Post it : กระบวนการกระดาษสี


รูปแบบการเรียนรู้ในปัจจุบันที่เราเห็นอย่างรูปแบบการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม(Activity Based Learning) จิตตปัญญา หรือรูปแบบอื่นๆ มักจะเห็นกระดาษเป็นสีๆแผ่นเล็กๆ มีกาวติดด้านหลัง ที่เรียกเป็นภาษาทับศัพท์ว่า "กระดาษโพสต์อิท" มีไว้ใช้เพื่อการจัดการความรู้ต่างๆ ตั้งแต่การเขียนความคาดหวัง การใช้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม การประเมินกิจกรรม และการสะท้อนผลบทเรียน

การใช้กิจกรรมที่มีโพสต์อิทนั้น เน้นที่การสะท้อนภายในตนเอง(Reflection Process) เพื่อทบทวนกับตัวเองในบางอย่าง เช่น เรามาเพื่ออะไร เราจะทำอะไร เราอยากจะรู้เรื่องอะไร ตัวตนของเรามีตัวตนไหนบ้าง และเราได้อะไรบ้าง เป็นต้น ทั้งนี้ก่อนจะเขียนได้สมองต้องอยู่ในโหมดปกติทั้ง ๓ ฐานเสียก่อน ซึ่งต้องใช้กิจกรรมสันทนาการเพื่อความสนุก ผ่อนคลายความเครียดในหัว เพราะหากสมองอยู่ในโหมดปกป้องจะกลายเป็นว่าเขียนตามๆกัน กลัวผิด และเขียนแบบเดิมซ้ำๆไม่เปลี่ยนแปลงคำถามใหม่ๆเพื่อการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆเลย ทั้งนี้สมองโหมดปกติและโหมดปกป้องตามทฤษสมองสามชั้นปัญญาสามฐานของ รูดอฟ ไซส์เนอร์ อธิบายว่า

  • โหมดปกติ : ฐานกาย(ความกล้า) ฐานใจ(ความสนุก/สุข) และฐานคิด(คิดบวก คิดสร้างสรรค์)
  • โหมดปกป้อง : ฐานกาย(ความกลัว) ฐานใจ(ไม่สนุก/ไม่มีความสุข) และฐานคิด(คิดลบ คิดติดกรอบ)

ข้อสังเกตระหว่างกระบวนการที่เห็นได้ชัดเจน คือ
๑) หากเด็กกลัวเขาจะไม่พูด พูดน้อย เขิน อาย/หากกล้าเขาจะพูดคุยกัน พูดมากขึ้น ไม่ค่อยเขิน ไม่ค่อยอาย
๒) หากเด็กสนุกและสุขเขาจะมีเสียงหัวเราะมีรอยยิ้ม/หากเขาไม่สนุกก็จะไม่มีรอบยิ้ม ไม่มีเสียงหัวเราะ
๓) หากเด็กคิดบวก คิดสร้างสรรค์เขาจะใช้จินตนาการอธิบายเชื่อมโยงได้หลายอย่าง/หากเขาคิดลบ ไม่สร้างสรรค์ก็จะติดอยู่ในกรอบตามโจทย์ที่กระบวนกรกำหนดให้เท่านั้นซ้ำๆไม่เปลี่ยนแปลงหรือมีความคิดที่มีอคติรีบสรุปผลมากเกินไป

กระบวนการกระดาษสีสามารถสะท้อนสิ่งเหล่านี้ออกมาได้อย่างชัดเจนโดยการออกแบบกิจกรรมให้ใช้กระดาษสีเหล่านี้ โดยอาจใช้ความหมายของสีต่อความรู้สึกของมนุษย์ก็ได้ หรือไม่ใช้ก็ไม่ผิด ทั้งนี้กิจกรรมหลักๆที่ผู้เขียนเคยใช้ในงานอบรมเด็กมีกิจกรรม เป็นตัวอย่าง ดังนี้
๑) กิจกรรมเขียนความคาดหวัง (Check in) กิจกรรมนี้มีจุดประสงค์เพื่อการสำรวจความคาดหวังของผู้เข้าร่วมกิจกรรมว่าต้องการอยากได้อะไร อยากรู้อะไรบ้าง หรืออยากทำอะไรบ้างในกิจกรรมนี้ ทำให้กระบวนกรจัดกระบวนการได้สอดรับกับความต้องการให้ครอบถ้วนมากที่สุด ๑ แผ่นแทน ๑ คำถาม เพื่อเขียนตอบอธิบายตามคำถามของกระบวนกร ทั้งนี้ใช้คำถาม ว่า

  • ในช่วงเวลานี้/เช้านี้ ก่อนเริ่มทำกิจกรรมรู้สึกอย่างไรบ้าง ให้อธิบายความรู้สึกเหล่านั้นลงในกระดาษสี(......) แผนนี้
  • ท่านมีความคาดหวังว่าอยากเรียนรู้เรื่องอะไรบ้างในกิจกรรมวันนี้ ให้เขียนเป็นข้อๆแล้วอธิบายลงในกระดาษ(.....) แผ่นนี้
  • สิ่งอื่นๆที่ท่านอยากจะได้รับกิจกรรมนี้ เป็นเรื่องอะไรบ้าง ให้อธิบายแล้วเขียนลงในกระดาษ(.....) แผ่นนี้

ทั้งนี้ในแต่ละข้อคำถามใช้กระดาษคนละสี เพราะคำถามละประเด็น จากนั้นให้แต่ละคนลุกขึ้นไปแปะติดคำตอบของตนเองอาจใช้กระดานบอร์ด/กระดานไม้ แล้วอาจใช้ตาราง ๓ ช่องให้แปะติดคนละประเด็น โดยเป็นการแยกประเด็นไปในตัว จากนั้นกระบวนกรสรุปโดยเล่าประเด็นสำคัญที่จะเรียนรู้ในวันนี้ โดยหยิบยกเอาโพสต์อิท ของหลายคนเข้ามาประกอบด้วย "เพราะนั่นเป็นความมีส่วนร่วมของคนร่วมกิจกรรม" แล้วก็เริ่มกิจกรรม

๒) กิจกรรมสลัดตัวตน ต้นฉบับจาก อ.ธวัช ชินราศรี (มมส) เป็นตัวอย่างที่ดีมากในการประยุกต์ใช้กระดาษสีกับการดำเนินกิจกกรรมหลัก โดยเป็นการสลัดตัวตนที่ไม่ดีของเราออกไป ให้มากที่สุด แล้วเก็บเอาตัวตนที่ดีนั้นมาใส่ตัวตนของเรา ซึ่งเขียนตัวตนของเราด้านต่างๆ เช่น นักวิชาการ นักศึกษา นักกิจกรรม ผู้นำชมรม แฟนที่ดี ลูกที่ดี คนใจร้าย โมโหง่าย ปากไว้ใจเสาะ คิดฟุ้งซ่าน ติดกับดักความเครียด .... ให้เลือกตัวตนทีดีไว้ แล้วสลัดตัวตนที่ไม่ดีทิ้งออกไปให้หมด โดยเขียนประเด็นละโพสต์ มาติดที่ร่างกายเรา จากนั้นเดินสลัดมันทิ้งออกไป
กิจกรรมนี้สามารถต่อยอดได้ในแนวทางอื่นๆ เช่น ให้เด็กเขียนความฝันของตัวเองที่อยากเป็นออกมาให้มากที่สุด ตามโจทย์ คือ ความฝันสูงสุดมีอะไรบ้าง ความฝันที่อยากเป็นมีอะไรบ้าง ความฝันที่ต้องเป็นให้ได้มีอะไรบ้าง สิ่งที่พ่อแม่อยากให้เราเป็นสิ่งนั้นมีอะไรบ้าง เขียนออกมาให้มากที่สุด จากนั้นสลัดทิ้งความฝันที่ไม่ใช่ตัวตนของเราจริงๆ แล้วเลือกในสิ่งที่เราชอบ อยาจะเป็นจริงๆ โพสต์อิทที่เหลือ นั่นล่ะ คือ ความฝันเป็นเป้าหมายที่เราจะพุ่งชน

๓) กิจกรรมสะท้อนบทเรียน กิจกรรมนี้มีจุดประสงค์เพื่อการประเมินผลผู้เข้าร่วมกิจกรรมว่าได้รับผลตามประสงค์และความคาดหวังของตนเองที่เขียนไว้ก่อนเริ่มกิจกรรมหรือไม่ การดำเนินกิจกรรมเหมือนกับกิจกรรมการเขียนความคาดหวังซึ่งให้เขียนอธิบายตอบคำถามแผ่นละ ๑ ประเด็น จากที่ได้รับเข้า(Input) มาผ่านกระบวนการ(Process) และขั้นนี้เป็นขั้นสกัดความรู้(Output) โดยจะถามเกี่ยวกับสิ่งที่ได้รับต่อตนเองเป็นสำคัญ ซึ่งมีคำถามดังนี้

  • จากกิจกรรมในวันนี้มีความรู้สึกอย่างไรบ้าง จงอธิบายลงในกระดาษสี(.....) แผ่นนี้
  • จากกิจกรรมในวันนี้เราประทับใจอะบ้างไร และประทับใจกิจกรรมไหน มากที่สุด จงอธิบายลงในกระดาษสี(.....) แผ่นนี้
  • จากกิจกรรมในวันนี้เราได้เรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง ให้เขียนมาเป็นข้อๆแล้วอธิบายว่าแต่ละข้อนั้นเป็นอย่างไร ลงในกระดาษสี(.....) แผ่นนี้
  • จากกิจกรรมในวันนี้เราได้ทำอะไรเป็นบ้าง ทำอะไรได้บ้าง หรือได้ฝึกทักษะอะไรบ้าง ให้เขียนมาเป็นข้อๆแล้วอธิบายว่าแต่ละข้อนั้นเป็นอย่างไร ลงในกระดาษสี(.....) แผ่นนี้
  • จากกิจกรรมในวันนี้ที่เราได้รับความรู้และทักษะเหล่านั้น เราจะนำกลับไปใช้อย่างไรในพื้นที่ของตนเอง จงอธิบายลงในกระดาษสี(.....) แผ่นนี้

จากนั้นก่อนลุกขึ้นไปติด ให้ ๕ คนแรกอ่านแผ่นที่ ๑ ของตนเองให้เพื่อนฟัง ชุดถัดมาอ่าน แผ่นที่ ๒- ๕ ตามลำดับ เพื่อเป็นการสะท้อนผลกับตนเองและสะท้อนผลกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมด้วยกัน จากนั้นกระบวนกรสรุปกิจกรรมโดยหยิบยกเอาโพสต์อิทของแต่ละคนมาอธิบายเชื่อมโยงกับบทเรียน

กิจกรรมและกระบวนการกระดาษสียังมีอีกมาก แต่ส่วนใหญ่เรามักใช้เป็นการ BAR DAR และ AAR เพราะเป็นการสะท้อนผลต่อตนเองและผู้อื่น ข้อสำคัญ คือ เราอย่าติดกับดักบทเรียนสำเร็จรูปของตนเอง พยายามเป็นน้ำไม่เต็มแก้วอยู่เสมอ เพื่อจะได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆมากขึ้น ครับ



หมายเลขบันทึก: 630152เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2017 08:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2017 08:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท