กระแสคิด "การล่าแม่มด" ในยุคดิจิทัล


กระแสคิด "การล่าแม่มด" ในยุคดิจิทัล

เขียนโดย ดร.เมธา หริมเทพาธิป

"การล่าแม่มด" ในปัจจุบันกลายเป็นคำที่สื่อความหมายในเชิงเทคนิคหรือวิธีการ "ไล่ล่า" บุคคลที่ถูกเกลียดชังในยุคดิจิทัล ด้วยการสร้าง "วาทกรรมเกลียดชัง" หรือ "Hate Speech" ขึ้นมา เพื่อ "ลดคุณค่าความเป็นคน" ของบุคคลหรือกลุ่มคนเหล่านั้นให้ดูเหมือนว่า "ไม่ใช่คน" เมื่อคนธรรมดาทั่วไป "ถูกลดคุณค่า" ให้กลายเป็น "สิ่งอื่น" ที่มีความแปลกแยกไปจากคน สรรพนามที่เคยถูกเรียกว่า "คน" ก็จะกลับกลายเป็น "ตัว" อะไรก็ไม่รู้ ที่มีความชั่วร้ายแฝงอยู่ประดุจภูตผี ปีศาจ ซาตาน แม่มด ที่ไม่หลงเหลือความดีอะไรอยู่เลย (และไม่มีวันกลับไปเป็นคนดีได้)

ดังนั้น สิ่งที่มี (exist) ที่เป็น (being) ที่หลงเหลืออยู่ (Essence) จึงมีแต่เพียงความเลวร้าย ที่เชื่อว่านับวันมีแต่จะแย่ลงเรื่อยๆ อย่างไม่ควรให้อภัย และถูกกำหนดชะตาชีวิตจากผู้สร้างวาทกรรมเกลียดชังด้วยคำสาปให้กลายเป็นสิ่งชั่วร้ายไปตลอดกาล

จากนั้น ผู้สร้างวาทกรรมจะหยิบยก "ผลผลิตแห่งวาทกรรมเกลียดชัง" ที่ตนสร้างขึ้นนี้ ขึ้นมาค้ำประกันความชอบธรรม (justification) ให้กับตนเองและผองเพื่อนในโลกโซเชียล ที่พร้อมใจกัน "ช่วยไลค์ ช่วยแชร์" คำประฌาม คำเสียดสี ข้อวิพากษ์แบบรื้อทำลาย (deconstruct) และเชิญชวนสื่อสังคมโซเชียลมีเดียได้ช่วยกันไล่ล่า "ตัว" ที่แปลกแยกจาก "คน" มาลงโทษ ทำลาย ขับไล่ ด้วยกฎหมู่ในสังคมโซเชียลชนิดที่ว่า "อย่าให้มีจุดยืนในสังคม" กันเลยทีเดียว

ในอดีต กระแสการล่าแม่มดเกิดขึ้นในช่วงกระบวนทรรศน์ยุคกลาง (medieval paradigm) ในแถบยุโปของยุคนั้นได้ชื่อว่าเป็นยุคมืดที่โหดร้ายทารุณ มีการสร้างวาทกรรมเกลียดชัง และลดคุณค่าความเป็นคนให้กับผู้ที่ถูกล่าอย่างแพร่หลาย ผู้ที่ถูกล่าได้ชื่อว่าเป็นแม่มดที่มีเวทมนต์ชั่วร้ายที่ควรถูกกำจัด ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นพวกอธรรม เป็นฝ่ายมาร เป็นพวกที่ไม่หลงเหลือคุณความดีเลยแม้แต่น้อย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "พวกนี้ไม่ใช่คน"

ต่อมา คนกลุ่มหนึ่งก็ถูกล่าไม่ต่างอะไรกับแม่มด เพียงแต่มีความเชื่อ ความคิด ทัศนคติ ค่านิยม ตลอดทั้งวิถีปฏิบัติ (means) ที่แตกต่างไปจากรูปแบบ (pattern) คำสอน (teaching) ที่ศาสนจักรกำหนดไว้ พูดง่ายๆ ก็คือ ใครเชื่อต่างจากสิ่งที่ศาสนจักรต้องการให้เชื่อถือว่าผิดหมด เพราะ อิทะเมวะ สัจจัง โมฆะมัญญัง (ของฉันเท่านั้นจริง สิ่งอื่นเป็นโมฆะ) เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่ฝ่าฝืนและดื้อดึง กล้าที่คิดและทำต่างออกไปก็จะถูกตีตราและถูกตามล่าในฐานะ "แม่มดผู้ชั่วร้าย"

ในปัจจุบัน "การล่าแม่มด" ไม่ได้ถูกใช้เพียงเพื่อกำจัดบุคคลที่เชื่อหรือคิดต่างกันเพียงอย่างเดียว แต่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือหรือเทคนิคในการสนองความโกรธเกลียดและอิจฉาริษยาด้วย ด้วยการทำตัวเป็นผู้หวังดี (แต่ประสงค์ร้าย) เขียนข่าวหลอกให้แชร์กันเยอะๆ โดยอาศัยต้นทุนเดิมที่คนช่วยแชร์มีกันอยู่แล้ว คือ "อคติ" เพียงสร้างของ "เสมือนจริง" ในโลกโซเชียล เช่น เว็บไซต์ปลอม เฟสบุ๊คปลอม ไลน์ปลอม เป็นต้น แล้วใส่รูปภาพบุคคลที่ตนโกรธเกลียดหรือริษยาลงไป จากนั้นเขียน "ยั่วยุ" ด้วยวาทกรรมเกลียดชัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเหยียดศาสนา เพศ สีผิว ชาติพันธ์ุ ระดับการศึกษา ฐานะทางสังคม ตลอดทั้งความขัดแย้งระหว่างประเทศ โดยที่เจ้าตัวไม่รู้เรื่อง ไม่ได้เป็นคนโพสต์วาทกรรมเหล่านี้ แต่กลับต้องตกเป็นเหยื่อ กลายเป็น "แม่มดในโลกโซเชียล" ที่มียอดแชร์ไล่ล่าสูงลิ่วยิ่งกว่านักร้องดารา ต้องถูกคนก่นด่า สาปแช่ง ไล่ล่า จนไม่มีที่ยืนในสังคม ชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริงของเขาต้องถูกทำลายลง แม้เขาจะพยายามแก้ข่าว แต่คนในสังคมออนไลค์ก็มักไม่ให้ความสนใจกดแชร์เพื่อแก้ข่าวให้ เพราะคนที่เคยกดแชร์และร่วมกันประณามมาก่อน ก็มีความ "กระดากอายในใจ" ที่ต้องตกเป็นเครื่องมือของโซเชียลมีเดีย กลัวคนจะมองว่าตนเป็น "คนบาป" ในโลกโซเชียลที่หลายคนต้องพยายาม "สร้างภาพ" ให้ดูดีทั้งภายนอกและภายใน

หากมองในเชิงปรัชญา กระบวนการล่าแม่มดในอดีต (ช่วงกระบวนทรรศน์ยุคกลาง) มาจากฐานคิดที่ว่า "สิ่งที่ฉันเชื่อเท่านั้นจริง สิ่งอื่นที่ไม่ใช่สิ่งที่ฉันเชื่อ ถือว่าผิดหมด" แนวคิดนี้ขยายไปสู่ในระดับกลุ่ม กลายเป็น "พวกมากลากไป" คือ ใครเห็นต่างจากกลุ่มของฉันถือว่าผิดหมด

ต่อมา เมื่อเข้าสู่กระบวนทรรศน์นวยุค (modern paradigm) คนทั่วไปได้หันมายอมรับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อสลายความขัดแย้งต่อการเป็นเจ้าของความจริงของคนในแต่ละกลุ่ม ในยุคนี้ ความรู้ทางศาสนาถูกมองว่าเป็นความรู้ขั้นต่ำสุดของมนุษยชาติ ส่วนปรัชญาก็เป็นแค่เพียงสาวรับใช้ทางศาสนา เป็นเพียงวิทยาศาสตร์เทียม ไม่ใช่ความรู้ (science) ที่แท้จริง ที่จะมีประโยชน์บ้างก็มีแค่เพียง "ตรรกวิทยา" เท่านั้น ดังนั้น วิทยาศาสตร์จึงใช้ตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนกระบวนการวิทยาศาสตร์คิดค้นนวัตตกรรม เทคโนโลยี และความรู้ที่เป็นความจริงตายตัวและเป็นสากล (universal) ด้วยเหตุนี้ ความเชื่อที่มีมาแต่ในอดีตจึงถูกท้าทายและถูกทำลายความน่าเชื่อถือลงจนกระทั่งกระบวนทรรศน์เปลี่ยนผ่านเข้ามาสู่ช่วงหลังนวยุค (postmodern paradigm) หลังจากที่อายน์สไตน์ค้นพบทฤษฎีสัมพัทธภาพ นิวโบว์ได้ค้นพบอนุภาคของแสง และฮายเซนเบิร์กได้ประกาศทฤษฎีความไม่แน่นอน เป็นเหตุทำให้การผูกขาดความรู้แบบสากลในทางวิทยาศาสตร์ต้องหยุดลง และเปิดทางให้กับวิธีการแสวงหาความรู้ที่หลากหลาย และยอมรับในความจริงแบบพหุนิยม การปรับเปลี่ยนกระบวนทรรศน์ (paradigm shift) จึงเกิดขึ้น กระแสคิดที่น่าสนใจในยุคนั้นก็คือกระแสวิพากษ์ของปรัชญาหลังนวยุคสุดขั้ว (extreme postmodernism) นำโดยนักปรัชญา ได้แก่ แดริดา ฟูโกต์ โบดิยาร์ เป็นต้น เพื่อรื้อถอน (decostruct) สิ่งที่นวยุคนิยม (modernism) ได้สร้างขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปรัชญาสกุลความคิดนี้จะช่วยวิพากษ์รื้อถอนนวยุคภาพ (modernity) ได้อย่างละเอียดยิบ สร้างความสะใจให้กับคนทั่วไป รวมถึงสร้างความนิยมชมชอบให้เกิดขึ้นแก่ผู้วิพากษ์ แต่ก็ไม่ได้สร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาเพื่อช่วยจรรโลงสังคม คนกลุ่มหนึ่งที่เป็นห่วงต่อสถานการณ์ดังกล่าวว่าถ้าปล่อยให้เป็นไปอย่างนี้เรื่อยๆ มนุษย์จะเคว้งคว้างไม่มีจุดยืนในการแสวงหาความรู้ ครั้นจะให้กลับไปสู่กระบวนทรรศน์เก่าๆ มนุษย์ก็จะเกิดความยึดมั่นถือมั่น (attachment) และพยายามผูกขาดความรู้ความเชื่ออย่างที่แล้วๆ มา ด้วยเหตุนี้จึงเกิดกระแสปรัชญาหลังนวยุคสายกลาง (moderate postmodern) ขึ้นมา เพื่อปรับเปลี่ยนแนวคิดแบบรื้อทำลาย (deconstruction) ของหลังนวยุคสุดขั้ว ให้เป็นแบบรื้อสร้างใหม่ (reconstruction) ตามแนวทางของหลังนวยุคสายกลาง ส่งเสริมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วยกระบวนการคิดเชิงวิจารณญาณ (critical thinking) ย้อนอ่านใหม่หมด ไม่ลดอะไรเลย (reread all, reject non) ในความรู้ความเชื่อทุกรูปแบบ ใช้วิจารณญาณในการวิเคราะห์ (แยกแยะประเด็น) วิจักษ์ (ประเมินคุณและโทษ) และ วิธาน (ประยุกต์ใช้อย่างเล็งผลอันเลิศ) รู้จักนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทตามยุคตามสมัยโดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต จากที่เคยแบ่งแยก ก็ให้ปรับเป็นแบ่งกลุ่มเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้วยน้ำใจ จากที่เคยระแวงกันก็ให้ปรับเป็นเชื่อใจกันด้วยการมีส่วนร่วมในทุกระดับเพื่อวางระบบธรรมาภิบาล สร้างความเป็นธรรมให้แก่คนส่วนรวมบนหลักความพอเพียง

ในด้านความเห็นต่าง ไม่ได้กลายเป็นความ "แปลกแยก" หรือเป็นแม่มดอย่างที่แล้วมา แม่มดกลายเป็นดอกไม้หลากสีที่สร้างความงดงามทางสุนทรียะให้แก่โลก ความต่างกลายเป็นพรสวรรค์ เป็น "พลังสร้างสรรค์" ของแต่ละคนแต่ละฝ่ายที่ต้องพัฒนาต่อไป และเมื่อพบว่าความต่างในส่วนใดเป็นภัยแก่สังคมและไม่ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตก็มี "พลังปรับตัว" เพื่อสร้างสมดุลและสร้าง "พลังความร่วมมือ" ให้เกิดขึ้น สิ่งใดขาดหายก็มี "พลังแสวงหา" เพื่อเติมเต็มสิ่งดีๆ ร่วมกัน

ด้วยทรรศนะดังกล่าว การปรับเปลี่ยนกระบวนทรรศน์ไปสู่ปรัชญาหลังนวยุคสายกลาง ดูเหมือนว่าจะยังไม่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทยได้ทั้งหมด อาจจะเรียกว่าเป็นกระแสคิดโลกสวยของใครหลายคน แม้ว่าปัจจุบันจะมีการรณรงค์ ส่งเสริม ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่ส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณ รู้เท่าทันสื่อ (ML) การคิดเชิงสร้างสรรค์ (positive thinking) และ จริยธรรมดูแล (caring ethic) แต่สิ่งที่พบมากในกระแสโซเชียลกลับเป็นการนิยมชมชอบวาทกรรมเสียดสีสังคม (แต่ไม่เสนอสิ่งใหม่) กระบวนการล่าแม่มดด้วยวาทกรรมเกลียดชังทั้งในด้านการเมืองและสังคมอย่างไม่ลดละ การสร้าง "กระแสดราม่า" เพื่อเรียกความนิยมของคนมากกว่าสร้างกระแสทางปัญญา การสร้าง "เน็ตไอดอล" ในรูปแบบใหม่ที่เน้น "ภาพลักษณ์" มากกว่าการสร้าง "คุณค่า" อย่างจริงจังเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในสังคม การสร้างวาทกรรมโลกสวย/โลกร้ายที่ไม่ยอมเหลือพื้นที่สำหรับความคิดเห็นใดๆ การโยนความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในสังคมให้แก่คนใดคนหนึ่ง/พรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่ง/คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยขาดการแยกแยะประเด็น การคิดค้นคำสวยหรู (แต่ไม่จริงทั้งหมด) มาเป็นมาตรวัดทางสังคม ฯลฯ

แม้ว่ากระแสหลังนวยุคสายกลางจะช่วยทำให้แม่มดสูญพันธุ์ไปแล้วในหมู่คนที่คิดต่าง แต่ปัจจุบันมันถูกสร้างขึ้นมาใหม่ด้วยรูปแบบของการสนองอารมณ์ที่เกลียดชังและริษยา ผนวกกับกระแสคิดดั้งเดิมที่ส่งเสริมความยึดมั่นถือมั่น สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เคยแสดงความรับผิดชอบใดๆ ต่อผู้เสียหาย จำเลยเป็นเพียงเงามืดในโลกโซเชียลที่ยากต่อการจับกุม จรรยาบรรณทางวิชาชีพสื่อไม่เกี่ยวข้องกับเขาเพราะมันไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องรับผิดชอบในฐานะสื่อมวลชน หลายคนมองว่ามันเป็นเรื่องสิทธิส่วนตัว แต่ลืมไปว่าเสรีภาพต้องมากับความรับผิดชอบ แต่เมื่อในปัจจุบันยังไม่อาจมีระบบใดๆ ที่ช่วยค้ำประกันความเป็นธรรมในเรื่องนี้ได้อย่างทั่วถึง วิธีที่ดีที่สุดก็คือ “กันไว้ดีกว่าแก้” ผู้ใช้สื่อต้องมีทักษะการคิดเชิงวิจารณญาณ ให้เวลาสักนิดสำหรับการคิดวิเคราะห์ แยกแยะประเภทของสื่อให้ได้ แล้วประเมินดูว่าสื่อดังกล่าวสร้างคุณและโทษอย่างไรหลังจากที่เราแชร์ไป เมื่อแชร์ไปแล้วคุ้มค่าหรือไม่ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา ครอบครัวเรา สังคมและประเทศชาติของเรา อย่าให้ใครใช้คุณเป็นเครื่องมือสร้างความเกลียดชังต่อไปอีกเลย เพราะคุณมีค่าสูงยิ่งในฐานะเป็นมนุษย์ผู้มีปัญญาในยุคดิจิทัล


หมายเลขบันทึก: 629870เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2017 08:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2017 17:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท