บทบาทวัดกับสังคมยุคโลกาภิวัตน์ โดย พระครูพิพิธสุตาทร (พระมหา ดร.บุญช่วย สิรินธโร)


ในโลกยุคใหม่ จึงจำเป็นที่จะต้องทบทวนการจัดพื้นที่ทางกายภาพของวัดให้เหมาะสม และตอบสนองสังคมยุคใหม่ โดยไม่ละทิ้งจิตวิญญาณของความเป็นวัดไป


ในเวทีเสริมพลัง“สวดมนต์ภาวนา สร้างปัญญา สร้างสุข”พระสงฆ์ 4 ภาค ระหว่าง วันที่ 15-16 มิถุนายน 2560ณ. พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสังฆะเพื่อสังคม (สฆส.) มีเครือข่ายพระสงฆ์ที่ร่วมเวทีจากการดำเนินโครงการสวดมนต์สร้างปัญญา กว่า 100 แห่งที่ ที่ประยุกต์การสวดมนต์ภาวนา เป็นเครื่องมือในการพัฒนากาย จิต และปัญญา ซึ่งในวเทีนี้ได้มีการจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ บทบาทวัดในสังคมยุคโลกาภิวัฒน์ โดยมีวิทยากรร่วมเสวนาหลากหลายท่าน อาทิ พระครูอมรชัยคุณ (หลวงตาแชร์),พระครูพิพิธสุตาทร (พระมหา ดร.บุญช่วย สิรินธโร), คุณวีรพงษ์ เกียงสินยศ ซึ่งแต่ละท่านก็มีความคิดเห็นที่หลากหลาย โดยเฉพาะพระครูพิพิธสุตาทร ซึ่งภายหลังที่ท่านได้ร่วมเวทีเสวนา ได้ เมตตาเขียนเผยแพร่ในเฟสบุค ผมจึงขออนุมญาตินำบทเขียนท่านเผยแพร่ กราบขอบพระคุณท่านเป็นเมตตานำมาเผยแพร่ต่อครับ

"บทบาทวัดกับสังคมยุคโลกาภิวัตน์”

วันนี้เป็นอีกหนึ่งวันที่ได้มีโอกาสรับใช้ "เครือข่ายสังฆะเพื่อสังคม" ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของพระสงฆ์นักพัฒนาจากสี่ภาค ในการทำงานพัฒนาชุมชนบนฐานพุทธธรรม ซึ่งมีกิจกรรมการพัฒนาที่หลากหลายในเวทีเสริมพลัง “สวดมนต์ ภาวนา สร้างปัญญา สร้างสุข” ซึ่งเป็นหนึ่งในอีกหลายงานที่พระสงฆ์กลุ่มนี้ได้ทำงานมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่กิจกรรม “สวดมนต์ข้ามปี” ที่ช่วยลดปัญหาสังคมอันเกิดจากการฉลองปีใหม่อย่างไร้สติ มาสู่กิจกรรม “สวดมนต์ทั้งปี” และกิจกรรม “สวดมนต์ ภาวนา สร้างปัญญา สร้างสุข” ในปัจจุบัน ด้วยความเชื่อว่า “การสวดมนต์” มีผลโดยตรงต่อสุขภาพทั้งสี่ด้าน คือ สุขภาพกาย สุขภาพจิต สุขภาพสังคม และสุขภาพปัญญา (จิตวิญญาณ)

และวันนี้เป็นการรวมตัวกันของพระสงฆ์ที่จัดกิจกรรม “สวดมนต์ ภาวนา สร้างปัญญา สร้างสุข” เพื่อสรุปบทเรียนพร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานระหว่างกัน โดยเครือข่ายพระสงฆ์กลุ่มนี้ได้พัฒนานวัตกรรมที่หลากหลาย จากการทำงานการใช้การสวดมนต์มาพัฒนาสุขภาพของคนในชุมชน เริ่มจาก “พุทธมนต์” ที่เชื่อกันว่ามีพลังมาก ทำให้คนจำนวนไม่น้อยหายจากโรคร้ายอย่างน่าอัศจรรย์ หลายคนมีจิตใจที่เข้มแข็งมากขึ้น ความโมโหฉุนเฉียวลดลง หนักแน่นมากขึ้น มีเหตุผลมากขึ้น มีสติเพิ่มมากขึ้น ชุมชนที่ใช้การสวดมนต์เป็นเครื่องมือทำงานมีความเอื้ดเฟื้อเกื้อกูลกันมากขึ้น เห็นอกเห็นใจกันมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือใช้ปัญญาในการดำเนินชีวิตมากยิ่งขึ้น ซึ่งเห็นได้จากการลดละเลิกอบายมุข เช่น บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการพนัน

นวัตกรรมการสวดมนต์ที่น่าสนใจ เช่น “สวดมนต์ดิลิเวอรี่” ที่มีการจัดสวดมนต์ถึงบ้าน พร้อมเคลื่อนย้ายผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปจนทั่วทุกครัวเรือนในหมู่บ้าน “ธรรมจักรซันเดย์” ที่นำพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตรมาสวดกันในวันอาทิตย์ ที่สำคัญคือไม่ใช่เป็นการสวดมนต์เพื่อทวนความจำพระสูตรซึ่งเป็นภาษาบาลี และการมีสมาธิแน่วแน่อยู่กับบทสวดเท่านั้น นอกจากการสวดมนต์จะเน้นการสวดมนต์แปลที่ทำให้ทุกคนเข้าใจความหมายของพระสูตรที่สวดแล้ว การนำพระสูตรที่ใช้สวดบางสูตรมาอธิบายขยายความให้ได้ปัญญาที่สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันอีกด้วย

หัวข้อการเสวนาในวันนี้ คือ “บทบาทของวัด..” ที่ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นส่วนตัวต่อที่ประชุม โดยเสนอประเด็นหลัก 3 – 4 ประเด็น ดังนี้

@ วัด : พื้นที่ทางกายภาพ

พื้นที่ทางกายภาพของวัด ได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรม พื้นที่ใช้สอย วัสดุอุปกรณ์ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะทำให้วัดได้ “ทำหน้าที่ หรือ Functions” ได้อย่างที่ควรจะเป็น ในอดีตวัดเป็นสถานปฏิบัติธรรมพัฒนาจิตใจ เป็นโรงเรียน เป็นโรงพยาบาล เป็นโรงมหรสพ เป็นที่จัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับชีวิต (วันเกิด แต่งาน และงานศพ) ปัจจุบันบทบาทเหล่านี้ได้ถูกแย่งชิงไปโดยสถาบันและองค์กรอื่นที่เกิดขึ้นใหม่ๆในสังคม กระทั่งเหลือหน้าที่เพียงไม่กี่อย่างที่วัดยังสามารถยึดเอาไว้ได้ เช่น สถานที่จัดงานศพ แต่ก็ไม่แน่ว่าหน้าที่นี้จะถูกแย่งชิงไปอีกเมื่อไหร่ ดังที่ปรากฏแล้วในประเทศจีน ญี่ปุ่น เป็นต้น จะเป็นได้ว่าปัจจุบันมีสถานปฏิบัติธรรมนอกวัดเป็นจำนวนมาก โรงเรียนและโรงพยาบาลก็จัดโดยรัฐและเอกชน งานวัดที่เคยเป็นแหล่งรวมความบันเทิงก็มี Entertainment Complex แย่งไปเป็นที่เรียบร้อย ส่วนกิจกรรมที่เกี่ยวกับชีวิตก็มีน้อยคนนักที่จะใช้พื้นที่วัดในการจัดกิจกรรม


ในโลกยุคใหม่ จึงจำเป็นที่จะต้องทบทวนการจัดพื้นที่ทางกายภาพของวัดให้เหมาะสม และตอบสนองสังคมยุคใหม่ โดยไม่ละทิ้งจิตวิญญาณของความเป็นวัดไป

ในวัดยังมี “พระสงฆ์และสามเณร” เป็นผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญรับผิดชอบทั้งในการจัดการกายภาพของวัด และการที่จะทำให้วัดยังคงจิตวิญญาณของพุทธศาสนสถานต่อไป ซึ่งยิ่งจะต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพ ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาการภาพของวัด และการปรับประยุกต์พุทธธรรมเพื่อสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างเหมาะสม “บาลี+นักธรรม” อาจจะไม่เพียงพอสำหรับการตั้งรับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป มีหลักสูตรอื่นใดอีกหรือไม่ที่จะช่วยให้เพิ่มศักยภาพให้มากยิ่งขึ้น

@ วัด : พื้นที่ทางจิตวิญญาณ

ในแง่มุมของจิตวิญญาณของวัด คงชัดเจนกันอยู่แล้วว่า “วัด” ทำหน้าที่ในการ “ส่งเสริมการขัดเกลากิเลส” ทั้งหยาบและละเอียด มีความหลุดพ้นจากทุกข์เป็นเป้าหมาย ดังนั้น “วัด” จึงมีจิตวิญญาณที่แตกต่างจาก “ห้างสรรพสินค้า” อย่างมีนัยสำคัญ โดย “วัด” มีจิตวิญญาณของการส่งเสริม “การให้ หรือ การเสียสละ” ส่วน “ห้างสรรพสินค้า” มีจิตวิญญาณของการส่งเสริม “การเอา หรือ ความอยาก”

นั่นหมายความว่า การที่จะให้ “วัด” ยังคงจิตวิญญาณของ “การให้/การเสียสละ” พระสงฆ์ที่ทำหน้าที่ในวัดจะต้องใช้วิจารณญาณในการพัฒนา “พื้นที่ทางกายภาพ” และการพัฒนา “กิจกรรมการประยุกต์ธรรม” ให้เหมาะสมนั่นเอง

@ การประยุกต์ธรรม: ศีลที่เหมาะกับยุกต์สมัย

ในขณะที่คณะสงฆ์กำลังขับเคลื่อนนโยบาย “หมู่บ้านรักษาศีล 5” กันอย่างเอาจริงเอาจังนะเวลานี้ ก็มีคำถามตามมาก นโยบายหมู่บ้านรักษาศีล 5 นั้น เหมาะสมกับยุคสมัยหรือไม่ ต่อเรื่องนี้ก็คงไม่พ้นที่จะต้องกับไปพิจารณาบริบทสังคม ว่าเปลี่ยนไปถึงไหนกันแล้ว จากยุค “เกษตร” ในครั้งพุทธกาลมาสู่ยุค “เทคโนโลยีสารสนเทศ” ในปัจจุบันที่เด็กๆเกิดมาพร้อมกับ Smart Phone ดังนี้
1) ยุคนี้เป็นยุค “บริโภคนิยม” ที่มีขบวนการกระตุ้น “การบริโภค” อย่างไม่ลืมหูลืมตา
2) ยุคนี้เป็นยุค “เทคโนโลยีสารสนเทศ” ที่คนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร(รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และ ศีล 5 ด้วย)ได้อย่างง่ายดาย
3) ยุคนี้เป็นยุคแห่ง “การแข่งขัน” ที่มีเป้าหมายคือ “ความร่ำรวยวัตถุ” ซึ่งทุกคนก็มุ่งสู่เป้าหมายโดยไม่คำนึกถึงความถูกต้องชอบธรรม
4) ยุคนี้เป็นยุคที่ชื่อคนเปลี่ยน จากชื่อ “อุ้ยคำ” มาเป็นน้อง “กฤตยชญ์” ที่อาจสะกดผิดได้ทุกเวลา จนกระทั่งมาถึงน้อง “แทมมี่” ที่อุแว้มาพร้อมกับ Smart phone ในมือ
“หมู่บ้านศีล 5” จึงอาจจะไม่ตอบโจทย์สังคม ณ วันนี้ก็ได้ การกล่าวเช่นนี้อาจมีคนบอกว่า คนเขียนมี “พฤติกรรมจาบจ้วง” ก็ได้ ต้องขอบอกว่านี่เป็นเพียงการชวนให้คิด เพื่อความอยู่รอดของพระพุทธศาสนาในยุคโลกาภิวัตน์ ที่เราไม่อาจตั้งรับได้อีกต่อไป


คำถามจึงมีว่าแล้วผู้เขียนมี “ข้อเสนอ” อะไร คำตอบที่น่าจะท้าทายให้ทบทวนคือ ทำไมเราไม่ทำ “หมู่บ้านศีล 4” คือ หมู่บ้านที่ยึดถือหลัก “ปัจจยสันนิสสิตศีล” ที่กล่าวถึงการพิจารณาปัจจัยสี่ในการบริโภค ก็เพราะสังคมยุคนี้เป็นสังคมยุค “บริโภคนิยม” ไงล่ะ

@ สวดมนต์: ทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงได้

ในกรณีกิจกรรม “สวดมนต์ ภาวนา สร้างปัญญา สร้างสุข” บังเอิญได้มีโอกาสฟังเพลงที่เรียบเรียงบทพระสูตรในพระพุทธศาสนา มาทำเป็นบทเพลงประกอบดนตรี พร้อมด้วยคำแปลเป็นภาษาอังกฤษ ของ “Inner Voice” แล้ว เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจว่า จะมีการพัฒนาบทสวดพระสูตรต่างๆ ด้วยการเรียบเรียงดนตรีประกอบ พร้อมทั้งมีบทแปลภาษาไทย เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าถึงหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนาได้อีกทาง

“ความคิดสร้างสรรค์” ใหม่ๆเหล่านี้ คงไม่สามารถข้ามพ้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนจำนวนหนึ่งว่าไม่เคารพใน “จารีตประเพณี” ก็คงต้องย้อนไปเมื่อสัก 40-50 ปีที่ผ่านมา ที่ปัญญานันทภิกขุ (พระพรหมมังคลาจารย์) ได้คิดสร้างสรรค์การ “ยืนปาฐกถา” บนโพเดียม (แทนที่จะนั่งธรรมาสน์) ที่ท่านปัญญานันทภิกขุได้รับก้อนอิฐมากมาย ในฐานที่ว่า “ไม่รักษาจารีต” แต่ด้วยความมั่นคง เด็ดเดี่ยว เชื่อมั่น จากกวันนั้นถึงวันนี้ การ “ยืนปาฐกถา” ก็กลายเป็นเรื่องปกติในสังคมปัจจุบัน

ขอเพียงเราต้อง 1) ยอมรับว่าโลกเปลี่ยนไป 2) ทำอย่างไรพระพุทธศาสนาที่เป็นแก่นสารสาระจะยังได้รับการสืบทอดต่อคนรุ่นหลัง 3) พัฒนา “พื้นที่กายภาพ” และรักษา “จิตวิญญาณ” ที่แท้จริง 4) มีความอดทนอดกลั้นต่อคำกล่าวร้าย ในวาทกรรมเดิมๆ คือ “ไม่รักษาจารีต” มุ่งมั่นปฏิบัติการโดยมีอนาคตอันรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาเป็นเป้าหมาย ถึงคราว “ตาย” ก็ “ตายตาหลับ” เพราะไม่ละเลยในกิจที่ควรทำ



หมายเลขบันทึก: 629941เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2017 17:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2017 15:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

รู้จักท่านพระครูพิพิธสุตาทร (พระมหา ดร.บุญช่วย สิรินธโร).....

ทำทำงานได้ดีมากเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท