หัวใจของการปฏิรูปการศึกษา


หัวใจของการปฏิรูปการศึกษา คือ การปฏิรูปการเรียนรู้ หัวใจของการปฏิรูปการเรียนรู้ คือ การปฏิรูปจากการยึดวิชาเป็นตัวตั้ง มาเป็นยึดมนุษย์ หรือผู้เรียนเป็นตัวตั้ง หรือที่เรียกว่า ผู้เรียนสำคัญที่สุด

สวัสดีท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่านนะครับ วันนี้ผมมานั่งคิดอยู่นานว่าจะลงเรื่องอะไรให้ทุกท่านได้อ่านกันดี พอนั่งได้ซักพักหนึ่งผมก็นึกขึ้นมาได้ว่า การศึกษาของไทยเรานี้เขาต้องการเน้นในจุดไหนผมจึงไม่รอช้าที่จะหาข้อมูลมานำเสนอต่อทุกท่าน ผมนั่งหาข้อมูลอยู่พักใหญ่ก็มาสะดุดกับบทความหนึ่งเข้าให้ จึงอยากนำมาเสนอต่อทุกท่าน หวังว่าท่านที่อ่านแล้วคงจะได้รับความรู้กันบ้างนะครับ และอย่าลืมว่า "หัวใจของการปฏิรูปการศึกษา คือ การปฏิรูปการเรียนรู้"

หัวใจของการปฏิรูปการศึกษา คือ การปฏิรูปการเรียนรู้ หัวใจของการปฏิรูปการเรียนรู้ คือ การปฏิรูปจากการยึดวิชาเป็นตัวตั้ง มาเป็นยึดมนุษย์ หรือผู้เรียนเป็นตัวตั้ง หรือที่เรียกว่า ผู้เรียนสำคัญที่สุด ที่กล่าวว่า ผู้เรียนสำคัญที่สุดไม่ได้แปลว่าครูลดบทบาทหรือลดความสำคัญลง ตรงกันข้าม ครูกลับมีบทบาทและความสำคัญมากขึ้น อีกทั้งจะทำให้การศึกษามีพลังและศักดิ์ศรีในการแก้ปัญหาของมนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อม สังคมทุกวันนี้เชื่อมโยง ซับซ้อน เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มนุษย์ไม่สามารถเผชิญกับความซับซ้อนและความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ จึงเกิดสภาวะวิกฤต เช่น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจน การไม่มีงานทำ ความเครียด ความรุนแรง ปัญหายาเสพติด ปัญหาโรคเอดส์ อุบัติเหตุ ความขัดแย้ง อาชญากรรม การทำลายสิ่งแวดล้อม และอื่น ๆ จึงไม่สามารถจัดระบบชีวิต และสังคมให้อยู่เย็นเป็นสุขได้ การเรียนโดยการท่องหนังสือหรือเอาวิชาเป็นตัวตั้ง ไม่สามารถทำให้มนุษย์เผชิญและแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เพราะโลกแห่งวิชากับโลกแห่งความจริงต่างกัน การเรียนโดยเอาวิชาเป็นตัวตั้งทำให้แยกตัวออกจากความเป็นจริงของชีวิตและสังคมที่ซับซ้อน และเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สถานการณ์จริงจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ๆ มนุษย์ก็อยู่ในความเปลี่ยนแปลงนั้น เรียนรู้ในความเปลี่ยนแปลงนั้น ให้รู้พอ รู้ทัน รู้เผชิญ และรู้การจัดระบบชีวิต และสังคมให้อยู่ในดุลยภาพในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ การเรียนรู้ที่ผู้เรียนเป็นตัวตั้งหรือยึดผู้เรียนสำคัญที่สุด หมายถึงการเรียนรู้ในสถานการณ์จริง สถานการณ์จริงของแต่ละคนไม่เหมือนกัน จึงต้องเอาผู้เรียนแต่ละคนเป็นตัวตั้ง ครูจัดให้นักเรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ กิจกรรม และการทำงาน อันนำไปสู่การพัฒนาผู้เรียนครบทุกด้าน ทั้งทางกาย ทางจิตหรืออารมณ์ ทางสังคม และทางสติปัญญา ซึ่งรวมถึงพัฒนาการทางจิตวิญญาณด้วย มนุษย์ต่างจากสัตว์ที่มีพัฒนาการทางจิตวิญญาณ (Spiritual development) ความเป็นมนุษย์อยู่ที่พัฒนาการทางจิตวิญญาณ วิกฤตการณ์ของมนุษย์เกิดจากการทอดทิ้งมิติทางจิตวิญญาณ เหลือแต่มิติทางวัตถุจึงพากันวิกฤตทั้งโลก การศึกษาสมัยใหม่ที่จะพามนุษย์รอดจากวิกฤตการณ์ต้องไปให้ถึงพัฒนาการทางจิตวิญญาณ เพราะจิตวิญญาณอยู่ในชีวิตมนุษย์ การเรียนที่เอาชีวิตเป็นตัวตั้งจะทำให้ค้นพบมิติทางจิตวิญญาณ การศึกษาทั่วโลกเป็นส่วนใหญ่แยกว่าชีวิตก็อย่างหนึ่ง การศึกษาก็อีกอย่างหนึ่งโดยการศึกษาเอาวิชาเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง ตามหลักทางพุทธศาสนาถือว่า ชีวิตคือการศึกษาและการศึกษาคือชีวิต ศาสนาอื่นก็เช่นเดียวกัน ชีวิตและการศึกษาอยู่ที่เดียวกัน การปฏิรูปการเรียนรู้คือ การย้ายการศึกษาให้มาอยู่ที่เดียวกับชีวิต ที่ว่าผู้เรียนสำคัญที่สุดนั้น หมายถึงชีวิตของผู้เรียน คือชีวิตของผู้เรียนคือการศึกษา การศึกษาคือชีวิตของผู้เรียน และชีวิตคือการเรียนรู้ ในการเรียนการสอนแบบเอาชีวิตเป็นตัวตั้งนี้ ควรจะเปลี่ยนบทบาทจากการต้องท่องบ่นเนื้อหาวิชามาถ่ายทอดให้นักเรียนฟัง เป็นผู้ให้ความรักความสนใจในชีวิตของนักเรียนแต่ละคน จัดประสบการณ์การเรียนรู้อันหลากหลายและเหมาะสมกับผู้เรียน ร่วมเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนใน สถานการณ์จริง รู้ศักยภาพที่แตกต่างกันของนักเรียนแต่ละคนและส่งเสริมให้นักเรียนได้นำศักยภาพนั้นมาใช้ ข้อนี้นักเรียนอาจไม่รู้ตัวเองแต่ครูรู้ นักเรียนที่ได้รับการส่งเสริมศักยภาพตามความถนัดของตนจะมีความสุขอย่างยิ่ง และรักครูอย่างยิ่ง นักเรียนแต่ละชั้นจะมีครูอันหลากหลาย เช่น พ่อแม่ พี่น้อง เพื่อนบ้าน ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ศิลปิน ผู้ประกอบอาชีพต่าง ๆ พระ ครูในสถานการณ์จริงจะไม่โดดเดี่ยว แต่มีเพื่อนครูหลากหลายจำนวนมาก ครูจะมีความสนุกในการเรียนการสอนแบบนี้ และเก่งวันเก่งคืน รวมทั้งเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดใหม่ ประสบอิสรภาพและมิตรภาพอันไพศาล เพราะการเรียนการสอนแบบนี้เป็นกระบวนการอันละเอียดของความเป็นมนุษย์ ซึ่งรวมเอาประชาธิปไตยและธรรมะเข้ามาในกระบวนการนี้ด้วย ชีวิตของครูจึงเปลี่ยนไป นำไปสู่ความสุขและความสร้างสรรค์อย่างยิ่ง           

 ที่มา : http://www.thailearn.net/index_child.html

คำสำคัญ (Tags): #คุณครู
หมายเลขบันทึก: 63059เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2006 13:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท