หน่วยงานโทรคมนาคมแรกแห่งสยาม ที่คนไทยไม่มีใครเคยรู้จักมาก่อน "กรมสายตลิคราฟ"


ดร.ปรเมศวร์ กุมารบุญ 

ผู้หลงใหลในประวัติศาสตร์ชาติสยาม

 

๑. โหมโรง 
เราได้ทราบหลักฐานทางประวัติศาสตร์จาก คุณปรเมศวร์ กุมารบุญ กันมาแล้วว่า เทคโนโลยีโทรคมนาคมแรกที่เข้ามาในสยามคือ “โทรเลข” โดยเป็นเครื่องราชบรรณาการของคณะทูต ปรัสเซีย (เยอรมนี) ในปี พ.ศ. ๒๔๐๔

แล้วต่อจากนั้นการโทรคมนาคมสยาม โดยโทรเลข ก้าวเดินอย่างไร? พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบแล้วว่ามีเทคโนโลยีนี้ในโลก แล้วจะเป็นเยี่ยงไรต่อในสยาม นั่นคือสิ่งที่ผู้เขียนได้ค้นคว้าเพิ่มเติมมาเป็นสิบปีปะติดปะต่อออกมาเป็นบทความนี้ทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังสืบต่อไป 

ภาพถ่าย เคาน์ ออยเลนเบิร์ก อุปทูตปรัสเซีย ที่นำโทรเลขเครื่องแรกเข้าสู่สยาม ที่ชาวสยามนับแต่มีกรมไปรษณีย์ไม่เคยเห็นภาพนี้

 


ในชั่วอายุคนยุคนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าอาจจะมีไม่ถึงสิบท่าน หรือไม่มีเลย ที่จะทราบว่าผู้ใดคือบุคคลแรกที่นำอุปกรณ์โทรคมนาคมเครื่องแรกเข้ามาในประเทศไทย หรือประเทศสยามในอดีต อีกทั้งผู้เขียนเชื่อว่าไม่มีผู้ใดในยุคนี้พอจะทราบอย่างแท้จริงว่า หน่วยงานโทรคมนาคมแรกของสยามชื่อว่าอะไร และผู้เขียนเชื่อว่าไม่มีใครทราบอีกว่าผู้นำหน่วยงานโทรคมนาคมแรกแห่งสยามประเทศมีนามว่ากระไร 

บทความนี้เป็นบทความวิชาการที่ได้ทำการวิจัยแบบ Documentary research ซึ่งบทความนี้ถือว่าได้ฤกษ์งามยามดีที่จะได้เผยประวัติศาสตร์ที่แท้จริงให้บุคคลทั่วไป โดยเฉพาะบุคคลในวงการโทรคมนาคมไทย และนักวิชาการทางประวัติศาสตร์การสื่อสารไทยได้รับรู้ความเป็นมาของบรรพบุรุษการสื่อสารไทย เผื่อท่านทั้งหลายอยากรำลึกถึงหรือบูชาพระคุณท่านเหล่านั้นที่ได้เริ่มก่อการให้กิจการโทรคมนาคมไทยรุ่งเรืองดังวันนี้

 

๒. ออกโรง
ได้เริ่มมีการนำเทคโนโลยีโทรคมนาคมจากตะวันตกเข้ามาสู่สยามในตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ขณะที่พระมหากษัตริย์ไทย และพระบรมวงศานุวงศ์ ทุกพระองค์ต่างทรงเร่งพัฒนาบ้านเมือง และบำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎร 

นับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเห็นความสำคัญของการโทรคมนาคมหรือการโทรเลขในสมัยนั้นว่า น่าจะมีความสำคัญอย่างใหญ่หลวงต่อการพัฒนาบ้านเมือง จึงได้ทรงศึกษาค้นคว้า และได้ริเริ่มมีการทดลองโทรเลขในรัชสมัยนั้น

 

จวบล่วงมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ก่อตั้งหน่วยงานราชการที่มารับผิดชอบงานด้านการสื่อสาร และพัฒนาการสื่อสารของชาติจนเติบโตแข็งแกร่ง นับจากมีโทรเลข มีไปรษณีย์ มีโทรศัพท์ มีโทรเลขผ่านคลื่น มีวิทยุกระจายเสียง มีวิทยุโทรทัศน์ และมีเครือข่ายการรับส่งข้อมูลความเร็วสูงดังในยุคปัจจุบันที่กล่าวได้ว่าเป็นยุคการสื่อสารดิจิทัลที่ก้าวหน้ารุ่งเรืองดังแสงตะวันสีทองยามเช้าที่สาดส่องไปทั่วท้องฟ้าดังทุกวันนี้ 
 

การสื่อสารของไทยในปัจจุบัน คนไทยทุกคนได้มองเห็นแล้วว่าการโทรคมนาคมมีความสำคัญในการช่วยพัฒนาบ้านเมืองมากมาย อาทิเช่น การโทรคมนาคมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่องานความมั่นคง การโทรคมนาคมมีความสำคัญยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจ การโทรคมนาคมมีความสำคัญต่อการศึกษา การโทรคมนาคมจะช่วยเปิดโอกาสที่ดีในชีวิตให้พี่น้องไทยในท้องถิ่นทุรกันดารมากมาย เป็นต้น ดังพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีสายพระเนตรอันยาวไกล และได้ทรงวางรากฐานการโทรคมนาคมของชาติไว้ในวันนั้น “เพื่อคนไทยในวันนี้”

 

บางท่านอาจจะไม่เคยเห็นคุณค่าของประวัติศาสตร์ ในขณะที่บางท่านเห็นประวัติศาสตร์เป็นสิ่งสูงส่งล้ำคุณค่า แต่หากคนไทยนึกถึงจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์การสื่อสารไทยหรือตลอดจนผลงานวิจัยทางประวัติศาสตร์ด้านการสื่อสารของชาติ ก็ล้วนทำให้ทุกคนคงนึกว่าเริ่มต้นจาก “การไปรษณีย์” อาจจะเป็นเพราะการไปรษณีย์น่าจะดูเป็นการสื่อสารโบราณที่สุด แค่เขียนใส่กระดาษแล้วฝากคนไปส่ง ดูน่าจะง่ายไม่ซับซ้อนดูโบราณดี ซ้ำวันสื่อสารแห่งชาติยังเป็นวันที่ ๔ สิงหาคม ของทุกปี ก็ด้วยถือเอาวันสถาปนา “กรมไปรษณีย์” เมื่อ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ เป็นเหตุผลสำคัญอีกด้วย 

 

ในหนังสือ “สยามจดหมายเหตุ บันทึกข่าวสารและเหตุการณ์” เล่มประจำวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ถึง ๔ สิงหาคม ๒๕๒๖ ซึ่งได้มีบันทึกเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการประกาศให้มีวันสื่อสารแห่งชาติไว้ดังนี้

 


 

ความว่า... คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอมาตามรายงานของคณะกรรมการอำนวยการจัดงานปีการสื่อสารโลกระดับนานาชาติว่า “วันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๒๖ จะเป็นวันครบรอบปีที่ ๑๐๐ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากรมไปรษณีย์โทรเลขขึ้นในประเทศไทย…?”

ความในหนังสือนั้นอาจจะผิดหรือไม่คณะกรรมการฯ อาจจะผิดพลาดด้านข้อมูลหรือไม่ก็ไม่มีผู้มีความรู้ด้านประวัติศาสตร์ทำงานด้วย ก็เนื่องด้วยแท้จริงแล้ว วันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ คือ “วันสถาปนา กรมไปรษณีย์” ไม่ใช่วันสถาปนา “กรมไปรษณีย์โทรเลข” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมไปรษณีย์ และกรมโทรเลข ไว้เป็นกรมเดียวกันชื่อว่า “กรมไปรษณีย์โทรเลข” เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๑ ต่างหาก


 จะด้วยเหตุผลกลใดก็แล้วแต่ที่กำหนดให้วันที่ ๔ สิงหาคม เป็นวันสื่อสารแห่งชาตินั้น หากบรรดาท่านทั้งหลายมีเหตุผลว่านั่นคือจุดเริ่มต้นการสื่อไทย ในความเห็นทางวิชาการของผู้เขียน เห็นว่า “กรมไปรษณีย์” ก็มิใช่หน่วยงานสื่อสารแรกของสยาม แต่ผู้เขียนเห็นด้วยที่มีวันสื่อสารแห่งชาติ จะวันใดก็แล้วแต่


สำหรับผู้เขียนแล้วเห็นว่า โทรเลขเป็นกิจการของการสื่อสารไทยอย่างเป็นทางการแห่งแรก ก่อนมีไปรษณีย์ และนับเป็นเทคโนโลยีโทรคมนาคมแรกที่เข้ามาในสยาม ก็ได้เกิดสนใจค้นคว้าจนพบข้อมูลและหลักฐานว่า โทรเลขเครื่องแรกเข้ามาในประเทศอย่างไร โดยผู้ใด เมื่อวันที่ใด แล้วได้มีการตั้งหน่วยงานโทรเลขอย่างเป็นทางการขึ้นเมื่อใด มีท่านใดเป็นผู้บังคับบัญชา โดยจะขอเริ่มพรรณาดังนี้
 

แม้การสถาปนากรมไปรษณีย์อย่างเป็นทางการ ในวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ ที่รัฐบาลพลเอกเปรมฯ ท่านตั้งให้เป็นวันสื่อสารแห่งชาติ แต่หลายท่านคงเริ่มคิดเหมือนผู้เขียนแล้วว่า น่าจะมีอะไรให้น่าค้นหามากขึ้น และที่ผ่านมาเราแทบจะเห็นในทุกหนังสือวิชาการ หรือหนังสือรายงานประจำปีขององค์กรโทรคมนาคม หรือแม้แต่เอกสารวันสื่อสารแห่งชาติทุกปี ตั้งแต่มีกรมไปรษณีย์มาจนปัจจุบันมักจะเพียงกล่าวเริ่มต้นการสื่อสารไทยที่วันสถาปนาวันนั้น เท่านั้นเอง ผู้เขียนคิดว่านักวิจัยประวัติศาสตร์ไทยที่กำลังมองหาโอกาสในการทำงาน คงมีเรื่องให้ค้นคว้าวิจัยประวัติศาสตร์ช่วงช่องว่างตรงนั้นอีกมากมาย


นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๐๔ ถึง ปี พ.ศ. ๒๔๒๖ ในระยะเวลาถึง ๒๒ ปีที่ว่างอยู่ตรงนี้ หายไปเฉยๆ ในประวัติศาสตร์การโทรคมนาคมไทย นับจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าอยู่หัวนักวิทยาศาสตร์ของไทย ซึ่งสนพระทัยในวิทยาการใหม่ๆ ของต่างชาติอยู่เป็นนิจได้ทรงมีโทรเลขเครื่องแรกไว้ศึกษา โดยได้รับเป็นเครื่องราชบรรณาการจาก ปรัสเซีย แล้วเกิดอะไรขึ้นบ้าง?


หากมองย้อนกลับไปมองทั้งโลกในสมัยนั้น “โทรเลข” นั้น คือ วิทยาการที่ล้ำสมัยไฮเทคโนโลยีที่สุดของโลก สามารถส่งข่าวสารนับพันไมล์ได้ภายในเวลาไม่กี่วินาทีเท่านั้น ทั่วโลกล้วนเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยี โทรเลข อันจะต้องกลายมาเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของมนุษยชาติแน่นอน ผู้เขียนเชื่อว่าพระองค์ท่านจะต้องทรงค้นคว้าเพิ่มเติมมากมาย ตั้งแต่หลักการทำงานตลอดไปจนคิดไปถึงว่า หากสยามจะดำเนินโครงการสร้างโครงข่ายโทรเลขในประเทศจะเกิดผลกระทบอย่างไร จะต้องใช้งบประมาณเท่าใด จะบริหารอย่างไร? 


จะโทษบรรพบุรุษก็มิได้ แต่อาจเป็นเพราะธรรมชาติอันแท้จริงของคนไทยเรา ที่ไม่ชอบบันทึก  ทำให้เราค้นหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยากเย็นยิ่งนัก หากนับไปจาก พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่ผู้เขียนๆอยู่นี้ ย้อนไปถึงปี พ.ศ. ๒๔๐๔ ก็นับได้ ๑๕๖ ปี เลยทีเดียว คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาการใดมาเล่าเรื่องต่อได้ง่ายดายนัก ผู้เขียนขอเริ่มที่ชาวสยามรู้จักโทรเลขจากที่ใดก่อนดีกว่า

 

๓. ชาวสยามรู้จักคำว่า “โทรเลข” เมื่อใด

 

ไม่กี่เดือนหลังจาก ซามูเอล มอร์ส นักประดิษฐ์ชาวอเมริกันได้ส่งโทรเลข ประวัติศาสตร์ครั้งแรก จากวอชิงตันไปบัลติมอร์เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๘๗ หรือ ๖๒ ปีหลังสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ หมอ แดเนียล บรัดเลย์ มิชชันนารีอเมริกันก็นำเรื่องราวของโทรเลขนี้มาเล่าให้ชาวสยามฟัง โดยตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Bangkok recorder เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๓๘๘
 

หมอบรัดเลย์ นักวิชาการหลายท่าน ยกย่องท่านว่าเป็นบิดาการหนังสือพิมพ์ไทย ในหนังสือ “หมอบรัดเลย์ กับการหนังสือพิมพ์แห่งกรุงสยาม” เขียนโดย สุกัญญา สุดบรรทัด คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลไว้ว่าคุณหมอบรัดเลย์ ได้เข้ามาสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ ๓ นั่นเอง


หมอบรัดเลย์ เป็นชาวเมือง Marcellus มลรัฐนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๗ เรียนจบแพทย์ศาสตร์จาก New York medical college หมอบรัดเลย์ได้เดินทางมาสยามพร้อมภรรยา และเพื่อนร่วมคณะจำนวนหนึ่ง แต่ภรรยาได้เสียชีวิตจากโรคระบาดในสยาม ภายหลังหมอบรัดเลย์ได้ภรรยาใหม่ เป็นมิชันนารี เช่นกัน 

 
ดร. แดน บีช บรัดเลย์ มิชันนารีอเมริกัน ผู้นำศาสนาคริสต์มาสู่สยาม พร้อมกับการทำหนังสือพิมพ์เล่มแรกของสยาม และยังสร้างคุณูปการอื่นอีกมากมายให้คนไทย

 

ในสมัยนั้นมิชชันนารีชาวตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ศาสนาในภูมิภาคเอเชียกำลังนิยมมาพร้อมกับการนำเทคโนโลยีการพิมพ์เข้ามาช่วย ทั้งช่วยเผยแพร่ศาสนา และหาเงินทุน


หมอบรัดเลย์ได้นำแท่นพิมพ์และตัวพิมพ์ภาษาไทยจากสิงคโปร์ ข้ามน้ำข้ามทะเลมาประเทศไทย และได้เริ่มพิมพ์หนังสือให้ชาวสยามได้รับประโยชน์ จากนั้นท่านได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตบุกเบิกการหนังสือพิมพ์ในสยามจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในตอนแรกก็มีเสียงคัดค้านแต่ในที่สุด ก็ทรงมีพระบรมราชานุญาต หมอบรัดเลย์จึงได้ออกหนังสือพิมพ์แรกของกรุงสยามในวันชาติ อเมริกัน เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๘๗ ชื่อหนังสือพิมพ์ “Bangkok Recorder” 

“บางกอกรีคอเดอ” คล้ายๆ กับจดหมายเหตุบ้านเรา แต่เพียงบรรยายสั้นๆ ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย แม้พวกเราในปัจจุบันก็ยังอ่านเข้าใจครับ โดยมีเนื้อหาเป็นภาษาไทย บรรจุข่าว บทความ สุภาษิต ถาม-ตอบระหว่างผู้อ่าน และบรรณาธิการ ตลอดไปจนถึงประกาศแจ้งความ (เรือเข้าออก) และมีโฆษณาขายสินค้า เป็นต้น โดยบางกอกรีคอเดอ มีหมอบรัดเลย์ เป็น บรรณาธิการ และมีทีมงานอีกประมาณเกือบร้อยท่าน 

กลับเข้าเรื่องเบาะแสการโทรเลขของเราต่อครับ “บางกอกรีคอเดอ” ฉบับเดือน มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๘๘ ได้เล่าเรื่องการส่งโทรเลข ของ ซามูเอล มอร์ส จากวอชิงตันไปบัลติมอร์ และบรรยายลักษณะการทำงานของเทคโนโลยีโทรเลข
    


                Morse-Vail Telegraph Key, 1844-1845 Samuel F. B. Morse (1791 - 1872)


ในราวกลาง ค.ศ. ๑๘๓๐ ซามูเอล เอฟ. บี. มอร์ส (Samuel F. B. Morse) และ อัลเฟรต เวล (Alfred Vail) ได้คิดค้นเครื่องส่งโทรเลขโดยใช้กระแสไฟฟ้าควบคุมสนามแม่เหล็กของเครื่องรับปลายทางผ่านทางสายส่งสัญญาณ

 

หลักการทำงานของเครื่องส่ง และเครื่องรับโทรเลข คือ เมื่อกดคันเคาะของเครื่องส่งให้วงจรไฟฟ้าปิด กระแสไฟฟ้าจะไหลเข้าไปในขดลวดของเครื่องรับ ทำให้ขดลวดของเครื่องรับ เกิดสนามแม่เหล็ก จึงดูดแผ่นเหล็กมากระทบแกนเหล็ก ทำให้เกิดเสียงที่มีจังหวะเดียวกับคันเคาะ การปิดเปิดวงจรทำให้เกิดเสียงเป็นสัญญาณโทรเลข แล้วจึงแปลงสัญญาณโทรเลขให้เป็นข้อความ โดยกำหนดรหัสในโทรเลขไว้ 2 ลักษณะ คือ เคาะแล้วกดไว้ (กดยาว) และ เคาะแล้วปล่อย (กดสั้น) ที่เรียกว่า รหัส มอร์ส ตามชื่อผู้ประดิษฐ์ นั่นคือ ซามูเอล มอร์ส (Samuel Morse)

รหัส มอร์ส Morse code

 


รหัสมอร์ส (Morse code) คือวิธีการส่งข้อมูลด้วยการใช้รูปแบบสัญลักษณ์สั้น และยาวที่กำหนดขึ้นเป็นมาตรฐานไว้แล้ว ซึ่งมักจะแทนด้วย เครื่องหมายจุด (.) และ เครื่องหมายขีด (-) ผสมกันเป็นความหมายของตัวหนังสือ ตัวเลข และเครื่องหมายพิเศษต่างๆ
   
 

ผมหาภาพอันสำคัญของเทคโนโลยีโทรคมนาคมโลกได้ในอินเทอร์เน็ต คือ กระดาษที่ มอร์ส ส่งจากวอชิงตันไปบัลติมอร์ด้วยคำว่า “What hath god wrought?” คำว่า hath นั้นก็คือคำว่า has ที่ใช้ในประโยคนี้เป็น Active voice ในประโยคคำถาม เป็นคำถามว่า “พระเจ้าได้เขียนหนังสืออะไรไปแล้วบ้าง?” 

กระดาษการส่งโทรเลขครั้งแรก จากวอชิงตันไปบัลติมอร์

 

นอกจากนั้นอาจารย์เอนก นาวิกมูล ยังได้เล่าต่อในหนังสือ “ข้าวของในอดีต” ว่า Bangkok recorder ฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๐๙ ได้ลงข้อความตอนหนึ่งซึ่งคาดว่า น่าจะเป็นของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกล่าวว่าหนังสือพิมพ์ Bangkok recorder ฉบับภาษาอังกฤษเซ้าซี้ลงข้อความเรื่อง เตเลคราฟ (โทรเลข) ซ้ำซากทุกฉบับใจความว่า “ว่าตามจริง เตเลคราฟนั้น ในกรุงก็มีนานแล้ว ได้ลองทำดู ก็มีผู้ทำใช้ได้แล้ว ไม่อัศจรรย์อะไรนัก อย่างต้องลงพิมพ์บ่นซ้ำซากถึงเตเลคราฟนักเลย” 

 

สิ่งแรกที่ผมสนใจกลับไม่ใช่ข้อความใน บางกอกรีคอเดอ ดังกล่าว แต่กลับเป็นกาลเวลาของหนังสือพิมพ์ จะเห็นได้ว่าเบาะแสจาก บางกอกรีคอเดอ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๘ เล่าเรื่องการมีโทรเลขเกิดขึ้นในโลก และในความตอนก่อนหน้านี้ ผมได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า โทรเลข เข้าสู่สยามเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๔ แต่บางกอกรีคอเดอ เพิ่งมากล่าวถึงเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๙ แล้ว ๕ ปีที่ว่างอยู่นั้นมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นบ้างล่ะ? ก็ยังดีที่ผมมีจุดเริ่มต้นที่แคบลง
บางกอก รีคอเดอ นั้น มีการถามตอบระหว่างผู้อ่านกับบรรณาธิการ (หมอบรัดเลย์) หรือแสดงข้อคิดเห็นได้โดยผู้อ่านเขียนไปหา จากข้อความในย่อหน้าก่อนที่คาดว่าจะเป็นของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ผมก็วิเคราะห์เนื้อความได้ว่า โทรเลข ได้มีในกรุงมานานแล้ว (คงหลายปี) ได้ทดลองใช้แล้ว ไม่อยากให้ บางกอกรีคอเดอ ลงพิมพ์เรื่องโทรเลขบ่อย


พอผมกลับไปอ่านหนังสือเรื่อง “หมอบรัดเลย์ กับการหนังสือพิมพ์แห่งกรุงสยาม” ของอาจารย์ สุกัญญาฯ ต่อก็ได้ความว่า บางกอกรีคอเดอ นับจากตีพิมพ์ครั้งแรกนั้นมีอายุได้ปีเดียว ด้วยนางเอมิลี่ รอยส์ บรัดเลย์ ภรรยาหมอบรัดเลย์เสียชีวิตลงด้วยวรรณโรค หมอบรัดเลย์เสียใจมากจึงเดินทางกลับอเมริกา

 

หนังสือพิมพ์ บางกอก รีคอเดอ จึงหายไป แล้วกลับมามีชีวิตอีกครั้ง เมื่อหมอบรัดเลย์กลับมา  และร่วมกับหมอ เอน เอ แมคโดนัลด์ ร่วมกันออกหนังสือพิมพ์ชื่อว่า “Bangkok recorder” เป็นภาษาอังกฤษ ในปี พ.ศ.๒๔๐๗ ส่วน “บางกอก รีคอเดอ” ฉบับภาษาไทยนั้น ออกอีกครั้งเมื่อ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๔๐๘ 

แล้วผมก็กลับไปเดินเล่นในห้องสมุค คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกครั้ง ที่ๆ เริ่มให้ผมสงสัยในมติ ครม. ที่กำหนดให้ ๔ สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันสื่อสารแห่งชาติ แล้วผมก็เจอเบาะแสเพิ่มเติมจริงๆ ห้องสมุดนี้ ไม่ใช่ห้องสมุดใหญ่โตอะไรมากมาย โดยเฉพาะเรื่องประวัติศาสตร์ไทย ผมแทบจะเคยอ่านมาแล้วทุกเล่ม อย่างน้อยก็เปิดผ่าน แต่ที่นี่มีของดีจนนึกไม่ถึง ครับผมเจอหนังสือ “สำเนาสัญญาบัตร เล่ม ๑ การแต่งตั้งขุนนางหัวเมือง ในสมัยรัชกาลที่ ๕


  
ผมเจอชื่อที่ไม่เคยได้ยินเลยจริงๆ นั่นคือ “หลวงอาวุธอัคนี” ซึ่งในสำเนาสัญญาบัตรเล่มนี้ ได้เขียนไว้ว่า “ให้หลวงอาวุธอัคนี เป็นพระโทรเลขธุรานุรักษ เจ้ากรมสายตลิคราฟ ขึ้นอยู่ในกรมพระกลาโหม ให้คงศักดินา ๘๐๐ ไร่ ศักราช ๑๒๓๗” ผมคาดการณ์ด้วยความรู้น้อยจริงๆ ในการหาวันเดือนปีที่ถูกต้อง ผมมีความรู้แค่เอา ๑๑๘๑ บวกที่ศักราช น่าจะได้ พ.ศ. ซึ่งในที่นี้ผมเดาว่าเป็นปี พ.ศ. ๒๔๑๘

 

ดังนั้นผมจึงเชื่อว่าปี ในปี พ.ศ. ๒๔๑๘ ประเทศสยามของเรา มีหน่วยงานโทรคมนาคมชื่อว่า “กรมสายตลิคราฟ” ผมยังเชื่อว่า กรมนี้น่าจะถือได้ว่าเป็นหน่วยงานโทรคมนาคมแรกของประเทศเรา เท่าที่ผมมีหลักฐานในเวลานี้


ต่อมาในหน้า ๒๒๘ ได้มีบันทึกว่า “ให้พันอินทศักดิ เป็นหลวงประจักษชวการ ปลัดกรมโทรเลข ให้ถือศักดินา ๖๐๐ ไร่ ศักราช ๑๒๓๘”
 


ผมเข้าใจเอาว่า ๑ ปีต่อมาหลังจากมี กรมสายตลิคราฟ โดยหลวงอาวุธอัคนี คงจะเปลี่ยนชื่อหน่วยงานมาเป็น “กรมโทรเลข” หรือไม่ก็อาจเป็นหน่วยงานซ้ำซ้อน แต่ผมคาดว่าเป็นหน่วยงานเดียวกัน เมื่อวิเคราะห์ต่อ คำว่า “เจ้ากรม” กับ “ปลัดกรม” ผมว่าเจ้ากรมน่าจะหมายถึง “อธิบดี” ซึ่งใหญ่กว่า “ปลัดกรม” แน่นอน โดยเฉพาะศักดินาที่ได้ เจ้ากรมมากกว่าปลัดกรมถึง ๒๐๐ ไร่ 

 

"กรมสายตลิคราฟ" จึงเป็นเบาะแสสำคัญอย่างยิ่งในการค้นคว้าประวัติศาสต์การสื่อสารของสยาม ที่เป็นหลักฐานยืนยันว่ามีหน่วยราชการด้านการสื่อสารที่ย้อนหลังกลับไปไกลที่สุดคือ ในปี พ.ศ. ๒๔๑๘ 

 

แต่เบาะแสที่สำคัญที่สุดเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ทางประวัติศาสตร์ มีคำว่า “กรมสายตลิคราฟและกรมโทรเลข” อยู่ในประวัติศาสตร์ราชการไทย

 

บรรณานุกรม

๑. ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ ๑ นำเบอร์ ๒๖๕ วันอาทิตย เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีจอฉศก ๑๒๓๖
๒. จดหมายเหตุ สยามไสมย
๓. ประชุมพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงบริหารราชการแผ่นดิน ภาคที่ ๓ (ตอน ๒), ระหว่างพุทธศักราช ๒๔๓๔ ถึง พุทธศักราช ๒๔๕๓, คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและโบราณคดี สำนักนายกรัฐมนตรี
๔. ประชุมพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงบริหารราชการแผ่นดิน ภาคที่ ๔ พระราชทานสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พระราชทานเจ้าพระยาภาณุวงศ์โกษาธิบดี เสนาบดีจตุสดมภ์กรมท่า, คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและโบราณคดี สำนักนายกรัฐมนตรี
๕. การแต่งตั้งขุนนางไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕, กองจดหมายเหตุ กรมศิลปากร, จัดพิมพ์เผยแพร่ ๒๕๒๑
๖. ตำนานแสตมไทย์สำหรับนักสะสม, พ.ต.อ.นายแพทย์พิพัฒน์ ชูวรเวช
๗. สยามจดหมายเหตุ บันทึกข่าวสาร และเหตุการณ์, ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๓๑, ๒๙ กรกฎาคม-๔ สิงหาคม ๒๕๒๖
๘. หมอบรัดเลย์ กับการหนังสือพิมพ์แห่งกรุงสยาม” เขียนโดย สุกัญญา สุดบรรทัด คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

คำสำคัญ (Tags): #โทรเลข
หมายเลขบันทึก: 631055เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2017 14:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กันยายน 2021 14:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท