การมีส่วนร่วมในมุมมองปรัชญาหลังนวยุคที่มีต่อหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


การมีส่วนร่วมในมุมมองปรัชญาหลังนวยุคที่มีต่อหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เขียนโดย ดร.เมธา หริมเทพาธิป


ผู้สนใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในประเทศไทยได้ศึกษาและพยายามทำความเข้าใจ ประการสำคัญคือการนิยามเพื่อนำไปปฏิบัติ ซึ่งพระพุทธศาสนาได้แบ่งนิยาม 5 ได้แก่ อุตุนิยาม พีชนิยาม จิตนิยาม กรรมนิยมและธรรมนิยามเพื่อให้ทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ซึ่งแต่ละคนก็จะถนัดนิยามต่างกัน ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงมีการตีความผ่านนิยามเหล่านี้ เช่น ผู้ถนัดอุตุนิยามก็จะตีความออกเป็นรูปธรรม เป็นกิจกรรมทางกายภาพ เช่น เกษตรทฤษฎีใหม่ต้องเริ่มจากที่ 10 ไร่ แบ่งเป็นนา 3 ไร่ สวนต้นไม้ 3 ไร่ บ่อน้ำ 3 ไร่ บ้าน 1 ไร่ เมื่อนิยามเช่นนี้ก็ต้องทำอย่างนี้ ไม่ยืดหยุ่น ผู้ถนัดพีชนิยามก็สนใจระดับของการพัฒนาความพอเพียงจากตนเอง ไปสู่ชุมชน สังคม ประเทศ โดยพยายามชี้ว่าจะต้องทำอย่างไร อะไรบ้าง ผู้ที่ถนัดจิตนิยามก็จะมองความพอเพียงผ่านจิต นั่นคือเน้นสันโดษ การรู้จักพอเพียง การเน้นความสุขทางใจมากกว่าทางกาย ผู้ถนัดกรรมนิยามก็จะชี้ว่าต้องปฏิบัติให้เกิดผลจริง ต้องมีการลงมือทำให้เห็นว่าใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ต้องปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ มีเวลาก็ต้องปฏิบัติธรรม และผู้นิยามผ่านธรรมนิยามซึ่งก็จะใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงที่เผยแพร่ในปี พ.ศ. 2542 (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2554, หน้า 22-3 อ้างใน เมธา หริมเทพาธิป, 2559, หน้า 207) ซึ่งกำหนดนิยาม 3 ห่วง 2 เงื่อนไข โดยพยายามตีความให้ขยายกว้างขวางไปเรื่อยๆ และพยายามที่จะสร้างตัวชี้วัดเพื่อแสดงการปฏิบัติได้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ธรรมนิยามที่ได้รับการรับรองแล้วย่อมเป็นนิยามที่สำคัญ หากแต่การทำความเข้าใจเชิงปรัชญาเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นจริง จะต้องพิจารณาผ่านวิธีคิดเชิงระบบในการมองภาพรวมดังเช่นที่เสนอไว้ในหนังสือ Holism and Evolution (Smuts, 1926) อันได้แก่ การคิดถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มองภาพรวมอย่างเป็นระบบ มีส่วนประกอบย่อยๆ โดยอาศัยการคิดในรูปแบบโดยทางตรงและโดยทางอ้อม ซึ่ง Bellinger (2004) ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความรู้ได้เสนอ disciplined approach เพื่อการพัฒนาความเข้าใจต่อกิจกรรม (event) รูปแบบของพฤติกรรมที่เกิดจากกิจกรรม (pattern) และโครงสร้างที่ตอบสนองจากรูปแบบของพฤติกรรม (structure) ดังนั้น การตีความหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อขยายความเข้าใจและนำไปสู่การปฏิบัติได้ จึงต้องเข้าใจและเข้าถึงส่วนสำคัญทั้ง 3 ส่วน ได้แก่

ในส่วนแรก (โครงสร้าง/structure) ได้แก่คำว่า “พอเพียง” เป็นพฤติกรรมของมนุษย์ที่ประพฤติตนและจิตใจให้รู้จักพึงพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่เพียงพอสำหรับการเลี้ยงชีพของตนโดยไม่เดือดร้อน ซึ่งเรียกว่า “พอเพียง” จึงอธิบายได้ว่าเมื่อใดก็ตามที่จิตใจมนุษย์ถึงซึ่งความพอเพียงก็จะเกิด “ความสุข” ขึ้น ปรัชญาพอเพียงจึงได้ชื่อว่าเป็น “ปรัชญาจริยะ” เพราะเป็นปรัชญาที่ควบคุมพฤติกรรมมนุษย์ให้มีความสุข ซึ่งอาจเรียกได้ว่าปรัชญาแห่งความสุข ความสุขจะเกิดขึ้นในรูปแบบใดก็ตาม กุญแจสำคัญที่ทำให้มันเกิดขึ้นก็คือ “ความพอเพียง” เพราะความพอเพียงทำให้เกิด “ความพอใจ” หรือ “ถ้าใจพอ ก็พอใจ” เมื่อพอใจความสุขก็เกิดขึ้น

ในส่วนแรกนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นรากฐานแห่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญานี้เปรียบเสมือนรากฐานของชีวิตและสังคมรวมถึงความมั่นคงของประเทศชาติ ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากวารสารชัยพัฒนาประจำเดือนสิงหาคม 2542 ตอนหนึ่งว่า “เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป”

ในส่วนที่สอง (รูปแบบ/pattern) เป็นที่รู้จักกันดีในรูปแบบของ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข โดยถูกอธิบายว่า 3 ห่วง ประกอบด้วย (1) ความพอประมาณ (2) ความมีเหตุผล และ (3) มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ส่วน 2 เงื่อนไข ประกอบด้วย (1) เงื่อนไขความรู้ และ (2) เงื่อนไขคุณธรรม ซึ่งเป็นการใช้เหตุผลเชิงความรู้คู่กับคุณธรรมที่เรียกว่า จรรยาบรรณ หรือจริยธรรมในแต่ละระดับตามเงื่อนไขที่แตกต่างกัน

ในส่วนที่สาม (กิจกรรม/event) เป็นปรากฏการณ์ (phenomena) ที่ถูกถ่ายทอดผ่านกิจกรรมต่างๆ ในสังคม เป็นแนวปรัชญาที่ทุกๆ คน สามารถนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ในทุกอาชีพ ทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดความเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา อันจะนำไปสู่ความสุขและการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งกิจกรรมที่เกิดขึ้นมักจะมุ่งเน้นในเรื่องการพึ่งตนเอง การรวมกลุ่มกันคิดค้นและร่วมมือกันทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม มีการแบ่งปัน ช่วยเหลือกันและกันตามกำลังและความสามารถของตน การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมการบริหารจัดการปัจจัยต่างๆ เช่น ทรัพยากรภูมิปัญญาท้องถิ่นให้สามารถนำไปใช้ดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้องและสมดุลและเมื่อหลาย ๆ ชุมชนพอเพียงมารวมกลุ่มกันแลกเปลี่ยนความรู้สืบทอดภูมิปัญญาและร่วมกันพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ก็จะกลายเป็นสังคมแห่งความพอเพียงได้ในที่สุด

ดังนั้น พื้นฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงช่วยอธิบายถึงความสำคัญของความพอเพียงในฐานะเป็นเป้าหมายหรือจุดร่วมของการพัฒนาประเทศ การมีส่วนร่วม และหลักธรรมาภิบาล รวมทั้งนำเสนอมุมมองใหม่ผ่านการตีความในเชิงปรัชญาในเรื่องธรรมาภิบาล และการมีส่วนร่วมที่ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนบนรากฐานของความพอเพียง ซึ่งเป็นปรัชญาที่นำไปสู่ความสุขของคนทั้งชาติ

อย่างไรก็ตาม การเผยแพร่หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ผ่านมาโดยส่วนใหญ่มุ่งเน้นในภาคเศรษฐกิจเป็นแกนหลัก ผ่านกิจกรรมต่างๆ ในเชิงประยุกต์ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะเศรษฐกิจเป็นเสมือนยุ้งฉางขนาดใหญ่สำหรับเลี้ยงปากท้องคนในประเทศให้อยู่รอด และต้องเป็นการอยู่รอดแบบ “กินดีอยู่ดี” ไม่อดอยากยากแค้น แต่สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้เรื่องทำมาหากินก็คือ ความรู้ในระดับปรัชญา คือ เมื่อเรายอมรับว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานให้แก่พสกนิกรชาวไทยเป็นหลักปรัชญาอย่างหนึ่ง สิ่งที่เราต้องคิดทบทวนต่อไปก็คือ หลักปรัชญาที่ว่านี้อยู่บนพื้นฐานของปรัชญาแบบใด ซึ่งที่ผ่านมามักถูกตีความในเชิงศาสนาเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะถูกตีความว่าเป็นเรื่อง “สันโดษ” ซึ่งคำว่าสันโดษตามความรู้สึกของคนไทยทั่วไปมักคิดถึงคำว่า “มักน้อย” คือ อยู่แบบปอนๆ กินน้อย ใช้น้อย สมถะ เป็นต้น และต่อมา ได้ถูกอธิบายในเชิงเศรษฐศาสตร์ว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ในความหมายของสันโดษ) คือ “การบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เพียงพอต่อความต้องการที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด” อธิบายได้ว่า ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน สังคม ประเทศ ตลอดถึงระดับโลกนั้น “มีอยู่อย่างจำกัด” แต่ความต้องการหรือ “ตัณหา” ของมนุษย์ “มีอยู่อย่างไม่จำกัด” คือ ได้มาเท่าไหร่ก็ไม่พอ เมื่อต่างคนต่างไม่พอ ความเห็นแก่ตัว การเบียดเบียนกันจึงเกิดขึ้น ความสุขของคนจึงน้อยลง ความทุกข์จึงเพิ่มขึ้น เพราะต้องแข่งขันกัน เอารัดเอาเปรียบกัน หวาดระแวงกันและกัน ทะเลาะกัน ทำร้ายกัน สิ่งเหล่านี้นำไปสู่ความแตกแยกและการก่อสงครามแย่งชิงทรัพยากร

ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงมุมมองของปรัชญาหลังนวยุคแล้ว ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เรื่องของศีลธรรม (morals) เพราะเมื่อวิเคราะห์จากชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็น “ปรัชญา” แต่ที่ดูคล้ายกับหลักธรรมสันโดษนั้น เป็นเพราะสามารถตีความหรือศึกษาในเชิงสันโดษได้ เพราะเนื้อแท้ของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็น “ปรัชญาจริยะ” ซึ่งเป็นเรื่องจริยธรรม (ethic) หรือจริยศาสตร์ (Ethics) จึงดูคล้ายคลึงกับเรื่องของศาสนาซึ่งเป็นเรื่องของศีลธรรม แต่อันที่จริงแล้ว จริยธรรมกับศีลธรรมนั้นต่างกัน

“จริยธรรม” มาจากภาษาอังกฤษว่า ethic เป็นเนื้อหา (detail) ของวิชาจริยศาสตร์ ที่ว่าด้วยประมวลข้อธรรมที่ควรและไม่ควรประพฤติ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ให้ทุกคนในสังคมเป็นคนดี มีความสุขจากความประพฤติดี ซึ่งเป็นการทำดีเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดในหลักธรรมาภิบาล (good governance) ซึ่งมีทั้งส่วนจริยธรรมสากลและจริยธรรมทางศาสนา (ทุกศาสนา) ส่วน “ศีลธรรม” มาจากภาษาอังกฤษว่า morals เป็นประมวลกฎเกณฑ์ความประพฤติของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ชื่อว่าเป็น “ปรัชญาจริยะ” ก็เพราะเป็น “ปรัชญาแห่งความสุข” และเป็นความสุขที่เกิดจากการพัฒนาคุณภาพชีวิต คือ การได้ทำดีแล้วมีความสุข เป็นความสุขแท้ตามความเป็นจริงเพราะเป็นการแสวงหาความสุขบนความสุขของตนเองและผู้อื่น

การมีส่วนร่วมในมุมมองปรัชญาหลังนวยุคที่มีต่อหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีแนวโน้มให้การสนับสนุนในเชิงปรัชญาจริยะ โดยมุ่งให้เกิดความร่วมมือกันเพื่อสร้างความสุขให้เกิดแก่ส่วนรวม โดยเฉพาะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการหรืองานกิจกรรมต่างๆ ต้องได้รับความสุขอย่างพอเพียง คือทั่วถึง ไม่ขาดไม่เกิน เริ่มตั้งแต่สามารถพึ่งตนเองได้ในเรื่องทำมาหากิน มีปัจจัย 4 อย่างพอเพียง มีเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารที่เหมาะสมแก่สถานภาพ มีเครื่องมือในการทำมาหากินที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในแต่ละวัน คือทำให้เกิดความสะดวกสบายและเพิ่มศักยภาพในด้านการทำมาหากินให้เพียงพอต่อคนในครอบครัว เมื่อครอบครัวมีความสุข แต่ละครอบครัวมีความชำนาญในทักษะอาชีพ ก็พัฒนาสติปัญญาความรอบรู้ให้กว้างขวางควบคู่กันไป มีการจัดกลุ่มสัมมนาร่วมกับปราชญ์ชาวบ้าน หรือเข้าไปมีส่วนร่วมกับโครงการของภาครัฐ มูลนิธิ สถาบันเอกชนที่ต้องการพัฒนาความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้น

โครงการที่เกิดขึ้นจะต้องมีการให้เกียรติผู้ที่เข้ามาเกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างเสมอภาค โดยเฉพาะที่มีส่วนได้ส่วนเสียในชุมชนที่ต้องได้รับผลกระทบจากโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าว แนวคิดของปรัชญาหลังนวยุคสนับสนุนให้เกิดความพอเพียงแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เริ่มตั้งแต่การมีส่วนร่วมในการให้และรับข้อมูลเพื่อให้เกิดการศึกษาอย่างเข้าใจและสรุปผลให้เกิดความเข้าใจอย่างตรงกัน มีฝ่ายเลขานุการทำการบันทึกที่ประชุมถึงความเข้าใจดังกล่าวร่วมกันเพื่อป้องกันการบิดเบือนของผู้ที่ไม่หวังดี โดยผู้ที่เข้ามาให้และรับข้อมูลจะมีการเซ็นลายมือกำกับเพื่อรับรองสรุปรายงานที่ประชุมดังกล่าวอย่างเป็นระบบ และเผยแพร่ข้อมูลนี้แก่สมาชิกในชุมชนที่เกี่ยวข้องอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา คือมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้นั่นเอง

การดำเนินงานไม่ได้เพียงความร่วมมือด้านการรับส่งข้อมูลเท่านั้น กิจกรรมที่ขับเคลื่อนต้องมีส่วนร่วมอย่างเป็นลำดับและมีระบบ สนับสนุนให้เกิดการร่วมคิดและร่วมตัดสินใจ แม้ในบางครั้งอาจจะมารตัดสินใจที่แตกต่างกันก็ต้องหามติร่วมกันในที่ประชุมอย่างเป็นเอกฉันท์ คำว่า เอกฉันท์หรือฉันทามตินี้ไม่จำเป็นที่แต่ละฝ่ายจะต้องมีความเห็นหรือตัดสินเหมือนกัน แต่ละคนสามารถคิดต่างได้เพราะเป็นสิทธิพื้นฐานและเป็นพลังสร้างสรรค์ที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ เพียงแต่ต้องมีแนวทางเดียวกันคือการร่วมคิดหรือตัดสินใจใดๆ จะต้องเป็นไปเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างพอเพียง แม้ในบางครั้งอาจมีทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้าน แต่ทุกๆ ครั้งที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวนี้จะต้องมีการคิดทบทวนและให้เกียรติการตัดสินใจของแต่ละฝ่ายแม้ว่าจะเป็นทรรศนะที่ไม่เห็นด้วยก็ตาม การมีส่วนร่วมในเชิงปฏิบัติงานร่วมกันเป็นหัวใจที่สำคัญมากต่อการทำงานในเชิงรุกและเกิดความพอเพียง ฝ่ายเสนอโครงการและฝ่ายสนับสนุนจะต้องดำเนินงานให้เป็นไปตามนโยบายและแผนงานที่กำหนดไว้ กล่าวโดยสรุปก็คือ นโยบาย แผนปฏิบัติการ และการดำเนินงานจะต้องเป็นเรื่องเดียวกันและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการขับเคลื่อนงานจะต้องเข้ามาร่วมกันปฏิบัติงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของงานคือคุณภาพชีวิตที่ดีและเกิดความพอเพียงแก่ทุกฝ่าย มีกระบวนการที่ทำให้ฝ่ายต่อต้านสามารถเข้าถึงข้อมูลทางบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อให้เกิดตรวจสอบความโปร่งใสในด้านการดำเนินงาน เกิดการถ่วงดุลอำนาจ และรักษาไว้ซึ่งความชอบธรรม เพื่อสร้างความไว้วางใจ ให้เกิดแก่คนส่วนรวม กรดำเนินโครงการใดก็จะสำเร็จลุล่วงได้ง่ายเพราะทุกคนที่เกี่ยวข้องรู้สึกตระหนักถึงคุณค่าของตนเองและรู้จักการให้เกียรติผู้อื่นแม้ว่าจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แต่ก็ไม่ก้าวก่ายกันให้เสียเกียรติ ยอมรับความคิดเห็นและการตัดสินใจร่วมกัน ร่วมรับผิดชอบในสิ่งที่ตนตัดสินใจร่วมกัน ความผิดพลาดจากการตัดสินใจที่ผิดไม่ใช่สิ่งน่าละอายหากผู้ที่ตัดสินใจมีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง ตรงกันข้ามกลับเป็นที่น่าสรรเสริญและควรให้กำลังใจช่วยเหลือกันเพราะเพื่อนมนุษย์เกิดมาเพื่อกันและกัน มีความสุขร่วมกันอย่างพอเพียง ความสุขแท้ตามความเป็นจริงจึงจะเกิดขึ้น

นอกจากการมีส่วนร่วมในเรื่องของการให้-การรับข้อมูล การร่วมคิดร่วมตัดสินใจ การร่วมดำเนินการ และรับผิดชอบร่วมกันแล้ว ในการดำเนินโครงการหรือกิจการใดๆ ย่อมเกิดการเรียนรู้ทั้งในด้านความสำเร็จและความล้มเหลวจากการทำงาน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่แต่ละคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องต้องตระหนักเพื่อให้เกิดการติดตามและประเมินผลอย่างเอาใจใส่ เพราะมันคือการพัฒนาสติปัญญาและจิตวิญญาณให้กล้าเผชิญกับปัญหา กล้าประเมนและตรวจสอบวิธีการปฏิบัติ และกล้าลงมือทำด้วยความรับผิดชอบอย่างมีวิจารณญาณ คือ รู้จักวิเคราะห์ร่วมกัน รู้จักประเมินค่าสิ่งที่เป็นคุณและโทษจากการทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดการถอดบทเรียนร่วมกัน มันมีคุณค่าและประโยชน์มหาศาลต่อการนำไปพัฒนางานเพราะเกิดจากปัญญาปฏิบัติ เพราะถึงแม้ว่าการมีส่วนร่วมจะเกิดจากการส่งและรับข้อมูล เกิดการวิเคราะห์และเข้าใจตรงกันแล้ว แต่ความเข้าใจดังกล่าวก็ยังไม่อาจยืนยันความถูกต้องในการทำงานแต่ละครั้งได้ เพราะขึ้นอยู่กับบริบทของแต่สถานที่ รวมไปถึงกระบวนทรรศน์ในใจของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ ค่านิยม ทัศนคติ ประสบการณ์ ฯลฯ มันได้หล่อหลอมความมีความเป็นของแต่ละคนก่อนที่จะเข้ามามีส่วนร่วมกับคนอื่นๆ จึงจำเป็นต้องมีการเรียนรู้อุปนิสัยใจคอ เข้าใจถึงความรู้ความสามารถและศักยภาพเพื่อให้เกิดการจัดวางตำแหน่งงานที่เหมาะสมร่วมกัน ทั้งนี้ก็เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต แสวงหาความสุขบนความสุขของตนเองและผู้อื่นด้วยสัญชาตญาณปัญญา คือ สร้างสรรค์ ปรับตัว ร่วมมือ และแสวงหาร่วมกันบนความพอเพียงและยั่งยืน

หมายเลขบันทึก: 629874เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2017 09:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2017 12:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท