การพัฒนาโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง


มี KM เป็นเครื่องมือหลัก
การพัฒนาโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง
ศ. นพ. ประเวศ วะสี ได้เขียนหนังสือ พุทธทาสานุสรณ์  การประกอบโครงสร้างสังคมเพื่อความร่มเย็นเป็นสุข    ซึ่งจะพิมพ์เผยแพร่โดยสำนักพิมพ์ประชาศาสตร์ ในเดือน มค. ๔๙   เพื่อฉลองชาตกาล ๑๐๐ ปี ท่านพุทธทาสภิกขุ      อ. หมอประเวศ เสนอให้ใช้ KM เป็นเครื่องมือ    ผมจึงเอาเฉพาะส่วนวิธีการมาลงไว้    ท่านที่สนใจอ่านฉบับเต็มต้องรออ่านหนังสือครับ

การพัฒนาโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง
คือจุดยุทธศาสตร์
          หลัก ๔ ประการของการพัฒนาสังคมที่กล่าวถึงในตอน ๕ ถ้าทำที่ส่วนกลางจะยากมากที่จะเข้าใจ เพราะส่วนกลางลอยตัวและแยกส่วน แต่ถ้าเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งจะเข้าใจและปฏิบัติง่ายขึ้น เพราะในพื้นที่จะบูรณาการเรื่องต่างๆ เข้ามาด้วยกัน ไม่ได้แยกเป็นเรื่องๆ เหมือนกระทรวง ทบวง กรม และภาควิชาการ นอกจากนั้นในพื้นที่มีภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่เข้าใจซึมซับเรื่อง ศาสนา -เศรษฐกิจพอเพียง - ชุมชนเข้มแข็ง ได้ง่ายอยู่แล้วโดยธรรมชาติ
ยุทธศาสตร์คือส่งเสริมสนับสนุนความเคลื่อนไหวเรื่องศาสนา - เศรษฐกิจพอเพียง - ชุมชนเข้มแข็ง ในพื้นที่ ทั้งระดับชุมชนและระดับจังหวัดทั้งจังหวัด
พร้อมๆ กับดึงกลไกต่างๆ เข้ามาสนับสนุนทั้งทางวิชาการและทางนโยบาย
โดยอาศัยกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ
ซึ่งเกิดขึ้นจากการจัดการความรู้
ศาสนา - เศรษฐกิจพอเพียง - ชุมชนเข้มแข็ง
            ในเวลา ๒๐-๓๐ ปีที่ผ่านมา คนไทยส่วนหนึ่งให้องค์กรพัฒนาบางองค์กรร่วมกับชาวบ้าน ได้เรียนรู้แล้วว่า คนไทยส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็งทำอย่างไร และรู้ว่าชุมชนเข้มแข็งจะแก้ปัญหาความยากจนและปัญหาอื่นๆ พร้อมกันไปอย่างบูรณาการ ปัญหาเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เชื่อมโยงกัน ไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาทีละอย่างๆ แบบแยกส่วน เช่น แก้ความยากจนโดยเอกเทศ แก้เรื่องจิตใจโดยเอกเทศ แก้เรื่องสิ่งแวดล้อมโดยเอกเทศ แก้เรื่องไม่มีที่ทำกินโดยเอกเทศ วิธีทำแบบแยกส่วนเช่นนี้ทำกันมานานแล้ว โดยไม่ประสบผลสำเร็จอย่างใด แต่ภาครัฐก็ยังคงทำดังนั้นต่อไป เพราะทางราชการทำงานโดยเอากรมเป็นตัวตั้ง กรมแต่ละกรมก็มีหน้าที่เฉพาะอย่าง จึงทำอย่างเฉพาะอย่างแบบแยกส่วนดังกล่าว
            ยุทธศาสตร์การพัฒนาจึงต้องเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง
เพราะความเป็นจริงในพื้นที่นั้นทุกอย่างเชื่อมโยงเป็นบูรณาการ ไม่ได้แยกเป็นกรมๆ เหมือนทางราชการ
            ฉะนั้น กรมต่างๆ ไม่ควรเป็นผู้เข้าไปทำเอง แต่สนับสนุนชุมชนตามความริเริ่ม และความต้องการของชุมชน
            ขณะนี้ชาวบ้านในหลายชุมชนรวมตัวกันทำการวิจัยเรื่องของชุมชนเอง เช่น เรื่องเศรษฐกิจชุมชน ทำให้รู้ว่าทำไมยากจนและไม่หลุดออกจากความยากจนไปได้ ทำให้ปรับพฤติกรรมการผลิตและการบริโภค เช่น ปรับจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ไปเป็นทำหลายอย่างเชื่อมโยงกันเป็น Cluster บางครั้งทำอาชีพ ๓๐-๔๐ อย่างเชื่อมโยงกัน ที่เรียกว่าวิสาหกิจชุมชน เป็นเศรษฐกิจชุมชนอันเข็งแรงหรือเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้หลุดพ้นจากความยากจนอย่างถาวร รวมทั้งพัฒนาอย่างอื่นๆ พร้อมกันไปด้วย คือ จิตใจ - ครอบครัว - ชุมชน - สังคม - สิ่งแวดล้อม - วัฒนธรรม - สุขภาพ และความปลอดภัย
            ชาวบ้านได้เอาผลวิจัยไปทำแผนแม่บทชุมชน ซึ่งเป็นแผนพัฒนาอย่างบูรณาการ เนื่องจากเป็นแผนที่ชาวบ้านทำเอง ชุมชนจึงสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาตามแผนได้ ถ้าเป็นแผนพัฒนาที่ทางราชการยัดเยียดลงไป ทำนอง “ทางการเข้าสั่งมาว่า...” ชาวบ้านจะไม่เข้าใจและขับเคลื่อนการพัฒนาไม่ได้ ทำนอง “ผู้ใหญ่ลีกับสุกร” เมื่อชุมชนขับเคลื่อนการพัฒนาตามแผนแม่บทชุมชนก็จะเกิดการพัฒนาอย่างบูรณาการและเกิดความร่มเย็นเป็นสุข
            ศาสนาทุกศาสนา และกระบวนการเศรษฐกิจพอเพียง ควรจะเชื่อมโยงกับกระบวนการชุมชนเข้มแข็ง ถ้าชุมชนเข้มแข็งทั้งประเทศ มีเศรษฐกิจพอเพียง และปฏิบัติตามหลักศาสนธรรม ฐานล่างของสังคมจะแข็งแรงมาก สามารถรองรับการเติบโตของสังคมทั้งหมดได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
            องค์กรต่างๆ ที่ทำงานเรื่องชุมชนเข้มแข็งมาจนชำนาญ ควรจะรวมตัวกันเป็นเครือข่ายส่งเสริมชุมชนเข้มแข็งและเศรษฐกิจพอเพียง ทำแผนส่งเสริมชุมชนเข้มแข็งและเศรษฐกิจพอเพียงทั้งประเทศ และดึงส่วนต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งทางราชการ วิชาการ ธุรกิจ สื่อมวลชน การเมือง เพื่อเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ
            การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติของคนไทยทุกฝ่ายในการส่งเสริมชุมชนเข้มแข็งและเศรษฐกิจพอเพียง  คือจุดแตกหักของการสร้างสังคมอยู่เย็นเป็นสุข
            ฉะนั้น เครือข่ายส่งเสริมชุมชนเข้มแข็งและเศรษฐกิจพอเพียง จะต้องทำตรงนี้ให้ได้ ควรมี คณะทำงานส่งเสริมชุมชนเข้มแข็งและเศรษฐกิจพอเพียงที่เข้มแข็ง ทำงานเต็มเวลา มีความสามารถในการจัดการความรู้สูง ที่จะส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติของคนไทยทุกฝ่ายในการส่งเสริมชุมชนเข้มแข็งและเศรษฐกิจพอเพียง
            ถ้าทำได้ จะยกระดับการเรียนรู้ร่วมกันของคนไทยทั้งประเทศครั้งมโหฬาร และก็ไม่ใช่การเรียนรู้ชีวิตจริง ปฏิบัติทั้งเรื่อง เศรษฐกิจ - จิตใจ - ครอบครัว - ชุมชน - สังคม - วัฒนธรรม -สุขภาพและความปลอดภัย พร้อมกันไปอย่างบูรณาการ ซึ่งเป็นการเรียนรู้เพื่อสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขทั้งประเทศ
การพัฒนาจังหวัดทั้งจังหวัดอย่างบูรณาการ
            การพัฒนาชุมชนทำอย่างไร เราค่อนข้างรู้แล้วพอสมควรถึงขั้นควรพัฒนาชุมชนทั้งประเทศดังกล่าวข้างต้น แต่การพัฒนาจังหวัดทั้งจังหวัดอย่างบูรณาการมีขอบเขตกว้างขวางขึ้น มีหลายมิติมากขึ้น มีความซับซ้อนมากขึ้น เรายังไม่มีความสามารถพอที่ตรงนี้ แต่เครือข่ายส่งเสริมชุมชนเข้มแข็งและเศรษฐกิจพอเพียง ควรจะขยับมาทดลองทำการพัฒนาจังหวัดทั้งจังหวัดอย่างบูรณาการเป็นบางจังหวัดก่อน
            ในระดับจังหวัดมีองค์กรที่เกี่ยวข้องมากทั้งฝ่ายภูมิภาค ท้องถิ่น องค์กรของราชการส่วนกลาง ภาคธุรกิจเอกชน ภาควิชาการที่บางจังหวัดก็มีถึงระดับอุดมศึกษา ยังมีฝ่ายการเมือง ซึ่งนอกจาก สส. และ สว. แล้วยังมีรองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งที่รับผิดชอบดูแลกลุ่มจังหวัด รวมแล้วมีทรัพยากรหลากหลายมากมายเกินพอที่จะสร้างความร่มเย็นเป็นสุขทั้งจังหวัด ถ้ามีการจัดการให้มีการเรียนร่วมกันในการปฏิบัติได้
            การทำงานอาจมีขั้นตอนและความหมายดังต่อไปนี้
(๑)     สำรวจศักยภาพของจังหวัด  โดยสำรวจว่าในจังหวัดมีใครหรือองค์กรใดที่กำลังทำอะไรดีๆ อยู่บ้าง จะเป็นองค์กรหรือบุคคลใดก็ตาม เช่น ชุมชน ครู พระ พัฒนากร เกษตรตำบล เทศมนตรี มีเครือข่ายอะไรอยู่แล้วบ้าง  ฯลฯ สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) และ สคส. (สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม) ซึ่งทำงานนำร่องในเรื่องนี้อยู่แล้ว ควรจะรับผิดชอบประสานงานการสำรวจศักยภาพจังหวัด และทำระบบข้อมูลศักยภาพจังหวัด
(๒)    นำข้อมูลศักยภาพจังหวัดเผยแพร่ให้รู้กันทั่ว  จังหวัดต่างๆ มักจะมองเฉพาะด้านปัญหา ซึ่งทำให้เกิดอารมณ์ทางลบต่างๆ ข้อมูลศักยภาพจังหวัดซึ่งบอกถึงความสำเร็จ ความน่าภาคภูมิใจในเรื่องต่างๆ จะก่อให้เกิดความปีติ ยินดี มีกำลังใจ มองเห็นทางไป และเกิดความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะทำให้จังหวัดทั้งจังหวัดดีขึ้น
(๓)     จัดประชุมเครือข่ายส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดบูรณาการในจังหวัดนั้นๆ  เพื่อเอาข้อมูลศักยภาพมาพิจารณาว่าจะส่งเสริมสิ่งดีๆ ในจังหวัดให้ขยายตัวออกไปได้อย่างไร นี้อาจเรียกว่าที่ประชุมนโยบายพัฒนาจังหวัดอย่างบูรณาการ ประกอบด้วยผู้ปฏิบัติ ผู้บริหาร นักวิชาการ ผู้สนับสนุนเชิงนโยบาย ถ้ามีการประชุมอย่างสม่ำเสมอ เช่นทุกหนึ่งเดือน มีองค์ประกอบของผู้ร่วมประชุมเหมาะสม มีผลการวิจัยสถานการณ์สนับสนุนการประชุม กลไกนี้จะทั้งแก้ปัญหาที่ติดขัด ไม่ว่าจะเป็นเชิงเทคนิค หรือเชิงการบริหาร หรือเชิงนโยบายไปได้ในตัว โดยการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติจริง (คือการพัฒนาจังหวัด) ของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายตั้งแต่ชุมชนไปจนถึงรัฐบาล เช่นอะไรที่ติดขัดในทางการบริหารหรือทางนโยบายในระดับสูง รองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลจังหวัดนั้นอยู่ในฐานะจะช่วยแก้ติดขัดไปได้ รวมทั้งเป็นการเรียนรู้อย่างดีสำหรับตัวท่านเองด้วย
(๔)     จังหวัดทั้งจังหวัดกลายเป็นมหาวิทยาลัยชีวิตที่มีการเรียนรู้ร่วมกันทั้งจังหวัด โดยที่วิธีการดังกล่าวข้างต้นเป็นวิธีการทางบวก คือเอาศักยภาพและความสำเร็จมาชื่นชมและขยายตัว และเป็นวิธีการที่ให้เกียรติทุกคนที่เกี่ยวข้อง จะมีผู้เข้าร่วมกระบวนการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  จนในที่สุดเป็นการเรียนรู้ สร้างความรัก ความเห็นใจกัน เกิดความเชื่อถือไว้วางใจกัน (Trust) เมื่อเกิดความเชื่อถือไว้วางใจกัน ผู้คนจะมีความสุขมากในการที่ได้ทำงานร่วมกัน เรื่องยากๆ จะกลายเป็นง่าย ทำให้พัฒนาและแก้ปัญหาได้มากขึ้นตามลำดับร่วมกันของคนทั้งจังหวัด เป็นการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทุกเรื่องอย่างบูรณาการทั้งเศรษฐกิจ - จิตใจ - ครอบครัว - ชุมชน - สังคม -วัฒนธรรม - สิ่งแวดล้อม – สุขภาพและความปลอดภัย เป็นการศึกษาในรูปใหม่ คือศึกษาจากการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติจริง กระบวนการพัฒนาจังหวัดอย่างบูรณาการนี้จะไปถึงการศึกษาในระบบให้ปรับตัวไปสู่การศึกษาจากชีวิตจริงและปฏิบัติจริง จังหวัดทั้งจังหวัดจะกลายเป็นมหาวิทยาลัยชีวิตที่คนทั้งจังหวัดเป็นทั้งครูและนักเรียน ร่วมเรียนรู้กันในการพัฒนาทุกเรื่อง เป็นการที่พัฒนาทั้งการศึกษา ศาสนา สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม สุขภาพและความปลอดภัย พร้อมกันหมด เกิดความอยู่เย็นเป็นสุขทั้งจังหวัด
(๕)     คณะทำงานส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดอย่างบูรณาการ ในแต่ละจังหวัด  ต้องมีคณะทำงานส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดอย่างบูรณาการที่มีความสามารถสูง ทำงานเต็มเวลา จัดการความรู้เป็น ทำหน้าที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้กันของทุกฝ่าย ฉะนั้นต้องมีความสามารถประสานงานได้ยาวไกล จากชาวบ้านจนถึงผู้บริหารระดับสูง ความสำเร็จจะอยู่ที่การคัดสรรคณะทำงานที่เหมาะสม
(๖)     การขยายตัวไปยังจังหวัดอี่นๆ  เมื่อได้มีการทดลองส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดอย่างบูรณาการเป็นบางจังหวัด จะได้มีการเรียนรู้การบริหารจัดการ ซึ่งสามารถขยายตัวไปยังจังหวัดอื่น ๆ  ต่อไปได้ แต่ต้องมีการเตรียมการขยายแต่เนิ่นๆ เพราะทุกจังหวัดจะต้องการทำอย่างนี้บ้าง กระบวนการพัฒนาในแต่ละจังหวัดอาจจะแตกต่างกันไปตามภูมิสังคมของแต่ละจังหวัด เมื่อจังหวัดทุกจังหวัดกลายเป็นมหาวิทยาลัยชีวิตที่ทุกคนเรียนรู้ร่วมกันในชีวิตจริงและปฏิบัติจริง และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างจังหวัด ประเทศทั้งประเทศเป็นประเทศแห่งการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติจริงของการพัฒนาอย่างบูรณาการ ส่งเสริมให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข
(๗)     การพัฒนาจังหวัดอย่างบูรณาการจะก่อให้เกิดการปฏิรูปต่างๆ  ประเทศต้องการการปฏิรูปต่างๆ เช่น ปฏิรูปสังคมเศรษฐกิจ ปฏิรูปจิตใจ ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูประบบสุขภาพ ปฏิรูปการงบประมาณ ปฏิรูประบบราชการ  ปฏิรูปการเมือง ฯลฯ แต่การปฏิรูปเหล่านี้มักไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะไปเน้นที่การปฏิรูปองค์กรและกลไก ทำให้เกิดความหวาดกลัว  การถกเถียงและต่อสู้ ไม่มีใครเชื่อใคร และก็ไม่ทราบว่าเชื่อได้หรือไม่
แต่การพัฒนาจังหวัดอย่างบูรณาการตามที่กล่าวมา เนื่องจากเป็นวิธีการทางบวก มีการให้เกียรติทุกคนที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย และชื่นชมในผลสำเร็จร่วมกัน ในกระบวนการดังกล่าวจะดึงให้เกิดการปฏิรูปต่างๆ ตามมา ทั้งการศึกษา สังคม เศรษฐกิจ ระบบราชการ ฯลฯ เพราะทุกฝ่ายมีส่วนร่วมและเห็นได้ด้วยตนเอง(สันทิษฐิโก) ว่าทำอย่างนี้ดี ไม่ใช่เพราะใครมาบีบบังคับ
         เราได้ประชุมปรึกษาวิธีดำเนินการกันเป็นเครือข่าย     โดย สสส. และ สปรส. จะเป็นแกนนำ    เป็นการรวมตัวกันทำงานสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง
วิจารณ์ พานิช
๒ พย. ๔๘
หมายเลขบันทึก: 6306เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2005 09:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 12:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท