Active PBL บูรณาการกระบวนการ ๖ ขั้น ของครูศิริลักษณ์ ชมภูคำ



กิจกรรม Active PBL บูรณาการกระบวนการ ๖ ขั้น โดยครูตุ๋มศิริลักษณ์ ชมภูคำ จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ณ โรงเรียนบ้านหินลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม โดยมีคณะคุณครู กรรมการสถานศึกษา นักเรียนจากโรงเรียนหนองม่วงชมภูวิทย์ นำทีมด้วยท่านผอ. พิรเดช โพธิสาร คุณครูวัชรินภรณ์ บุญจันทร์ และท่านอื่นๆมาดูงานเพื่อนำไปปรับใช้ในโรเรียนของตนเอง โดยมีความคาดหวังว่า อยากเรียนรู้รูปแบบที่สามารถใช้กับเด็กได้จริง กระบวนการ PBL(การเรียนรู้บนฐานปัญหา) และกระบวนการ ๖ ขั้น สู่การอ่านออกเขียนได้ ฉะนั้นแล้วคำว่า Active PBL บูรณาการกระบวนการ ๖ ขั้นจึงมาจาก Active Learning-Problem Based Learning-กระบวนการ๖ขั้นสู่การอ่านออกเขียนได้ ทั้งนี้กลุ่ม Young Teach ได้แก่ พี่แสน พี่อาร์ม พี่เจมส์ และพี่อบ ได้รับโอกาสให้ร่วมเป็นวิทยากรจัดกระบวนการเรียนรู้กับเด็กด้วย

เนื้อหาที่เรียนรู้ในกิจกรรมนี้ แบ่งย่อยออกเป็น ๖ ประเด็น ได้แก่
๑) เรียนรู้เทคนิค ๓ กำลัง ส เพื่อจัดการเรียนรู้อย่างสนุก สุข สร้างสรรค์
๒) เทคนิคการจัดรูปแบบการสอน Active Learning วิชาประวัติศาสตร์ไทย โดยใช้เครื่องมือ Timeline
๓) เรียนรู้กระบวนการ PBL โดยใช้ ๕ ภาพปัญหา
๔) บูรณาการกระบวนการ PBL ด้วยกระบวนการ ๖ ขั้นสู่การอ่านออกเขียนได้ ผ่านวิชาภาษาไทย
๕) เติมเต็มเครื่องมือการถอดบทเรียน เพื่อใช้กับเด็กในโรงเรียน
๖) แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวง PLC เพื่อปรับใช้ในโรงเรียน


โดยจะเล่าเรื่องสะท้อนในบทบาทของวิทยากกรจึงขอเล่าประเด็นที่ ๑-๕ ตามที่ได้ดำเนินงาน เพื่ออภิวัฒน์กระบวนการ แต่ละเนื้อหา ดังนี้


๑) การเรียนรู้เทคนิค ๓ กำลัง ส เราเอาโมเดลนี้มาเพื่อคาดหวังว่าจะเป็นแนวทางในการสร้างบรรยากาศให้ห้องเรียนก่อนเรียนที่สนุก เด็กสนใจมากยิ่งขึ้น ให้เป็นช่วงแรกของกิจกรรมเหมือนกับเป็นช่วงแรกในชั้นเรียน โดยกิจกรรมนี้ เนื่องจากมีระยะเวลาน้อย ประกอบกับสถานที่ลุก วิ่ง ไม่ได้ จึงเป็นกิจกรรมแบบนั่งสันทนาการแทน แต่ก็สามารถปรับได้ เพราะมีหลายเกม หลายกิจกรรมที่นั่งเล่น ในช่วงแรกเด็กไม่ค่อยคุ้นเคยกันและไม่รู้จักกันต่างชั้น ต่างโรงเรียนทำให้อายและเขินเป็นเรื่องธรรมดา ฉะนั้นจึงต้องสนุกก่อนจึงจะเปิดใจสู่การเรียนรู้ร่วมกันได้ ตามขั้นแรกของโมเดล คือ "สนุก" ได้แก่ เรียกสติ(ปรบแกะ ปรบสัตว์) สัมพันธ์คนรอบข้าง(สัตว์บก-สัตว์น้ำ เลขปริศนา เลขมรณะ) และมีส่วนร่วมกันทุกๆคน(หมีแหนด้า หัวเอวไหล่) ไม่นานบรรยากาศจากความเงียบก็เริ่มมีเสียงหัวเราะ รอยยิ้มมากขึ้นตามลำดับ นั่นหมายความว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเรียนรู้ในขั้นต่อไปได้ สะท้อนว่าแม้จะเป็นกระบวนการนั่งทำ ก็สามารถสร้างเสียงหัวเราะ นำสมองเข้าสู่โหมดปกติพร้อมที่จะเรียนได้รู้ได้ แต่จะยากกว่ากระบวนการวิ่งทำตรงที่ละลายพฤติกรรมยากกว่า


๒) เทคนิคการจัดรูปแบบการสอน Active Learning วิชาประวัติศาสตร์ไทย โดยใช้เครื่องมือ Timeline "จริงๆแล้วอยากทำให้คุณครูท่านเห็นว่าหลักการศึกษาในตำราแผนใหม่สามารถนำมาใช้จริงได้และใช้ได้ดีด้วย" กิจกรรมนี้เราฝึกเด็กจับประเด็นแบบปลายเปิด โดยจัดเป็นฐานลักษณะ Walk rally ๔ อาณาจักรประวัติศาสตร์ไทย ฐานละ ๒๐ นาที ได้แก่ สุโขทัยโดยพี่อบ อยุธยาโดยพี่แสน ธนบุรีโดยพี่เจมิล่า และรัตนโกสินทร์โดยพี่อาร์ม ทั้งหมดจะสอนแบบสรุปในเนื้อหา ๔ ประเด็น ได้แก่ การตั้งอาณาจักร กษัตริย์ สภาพสังคมและเศรษฐกิจ และความเสื่อมของอาณาจักร เด็กทุกจะมีกระดาษพับครึ่ง ๔ หน้า หน้าละอาณาจักร ฝึกจับประเด็นตามที่ได้ฟังและได้เห็น โดยใช้ผัสสะปัญญาทางการฟัง(สุตมยปัญญา) และปัญญาจากการเห็น(จักษุมยปัญญา) กลั่นกรองโดยความคิดฝึกให้คิดทบทวนหลายชั้นออกมาเป็นประเด็น(จินตมยปัญญา) ระหว่างสอนไปนั้นใช้กระดาษปรู๊ฟอธิบายวาดแผนที่ ใช้ Concept map เด็กจะเข้าใจง่ายเพราะประวัติศาสตร์เป็นนามธรรมจพเป็นต้นวาดเป็นภาพของผังมโนทัศน์สรุปเพื่อความเข้าใจ หากใช้เป็น Mind map จะดีมากๆ ข้อจำกัดที่พบ คือ เด็กมีความรู้ด้านประวัติศาสตร์ไทยนอยมาก อาจยังไม่ได้เรียนหรือเหตุผลอื่นๆ และกระบวนการกระดาษปรู๊ฟของพี่ยังต้องเสริมศิลปะผังความคิดเข้าไปอีกมากเพื่อการจดจำ
จากที่เรียนรู้ครบทุกฐานแล้วแบ่งกลุ่มออกเป็น ๔ กลุ่มแล้วให้แต่ละกลุ่มเลือกอาณาจักรที่ตนเองสนใจ จากนั้นเอาประเด็นของแต่ละคนที่ได้จับมาหลอมรวมเข้ากัน โดยแยกตามโจทย์ ๔ ข้อด้านบน ได้แก่ การตั้งอาณาจักร กษัตริย์ สภาพสังคมและเศรษฐกิจ และความเสื่อมของอาณาจักร ใช้เครื่องมือ Timeline ซีกซ้ายเป็นช่วงเวลา ซีกขวาเป็นประเด็นและเหตุการณ์ที่ได้จับประเด็นกันมา จากนั้นวาดภาพตกแต่งตามประเด็นนั้นๆเพื่อความสวยงาม เมื่อเสร็จแล้วเปิดตลาดนัดประวัติศาสตร์ ให้แต่ละคนมาให้คะแนนเพื่อนแต่ละกลุ่ม โดยผู้นำเสนอรับบทบาทเป็นพ่อค้า แม่ค้า เร่ขายความรู้ของตนเองให้ได้มากที่สุด เป็นอันสรุป ระหว่างการทำพบว่าเด็กยังไม่คุ้นชินกับเครื่องมือนี้ ต้องมีพี่ๆไปดูแลว่าจะจัดวางรูปแบบการเขียนอย่างไร แต่ทุกๆกลุ่มก็สามารถจับเด็กประเด็นออกมาได้ค่อยข้างดีสำหรับเด็กประถมศึกษา แต่บางกลุ่มยังขาดการอธิบายเพิ่มเติมจากประเด็นเหล่านั้น อันนี้ก็ต้องปรับปรุงคำถามของกระบวนกรต่อไปว่า นอกเหนือจากประเด็นแล้วให้อธิบายประกอบด้วย


๓) เรียนรู้กระบวนการ ๕ ภาพของ PBL:Problem Based Learning โดยต้นฉบับเป็นรูปแบบของครูเพ็ญศรี ใจกล้า โรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม ซึ่งทีมวิทยากรแปลงมาเป็น ๕ ภาพเพื่อเหมาะกับเด็กวัยประถมศึกษาพร้อมเล่าเรื่องประกอบภาพไปด้วย ทั้งนี้ ก่อนวาดภาพเขียนประเด็นหลักลงไปก่อน จากนั้นค่อยวาดภาพประกอบประเด็นจะได้ไม่หลุดประเด็นและภาพสื่อสารชัดเจนมากขึ้น โดย ๕ ภาพนั้น ได้แก่
๑) ภาพปัญหา ให้เลือกประเด็นปัญหามา ๑ อย่าง ประเด็นเดียวเท่านั้น ในที่นี้เพื่อความรวดเร็วเรากำหนดให้เลยว่า "ปัญหาขยะในโรงเรียน"
๒) ภาพสาเหตุ สาเหตุของปัญหาอาจมาจากหลายสาเหตุ หลายปัจจัย ฉะนั้นเเล้วให้เขียนเป็นข้อๆเพื่อความชัดเจนแยกเป็นประเด็นๆไป
๓) ภาพผลกระทบ ผลมันเกิดมาจากเหตุ ฉะนั้นแล้วมองว่าเหตุแต่ละอย่างมันส่งผลอย่างไร กับใครบ้าง ให้เขียนเป็นข้อๆ หรือจะเล่าเรื่องก็ได้
๔) ภาพวิธีการแก้ไข จากเหตุ คิดชั้นแรกให้แปลงเหตุมาสู่การแก้ไข คิดชั้นสองเขียนวิธีการแก้ไขให้เป็นลำดับขั้น
๕) ภาพแห่งความฝัน เขียนสิ่งที่เราอยากให้เปลี่ยนแปลง ภาพสำเร็จที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงแล้ว ให้อธิบาย
วิธีการดำเนินกิจกรรมนี้ คือ ให้ทำไปทีละภาพโดยการระดมสมอง(ฺฺBrain storming) โดยตั้งประเด็นในแต่ละภาพก่อนจากนั้นอธิบายเพิ่มติมแล้ววาดเป็นภาพเพื่อสื่อความหมายตาม ๕ ภาพ สรุปกิจกรรมโดยการนำเสนอหน้าชั้น ระหว่างทำพบว่าเด็กแต่ละกลุ่มช่วยกันคนละไม้คนละมือดีมาก เด็กวาดภาพสวย ลายมือสวย ทำให้เสร็จอย่างรวดเร็วทั้งนี้เพราะพี่ๆจิตอาสาของครูตุ๋มคอยช่วยเหลือ ทำให้กระบวนการนี้สำเร็จได้ทันเวลาพอดี สะท้อนว่าเด็กกลุ่มนี้ผ่านกรฝึกฝนมาเป็นอย่างดีโดยครูตุ๋ม ศิริลักษณ์ ชมภูคำ


๔) บูรณาการกระบวนการ PBL ด้วยกระบวนการ ๖ ขั้นสู่การอ่านออกเขียนได้ ผ่านวิชาภาษาไทย ข้อนี้เนื่องด้วยระยะเวลาที่จำกัดทำให้ไม่ได้ทำ แต่ครูตุ๋ม ก็ฝากเด็กๆและครูว่าหากจะบูรณาการนั้น ให้เพิ่มภาพที่ ๖ คือ ภาพที่อยากรู้หรือสิ่งที่อยากรู้ ให้เลือกมา ๑ ภาพหรือ ๑ ประเด็น เพื่อเข้ามาสู่กระบวนการ ๖ ขั้นสู่การอ่านออกเขียนได้ต่อไป "เสียดายที่ระยะเวลาไม่พอครับ"

๕) เติมเต็มเครื่องมือการถอดบทเรียน เพื่อใช้กับเด็กในโรงเรียน ข้อนี้เราใช้ KPA Outside หรือ วัดผลนอกกรอบ โดยใช้เด็กวาดมือของตัวเองลงไปในกระดาษ แล้วให้เขียนถอดบทเรียนใส่แต่ละนิ้ว ดังนี้
๑) นิ้วโป้ง ถามว่า จากการได้ทำกิจกรรมที่ผ่านมาทั้งวัน มีรู้ความสึกอย่างไรบ้าง
๒) นิ้วชี้ ถามว่า จากการที่ได้ทำกิจกรรมผ่านมา ประทับใจอะไรมากที่สุด
๓) นิ้วกลาง ถามว่า วันนี้ได้เรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง ให้เขียนออกมาให้มากที่สุด
๔) นิ้วนาง ถามว่า วันนี้ทำอะไรได้บ้าง / ทำอะไรเป็นบ้าง
๕) นิ้วก้อย ถามว่า จากที่ได้เรียนรู้เรื่องต่างๆ จะนำไปใช้อย่างไรในโรงเรียนของตนเอง
ในระหว่างทำให้ช่วงเวลาในการเขียนตามความเหมาะสม จากนั้นสรุปโดยการให้เล่าเรื่องบทเรียนของตนเองโดยให้เเต่ละกลุ่มออกมาเล่าให้เพื่อนฟัง กลุ่มละ ๑ คน จากการสะท้อนนั้น เห็นว่า เด็กรู้สึกชอบ สนุก ประทับใจทุกฐานการเรียนรู้ ได้เรียนรู้ ประวัติศาสตร์ไทยที่เข้าใจง่าย เรียนรู้ขั้นตอน PBL เรียนรู้วิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ที่ต้องเป็นมิติเวลา เป็นต้น สิ่งที่สามารถทำได้ คือ สามารถทำ Timeline ได้ และ ทำเครื่องมือ PBL ๕ ภาพได้ สิ่งที่จะนำไปใช้ที่โรงเรียน คือ จะนำความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ และเครื่องมือการคิดแบบ PBL ไปสอนน้องต่อไป

ทางกลุ่ม Young Teach ที่พึ่งตั้งขึ้นมาใหม่ๆ ขอขอบพระคุณคุณศิริลักษณ์ ชมภูคำ คณะครูโรงเรียนบ้านหินลาด คณะครูโรงเรียนหนองม่วงชมภูวิทย์ เป็นอย่างสูงที่ให้โอกาสเราได้มาเรียนรู้ และแน่นอนว่ากระบวนการทั้งหมดเราจะปรับปรุงพัฒนาต่อไปครับ

หมายเลขบันทึก: 630123เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2017 10:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2017 10:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท