ธรรมาภิบาลเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน


             ในอดีตที่ผ่านมาการบริหารประเทศมีประเด็นสำคัญที่คำนึงถึงอยู่สองส่วน กล่าวคือ ส่วนของผู้นำและส่วนของผู้ตาม “ผู้นำ” โดยทั่วไป ได้แก่ ผู้ปกครอง มีบทบาทหน้าที่ในการนำที่ดีสามารถโน้มน้าวให้ผู้ตามยอมรับและปฏิบัติตามได้ สำหรับ “ผู้ตาม” นั้น ได้แก่ ผู้ที่ถูกปกครอง กระทำตนเป็นผู้ตามที่ดีกล่าวคือ ปฏิบัติตามระเบียบกฎเกณฑ์ ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณีทางสังคมอย่างเคร่งครัด

            ต่อมา การบริหารประเทศได้มีการพูดถึงเรื่องอำนาจ โดยเชื่อว่า อำนาจเป็นเครื่องมือที่สามารถปกครองประเทศได้มีประสิทธิภาพมากที่สุดโดยมักจะอยู่ในรูปของกฎหมาย ดังนั้น กฎหมายจึงเป็นอำนาจของผู้ปกครองที่ใช้บังคับให้ผู้ที่ถูกปกครองต้องปฏิบัติตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

            อย่างไรก็ตามแม้ว่ากฎหมายจะออกมาดีแค่ไหนก็ล้วนแต่มีช่องโหว่และหาช่องว่างทางกฎหมายในการแสวงหาผลประโยชน์ได้ทั้งนั้นการปกครองไม่ว่าจะปกครองในระบอบใดก็สามารถก่อให้เกิดการคอรัปชั่นด้วยกันทั้งนั้นเพราะเป็นเรื่องจริยธรรมของผู้ปกครองและผู้ที่ถูกปกครองหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายขาดคุณธรรม จริยธรรมแม้จะวางโครงสร้างการปกครองและกฎหมายอย่างรัดกุมเพียงใดก็ไม่อาจแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างสำเร็จ

            ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ประเทศต่างๆ จึงนำธรรมาภิบาลขึ้นเป็นหลักการสำคัญในการบริหารประเทศ เพราะเชื่อว่าธรรมาภิบาลเป็นหลักจริยธรรมที่ก่อให้เกิดการบริหารจัดการที่ดีและนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

            การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นการพัฒนาที่ไม่สร้างปัญหาซ้ำซ้อนให้เกิดขึ้นการแก้ปัญหาที่ก่อให้เกิดปัญหาใหม่ๆ ขึ้นมาอีกไม่รู้จบไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาแบบธรรมาภิบาลปัญหาที่เกิดขึ้นมักจะมาจากการละเลยการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดฉันทามติเมื่อไม่เกิดฉันทามติการพัฒนาที่เกิดขึ้นจึงไม่มีความยั่งยืนเต็มไปด้วยข้อขัดแย้งเพราะสร้างความไม่พอใจ สร้างความเดือดร้อนให้แก่ฝ่ายที่ได้รับผลกระทบการประท้วง ต่อต้าน ดื้อแพ่ง ก็จะเกิดขึ้น และทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นจนอาจก่อให้เกิดจลาจลภายในประเทศตัวอย่าง โครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น กั้นแม่น้ำยม ในพื้นที่จังหวัดแพร่ ฝ่ายที่สนับสนุนการทำโครงการนี้ต้องอธิบายและตอบคำถามของประชาชนได้อย่างพอเพียงในทุกด้านทุกมิติตั้งแต่ผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นผลกระทบที่เกิดกับสัตว์ป่า ต้นไม้ และทรัพยากรธรรมชาติที่ต้องสูญเสียไปจากการสร้างเขื่อนต้องอธิบายได้ว่าจะแก้ไขปัญหาและรับผิดชอบต่อผลกระทบดังกล่าวนี้อย่างไรใครบ้างที่ต้องมีส่วนในการรับผิดชอบและรับประกันผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมรัฐบาลมีมาตรการป้องปรามสิ่งเหล่านี้เพียงพอหรือไม่ อาทิ รัฐบาลรับรองได้ว่าจะดำเนินการเพื่อให้วิถีชีวิตของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบได้รับการดูแลให้ดำรงชีวิตได้มีคุณภาพดีไม่น้อยกว่าเดิมหากจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตรัฐบาลมีมาตรการในการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนให้ดำรงอยู่อย่างพอเพียงได้หรือไม่ทั้งในด้านที่อยู่อาศัยและการประกอบอาชีพ รัฐบาลมีการปลูกต้นไม้ขึ้นมาใหม่เพื่อทดแทนต้นไม้ที่ตายไปเป็นจำนวนมากได้อย่างพอเพียงหรือไม่มีมาตรการอพยพสัตว์ป่าได้อย่างพอเพียงอย่างไรเป็นต้นหากรัฐบาลไม่อาจตอบคำถามและอธิบายสิ่งเหล่านี้ได้ก็ยากที่จะเกิดฉันทามติระหว่างผู้มีผลได้ผลเสียและผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงหากรัฐบาลใช้อำนาจบีบบังคับปัญหาก็จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเรื้อรัง แม้ว่ารัฐบาลจะสามารถตอบคำถามและอธิบายได้แต่ไม่อาจดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ก็จะกลายเป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อที่ไม่สามารถสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาที่เกิดขึ้นได้จริง

            ดังนั้นการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนจึงต้องพัฒนาอย่างมีธรรมาภิบาล เพราะธรรมาภิบาลก่อให้เกิดความพอเพียงแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและให้ความสำคัญแก่คนทั้งประเทศรัฐบาลจะทำโครงการใดๆ ก็ตามที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและสิ่งแวดล้อมต้องอธิบายและดำเนินการให้ได้อย่างพอเพียงเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

หมายเลขบันทึก: 632457เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2017 22:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 สิงหาคม 2017 22:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท