การมีส่วนร่วมเพื่อธรรมาภิบาลอย่างพอเพียง


            การกล่าวถึงหลักธรรมาภิบาลโดยละเลยหลักการทางจริยศาสตร์เป็นเหตุให้ธรรมาภิบาลกลายเป็นเพียงเครื่องมือ(Tool)สำหรับใช้วัดข้อเท็จจริงทางด้านปริมาณเท่านั้น ทั้งๆ ที่เส้นขนาน (Parallel)ระหว่างธรรมาภิบาลกับจริยศาสตร์เป็นเงาสะท้อนของกันและกันหรือเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้เพราะเป็นเรื่องคุณค่า (value) ที่นำไปสู่สิ่งที่ดีและก่อให้เกิดความสุขซึ่งเป็นหลักการสำคัญของหลักรัฐศาสตร์ที่ใช้ในการปกครอง

            เมื่อธรรมาภิบาลเป็นเรื่องของจริยศาสตร์ความพยายามในการอธิบายจริยธรรมแต่ละข้อแบบแยกส่วนเสมือนว่าเป็นองค์ประกอบที่ไร้ความสัมพันธ์ต่อกันนั้นในเชิงจริยธรรมไม่ถูกต้องทั้งทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติผู้เขียนมีความคิดเห็นว่า เหตุผลในการแบ่งหลักธรรมาภิบาลออกเป็นข้อๆ นั้น เป็นเพียงการลดทอนให้เห็นคุณสมบัติของข้อจริยธรรมต่างๆที่อยู่ในหลักธรรมาภิบาลและความเชื่อมโยงระหว่างจริยธรรมในแต่ละข้อเท่านั้นเมื่อนำไปใช้ต้องใช้อย่างมีเหตุผลที่เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ

            ในการพิจารณาเรื่ององค์รวมของธรรมาภิบาลในเชิงจริยธรรมนี้สิ่งสำคัญประการแรก ก็คือ ต้องแยกแยะความแตกต่างระหว่างการแยกส่วน (fragmentation) กับ การลดทอน(reductionism) เพราะ 2 คำนี้มีความหมายที่แตกต่างกันและไม่อาจใช้ควบคู่กันได้เพราะมีบริบทที่แตกต่างกัน

            การแยกส่วนคือ การที่ส่วนทั้งหมด(ที่พิจารณาศึกษา) ถูกแยกออกจากกัน และส่วนย่อยที่ถูกแยกออกมานั้นไม่ได้อยู่ในฐานะเป็นองค์ประกอบของส่วนทั้งหมดเดิมอีกต่อไป แต่กลายเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ดำรงอยู่อย่างลำพังและไร้ความสัมพันธ์กับส่วนอื่นส่วน การลดทอน นั้น หมายถึงการที่ส่วนทั้งหมดถูกแยกออกเป็นส่วนย่อยและถูกอธิบายด้วยคุณสมบัติของส่วนย่อยนั้นซึ่งยังคงต้องอาศัยการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของส่วนย่อยนั้นอยู่ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง

            การมองเห็นความแตกต่างของการแยกส่วน กับ การลดทอน ตลอดจนกรณีทั้งสองประการถูกนำมาใช้ร่วมกันนี้จะทำให้เรามีความเข้าใจเนื้อหาในเรื่ององค์รวมของธรรมาภิบาลได้มากขึ้นแต่การตีความที่ผ่านมาได้ถูกละเลยและขาดการพูดถึงหลักธรรมาภิบาลในเชิงจริยศาสตร์อย่างจริงจังว่าควรมีแนวทางในการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมให้เกิดกับการบริหารปกครองบ้านเมืองอย่างไรโดยทำให้เป็นการบริหารที่พัฒนาในเชิงโครงสร้างควบคู่ไปกับการพัฒนาคนที่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล

            ธรรมาภิบาลอย่างพอเพียงจะเกิดขึ้นได้แบบองค์รวมต้องอาศัยการมีส่วนร่วมหรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ การมีส่วนร่วมทำให้เกิดธรรมาภิบาลได้อย่างพอเพียง

          การมีส่วนร่วมเป็นหลักธรรมาภิบาลข้อหนึ่งที่เชื่อมโยงกับข้ออื่นๆเป็นการร่วมมือโดยเข้าไปมีส่วนในงานของส่วนรวมงานของส่วนรวมย่อมเกิดประโยชน์แก่คนหมู่มากและควรที่จะพิจารณาถึงประโยชน์สูงสุดของกลุ่มคนหมู่มากที่สุด อย่างไรก็ตามการมีส่วนร่วมนั้นมีความหมายในหลายระดับ ในคำภาษาอังกฤษที่ใช้แทนคำนี้อยู่หลายคำที่น่าสนใจซึ่งหากแยกให้เข้าใจกระจ่างจะทำให้การมีส่วนร่วมเกิดขึ้นด้วยจิตจำนง (will)ที่ตั้งใจในการฝ่ายดี และเกิดความประพฤติดีร่วมด้วย เมื่อเราพูดถึงการมีส่วนร่วมเราคิดรวบยอดถึงการมีส่วนร่วมเข้ามาแสดงความคิดเห็นในฐานะคนนอก ลูกค้าผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หลังจากนั้นก็พร้อมใจร่วมกันทำโดยถือเป็นหน้าที่ความคิดรวบยอดในลักษณะนี้เป็นไปในเชิงปฏิบัตินิยมกล่าวคือ มองทุกอย่างในแง่ปฏิบัติหากแต่ในรายละเอียดเมื่อพิจารณาถึงการใช้ปัญญาและการลงมือทำอย่างรอบคอบรอบด้านแล้วผู้กระทำงานในโครงการต่าง ๆพึงที่จะแยกส่วนให้แต่ละส่วนเกิดผลดีและประสานสอดคล้องกันได้

            รูปแบบการมีส่วนร่วมอาจแบ่งได้เป็น3 รูปแบบ ดังนี้

            1) การมีส่วนร่วมแบบกฎเกณฑ์การมีส่วนร่วม participation เช่นนี้ ใครก็เข้ามาได้ขอเพียงมีความสนใจและเวลา เขาอาจเข้ามาช่วยแสดงความคิดเห็นที่สอดคล้อง ทัดทาน คัดค้านหรือมีมุมมองที่แตกต่างได้อันจะก่อให้เกิดความหลากหลายของความคิด ผลสำคัญของการมีส่วนร่วม คือ เราได้แนวโน้มของความคิดเห็นต่อโครงการโดยปกติมักจะมีการทำประชามติเพื่อให้เห็นว่าเสียงส่วนใหญ่คิดอย่างไร และใช้เป็นมติเพื่อแสดงการสนับสนุนหรือคัดค้านที่เด่นชัดแต่กระนั้น ข้อเสียของการมีส่วนร่วมขั้นนี้ก็คือ การที่มีใครก็ได้เข้ามาทำให้มีการเกณฑ์คนที่มีความคิดเห็นสอดคล้องกันเข้ามาหรือกันคนที่มีความเห็นต่างออกไปจากเวทีแสดงความคิดเห็นเพื่อให้ได้มติตามที่เจ้าของโครงการมุ่งหมายก็ย่อมทำได้ดังนั้น จึงต้องกำหนดเกณฑ์การเข้ามามีส่วนร่วมที่ชัดเจนและเป็นธรรมเสียก่อนและการแสดงความคิดเห็นพึงให้เกิดขึ้นได้ในทุก ๆ กลุ่ม ทุก ๆ ฝ่ายจึงจะทำให้กระบวนการมีส่วนร่วมดำเนินไปและเกิดประสิทธิผล

          2) การมีส่วนร่วมแบบมีผลได้ผลเสียการมีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา(engagement)การมีส่วนร่วมในระดับนี้ มีเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบของการพัฒนา ซึ่งอาจเป็นผู้ดำเนินโครงการผู้คัดค้านโครงการ ฝ่ายราชการ ฝ่ายประชาชนในพื้นที่ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเขาเหล่านี้จะเข้ามาแทรกในกระบวนการ participation และมุ่งแสดงความคิดเห็นและเรียกร้องให้มีการลงมติเข้าข้างความคิดเห็นของเขากระบวนการสำคัญคือการประนีประนอมความคิดเห็นเพื่อให้เกิดทางออกของการแก้ไขปัญหาและการแสวงหาจุดร่วมสงวนจุดต่างเพราะอย่างไรก็ตามคนกลุ่มนี้ทั้งหมดย่อมเป็นผู้ได้รับผลกระทบของการพัฒนาไม่ทางใดก็ทางหนึ่งสิ่งสำคัญก็คือห้ามละทิ้งกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพราะกลุ่มที่ถูกทิ้งจะกระทำการต่อต้านอย่างถึงที่สุดและนำไปสู่ความขัดแย้งที่บานปลายอันแสดงถึงกระบวนการมีส่วนร่วมที่กระทำนั้นขาดประสิทธิภาพ

            3) การมีส่วนร่วมแบบจิตอาสาการมีพันธะที่จะต้องกระทำด้วยใจอย่างจิตอาสา (commitment)การมีส่วนร่วมในขั้นนี้ ประกอบด้วยคน 2 กลุ่ม กล่าวคือฝ่ายผู้สนับสนุน (promoter) และฝ่ายผู้คัดค้าน (protester) ทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีภาระหน้าที่ ๆต้องกำกับการพัฒนาตามกรอบความคิดของตน หากแต่การแสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่างในขั้นที่ต้องการพัฒนาทำให้การสนับสนุนและการประท้วงเป็นไปอย่างเป็นกัลยาณมิตรไม่นิยมความรุนแรงหากแต่ใช้การกำกับดูแลและการแสดงความคิดเห็นเพื่อให้อีกฝ่ายได้ตระหนักและระวังในการพัฒนาฝ่ายสนับสนุนจะมีจิตอาสาขับเคลื่อนโครงการให้เดินไปข้างหน้าจุดตรงไหนติดขัดก็เข้าไปติดต่อ สอบถาม วิเคราะห์ และแก้ปัญหาอย่างเหมาะสมฝ่ายต่อต้านก็มีจิตอาสาคอยจับตาดูการดำเนินงานของฝ่ายสนับสนุนการกระทำใดที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมหรืออาจเกิดภัยร้ายต่อเป้าหมายหรือคนหมู่มากจะต้องถูกร้องเตือนเพื่อให้ประชาชนและสังคมได้รับรู้เป็นกระบวนการคู่ขนานที่จะทำให้การพัฒนาดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลแท้จริงคือ เกิดความสุขแก่ประชาชน โดยคนหมู่มากได้ประโยชน์จริง และคนหมู่น้อยก็ไม่ถึงกับต้องทนทุกข์เมื่อมีการดำเนินการก็มีส่วนร่วมพิจารณาถึงระดับการมีส่วนร่วมเช่นนี้ได้ประชาชนย่อมเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาตนเองในฐานะต่างๆและฝ่ายผู้ดำเนินโครงการก็จะทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติอย่างแท้จริง

            การมีส่วนร่วมแต่ละระดับมีความจำเป็นที่แตกต่างกันแต่ก็ช่วยสอดประสานให้เกิดความสมดุลให้แก่กันและกันได้การมีส่วนร่วมที่ทำให้เกิดธรรมาภิบาลอย่างพอเพียงได้นั้น จำเป็นต้องพยายามทำให้เกิดฉันทามติขึ้นเพราะฉันทามติเป็นการมีส่วนร่วมที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายแม้ว่าอาจมีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็สามารถเปิดเวทีสาธารณะในฐานะฝ่ายผู้คัดค้านที่ประท้วงอย่างเป็นกัลยาณมิตรซึ่งทั้งฝ่ายดำเนินงานแบบธรรมาภิบาลและฝ่ายผู้ตรวจสอบความโปร่งใสที่ดีแก่สังคมแบบธรรมาภิบาลต่างก็มีส่วนร่วมที่ทำให้เกิดระบบธรรมาภิบาลที่มีประสิทธิภาพและพัฒนาประเทศชาติให้เกิดความพอเพียง

หมายเลขบันทึก: 632454เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2017 22:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 สิงหาคม 2017 22:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท