การจัดการศึกษาท้องถิ่น ตอนที่ 10 : บทสรุปการปฏิรูปการศึกษา


การจัดการศึกษาท้องถิ่น ตอนที่ 10 : บทสรุปการปฏิรูปการศึกษา

3 สิงหาคม 2560

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

ร่ายยาวเรื่องการการปฏิรูปการศึกษาไทยมาหลายบท ยิ่งเขียนยิ่งเยอะ คราวนี้คงขอปิดท้ายแค่นี้ก่อน การมาทบทวนเรื่องราวเก่าเบื้องหลังอาจทำให้ หูตาสว่างขึ้นบ้าง แม้ “การปฏิรูปการศึกษา” จะเกิดมาแล้วสองละลอกใหญ่ในห้วงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ 2550 ก็ตาม ในหลายเรื่องเป็นเรื่องเก่าซ้ำซากที่ต้องมาต่อละลอกที่สามในห้วงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ด้วยต้นทุนที่สูงมากทั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) [2] และ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) [3]

 

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์การจัดการศึกษาไทย 3 ยุค [4]

ได้แก่ (1) การศึกษาไทยสมัยโบราณ (พ.ศ. 1781-2411) ยังไม่มีโรงเรียนแก่เด็กไทยในสมัยนั้นสามารถหาความรู้ได้จากที่บ้าน สำนักสงฆ์ (2) การศึกษาสมัยปฏิรูปการศึกษา (พ.ศ. 2412-2475) ผลจากการเข้ามาของชาวตะวันตกและการเปิดประเทศค้าขายกับตะวันตกนำไปสู่การเปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัย (3) การศึกษาสมัยปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญ (พ.ศ. 2475-ปัจจุบัน) การศึกษามีความสำคัญมากขึ้น พัฒนาคนให้เข้าใจระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญของฝ่ายปกครอง มีแผนการศึกษาชาติ พ.ศ. 2475 แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2503  มี พรบ. ศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งมีการปรับโครงสร้างการบริหารการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการใหม่แบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ (1) สภาการศึกษา (2) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (3) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (4) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มีการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ 15 ปี พ.ศ. 2545-2559 และ มีแผนการศึกษาแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2552-2559 ปัจจุบันคือ “แผนการศึกษาแห่งชาติ 20 ปี พ.ศ. 2560-2579” (ร่างเดิม 15 ปี พ.ศ. 2560-2574)

 

มาดูแผนการศึกษาแห่งชาติ 20 ปี พ.ศ. 2560-2579 โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)กระทรวงศึกษาธิการ [5]

 

วิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ เป้าหมาย และผลลัพธ์สุดท้ายการศึกษา

วิสัยทัศน์ “คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21”

6 ยุทธศาสตร์ คือ (1) ยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติ (2) ยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (3) ยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัยและการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ (4) ยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา (5) ยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (6) ยุทธศาสตร์การพัฒนาประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการศึกษา

5 เป้าหมาย (Output) คือ (1) การเข้าถึงการศึกษา (Access) (2) ความเท่าทียม (Equity) (3) คุณภาพ (Quality) (4) ประสิทธิภาพ (Efficiency) (5) ตอบโจทย์บริบทที่เปลี่ยนแปลง (Relevancy)

3 ผลลัพธ์สุดท้าย (Outcome) คือ (1) ประเทศไทยก้าวข้าม Middle Income Trap (2) สังคมแห่งการเรียนรู้ และคุณธรรม มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (3) ปั้นเด็กไทย 4.0 พัฒนาเด็กไปสู่ศตวรรษที่ 21 ให้เด็กสนใจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ตัวเด็กต้องเป็นศูนย์กลาง  เด็กไทย 3 Rs [6] ได้แก่ Reading (การอ่าน), การเขียน (Writing) และ คณิตศาสตร์ (Arithmetic)  

 

ผลการพัฒนาการศึกษาไทยที่ผ่านมา  

          มีข้อมูลน่าสนใจใน 3 ด้าน สรุปดังนี้

(1) บริบทของการจัดการศึกษา (1.1) เด็กที่จะเข้าสู่ระบบการศึกษามีแนวโน้มลดลง (1.2) สถานศึกษามีแนวโน้มขนาดเล็กลงและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น  มีข้อเสนอว่า ทบทวนการบริหารจัดการทรัพยากรที่อยู่ในระบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพและใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด

(2) โอกาสทางการศึกษา (2.1) ประชากรกลุ่มอายุวัยเรียน มีโอกาสเข้ารับการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (อนุบาล - มัธยมศึกษาตอนปลาย) เพิ่มสูงขึ้น (2.2) เด็กด้อยโอกาสและผู้มีความต้องการจำเป็นพิเศษที่ได้เข้าเรียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น (2.3) การออกกลางคัน ยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่อง แต่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น (2.4) ระดับการศึกษาของประชากรวัยแรงงานที่มีอายุ 15-59 ปี มีจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 8.0 ปี ในปี 2552 เป็น 10.0 ปี (2.5) อัตราการไม่รู้หนังสือของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 5.9 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 3.3 ในปี 2558 มีข้อเสนอว่า แม้โอกาสทางการศึกษาจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ยังพบปัญหาประชากรวัยเรียนระดับ ม.ต้นที่ไม่ได้เข้ารับการศึกษาในระบบประมาณร้อยละ 11.7 และประชากรวัยแรงงานที่มีการศึกษาต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนต้น

(3) คุณภาพของการศึกษา (3.1) พัฒนาการของเด็กแรกเกิดถึงอายุ 5 ปี ในช่วงปี 2553-2557 พบว่า มีพัฒนาการสมวัยลดลงจากร้อยละ 73.4 เป็นร้อยละ 72.7 (3.2) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จากคะแนน 0-Net ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ (3.3) ความสามารถในการเรียนรู้ของผู้เรียนเทียบกับนานาประเทศทั่วโลกและในอาเซียน ไทยยังอยู่ในลำดับที่ต่ำ (3.4) ทักษะการเรียนรู้และการใฝ่หาความรู้ของคนไทย พบว่าเพิ่มมากขึ้น แต่ยังขาดความสามารถในการจัดการและการสังเคราะห์ข้อมูล (3.5) จำนวนคดีเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีมีแนวโน้มลดลง (3.6) ทักษาด้านภาษาของแรงงานที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ประกอบการมีแนวโน้มลดลง (3.7) ผลผลิตของการศึกษากับความต้องการกำลังคน พบว่ามีความไม่สอดคล้องกัน มีข้อเสนอว่า (1) คุณภาพการศึกษาทั้งด้านวิชาการและคุณลักษณะจองผู้เรียนยังไม่น่าพอใจ และทักษะของกำลังแรงงานยังไม่ตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการ (2) ต้องมีการวิเคราะห์ทบทวนเป้าหมายและสาขาการผลิตและคุณภาพของกระบวนการจัดการศึกษา

 

สภาพปัญหาการกระจายอำนาจการศึกษา [7]

มีผลการศึกษาปี 2556 โครงการวิจัย “การบริหารจัดการศึกษาภายใต้แนวคิดการกระจายอำนาจ : ศึกษาเปรียบเทียบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทยและเกาหลีใต้ (ระยะที่ 1)” โดย รศ.สุรัสวดี หุ่นพยนต์ และคณะ แบ่งสภาพปัญหาเป็น 2 ระดับคือ ระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติการ ดังนี้

(1) ระดับนโยบาย พบว่า (1.1) โครงสร้างทางการเมืองของไทยอาจไม่ค่อยสนับสนุนแนวคิดเรื่องการกระจายอำนาจ เนื่องจากการเมืองมีคนที่มีอำนาจอยู่มาก และเป็นวัฒนธรรมการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจมากกว่าการกระจายอำนาจ การกระจายอำนาจการศึกษาในประเทศไทยยังไม่กระจายอย่างแท้จริงเป็นลักษณะการรวมศูนย์อำนาจแต่แยกส่วนการทำงาน และยังไม่บูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนทำให้อำนาจยังคงที่กระทรวงหรือส่วนกลาง (1.2) ปัญหาการถ่ายโอนโรงเรียนจาก สพฐ.เช่น การโยกย้ายมาแล้วต้องการย้ายกลับคืนเหมือนเดิม หรือโรงเรียนบางแห่งของ สพฐ. ต้องการที่จะย้ายมาอยู่ในความดูแลของ อปท. แต่ติดปัญหาเรื่องระเบียบข้อบังคับต่างๆ และ (1.3) อปท.ที่ต้องบริหารจัดการโรงเรียนยังไม่ เป็นอิสระในการบริหารวิชาการมากนักเพราะเนื้อหาหลักสูตรการจัดการเรียนรู้ ต้องขึ้นอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการ


(2) ระดับปฏิบัติการ พบว่า มีบางประเด็นที่ยังเป็นปัญหาและมีอุปสรรคอีกมาก โดยนับจากที่มีการปฏิบัติแล้วจะพบปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่คล้ายคลึงกัน จำแนกเป็น 5 ด้าน ดังต่อไปนี้ (2.1) ปัญหาทัศนคติความรู้ความเข้าใจ ความคาดหวัง และความตองการของบุคลากรทางการศึกษาและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต่อการกระจายอำนาจการศึกษาสู่ อปท. (2.2) ปัญหาครู และผู้บริหารบางคนยึดติดการสอนแบบเดิม ทางส่วนกลางได้กระจายความคิดให้ กับผู้นำท้องถิ่นถ้าผู้นำท้องถิ่นบางคนมีความเข้าใจก็จะสามารถต่อยอดความคิดและจัดหลักสูตรท้องถิ่นที่เด่นขึ้นมาได้หากผู้นำท้องถิ่นเข้าใจปรัชญาการศึกษาที่แท้จริง และต้องขึ้นอยู่กับความกล้าคิดนอกกรอบ และกล้าคิดอะไรใหม่ (2.3) ปัญหาการต่อต้านของกลุ่มผู้บริหารและบุคลกรทางการศึกษาในสถานศึกษา ในช่วงแรกในการสรรหาบุคคลากรเพื่อมาพัฒนาการศึกษาได้อย่างเต็มที่และอำนาจการบริหารจัดการยังไม่ชัดเจน ประกอบกบการเกรงกลัวอำนาจของผู้นำท้องถิ่น (2.4) ปัญหาในการบริหารจัดการ เช่น ครูมีภาระงานมากครูต้องทำหน้าที่การเงิน พัสดุและงานธุรการต่างๆ โรงเรียนไม่สามารถเลือกครูที่จะบรรจุหรือย้ายเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนได้ส่วนการบริหารทั่วไปก็พบปัญหาขาดการประสานงาน และ (2.5) การออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา พ.ศ. 2550 แล้ว แต่หน่วยปฏิบัติก็ยังไม่มีอิสระและความคล่องตัวในการบริหารงานและจัดการศึกษาเท่าที่ควร และยังขาดการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการศึกษาจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง รวมถึงความไม่พร้อมของท้องถิ่นในการจัดการศึกษา ซึ่งถือว่ายังไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

 

          สถานการณ์สังคมสูงวัยที่ "มีอัตราการเพิ่มประชากรน้อยมาก" เป็น "วิกฤติประชากรไทย" ซึ่งจะไปเกี่ยวพันกับเรื่องการขาดแรงงาน การลดลงของจำนวนนักเรียน นักศึกษา ที่มีผลกระทบต่อโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ในอนาคตอันใกล้ ที่อาจมีผลทำให้ต้องมีการพิจารณาปิดโรงเรียนหรือยุบโรงเรียน จนกระทั่งนักศึกษาลดลงไม่สัมพันธ์กับจำนวนมหาวิทยาลัย ที่อาจต้องทบทวนนโยบาย "การควบรวมมหาวิทยาลัย" ก็ได้ [8]

 

จากข้อมูลข้างต้นเป็นข้อเท็จจริงทางการศึกษาที่ได้มีการศึกษาวิจัยจนได้ข้อสรุปแล้ว หวังว่า การนำเสนอข้อมูลดังกล่าว คงเป็นประโยชน์ในมิติต่าง ๆ และ เพื่อการเผยแพร่แก่นักการศึกษาทั่ว ๆ ไป โดยเฉพาะนักการศึกษาท้องถิ่น  เพราะท้องถิ่นมีความเหมาะสมมากที่สุดในการจัดการศึกษาระดับปฐมวัย (เด็กเล็ก) [9] อันเป็นหัวใจของการพัฒนาการศึกษา การพัฒนาคนเพื่อเป็นกำลังคนที่ดีมีคุณภาพของชาติต่อไป

 

 

 

 

[1]Phachern Thammasarangkoon, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 64 ฉบับที่ 47 วันศุกร์ที่ 4 วันพฤหัสบดีที่ 10 สิงหาคม 2560, หน้า 66

[2]สภาปฏิรูปแห่งชาติ, วิกิพีเดีย, https://th.wikipedia.org/wiki/สภาปฏิรูปแห่งชาติ

สภาปฏิรูปแห่งชาติ (6 ตุลาคม พ.ศ. 2557 – 6 กันยายน พ.ศ. 2558) หรือ สปช. เป็นสภาที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 27

[3]สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ, วิกิพีเดีย, https://th.wikipedia.org/wiki/สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) (13 ตุลาคม พ.ศ. 2558 - 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2560) หรือ สปท. เป็นสภาที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2558 มาตรา 39/2 ทำหน้าที่ศึกษาและปฏิรูปทั้ง 11 ด้านสืบต่อจาก สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่ถูกยุบไปตามมาตรา 39/1

[4]บทสรุป (การศึกษาไทย), บ้านจอมยุทธ, https://www.baanjomyut.com/lib...  

& วิวัฒนาการการจัดการศึกษา, บ้านจอมยุทธ, https://www.baanjomyut.com/lib...

[5]แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 2579, โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กระทรวงศึกษาธิการ, http://backoffice.onec.go.th/u... & แผนพัฒนาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564), บทสรุปสำหรับผู้บริหาร, 30 มกราคม 2560, http://bps.sueksa.go.th/แผนพัฒนาการศึกษาของกระ/  

[6]ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม หรือ 3R  และ 4C, ดู เรียนรู้ในศตวรรษที่ 21, กระทรวงศึกษาธิการ, 13 ตุลาคม 2557, www.moe.go.th/moe/th/news/deta...38880&Key=news_research

& ดร.อนุชา โสมาบุตร, การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 ( 21st Century Learning ), 25 กันยายน 2556, https://teacherweekly.wordpress.com/2013/09/25/การเรียนรู้แห่งศตวรรษท/

[7]รศ. สุรัสวดี หุ่นพยนต์ และคณะ, “การบริหารจัดการศึกษาภายใต้ แนวคิดการกระจายอำนาจ : ศึกษาเปรียบเทียบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทยและเกาหลีใต้ (ระยะที่ 1)”, งานวิจัยที่ดำเนินการเสร็จสมบูรณ์ ของสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2556, www.asia.tu.ac.th/research/Exe...

[8]ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม, นโยบายการวางแผนด้านประชากรไทย : คอลัมน์ สายตรงท้องถิ่น, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน, 24 กรกฎาคม 2560, http://kontb.blogspot.com/sear...

& ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์, อาจารย์มหาวิทยาลัยไทยต้องปรับตัว พัฒนาตัวเอง และเตรียมตัวตกงาน, สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 28 ธันวาคม 2559, https://m.manager.co.th/Daily/detail/9590000129178

[9]ดู ร่วมมือจัดการศึกษาเด็กเล็ก, 6 มิถุนายน2560, http://www.komchadluek.net/new... & ดร.สุวรรณ  พิณตานนท์, การจัดการศึกษาของ อปท., ส่วนแผนและงบประมาณทางการศึกษาท้องถิ่น สำนักประสานและพัฒนาการจัดการศึกษาท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, http://www.drsuwan.com/index.p...

& หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ มท 0816.3/ว 1018ลงวันที่ 23พฤษภาคม 2560 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานวิชาการการจัดการศึกษาท้องถิ่น ระดับ ส่วนกลาง, http://www.dla.go.th/upload/do...
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดการศึกษาระดับปฐมวัยอายุ 3 ขวบมากที่สุด ในรูปแบบศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) จำนวน 19,429 แห่ง มีเด็กประมาณ 437,000 คน หรือคิดเป็น ร้อยละ 57 (จากข้อมูล 6 มีนาคม 2560 เด็กทั้งหมด700,000 กว่าคน)
& รองศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย, ยุทธศาสตร์ว่าด้วยการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, (ช่วงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540), http://kpi.ac.th/media/pdf/M7_...




ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท