำท่วม  วิธีการจัดการกับภัยพิบัติของชุมชน  ทั้งโดยภูมิปัญญาและวิทยาการใหม่ๆ 
  • ผมอยากให้ทำงานเหล่านี้แข่งกับเวลา  เพราะมันคือวิกฤต  เพราะมันคือชะตากรรมที่รอคอยความช่วยเหลือ  ต้องรู้จักที่จะแบ่งงานกันทำ  มิใช่เกาะกุมไว้เพียงคนเดียวจนงานไม่เดินหน้า  และนั่นยังรวมถึงการทำงานในแบบที่กล้าตัดสินใจบนฐานของข้อมูล
  • ผมอยากให้เจ้าหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงที่หนุนเสริมนิสิตอย่างจริงจังและจริงใจ  เอื้ออำนวยให้นิสิตทำงานได้อย่างราบรื่น-คล่องตัว  มิใช่ติดกับดักของระบบจนขยับอะไรไม่ได้สักอย่าง  หรือที่สุดก็คือ "สายเสียแล้ว"  
  • ฯลฯ

 

นั่นเป็นเพียงเศษเสี้ยวจากเรื่องมากมายก่ายกองที่ผมพูดกับเจ้าหน้าที่และนิสิต  หรือแม้แต่การแลกเปลี่ยนกับผู้บริหาร

ผมยังย้ำว่าการงานในครั้งนี้ผมถอยออกมาอยู่อยู่ใกล้ๆ   ย้ำว่าเป็นการ “เฝ้ามองอยู่ใกล้ๆ”  มิใช่ห่างจนมองไม่เห็น  หรือใกล้จนพวกเขาไม่มีอิสระที่จะออกแบบการเรียนรู้คู่บริการด้วยตนเอง

ผมบอกย้ำให้เจ้าหน้าที่และนิสิตตั้งชื่อกลุ่มกันเอง  สร้างสื่อกันเอง  ออกแบบกิจกรรมระดมทุนกันเอง  ออกแบบการสร้างเครือข่าย ผนึกเครือข่ายกันเอง  เลือกพื้นที่ในการลงชุมชนกันเอง  เปิดบัญชี หรือจัดแจงเรื่องบัญชีกันเอง  ฯลฯ 

ก็ไม่รู้นะ— ผมอยากให้เขาเป็นพระเอกและนางเอกด้วยตนเอง  ได้คิดและได้ทำในสิ่งที่เขาพึงใจปรารถนา  ซึ่งผมย้ำตรงนี้ว่าผมไม่ดูดายเพิกเฉย หรือเย็นชาต่อวิถีอันดีงามของพวกเขา  เพราะยังติดตามทั้งในระบบและนอกระบบเป็นระยะๆ  รวมถึงเมื่อถึงเวลาอันเหมาะควรก็เข้าไปร่วมประชุมเพื่อจัดระบบโครงสร้างทีมทำงานให้พวกเขา  มอบหมายและสั่งการในบางเรื่องที่คิดว่าเกินเรี่ยวแรงที่พวกเขาจะคิดได้หรือทำได้ด้วยตนเอง 

หรือแม้แต่เข้าไปสอนงานในแบบฉบับของผม  ที่มีทั้ง "หวานแหว๋ว และโหด-ฮา"  รวมถึงเติมความรู้และข้อมูลในเรื่องที่เกี่ยวข้องเล็กๆ น้อยๆ พอประมาณ  เพื่อให้พวกเขามีทุนทางปัญญา  หรือข้อมูลในการ "ไปต่อ"  ทั้งโดยการเรียนรู้เพิ่มเติมและการลุยงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยฯ


ก็ไม่รู้สิ - ใครจะว่ายังไงก็ช่างเถอะ   แต่สำหรับผมแล้ว  นี่คืออีกหนึ่งวิธีการสอนงานสร้างทีมในแบบของผม  - เป็นอาการสอนกระบวนการที่จะเป็นอาสาสมัครผ่านการสอนแบบไม่สอน  กำกับแบบไม่กำกับ  ชมแบบไม่ชม   ดูแบบไม่ดู   ....แต่เน้นการลงมือทำ เรียนรู้ผ่านสถานการณ์จริงและทำกันในแบบเป็นทีม


หมายเหตุ 

เขียน :  4  สิงหาคม 2560
ภาพ : พนัส  ปรีวาสนา/จิรัฎฐ์ อภิวิชญ์ทีปกร/อติรุจ อัคมูล/นิสิตจิตอาสา/เครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม


หมายเลขบันทึก: 632490เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2017 09:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 สิงหาคม 2017 10:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

"ต้น สาย ปลายเหตุ"..น้ำท่วม..ไม่เคย..เห็นถูกหยิบยก..ขึ้นมาเป็นบริบท..อย่างที่คุณ แผ่นดิน..สรรค์ไว้..อยาก  และอยาก..รู้แลเห็น..เหมือนกัน..เจ้าค่ะ..(อยู่ไกล..ได้ยิน..แลเห็นจากเฟสบุ้ค..ว่า..สันเขื่อน..กักน้ำ..พัง)

เป็นสาเหตุ..ที่ไม่ยอมกล่าวถึง..ใช่รึเปล่า..(หาก..ใช่..มิใช่จะรู้  เพื่อกล่าวโทษซึ่งกันและกัน..อย่างที่เห็นเป็นข่าว...)แต่ทว่า..การเสนอข่าว..การป้องกัน..การอพยพ..ควร..มีมาแต่เนิ่นๆ..ชาวบ้าน  ที่ช่วย..ตัวตัวเองไม่ได้มีมากมาย..

มีตัวเลขมากมาย..ที่สามารถ..คำนวนได้,,จำนวนน้ำ เวลา ที่จะมา..เรามีกรม..ชลประทาน..อิอิ..-??!!!..ที่ต้องรับผิดชอบ..เรื่อง..ทำให้ประชาชน..รู้..อย่างเที่ยงตรง...

เห็นอยู่เหมือนกัน..ในเฟสบุ้ค..ว่า..มีน้ำกี่ล้านลูกบาศก์..ที่ท่วมจมูก..ประชาชนบ้านและนาข้าว..สัตว์เลี้ยง.ถนนหนทาง..(หลังน้ำท่วม)..???!!!...


ผู้สร้างแรงบันดาลใจ / ผู้กำกับ / พี่เลี้ยง / ผู้ปิดทองหลังพระ

อะไรก็ได้  ที่นิสิตคิดเป็น  ลงมือทำเอง  จะดี / ร้าย ... เรียนได้จากทุกสิ่ง

เป็นบทเรียนในช่วงชีวิตที่กำลังแสวงหาตัวตน ... คนอาสาจิตใจดีเพื่อสาธารณะ

ชื่นชมกระบวนการสร้างคนค่ะ

ใช่ครับ คุณยายธี


ยายธี

หลายประเด็นเป็นตามนั้นครับ  บางอย่างก็ก็กล่าวถึงไว้ในนี้ไม่ได้  บ้านเมืองเรายังขาดภูมิคุ้มกัน หรือระบบการป้องกันภัยพิบัติที่เป็นรูปธรรมและถือปฏิบัติกันในเชิงวัฒนธรรม  ปล่อยให้เหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วแก้ปัญหากันหน้างาน  พอเสร็จสิ้นก็ขาดการถอดบทเรียนอย่างจริงจังและขยายผลไปยังส่วนต่างๆ ....

หรือแม้แต่ระบบการก่อสร้างปลูกสร้างสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน  คูคลอง  ฝาย  ก็เกี่ยวโยงกับปัญหานี้ทั้งนั้น  หมดยุคที่จะร่ำไรว่ามาจากการโค่นป่าทำลายป่าไม้สถานเดียวแล้วครับ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท