สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้


หัวใจของการศึกษาคือ การพัฒนานักเรียนให้เลื่อนจากระดับ “มือใหม่” (novice) ไปเป็นระดับ “ผู้เชี่ยวชาญ” (expert) ในเรื่องการคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คิดแก้ปัญหา ที่เรียกว่า ทักษะแก้ปัญหาเฉพาะด้าน (domain-specific problem-solving skills) ซึ่งนักเรียนจะต้องฝึก (๑) จัดระบบความรู้ (๒) พัฒนาทักษะ วิเคราะห์และทำความชัดเจนต่อตัวปัญหา และ (๓) ทักษะการตรวจสอบประเมิน และปรับปรุงตนเอง

สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้

วารสาร Science ฉบับวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๐ ระบุในคอลัมน์ Editor’s Choice   เรื่อง A learning environment designed for experts แนะนำรายงานผลการวิจัยเรื่อง  Development and validation of a Supportive Learning Environment for Expertise Development Questionnaire (SLEED-Q)  (อ่านหรือดาวน์โหลดบทความทั้งหมด ที่นี่)

เป็นการย้ำความสำคัญของการเรียนรู้ ให้ได้ ฝึกการคิดในระดับ “ผู้เชี่ยวชาญ” (expert thinking)   ซึ่งต้องการทั้งความรู้ (knowledge), ทักษะ (skills), และเจตคติ (attitude) ไปพร้อมๆ กัน   และให้ความสำคัญต่อ สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้    

หัวใจของการศึกษาคือ การพัฒนานักเรียนให้เลื่อนจากระดับ “มือใหม่” (novice) ไปเป็นระดับ “ผู้เชี่ยวชาญ” (expert) ในเรื่องการคิด  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คิดแก้ปัญหา    ที่เรียกว่า ทักษะแก้ปัญหาเฉพาะด้าน (domain-specific problem-solving skills)    ซึ่งนักเรียนจะต้องฝึก (๑) จัดระบบความรู้ (๒) พัฒนาทักษะ วิเคราะห์และทำความชัดเจนต่อตัวปัญหา และ (๓) ทักษะการตรวจสอบประเมิน และปรับปรุงตนเอง  

เขาบอกว่าการพัฒนาเป็นผู้เชี่ยวชาญเริ่มตอนเรียนมัธยมปลาย ดำเนินต่อเนื่องเรื่อยไปจนระดับ อุดมศึกษา   ไปสู่ที่ทำงาน   แต่ผมเถียงว่า เป็นกระบวนการฝึกฝนตลอดชีวิต   และพิจารณาจากสามข้อข้างบน นี่คือทักษะของการเรียนรู้ (learning skills) ซึ่งอาจแจงย่อยได้อีกมาก ดังแสดงในหนังสือ การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร

ความรู้ที่นำมาสอนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เป็น “ความรู้ไร้พัสตราภรณ์” (decontextualized knowledge) หรือ “ความรู้เปลือยเปล่า”  และ “ความรู้ที่ถูกทำให้เป็นทางการ” (formalized knowledge) เป็นหลัก    แต่การพัฒนาไปเป็น ผู้เชี่ยวชาญ ต้องฝึกสร้างและใช้ “ความรู้สวมพัสตราภรณ์” หรือ “ความรู้นุ่งผ้า”   โดยนักเรียน ต้องฝึกทำความเข้าใจบริบท (context) ในกรณีนั้น    ผมจะได้ว่า สมัยเด็กๆ ผู้ใหญ่ตำหนิเด็กที่ใช้ความรู้แบบไม่ คำนึงถึงบริบทหรือกาละเทศะว่า “ไม่มีไหวพริบ”    ผมโดนพ่อแม่บ่นเป็นประจำ 

จากการอ่านบท Introduction ของรายงานวิจัยอย่างละเอียด ทำให้ผมได้ความรู้เรื่อง Integrative Pedagogy Model  ซึ่งเดาว่าพัฒนาโดยนักการศึกษาฟินแลนด์    โมเดลการเรียนรู้บูรณาการนี้ประกอบด้วย ๓ ส่วนคือ (๑)​ความรู้เชิงทฤษฎี (๒) ทักษะปฏิบัติ (๓) การกำกับตนเอง (ทักษะไตร่ตรองสะท้อนคิด - reflection และความเข้าใจวิธีคิดและปรับปรุงวิธีคิดของตน - metacognition)     ผมคิดว่า นี่คือสุดยอดของการพัฒนา พลเมืองที่มีปัญญาแห่งศตวรรษที่ ๒๑    และการวางรากฐานสู่ประเทศไทย ๔.๐

เพื่อการเรียนรู้สู่ความเป็น ผู้เชี่ยวชาญ สภาพแวดล้อมต้องเอื้อ   สภาพแวดล้อมที่เอื้อคือสภาพแวดล้อม ที่มี ๓ ข้อข้างบน และมีอยู่อย่างบูรณาการกัน ไม่แยกส่วน   แต่นักการศึกษาบอกว่า ไม่รู้ว่าจะจัดการเรียนการสอน อย่างไร จึงจะมี ๓ ปัจจัยสำคัญนี้ 

อ่านและค้นเพิ่มเติม จึงพบ รายงานนี้ ที่สรุปว่ามีหลัก ๑๐ ประการสำหรับจัดการเรียนการสอนให้เกิด สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้สู่ความเป็นผู้เชี่ยวชาญ คือ

1.          ส่งเสริมให้นักเรียนเข้าใจธรรมชาติของการเรียนรู้

2.          ให้นักเรียนฝึกวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างหลักการหลากหลายหลักการ

3.          ให้ได้ฝึกแก้ปัญหาหลากหลายแบบ เพื่อได้เรียนรู้ความซับซ้อน (complexity) และความไม่ชัดเจน (ambiguity)

4.          ส่งเสริมให้เข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างหลักการต่างหลักการ

5.          มุ่งเป้าที่สภาพจริง (relevance)

6.          แลกเปลี่ยนความรู้ฝังลึก ที่พูดหรืออธิบายยาก

7.          เอาใจใส่ความรู้เดิม (prior knowledge)

8.          ให้นักเรียนได้ฝึกแก้ปัญหาอย่างมีกลยุทธ และครูคอยช่วยโค้ช

9.          ให้ได้ไตร่ตรองสะท้อนคิด (reflection)

10.     เอื้อให้นักเรียนเข้าใจวิธีเรียนรู้ รู้จักประเมินและปรับปรุงตนเอง

แต่ละข้อมีรายละเอียดเพื่อช่วยให้เข้าใจชัดเจน โปรดอ่านเอาเองนะครับ   นี่คือขุมทรัพย์สำหรับ ครูเพื่อศิษย์    ที่ต้องการพัฒนาตนเองให้มีทักษะของครูในศตวรรษที่ ๒๑ 

นี่คือการศึกษา เพื่อเตรียมผู้เรียนออกไปทำงาน และเผชิญชีวิตในศตวรรษที่ ๒๑  ที่สังคมและสภาพการทำงานสุดแสนจะ VUCA   จึงต้องเอา VUCA เข้าไปไว้ในกระบวนการเรียนรู้

V = Volatile = เปลี่ยนแปลงรุนแรง

U = Uncertain = ไม่แน่นอน

C = Complex = ซับซ้อน

A = Ambiguous = ไม่ชัดเจน ตีความได้หลายแบบ

กลับไปที่รายงานผลการวิจัยเพื่อพัฒนาแบบสอบถาม SLEED-Q   สำหรับใช้ช่วยการเรียนการสอน เพื่อพัฒนา expertise    ผลการทบทวนเอกสารรายงานผลการวิจัย พบวิธีการจัดการเรียนการสอน ๖๕ แบบ ที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อพัฒนา expertise   ผลการวิจัยสรุปว่า มี ๗ ปัจจัยที่มีน้ำหนักสูง ได้แก่

1.          การแลกเปลี่ยน และเปรียบเทียบความรู้

2.          มุ่งเป้าที่สภาพจริง (relevance)

3.          การควบคุมตนเอง และการไตร่ตรองสะท้อนคิดด้วยตนเอง

4.          เข้าใจธรรมชาติของการเรียนรู้

5.          สอนให้เข้าใจ

6.          หนุนการเรียนรู้เพื่อให้เกิดความเข้าใจ

7.          ฝึกแก้ปัญหาอย่างมีกลยุทธ

จากปัจจัยหลักทั้ง ๗ แจงเป็นปัจจัยย่อยได้เป็น ๓๐ ปัจจัย

เขาเตือนว่าการวิจัยทำในบริบทของระบบการศึกษาของประเทศเนเธอร์แลนด์   หากจะนำไปใช้ในประเทศอื่น พึงคำนึงถึงบริบทที่แตกต่างกัน

วิจารณ์ พานิช

๙ มิ.ย. ๖๐

หมายเลขบันทึก: 630287เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2017 04:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มิถุนายน 2017 04:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบพระคุณค่ะอาจารย์ หนูเพิ่งรู้จัก VUCA เป็นครั้งแรก อยากไปถ่ายทอดต่อให้กับนักเรียนค่ะ :)

I read quickly the paper (mentioned above) and see the same theme of "learning" from theory and practice. (In Buddhist term: wisedom from truth and action).


Have you looked at "community college" concept and implementation (in USA, UK, AUS, and EU countries)? There is enough in there to improve education in Thailand.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท