ชีวิตที่พอเพียง : 2965b โรงงานผลิตปัญญา : 3. ฝ่าคลื่นลม


มหาวิทยาลัยในยุโรป เกิดจากประชาชนร่วมกันตั้ง โดยมีเหตุผลว่า สังคมจะเจริญก้าวหน้าต้องมีคนที่มี ความรู้ มีภูมิปัญญา และมั่นคงในคุณงามความดี ทำหน้าที่ดูแลขับเคลื่อน และมหาวิทยาลัยทำหน้าที่ผลิต คนเหล่านั้นให้แก่สังคม ทั้งคนที่เป็นพระ เป็นขุนนาง และเป็นนักปราชญ์ ดังนั้นวงการที่มีทรัพยากร และมีอำนาจก็จะช่วยกันสนับสนุนค้ำจุนมหาวิทยาลัย

ชีวิตที่พอเพียง  : 2965b โรงงานผลิตปัญญา :  3. ฝ่าคลื่นลม

บันทึกชุด โรงงานผลิตปัญญา ตีความจากหนังสือ Wisdom’s Workshop :  The Rise of the Modern University    สำหรับตอนที่สามนี้ ตีความจากบทที่ 2  Oxbridge

ผู้เขียน คือนักประวัติศาสตร์ใหญ่ James Axtell บอกว่า ในช่วงเวลาแปดเก้าร้อยปี  มหาวิทยาลัย อ็อกซฟอร์ต และเคมบริดจ์ ได้สร้างคุณูปการยิ่งใหญ่ให้แก่ประเทศสหราชอาณาจักร    ซึ่งผมคิดว่า จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยก็ทำหน้าที่ทำนองเดียวกัน ให้แก่ประเทศไทย

ที่น่าชื่นชมคือ ในสังคมตะวันตกเขาทำงานวิชาการจากเรื่องจริงออกเผยแพร่อย่างตรงไปตรงมา    ทำให้ผู้คนได้เรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต    ทั้งจากประสบการณ์ด้านบวก และประสบการณ์ด้านลบ    แม้กษัตริย์ก็ไม่เว้น    

มหาวิทยาลัยในยุโรป เกิดจากประชาชนร่วมกันตั้ง    โดยมีเหตุผลว่า สังคมจะเจริญก้าวหน้าต้องมีคนที่มี ความรู้ มีภูมิปัญญา และมั่นคงในคุณงามความดี ทำหน้าที่ดูแลขับเคลื่อน    และมหาวิทยาลัยทำหน้าที่ผลิต คนเหล่านั้นให้แก่สังคม    ทั้งคนที่เป็นพระ เป็นขุนนาง และเป็นนักปราชญ์     ดังนั้นวงการที่มีทรัพยากร และมีอำนาจก็จะช่วยกันสนับสนุนค้ำจุนมหาวิทยาลัย  

ผมมีข้อสังเกตว่า ตั้งแต่เริ่มมีมหาวิทยาลัย ก็เป็นที่ยอมรับกันว่า มหาวิทยาลัยต้องมีเสรีภาพทางวิชาการ    ไม่ตกอยู่ภายใต้บงการทั้งของศาสนจักร และของอาณาจักร    แต่ในความเป็นจริง มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดและ เคมบริดจ์ต่างก็ต้องเผชิญและผ่อนปรนกับสารพัดอำนาจ    เพื่อดำรงความมั่นคงทางวิชาการเอาไว้    ผมตีความว่ามหาวิทยาลัยทั้งสอง ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 15 – 18 ต้องฝ่าคลื่นลมจากสภาพแวดล้อม ภายนอกต่อไปนี้

  • อาณาจักร ที่มีการผลัดเปลี่ยนกษัตริย์ระหว่างราชวงศ์ทิวดอร์ (ค.ศ. 1485 – 1603)   กับราชวงศ์สจ๊วร์ต (1371 – 1807)  และการเกิดสงครามกลางเมือง (1642 – 1646, 1648 – 1649)    ปัจจัยเสริมคือ มีกษัตริย์หลายพระองค์ที่เห็นคุณค่าและกำหนดกฎหมายเสริม ความเข้มแข็งให้แก่มหาวิทยาลัย รวมทั้งพระราชทานราชทรัพย์ด้วย    อ่านหนังสือนี้แล้ว พอจะเดาได้ว่า    ในรายละเอียดหลายส่วน มหาวิทยาลัยทั้งสองต้องผ่อนประตามพระราช ประสงค์ด้วย    นักวิชาการควบนักการเมืองที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์คือ Sir Thomas More ผู้เป็นคาทอลิกที่เคร่ง และเขียนหนังสือ  Utopia อันเลื่องชื่อ    ต้องถูกตัดศีรษะเพราะขัดแย้ง กับพระเจ้าเฮนรี่ที่ ๘ ในเรื่องศาสนา และการหย่าเพื่อแต่งงานใหม่ของพระองค์    จะเห็นว่า ไม่ว่าสมัยใด ศาสนจักรกับอาณาจักรพัวพันกันเสมอ
  • ศาสนจักร  ที่คริสตศาสนาแยกนิกาย Protestant ออกไป (เริ่ม ค.ศ. 1517)   และในปี 1536 พระเจ้าเฮนรี่ที่ ๘ สถาปนาตนเองเป็นประมุขของทั้งอาณาจักรและศาสนจักร ไม่ขึ้นต่อสำนักวาติกันที่โรม   และมีการเสริมความเข้มแข็งของนิกาย Anglican ในปี 1562 ซึ่งเป็นรัชสมัยของสมเด็จพระราชินี เอลิซาเบธที่ ๑    
  • วิชาการแห่งยุคกลาง กับวิชาการแห่งยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยา     ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการปรับตัว ทางวิชาการจาก วิชาการยุคกรีก หรืออะริสโตเติ้ล  และโรมัน   มาสู่วิชาการสมัยใหม่ ที่วิทยาศาสตร์ เริ่มเบ่งบาน  

ผมคิดเอาเองว่า  วิชาการมีลักษณะข้ามพรมแดนชาติและศาสนา    จึงเกิดการแลกเปลี่ยนถ่ายเทศิลปะ วิทยาการของต่างสำนักได้ง่าย    เป็นกลไกให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการ

ในยุคปัจจุบัน มหาวิทยาลัยไทย กำลังฝ่าคลื่นลมอะไรบ้าง? 

วิจารณ์ พานิช

๓ ก.ค. ๖๐ 

หมายเลขบันทึก: 631454เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2017 05:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กรกฎาคม 2017 06:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท