ความจริงมีอยู่ในความไร้อัตตาตัวตน


19. ความจริงมีอยู่ในความไร้อัตตาตัวตน

ถาม  ผมเป็นศิลปินวาดภาพ และผมขายรูปที่วาดเพื่อหาเงินเลี้ยงชีวิต

นั่นเป็นสิ่งที่มีคุณค่าบ้างหรือเปล่าครับ ในแง่ของจิตวิญญาณ?

ตอบ  เมื่อเธอวาดภาพ เธอคิดเรื่องอะไร?

 

ถาม  เวลาผมวาดภาพ มันมีแค่ตัวผมและภาพที่กำลังวาด

ตอบ  แล้วเธอทำอะไร?

 

ถาม  ผมวาดภาพ

ตอบ  เปล่าหรอก เธอไม่ได้วาดภาพ เธอเห็นการวาดภาพกำลังดำเนินไป

เธอแค่เฝ้ามองเท่านั้น สิ่งอื่นๆก็แค่เกิดขึ้นของมัน

 

ถาม  แล้วภาพมันก็วาดไปเองหรือ?

หรือว่ามี “ตัวผม” ที่ลึกลงไป หรือมีพระเจ้าที่กำลังวาดภาพ?

ตอบ  ความรู้ตัวนั่นแหละ เป็นนักวาดภาพที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

โลกทั้งหมดนี้คือภาพที่มันวาด

 

ถาม  ใครวาดภาพของโลก?

ตอบ  ผู้วาดอยู่ในภาพนั้นอยู่แล้ว

 

ถาม  ภาพวาดอยู่ในใจของผู้วาด และผู้วาดก็อยู่ในภาพวาด ซึ่งภาพนั้นอยู่ในใจของผู้วาดซึ่งอยู่ในภาพนั้นด้วย!

สภาวะและมิติที่เป็นอนันต์นี้มันไม่บ้าไปหน่อยหรือครับ?

เวลาเราพูดถึงภาพที่อยู่ในใจของผู้วาด ซึ่งผู้วาดเองก็มีอยู่ในภาพนั้น เรากำลังเข้าสู่การมีแล้วมีเล่าของผู้เฝ้ารู้เฝ้าดู ผู้เฝ้าดูที่สูงกว่ามองเห็นผู้เฝ้าดูที่ต่ำกว่า

มันเหมือนยืนอยู่ระหว่างกระจกสองบาน แล้วมองดูภาพสะท้อนจำนวนมากมายนั้นด้วยความอัศจรรย์ใจ

ตอบ  ใช่ จริงๆแล้วมีแค่เธอกับกระจกสองบานเท่านั้น ระหว่างสองสิ่งนี้ ทำให้เกิดรูปตัวเธอและชื่อต่างๆขึ้นมากนับไม่ถ้วน

 

ถาม  ท่านมองดูโลกอย่างไร?

ตอบ  ฉันเห็นนักวาดภาพกำลังวาดภาพ

ภาพที่ฉันเรียกว่าโลก นักวาดภาพที่ฉันเรียกว่า พระเจ้า

ฉันไม่ใช่ทั้งสองอย่างนั้น

ฉันไม่ได้เป็นผู้สร้าง และฉันไม่ได้ถูกสร้างขึ้น

ทุกสรรพสิ่งมีอยู่ในฉัน แต่ฉันไม่มีอยู่ในสิ่งใด

 

ถาม  เมื่อผมมองเห็นต้นไม้ เห็นใบหน้าผู้คน เห็นพระอาทิตย์ตก ภาพนั้นสมบูรณ์แบบ

เมื่อผมหลับตา ภาพที่อยู่ในใจผมจางและรางเลือน

ถ้าใจของผมเป็นสิ่งทำหน้าที่ฉายภาพ ทำไมผมต้องลืมตาเพื่อมองเห็นดอกไม้สวยงาม และเมื่อหลับตา ภาพที่ผมเห็นกลับรางเลือน?

ตอบ  นั่นเป็นเพราะนัยน์ตาภายนอกของเธอดีกว่านัยน์ตาภายใน

ใจของเธอล้วนส่งออกไปภายนอก

แต่เมื่อเธอเรียนรู้ที่จะมองดูโลกภายในใจ เธอจะพบว่ามันมีสีสันมากกว่าและสมบูรณ์แบบกว่าที่นัยน์ตาภายนอกจะให้ได้

แน่นอน เธอต้องผ่านการฝึกเสียก่อน

แต่เธอจะถกเถียงไปทำไมเล่า?

เธอจินตนาการไปว่าภาพจพต้องมาจากผู้วาดภาพซึ่งได้ลงมือวาดภาพนั้นจริงๆ

ตลอดเวลา เธอมองหาเหตุ และที่มา

การมีที่มาและเหตุล้วนเป็นเรื่องที่ใจสร้างขึ้น และความจำทำให้เกิดภาพมายาที่ต่อเนื่อง และการเกิดซ้ำทำให้เกิดความคิดเกี่ยวกับการมีที่มาและเหตุ

เมื่อสิ่งต่างๆเกิดขึ้นร่วมกันซ้ำๆ เรามักมองเห็นว่ามีเหตุเชื่อมโยงระหว่างมัน

นี้ทำให้เกิดนิสัยทางใจ แต่นิสัยนี้ไม่ใช่สิ่งจำเป็น

 

ถาม  ท่านเพิ่งพูดว่าโลกถูกสร้างขึ้นโดยพระเจ้า

ตอบ  จำไว้ว่าภาษาเป็นเพียงเครื่องมือของใจ

มันถูกสร้างขึ้นด้วยใจ เพื่อใจ

เมื่อเธอยอมรับเหตุ ดังนั้นพระเจ้าก็คือเหตุสูงสุด และโลกคือผล

ทั้งสองอย่างนี้ต่างกัน แต่ไม่ได้แยกจากกัน

 

ถาม  ผู้คนพูดว่าได้เห็นพระเจ้า

ตอบ  เมื่อเธอเห็นโลก เธอเห็นพระเจ้า

มันไม่มีการเห็นพระเจ้าที่แยกต่างหากจากการเห็นโลก

เหนือไปจากโลก การเห็นพระเจ้าคือการเป็นพระเจ้า

แสงที่ทำให้เธอเห็นโลก ซึ่งก็คือพระเจ้า เป็นเพียงประกายเล็กๆ

“ฉันเป็น” นั้นเล็กน้อยมาก แต่ก็เป็นสิ่งแรกและสิ่งสุดท้ายในทุกกิจกรรมของการรู้และการรัก

 

ถาม  ผมต้องเห็นโลกจึงจะเห็นพระเจ้าใช่ไหม?

ตอบ  จะเป็นอย่างอื่นไปได้อย่างไร? ไม่มีโลก ก็ไม่มีพระเจ้า

 

ถาม  แล้วอไรที่เหลืออยู่?

ตอบ  เธอเหลืออยู่ในลักษณะของความบริสุทธิ์

 

ถาม  แล้วโลกและพระเจ้าจะเป็นอะไร?

ตอบ  ความบริสุทธิ์ (avyakta)

 

ถาม  มันเหมือนกันกับความกว้างไม่มีประมาณ (paramakash) หรือเปล่า?

ตอบ  เธออาจเรียกมันว่าอย่างนั้นก็ได้

ชื่อนั้นไม่สำคัญ เพราะคำพูดใดๆไม่สามารถเข้าถึงมันได้

มันสะท้อนกลับมาในลักษณะของการปฎิเสธอย่างที่สุด

 

ถาม  ผมจะเห็นโลกเป็นพระเจ้าได้อย่างไร? มันหมายความว่าอย่างไรที่จะเห็นโลกในฐานะของพระเจ้า?

ตอบ  มันเหมือนกับการเข้าไปในห้องมืด

เธอไม่เห็นอะไรเลย – เธออาจสัมผัสบางอย่าง แต่เธอไม่เห็น – มี่สี ไม่มีรูปร่าง

เมื่อหน้าต่างเปิดออก ทั้งห้องเต็มไปด้วยแสงสว่าง

สีสันและรูปร่างก็ปรากฏขึ้นมา

หน้าต่างคือผู้ให้แสง แต่ไม่ใช่แหล่งกำเนิดแสง

พระอาทิตย์คือแหล่งกำเนิดแสง

ในทำนองเดียวกัน สสารเป็นเหมือนห้องมืด หน้าต่างคือความรู้ตัว ที่ทำให้สสารเต็มไปด้วยประสาทสัมผัสและการรับรู้ และสภาวะสูงสุดคือพระอาทิตย์ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของทั้งสสารและแสง

หน้าต่างอาจจะปิด หรือเปิด แต่พระอาทิตย์จะส่องแสงตลอดเวลา

การเปิดปิดของหน้าต่างส่งผลต่อห้อง แต่ไม่ส่งผลต่อดวงอาทิตย์

แต่ทั้งหมดนี้ยังเป็นรองสิ่งเล็กๆที่เรียกว่า “ฉันเป็น”

ถ้าไม่มี “ฉันเป็น” ก็จะไม่มีอะไรเลย

ความรู้ทั้งหมดล้วนเกี่ยวกับ “ฉันเป็น”

ความคิดผิดๆเกี่ยวกับ “ฉันเป็น” นำไปสู่การยึดมั่นถือมั่น

ความรู้ที่ถูกต้องจะนำไปสู่อิสรภาพและความสุข

 

ถาม  “ฉันเป็น” กับ “ที่นั่นมี” เหมือนกันหรือเปล่า?

ตอบ  “ฉันเป็น” หมายถึงสิ่งภายใน “ที่นั่นมี” หมายถึงสิ่งภายนอก

ทั้งสองคำล้วนมาจากการรู้สึกว่าเป็นอยู่

 

ถาม  มันเหมือนกันกับประสบการณ์ของการมีอยู่หรือเปล่า?

ตอบ  การมีอยู่หมายถึงอะไรบางอย่างมีอยู่ อาจเป็นสิ่งของ ความรู้สึก ความคิด แนวคิด

การมีอยู่ทั้งหมดล้วนมีความเฉพาะ

การเป็นอยู่เท่านั้นที่เป็นสากล ทุกการเป็นอยู่ล้วนเข้ากันได้ทั้งหมด

การมีอยู่อาจกระทบกระทั่งกัน แต่การเป็นอยู่ไม่กระทบกัน

การมีอยู่หมายถึง การกลาย การเปลี่ยนแปลง การเกิดและตายและเกิดอีก แต่การเป็นอยู่จะมีแต่สันติที่เงียบสงบ

 

ถาม  ถ้าผมสร้างโลก ทำไมผมจึงต้องทำให้มันเลว?

ตอบ  ทุกคนอยู่ในโลกของตัวเอง

ทุกโลกดีเลวไม่เท่ากัน

 

ถาม  อะไรทำให้เกิดความแตกต่างนี้?

ตอบ  ใจที่ฉายภาพโลก ฉาบสีสันให้โลกด้วยวิธีการของมันเอง

เมื่อเธอพบใครคนหนึ่ง เขาคือคนแปลกหน้าสำหรับเธอ

เมื่อเธอแต่งงานกับเขา เขากลายเป็นตัวเธอเอง

เมื่อทะเลาะกัน เขากลายเป็นศัตรูของเธอ

ทัศนคติของใจเธอนั่นแหละที่ตัดสินว่าเขาเป็นอย่างไรสำหรับเธอ

 

ถาม  ผมเข้าใจแล้วว่าโลกของผมขึ้นอยู่กับตัวผมเอง

นั่นทำให้มันเป็นเพียงมายาภาพหรือเปล่า?

ตอบ  มันเป็นมายาภาพตราบใดที่มันยังขึ้นอยู่กับอัตตาตัวตนของเธอ

ความเป็นจริงจะอยู่ในความไร้อัตตาตัวตนเท่านั้น

 

ถาม  ความไร้อัตตาตัวตนหมายถึงอะไร?

ท่านพูดว่าโลกเป็นสิ่งขึ้นกับอัตตาตัวตน มาตอนนี้ท่านพูดถึงความไร้อัตตาตัวตน

ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้เป็นสิ่งซึ่งมีตัวตนอยู่แล้วหรอกหรือ?

ตอบ  ทุกสิ่งล้วนมีตัวตน แต่ความจริงไร้ตัวตน

 

ถาม  ในแง่ไหน?

ตอบ  ความจริงไม่ได้ขึ้นอยู่กับความทรงจำและความคาดหวัง ความต้องการและความกลัว ความชอบและความไม่ชอบ

ทุกอย่างถูกเห็นอย่างที่มันเป็น

 

ถาม  นั่นคือสิ่งที่ท่านเรียกว่า สถานะที่สี่ (turiya) หรือเปล่า?

ตอบ  เธอจะเรียกมันว่าอะไรก็ได้

มันเป็นสิ่งหนักแน่น มั่นคง ไร้การเปลี่ยนแปลง ไร้จุดเริ่มต้น ไร้จุดสิ้นสุด ใหม่เสมอ สดเสมอ

 

ถาม  เราจะเข้าถึงสภาวะนั้นได้อย่างไร?

ตอบ  การไร้ความต้องการและการไร้ความกลัวจะพาเธอไปถึงที่นั่นเอง

 

ศรี นิสาร์กะทัตตะ มหาราช

“I AM THAT”

หมายเลขบันทึก: 632401เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2017 18:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 สิงหาคม 2017 18:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท